หมู่บ้านคุ้งตะเภา

พิกัด: 17°39′11″N 100°08′38″E / 17.65299°N 100.143802°E / 17.65299; 100.143802
นี่คือบทความคุณภาพ คลิกเพื่อดูรายละเอียดเพิ่มเติม
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก ทุ่งบ้านคุ้งตะเภา)

หมู่บ้านคุ้งตะเภา

Ban Khung Taphao
หมู่บ้าน
ป้ายหมู่บ้านคุ้งตะเภา ถ่ายเมื่อ พ.ศ. 2535
ป้ายหมู่บ้านคุ้งตะเภา ถ่ายเมื่อ พ.ศ. 2535
หมู่บ้านคุ้งตะเภาตั้งอยู่ในจังหวัดอุตรดิตถ์
หมู่บ้านคุ้งตะเภา
หมู่บ้านคุ้งตะเภา
พิกัด: 17°39′24.44″N 100°8′54.56″E / 17.6567889°N 100.1484889°E / 17.6567889; 100.1484889
ตำบลคุ้งตะเภา
อำเภอเมืองอุตรดิตถ์
จังหวัดอุตรดิตถ์
ประเทศไทย
การปกครอง
 • ผู้ใหญ่บ้านสมชาย สำเภาทอง[1]
พื้นที่(2,657 ไร่)[2]
 • ทั้งหมด0.6928 ตร.กม. (0.2675 ตร.ไมล์)
 • พื้นที่ทั้งหมด4.2512 ตร.กม. (1.6414 ตร.ไมล์)
ความสูง62 เมตร (203 ฟุต)
ประชากร
 • ทั้งหมด1,436 คน
 • ความหนาแน่น59.22 คน/ตร.กม. (153.4 คน/ตร.ไมล์)
 437 ครัวเรือน[3]
รหัสไปรษณีย์53000
เว็บไซต์www.watkungtaphao.ob.tc

หมู่บ้านคุ้งตะเภา หรือ บ้านคุ้งตะเภา เดิมชื่อว่า "ทุ่งบ้านคุ้งตะเภา"[4] เป็นหมู่บ้านขนาดใหญ่ในตำบลคุ้งตะเภา อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ นับเป็นหมู่บ้านในแถบลุ่มแม่น้ำน่านฝั่งขวาตอนบนที่เคยอยู่ในการปกครองของหัวเมืองพิชัยที่เก่าแก่ที่สุดหมู่บ้านหนึ่ง

หมู่บ้านคุ้งตะเภาเป็นชุมชนคนไทยดั้งเดิมที่ตั้งอยู่ปลายเหนือสุดของวัฒนธรรมที่ราบลุ่มภาคกลางตอนบน ตัวหมู่บ้านอยู่ติดริมแม่น้ำน่านฝั่งตะวันออก มีภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นที่ราบสองระดับ โดยพื้นที่ติดริมแม่น้ำน่านจะเป็นที่ระดับต่ำมีชั้นลดจากที่ราบปกติ เดิมตัวหมู่บ้านตั้งอยู่บนที่ราบลุ่มชั้นลดดินตะกอนแม่น้ำพัดดังกล่าว แต่ในปัจจุบันบ้านเรือนส่วนใหญ่ได้ย้ายขึ้นมาตั้งอยู่บนที่ราบภาคกลางริมทางหลวงแผ่นดินหมายเลขที่ 11 โดยพื้นที่เกษตรกรรมของหมู่บ้านส่วนใหญ่จะอยู่ในพื้นที่ทิศตะวันออกของหมู่บ้านและที่ราบลุ่มตะกอนแม่น้ำพัดริมแม่น้ำน่านด้านตะวันตกของหมู่บ้าน

ชาวบ้านคุ้งตะเภาในปัจจุบันส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธนิกายเถรวาท มีวัฒนธรรมคล้ายกับหมู่บ้านชนบททั่วไปในแถบภาคกลางตอนบน โดยมีวัดประจำหมู่บ้าน 1 แห่ง สถานีอนามัย 1 แห่ง และ โรงเรียนระดับพื้นฐาน 1 โรง เส้นทางคมนาคมหลักคือ ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 11 ด้านเศรษฐกิจ ชาวบ้านประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นส่วนใหญ่ สมชาย สำเภาทองเป็นผู้ใหญ่บ้านคนปัจจุบัน

นิรุกติศาสตร์[แก้]

โค้งสำเภาล่ม หลังวัดคุ้งตะเภาในปัจจุบัน เป็นที่มาของชื่อหมู่บ้านคุ้งตะเภา

ดูเพิ่มได้ที่ ความเป็นมาของชื่อคุ้งตะเภา

คุ้งตะเภา มีความหมายว่า "คุ้งเรือสำเภา" มาจากศัพท์คำว่า "คุ้ง" หมายถึง ส่วนเว้าโค้งเข้าไปของฝั่งน้ำด้านที่ตรงกันข้ามกับหัวแหลม[5] และ "ตะเภา" แผลงมาจากศัพท์เดิม คือ "สำเภา" ที่ตั้งของหมู่บ้านในอดีตนั้นอยู่ติดริมแม่น้ำน่านและอยู่ใกล้กับชุมนุมการค้าที่สำคัญของภาคเหนือที่มีความสำคัญมาตั้งแต่สมัยโบราณ คือ ตำบลท่าเสา โดยในอดีตมีการส่งสินค้าทางเรือขึ้นเหนือไปถึงหลวงพระบางซึ่งในฤดูฝนนั้นแม่น้ำมีน้ำหลากทำให้เรือขนาดใหญ่ได้ ความเป็นมาชื่อคุ้งตะเภา มีที่มาจากคำบอกเล่าที่กล่าวกันมาว่า เคยมีเรือสำเภาล่ม บริเวณโค้งแม่น้ำน่านหน้าวัด (วัดคุ้งตะเภาปัจจุบัน) ชาวบ้านเรียกบริเวณนั้นว่า โค้งสำเภาล่ม ซึ่งต่อมาเพี้ยนเป็น คุ้งสำเภา มาตลอดสมัยอยุธยาตอนปลาย[6]

ทั้งนี้ปัจจุบันไม่ปรากฏหลักฐานใด ๆ ของเรือลำดังกล่าวหลงเหลืออยู่ ข้อเท็จจริงทางภูมิศาสตร์พบความเปลี่ยนแปลงทางธรณีวิทยาของพื้นที่ภาคกลางชายฝั่งยื่นออกไปเป็นพื้นที่ภาคกลางตอนล่างในปัจจุบัน[7] ทำให้เรือสำเภานั้นไม่สามารถเแล่นเข้ามาสู่แผ่นดินตอนในเกินกว่าเมืองอยุธยาได้มาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลายแล้ว[8]] อย่างไรก็ตามบาทหลวงปาลกัว มุขนายกในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้กล่าวอ้างอิงถึงตำนานโบราณของสยามตอนหนึ่งว่าในสมัยสุโขทัย เรือสำเภาจีนเดินทะเลสามารถขึ้นมาได้ถึงเมืองสวรรคโลก (สังคโลก)[8] ทำให้ตำนานเรือสำเภาล่มอาจหมายถึงเรือสำเภาในสมัยสุโขทัยก็เป็นได้[9]

ต่อมา เมื่อปีขาล โทศก จุลศักราช 1132 ในสมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี พระองค์เสด็จมาปราบชุมนุมเจ้าพระฝางเมืองสวางคบุรี และประทับชำระคณะสงฆ์จัดการหัวเมืองฝ่ายเหนือใหม่ตลอดฤดูน้ำ[10] พระองค์ได้มีพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ผู้คนในแถบคุ้งสำเภาที่อพยพลี้ภัยสงคราม ได้ย้ายกลับมาตั้งครัวเรือนเหมือนดังเดิม ทรงสร้างวัดและศาลาการเปรียญขึ้นใหม่ ณ ริมคุ้งสำเภาล่ม พร้อมทั้งตรัสเรียกชื่อวัดที่ตั้งขึ้นใหม่นี้ว่า "วัดคุ้งตะเภา"[11][12][13] ปัจจุบันทางราชการได้นำชื่อวัดคุ้งตะเภาไปใช้ตั้งเป็นชื่อหมู่บ้านและชื่อตำบลคุ้งตะเภาสืบมาจนปัจจุบัน

จากข้อมูลคำประพันธ์ในขุนช้างขุนแผน พบหลักฐานว่า คนทั่วไปยอมรับนามวัด ที่ได้รับพระราชทานเมื่อคราวตั้งวัดคุ้งตะเภา มาตั้งแต่สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์แล้ว[9]

นอกจากนี้ ชื่อหมู่บ้านคุ้งตะเภาหรือทุ่งบ้านคุ้งตะเภาในอดีต ยังได้ถูกใช้เป็นชื่อเรียกครอบคลุมเขตย่านตำบลแถบแม่น้ำน่านฝั่งตะวันออกมาตั้งแต่โบราณ เพราะในแถบย่านแม่น้ำน่านฝั่งตะวันออกด้านตรงข้ามกับตำบลท่าเสาในสมัยก่อนยังไม่มีหมู่บ้านใดตั้งขึ้น คนทั่วไปจึงได้ใช้ชื่อหมู่บ้านคุ้งตะเภาเรียกขานย่านบริเวณตำบลแม่น้ำน่านฝั่งตะวันออกว่า ตำบลคุ้งตะเภา มาตั้งแต่อดีต ดังปรากฏหลักฐานว่ามีการเรียกแถบตำบลนี้ว่า "ตำบลคุ้งตะเภา" มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 โดยในสมัยนั้นหมู่บ้านคุ้งตะเภา เรียกว่า "ทุ่งบ้านคุ้งตะเภา" อยู่ในเขตการปกครองของ ตำบลคุ้งตะเภา อำเภออุตรดิฐ แขวงเมืองพิชัย มณฑลพิษณุโลก[14][15]

พัฒนาการทางประวัติศาสตร์[แก้]

บริบท[แก้]

หลักฐานโบราณแสดงถึงการตั้งถิ่นฐานในบริเวณหมู่บ้านคุ้งตะเภาอายุกว่า 2,000 ปี และความเจริญของเส้นทางการค้าสำคัญในบริเวณ
ภาพจากซ้ายไปขวา (ก) กลองมโหระทึกสำริดในวัฒนธรรมดองซอน ขุดพบที่ม่อนวัดศัลยพงษ์ ตำบลท่าเสา ในปี พ.ศ. 2470[16] (ข) โครงกระดูกและโบราณวัตถุของมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ พบที่บ้านบุ่งวังงิ้ว ทางใต้ของหมู่บ้านคุ้งตะเภา (ค) ถ้วยกระเบื้องแบบจีน พบบนเนินทรายกลางแม่น้ำน่านบริเวณบ้านท่าเสา-คุ้งตะเภา

หมู่บ้านคุ้งตะเภาในอดีตเป็นพื้นที่ป่าอุดมสมบูรณ์ มีพื้นที่ราบลุ่มอันเกิดจากดินตะกอนแม่น้ำพัดของแม่น้ำน่าน ปรากฏหลักฐานบริเวณรอบหมู่บ้านคุ้งตะเภาที่แสดงให้เห็นถึงการเคลื่อนไหวและการตั้งถิ่นฐานของแหล่งชุมชนมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่มีอายุมากกว่า 2,000 ปี ดังการค้นพบเครื่องมือหินขัดและซากกระดูกมนุษย์ในยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่บ้านบุ่งวังงิ้วซึ่งอยู่ทางทิศใต้ของหมู่บ้าน และการค้นพบกลองมโหระทึกสำริดที่บ้านท่าเสาซึ่งตั้งอยู่ตรงข้ามกับหมู่บ้านคุ้งตะเภาในปี พ.ศ. 2470[a][18]

หมู่บ้านตั้งอยู่ริมแม่น้ำน่าน ในทำเลเส้นทางคมนาคมสำคัญตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์[19][20] มายุคจักรวรรดิเขมรปรากฏหลักฐานว่าแถบตำบลท่าเสา-ท่าอิฐเป็นแหล่งชุมชนการค้าที่สำคัญแล้ว[21] จนมาในสมัยสุโขทัย ได้มีการการปรากฏขึ้นของเมืองฝางอันเป็นเมืองหน้าด่านสำคัญในสมัยสุโขทัยที่มีที่ตั้งอยู่ทางด้านเหนือน้ำของหมู่บ้านคุ้งตะเภา[22] ทำให้แถบโดยรอบของคุ้งตะเภามีความสำคัญเพิ่มขึ้นในฐานะทางผ่านและจุดเชื่อมต่อทางยุทธศาสตร์[17]

การตั้งถิ่นฐาน[แก้]

การตั้งถิ่นฐานของบรรพบุรุษชาวบ้านคุ้งตะเภาปัจจุบันนั้นไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด อย่างไรก็ตาม จากบริบทด้านชาติพันธุ์และสำเนียงภาษา จึงสามารถสันนิษฐานได้ชัดเจนว่าพื้นเพของคนคุ้งตะเภานั้นเป็น "คนไทยเหนือ" ตามคำปากของคนในสมัยอยุธยา[23] คือเป็นกลุ่มคนชาติพันธุ์ไทยเดิมที่อยู่แถบเมืองพิษณุโลก, พิจิตร และสุโขทัย อันเป็นรอยต่อระหว่างวัฒนธรรมภาคกลางและวัฒนธรรมล้านนาที่อยู่เหนือขึ้นไป พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ และผู้เชี่ยวชาญพิเศษ ประจำกรมศิลปากร สันนิษฐานว่าสำเนียงคนคุ้งตะเภานั้น เป็นสำเนียงดั้งเดิมของคนไทยที่อยู่มาตั้งแต่อาณาจักรสุโขทัย[24] โดยกล่าวว่าคนบ้านคุ้งตะเภานั้น

"มีสำเนียงพูดเหน่อ... แบบเดียวกับสำเนียงชาวบ้านฝาง บ้านท่าอิฐ บ้านทุ่งยั้ง ..บ้านท่าเสา.. และหมู่บ้านในเขตอำเภอพิชัย ที่อยู่ในเขตจังหวัดเดียวกัน และเหมือนกับสำเนียงพื้นบ้านของชาวสุโขทัย พิษณุโลก พิจิตร อันเป็นกลุ่มหัวเมืองเหนือในสมัยอยุธยา หรือบ้านเมืองที่เคยอยู่ในเขตแคว้นของสุโขทัยแต่เดิม"

— พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ ประจำกรมศิลปากร[25]

ตำนานหมู่บ้านและประเพณีมุขปาฐะมีว่ากลุ่มคนที่มาตั้งหมู่บ้านกลุ่มแรกเป็นทหารจากเมืองสุโขทัยที่เดินเท้าไปรบทางลาวหลวงพระบางหรือล้านนา เมื่อผ่านมาเห็นบริเวณนี้เป็นที่อุดมสมบูรณ์ไม่มีเจ้าของ หลังเสร็จศึกจึงชวนกันมาตั้งหลักแหล่ง[26] ตำนานดังกล่าวมีโครงความจริง เพราะหมู่บ้านตั้งอยู่ใกล้จุดเคลื่อนและแวะพักทัพสำคัญในสงครามระหว่างลาวกับไทยในสมัยโบราณ ไม่ปรากฏแน่ชัดว่าสงครามซึ่งผู้บุกเบิกคุ้งตะเภาจะไปทำศึกนั้นหมายถึงสงครามใด แต่เมื่อพิจารณาจากพระราชพงศาวดารที่ระบุสงครามระหว่างไทยกับหลวงพระบางหรือล้านนาครั้งล่าสุด พบว่าเป็นคราวที่สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงยกทัพขึ้นเหนือจะไปชิงเชียงใหม่จากพม่าช่วงปี พ.ศ. 2313–2314[27] แต่ก็ไม่น่าเป็นไปได้ เพราะหมู่บ้านคงตั้งมาแล้วตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา

และจากการศึกษาข้อมูลและเทียบเคียงสำเนียงการพูดของภาษาถิ่นบ้านคุ้งตะเภา และภาษาถิ่นบ้านพระฝาง พบคำศัพท์ใกล้เคียงกันมากที่สุดกว่าสำเนียงสุโขทัยแบบอื่น จึงมีข้อสันนิษฐานอีกข้อหนึ่งว่า ชาวบ้านคุ้งตะเภาอาจสืบเชื้อสายมาจากครัวเรือนที่พระมหากษัตริย์สุโขทัยพระราชทานพระบรมราชูทิศไว้เพื่อให้เป็นผู้ดูแลรักษาพระทันตธาตุแห่งพระมหาธาตุพระฝาง เมืองสวางคบุรี[28]

พัฒนาการของหมู่บ้าน[แก้]

การสร้างและขยายหมู่บ้าน[แก้]

หมู่บ้านคุ้งตะเภามีหลักฐานชุมชนมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ดังปรากฏในจดหมายเหตุลาลูแบร์ ราชทูตฝรั่งเศสในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เมื่อต้นพุทธศตวรรษที่ 23 บริเวณแถบหมู่บ้านคุ้งตะเภาจึงเป็นบริเวณที่มีความเจริญมาช้านานแล้ว[29] แต่คงไม่มีหลักฐานชัดเจนปรากฏความมีตัวตนของหมู่บ้านคุ้งตะเภาในเอกสารอื่นใดในสมัยอยุธยา ตั้งแต่สมัยอยุธยา หมู่บ้านมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับหมู่บ้านเก่าแก่ใกล้เคียงคือหมู่บ้านท่าเสา ท่าอิฐ บางโพ ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่ใช้ภาษาไทยสำเนียงกลุ่มเมืองในแคว้นสุโขทัย โดยคนคุ้งตะเภามีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับหมู่บ้านท่าเสามากที่สุด เพราะอยู่ตรงข้ามคนละฝั่งแม่น้ำน่าน และชาวบ้านมีบรรพบุรุษหรือมีความเชื่อมโยงกับคนในบ้านท่าเสา คนในรุ่นปัจจุบันหลายคนเมื่อสืบสายสกุลลงไปก็มีความเกี่ยวข้องกับคนบ้านท่าเสา

ในช่วงสงครามเสียกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าใน พ.ศ. 2310 ชาวหมู่บ้านคุ้งตะเภาคงได้อพยพลี้ภัยไปอาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ที่มีความปลอดภัยกว่า ดังปรากฏหลักฐานในพงศาวดารว่ามีชุมนุมเจ้าพระฝางอยู่ที่เมืองฝางเหนือขึ้นไป และอาจมีชาวบ้านเข้าไปหลบภัยอยู่ในเมืองฝางด้วย จวบจนสิ้นชุมนุมเจ้าพระฝางใน พ.ศ. 2313 ชาวคุ้งตะเภาบางส่วนก็ได้กลับเข้ามาบูรณะและอาศัยในถิ่นฐานเดิม ดังปรากฏหลักฐานว่าทางการได้อนุญาตให้ชาวคุ้งตะเภาสามารถตั้งวัดคุ้งตะเภาได้ในปีเดียวกัน ทั้งนี้ ชาวคุ้งตะเภาคงถูกเกณฑ์ไปรบพุ่งกับพม่าอีกตลอดช่วงกรุงธนบุรีจนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย แต่แถบนี้ในช่วงนั้นก็คงมีความสงบพอสมควร เพราะแถบนี้ไม่เคยเป็นทางผ่านและสมรภูมิ ใน พ.ศ. 2395 พงสาวดารว่ามีคนคุ้งตะเภาย้ายออกจากหมู่บ้านไปยังพื้นที่ใกล้เคียงเพื่อแสวงหาที่ทำกินและตั้งบ้านเรือนใหม่จนกลายมาเป็นหมู่บ้านป่าขนุนปัจจุบัน[30]

อิทธิพลตะวันตก[แก้]

เดิมเรือนแถบนี้เป็นทรงไทยแบบภาคกลาง แต่ในช่วงร้อยปีที่ผ่านมา ชาวบ้านคุ้งตะเภานิยมเปลี่ยนไปสร้างเรือนไม้หลังคาแบบทรงมะนิลากระเบื้องว่าวแทน

ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการเปลี่ยนแปลงในเมืองอุตรดิตถ์จากอิทธิพลตะวันตก ชาวบ้านคุ้งตะเภาก็มีการเปลี่ยนจากสร้างเรือนไม้เป็นรูปแบบตามสมัยนิยมมากขึ้น ดังรูปแบบอาคารบ้านขุนพิเนตรจีนภักดิ์ ที่เป็นเรือนไม้หลังคาแบบทรงตะวันตกมุงกระเบื้องว่าวสถาปัตยกรรมแบบ ARCH ของโรมัน ที่สร้างในสมัยรัชกาลที่ 5[31] โดยอิทธิพลรูปแบบบ้านตะวันตกดังกล่าวได้กลายเป็นที่นิยมแพร่หลายในช่วงกว่าร้อยปีก่อนcล้ว และทำให้ชาวหมู่บ้านคุ้งตะเภาในสมัยนั้นพยายามเปลี่ยนรูปแบบบ้านทรงไทยภาคกลางแบบมาเป็นรูปแบบใหม่จนเกือบหมด บ้านทรงไทยภาคกลางแบบโบราณเดิมหลังสุดท้ายอายุประมาณ 60 ปี ปัจจุบันถูกแม่น้ำน่านซัดจมตลิ่ง ทำให้บ้านรุ่นเก่า ๆ ที่เหลืออยู่ในปัจจุบันคงเป็นบ้านทรงสมัยใหม่ซึ่งได้รับอิทธิพลจากสมัยรัชกาลที่ 5 หรือเป็นบ้านที่มีการปรับปรุงแบบใหม่ในช่วงหลังจากนี้ เช่นเปลี่ยนหลังคาเป็นแบบมะนิลา แทนที่จะเป็นทรงจั่วแบบไทยภาคกลาง

ในช่วงรัชกาลที่ 5 มีหลักฐานยืนยันว่าคนคุ้งตะเภายังให้ความสำคัญกับการศึกษาในวัด ดังปรากฏหลักฐานว่ามีการบวชเรียนและส่งพระเณรชาวคุ้งตะเภาไปเล่าเรียนศึกษาพระปริยัติธรรมที่พระอารามหลวงในกรุงเทพมหานคร โดยมีสายวัดสระเกศราชวรมหาวิหารเป็นสำนักเรียนหลักที่ชาวหมู่บ้านคุ้งตะเภาจะส่งพระเณรไปศึกษาต่อ และในสมัยนี้เคยมีพระชาวคุ้งตะเภาสำเร็จเป็นเปรียญธรรมในสนามหลวงต่อหน้าพระที่นั่งด้วย[32] ซึ่งยังคงเป็นสมัยสอบปากเปล่าต่อหน้าพระที่นั่งในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ก่อนเปลี่ยนเป็นสอบด้วยข้อเขียนในช่วงหลัง

สมัยใหม่[แก้]

อาคารธรรมสภา วัดธรรมาธิปไตย บนที่ดอนแม่น้ำน่านฝั่งตะวันตกในคราวน้ำท่วมใหญ่เมืองอุตรดิตถ์ในปี พ.ศ. 2493

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง หมู่บ้านคุ้งตะเภาไม่ได้รับผลกระทบมากนักเว้นแต่ตกเป็นเป้าการโจมตีทางอากาศของฝ่ายสัมพันธมิตร โดยมีเหตุการณ์รถไฟขนส่งอ้อยของโรงงานน้ำตาลวังกะพี้สายที่วิ่งผ่านบริเวณทางรถไฟบ้านไร่คุ้งตะเภาถูกเครื่องบินรบยิงกราดใส่ (ปัจจุบันเส้นทางนี้กลายเป็นเส้นทางระบายน้ำชลประทานเพื่อการเกษตรกรรม) ประมาณปี พ.ศ. 2487 และชาวบ้านคุ้งตะเภาก็มีการขุดหลุมหลบภัยและมีการพรางแสงตามบ้านเรือนหลังสถานีรถไฟอุตรดิตถ์ถูกเครื่องบินทิ้งระเบิดจนพินาศ เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2487[33] และเย็นวันที่ 5 ตุลาคม 2487 ได้มีเครื่องบินทิ้งระเบิด 4 เครื่องยนต์ บี 24 มาโจมตีเส้นทางลำเลียงรถไฟของทหารญี่ปุ่นที่ฝั่งบางโพ-ท่าเสา-อุตรดิตถ์ และถูกปืนต่อสู้อากาศยานยิงตกตกที่ม่อนดินแดงใกล้บ้านไร่คุ้งตะเภา ชาวบ้านคุ้งตะเภาในสมัยนั้นได้นำเศษชิ้นส่วนของเครื่องบินรบบี-24 ที่ตกมาใช้ประโยชน์ในด้านต่าง ๆ ปัจจุบันหลงเหลือภาชนะที่ทำจากเศษชิ้นส่วนของปีกเครื่องบิน B-24 จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดคุ้งตะเภา

ในปี พ.ศ. 2493 หมู่บ้านคุ้งตะเภาประสบอุทกภัยครั้งใหญ่ ทำให้บ้านเรือนที่ตั้งอยู่เลียบริมแม่น้ำได้รับความเสียหายมาก ประกอบกับเส้นทางคมนาคมแม่น้ำน่านได้ถูกลดความสำคัญลงเพราะมีการตัดเส้นทางรถไฟผ่านเมืองอุตรดิตถ์ใน พ.ศ. 2459 ทำให้ชาวบ้านคุ้งตะเภาตัดสินใจย้ายที่ตั้งกลุ่มหมู่บ้านเดิม ณ ที่ลุ่มเลียบริมแม่น้ำน่านขึ้นมาตั้งในพื้นที่ดอนสูงกว่าจนถึงปัจจุบัน หลังจากการตัดเส้นทางรถไฟผ่านเมืองอุตรดิตถ์ที่ทำให้แหล่งชุมนุมการค้าย่านท่าเสาและท่าอิฐหมดความสำคัญลงดังกล่าว ประกอบกับการสร้างเขื่อนสิริกิติ์กั้นแม่น้ำน่านในเขตอำเภอท่าปลาในปี พ.ศ. 2510 ทำให้การคมนาคมทางน้ำของชาวบ้านคุ้งตะเภายุติลงสิ้นเชิง ไฟฟ้าเข้าถึงหมู่บ้านคุ้งตะเภาใน พ.ศ. 2518[34] ด้วยทำเลที่ตั้งและความไม่สะดวกในการคมนาคมทางบกในช่วงนั้นทำให้หมู่บ้านคุ้งตะเภากลายเป็นหมู่บ้านโดดเดี่ยว

หลังจากทางการได้ตัดทางหลวงแผ่นดินหมายเลขที่ 11 ผ่านกลางหมู่บ้านประมาณปี พ.ศ. 2522 ซึ่งเป็นเส้นทางคมนาคมทางบกหลักของจังหวัดอุตรดิตถ์และทางผ่านสำคัญเพื่อเข้าสู่ภาคเหนือ และหลังเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ตัวเมืองอุตรดิตถ์หลายครั้ง ทำให้เริ่มมีผู้หันมาพัฒนาที่ดินที่อยู่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำน่านที่ไม่เคยประสบอุทกภัยมากขึ้น โดยเฉพาะที่ดินที่อยู่ติดทางหลวงแผ่นดินหมายเลขที่ 11 ในเขตตำบลคุ้งตะเภา[9]

ภูมิศาสตร์[แก้]

หมู่บ้านคุ้งตะเภาตั้งอยู่ไม่ไกลจากตัวเมืองอุตรดิตถ์ มีเส้นทางคมนาคมที่สำคัญ คือ ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 11 มีทรัพยากรแหล่งน้ำ คือ แม่น้ำน่าน มีวัดประจำหมู่บ้าน 1 แห่ง บ้านพักอาศัยตั้งอยู่ทิศตะวันตกของหมู่บ้าน เดิมการตั้งบ้านเรือนจะอยู่ใกล้กัน แต่เมื่อมีการตัดถนนใหญ่ผ่านทางด้านตกวันตกของหมู่บ้านในช่วงพุทธทศวรรษ 2520 บ้านเรือนส่วนใหญ่อยู่ทางทิศตะวันออกของถนนเอเชีย ปัจจุบันชาวบ้านคุ้งตะเภาเรียกบ้านเรือนที่ตั้งอยู่ทิศตะวันออกของทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 11 ตั้งแต่สี่แยกคุ้งตะเภาขึ้นไปว่า "บ้านไร่" หรือ "บ้านไร่คุ้งตะเภา" ได้ชื่อจากในอดีตเป็นที่ปลูกพืชไร่ ทางการเคยขอแบ่งหมู่บ้านคุ้งตะเภาออกเป็นสองส่วนดังกล่าว แต่ถูกชาวบ้านคุ้งตะเภาคัดค้าน[9]

ในอดีตหมู่บ้านคุ้งตะเภาอยู่ในเส้นทางเดินทัพของไทยไปทำสงครามกับล้านนาและหลวงพระบาง ผู้อาวุโสกล่าวถึงถนนโบราณที่ปัจจุบันคือทางหลวงแผ่นดินหมายเลขที่ 1047 เคยเป็นทางผ่านเดินทัพสู่หลวงพระบาง (ล้านช้าง) โดยทางบก ทางเส้นนี้จะไปสุดที่บ้านปากลาย เพื่อลงเรือในแม่น้ำโขงขึ้นไปที่หลวงพระบาง โดยต้นทางถนนโบราณที่เป็นท่าเรือที่ขึ้นจากแม่น้ำน่านในอดีต (คนคุ้งตะเภาเรียกว่าท่าควาย หรือบ้านท่าควาย) จะปรากฏเป็นลักษณะร่องลึกอันเกิดจากการเดินเท้าของคนจำนวนมาก (ในช่วงเส้นทางจากห้าแยกป่าขนุนลงไปทางวัดใหม่เจริญธรรมตรงไปท่าทรายชลิตดาในปัจจุบัน ซึ่งในปัจจุบันถูกถมและลาดยางหมดแล้ว) ทำให้เมื่อมีน้ำหลากน้ำก็จะท่วมท่าเข้ามาถนนเสมอ ด้วยเพราะทางเส้นนี้เป็นทางเดินทัพโบราณ เวลายกกองทัพมาพักที่ท่าเสาแล้ว เมื่อจะเคลื่อนทัพไปลาวทางบกหรือเมืองฝาง ก็จะข้ามแม่น้ำน่านมาขึ้นที่นี่เพื่อผ่านไปเมืองฝางตั้งแต่สมัยสุโขทัยจนสมัยกรุงธนบุรี เส้นทางนี้เล่าว่าสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีใช้ผ่านมาปราบก๊กเจ้าพระฝาง[35] แม้ในกรณีพิพาทอินโดจีน พ.ศ. 2484 กองพลพายัพก็อาศัยเส้นทางนี้ทำสะพานไม้ข้ามแม่น้ำน่านเพื่อเดินทางเข้าไปยึดเมืองปากลายด้วย[36]

หมู่บ้านคุ้งตะเภามีพื้นที่ทั้งหมด 2,657 ไร่ พื้นที่บางส่วนอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดิน (สปก.)[37][38] แบ่งเป็นพื้นที่ทางเกษตรกรรม 1,915 ไร่ พื้นที่อยู่อาศัย 433 ไร่[2] พื้นที่เกษตรกรรมส่วนใหญ่ตั้งอยู่ทิศตะวันออกของหมู่บ้าน แบ่งเป็นพื้นที่ทำนา จำนวน 2,070 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 77.90 พื้นที่ทำสวน จำนวน 427 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 16.08 และพื้นที่ทำไร่ จำนวน 160 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 6.02[34] หมู่บ้านคุ้งตะเภาเป็นหมู่บ้านแรกในจังหวัดอุตรดิตถ์ที่มีโครงการสูบน้ำด้วยไฟฟ้าจากแม่น้ำน่านเมื่อ พ.ศ. 2522[39] ทำให้สามารถทำนาได้ปีละ 2 ครั้งตั้งแต่นั้นมา

หมู่บ้านคุ้งตะเภามีพื้นที่ติดต่อกับหมู่บ้านใกล้เคียง ดังต่อไปนี้

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับแม่น้ำน่าน (หมู่บ้านวังสีสูบ ตำบลงิ้วงาม)
  • ทิศใต้ ติดต่อกับหมู่บ้านป่าขนุน ตำบลคุ้งตะเภา
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับหมู่บ้านบ่อพระ ตำบลคุ้งตะเภา
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับแม่น้ำน่าน (ค่ายพระยาพิชัยดาบหัก)

หมู่บ้านยังมีสวนสาธารณะ ชื่อ สวนสาธารณะหาดน้ำน่าน งอยู่ริมแม่น้ำน่านทางด้านเหนือสุดของหมู่บ้านคุ้งตะเภา ติดกับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 11 ใช้เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจมาตั้งแต่ พ.ศ. 2533 ต่อมาในปี พ.ศ. 2545 องค์การบริหารส่วนตำบลคุ้งตะเภาจัดระเบียบร้านค้า จัดสร้างกำแพงกั้นและมีการจัดเก็บเงินค้าบำรุงสำหรับประชาชนที่มาพักผ่อนในช่วงเทศกาลสำคัญ รวมทั้งมีการฟื้นฟูกิจกรรมประเพณีต่าง ๆ เช่น ประเพณีลอยกระทง ประเพณีสงกรานต์ รดน้ำดำหัวผู้สูงอายุ ประเพณีเทศน์มหาชาติ เป็นต้น[40]

การปกครอง[แก้]

เดิมการปกครองของหมู่บ้านคุ้งตะเภาขึ้นอยู่กับตำบลท่าเสา อำเภอบางโพ (อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ปัจจุบัน) โดยในสมัยนั้นหมู่บ้านคุ้งตะเภาเป็นหมู่ที่ 14 ตำบลท่าเสา แต่ต่อมาในปี พ.ศ. 2490 มีการแยกการปกครองทั้งตำบลจากตำบลท่าเสามาตั้งเป็นตำบลใหม่[41] โดยใช้ชื่อหมู่บ้านคุ้งตะเภาเป็นชื่อตำบล เนื่องด้วยเป็นหมู่บ้านที่ตั้งอยู่กึ่งกลางตำบลและเป็นหมู่บ้านเก่าแก่ที่มีประวัติความเป็นมายาวนานกว่าหมู่บ้านอื่นที่ได้รับการตั้งให้อยู่ในตำบลใหม่ด้วยกัน

ปัจจุบันหมู่บ้านคุ้งตะเภาเป็นหมู่ที่ 4 ของตำบลคุ้งตะเภา มีการปกครองโดยมีผู้ใหญ่บ้านตามพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ. 2457 มาโดยตลอด ผู้ใหญ่บ้านคนปัจจุบันเข้าดำรงตำแหน่งในวาระแรกตามพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ (ฉบับที่ 10) เมื่อปี พ.ศ. 2548 และหลังจากหมดวาระลงในปี พ.ศ. 2553 ก็ได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านใหม่เป็นวาระที่ 2 ตามพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ (ฉบับที่ 11) อันเป็นฉบับแก้ไขล่าสุด (ซึ่งมีกำหนดวาระการดำรงตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านยาวนานจนปลดเกษียณอายุที่ 60 ปี) เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2553 มีสถานีตำรวจ 1 แห่ง

รายชื่อผู้ใหญ่บ้านตั้งแต่ พ.ศ. 2528[แก้]

รายชื่อผู้ใหญ่บ้านคุ้งตะเภาย้อนหลังตั้งแต่ พ.ศ. 2528 จนถึงปัจจุบัน

ชื่อ วาระการดำรงตำแหน่ง หมายเหตุ
สะอาด สวนศรีสุวรรณ์ พ.ศ. 2528–2531
บุญช่วย เรืองคำ (วาระที่ 1) พ.ศ. 2532–2535 ได้รับเลือกตาม พ.ร.บ.ปกครองท้องที่ ฉบับที่ 7
บุญช่วย เรืองคำ (วาระที่ 2) พ.ศ. 2536–2539 ได้รับเลือกตาม พ.ร.บ.ปกครองท้องที่ ฉบับที่ 9
สมหมาย มากคล้าย พ.ศ. 2540–2543 ได้รับเลือกตาม พ.ร.บ.ปกครองท้องที่ ฉบับที่ 9
เรียมจิตร สุรัตนวรินทร์ พ.ศ. 2544–2547 ได้รับเลือกตาม พ.ร.บ.ปกครองท้องที่ ฉบับที่ 10, หญิงคนแรก
สมชาย สำเภาทอง (วาระที่ 1) พ.ศ. 2548–2553 ได้รับเลือกตาม พ.ร.บ.ปกครองท้องที่ ฉบับที่ 10
สมชาย สำเภาทอง (วาระที่ 2) พ.ศ. 2553–ปัจจุบัน ได้รับเลือกตาม พ.ร.บ.ปกครองท้องที่ ฉบับที่ 11

เศรษฐกิจ[แก้]

โรงสีและฉางข้าวกลุ่มเกษตรกรทำนาคุ้งตะเภา

ประชากรหมู่บ้านคุ้งตะเภาประกอบอาชีพหลากหลาย กว่าครึ่งนิยมประกอบอาชีพเกษตรกรรม แบ่งเป็นทำนาคิดเป็นร้อยละ 19.56 รองลงมาทำสวนร้อยละ 49.56 ค้าขายร้อยละ 2.91 รับจ้างทั่วไปร้อยละ 4.37 รับราชการร้อยละ 10.20 และอาชีพอื่นอีกร้อยละ 10.20[34] สัดส่วนประชากรรายได้เฉลี่ยต่อปี 30,000–50,000 บาทมีประมาณร้อยละ 46.64 และผู้มีรายได้เฉลี่ยต่อปี 50,000–100,000 บาท ประมาณร้อยละ 34.98 ในหมู่บ้านมีร้านค้าจำนวน 10 ร้าน โรงสีขนาดเล็กจำนวน 3 โรง สถานีบริการน้ำมันจำนวน 2 แห่ง และหมู่บ้านคุ้งตะเภายังมีการจัดตั้งวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรคุ้งตะเภา หมู่ 4 ซึ่งจัดทำผลิตภัณฑ์สร้างรายได้เสริม[42]

นอกจากนี้ หมู่บ้านคุ้งตะเภายังเป็นที่ตั้งของ กลุ่มเกษตรกรทำนาคุ้งตะเภา เป็นกลุ่มเกษตรกรขนาดใหญ่มาก ตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2516[43] ที่มีการรวมตัวจากเกษตรหลายพื้นที่กว่า 900 คน มีทุนดำเนินงานกว่า 8 ล้านบาท มีลานตากข้าวขนาดใหญ่ เครื่องชั่ง โกดัง และโรงสีข้าวเปลือกของตนเอง[9]

การศึกษา[แก้]

อาคารเรียนโรงเรียนบ้านคุ้งตะเภาปัจจุบัน

หมู่บ้านคุ้งตะเภา มีสถานศึกษาระดับพื้นฐานประจำหมู่บ้าน 1 แห่ง คือ โรงเรียนบ้านคุ้งตะเภา โดยเปิดสอนในระดับปฐมวัยถึงระดับประถมศึกษาปีที่ 6 ส่วนโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้นที่ใกล้หมู่บ้านที่สุด คือ โรงเรียนป่าขนุนเจริญวิทยา ตั้งอยู่ที่หมู่บ้านป่าขนุน ทั้งโรงเรียนสองเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก มีนักเรียนไม่มากนัก ประชากรที่มีฐานะนิยมส่งบุตรหลานเข้าไปเรียนในสถานศึกษาในตัวจังหวัดอุตรดิตถ์ ซึ่งอยู่ห่างจากหมู่บ้านไม่ถึง 10 กิโลเมตร

โรงเรียนบ้านคุ้งตะเภาได้ทำการสอนครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. 2465 โดยใช้ศาลาการเปรียญวัดคุ้งตะเภาเป็นสถานที่[44] โดยเริ่มเปิดการเรียนการสอนตั้งแต่ชั้น ป.1–5 ต่อมาจึงเปิดตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึง 4 โดยมีเอี่ยม ศาสตร์จำเริญเป็นครูใหญ่คนแรก ปัจจุบันเปิดทำการสอนเป็น 2 ระดับชั้น คือระดับก่อนประถมศึกษา และระดับประถมศึกษา

สาธารณสุข[แก้]

ปัจจุบันในหมู่บ้านคุ้งตะเภา มีสถานให้บริการสาธารณสุขขั้นมูลฐานจำนวน 1 แห่ง คือ สถานีอนามัยประจำตำบลคุ้งตะเภา ตั้งอยู่บนที่ราชพัสดุ ริมทางหลวงแผ่นดินหมายเลขที่ 1213[45] นอกจากการสาธารณสุขขั้นมูลฐานแล้ว ภายในหมู่บ้านคุ้งตะเภายังมีสวนพฤกษศาสตร์สมุนไพร ตั้งอยู่ที่วัดคุ้งตะเภา วัดประจำหมู่บ้าน มีความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐต่าง ๆ ในการจัดโครงการส่งเสริมและให้ความรู้สมุนไพร เช่น โครงการอรุณรุ่งที่คุ้งตะเภา ของสถาบันราชภัฏอุตรดิตถ์ ในปี พ.ศ. 2545 และโครงการจัดตั้งศูนย์สมุนไพรตำบลคุ้งตะเภา ในปี พ.ศ. 2550[46]

ในปี 2553 มีการตั้งมูลนิธิสร้างคุณค่าชีวิตเด็กและเยาวชน[47] มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาศักยภาพเด็กและเยาวชนที่พิการหรือบกพร่องทางกายภาพ[48] อัฑฒพงศ์ โมลี นักกิจกรรมบำบัด ได้ปรับพื้นที่บ้านของตนและที่ดินจำนวน 7 ไร่ ให้เป็นสถานบำบัดเชิงธรรมชาติ มีห้องทำกิจกรรมบำบัดกระตุ้นพัฒนาการ ลานจัดกิจกรรม เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้ในการฟื้นฟูบำบัดเด็กและเยาวชนผู้ด้อยโอกาส ตลอดจนการเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและรักษาสิ่งแวดล้อม[49]

ประชากรศาสตร์[แก้]

ประชากรท้องถิ่นดั้งเดิมกลุ่มแรกที่อพยพมาตั้งถิ่นฐานในบริเวณบ้านคุ้งตะเภา คือ คนไทยเดิม หรือ คนไทยเหนือ ตามคำปากของคนในสมัยอยุธยา[23] จากหลักฐานการตั้งวัดคุ้งตะเภาในสมัยธนบุรีทำให้ทราบว่าหมู่บ้านคุ้งตะเภามีคนอาศัยอยู่มาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลาย

หมู่บ้านคุ้งตะเภามีนามสกุลใหญ่ในหมู่บ้าน คือ สกุลอ่อนคำ มากคล้าย และรวยอบกลิ่น ซึ่งถือเป็นญาติกันมาแต่เดิม จนในปัจจุบันนี้ทั้ง 3 สกุลก็ยังเป็นสกุลใหญ่ในหมู่บ้าน และประชากรของหมู่บ้านคุ้งตะเภาส่วนใหญ่ จะเป็นญาติพี่น้องสืบสายจากทั้งสามสกุลกันลงมาทั้งสิ้น[50]

ในอดีต ประมาณปี พ.ศ. 2480 ครัวเรือนในหมู่บ้านคุ้งตะเภามีเพียง 48 หลังคาเรือน แต่ในช่วงระยะหลังมีประชากรเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ ประกอบกับมีประชากรจากถิ่นอื่นย้ายมาอยู่ในหมู่บ้านมากขึ้น ทำให้ในปัจจุบันหมู่บ้านคุ้งตะเภามีครัวเรือนถึง 473 หลังคาเรือน และมีประชากรกว่า 1,436 คน (ข้อมูลปี 2550) ปัจจุบันส่วนใหญ่อยู่ในช่วงอายุ 18–50 ปี[34]

ชาวหมู่บ้านคุ้งตะเภาทั้งหมดนับถือศาสนาพุทธนิกายเถรวาท สันนิษฐานว่าการนับถือศาสนาพุทธในหมู่บ้านคุ้งตะเภามาพร้อมกับประชากรกลุ่มแรกที่เข้ามาตั้งุถิ่นฐาน

การคมนาคม[แก้]

เส้นทางคมนาคม[แก้]

ทางหลวงแผ่นดินหมายเลขที่ 11 บริเวณจุดตัดทางแยกหมู่บ้านคุ้งตะเภา

ในอดีตหมู่บ้านตั้งอยู่บริเวณที่ลุ่มริมแม่น้ำน่าน การคมนาคมจึงอาศัยการเดินทางน้ำเป็นหลัก แต่หลังจากเหตุการณ์อุทกภัยครั้งใหญ่ในปี พ.ศ. 2493 ชาวบ้านคุ้งตะเภาจึงย้ายหมู่บ้านขึ้นมาตั้งบนที่ราบในปัจจุบันริมถนนเลียบแม่น้ำน่านเก่า (ถนนหลังวัดคุ้งตะเภา) ทำให้การคมนาคมหลักของหมู่บ้านคุ้งตะเภาเปลี่ยนเป็นทางบกแทน ต่อมาหลังจากการตัดทางหลวงแผ่นดินหมายเลขที่ 11 (ถนนสายเอเชีย) ในปี พ.ศ. 2522 ทำให้การเดินทางมาหมู่บ้านคุ้งตะเภาสะดวกยิ่งขึ้น และถนนดังกล่าวกลายเป็นเส้นทางคมนาคมหลักแทน

นอกจากทางหลวงแผ่นดินอันได้แก่ถนนสายเอเชียและทางหลวงแผ่นดินหมายเลขที่ 1213 แล้ว ยังมีถนนในความดูแลของกรมทางหลวงชนบทและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอีกหลายสายที่ตัดผ่านในหมู่บ้าน ซึ่งส่วนใหญ่ชาวบ้านคุ้งตะเภาจะมีคำปากใช้เรียกถนนต่าง ๆ ในหมู่บ้านแตกต่างกันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะโดยนับเอาแยกคุ้งตะเภาเป็นจุดกำหนด[9] เช่น "เส้นบ้านไร่, เส้นเหนือล่าง" หมายถึงทางหลวงชนบทที่ตัดผ่านหมู่บ้านคุ้งตะเภาเลียบแม่น้ำน่านทางด้านทิศเหนือ, "เส้นอนามัย, เส้นเหนือบน" หมายถึงทางหลวงแผ่นดินหมายเลขที่ 1213 ที่ตัดผ่านบริเวณหมู่บ้านทางทิศตะวันออก เส้นอนามัยหมายถึงถนนที่ตัดผ่านสถานีอนามัยตำบลคุ้งตะเภา, "เส้นเอเชีย, เส้นนอก" หมายถึงทางหลวงแผ่นดินหมายเลขที่ 11 ตลอดทั้งสายที่ผ่านหมู่บ้าน โดยแบ่งเป็นถนนระยะเหนือหมู่บ้านจะเรียกว่า เส้นนอกบน และถนนระยะใต้หมู่บ้านจะเรียกว่า เส้นนอกล่าง, "เส้นในล่าง, เส้นใน" หมายถึงทางหลวงชนบทที่ตัดผ่านหมู่บ้านคุ้งตะเภาทางด้านทิศใต้ของวัดคุ้งตะเภา นอกจากนี้คำว่า "เส้นใน" ยังอาจหมายถึงเส้นทางที่นอกเหนือทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 11 ก็ได้ด้วย[51]

บริการขนส่งสาธารณะ[แก้]

ปัจจุบันการให้บริการขนส่งสาธารณะเส้นทางเข้าสู่ตัวจังหวัดอุตรดิตถ์มีเอกชนให้บริการประจำจำนวน 3 ราย คือรถโดยสารชุมชนสาย อุตรดิตถ์-คุ้งตะเภา-เอกลักษณ์ (โรงงานน้ำตาลเอกลักษณ์) จำนวน 2 ราย โดยมีค่าบริการครั้งละ 25 บาทตลอดสาย และแท็กซี่ไม่ประจำทางจำนวน 1 ราย คิดค่าบริการในอัตราเดียวกับรถโดยสารชุมชนปกติหากมีผู้นั่งเต็มคันรถ โดยรถโดยสารทั้งหมดจะหยุดพักรถที่จุดหมายบริเวณหน้าร้านขายยาไพศาลเภสัช ริมแม่น้ำน่านใกล้กับวัดท่าถนน อันเป็นชุมชนการค้าและตลาดสดที่ใหญ่ที่สุดในจังหวัดอุตรดิตถ์ ซึ่งนอกจากผู้ให้บริการขนส่งสาธารณะแบบประจำเส้นทางแล้วยังมีผู้ให้บริการแบบไม่ประจำเส้นทางอีกหลายราย แต่ส่วนใหญ่คิดค่าบริการในอัตราเดียวกับผู้ให้บริการประจำ[51]

นอกจากนี้ หมู่บ้านคุ้งตะเภายังมีจุดพักรับส่งผู้โดยสารของบริษัทเชิดชัยทัวร์ มีศูนย์ย่อยให้บริการอยู่บริเวณห้องแถวเหนือสะพานลอยบ้านคุ้งตะเภา รับส่งในเส้นทาง แม่สาย (เชียงราย) -กรุงเทพฯ กรุงเทพฯ-แม่สาย (เชียงราย), เชียงใหม่-กรุงเทพฯ กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ โดยรถทัวร์จะหยุดรับส่งผู้โดยสารต่อเมื่อมีผู้จองตั๋วรถโดยสารไว้แล้วเท่านั้น[52] เนื่องจากถนนสายเอเชียเป็นถนนหลักจึงมีรถโดยสารสาธารณะวิ่งผ่านเกือบตลอดวัน ดังนั้นชาวบ้านคุ้งตะเภาส่วนใหญ่ที่เดินทางโดยรถโดยสารจึงมักเลือกผู้ให้บริการที่สามารถหยุดรถริมถนนดังกล่าวหรือส่งที่บ้านตน[51]

ศาสนสถาน[แก้]

หลวงพ่อสุวรรณเภตรา พระพุทธรูปประธานในอุโบสถวัดคุ้งตะเภา วัดประจำหมู่บ้านคุ้งตะเภา

หมู่บ้านคุ้งตะเภา มีศาสนสถานจำนวน 1 แห่ง คือ วัดคุ้งตะเภา ไม่ปรากฏศาสนสถานในศาสนาอื่นในเขตหมู่บ้าน วัดคุ้งตะเภานับว่าเป็นวัดที่เก่าแก่ที่สุดในเขตปกครองคณะสงฆ์ตำบลคุ้งตะเภา อายุประมาณปี 2310[53] ประกอบด้วยพิพิธภัณฑ์ อาคารธนาคารหมู่บ้านคุ้งตะเภา, สำนักงานสมาพันธ์สหกรณ์การเกษตรเพื่อการพัฒนา, ร้านค้าชุมชน, ศูนย์สาธิตผลิตภัณฑ์ชุมชน, ศูนย์ศึกษาการทำสมุนไพรภูมิปัญญาท้องถิ่น และวัดคุ้งตะเภายังเป็นศูนย์กลางการศึกษาของคณะสงฆ์ในเขตปกครองคณะสงฆ์ตำบลคุ้งตะเภา โดยได้รับการจัดตั้งจากคณะสงฆ์จังหวัดอุตรดิตถ์ให้เป็นสำนักศาสนาศึกษาประจำตำบล ซึ่งมีผู้สอบผ่านธรรมศึกษาได้มากติดอันดับต้น ๆ ของอำเภอเมืองอุตรดิตถ์[54] และยังเป็นสถานที่ประกอบกิจกรรมประเพณีต่าง ๆ เป็นศูนย์กลางในการจัดกิจกรรมของชุมชน

หมู่บ้านคุ้งตะเภายังเป็นที่ตั้งของ มูลนิธิ ๒๕๐ ปี วัดคุ้งตะเภา[55] มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมงานวัฒนธรรมประเพณีไทย และสาธารณสงเคราะห์ในชุมชน

วัฒนธรรมประเพณี[แก้]

การแต่งกายของชาวบ้านคุ้งตะเภาในยุค พ.ศ. 2500

ปัจจุบันประเพณีบางอย่างยังคงหลงเหลืออยู่ แต่การละเล่นแบบโบราณซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของคนบ้านคุ้งตะเภาได้สูญหายไปหมดแล้ว เหลือไว้แต่คำบอกเล่าว่าเคยมีการละเล่นนั้น ๆ อยู่ในอดีต ซึ่งในปัจจุบันการเล่นลิเกหรือดนตรีในงานประเพณีเป็นการจ้างคนนอกหมู่บ้าน

วัฒนธรรมดั้งเดิมส่วนใหญ่ของหมู่บ้านคุ้งตะเภาคล้ายกับหมู่บ้านในแถบภาคกลางตอนบน รูปแบบจึงไม่ต่างจากชาวพุทธเถรวาทที่อยู่ในพื้นที่ดังกล่าว ส่วนใหญ่จัดงานประเพณีที่วัด[9]

ภาษาถิ่นบ้านคุ้งตะเภา[แก้]

สำเนียงพูดในภาษาถิ่นบ้านคุ้งตะเภา (ยังคงมีพูดกันอยู่ในหมู่ 4, 3 ตำบลคุ้งตะเภา) เป็นส่วนหนึ่งของสำเนียงในภาษาถิ่นสุโขทัย ซึ่งเป็นสำเนียงที่ไม่ตรงกับภาษาเขียนและสำเนียงพูดของชาวภาคกลางมาแต่โบราณ[56] ปัจจุบันพบได้ในจังหวัดอุตรดิตถ์ จังหวัดสุโขทัย และจังหวัดใกล้เคียงในพื้นที่ที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของดินแดนอาณาจักรสุโขทัย โดยคนคุ้งตะเภาดั้งเดิมนั้นจะมีสำเนียงการพูดภาษาถิ่นสุโขทัย คล้ายคนสุโขทัยเดิม และเมืองฝางสวางคบุรี ในเรื่องนี้ สมชาย เดือนเพ็ญ นักวัฒนธรรมผู้เชี่ยวชาญภาษาถิ่นสุโขทัย กล่าวว่า

...สำเนียงสุโขทัยเก่า หลงเหลืออยู่ในพื้นที่... นอกเขตจังหวัดสุโขทัย เช่น... บริเวณตำบลรอบ ๆ วัดพระมหาธาตุพระฝาง เมืองสวางคบุรี (คือ ตำบลผาจุก, ตำบลคุ้งตะเภา) คือข้าพระโยมสงฆ์ที่พระมหากษัตริย์สุโขทัย ถวายขาดไว้ในพุทธศาสนา คือไม่ต้องไปราชการทัพ ทำให้สำเนียงสุโขทัยหลงเหลืออยู่ในพื้นที่นอกจังหวัดสุโขทัยด้วย...

— สมชาย เดือนเพ็ญ นักวัฒนธรรมผู้เชี่ยวชาญภาษาถิ่นสุโขทัย[57]

ปัจจุบันคนบ้านคุ้งตะเภาดั้งเดิมยังใช้สำเนียงพูดแบบสุโขทัยอยู่ ซึ่งจากการศึกษาข้อมูลและเทียบเคียงสำเนียงการพูดของภาษาถิ่นบ้านคุ้งตะเภา และภาษาถิ่นบ้านพระฝาง พบว่ามีการใช้คำศัพท์ใกล้เคียงกันมากที่สุดกว่าสำเนียงสุโขทัยแบบอื่น[58]

ประเพณี[แก้]

ประเพณีทำบุญกลางบ้าน

เป็นประเพณีโบราณซึ่งสืบทอดมาตั้งแต่สมัยอาณาจักรสุโขทัย รูปแบบคล้ายกับชาวบ้านในแถบภาคกลาง โดยแยกจัดพิธีเป็นสองครั้งคือ ในต้นเดือน 3 จัดพิธีทำบุญกลางบ้านที่บ้านคุ้งตะเภาฝั่งตะวันออก (บ้านเหนือ) และปลายเดือน จัดพิธีทำบุญกลางบ้านที่บ้านคุ้งตะเภาฝั่งตะวันตก (บ้านใต้) มีบริเวณในการจัดแน่นอนคือบ้านเหนือจัดที่ทางสามแพร่งเหนือหมู่บ้าน ส่วนบ้านใต้จัดที่ลานข้าวกลุ่มเกษตรกรทำนาคุ้งตะเภา สำหรับวันทำบุญชาวบ้านเป็นผู้กำหนดร่วมกัน ขั้นตอนเริ่มจากชาวบ้านเตรียมทำกะบาน ใช้ดินเหนียวปั้นเป็นรูปคนเท่าจำนวนคนในบ้านรวมสัตว์เลี้ยง จากนั้นเป็นการก่อเจดีย์ทรายพร้อมนิมนต์พระสงฆ์มาเจริญพระพุทธมนต์พระปริตรในเวลาเย็น ในวันที่สองมีการนิมนต์พระสงฆ์มาฉันภัตตาหารเช้าถวายจตุปัจจัย ประเพณีดังกล่าวสะท้อนการผสานความเชื่อ คือ การขอบคุณผีที่ประทานความอุดมสมบูรณ์และสะเดาะเคราะห์ และการอุทิศส่วนกุศลให้บรรพบุรุษและเสริมสวัสดิมงคลในศาสนาพุทธ

ประเพณีแรกตักข้าว
หมายถึง วันแรกที่นำข้าวที่เก็บไว้จากฤดูเก็บเกี่ยวปีก่อนมาสี โดยกำหนดวันแรกตักไว้ตรงกับวัน 3 ค่ำเดือน 3 มีความเชื่อว่าถ้าตักข้าวมาก่อนกำหนดจะถูกผีตะมอยกิน ซึ่งน่าจะเป็นอุบายของคนโบราณเพื่อไม่ให้บริโภคข้าวที่ยังไม่แห้งดี และเพื่อให้ใช้ข้าวค้างยุ้งฉางให้หมดก่อนไม่เหลือทิ้งไว้ อย่างไรก็ดี ประเพณีนี้พึ่งสูญหายไปเมื่อไม่เกิน 30 ปีมานี้
ประเพณีก่อเจดีย์ข้าวเปลือก
จัดตรงกับวันขึ้น 14–15 ค่ำเดือน 3 ของทุกปี ชาวบ้านจะแบ่งข้าวเปลือกที่เพาะปลูกได้ในปีก่อนนำมาถวายวัด โดยในวัน ขึ้น 14 ค่ำ จะมีการเจริญพระพุทธมนต์ฉลององค์พระเจดีย์ข้าวเปลือก และวันรุ่งขึ้น มีการถวายภัตตาหารเช้าแด่พระสงฆ์ในวัด พร้อมกับทำพิธีถวายองค์เจดีย์ (ข้าวเปลือก) คล้ายพิธีสู่ขวัญข้าว
ตรุษไทย
ชาวคุ้งตะเภายังรักษาธรรมเนียมตรุษไทยไว้โดยจัดทำบุญติดต่อกัน 2 วัน คือ วันแรม 15 ค่ำ เดือน 4 ถึง วันขึ้น 1 ค่ำเดือน 5 ในสมัยโบราณจะชาวบ้านรวมตัวกันกวน "ข้าวแดง" ซึ่งส่วนประกอบหลักได้แก่ ข้าว อ้อยและน้ำตาล แจกจ่ายคนในหมู่บ้านและถวายพระสงฆ์ แต่ในปัจจุบันไม่ปรากฏว่ามีการรวมตัวกันกวนข้าวแตงอีกแล้ว คงเหลือแต่การทำบุญเลี้ยงพระสงฆ์ตามปรกติ
สงกรานต์
คล้ายกับพื้นที่อื่น คือ มีทำบุญ 3 วัน วันแรกมีการทอดผ้าป่าสามัคคี วันที่สองในบางปีจะมีการรวมตัวจัดอุปสมบทหมู่เพื่อบวชลูกหลานซึ่งกลับจากต่างถิ่น มีการทำพิธีปลงผมนาคในเวลาเที่ยงและ เวลาบ่ายทำการแห่นาค เมื่อถึงช่วงเย็นมีการเทศน์สอนนาค และอุปัชฌาย์พร้อมทั้งกรรมวาจา-อนุสาวนาจารย์ วันสุดท้ายมีพิธีสรงน้ำพระตามประเพณีและอุปสมบทนาคในเวลาเช้ามืด จากนั้นเวลาเช้ามีการเจริญพระพุทธมนต์ฉลองพระบวชใหม่ และในเวลาบ่ายมีการจัดพิธีแห่อัญเชิญสมโภชพระบรมสารีริกธาตุและพิธีขอขมาและสรงน้ำ จบท้ายด้วยการสักการะเจดีย์บรรจุอัฐิของบรรพบุรุษตน
พิธีเวียนเทียนพระภิกษุใหม่
วัดคุ้งตะเภาเป็นวัดเดียวยังคงอนุรักษ์พิธีกรรมนี้อยู่จนปัจจุบัน[ต้องการอ้างอิง] พิธีดังกล่าวมีประกอบเมื่อพระภิกษุใหม่ผ่านการบรรพชาอุปสมบทในอุโบสถแล้ว พิธีจัดบนศาลาการเปรียญของวัด โดยมี "หมอทำพิธี" และพระสงฆ์บวชใหม่นั่งอยู่กลางมณฑลพิธี มีญาติโยมนั่งล้อมเป็นวงกลม จะมีการกล่าวมนต์ คาถาและบทเฉพาะสำหรับพิธีกรรมต่าง ๆ เสร็จแล้วหมอพิธีจะนำใบพลูเก้าใบห่อและจุดแว่นเทียนชัยจำนวน 9 เล่มไปเวียนเทียนรอบพระประธานสามรอบ และส่งต่อให้ชาวบ้านนำไปทำพิธีเวียนเทียนแบบพราหมณ์ทีละคนจนครบแล้วส่งคืนให้หมอพิธีเพื่อนำเวียนรอบพระประธานอีกครั้ง
ประเพณีถวายสลากภัต
จัดระหว่างขึ้น 1 ค่ำ เดือน 6 ถึง ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 ของทุกปี[59] โดยชาวบ้านจะนำสำรับภัตตาหารและผลไม้มาถวายพระสงฆ์ โดยจะนิมนต์พระสงฆ์กว่าร้อยรูปมาฉันภัตตาหารและถวายจตุปัจจัยไทยธรรม ในอดีตมีการจับฉลากเลือกพระสงฆ์รับสังฆทานตามประเพณี และเวลากลางคืนมีการละเล่นต่าง ๆ เช่นชกมวยคาดเชือก มวยไทยสายพระยาพิชัย ฯลฯ
ประเพณีสารทไทย
ตรงกับแรม 15 ค่ำ เดือน 10 ของทุกปี ในอดีตมีการรวมตัวของคนในหมู่บ้านกวนข้าวกระยาสารท และมีการละเล่นต่าง ๆ แต่ปัจจุบันคงเหลือแต่การทำบุญเลี้ยงพระสงฆ์ตามปรกติ
ประเพณีเทศน์มหาชาติ
จัดตรงกับ วันแรม 4–6 ค่ำ เดือน 11 ของทุกปี วันแรกมีการเทศน์ "พระมาลัยสูตร 3 ธรรมาสน์" วันที่สองเวลาเช้าพระสงห์อ่านเวสสันดรชาดกเป็นภาษาบาลี ส่วนในเวลาบ่ายจะเทศน์เวสสันดรชาดกเป็นทำนองเหล่ วันที่สามมีการถวายภัตตาหารแก่พระสงฆ์และมีเทศน์อานิสงส์ฟังเวสสันดรชาดก ทั้งนี้ ปัจจุบันส่วนใหญ่มีแต่พระสงฆ์และผู้อาวุโสมาช่วยกันประดับตกแต่งศาลาการเปรียญ

ดนตรีพื้นบ้าน[แก้]

วงดนตรีไทยเดิมผู้สูงอายุบ้านคุ้งตะเภา

ปัจจุบันดนตรีพื้นบ้านของหมู่บ้านคุ้งตะเภายังเหลือกลองยาว หมู่บ้านคุ้งตะเภามีชื่อเสียงเรื่องกลองยาว ประกอบด้วยเครื่อง 8 เครื่อง 9 และเครื่อง 12 ฉิ่ง ฉาบ ฆ้อง กลอง สามารถแข่งขันกลองยาว ชนะวงในตำนานอย่างวงนกขมิ้น ต.ทุ่งยั้งได้ คือวงของยัง กลิ่นลอย ซึ่งเล่นครั้งสุดท้ายเมื่อประมาณ พ.ศ. 2505 โดยในบ้านวงกลองยาวของยังสมัยนั้น มีกลองสองหน้า ซึ่งเป็นกลองยืนกลองหลอนในวงมังคละ แต่น่าเสียดายว่าปัจจุบันไม่มีผู้ใดรับสืบทอดวิชา และอุปกรณ์ได้สูญไปหมดแล้ว

มังคละซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของคนบ้านคุ้งตะเภาได้สูญหายไปหมดแล้ว ผู้เล่นมังคละคนสุดท้าย คือกี่ มีชำนะ เสียชีวิตไปเมื่อประมาณ ปี พ.ศ. 2540 สันนิษฐานว่าเขาเป็นผู้สืบทอดการเล่นมังคละคนสุดท้ายของหมู่บ้าน และหาผู้เข้าประสมวงตามนวภัณฑ์ไม่ได้ จึงกลายมาเป็นวงปี่กลองที่ใช้กลองเพียงลูกเดียว และใช้ซอสีแทนปี่ ซึ่งหาผู้เป่ายากในช่วงสุดท้าย[60] อย่างไรก็ดี ในปัจจุบัน วัดคุ้งตะเภาพยายามรื้อฟื้นมังคละเภรีโดยจัดตั้งศูนย์อนุรักษ์ดนตรีพื้นบ้านมังคละเภรีศรีสวางคบุรี ภายในอาคารพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดคุ้งตะเภา เพื่อฝึกสอนการเล่นมังคละ

จากประเพณีมุขปาฐะ หมู่บ้านคุ้งตะเภามีการละเล่นคล้ายกับการละเล่นพื้นบ้านทั่วไปในแถบภาคกลางตอนบน เช่น การเล่นนางด้ง นางกะลา การรำช่วง การร้องเพลงเกี่ยวข้าว จนไปถึงมังคละเภรี ส่วนการจัดงานวัดหรือกิจกรรมร่วมกันของชุมชน ที่จัดให้มีมหรสพต่าง ๆ ได้รับความนิยมมากเกือบทั้งหมู่บ้าน ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่าการละเล่นของชาวบ้านคุ้งตะเภาในอดีตผูกพันกับวิถีชีวิตประจำวัน ในปัจจุบันยังพอมีการละเล่นพื้นบ้านอยู่บ้าง แต่เป็นเพียงการละเล่นเฉพาะในพิธีกรรมหรืองานบุญทางศาสนา ปัจจุบันหมู่บ้านคุ้งตะเภายังคงมีวงดนตรีไทยเดิม (วงปี่พาทย์) อยู่ เป็นวงดนตรีไทยเดิมวงเดียวของตำบลคุ้งตะเภา และเมื่อออกแสดงในงานต่าง ๆ ต้องรวบรวมลูกวงจากหมู่บ้านอื่นมาร่วมด้วย เพื่อให้สามารถเล่นดนตรีไทยเดิมได้ครบวง

เพลงประจำหมู่บ้าน[แก้]

ชาวบ้านคุ้งตะเภาจัดทำเพลงประจำหมู่บ้านขึ้น โดยวิเชียร ครุฑทอง ปราชญ์ชุมชนของตำบลคุ้งตะเภา เป็นผู้ประพันธ์คำร้องและทำนองเพลง รวมทั้งเป็นผู้ขับร้อง ซึ่งได้มีการบันทึกเสียงดนตรีที่ห้องบันทึกเสียงคณะดนตรีวง "ไทไท" ในปี พ.ศ. 2547 เพลงที่แต่งขึ้นมี 2 บทเพลง ทั้งสองเพลงเป็นเพลงขับร้องแบบลูกทุ่ง ชื่อ "คุ้งตะเภารำลึก" มีเนื้อหาเกี่ยวกับประวัติหมู่บ้านคุ้งตะเภา และ "อรุณรุ่งที่คุ้งตะเภา" มีเนื้อหาเกี่ยวกับการพัฒนาหมู่บ้านปัจจุบัน ทั้งสองเพลงได้มีการเปิดบรรเลงตามเสียงตามสายของหมู่บ้าน[9]

ตำนาน[แก้]

ภายในศาลเจ้าแม่สำเภาทอง หน้าประตูศาลาการเปรียญเดิม หลังวัดคุ้งตะเภาในปัจจุบัน

ตำนานหลักของหมู่บ้านได้แก่ ตำนานเรือสำเภาล่ม ซึ่งมีมาตั้งแต่แรกตั้งหมู่บ้าน อดีตผู้ใหญ่บ้าน บุญช่วย เรืองคำ บันทึกไว้ตามคำบอกเล่า พอสรุปได้ว่า "ในสมัยอยุธยาตอนปลาย มีเรือสำเภาส่งสินค้าลำหนึ่ง ซึ่งมีพี่น้องบิดามารดาเดียวกันสองคนที่อยู่กินกันฉันท์สามีภรรยา ได้ทำมาหากินรับส่งสินค้าขึ้นล่องทางเมืองเหนือ จนวันหนึ่งเรือของสองพี่น้องดังกล่าวได้ล่องแม่น้ำน่านผ่านหน้าวัดคุ้งตะเภาและปรากฏว่ามีลมพายุใหญ่เกิดขึ้น ทำให้ไม่สามารถประคองเรือไว้ได้ เรือจึงล่มลงตรงหน้าวัดคุ้งตะเภา [ปัจจุบันเป็นหลังวัด และร่องน้ำน่านบริเวณที่เรือล่มได้ตื้นเขินไปแล้วเพราะแม่น้ำเปลี่ยนทิศทางเดินไปไกลจากวัดมาก] ลูกเรือทั้งปวงหนีขึ้นฝั่งได้ แต่สองพี่น้องได้จมหายไปกับเรือ ทิ้งสมบัติไว้กับเรือนั่นเอง"[6] ชาวบ้านคุ้งตะเภาเล่าต่อกันมาว่ามีสมบัติถูกฝังไปพร้อมกับเรือ และมีตำนานเล่าว่าเคยมีคนขุดเจอซากเรือและหีบบรรจุเหรียญเงิน แต่ต่อมาเสียชีวิต ชาวบ้านเพิ่งมาเชื่อตำนานเจ้าแม่สำเภาทองนั้นในระยะหลัง จากเหตุการณ์ที่พระสงฆ์วัดคุ้งตะเภาได้ยินเสียงหญิงร้องไห้อยู่หลังวัดทุกวันที่มีฝนตกในช่วงเข้าพรรษา และเจ้าแม่ได้เข้าฝันพระสงฆ์ในวัดบอกว่าเสียงผู้หญิงนั้นเป็นคน ๆ เดียวกับที่จมไปกับเรือสำเภาในตำนาน[61] ชาวบ้านและพระสงฆ์จึงร่วมกันสร้างศาลให้หลังหนึ่งบริเวณหลังวัด จากนั้นก็ไม่ปรากฏเสียงผู้หญิงร้องไห้อีก ทั้งนี้ ความเชื่อเรื่องเจ้าแม่สำเภาทองได้เสื่อมลงไปบ้างในช่วงหลัง

นอกจากเรื่องตำนานเรือสำเภาล่มแล้ว ยังมีความเชื่อเรื่องเจ้าแม่โพธิ์เขียวเป็นรุกขเทวดาประจำต้นพระศรีมหาโพธิ์ประจำวัดคุ้งตะเภา[62] เจ้าแม่จุฑามาศ ซึ่งเป็นความเชื่อเรื่องเทวดาประจำต้นยางยักษ์ที่วัดคุ้งตะเภานำขึ้นมาจากท้องแม่น้ำน่าน เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2550[63] เช่นเดียวกับป่าไผ่หลวงและเขาหญ้าวัว (เขาเยี่ยววัว, เขายูงงัว)

เชิงอรรถ[แก้]

  1. แจ้ง เลิศวิลัย เป็นผู้พบกลองมโหระทึกสมัยก่อนประวัติศาสตร์ดังกล่าว โดยได้ขุดพบที่ตำบลท่าเสา อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ ใน พ.ศ. 2470 และได้ส่งมอบให้แก่ทางราชการ ปัจจุบันกลองมโหระทึกดังกล่าวตั้งแสดงอยู่ในพระที่นั่งศิวโมกข์พิมาน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร กรุงเทพมหานคร[17]

อ้างอิง[แก้]

  1. ข้อมูลรายชื่อผู้ใหญ่บ้านจาก เว็บไซด์กรมพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย[ลิงก์เสีย]
  2. 2.0 2.1 โปสเตอร์สรุป ข้อมูลหมู่บ้านและปัญหาความต้องการของประชาชน บ้านคุ้งตะเภา ประจำปี 2547 (ข้อมูล จปฐ.) .จาก คณะกรรมการอำนวยการงานพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในชนบท (พชช.) กรมพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย
  3. ข้อมูลประชากร หมู่บ้านคุ้งตะเภา อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์ (กันยายน 2550) .จาก สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย
  4. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศบอกล่วงหน้าจะแจกโฉนดสำหรับที่ดิน ในทุ่งบ้านวังหมู ตำบลวังหมู อำเภออุตรดิตถ์,ทุ่งบ้านป่าเซ่า ตำบลป่าเซ่า อำเภออุตรดิตถ์,ทุ่งบ้านคุ้งตะเภา ตำบลคุ้งตะเภา อำเภออุตรดิตถ์ แขวงเมืองพิชัย[ลิงก์เสีย], เล่ม ๒๔, ๑๕ กันยายน รัตนโกสินทร์ศก ๑๒๖, หน้า ๕๘๕
  5. พจนานุกรมแปล ไทย-ไทย ราชบัณฑิตยสถาน
  6. 6.0 6.1 บุญช่วย เรืองคำ. (ม.ป.ป). พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ท้องถิ่นบ้านคุ้งตะเภาหมู่ที่ ๔. อุตรดิตถ์ : สำนักงานที่ทำการผู้ใหญ่บ้านคุ้งตะเภา. อัดสำเนา.
  7. ผ่องศรี วนาสิน. (2523). เมืองโบราณบริเวณชายฝั่งทะเลเดิมของที่ราบภาคกลางประเทศไทย :, การศึกษาตำแหน่งที่ตั้งและภูมิศาสตร์สัมพันธ์. กรุงเทพฯ : โครงการเผยแพร่ผลงานวิจัย ภาควิชาภูมิศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  8. 8.0 8.1 Pallegoix, Jean Baptiste. (1854). Description du Royaume Thai ou Siam. Paris : Mission de Siam.
  9. 9.0 9.1 9.2 9.3 9.4 9.5 9.6 9.7 เทวประภาส มากคล้าย เปรียญ.. (2551). สาระการเรียนรู้ท้องถิ่น : ประเพณีวัฒนธรรมและพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของวัดและหมู่บ้านคุ้งตะเภา. อุตรดิตถ์: วัดคุ้งตะเภา
  10. _________________. (ม.ป.ป.). พระราชพงษาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา ระหว่างจลาจล จุลศักราช ๑๑๒๙-๑๑๓๐. กรุงเทพฯ : (ม.ป.ท.). หน้า 49-51
  11. สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดอุตรดิตถ์. (2558). วัดคุ้งตะเภา. [ออน-ไลน์]. เข้าถึงได้จาก : [1] เก็บถาวร 2015-09-17 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. เข้าถึงเมื่อ 30-3-55
  12. สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดอุตรดิตถ์. (2555). จำนวนวัดจังหวัดอุตรดิตถ์ ปี 2554. [ออน-ไลน์]. เข้าถึงได้จาก : [2] เก็บถาวร 2015-09-17 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. เข้าถึงเมื่อ 30-3-55
  13. กรมการศาสนา. (2531). ประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร เล่ม ๗. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์การศาสนา. หน้า 34.
  14. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศกระทรวงเกษตราธิการ ประกาศยกเลิกหนังสือสำคัญเดิมสำหรับที่ดิน ตำบลป่าคาย ตำบลน้ำอ่าง อำเภอตรอน ตำบลวังกะพี้ ตำบลวังหมู ตำบลป่าเซ่า ตำบลคุ้งตะเภา อำเภออุตรดิตถ์ แขวงเมืองพิชัย, เล่ม ๒๔, ตอน ๓๕, ๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๕๐, หน้า ๘๙๓
  15. ความเป็นมาของชื่อคุ้งตะเภา จากประวัติวัดคุ้งตะเภา ในวิกิซอร์ซ
  16. พิเศษ เจียจันทร์พงษ์. (2545). ศาสนาการเมืองในประวัติศาสตร์สุโขทัย-อยุธยา. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน.
  17. 17.0 17.1 "หวน พินพันธุ์, ผศ.. (2529). ประวัติมหาดไทยส่วนภูมิภาคจังหวัดอุตรดิตถ์. กรุงเทพฯ : กระทรวงมหาดไทย". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-07-28. สืบค้นเมื่อ 2009-08-24.
  18. ชิน อยู่ดี และสุด แสงวิเชียร. (2517). อดีต. กรุงเทพฯ : ฝ่ายวิชาการนักศึกษา คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร. หน้า 170-171
  19. พระวิภาคภูวดล (เจมส์ ฟีตซรอย แมกคาร์ธี). (2533). บันทึกการสำรวจและบุกเบิกในแดนสยาม. กรุงเทพฯ : สโมสรนายทหาร กรมแผนที่ทหาร
  20. ขอม - เขมร - กัมพูชา ... เป็นเรื่องแล้ว ขอม คือไทย ไม่ใช่เขมร. เว็บไซต์ oknation. [ออน-ไลน์]. เข้าถึงข้อมูลได้จาก [3] เก็บถาวร 2022-07-02 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. เข้าถึงข้อมูลเมื่อ 25-8-52
  21. วิบูลย์ บูรณารมย์. (2540). ตำนานเมืองอุตรดิษฐ์. พิมพ์ครั้งที่ 2. อุตรดิตถ์ : โรงพิมพ์พี.ออฟเซ็ทอาร์ท.
  22. ศิลาจารึกวัดป่ามะม่วง. (2521). ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ ๑. กรุงเทพฯ : คณะกรรมการพิจารณาและจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี.
  23. 23.0 23.1 ชุนนุมพระนิพนธ์ในสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เรื่อง "แผ่นดินทอง แผ่นดินพระร่วง" คนไทยในสมัยสุโขทัย
  24. พิเศษ เจียจันทร์พงษ์. (2535). หนังสืออนุสรณ์ในงานฌาปนกิจศพ แม่บุญมี เจียจันทร์พงษ์. (ม.ป.ท.). หน้า 104
  25. __________. (2543). วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดอุตรดิตถ์. กรุงเทพฯ : กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ กรมศิลปากร. หน้า 104.
  26. น้อย มากคล้าย และผิว มากคล้าย (มีกล่ำ) เป็นผู้ให้สัมภาษณ์, มานะ มากคล้าย เป็นผู้สัมภาษณ์, ที่บ้านเลขที่ 229 บ้านคุ้งตะเภา ตำบลคุ้งตะเภา อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ เมื่อ 13 เมษายน 2541.
  27. กรมตำรากระทรวงธรรมการ. (2472). พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี แผ่นดินสมเด็จพระบรมราชาที่ ๔ (พระเจ้าตากสิน) จุลศักราช ๑๑๒๘-๑๑๔๔. พิมพ์ครั้งที่ ๔. พระนคร : โรงพิมพ์กรมตำรากระทรวงพระธรรมการ. หน้า ๗๖-๘๑.
  28. เว็บไซต์วัดคุ้งตะเภา, สำเนียงภาษาถิ่นบ้านคุ้งตะเภา (ภาษาสุโขทัย), [ออน-ไลน์], เข้าถึงแหล่งข้อมูลได้จาก : https://sites.google.com/site/watkungtaphao/kitchakam/kungtapaomuseum/language เก็บถาวร 2015-09-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เข้าถึงเมื่อ 31-10-57.
  29. พิเศษ เจียจันทร์พงษ์. (2530). วัดใหญ่ท่าเสา : รายงานการสำรวจและแนวทางการสงวนรักษาอาคารที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ โบราณคดี และสถาปัตยกรรม. กรุงเทพฯ : กองโบราณคดี กรมศิลปากร. ถ่ายเอกสาร.
  30. นุชนารถ พรมลัภ. (2545). การประเมินโครงการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง : กรณีศึกษาบ้านป่าขนุน หมู่ที่ 3 ตำบลคุ้งตะเภา อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์. สารนิพนธ์ ป.กศ. (หลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิต สาขาการจัดการและการประเมินโครงการ). อุตรดิตถ์ : บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฎอุตรดิตถ์. อัดสำเนา
  31. หน่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมศิลปกรรมท้องถิ่นจังหวัดอุตรดิตถ์. (2530). สถาปัตยกรรมในเมืองจังหวัดอุตรดิตถ์. กรุงเทพฯ : สำนักงานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ. หน้า 24-26
  32. ราชกิจจานุเบกษา, รายนามพระสงฆ์สามเณร ที่สอบไล่ได้ รัตนโกสินทรศก ๑๒๙ ซึ่งได้รับพระราชทานพัดเปรียญ [4], เล่ม ๒๘, ๑๔ มกราคม ร.ศ.๑๓๐, หน้า ๒๒๔๕
  33. มณเฑียร ดีแท้. (2523). มรดกทางวัฒนธรรมของจังหวัดอุตรดิตถ์. กรุงเทพฯ: วิเทศธุรกิจการพิมพ์. หน้า 56
  34. 34.0 34.1 34.2 34.3 ธนวรรณ ฮองกุล. (2545). การประเมินโครงการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง : กรณีศึกษาบ้านคุ้งตะเภา หมู่ที่ 4 ตำบลคุ้งตะเภา อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์. สารนิพนธ์ ป.กศ. (หลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิต สาขาการจัดการและการประเมินโครงการ). อุตรดิตถ์ : บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฎอุตรดิตถ์. อัดสำเนา
  35. พระอู๋ ปญฺญาวชิโร (แสงสิน) เป็นผู้ให้สัมภาษณ์, เทวประภาส มากคล้าย เป็นผู้สัมภาษณ์, ที่วัดคุ้งตะเภา อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ เมื่อ 19 สิงหาคม 2549.
  36. คณะทำงานโครงการอุตรดิตถ์เมืองน่าอยู่. (2545). อุตรดิตถ์...ที่เป็นมา. กรุงเทพฯ : สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน).
  37. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชกฤษฎีกา กำหนดเขตที่ดินในท้องที่อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ ให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดิน พ.ศ. ๒๕๒๖, เล่ม ๑๐๐ ตอนที่ ๑๓๕, ๑๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๒๖, ฉบับพิเศษ หน้า ๓๑
  38. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดิน ในท้องที่ตำบลขุนฝาง ตำบลบ้านด่านนาขาม ตำบลคุ้งตะเภา ตำบลผาจุก ตำบลป่าเซ่า และตำบลหาดกรวด อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ ให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดิน พ.ศ. ๒๕๕๔, เล่ม ๑๒๘ ตอนที่ ๘๕ ก, ๓๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๔, หน้า ๑๓
  39. ประวัติสาธารณูปโภค จังหวัดอุตรดิตถ์ จาก เว็บไซด์รักษ์บ้านเกิด.คอม
  40. คืนชีวิต "หาดน้ำน่าน" ผลงานชุมชน-อ.บ.ต.คุ้งตะเภา.เว็บไซต์กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
  41. ราชกิจจานุเบกษา, เรื่องตั้งตำบลในจังหวัดต่าง ๆ, เล่ม ๖๔, ตอน ๔๖, ๓๐ กันยายน พ.ศ. ๒๔๙๐, หน้า ๒๕๑๖
  42. สำนักส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน กรมส่งเสริมสหกรณ์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์. แบบรายงาน ส.ว.ช.01_2. [ออนไลน์]. เข้าถึงข้อมูลได้จาก [5]. เข้าถึงข้อมูลเมื่อ 28-6-52
  43. ศูนย์สารสนเทศ กรมส่งเสริมสหกรณ์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์. ทะเบียนกลุ่มเกษตรกรในประเทศไทย รายงานแบ่งตามเขตตรวจราชการ จังหวัดอุตรดิตถ์. [ออนไลน์]. เข้าถึงข้อมูลได้จาก [6] เก็บถาวร 2008-10-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. เข้าถึงข้อมูลเมื่อ 28-6-52
  44. ประวัติวัดคุ้งตะเภา : ศาลาการเปรียญวัดคุ้งตะเภา จาก วิกิซอร์ซ
  45. ศูนย์บริหารจัดการฐานข้อมูลสุขภาพระดับปฐมภูมิ สำนักนโนบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข. (2551). รายละเอียดสถานพยาบาลสถานีอนามัยตำบลคุ้งตะเภา. [ออน-ไลน์]. แหล่งข้อมูล http://healthcaredata.moph.go.th/regis/serviceplacedetail.php?provincecode=53&off_id=06254[ลิงก์เสีย]
  46. โครงการจัดตั้งศูนย์สมุนไพรตำบลคุ้งตะเภา. [ออน-ไลน์]. (2550)./แหล่งที่มา : http://tobt.nhso.go.th/report/admin_report/admin_report3_5.php?[ลิงก์เสีย]
  47. มูลนิธิสร้างคุณค่าชีวิตเด็กและเยาวชน. (2554).
  48. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศนายทะเบียนมูลนิธิจังหวัดอุตรดิตถ์ เรื่อง จดทะเบียนจัดตั้ง "มูลนิธิสร้างคุณค่าชีวิตเด็กและเยาวชน", เล่ม ๑๒๗ ตอน ๔๗ ง, ๒๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๓, หน้า ๑๒๔
  49. สถาบันพระบรมราชชนก. (2554). สารสัมพันธ์สถาบันพระบรมราชชนก ปีที่ 5 ฉบับที่ 1 เดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2554. [ออน-ไลน์]. เข้าถึงแหล่งข้อมูลได้จาก : http://www.pi.ac.th/includes/download.php?id=2189 เก็บถาวร 2011-08-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  50. พื้นเพคนคุ้งตะเภา จาก ประวัติวัดคุ้งตะเภา ในวิกิซอร์ซ
  51. 51.0 51.1 51.2 ชาติชาย มุกสง. (2543). อุตรดิตถ์-ภูมิประเทศและการท่องเที่ยว. กรุงเทพฯ : องค์การค้าของคุรุสภา.
  52. เว็บไซค์รถทัวร์ไทย. บริษัทรถทัวร์ที่ให้บริการเส้นทางมากกว่า 1 ภาคในประเทศไทย. [ออน-ไลน์]. เข้าถึงแหล่งข้อมูลได้จาก [7]. เข้าถึงเมื่อ 24-8-52
  53. จรูญ พรหมน้อย, พระมหา. (2545). เอกสารฉลองวัดป่ากล้วยครบ ๑๕๐ ปี คืนสู่เหย้า ชาวบ้านป่ากล้วย. อุตรดิตถ์ : องค์การบริหารส่วนตำบลคุ้งตะเภา.
  54. ผลสอบธรรมศึกษาจังหวัดอุตรดิตถ์. สำนักงานแม่กองธรรมสนามหลวง : แผนกสถิติ-ข้อมูล
  55. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศนายทะเบียนมูลนิธิจังหวัดอุตรดิตถ์ เรื่อง จดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิ "มูลนิธิ ๒๕๐ ปี วัดคุ้งตะเภา", เล่ม ๑๓๓ ตอน ๔๔ ง, ๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๙, หน้า ๔๙-๕๐
  56. เคียง ชำนิ, "สำเนียงพูดคนสุโขทัย," ศิลปวัฒนธรรม, ๒๒,๑ (พฤศจิกายน ๒๕๔๓) : ๙๒-๙๔.
  57. สมชาย เดือนเพ็ญ นักวัฒนธรรมผู้เชี่ยวชาญภาษาถิ่นสุโขทัย ใน "เวทีประชาคมเพื่อชุมชนเข้มแข็ง ภาษาสุโขทัยรากฐานแผ่นดิน" ออกอากาศ ทางช่อง NBT วันที่ 10 เมษายน 2556
  58. เว็บไซต์วัดคุ้งตะเภา, สำเนียงภาษาถิ่นบ้านคุ้งตะเภา (ภาษาสุโขทัย), [ออน-ไลน์], เข้าถึงแหล่งข้อมูลได้จาก : https://sites.google.com/site/watkungtaphao/kitchakam/kungtapaomuseum/language เก็บถาวร 2015-09-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เข้าถึงเมื่อ 31-10-57.
  59. สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดอุตรดิตถ์. (2553). บันทึกการค้นคว้าวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่นจากปราชญ์พื้นบ้านและภูมิปัญญาของแผ่นดินจังหวัดอุตรดิตถ์ประจำปีงบประมาณ 2553. อุตรดิตถ์ : พีออฟเซ็ตอาร์ต. หน้า 25
  60. พระมหาเทวประภาส มากคล้าย. "มังคละเภรี วิถีท่าเหนือที่สาบสูญ สืบค้นรากเหง้าคนลุ่มน้ำน่านภาษาถิ่นสุโขทัยตอนบน ในจังหวัดอุตรดิตถ์" ใน สูจิบัตรพิธีไหว้ครูดนตรีไทย ประจำปี ๒๕๕๘. คณะมนุษยศาสตร์ : มหาวิทยาลัยนเรศวร. ๒๕๕๘. หน้า ๔๖-๔๘.
  61. พระเดือนชัย แก้วแก้ว เป็นผู้ให้สัมภาษณ์, เทวประภาส มากคล้าย เป็นผู้สัมภาษณ์, ที่วัดคุ้งตะเภา อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ เมื่อ 19 สิงหาคม 2549.
  62. พระอธิการธง ฐิติธมฺโม (พระครูประดิษฐ์ธรรมธัช) เป็นผู้ให้สัมภาษณ์, เทวประภาส มากคล้าย เป็นผู้สัมภาษณ์, ที่กุฎิสงฆ์วัดคุ้งตะเภา บ้านคุ้งตะเภา อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ เมื่อ 13 เมษายน 2550.
  63. วิชลักษณ์ จั่นจีน เป็นผู้ให้สัมภาษณ์, เทวประภาส มากคล้าย เป็นผู้สัมภาษณ์, ที่ริมฝั่งแม่น้ำน่าน สำนักปฏิบัติธรรมตระกูลธรรมะ บ้านคุ้งตะเภา อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ เมื่อ 31 กรกฎาคม 2550.

หนังสืออ่านเพิ่มเติม[แก้]

  • เทวประภาส มากคล้าย. (2553). คุ้งตะเภา จากอดีตสู่ปัจจุบัน : พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ ประเพณีวัฒนธรรม ความเชื่อ และภูมิปัญญาท้องถิ่น. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์แห่งมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. ISBN 9789743648847
  • ธีระวัฒน์ แสนคำ. (2558). สวางคบุรีศรีคุ้งตะเภา : สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชกับสมรภูมิสวางคบุรี-คุ้งตะเภา อนุสรณ์ ๒๔๕ ปี แห่งการสถาปนาวัดคุ้งตะเภา. อุตรดิตถ์ : สำนักงานสภาวัฒนธรรมจังหวัดอุตรดิตถ์ กระทรวงวัฒนธรรม. ISBN 978-616-543-334-1
  • ธนวรรณ ฮองกุล. (2545). การประเมินโครงการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง : กรณีศึกษาบ้านคุ้งตะเภา หมู่ที่ 4 ตำบลคุ้งตะเภา อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์. สารนิพนธ์ ป.กศ. (หลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิต สาขาการจัดการและการประเมินโครงการ). อุตรดิตถ์ : บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฎอุตรดิตถ์. อัดสำเนา

ดูเพิ่ม[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

17°39′11″N 100°08′38″E / 17.65299°N 100.143802°E / 17.65299; 100.143802