สนามม้านางเลิ้ง
สนามม้านางเลิ้ง มุมมองจากอาคารใบหยก 2 ถ่ายเมื่อ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 | |
ที่ตั้ง | 183 ถนนพิษณุโลก แขวงสวนจิตรลดา เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร |
---|---|
แข่งครั้งแรก | 18 ธันวาคม 2459 |
แข่งครั้งสุดท้าย | 16 กันยายน 2561 (101 ปี 272 วัน) |
ประเภท | การแข่งขันทางเรียบ |
ข้อมูลการแข่งขัน | |
พื้นผิว | หญ้า |
สนามม้านางเลิ้ง (อังกฤษ: Nang Loeng Race Course) เป็นสถานที่จัดการแข่งม้าในอดีต ใช้จัดการแข่งม้าสลับกับราชกรีฑาสโมสร โดยราชตฤณมัยสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เช่าพื้นที่พระราชฐานสร้างสนามม้าแห่งนี้จากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ตั้งอยู่ที่เลขที่ 183 ถนนพิษณุโลก แขวงสวนจิตรลดา เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร เปิดสนามอย่างเป็นทางการในวันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2459 จนกระทั่งหมดสัญญาเช่ากับสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ จึงจัดการแข่งม้าวันสุดท้ายเมื่อวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2561 และถูกรื้อถอนตั้งแต่เดือนมีนาคม พ.ศ. 2562 ปัจจุบันแปรสภาพเป็นอุทยานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
ประวัติ
[แก้]เบื้องหลังและพื้นภูมิ
[แก้]พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) เสด็จพระราชดำเนินกลับจากการเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ 1 ในปี พ.ศ. 2440 สโมสรน้ำเค็มศึกษา สมาคมของข้าราชการและนักเรียนที่เคยไปทำงาน ศึกษา หรือเดินทางไปยุโรป ได้ร่วมกับเจ้าของคอกม้าต่าง ๆ จัดแข่งม้าเทียมรถ เพื่อเป็นการต้อนรับและถวายความจงรักภักดีต่อในหลวงรัชกาลที่ 5 โดยปรับให้ท้องสนามหลวงกลายเป็นสนามแข่งม้าชั่วคราว นับเป็นการจัดกีฬาแข่งม้าแบบตะวันตกครั้งแรกของประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2444 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระบรมราชานุญาตให้จัดตั้งราชกรีฑาสโมสร หรือที่เรียกกว่าว่า “สนามฝรั่ง” เพื่อเป็นทั้งแหล่งบันเทิงจำกัดวงสำหรับคนต่างชาติ
ก่อตั้ง
[แก้]กระทั่งในสมัยรัชกาลที่ 6 พระยาประดิพัทธภูบาลและพระยาอรรถการประสิทธิ์ ได้ทำหนังสือทูลเกล้าฯ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อขอพระบรมราชานุญาตตั้งสโมสรสนามม้า “สนามไทย” แข่งเพื่อให้บริการแข่งม้าสำหรับคนไทยและนำรายได้มาใช้บำรุงพันธุ์ม้าจากประเทศออสเตรเลียและอังกฤษ และพระองค์มีพระบรมราชานุญาต โดยพระราชทานที่ดินของกรมอัศวราชให้ พร้อมทั้งได้พระราชทานนามว่า "ราชตฤณมัยสมาคมแห่งกรุงสยาม" อีกทั้งทรงรับไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยเสด็จฯ มาทรงเปิดสนามม้าเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2459 รวมถึงยังทรงส่งม้าในคอกของพระองค์เข้าร่วมแข่งอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากสนามม้าอยู่ใกล้ตลาดนางเลิ้งซึ่งเป็นหนึ่งในย่านการค้าที่สำคัญในกรุงเทพมหานคร คนทั่วไปจึงเรียกสนามแห่งนี้ว่า "สนามม้านางเลิ้ง"
การใช้งาน
[แก้]สนามม้านางเลิ้งจัดการแข่งขันขึ้นในทุกวันอาทิตย์เว้นอาทิตย์ สลับกันกับราชกรีฑาสโมสร และยังมีการให้บริการอื่น ๆ เช่น สนามเทนนิส, สระว่ายน้ำ, ห้องอาหาร จัดเลี้ยงต่าง ๆ[1][2]
การเมืองไทย
[แก้]รัฐบาลในสมัย สัญญา ธรรมศักดิ์ ใช้สนามม้านางเลิ้งเป็นสถานที่ประชุมสมัชชาแห่งชาติ ที่มีจำนวน 2,347 คน เป็นที่มาของฉายา "สภาสนามม้า"[3]
ต่อมาในวันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2555 องค์การพิทักษ์สยาม ซึ่งนำโดย พลเอก บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ เลขาธิการราชตฤณมัยสมาคมฯ ใช้สนามม้านางเลิ้งเป็นสถานที่จัดชุมนุมขับไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร[3]
การรื้อถอน
[แก้]ราชตฤณมัยสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้เช่าอาคารและที่ดินที่ตั้งของสนามม้านางเลิ้งจากสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ตามสัญญาที่ได้ลงนามจำนวน 3 ฉบับ ฉบับที่ 2976/2542 , 2977/2542 และ 2978/2542 ลงวันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2542 นั้น โดยทั้ง 3 ฉบับ มีกำหนดอายุสัญญาเช่า 6 เดือน นับแต่วันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2542 เป็นต้นไป ในอัตราเช่าเดือนละ 30,000 บาท, 10,000 บาท และ 10,000 บาท ตามลำดับ ทั้งนี้ สัญญาเช่าทั้ง 3 ฉบับได้ครบกำหนดอายุสัญญาเช่ามานานแล้ว และสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์จำเป็นต้องใช้ที่ดินและอาคารดังกล่าว จึงไม่สามารถให้ราชตฤณมัยสมาคมฯ เป็นผู้เช่าได้อีกต่อไป ซึ่งสำนักงานฯ ได้ประสานและแจ้งให้ราชตฤณมัยสมาคมฯ ทราบในเบื้องต้นแล้ว สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์จึงบอกเลิกสัญญาเช่าสนามม้านางเลิ้ง และขอให้ส่งมอบสถานที่เช่าภายในกำหนด 180 วัน นับแต่วันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2561 ซึ่งตรงกับวันที่ 4 ตุลาคม[4][5][6]
หลังจากสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ได้บอกเลิกสัญญาเช่า ราชตฤณมัยสมาคมฯ ได้จัดการแข่งม้าวันสุดท้ายเมื่อวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2561[7] และได้ส่งมอบพื้นที่คืนตามกำหนด จากนั้นในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2562 จึงได้ทำการรื้อถอนสนามม้าออก
อุทยานเฉลิมพระเกียรติ
[แก้]หลังจากการรื้อถอนอาคารสนามม้าและสิ่งปลูกสร้างที่เกี่ยวข้อง พื้นที่นี้ได้เปลี่ยนสถานะเป็นเขตพระราชฐาน โดยในเบื้องต้นใช้ชื่อว่า "901 แลนด์"[8] ต่อมาพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 10) ได้พระราชทานให้เป็นอุทยานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ซึ่งภายในบริเวณดังกล่าวประกอบด้วยพระบรมราชานุสาวรีย์ สวนสาธารณะ และพื้นที่แก้มลิง[9] ซึ่งออกแบบภูมิสถาปัตย์ตามแบบอย่างโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ รวมถึงอาคารจอดรถใต้ดินจำนวน 3 ชั้น ที่สามารถรองรับการจอดรถยนต์ได้ 700 คัน คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดให้บริการภายในปลายปี พ.ศ. 2567[10][11]
ดูเพิ่ม
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- ↑ สนามม้านางเลิ้ง คอลัมน์ กับแกล้มการเมือง, หน้า 2 หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ฉบับที่ 23,026 วันอาทิตย์ที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2555
- ↑ สนามม้านางเลิ้งยุคใหม่ พร้อมตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ทันสมัยของคนเมือง
- ↑ 3.0 3.1 จุดชนวนตั้งแนวรบ‘ล้มยิ่งลักษณ์’ที่นางเลิ้ง โดย อัญชะลี ไพรีรัก จากแนวหน้า
- ↑ สำนักงานทรัพย์สินฯ บอกเลิกสัญญาสนามม้านางเลิ้ง ย้ายทรัพย์สินออกภายใน 180 วัน
- ↑ ปิดตำนานสนามม้านางเลิ้ง102ปี ย้ายทรัพย์สินออกภายใน180วัน
- ↑ สนามม้าแห่งที่ 2 ของไทยอายุ 102 ปี กับสถาปัตยกรรมที่ควรไปดูด้วยตาสักครั้ง
- ↑ "จัดแข่งม้าวันสุดท้าย 'สนามม้านางเลิ้ง' ปิดตำนาน101ปี". กรุงเทพธุรกิจ. 2018-09-16. สืบค้นเมื่อ 2023-02-01.
{{cite news}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์) - ↑ "ข้อบังคับหัวหน้าเจ้าพนักงานจราจรในเขตกรุงเทพมหานคร ว่าด้วยการจำกัดความเร็วและห้ามใช้เสียง บริเวณโดยรอบเขตพระราชฐาน (๙๐๑ แลนด์) พ.ศ. ๒๕๖๔" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 138 (พิเศษ 102 ง): 41. 2021-05-13. สืบค้นเมื่อ 2022-12-05.
- ↑ เริ่มต้นการรื้อถอน สนามม้านางเลิ้ง เตรียมสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ ร.9
- ↑ เตรียมเฮ! เผยคืบหน้าเปลี่ยน 'อดีตสนามม้านางเลิ้ง' เป็น 'สวนสาธารณะ' 216 ไร่
- ↑ อัดงบเพิ่ม 2.5 พันล. ซ่อมสร้างทั่วกรุง ผุดที่จอดรถใต้ดิน “สนามม้านางเลิ้ง”
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- แผนที่และภาพถ่ายทางอากาศของ สนามม้านางเลิ้ง
- ภาพถ่ายดาวเทียมจากวิกิแมเปีย หรือกูเกิลแมปส์
- แผนที่จากลองดูแมป หรือเฮียวีโก
- ภาพถ่ายทางอากาศจากเทอร์ราเซิร์ฟเวอร์
- หน้าที่ใช้กล่องข้อมูลการแข่งม้าที่มีพารามิเตอร์ที่ไม่รู้จัก
- สิ่งก่อสร้างในเขตดุสิต
- สโมสรกีฬาในกรุงเทพมหานคร
- สนามกีฬาในกรุงเทพมหานคร
- สนามแข่งม้าในประเทศไทย
- สิ่งก่อสร้างตั้งแต่ พ.ศ. 2459
- สนามกีฬาที่สร้างเสร็จในปี พ.ศ. 2459
- ก่อตั้งในกรุงเทพพระมหานครในปี พ.ศ. 2459
- สนามกีฬาที่ถูกรื้อถอนในปี พ.ศ. 2562
- สิ้นสุดในกรุงเทพมหานครในปี พ.ศ. 2562