ข้ามไปเนื้อหา

การค้าประเวณี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ผู้หญิงขายบริการ ในสถานบริการแห่งหนึ่งในเยอรมนี

การค้าประเวณี (อังกฤษ: prostitution) คือธุรกิจหรือวิธีปฏิบัติโดยการทำกิจกรรมทางเพศเพื่อแลกกับค่าตอบแทน[1][2] ในรูปแบบต่าง ๆ เช่น เงิน ของ บริการ หรือประโยชน์แบบอื่นตามแต่ตกลง

หญิงค้าประเวณีนั้นเรียก นครโสเภณี (อังกฤษ: prostitute) แปลว่า "หญิงงามเมือง" (โสเภณี แปลว่า หญิงงาม) และมักตัดไปเรียกว่า "โสเภณี" เฉย ๆ ส่วนภาษาถิ่นอีสานเรียก "หญิงแม่จ้าง" และภาษาปากเรียก "กะหรี่", "หญิงหากิน" หรือ "อีตัว" เป็นต้น

สำนักของเหล่านครโสเภณีเรียก โรงนครโสเภณี, โรงหญิงนครโสเภณี หรือ ซ่องโสเภณี (อังกฤษ: bawdy house, brothel, disorderly house, house of ill fame หรือ house of prostitution)

ความหมาย

[แก้]

หญิงนครโสเภณีนั้นเรียกสั้น ๆ ว่า หญิงโสเภณี หรือโสเภณี ซึ่งเดิมพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน (ฉบับ พ.ศ. 2493) ให้นิยามว่า "หญิงงามเมือง, หญิงคนชั่ว"

ภาคอีสานเรียกหญิงนครโสเภณีว่า "หญิงแม่จ้าง" คือ เป็นผู้หญิงที่รับจ้างกระทำชำเราสำส่อน โดยได้รับเงินหรือผลประโยชน์เป็นค่าจ้าง

นครโสเภณี

[แก้]

ที่มีชื่อว่า "นครโสเภณี" นั้น ราชบัณฑิตยสถานว่าเห็นจะเป็นเพราะว่า หญิงพวกนี้อาศัยเมืองหรือนครเป็นที่หาเลี้ยงชีพ หญิงโสเภณีตามชนบทนั้นไม่มี เพราะการเป็นโสเภณีนั้นเป็นที่รังเกียจของสังคม ผู้หญิงพวกนี้จึงอาศัยที่ชุมชนเป็นที่หากิน อีกประการหนึ่ง ในเมืองหรือนครนั้นมีผู้คนลูกค้ามากมาย เป็นการสะดวกแก่การค้าประเวณี

อนึ่ง ว่ากันตามรากศัพท์แล้ว ราชบัณฑิตยสถานว่า "นคร" แปลว่าเมือง "โสภิณี" แปลว่าหญิงงาม "นครโสภิณี" จึงแปลว่า หญิงงามประจำเมือง หรือหญิงผู้ทำเมืองให้งาม คำว่า "นครโสเภณี" ปัจจุบันมักเรียกสั้น ๆ ว่า "โสเภณี"

หญิงโสเภณีมักรวมกลุ่มกันในสถานค้าประเวณีที่เรียกกันว่า "ซ่องโสเภณี" ซึ่งในภาษาไทยตามกฎหมายเก่า (พระราชบัญญัติป้องกันสัญจรโรค รัตนโกสินทรศก 127) ว่า "โรงหญิงนครโสเภณี" อย่างไรก็ดี หญิงโสเภณีอาจอยู่ตามโรงแรม สถานอาบอบนวด โรงน้ำชา ภัตตาคาร ร้านเสริมสวย หรือตามสถานบันเทิง หรืออาจอยู่บ้านส่วนตัวและรับจ้างร่วมประเวณีเฉพาะโอกาสก็ได้

หญิงงามเมือง

[แก้]

ที่แปลว่า "หญิงงามเมือง" นั้น คำนี้ความหมายเดิมหมายถึงเพียงนางบำเรอชั้นสูงประจำนครใหญ่ ๆ หรือนครหลวง มีหน้าที่ปรนนิบัติและบำเรอชายทั้งที่เป็นแขกเมืองและชาวเมืองให้เป็นที่ชอบใจโดยไม่ประสงค์จะมีลูกสืบสกุล เพราะหญิงประเภทนี้ถือว่าถ้ามีลูกแล้วตนก็ไม่เป็นที่ชอบใจของชายที่จะมาให้บำเรออีก นี้เป็นวัฒนธรรมโบราณของแถบเอเชียตะวันตก

มีตัวอย่างในสมัยพุทธกาลคือ นางสาลวดี มารดาของหมอชีวกโกมารภัจ นางเป็นนางบำเรอชั้นสูงประจำกรุงราชคฤห์ นครหลวงแคว้นมคธ (ปัจจุบันคือรัฐพิหาร ประเทศอินเดีย) เมื่อบำเรอชายแล้วก็เกิดตั้งท้องขึ้นจึงอ้างว่าเจ็บป่วยเพื่อปิดความจริงและไม่ยอมพบใครทั้งสิ้นตลอดเวลาตั้งท้องนั้น เมื่อคลอดแล้วได้เอาเบาะหุ้มห่อทารกใส่กระด้งไปทิ้งในเวลากลางคืน เจ้าชายอภัย พระราชโอรสพระเจ้าพิมพิสาร เสด็จไปพบและรับมาเลี้ยงจึงรอดตาย ทารกนั้นจึงได้ชื่อว่า "ชีวก" (/ชีวะกะ/) แปลว่า "ผู้มีชีวิต"

กะหรี่

[แก้]

คำว่า "กะหรี่" เป็นคำตลาดหมายถึง หญิงโสเภณี ตัดทอนและเพี้ยนมาจากคำเต็มว่า "ช็อกกะรี" และคำ "ช็อกกะรี" นี้ก็เพี้ยนมาจาก "ชอกกาลี" ซึ่งมาจากคำ "โฉกกฬี" ในภาษาฮินดี แปลว่า เด็กผู้หญิง คู่กับ "โฉกกฬา" (छोकरा, Chōkarā) ที่แปลว่า เด็กผู้ชาย เป็นทอด ๆ [3] ซึ่งคำในภาษาฮินดี (ภาษาแขก) ไม่ได้มีความหมายว่า ผู้หญิงโสเภณี แต่อย่างใด[4]

จำนงค์ ทองประเสริฐ ราชบัณฑิต สันนิษฐานว่า ที่เรียกหญิงโสเภณีว่า "โฉกกฬี" อันแปลว่า เด็กผู้หญิงนั้น คงเป็นทำนองเดียวกับที่เรียกหญิงโสเภณีว่า "อีหนู"[3]

คำ "กะหรี่" ในความหมายว่า โสเภณี ยังไม่ปรากฏในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานฉบับใด ๆ แต่ราชบัณฑิตยสถานบันทึกไว้ใน พจนานุกรมคำใหม่ ว่า "กะหรี่ น. โสเภณี (เป็นคำไม่สุภาพ)."[5] ส่วนคำ "ช็อกกะรี" ปรากฏใน พจนานุกรมคำใหม่ เช่นกัน ความว่า "ช็อกกะรี น. โสเภณี."[6]

ประวัติ

[แก้]
ภาพ "ผู้ใช้บริการหญิงนครโสเภณี" ศิลปะกรีกโบราณ อายุราว 480-470 ปีก่อนคริสต์ศักราช มีภาพถุงเงินห้อยอยู่ข้างฝาด้วย

ในสมัยดึกดำบรรพ์ หญิงโสเภณีไม่มีราคาหรือไม่ถือว่าต่ำช้า เพราะในสมัยนั้นไม่ถือธรรมเนียมหรือคุณค่าทางพรหมจารี การสมสู่เป็นไปโดยเสรีและสะดวก ยิ่งกว่านั้นยังปรากฏว่า ชาวสลาฟโบราณถือว่า หญิงดีมีค่านั้นจะต้องมีชายรักใคร่เสน่หาร่วมประเวณีมาก่อนสมรส ถ้าสามีตรวจพบว่าภริยาของตนมีพรหมจารีที่ยังไม่ถูกทำลายก็มักไม่พอใจ บางรายถึงขนาดขับไล่ไสส่งภริยาไปก็มี เนื่องจากอุดมคติในเรื่องพรหมจารีมีอยู่เช่นนี้ จึงทำให้ผู้หญิงบางหมู่แสวงหาเครื่องหมายจากการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งของชายคู่รักเพื่อเก็บไว้อวดชายที่มาเป็นสามี เมื่อเสรีภาพในการร่วมประเวณีมีอยู่เช่นนั้น หญิงโสเภณีในยุคแรกเริ่มเดิมทีก็นับว่าไม่มี

จากการศึกษาพบว่า หญิงโสเภณีมีกำเนิดมาจากพิธีการทางศาสนา ปฏิบัติกันอยู่ในเอเชียตะวันตกเป็นส่วนใหญ่ คือหญิงสาวจะต้องกระทำพิธีสละพรหมจารีของตนเพื่อบูชาเทวีผู้ซึ่งมีชื่อเรียกขานแตกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่น เช่น ของอินเดียได้แก่พิธีบูชาพระแม่กาลีซึ่งบางทีก็เรียก "ทุรคาบูชา" (ฮินดี: Durgapuja) พิธีเช่นว่านี้สืบเนื่องมาจากความเชื่อที่ว่าผู้หญิงมีความรู้สึกฝังใจอยู่กับชายคนแรกที่เธอร่วมประเวณีด้วย การสละพรหมจารีดังกล่าวจึงกระทำเพื่อบูชาเทวีเบื้องบนเสีย และชายผู้ร่วมประเวณีด้วยนั้นก็มักจะเป็นแขกแปลกหน้าที่หญิงนั้นไม่รู้จัก โดยถือกันว่าชายแปลกถิ่นเป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์ซึ่งจะนำโชคลาภมาสู่ตน

การสละพรหมจารีด้วยการร่วมประเวณีกับชายแปลกหน้านั้นบางแห่งก็มีสิ่งตอบแทน หญิงชาวบาบิโลนโบราณพากันมานั่งคอยชาวแปลกหน้าในวิหารเจ้าแม่อิชตาร์ (Ishtar) เพื่อเข้าสู่พิธีสละพรหมจารีกับชายแปลกหน้า ถ้าชายพึงใจในหญิงคนใดก็จะโยนเหรียญมาที่ตักของเธอ หญิงที่ได้รับเหรียญจะต้องลุกตามเขาไปทันทีเพื่อประกอบพิธี โดยไม่ว่าเงินที่ชายโยนให้นั้นจะมากน้อยเพียงไร เมื่อได้พลีพรหมจารีแล้วก็เป็นอันหมดหน้าที่ หญิงนั้นจะได้กลับไปบ้านเมืองและครองชีวิตอย่างมีเกียรติพร้อมกับตั้งหน้าคอยโชคลาภต่อไป หญิงที่รูปไม่งามอาจต้องนั่งรอชายแปลกหน้าเป็นเวลาหลายปี

ภาพล้อเลียนทางการเมืองแสดงสภาพโสเภณีในสังคมตะวันตกโบราณ ชื่อ "การขึ้นภาษีร้านค้าไม่ได้กระทบกระเทือนผู้ค้าปลีก" ("Retail traders not affected by the shop tax") ศิลปะตะวันตก พ.ศ. 2330

บางท้องที่ก็มีพิธีกรรมทางโสเภณีเพื่อการศาสนา เช่น นักบวชหญิงร่วมกันจัดพิธีกรรมต่าง ๆ ทางโสเภณีซึ่งถือว่าเป็นการพลีกายเพื่อศาสนา เงินที่ได้จากพิธีกรรมทางเพศดังกล่าวจะส่งเข้าบำรุงศาสนา บางแห่งหญิงสาวต้องไปวัดเพื่อขอให้นักบวชชายเบิกพรหมจารีให้ โดยถือว่านักบวชเป็นตัวแทนของพระเจ้า บางแห่งหญิงสาวอุทิศตนเป็นนางบำเรอประจำวัด เพื่อร้องรำทำเพลงบำเรอพวกนักบวชและพวกธุดงค์ที่มาสักการะเทพเจ้าในสำนักตน ทั้งหมดนี้เป็นจุดกำเนิดของหญิงโสเภณีในปัจจุบัน แต่โสเภณีทางศาสนาดังกล่าวมาแล้วกระทำในคลองจารีตประเพณีของศาสนา ไม่อื้ออึงหรืออุจาดนัก

ต่อมาเกิดมีธรรมเนียมใหม่คือ หญิงสาวหันมาเป็นโสเภณีเพื่อสะสมทุนทรัพย์สำหรับสมรส ชายที่สมสู่ไม่ต้องวางเงินบนแท่นบูชาแต่ให้ใส่ลงในเสื้อของหญิง ภายหลังหาเงินได้สองสามปีก็จะกลับบ้านเพื่อแต่งงาน และถือกันว่าหญิงที่ได้ผ่านการเป็นโสเภณีมาแล้วเป็นแบบอย่างของเมียและแม่ที่ดี การปฏิบัติของหญิงโสเภณีประเภทหลังนี้ บางคนก็กระทำไปโดยมิได้เกี่ยวข้องกับพิธีทางศาสนาเลย [ต้องการอ้างอิง]

ครั้นกาลเวลาล่วงมา อารยธรรมในทางวัตถุนิยมเพิ่มมากขึ้น การโสเภณีทางศาสนาค่อยเลือนลางจางไป โดยมีโสเภณีทางโลกเข้ามาแทนที่ โรงหญิงโสเภณีโรงแรกจึงถือกำเนิดขึ้นที่กรุงเอเธนส์ โดยเป็นโรงหญิงโสเภณีสาธารณะ เก็บเงินรายได้บำรุงการกุศล ผู้จัดตั้งชื่อ "โซลอน" (Solon) เป็นนักกฎหมายและนักปฏิรูป วัตถุประสงค์ในการตั้งโรงหญิงโสเภณีดังกล่าวมีสองประการ คือ 1) เพื่อคุ้มครองอารักขาความบริสุทธิ์ให้แก่ครอบครัวของประชาชน มิให้มีการซ่องเสพชนิดลักลอบและมีชู้ และ 2) เพื่อหารายได้บำรุงการกุศลต่าง ๆ

จากนั้นโสเภณีก็ได้คลี่คลายขยายตัวเรื่อยมาจนกระทั่งเป็นอยู่อย่างปัจจุบัน

ลักษณะทางการหาเลี้ยงชีพ

[แก้]
หญิงนครโสเภณีรายหนึ่งกำลังหาลูกค้าในกรุงอัมสเตอร์ดัม 20 พฤษภาคม 2543

ลักษณะสำคัญของหญิงโสเภณีคือ ประพฤติตนสำส่อนในทางประเวณี ด้วยการรับจ้างกระทำชำเรากับชายหลายคนเพื่อผลประโยชน์ตอบแทน หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่าเป็นหญิงที่ค้าประเวณีกับชายทั่วไป เพราะฉะนั้น ถ้าหญิงร่วมประเวณีกับชายทั่วไปเป็นประจำไม่สำส่อน แม้จะได้รับค่าตอบแทนก็ตาม ก็ไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นหญิงโสเภณี

ตัวอย่างสำหรับลักษณะข้างต้น มีกรณีหนึ่งเกิดขึ้นในประเทศเยอรมนีเมื่อนานมาแล้ว ข้อเท็จจริงมีว่า หญิงคนหนึ่งเป็นภริยาเก็บของเศรษฐีคนหนึ่ง ต่อมาเศรษฐีนั้นประสบอุบัติเหตุต้องนอนรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล ทำให้เธอหวนกลับไปคบกับคู่รักเก่าซึ่งมาหาสู่เธอที่บ้านสองสามครั้งและได้รับรางวัลเป็นเงินจากชายคู่รักเก่านี้ เธอถูกตำรวจจับและถูกลงโทษจำคุกหนึ่งวันฐานประพฤติตนเป็นหญิงโสเภณี ต่อมาเธอได้อุทธรณ์โต้แย้งว่า เธอมิใช่หญิงโสเภณี จากตัวอย่างกรณีนี้ทำให้นักกฎหมายเยอรมันวางหลักเกณฑ์เกี่ยวกับคำว่า "โสเภณี" เสียใหม่ว่า สตรีที่ได้รับรายได้ทั้งสิ้นหรือบางส่วนจากผู้มาเกี่ยวข้องด้วยในทางประเวณีเป็นประจำ ไม่เรียกว่าเป็นผู้ค้าประเวณี

นายสถิตย์ เล็งไธสง ผู้พิพากษาศาลฎีกา แสดงความเห็นเกี่ยวกับหลักกฎหมายเยอรมันดังกล่าวว่า

...หลักที่นักกฎหมายเยอรมันวางไว้นี้ เห็นจะใช้ได้ทั่วไป ตรงกันข้าม ถ้าหญิงใดตั้งใจจะค้าประเวณีกับชายไม่เลือกหน้า เข้าไปอยู่ในซ่องโสเภณี กอดจูบผู้ชายที่ไปเที่ยวซ่อง เชื้อเชิญให้เขาร่วมประเวณีด้วย แม้หญิงนั้นจะยังไม่ได้ขายประเวณีของตนให้กับชายตามความตั้งใจ ก็ได้ชื่อว่าเป็นหญิงโสเภณี

ส่วนที่ว่า "ค้าประเวณี" นั้นหมายความว่า หญิงใช้อวัยวะของตนเสมือนสินค้า รับจ้างปลดเปลื้องความใคร่ให้แก่ลูกค้าด้วยการร่วมประเวณีด้วย ถ้าเป็นแต่นวดให้ผู้ชาย เช่น หญิงตามสถานอาบอบนวด โดยมิได้กระทำชำเรา แม้จะได้กระทำการบางอย่างที่เกี่ยวข้องกับเรื่องทางเพศอยู่บ้าง ก็มิได้ชื่อว่าเป็นหญิงโสเภณี

วิธีการค้าประเวณี

[แก้]
รูปภาพตามตู้โทรศัพท์ที่เป็นการโฆษณาการขายบริการทางเพศ ในภาพเป็นตู้โทรศัพท์จากอังกฤษ

โสเภณีในปัจจุบันมีรูปแบบการติดต่องานดังนี้

  • ยืนรอข้างถนน โดยการยืนรอคอยลูกค้าบริเวณหัวริมถนน และขายบริการทางเพศต่อในบริเวณโรงแรม หรือโรงแรมม่านรูด ในกรุงเทพ อาทิ แถวบริเวณ รอบสวนลุมพินี รอบสนามหลวง รอบวงเวียน 22 กรกฎาคม รอบถนนผดุงด้าว (ซอยเท็กซัส) คลองหลอด ฯลฯ หรือแถวพัทยา ในจังหวัดชลบุรี
  • อาบอบนวด หรือ ซ่อง เป็นสถานบริการทางเพศโดยตรง โดยผู้ขายบริการจะนั่งรอภายในสถานบริการและรอลูกค้าเข้ามาเลือก โดยในสถานบริการจะมีบริการจัดห้องไว้รับรอง ในต่างจังหวัดบางที่ผู้ให้บริการ จะยืนรวมตัวรอบกองไฟ และมีห้องบริการไว้สำหรับลูกค้าที่ต้องการเข้ามาใช้บริการ ในประเทศไทยราคาการให้บริการมีตั้งแต่ 50 บาท จนถึงหลายหมื่นบาท สถานบริการอาบอบนวดมีกระจายในกรุงเทพมหานครและจังหวัดอื่น ในกรุงเทพมีมากบริเวณถนนพระราม 9 ถนนเพชรบุรี ถนนรัชดาภิเษก
  • สถานบันเทิง คาเฟ่ ร้านคาราโอเกะ สปา หรือร้านตัดผม บางแห่ง มีการบริการพิเศษแอบแฝงเพิ่มเติมสำหรับลูกค้า ซ่องผิดกฎหมายบางแห่งอาจลักลอบเปิดโดยใช้ธุรกิจอื่นขึ้นบังหน้าเท่านั้น หรือบางครั้งอาจแอบอ้างตัวว่าเป็นธุรกิจอื่น เช่น นวดแผนโบราณ สปา จัดหาพริตตี้ เป็นต้น
  • หอพักของผู้ขายบริการ ในหลายประเทศการขายบริการประเภทนี้เป็นประเภทเดียวไม่ผิดกฎหมาย โดยเป็นที่นิยมใน ประเทศเยอรมนี เบลเยียม สวิตเซอร์แลนด์ และสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยทางผู้ขายบริการจะประกาศโฆษณาตามใบปลิว หรือเว็บไซต์ต่าง ๆ
  • การโทรเรียกหรือการใช้ช่องทางการค้าประเวณีในรูปแบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารอื่น ๆ โดยลูกค้าติดต่อทางนายหน้า (หรือแมงดา หรือมาม่าซัง) เพื่อเรียกมาใช้บริการทางที่พักของลูกค้า หรือทางโรงแรมที่เตรียมไว้ ราคาการให้บริการจะแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับสถานที่และชนิด โดยปกติ ผู้ชายที่ให้บริการ จะได้รายได้น้อยกว่าผู้หญิงที่ให้บริการ. ใน วอชิงตัน ดี.ซี. อ้างอิงจากเอเยนซี ท็อปซ์ (TOPPS) ค่าบริการ ประมาณ 6,000 บาท ($150) และ 10,000 บาท ($250) ต่อชั่วโมงสำหรับหนุ่มบริการ และสาวบริการตามลำดับ โดยทางเอเยนซี่จะได้เงิน ประมาณ 2,000 บาท ต่อชั่วโมง ได้รับจากผู้ให้บริการ
  • ในเมืองมอสโก ประเทศรัสเซีย มีการขายบริการเรียกว่า ตลาดสาว โดยมีผู้หญิงยืนเรียงอยู่ข้างทาง และให้รถขับเข้าไปใน ท็อคกา (ที่จอดรถ) โดยให้ผู้ขับรถเลือกผู้หญิงที่ต้องการแล้วพาไปด้วยกัน
  • ไซด์ไลน์ คือการประกาศขายบริการทางเว็บไซต์ต่าง ๆ โดยจะมีบ่งบอกอายุ ค่าบริการ กฎข้อห้ามและอื่น ๆ ผู้ใช้บริการจะติดต่อเพื่อใช้บริการโดยติดต่อทางโทรศัพท์หรือไลน์ตามที่ได้ประกาศเอาไว้ หลังจากนั้นก็นัดพบเจอกันและพาไปยังสถานที่ที่พักเพื่อเสพสม ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีการขายบริการไซด์ไลน์มากที่สุด ส่วนใหญ่ก็จะมีทั้งนักศึกษาสาวที่มีปัญหาเรื่องทางการเงินสำหรับค่าเทอมเล่าเรียน และมืออาชีพ

สำหรับการแสดงภาพยนตร์ลามกนั้น ถึงแม้ว่าผู้แสดงจะมีรายได้จากกิจกรรมทางเพศ และเป็นการกระทำที่น่ารังเกียจในบางวัฒนธรรม เช่นเดียวกับการค้าประเวณี แต่หากไม่ได้มีการขายบริการทางเพศให้กับบุคคลทั่วไป หรือไม่ได้ขายสิทธิในการร่วมแสดงหนังให้กับบุคคลอื่นใด ก็อาจไม่ถูกถือว่าเป็นการค้าประเวณี อย่างไรก็ตาม ในหนังโป๊บางเรื่องอาจมีการใช้บุคคลที่เป็นโสเภณี หรือบุคคลซึ่งเคยเป็นโสเภณี มาเป็นผู้แสดง

กฎหมาย

[แก้]
  การค้าประเวณีตามกฎหมายและระเบียบ
  โสเภณี (แลกเปลี่ยนของเพศเงิน) ตามกฎหมาย แต่ซ่องเป็นที่ผิดกฎหมายค้าประเวณีเป็น ไม่ควบคุม
  การค้าประเวณีผิดกฎหมาย
  ไม่มีข้อมูล

ในหลายประเทศ การขายและการซื้อบริการทางเพศถือว่าเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย แต่กิจการอย่างอื่นที่เกี่ยวข้องถือว่าถูกกฎหมาย รวมทั้งการเรียกเก็บเงินจากผู้ให้บริการ การทำงานในสถานบริการทางเพศ ในประเทศมุสลิมบางประเทศ มีการลงโทษประหารชีวิตสำหรับผู้ให้บริการทางเพศ

ในประเทศเนเธอร์แลนด์ การค้าประเวณี หรือการเป็นเจ้าของสถานขายบริการถือเป็นอาชีพที่ต้องเสียภาษี โดยมีกฎหมายให้ผู้ขายบริการต้องมีอายุอย่างน้อย 18 ปี กฎหมายในเรื่องของโสเภณีในเยอรมนี นิวซีแลนด์ และ สวิตเซอร์แลนด์ มีลักษณะใกล้เคียงกับเนเธอร์แลนด์ ในสหรัฐอเมริกา มี 48 รัฐที่การขายบริการทางเพศถือเป็นเรื่องผิดกฎหมายโดยถือเป็นคดีแพ่ง ยกเว้นรัฐเนวาดา (ที่ตั้งของเมืองลาสเวกัส) และรัฐโรดไอแลนด์ ที่การขายบริการไม่ผิดกฎหมาย แต่การขายตามริมถนน หรือการเปิดสถานบริการถือว่าผิดกฎหมาย

ในประเทศไทย การค้าประเวณีเป็นเรื่องผิดกฎหมาย แต่อย่างไรก็ตามเป็นเรื่องที่ยอมให้ในสังคมไทยบางส่วน เช่นเดียวกับหลายประเทศในทวีปเอเชีย การเปิดสถานบริการอาบอบนวดในประเทศไทย ถูกจัดให้อยู่ในส่วนของสถานบริการทั่วไป ซึ่งไม่ผิดกฎหมาย โดยการขายบริการทางเพศของผู้ให้บริการถือเป็นการตกลงกันเองระหว่างผู้ขายและผู้ซื้อ ถือเป็นความเข้าใจกันว่าไม่เกี่ยวข้องกับทางสถานบริการ โดยประมาณว่ามีผู้ขายบริการทางเพศในประเทศไทยมีประมาณ 130,000 คนในประเทศไทยรวมทั้งเพศชายและเพศหญิง

กฎหมายการซื้อและการขายบริการทางเพศมีการแตกต่างกันในหลายประเทศ เช่น ในประเทศสวีเดน การขายบริการทางเพศไม่ผิดกฎหมาย ในขณะที่การซื้อบริการทางเพศถือเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมายสวีเดน (Brottsbalken "Criminal Code" 1962:700, 6 kap, 11 §) ในประเทศเนเธอร์แลนด์ ผู้ซื้อบริการและผู้จัดการจะถือว่าผิดกฎหมาย ถ้าผู้ขายบริการอายุระหว่าง 16-18 ปี และถ้าผู้ขายอายุต่ำกว่า 16 ปีการขายบริการจะผิดกฎหมาย

การท่องเที่ยว

[แก้]

การท่องเที่ยวเพื่อการหาซื้อบริการทางเพศ หรือที่นิยมเรียกว่า "เซ็กส์ทัวร์" (อังกฤษ: sex tourism) เป็นที่นิยมในหลายประเทศที่มีการห้ามการซื้อบริการทางเพศ หรือการมีเพศสัมพันธ์กับเด็ก ประเทศที่เป็นจุดท่องเที่ยวส่วนมากเป็นประเทศที่กำลังพัฒนา ได้แก่ ประเทศไทย ประเทศเวียดนาม ประเทศเม็กซิโก ประเทศจีน ประเทศลาว ประเทศคิวบา และ ประเทศบราซิล โดยประเทศต่าง ๆ ได้ตระหนักถึงปัญหาทางสังคมที่เกิดขึ้น และพยายามที่จะลดปัญหา และลดการบริการที่เกี่ยวข้องกับท่องเที่ยวทางเพศ

ปัจจุบัน ประเทศตะวันตกได้พยายามออกกฎหมายสำหรับบุคคลในประเทศที่ไปซื้อบริการทางเพศจากประเทศอื่น โดยพยายามตั้งกฎหมายและบทลงโทษ แต่อย่างไรก็ตามกฎหมายเหล่านี้มักไม่สามารถลงโทษได้

การค้าประเวณีในประเทศไทย

[แก้]

ถือกำเนิดขึ้นมาในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 16-17 โดยไม่ได้ถูกนำเข้ามาจากชาติตะวันตกตามเรื่องเล่ากัน การค้าประเวณีในไทยเริ่มเป็นที่แพร่หลายกับชาวตะวันตก ในช่วงที่มีการติดต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกับชาวตะวันตก มีหลักฐานเป็นศัพท์ในสมัย สมเด็จพระนารายณ์มหาราช เรียกว่า รับจ้างทำชำเราแก่บุรุษ ต่อมาในสมัยรัตนโกสินทร์ ใน ประมวลกฎหมายตรา 3 ดวง – บทพระไอยการลักษณะผัวเมีย มีการบัญญัติผู้ค้าประเวณีว่า หญิงนครโสเภณี และสมัยสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีสถานประกอบการเรียกว่า โรงหญิงนครโสเภณี โดยทั่วไปมีโคมสีเขียวตั้งข้างหน้า จึงเรียกกันว่า สำนักโคมเขียว ทั้งนี้ก่อนปี พ.ศ. 2499 การค้าประเวณีไม่ถือว่า ผิดกฎหมาย แต่เริ่ม พระราชบัญญัติปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2503 กำหนดว่าการค้าประเวณีเป็นความผิดอย่างชัดเจน แต่ในสังคมยุคใหม่เริ่มแพร่หลายมากขึ้นในช่วงสงครามเวียดนาม โดยในช่วงนั้นการค้าประเวณีจะเป็นการลักลอบค้าประเวณี และปัจจุบันธุรกิจค้าประเวณีในประเทศไทยเป็นธุรกิจแอบแฝง

ผลสืบเนื่องต่อสังคม

[แก้]
ภาพ "การขนหญิงนครโสเภณีในฝรั่งเศสไปโรงพัก" ("Transport der Freudenmädchen zur Polizeiwache") วาดโดยเอเตียน โชรา (Étienne Jeaurat) พ.ศ. 2298

หญิงนครโสเภณีมีความสำคัญต่อสังคมอยู่ไม่น้อย โดยให้ทั้งประโยชน์และโทษ

ประโยชน์

[แก้]

หญิงนครโสเภณีได้ชื่อว่าเป็นผู้ผดุงศีลธรรมและมนุษยธรรมของสังคม กล่าวคือ หญิงพวกนี้เป็นผู้ระบายความต้องการทางเพศของผู้ชายทั้งหลาย เป็นการป้องกันหรืออย่างน้อยก็ลดจำนวนคดีเกี่ยวกับเพศ เช่น ฉุดคร่าอนาจาร ข่มขืน กระทำชำเรา กับทั้งเป็นการช่วยผดุงความบริสุทธิ์ให้แก่ครอบครัวประชาชนมิให้มีการลักลอบซ่องเสพด้วยการทำชู้ จึงมีผู้เปรียบหญิงนครโสเภณีว่าเป็นป้อมปราการสำหรับป้องกันเกียรติศักดิ์ของครอบครัวอื่น ๆ มิให้มัวหมอง และสดุดีพวกเธอว่าเป็นผู้เสียสละอุทิศร่างกายและชื่อเสียงเพื่อสาธารณประโยชน์ ออกัสตินแห่งฮิปโป นักบุญผู้หนึ่งแห่งคริสต์ศาสนา กล่าวว่า ถ้าถอนหญิงนครโสเภณีไปจากสังคมเมื่อใดก็เท่ากับหว่านพืชแห่งตัณหาให้เต็มไปหมดทั้งโลก สรุปว่า หญิงนครโสเภณีเปรียบเสมือนท่อระบายน้ำโสโครกหรือผู้เก็บกวาดสิ่งปฏิกูล ทำให้สังคมสะอาดน่าอยู่เสมอ

นอกจากนั้น หญิงนครโสเภณียังเป็นเครื่องกลั่นกรองการแต่งงานของคู่สมรสได้อีกด้วย กลั่นกรองในแง่ที่ว่า ผู้ชายมีทางระบายความต้องการทางเพศของตนกับหญิงนครโสเภณี เป็นการช่วยให้เขาชะลอการแต่งงานไปได้ในเมื่อฐานะของเขายังไม่พร้อมที่จะสมรส การสมรสจึงเป็นไปด้วยความรอบคอบ ความพร้อม และความเหมาะสม ทำให้ชีวิตครอบครัวราบรื่นมั่นคง ไม่ใช่สมรสเพราะการรุนของตัณหา ซึ่งอาจทำให้ชีวิตสมรสสลายในภายหลังได้ง่าย อนึ่ง ยังช่วยผ่อนคลายความต้องการของชายที่สมรสแล้ว แต่คู่สมรสมีรสนิยมทางเพศไม่ตรงกัน เป็นการรักษาชีวิตสมรสของสามีภริยาคู่นั้นให้ดำรงราบรื่นอยู่ได้

โทษ

[แก้]

หญิงนครโสเภณีเป็นสิ่งที่ให้โทษอย่างมาก ประการแรก คือ ทำให้มีสถานค้าประเวณีคอยรับซื้อเด็กหญิงมาบังคับเป็นโสเภณี ซึ่งเป็นปัญหาเรื้อรังและดาษดื่นอยู่เวลานี้ ทำให้มีคดีฉุดคร่าล่อลวงหญิงมาขายตามสถานดังกล่าว และทำให้มีบุคคลประเภทแมงดาเป็นกาฝากของสังคม รวมตลอดทั้งนักเลงคอยก่อความไม่สงบทำผิดกฎหมายอยู่เสมอ

ประการต่อมา คือ ทางด้านตัวหญิงนครโสเภณีเองก็มักจะจุ้นจ้าน เตร็ดเตร่หาลูกค้า เป็นตัวอย่างที่ไม่ได้แก่กุลสตรีทั้งหลาย หญิงพวกนี้แม้จะเลิกอาชีพโสเภณีมามีครอบครัวก็ไม่สามารถจะเป็นแม่บ้านแม่เรือนที่ดีได้ และยังเป็นแม่พิมพ์ที่เลวของลูกต่อไปด้วย

ประการสำคัญ คือ การแพร่เชื้อกามโรคซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ที่ทุกสังคมปราบกันไม่รู้จักจบสิ้น ตราบเท่าที่ยังมีหญิงนครโสเภณีอยู่ในสังคม ผลตามมาก็คือนอกจากจะทำให้ประชากรเป็นกามโรคซึ่งจะต้องใช้จ่ายเงินในการเยียวยารักษามากมายแล้ว ยังทำให้เด็กที่เกิดจากพ่อแม่ที่เป็นกามโรคเป็นเด็กไม่แข็งแรง บางรายแขนด้วน ตาบอด ตาเหล่ หรือปากแหว่ง ซึ่งก็เป็นผลมาจากเชื้อกามโรคเป็นส่วนใหญ่ หาใช่เคราะห์กรรมบันดาลไม่ เมื่อเป็นเช่นนี้ ประชากรของประเทศก็ขาดด้อยคุณภาพ

ปัญหาที่ตามมาอีกประการหนึ่ง คือ การทำแท้งและลูกกำพร้า ด้วยเหตุที่ว่าหญิงพวกนี้คิดแต่จะหาเงิน ไม่มีความปรารถนาจะได้บุตร เมื่อเกิดมีครรภ์ขึ้นมาก็หาทางทำแท้ง ซึ่งเป็นอันตรายต่อตัวหญิงนั้นเอง กับทั้งยังเป็นการผิดกฎหมายและศีลธรรมด้วย รายที่ไม่ทำแท้งหรือทำแท้งไม่สำเร็จ เด็กก็เกิดมา ทำให้มีคดีฆาตกรรมเด็กและคดีทอดทิ้งเด็ก เป็นภาระแก่สังคมที่ต้องรับเด็กเหล่านี้มาเลี้ยงเป็นเด็กกำพร้าเป็นจำนวนหลายร้อยหลายพัน และเด็กเหล่านี้จะเติบใหญ่ขึ้นมาด้วยร่างกายและมันสมองที่มีคุณภาพนั้นยากที่จะหวังได้

ราชบัณฑิตยสถานแห่งประเทศไทยจึง "...สรุปว่า หญิงโสเภณีมีส่วนดีน้อย แต่ส่วนเสียมาก"

เพราะเหตุดังกล่าว สังคมทุกประเทศจึงมีความรังเกียจสถาบันโสเภณี และมีความปรารถนาจะขจัดสถาบันอันเสื่อมโทรมนี้ไปให้พ้นจากสังคมของตน เช่น ประเทศฝรั่งเศสเคยออกกฎหมายปิดโรงโสเภณี ประเทศอังกฤษก็เคยออกกฎหมายเอาโทษหนักแก่ผู้ที่ประพฤติตนเป็นโสเภณี แต่ก็ไม่สามารถกำจัดโสเภณีออกไปจากสังคมของตนได้ เข้าทำนอง "ยิ่งห้ามยิ่งยุ" เพราะไม่ปรากฏว่าจำนวนหญิงโสเภณีลดลงเลย แต่กลับพบว่ามีหญิงโสเภณีเถื่อนเกลื่อนกล่นเต็มเมืองไปหมด เป็นผลทำให้ควบคุมยากมากขึ้นไปอีก

เมื่อไม่อาจกำจัดหญิงนครโสเภณีโดยวิธีเด็ดขาดดังกล่าวแล้ว หลายประเทศจึงหันมาให้วิธีประนีประนอมหรือปราบปรามด้วยอุบาย เช่น เอาผิดแก่ผู้มีการกระทำอันเป็นโสเภณี ชายแมงดา หรือผู้ชักจูงหญิงมาเป็นโสเภณี ในขณะเดียวกันก็ให้การศึกษาเรื่องเพศสัมพันธ์แก่ประชาชน หาทางลดความรู้สึกทางเพศให้แก่ประชาชนด้วยการส่งเสริมให้เล่นกีฬา ออกกำลังกาย เป็นต้น

โสเภณีในสังคมสัตว์

[แก้]

มีปรากฏในงานวิจัยว่าในสังคมสัตว์ก็มีการแลกเปลี่ยนโดยสัตว์เพศเมียอาจเสนอการตอบแทนเป็นพิเศษกับสัตว์เพศผู้ที่ให้บริการบางอย่างกับเพศเมียก่อนหน้าการผสมพันธุ์ [7]

สื่อที่นิยม

[แก้]

ในละคร กรงกรรม ได้สร้างเนื้อเรื่องละครเกี่ยวข้องกับโสเภณี[8] [9]

ในเกมชุด Grand Theft Auto ตั้งแต่ภาคแซนแอนเดรียส์เป็นต้นมา มีระบบที่ผู้เล่นสามารถซื้อบริการโสเภณีในเกมได้

อ้างอิง

[แก้]
  • สถิตย์ เล็งไธสง. (2521-2522). "นครโสเภณี". สารานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน, (เล่ม 15 : ธรรมจักร-นิลเอก). กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์พระจันทร์. หน้า 9325-9337.
  • ราชบัณฑิตยสถาน. (2551, 9 กุมภาพันธ์). พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: < http://rirs3.royin.go.th/dictionary.asp เก็บถาวร 2009-03-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน >. (เข้าถึงเมื่อ: 7 พฤศจิกายน 2551).
  • ราชบัณฑิตยสถาน. (ม.ป.ป.). "โสเภณี". คลังความรู้. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: < http://www.royin.go.th/th/knowledge/detail.php?ID=1731 >. (เข้าถึงเมื่อ: 7 พฤศจิกายน 2551).
  1. "Prostitution – Definition and More from the Free Merriam-Webster Dictionary". Merriam-Webster. สืบค้นเมื่อ 19 September 2013.
  2. "Prostitution Law & Legal Definition". US Legal. สืบค้นเมื่อ 19 March 2013.
  3. 3.0 3.1 จำนงค์ ทองประเสริฐ. 108 ซองคำถาม. Vol. 8. กรุงเทพฯ: สารคดี. ISBN 9744940853. {{cite book}}: ตรวจสอบค่า |isbn=: checksum (help)
  4. พระกวีวรญาณ (จำนงค์ ทองประเสริฐ ชุตินฺธโร). (2516). ภาษาของเรา เล่มที่ 9. กรุงเทพฯ : แพร่พิทยา. 430 หน้า. หน้า 179. ISBN 974-540-354-7
  5. ราชบัณฑิตยสถาน. "พจนานุกรมคำใหม่" (PDF). กรุงเทพฯ: ยูเนียนอุลตร้าไวโอเร็ต. p. 7. ISBN 978-616-7073-04-0.
  6. ราชบัณฑิตยสถาน. "พจนานุกรมคำใหม่" (PDF). กรุงเทพฯ: ยูเนียนอุลตร้าไวโอเร็ต. p. 32. ISBN 978-616-7073-04-0.
  7. 00.html "Do Monkeys Pay for Sex?". {{cite web}}: ตรวจสอบค่า |url= (help)[ลิงก์เสีย]
  8. "โสเภณี 2019!! เบลล่า พลิกบทสุดแซ่บ ปะทะฝีปาก ใหม่ เจริญปุระ ใน กรงกรรม". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-03-21. สืบค้นเมื่อ 2019-04-30.
  9. พลิกบทอย่างแรง!! จากนางเอกสู่สาวโสเภณี ละครใหม่ ‘เบลล่า’ ภาคต่อ‘สุดแค้นแสนรัก’?!

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]