กระดูกอัลนา
กระดูกอัลนา หรือ กระดูกปลายแขนท่อนใน (Ulna) | |
---|---|
รยางค์บน | |
กระดูกอัลนา คือ หมายเลข 2 | |
ตัวระบุ | |
MeSH | D014457 |
TA98 | A02.4.06.001 |
TA2 | 1230 |
FMA | 23466 |
ศัพท์ทางกายวิภาคของกระดูก |
ในกายวิภาคศาสตร์ของมนุษย์ กระดูกอัลนา (อังกฤษ: Ulna) หรือ กระดูกปลายแขนด้านนิ้วก้อย เป็นหนึ่งในสองกระดูกที่เป็นแกนหลักของส่วนปลายแขนซึ่งเชื่อมต่อระหว่างข้อต่อที่สำคัญของรยางค์บน คือข้อศอก (elbow) และข้อมือ (wrist) และขนานไปกับกระดูกเรเดียส และเชื่อมกันโดยเอ็นเยื่อระหว่างกระดูก (interosseous membrane)
เช่นเดียวกับกระดูกเรเดียส กระดูกอัลนาเป็นจุดเกาะที่สำคัญของกล้ามเนื้อและเอ็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวของปลายแขนและมือ
กายวิภาคศาสตร์
[แก้]กระดูกอัลนาเป็นกระดูกแบบยาวที่มีรูปร่างคล้ายค้อน ซึ่งจะมีด้านหัวกระดูกที่มีขนาดใหญ่และเชื่อมต่อกับส่วนใหญ่ของส่วนปลายของกระดูกต้นแขน แต่มีส่วนปลายกระดูกที่เรียวเล็กกว่ากระดูกเรเดียสมาก
เช่นเดียวกับกระดูกเรเดียส เราสามารถแบ่งส่วนของกระดูกอัลนาได้เป็นสามส่วน คือส่วนต้นกระดูก (proximal/upper part) ส่วนกลางกระดูก (body) และส่วนท้ายกระดูก (distal/lower part) อย่างไรก็ตาม ในกรณีของกระดูกอัลนา ส่วนหัวของกระดูก (head of ulna) จะอยู่ทางด้านส่วนปลายของกระดูก ซึ่งต่างจากกระดูกชิ้นอื่นๆที่ส่วนหัวกระดูกมักหมายถึงส่วนต้นของกระดูก
ส่วนต้นกระดูก
[แก้]ส่วนต้นของกระดูกอัลนาจะมีลักษณะใหญ่และมีส่วนยื่นของกระดูกที่เห็นได้อย่างชัดเจน ซึ่งแก โอเลครานอน โพรเซส (Olecranon process) และ โคโรนอยด์ โพรเซส (Coronoid process) และยังมีส่วนเว้าซึ่งเป็นบริเวณรับกับปลายของกระดูกต้นแขนและหัวของกระดูกเรเดียสอีกสองจุด คือรอยเว้าเซมิลูนาร์ (Semilunar notch) และรอยเว้าเรเดียส (Radial notch)
- โอเลครานอน โพรเซส (Olecranon process) เป็นส่วนยื่นของกระดูกอัลนาที่มีขนาดใหญ่ สามารถคลำพบได้ง่าย และลักษณะคล้ายตะขอที่ยื่นมาจากทางด้านหลังของกระดูก ปลายของตะขอนี้เมื่อมีการยืด (extension) ของปลายแขน ส่วนนี้จะรับกันพอดีกับแอ่งโอเลครานอน (Olecranon fossa) ซึ่งอยู่ทางด้านหลังของกระดูกต้นแขน พื้นทผิวทางด้านบนของโอเลครานอน โพรเซส ยังเป็นจุดเกาะปลายของกล้ามเนื้อไตรเซ็ปส์ เบรกิไอ (Triceps brachii muscle) นอกจากนี้บริเวณพื้นผิวด้านหลังยังเป็นที่เกาะของเอ็นยึดกระดูกที่อยู่โดยรอบข้อศอกอีกด้วย
- โคโรนอยด์ โพรเซส (Coronoid process) เป็นส่วนยื่นของกระดูกที่มีขนาดเล็กกว่าโอเลครานอน โพรเซส และยื่นออกมาทางด้านหน้า ซึ่งเมื่อมีการงอ (flexion) ของปลายแขน ส่วนของโคโรนอยด์ โพรเซสนี้จะรับกับแอ่งโคโรนอยด์ ซึ่งอยู่ทางด้านหน้าของกระดูกต้นแขน บริเวณโดยรอบของโคโรนอยด์ โพรเซส ยังเป็นจุดเกาะปลายของกล้ามเนื้อเบรเคียลิส (Brachialis muscle) และจุดเกาะปลายของกล้ามเนื้อเฟลกเซอร์ ดิจิทอรัม โปรฟันดัส (Flexor digitorum profundus muscle) กล้ามเนื้อโปรเนเตอร์ เทเรส (Pronator teres muscle) และกล้ามเนื้อเฟลกเซอร์ พอลิซิส ลองกัส (Flexor pollicis longus)
- รอยเว้าเซมิลูนาร์ (Semilunar notch) เป็นรอยเว้าขนาดใหญ่ที่อยู่ระหว่างโอเลครานอน โพรเซส และโคโรนอยด์ โพรเซส และทำหน้าที่เป็นบริเวณรองรับกับโทรเคลียร์ ของปลายกระดูกต้นแขน
- รอยเว้าเรเดียส (Radial notch) เป็นรอยเว้าเล็กๆที่อยู่ทางด้านข้างของโคโรนอยด์ โพรเซส ซึ่งจะรับกับส่วนหัวของกระดูกเรเดียสเพื่อประกอบเป็นข้อต่อเรดิโออัลนาส่วนต้น (Proximal radioulnar joint) ซึ่งเกี่ยวข้องการการพลิกและการหมุนของปลายแขน
ส่วนกลางกระดูก
[แก้]ส่วนกลางของกระดูกอัลนามีลักษณะคล้ายแท่งปริซึมสามเหลี่ยม จึงมีพื้นผิวสามด้าน และขอบสามขอบ ซึ่งจะเป็นจุดเกาะของกล้ามเนื้อต่างๆ
พื้นผิว/ขอบบนกระดูกอัลนา | กล้ามเนื้อ/เอ็น | บริเวณที่เกาะบนกระดูก |
พื้นผิวและขอบด้านหน้า | กล้ามเนื้อเฟลกเซอร์ ดิจิทอรัม โปรฟันดัส (Flexor digitorum profundus muscle) | ส่วนบนของกระดูก |
พื้นผิวและขอบด้านหน้า | กล้ามเนื้อโปรเนเตอร์ ควอดราตัส (Pronator quadratus muscle) | ส่วนล่างของกระดูก |
ขอบด้านหลัง | กล้ามเนื้อเฟลกเซอร์ คาร์ไพ อัลนาริส (Flexor carpi ulnaris muscle) | ส่วนบนของกระดูก |
ขอบด้านหลัง | กล้ามเนื้อเอกซ์เทนเซอร์ คาร์ไพ อัลนาริส (Extensor carpi ulnaris muscle | ส่วนบนของกระดูก |
พื้นผิวด้านหลัง | กล้ามเนื้อสุพิเนเตอร์ (Supinator muscle) | ส่วนบนของกระดูก |
พื้นผิวด้านหลัง | กล้ามเนื้อแอบดักเตอร์ พอลิซิส ลองกัส (Abductor pollicis longus muscle) | ส่วนกลางของกระดูกถัดลงมาจากจุดเกาะของกล้ามเนื้อสุพิเนเตอร์ |
พื้นผิวด้านหลัง | กล้ามเนื้อเอกซ์เทนเซอร์ พอลิซิส ลองกัส (Abductor pollicis longus muscle) | ครึ่งล่างของกระดูก ถัดลงมาจากจุดเกาะของกล้ามเนื้อแอบดักเตอร์ พอลิซิส ลองกัส |
พื้นผิวด้านหลัง | กล้ามเนื้อเอกซ์เทนเซอร์ อินดิซิส (Extensor indicis muscle) | ส่วนล่างของกระดูก |
ส่วนปลายกระดูก
[แก้]ส่วนปลายของกระดูกอัลนาจะมีลักษณะเล็กเรียว และมีปุ่มเล็กๆสองปุ่ม ได้แก่
- ปุ่มหัวกระดูกอัลนา (head of ulna) มีลักษณะกลม ส่วนหนึ่งจะต่อกับข้อมือ ในขณะที่อีกส่วนจะต่อกับรอยเว้าอัลนา (ulnar notch) บนกระดูกเรเดียส เพื่อประกอบเป็นข้อต่อเรดิโออัลนาส่วนปลาย (Distal radioulnar joint)
- สไตลอยด์ โพรเซส (Syliod process) เป็นส่วนยื่นเล็กๆที่ยื่นออกมาทางด้านหลังของกระดูก ซึ่งเป็นจุดเกาะของเอ็นอัลนาคอลแลทเทอรัล (Ulnar collateral ligament) ซึ่งเป็นเอ็นส่วนหนึ่งของข้อมือ
รูปประกอบเพิ่มเติม
[แก้]-
กระดูกปลายแขนด้านขวาของมนุษย์ มุมมองจากทางด้านหลัง
-
กระดูกอัลนาข้างซ้าย มุมมองทางด้านข้าง
-
กระดูกอัลนาข้างซ้าย มุมมองทางด้านหน้า
-
ภาพวาดแสดงจุดเกาะต่างๆบนกระดูกของปลายแขน มุมมองทางด้านหลัง
-
ภาคตัดขวางจากส่วนกลางของปลายแขน
-
ภาคตัดขวางของปลายกระดูกปลายแขน แสดงการวางตัวของเอ็นและโครงสร้างอื่นๆที่เข้าสู่ข้อมือ
อ้างอิง
[แก้]- Gray's anatomy for students. Drake, RL., Vogl, W. and Mitchell, AWM.
- Clinically Oriented Anatomy, 4th ed. Keith L. Moore and Arthur F. Dalley.