ข้ามไปเนื้อหา

กะโหลกศีรษะ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ภาพวาดแสดงมุมมองจากทางด้านหน้าของกะโหลกศีรษะของมนุษย์

กะโหลกศีรษะ (อังกฤษ: skull) เป็นโครงสร้างของกระดูกที่ประกอบขึ้นเป็นโครงร่างที่สำคัญของส่วนศีรษะในสัตว์ในกลุ่มเครนิเอต (Craniate) หรือสัตว์ที่มีกะโหลกศีรษะ ซึ่งรวมทั้งสัตว์มีกระดูกสันหลังทุกชนิด กะโหลกศีรษะทำหน้าที่ปกป้องสมองซึ่งเป็นศูนย์กลางของระบบประสาท รวมทั้งเป็นโครงร่างที่ค้ำจุนอวัยวะรับสัมผัสต่างๆ ทั้งตา หู จมูก และลิ้น และยังทำหน้าที่เป็นทางเข้าของทางเดินอาหารและทางเดินหายใจ

การศึกษาเกี่ยวกับกะโหลกศีรษะมีประโยชน์อย่างมากหลายประการ โดยเฉพาะการศึกษาในเชิงกายวิภาคศาสตร์เปรียบเทียบระหว่างสัตว์ชนิดต่างๆ ซึ่งเป็นประโยชน์ด้านบรรพชีวินวิทยาและความเข้าใจถึงลำดับทางวิวัฒนาการ นอกจากนี้การศึกษาลงไปเฉพาะกะโหลกศีรษะมนุษย์ก็มีประโยชน์อย่างมากในการศึกษาด้านนิติเวชศาสตร์ ทันตแพทยศาสตร์ รวมทั้งมานุษยวิทยาและโบราณคดี

กะโหลกศีรษะของมนุษย์

[แก้]

กะโหลกศีรษะของมนุษย์ประกอบด้วยกระดูกทั้งหมด 22 ชิ้น[1][2] ทั้งนี้ไม่นับรวมกระดูกหู (ear ossicles) กระดูกแต่ละชิ้นของกะโหลกศีรษะส่วนใหญ่เชื่อมต่อเข้าด้วยกันโดยข้อต่อแบบซูเจอร์ (Suture) ที่เคลื่อนไหวไม่ได้ แต่มีความแข็งแรงสูง

กระดูกของกะโหลกศีรษะสามารถแบ่งออกได้เป็นสองกลุ่มใหญ่ๆ ได้แก่ กระดูกหุ้มสมอง (Neurocranium) ทำหน้าที่ป้องกันสมองที่อยู่ภายในโพรงกะโหลก (cranial cavity) ซึ่งมีด้วยกัน 8 ชิ้น[1] และสแปลงคโนเครเนียม (Splanchnocranium) ทำหน้าที่ค้ำจุนบริเวณใบหน้า รวมแล้วมีจำนวน 14 ชิ้น[3][4] นอกจากนี้ ภายในกระดูกขมับ (temporal bone) ยังมีกระดูกหูอีก 6 ชิ้น ซึ่งหน้าที่เกี่ยวกับการขยายความสั่นสะเทือนของเสียงจากเยื่อแก้วหูไปยังท่อรูปก้นหอย (cochlear) และกระดูกไฮออยด์ (hyoid bone) ทำหน้าที่ค้ำจุนลิ้นและกล่องเสียงซึ่งปกติแล้วไม่นับเป็นส่วนหนึ่งของกะโหลกศีรษะ

ภายในกะโหลกศีรษะยังมีโพรงไซนัส (sinus cavities) 4 คู่ หน้าที่ของโพรงไซนัสยังเป็นที่ถกเถียงอยู่ในปัจจุบัน แต่เชื่อว่าช่วยในการทำให้กะโหลกศีรษะมีน้ำหนักเบาขึ้น ทำให้ศีรษะไม่เอนมาทางด้านหน้าและทำให้ศีรษะตั้งตรงได้[5] ช่วยให้เสียงก้องกังวาน และช่วยให้อากาศที่ผ่านโพรงจมูกเข้าไปในทางเดินหายใจอุ่นและชื้นมากขึ้น

ด้านในของกะโหลกศีรษะส่วนที่หุ้มสมองยังมีเนื้อเยื่อเกี่ยวพันที่หุ้มรอบโครงสร้างของระบบประสาทกลาง เรียกว่า เยื่อหุ้มสมอง (meninges) ซึ่งมีอยู่ 3 ชั้นเรียงจากชั้นนอกสุดเข้าไปยังชั้นในสุดได้แก่ เยื่อดูรา (dura mater), เยื่ออะแร็กนอยด์ (arachnoid mater), และเยื่อเพีย (pia mater) เยื่อหุ้มสมองมีหน้าที่สำคัญในการปกป้องและหน้าที่ทางสรีรวิทยาอื่นๆ อีกมากมาย

พยาธิวิทยา

[แก้]

การบาดเจ็บหรือบวมของเนื้อสมองเป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิตและความพิการ[6] การบาดเจ็บที่กะโหลกศีรษะในส่วนที่ปกป้องสมอง อาจทำให้เกิดการแตกของหลอดเลือดสมองได้ ในภาวะที่มีเลือดออกในสมอง หรือมีความดันในกะโหลก (intracranial pressure) เพิ่มมากขึ้น อาจมีผลต่อก้านสมอง (brain stem) ทำให้ถึงแก่ชีวิตได้

กะโหลกศีรษะของสัตว์ชนิดอื่นๆ และกายวิภาคศาสตร์เปรียบเทียบ

[แก้]

กะโหลกศีรษะเป็นโครงสร้างที่พบได้ในสัตว์มีแกนสันหลังกลุ่มที่เรียกว่า เครนิเอต (Craniata) ซึ่งเริ่มพบในลำดับวิวัฒนาการตั้งแต่อันดับแฮกฟิช (Hagfish; Class Myxini) เป็นต้นไป และรวมถึงสัตว์มีกระดูกสันหลังได้แก่ ปลากระดูกอ่อน, ปลากระดูกแข็ง, สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ, สัตว์เลื้อยคลาน, สัตว์ปีก และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม ศีรษะของสัตว์กลุ่มเครนิเอตจะประกอบด้วยสมอง อวัยวะรับสัมผัสเช่นตา และกะโหลกศีรษะ[7] สัตว์ในกลุ่มนี้จะมีการใช้พลังงานมากกว่าสัตว์ในลำดับวิวัฒนาการต่ำกว่า และมีการปรับตัวทางรูปร่างและกายวิภาคศาสตร์อย่างมากเพื่อช่วยในการเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้พลังงานให้มากขึ้น[7] กะโหลกศีรษะในสัตว์จำพวกแฮกฟิชและปลากระดูกอ่อนจะเป็นกระดูกอ่อน ส่วนของเครนิเอตชนิดอื่นๆ จะมีกะโหลกศีรษะเป็นกระดูกแข็ง

กะโหลกศีรษะของปลา

[แก้]

กะโหลกศีรษะของปลามีปุ่มกระดูกท้ายทอย (occipital condyles) 1 อัน และมีลักษณะเด่นคือมีแผ่นปิดเหงือก[8] กะโหลกศีรษะของปลาประกอบด้วย 2 ส่วน ซึ่งมีทั้งส่วนที่เป็นกระดูกและกระดูกอ่อน[9] ได้แก่

  1. กระดูกหุ้มสมอง หรือ นิวโรเครเนียม (Neurocranium) ซึ่งหุ้มรอบสมองและอวัยวะรับสัมผัสเช่นเดียวกับในมนุษย์ ซึ่งแบ่งออกเป็น 4 ส่วนได้แก่ บริเวณรับกลิ่น (Olfactory Region) , บริเวณเบ้าตา (Orbital region) , บริเวณหู (Otic Region) , และบริเวณฐานกล่องสมอง (Basicranial Region) [9]
  2. บรางคิโอเครเนียม (Branchiocranium) ซึ่งเป็นส่วนกระดูกที่ไม่ได้หุ้มรอบสมอง แบ่งออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ บริเวณปากและขากรรไกร (Oromandibular Region) , บริเวณไฮออยด์ (hyoid region) และบริเวณเหงือก (branchial region) [9]

กะโหลกศีรษะของสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ

[แก้]

วิวัฒนาการของกะโหลกศีรษะของสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำพบครั้งแรกจากซากฟอสซิลของ Ichthyostega อายุประมาณ 350 ล้านปี ซึ่งแสดงถึงการปรับตัวให้เหมาะกับการดำรงชีวิตอยู่บนบก โดยมีการพัฒนากระดูกแข็ง เพื่อหนีการล่าของปลาและเพื่อขึ้นมาหาอาหารบนบก[10] ฟอสซิลสัตว์ชนิดนี้มีหู กะโหลกศีรษะด้านหน้าสั้น พัฒนาปลายจมูกยาวขึ้นเพื่อสูดอากาศที่มีความเจือจางกว่าในน้ำ แต่ก็ยังมีลักษณะอื่นๆ ที่เหมือนปลา เช่น ยังคงมีหาง มีครีบ แผ่นปิดเหงือก เป็นต้น[11]

กะโหลกศีรษะของสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำมีปุ่มกระดูกท้ายทอย 2 อัน[10] ไม่มีกระดูกส่วนฐานและส่วนเหนือกระดูกท้ายทอย (supra- or basioccipitals) กระดูกหุ้มสมองส่วนใหญ่ยังคงเป็นกระดูกอ่อน มีส่วนที่เป็นกระดูกปฐมภูมิอยู่น้อย[8]

ประเภทกะโหลกศีรษะของสัตว์ที่มีถุงน้ำคร่ำ

[แก้]
ภาพเปรียบเทียบตำแหน่งของช่องเปิดของกระดูกขมับในกะโหลกศีรษะชนิดต่างๆ
จากซ้ายไปขวา และบนลงล่าง:แอนแนปซิด ซินแนปซิด ยูรีแอปซิด ไดแอปซิด

การวิเคราะห์รูปร่างของกะโหลกศีรษะมีประโยชน์มากในการจัดจำแนกสัตว์ในกลุ่มสัตว์มีกระดูกสันหลังที่มีถุงน้ำคร่ำ (Amniotes) ซึ่งได้แก่กลุ่มของสัตว์เลื้อยคลาน สัตว์ปีก และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม รวมทั้งกลุ่มของไดโนเสาร์ที่สูญพันธุ์ไปแล้ว โครงสร้างของกะโหลกศีรษะที่ใช้ในการจำแนกคือ ช่องเปิดของกระดูกขมับ (temporal fenestrae) ซึ่งคาดว่าจะเป็นจุดเกาะของกล้ามเนื้อที่ใช้ในการเคลื่อนไหวของขากรรไกร ทำให้สัตว์ที่มีวิวัฒนาการของช่องเปิดดังกล่าวมีความสามารถในการหาอาหารได้ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ในสัตว์ปีกและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมซึ่งโครงสร้างของกะโหลกศีรษะมีการเปลี่ยนรูปไปมาก ช่องเปิดของกระดูกขมับนี้จึงมีการเปลี่ยนแปลงตามไปด้วยและอาจเห็นไม่ชัดเจนนัก

โดยอาศัยโครงสร้างของกะโหลกศีรษะ สามารถจำแนกสัตว์มีกระดูกสันหลังที่มีถุงน้ำคร่ำออกได้เป็นสี่กลุ่ม ได้แก่

  • แอนแนปซิด (Anapsids) เป็นกลุ่มที่ไม่มีช่องเปิดของกระดูกขมับ ได้แก่กลุ่มของสัตว์เลื้อยคลานจำพวกเต่า (testudines)
  • ซินแนปซิด (Synapsids) มีช่องเปิดหนึ่งช่องที่อยู่ใต้รอยต่อระหว่างกระดูกหลังเบ้าตา (postorbital bone) และกระดูกสความัส (squamous bone) ได้แก่กลุ่มของสัตว์เลื้อยคลานที่คล้ายกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม (mammal-like reptiles) ซึ่งสูญพันธุ์ไปแล้ว แต่คาดว่าได้มีวิวัฒนาการต่อมาเป็นกะโหลกของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมในปัจจุบัน
  • ยูรีแอปซิด (Euryapsids) มีช่องเปิดหนึ่งช่องที่อยู่เหนือรอยต่อระหว่างกระดูกหลังเบ้าตาและกระดูกสความัส ได้แก่กลุ่มของสัตว์​เลื้อยคลานทะเลบางประเภท เช่น อิคทิโอซอรัส (Ichthyosaurus)
  • ไดแอปซิด (Diapsids) มีช่องเปิดสองช่อง ทั้งเหนือและใต้ต่อรอยต่อระหว่างกระดูกเบ้าตาและกระดูกสความัส ได้แก่กลุ่มของสัตว์เลื้อยคลานส่วนใหญ่ ไดโนเสาร์ รวมทั้งสัตว์ปีกในปัจจุบัน

กะโหลกศีรษะของสัตว์เลื้อยคลาน

[แก้]

สัตว์เลื้อยคลานมีสายวิวัฒนาการใหญ่อยู่ 2 สายด้วยกัน ได้แก่ [10]

  1. ซินแนปซิด ซึ่งเป็นสัตว์เลื้อยคลานโบราณที่เป็นบรรพบุรุษของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมดังที่ได้กล่าวมาแล้ว
  2. เซารอปซิด (Sauropsid) ซึ่งแบ่งออกย่อยๆ ได้เป็น 2 กลุ่ม ได้แก่

กะโหลกศีรษะของสัตว์เลื้อยคลานจะมีปุ่มกระดูกท้ายทอย 1 อัน โค้งกระดูกโหนกแก้ม (zygomatic arch) เกิดจากกระดูกแก้ม (jugal) และกระดูกควอดราโตจูกัล (Quadratojugal bone) ซึ่งอยู่ที่ฐานของขากรรไกรล่าง[8] มีช่องเปิดรูจมูก 2 ช่อง ขากรรไกรล่างเกิดจากกระดูกหลายชิ้น[12] และมีกระดูกหู 1 ชิ้น[11]

กะโหลกศีรษะของสัตว์ปีก

[แก้]
กะโหลกศีรษะของสัตว์ปีก

รอยต่อของวิวัฒนาการของกะโหลกศีรษะจากสัตว์เลื้อยคลานไปเป็นสัตว์ปีกพบในซากฟอสซิลของบรรพบุรุษของนกที่เรียกว่า Archaeopteryx ซึ่งค้นพบที่บาวาเรีย ประเทศเยอรมนี ซึ่งมีอายุประมาณ 150 ล้านปี ซึ่งพบว่ากะโหลกของสิ่งมีชีวิตดังกล่าวมีลักษณะต่างจากนกชนิดอื่นๆ คือมีฟันที่ขากรรไกร[10] เหมือนสัตว์เลื้อยคลาน แต่มีจะงอยปากเหมือนนก[11] แสดงหลักฐานวิวัฒนาการของสัตว์ปีกที่ต่อเนื่องมาจากสัตว์เลื้อยคลานจำพวกไดแอปซิด

กะโหลกศีรษะของนกจะมีลักษณะเบาเมื่อเทียบกับน้ำหนักตัว คือประมาณ 0.21% ของน้ำหนักตัวในขณะที่ในกะโหลกศีรษะของหนูหนักเป็น 1.25% ของน้ำหนักตัว[11] กะโหลกศีรษะของนกจะไม่มีฟันหรือกรามที่หนักเพื่อช่วยในการบิน[10] กระดูกหุ้มสมองมีขนาดใหญ่ มีเบ้าตาขนาดใหญ่เพราะมีดวงตาขนาดใหญ่เพื่อใช้ในการมองเห็นอย่างรวดเร็ว ปุ่มกระดูกท้ายทอยมี 1 อัน กระดูกแต่ละชิ้นของกะโหลกศีรษะนกจะรวมกันเป็นชิ้นเดียวอย่างรวดเร็วทำให้เห็นซูเจอร์หรือรอยประสานระหว่างกระดูกได้ไม่ชัดเจน[8] ด้านหน้าของกะโหลกศีรษะยืดยาวออกเป็นจะงอยปาก ขากรรไกรล่างเกิดจากกระดูกหลายชิ้น ซึ่งจะงอยปากของนกนั้นจะมีวิวัฒนาการแตกต่างกันออกไปเพื่อให้เหมาะกับการดำรงชีวิตของนก เช่น จะงอยปากของกาจะมีลักษณะแหลม และแข็งแรง จะงอยปากของนกฟลามิงโกจะมีลักษณะงุ้ม และจะงอยปากของนกหัวขวานจะยาวตรงและแข็งแรง เพื่อใช้ในการเจาะไม้ และมีกะโหลกศีรษะที่หนาเพื่อรองรับแรงกระแทกและความสั่นสะเทือนได้ดี[11]

กะโหลกศีรษะของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม

[แก้]
กะโหลกศีรษะของแมว
กะโหลกศีรษะของกระต่าย

เนื่องจากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมวิวัฒนาการมาจากสัตว์เลื้อยคลานกลุ่มซินแนปซิด กะโหลกศีรษะของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมจึงมีช่องเปิดหนึ่งช่องใต้รอยต่อระหว่างกระดูกหลังเบ้าตาและกระดูกสความัส มีปุ่มกระดูกท้ายทอย 2 ปุ่ม มีช่องรูจมูก 1 ช่อง โพรงกะโหลกมีขนาดใหญ่ ขากรรไกรล่างเกิดจากกระดูกเพียงชิ้นเดียว[12][10] มีกระดูกหูที่อยู่ในหูชั้นกลาง 3 ชิ้น ได้แก่ กระดูกค้อน กระดูกทั่ง และกระดูกโกลน กะโหลกศีรษะของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมนับว่ามีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของฟันเพื่อทำหน้าที่เฉพาะมากกว่าสัตว์ชนิดอื่นๆ [7] ซึ่งจำแนกเป็นประเภทใหญ่ๆ ได้ ดังนี้

  • สัตว์กินเนื้อ (Carnivore) เช่น สุนัข แมว จะมัฟันหน้าและฟันเขี้ยวที่แหลมคมเพื่อล่าเหยื่อ หรือฉีกชิ้นเนื้อ ส่วนฟันกรามหน้าและฟันกรามจะหยักและขรุขระ เพื่อใช้บดเคี้ยวอาหาร
  • สัตว์กินพืช (Herbivore) เช่น วัว จะมีผิวฟันกว้างเป็นสัน เพื่อใช้บดเคี้ยวพืชที่เหนียว ส่วนฟันหน้าและฟันเขี้ยวจะเปลี่ยนแปลงไปเพื่อกัดอาหารจำพวกพืช หรืออาจมีลักษณะเฉพาะของสัตว์ในแต่ละอันดับ เช่น อันดับตัวกินมด (Class Edentata) ซึ่งวิวัฒนาการจนไม่มีฟัน, อันดับกระต่าย (Class Lagomorpha) หรือสัตว์ฟันแทะ (Class Rodentia) ซึ่งมีการพัฒนาฟันแทะให้มีขนาดใหญ่, หรือโพรโบซีเดีย (Class Proboscidea) ซึ่งมีฟันแทะยื่นยาวออกมาเป็นงา เช่น ช้าง[10]
  • สัตว์ที่กินทั้งพืชและสัตว์ (Omnivore) เช่น มนุษย์ จะมีฟันที่ปรับตัวให้สามารถกินทั้งพืชและเนื้อสัตว์ได้ ฟันหน้าจะเหมือนใบมีดใช้ตัดอาหาร ฟันเขี้ยวมีลักษณะแหลมคม ใช้ฉีกอาหาร ฟันกรามหน้าและฟันกรามใช้ในการบดเคี้ยวอาหาร

กะโหลกศีรษะในอันดับลิงและมนุษย์

[แก้]

สัตว์ในอันดับลิงหรือไพรเมต (primate) วิวัฒนาการมาจากสัตว์ในอันดับอินเซคทิวอรา (Class Insectivora) ซึ่งลักษณะของกะโหลกศีรษะจะมีโพรงกะโหลกใหญ่ จมูกสั้น เบ้าตาชิดกัน ขากรรไกรห้อยต่ำ มีฟันที่เหมาะกับการกินทั้งพืชและสัตว์ เมื่อเปรียบเทียบกะโหลกศีรษะของมนุษย์และลิงกอริลลาซึ่งอยู่ในวงศ์ย่อย Homininae เดียวกัน พบว่ากะโหลกศีรษะของมนุษย์จะมีลักษณะขากรรไกรแบน ฟันขึ้นตรงตั้งฉาก และส่วนคางยื่นออกไปเล็กน้อย ในขณะที่กะโหลกศีรษะของลิงกอริลลาจะมีสันกระดูกเหนือตาที่ยื่นออกมา ขากรรไกรและฟันยื่นออกมาด้านหน้า แต่ส่วนคางหดเข้าไป[13]

กะโหลกศีรษะสัตว์ในอันดับลิงบางชนิด

เมื่อเปรียบเทียบกะโหลกศีรษะของมนุษย์และของลิงชิมแพนซีซึ่งอยู่ในเผ่า Hominini เดียวกัน พบว่ากะโหลกศีรษะของมนุษย์และลิงชิมแพนซีในระยะทารกมีลักษณะที่คล้ายคลึงกัน คือมีรูปร่างกลม ขากรรไกรเล็ก และใบหน้าแบน แต่เมื่อเจริญเติบโตมากขึ้น กะโหลกศีรษะของชิมแพนซีจะมีขากรรไกรที่ยื่นออกมามากขึ้น หน้าผากลาดและมีฟันขนาดใหญ่ขึ้น ในขณะที่กะโหลกศีรษะของมนุษย์จะมีสัณฐานกลมเหมือนเช่นในระยะทารก ลักษณะดังกล่าวมีการสันนิษฐานว่าการเจริญของสมองมนุษย์นั้นมีระยะเวลานานกว่าของลิงชิมแพนซี ทำให้สามารถเรียนรู้ได้มากขึ้นและมีความฉลาดมากกว่าของลิงชิมแพนซี[14]

รูปประกอบเพิ่มเติม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 Gray H. 1918. "Gray's Anatomy of the Human Body" (Public Domain Resources)
  2. "ความรู้พื้นฐานของกะโหลกศีรษะ จากเว็บไซต์ Johns Hopkins Hospital". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-07-19. สืบค้นเมื่อ 2008-04-28.
  3. "Skeletal System / Divisions of the Skeleton". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-01-14. สืบค้นเมื่อ 2008-04-29.
  4. "facial+bone - ความหมายจาก Merriam-Webster's Medical Dictionary". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-05-27. สืบค้นเมื่อ 2008-04-29.
  5. มีชัย ศรีใส และคณะ. มหกายวิภาคศาสตร์ประยุกต์ เล่มที่ 2: ศีรษะและคอ. พิมพ์ครั้งที่ 3. เยียร์บุ๊คพับลิชเชอร์, 2541.
  6. Moore K. L., Dalley A. F. Clinically Oriented Anatomy. 4th ed., 1997.
  7. 7.0 7.1 7.2 Campbell N. A., Reece J. B. Biology, 7th Ed. San Francisco CA: Benjamin Cummings, 2005
  8. 8.0 8.1 8.2 8.3 Comparative Chart of the Vertebrate Skull
  9. 9.0 9.1 9.2 มีนวิทยา: ระบบโครงร่างและการเคลื่อนที่ของปลา เก็บถาวร 2008-08-02 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จากเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา
  10. 10.0 10.1 10.2 10.3 10.4 10.5 10.6 ชีววิทยา: สัตววิทยา 3 โครงการตำราวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์มูลนิธิ สอวน.
  11. 11.0 11.1 11.2 11.3 11.4 บพิธ จารุพันธ์ และ นันทพร จารุพันธ์. สัตววิทยา. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์,2540
  12. 12.0 12.1 เชาวน์ ชิโนรักษ์ และ พรรณี ชิโนรักษ์. ชีววิทยา ๒. กรุงเทพฯ: บูรพาสาส์น, 2541
  13. ปรีชา สุวรรณพินิจ และนงลักษณ์ สุวรรณพินิจ, ชีววิทยา 2. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2542
  14. ชีววิทยา: สัตววิทยา 2 โครงการตำราวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์มูลนิธิ สอวน.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]