พระพุทธสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก หลวงพ่อสุโขสัมฤทธิ์)
พระพุทธสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนี
ชื่อเต็มพระพุทธสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนี[1][2]
ชื่อสามัญหลวงพ่อสุโขสัมฤทธิ์, หลวงพ่อสุโขทัยสัมฤทธิ์, หลวงพ่อสุโขทัย, หลวงพ่อสัมฤทธิ์
ประเภทพระพุทธรูปโบราณศักดิ์สิทธิ์
ศิลปะปางมารวิชัย
ศิลปะสุโขทัย[3] -เชียงแสนชั้นครู
(เชียงแสนแปลง หรือแบบท่านมหาสวน) [4]
ความกว้าง1 ศอก 13 นิ้ว
ความสูง2 ศอก 8 นิ้ว (ตลอดถึงพระรัศมี)[5]
วัสดุสำริดโบราณ
สถานที่ประดิษฐานวัดคุ้งตะเภา
ความสำคัญพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองจังหวัดอุตรดิตถ์[1]
หมายเหตุเปิดให้ประชาชนเข้าสักการะได้ทุกวัน
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

พระพุทธสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนี[1][2] หรือ หลวงพ่อสุโขสัมฤทธิ์ เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์สำคัญคู่บ้านคู่เมืองอุตรดิตถ์[1] มีพุทธลักษณะปางมารวิชัย หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์บริสุทธิ์ หน้าตักกว้างศอกเศษ มีพุทธลักษณะงดงามตามแบบอย่างสกุลช่างสุโขทัย-เชียงแสน ซึ่งเป็นแบบที่พบได้น้อยมากและหายากที่สุด[6]

พระพุทธสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนี เดิมองค์พระถูกพอกปูนลงรักปิดทองอารักขาภัยไว้ ตัวองค์พระสำริดดังปรากฏในปัจจุบันนั้นสันนิษฐานว่าสร้างในสมัยแรกก่อตั้งกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 181 สกุลช่างเชียงแสนยุคปลายผสมสกุลช่างสุโขทัยยุคต้น หรือในช่วงยุครอยต่อการสถาปนาอาณาจักรสุโขทัย เป็นรัชสมัยระหว่างพ่อขุนศรีอินทราทิตย์กับพญาลิไท มีอายุประมาณ 7-800 ปี[4] มีประวัติความเป็นมาและอภินิหารที่น่าสนใจยิ่ง[7]

หลวงพ่อสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนี ประดิษฐานอยู่ที่ วัดคุ้งตะเภา หมู่บ้านคุ้งตะเภา ตำบลคุ้งตะเภา อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์ เดิมนั้นทางวัดไม่เปิดเผยสถานที่ประดิษฐาน และไม่ให้บุคคลทั่วไปเข้าสักการะได้ถึงองค์พระ เนื่องด้วยปัญหาด้านการรักษาความปลอดภัย โดยจะอัญเชิญหลวงพ่อสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนีออกให้ประชาชนทั่วไปนมัสการได้ถึงตัวองค์พระเพียงในช่วงเทศกาลสงกรานต์เท่านั้น

ปัจจุบัน วัดคุ้งตะเภา ได้สร้างห้องตู้กระจกนิรภัย พร้อมทั้งติดตั้งระบบรักษาความปลอดภัยอิเล็กทรอนิกส์แล้ว จึงทำให้สามารถเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าสักการะได้ทุกวัน โดยปัจจุบันหลวงพ่อสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนีประดิษฐานอยู่ที่หอพระพุทธสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนี บนอาคารศาลาการเปรียญเฉลิมพระเกียรติฯ วัดคุ้งตะเภา

ความสำคัญ[แก้]

หลวงพ่อสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนี เป็นพระพุทธรูปโบราณศักดิ์สิทธิ์สำคัญที่เป็นที่เคารพนับถือ 1 ใน 2 องค์ ของตำบลคุ้งตะเภา และเป็นพระพุทธรูปโบราณสำคัญคู่บ้านคู่เมือง 1 ใน 9 องค์ ของจังหวัดอุตรดิตถ์[8] เป็นพระพุทธรูปสำคัญคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดอุตรดิตถ์"[1] ที่อัญเชิญมาจากวัดราชบูรณะราชวรวิหารในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

พระพุทธรูปองค์นี้มีประวัติความเป็นมาเกี่ยวข้องกับช่วงเวลาการเปลี่ยนผ่านและเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์สำคัญ ๆ ของประเทศไทยหลายครั้ง และมีความเกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์ไทยหลายพระองค์ เนื่องจากหลวงพ่อสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนีเป็นพระพุทธรูปโบราณที่มีประวัติความเป็นมาผ่านช่วงเวลาแห่งประวัติศาสตร์ชาติไทยกว่า 800 ปี ล่วงเลยแต่สมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานีจนถึงปัจจุบัน

ศิลปะ[แก้]

หลวงพ่อสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนี จัดเป็นพระพุทธรูปเนื้อโลหะสัมฤทธิ์ปางมารวิชัยศิลปะสกุลสุโขทัย-เชียงแสนแปลง แบบท่านมหาสวน ปัจจุบันปรากฏเพียง 4 องค์ในประเทศไทย [4]โดยแบ่งเป็นปางขัดสมาธิราบ 2 องค์ (ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ที่วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร) และปางมารวิชัยอีก 2 องค์ คือองค์หลวงพ่อสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนี (วัดคุ้งตะเภา) และองค์หลวงพ่อเชียงแสน (วัดธรรมาธิปไตย) แต่องค์หลวงพ่อสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนี เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยแบบท่านมหาสวนเพียงองค์เดียว ที่มีพุทธลักษณะตามขนบอินเดียโบราณคือ พระหัตถ์ไม่ได้วางบนพระหนุ (เข่า) แต่วางบนพระชงค์ และนิ้วพระหัตถ์แตะพื้นดิน (ฐาน) บอกแม่พระธรณี อันเป็นพุทธลักษณะสำคัญที่เนื่องด้วยปางมารวิชัยตามความในพระไตรปิฎกตอนพระพุทธองค์ตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ

ผศ.เขียน ยิ้มศิริ[9] ผู้กล่าวยกย่องพระพุทธรูปแบบหลวงพ่อสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถมุนี

ผศ.เขียน ยิ้มศิริ อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยศิลปากร ศิลปินชั้นเยี่ยมสาขาจิตรกรรม กล่าวยกย่องคุณค่าทางศิลปะของพระพุทธรูปแบบหลวงพ่อสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนีไว้ในหนังสือของท่านว่า พระพุทธรูปแบบท่านมหาสวนเช่นนี้ "เป็นศิลปะชั้นครู (Masterpiece)" ซึ่งนับว่าหายากมาก ทั้งหมดมีขนาดเท่ากันคือขนาดเท่าคน มีจุดเด่นที่พระพักตร์อันสงบงามยิ่ง โดย ผศ.เขียน ยิ้มศิริ ยกย่องพระพุทธรูปแบบหลวงพ่อสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนีไว้ในหนังสือพุทธานุสรณ์ว่า

...อารมณ์การแสดงออกของท่านมีความสงบเป็นสำคัญ ยิ่งดูท่านนานเพียงไร ก็ยิ่งจับใจในความสง่างามของท่านยิ่งขึ้นเพียงนั้น...

— ผศ.เขียน ยิ้มศิริ

ผศ.เขียน ยิ้มศิริ กล่าวอีกว่าพระพุทธสิหิงค์ (องค์ที่ประดิษฐานในพระที่นั่งศิวโมกขพิมาน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร) ไม่สามารถอัญเชิญมาเปรียบเทียบความงดงามสู้กับพระพุทธรูปแบบหลวงพ่อสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนีได้เลย เพราะพระพุทธรูปแบบหลวงพ่อสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนีนับว่ามีจิตวิญญาณภายในมากกว่า ดังนั้นจึงนับได้ว่าในด้านความมีวิญญาณผุดผ่องภายในเชิงศิลปะของหลวงพ่อสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนีนั้นนับได้ว่าเป็นเลิศ

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผศ.เขียน ยิ้มศิริ ได้สรุปสันนิษฐานไว้เป็นแนวคิดของท่านว่า พระพุทธรูปแบบหลวงพ่อสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนีนั้น สร้างขึ้นโดย "ผู้มีภูมิสง่าราวกับกษัตริย์"[4][10] หรือสร้างขึ้นโดยผู้มีบุญบารมีหรือโดยพระบรมราชโองการของพระมหากษัตริย์เพื่อประดิษฐานเป็นพระคู่บ้านคู่เมืองนั่นเอง

ประวัติ[แก้]

แรกสร้างในสมัยเชียงแสน-สุโขทัย[แก้]

หลวงพ่อสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนี เป็นพระพุทธรูปโบราณศักดิ์สิทธิ์ สร้างในสมัยก่อนตั้งกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี เมื่อกว่า 800 ปีก่อน สันนิษฐานว่าเป็นพระพุทธรูปสำคัญของพระวิหารในวัดโบราณแห่งใดแห่งหนึ่งยุคนั้น

เมื่อมีข้าศึกประชิดเมือง ชาวบ้านเกรงว่าหลวงพ่อสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนีจะได้รับอันตราย จึงได้พอกปูนองค์หลวงพ่อไว้เพื่อกันภัยจากข้าศึก ต่อมาเมื่อเมืองพ่ายแก่ข้าศึก และเสื่อมความสำคัญในฐานะเมืองหลวงแห่งอาณาจักรลง ทำให้วัดที่ประดิษฐานองค์หลวงพ่อต้องมีอันร้างพระสงฆ์และผู้คน พร้อม ๆ กับ หลวงพ่อสุโขสัมฤทธิ์ที่ข้าศึกไม่สนใจ เพราะเป็นพระพุทธรูปปูน (ที่ถูกหุ้มไว้) ไม่ใช่พระเนื้อโลหะอย่างที่ข้าศึกต้องการ องค์หลวงพ่อจึงถูกทิ้งร้างอย่างปลอดภัยอยู่กลางป่ามาตลอดช่วงสมัยอยุธยา

สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น[แก้]

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระผู้ทรงอัญเชิญองค์หลวงพ่อสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนีมาประดิษฐาน ณ กรุงเทพมหานคร

จวบจนยุคสมัยก้าวล่วงเข้าสู่สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ได้เสด็จไปการพระราชสงครามยังหัวเมืองเหนือ ได้ทอดพระเนตรเห็นพระพุทธรูปซึ่งอยู่ ณ เมืองเก่าสุโขทัย ทั้งที่เป็นพระปูน พระโลหะ ซึ่งถูกทอดทิ้งไว้ ได้ทรงมีพระราชศรัทธาที่จะทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก จึงได้ทรงออกกระแสพระบรมราชโองการให้อัญเชิญพระพุทธรูปจากสุโขทัย รวมทั้งองค์หลวงพ่อ พระพุทธสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนี ให้มาประดิษฐานไว้ ณ กรุงเทพมหานคร ในปี พ.ศ. 2337 ความว่า

กระแสพระบรมราชโองการ ให้อัญเชิญพระพุทธรูปจากสุโขทัย (พระพุทธสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนี) มาประดิษฐานไว้ ณ กรุงเทพฯ จ.ศ. 1156 (พ.ศ. 2337)

การอัญเชิญมารวบรวมไว้ในพระนคร ครั้งนี้ ก็เพื่อรออัญเชิญประดิษฐานไว้ในที่อันสมควรแก่การสักการบูชา โดยการอัญเชิญพระพุทธรูปจากหัวเมืองเหนือมายังกรุงเทพมหานครในครั้งนี้ มีจำนวนกว่า 1,248 องค์ ซึ่งพระพุทธรูปปูนปั้นหุ้มหลวงพ่อสุโขสัมฤทธิ์ก็ได้ถูกอัญเชิญลงมาในคราวเดียวกันนี้ ในการนั้น ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ โปรดเกล้าฯ ให้ประดิษฐานพระพุทธรูปจากเมืองสุโขทัยและหัวเมืองเหนือที่ได้รวบรวมมา ประดิษฐานไว้ ณ พระวิหารคตวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร ที่ทรงบูรณปฏิสังขรณ์เสร็จสิ้นในปี พ.ศ. 2344

ลุจุลศักราช 1855 เอกศก (พ.ศ. 2336) สมเด็จพระสัมพันธวงศ์เธอ เจ้าฟ้าตัน กรมหลวงเทพหริรักษ์ พระโอรสในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ พระพี่นางเธอในรัชกาลที่ 1 ทรงทำการบูรณปฏิสังขรณ์วัดเลียบเสร็จแล้ว พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระราชทานนามวัดว่า "วัดราชบุรณราชวรวิหาร" ตามนามวัดราชบุรณะซึ่งเป็นวัดคู่เมืองราชธานีตลอดมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย และได้มีพระบรมราชูปถัมภ์ในการบูรณปฏิสังขรณ์ด้วย

ต่อมา ในรัชกาลที่ 2 พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ถอนสีมาวัดเลียบเก่า แล้วสร้างพระอุโบสถและพระวิหารใหม่ พร้อมกับทำการสร้างพระระเบียงล้อมรอบพระอุโบสถ ภายในอัญเชิญพระพุทธรูปปูนเก่า ซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญมาจากหัวเมืองเหนือรวม 162 องค์ มาประดิษฐานไว้ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือองค์หลวงพ่อสุโขสัมฤทธิ์ด้วย[12]

รอดจากระเบิดสัมพันธมิตร (สงครามโลกครั้งที่ 2)[แก้]

เวลาล่วงเลยมากว่า 7 รัชสมัย จนถึงช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่ 2 วัดราชบุรณะได้ถูกระเบิดจากเครื่องบินทิ้งระเบิดของฝ่ายสัมพันธมิตรทำลาย เนื่องจากใกล้กับวัดเป็นที่ตั้งของโรงไฟฟ้าวัดเลียบที่สร้างมาตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในปี พ.ศ. 2440 ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นจุดสำคัญที่หมายสำหรับการทำลายของเครื่องบินทิ้งระเบิดของฝ่ายสัมพันธมิตร เพราะเป็นที่ตั้งของแหล่งสาธารณูปโภคสำคัญของพระนคร

ภาพวัดราชบุรณราชวรวิหารในปี พ.ศ. 2475 (ปล่องโรงไฟฟ้าเลียบอยู่ด้านหลังวัด) ก่อนถูกทำลายหมดทั้งวัดจากเครื่องบินทิ้งระเบิดของฝ่ายสัมพันธมิตรในปี พ.ศ. 2488 ในภาพจะสังเกตเห็นพระระเบียงคตรอบพระอุโบสถวัดราชบุรณะ สถานที่ ๆ เคยเป็นที่ประดิษฐานหลวงพ่อสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนีและพระพุทธรูปโบราณทั้ง 162 องค์

โดยวัดราชบุรณะถูกระเบิดทำลายลงในเวลาประมาณ 13.15 น. ของวันที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2488[12] ทำให้พระอุโบสถ สังฆาราม พระวิหาร และ กุฏิเสนาสนะ เสียหายมาก คงเหลือแต่พระะปรางค์และพระระเบียงคตที่ประดิษฐานหลวงพ่อสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนีเท่านั้นที่ไม่ถูกทำลาย แต่ด้วยความเสียหายอย่างหนักของวัดยากแก่การบูรณะให้มีสภาพดังเดิม คณะสังฆมนตรีและคณะรัฐมนตรีในขณะนั้นมีมติว่าสมควรยุบเลิกวัดเสีย จึงนำความกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 และได้รับพระบรมราชานุญาตให้ทำการยุบเลิกวัดได้ ตามประกาศกระทรวงศึกษาธิการ ลงวันที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2488[13]

เมื่อวัดราชบูรณะถูกยุบเลิก สังฆมนตรีได้ประกาศยุบวัดราชบุรณราชวรวิหารรวมไปเข้ากับวัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร และบรรดาทรัพย์สินที่เป็นสังหาริมทรัพย์ของวัดราชบุรณะที่เหลือรอดจากการถูกทำลายให้โอนไปเป็นสมบัติของวัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร พระสงฆ์และสามเณรวัดราชบุรณราชวรมหาวิหารเดิมให้เข้าถือสังกัดอยู่ในวัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร และวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร

เมื่อวัดราชบุรณราชวรมหาวิหารถูกยุบเลิกดังกล่าว กรมการศาสนาจึงได้อนุญาตให้วัดต่าง ๆ ในหัวเมือง อัญเชิญพระพุทธรูปปูนปั้นโบราณที่พระระเบียงที่รอดจากการถูกทำลาย ไปประดิษฐานยังวัดของตนได้ตามแต่ประสงค์ ทำให้หลังจากสงครามสงบลงในปีเดียวกัน พระพุทธรูปเหล่านั้นจึงกระจายไปอยู่ตามวัดต่าง ๆ ทั่วภูมิภาคของประเทศ[12]

อัญเชิญขึ้นมายังอุตรดิตถ์[แก้]

อัญเชิญจากกรุงเทพมหานคร

วัดคุ้งตะเภา ซึ่งในสมัยนั้นกำลังทำการก่อสร้างอุโบสถ และยังไม่มีพระพุทธรูปองค์ใหญ่สำหรับเป็นพระประธานเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ จึงได้แจ้งความจำนงขอรับพระพุทธรูปเก่าจากวัดราชบุรณราชวรวิหารมาองค์หนึ่ง กรมการศาสนาจึงได้ส่งพระพุทธรูปโบราณทั้งที่เป็นพระปูนพระสัมฤทธิ์ รวมทั้งองค์หลวงพ่อสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนีที่เคยประดิษฐานที่พระระเบียงคต รวมจำนวน 8 องค์ คู่กับรูปหล่อสัมฤทธิ์พระอัครสาวกที่เคยประดิษฐานเป็นพระอสีติมหาสาวก 80 องค์ ภายในวิหารซึ่งเป็นพระที่รอดจากการทำลายจากระเบิดสัมพันธมิตรในครั้งนั้นมาด้วย

สถานที่แม่น้ำน่านเต็มตลิ่งถึงหน้าวัดเป็นอัศจรรย์ เป็นเหตุให้สามารถอัญเชิญหลวงพ่อสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนีขึ้นแพยังฝั่งแม่น้ำหน้าวัดคุ้งตะเภาเดิมได้ (แม่น้ำน่านในสมัยนั้นอยู่ห่างจากตลิ่งวัดไปกว่า 1 กิโลเมตร)
พระพุทธรูปองค์อื่นที่อัญเชิญมาจากวัดราชบุรณะในคราวเดียวกัน

การอัญเชิญพระจากวัดราชบุรณราชวรวิหารในครั้งนั้น วัดในจังหวัดอุตรดิตถ์ที่ลงไปขอพระพุทธรูปจากวัดราชบุรณราชวรวิหาร เท่าที่ทราบนามในปัจจุบันมีด้วยกันห้าวัดคือ วัดคุ้งตะเภา (อัญเชิญ หลวงพ่อสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนี กลับมา) , วัดธรรมาธิปไตย (อัญเชิญ หลวงพ่อเชียงแสน กลับมา), วัดยางโทน (อัญเชิญหลวงพ่อพระพุทธโคดมศรีศากยมุนีกลับมา), วัดดอนไชย อำเภอลับแล (อัญเชิญพระพุทธรูปศิลปสุโขทัยกลับมา) [14] และวัดดงสระแก้ว (อัญเชิญ หลวงพ่ออู่ทอง (ทองคำ) กลับมา2) โดยตอนอัญเชิญพระพุทธรูปกลับมานั้น ได้มาเพียงพระปูนปั้นธรรมดา (วัดคุ้งตะเภาได้พระปูนลงรักดำสนิทมา) แต่ต่อมาพระปูนทั้งหมดก็ได้กะเทาะแตกออกเป็นพระโลหะสำริดและทองคำดังในปัจจุบัน

ประดิษฐาน ณ วัดธรรมาธิปไตย

สำหรับการเคลื่อนย้ายนั้น กรมการศาสนาได้ชะลอหลวงพ่อสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนีและพระพุทธรูปอื่น ๆ ขึ้นมายังจังหวัดอุตรดิตถ์โดยทางรถไฟมาลงที่สถานีรถไฟศิลาอาสน์ และอัญเชิญมาประดิษฐานเป็นการชั่วคราวที่วัดธรรมาธิปไตย ซึ่งเป็นวัดของพระเดชพระคุณพระสุธรรมเมธี (บันลือ ธมฺมธโช ป.ธ.๘) เจ้าคณะจังหวัดอุตรดิตถ์ในขณะนั้น โดยท่านได้ทำการจัดแบ่งถวายยังวัดต่าง ๆ ที่แจ้งความประสงค์มาโดยการเลือกบ้างจับสลากบ้าง พระปลัดป่วน ซึ่งยังเป็นเจ้าอาวาสวัดคุ้งตะเภาในครั้งนั้นจึงได้ส่งมัคนายกวัดคุ้งตะเภา 2 ท่าน คือทายกบุตร ดีจันทร์ และทายกอินทร์ รัตนมาโต มาที่วัดธรรมาธิปไตยเพื่อคัดเลือกและรับอัญเชิญพระพุทธรูปหลวงพ่อสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนีมายังวัดคุ้งตะเภา โดยได้รับถวายรูปหล่อพระอัครสาวกมาจำนวน 2 องค์เพื่อประดิษฐานคู่กับหลวงพ่อสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนีด้วย (ปัจจุบันรูปพระอัครสาวกทั้งสองได้สูญหายไปนานแล้ว)

อัญเชิญสู่วัดคุ้งตะเภา-สำแดงปาฏิหาริย์

การเคลื่อนย้ายหลวงพ่อสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนีมายังวัดคุ้งตะเภาในครั้งนั้น ทายกทั้งสองได้ชวนคนวัดและชาวบ้านร่วมกันอัญเชิญมาลงที่ท่าอิฐไม่ไกลจากวัดธรรมาธิปไตย และทวนแพมาขึ้นฝั่งหน้าวัดคุ้งตะเภาโดยทางแม่น้ำน่านในช่วงสงกรานต์ปี พ.ศ. 2489 ในครั้งนั้นเล่ากันมาว่ามีน้ำหลากสูงเต็มตลิ่งผิดปกติ ทำให้ชาวบ้านสามารถอัญเชิญหลวงพ่อสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนีขึ้นฝั่งตรงหน้าวัดบริเวณต้นโพธิ์หน้าศาลาการเปรียญได้เป็นอัศจรรย์

ในช่วงแรก ชาวบ้านคุ้งตะเภาได้ประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นหลวงพ่อสุโขสัมฤทธิ์ไว้เป็นพระประธานบนบนศาลาการเปรียญเปิดโล่งสี่ทิศ หรืออาคารศาลาการเปรียญหลังเก่าที่สร้างมาแต่ พ.ศ. 2472 ซึ่งเป็นศาสนสถานหลักของวัดในสมัยนั้นก่อนจะมีการสร้างอุโบสถเพื่อประดิษฐานในช่วงหลัง โดยผู้เฒ่าผู้แก่เล่าสืบมาว่าหลังอัญเชิญหลวงพ่อสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนีมาประดิษฐานเป็นหลักชัยของวัดในปี พ.ศ. 2489 ได้มีฝนตกต้องตามฤดูกาลเสมอมา ชาวบ้านคุ้งตะเภาในช่วงนั้นหากินได้อุดมสมบูรณ์มากกว่าปกติ และต่างเชื่อกันว่าเป็นเพราะความศักดิ์สิทธิ์ของพระพุทธรูปที่อัญเชิญมาจากวัดราชบุรณะ ในภายหลังจึงได้การขนานพระนามถวายองค์พระว่า "หลวงพ่อสัมฤทธิ์" ที่แปลว่า พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ที่บันดาลความสุขอุดมสมบูรณ์และความสำเร็จดังปรารถนามาให้ และด้วยพระพุทธลักษณะแบบเชียงแสน-สุโขทัย ทำให้ในช่วงหลังพระสงฆ์ในวัดเรียกกันคุ้นปากว่า "หลวงพ่อสุโขทัยสัมฤทธิ์" ที่มีความหมายถึงความสุขเช่นเดียวกัน

หลวงพ่อสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนี เมื่อคราวอัญเชิญออกประดิษฐานชั่วคราวให้ประชาชนสักการบูชาในวันสงกรานต์ 2552
การอารักขาภัย

ต่อมาในช่วงหน้าพรรษาปี พ.ศ. 2500 ได้มีลมพายุพัดรุนแรงมากจนทำให้กิ่งไม้หักถูกศาลาการเปรียญต้ององค์พระปูนปั้นหลวงพ่อสุโขสัมฤทธิ์ชำรุดจนเห็นเนื้อภายใน ทำให้พระสงฆ์วัดคุ้งตะเภาได้ทราบว่าพระพุทธรูปที่อัญเชิญมาแต่วัดราชบุรณะนั้นเป็นพระพุทธรูปเนื้อสัมฤทธิ์โบราณ จึงได้อัญเชิญไปประดิษฐานในอุโบสถของวัดคู่กับหลวงพ่อสุวรรณเภตรา พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์สำคัญประจำวัดคุ้งตะเภา ปะปนกับพระพุทธรูปองค์อื่น ๆ โดยไม่ได้เปิดเผยว่าเป็นพระเนื้อสัมฤทธิ์โบราณ และมีพระสงฆ์วัดคุ้งตะเภาเข้าจำพรรษาเฝ้าระวังหลวงพ่อสุโขสัมฤทธิ์ทุกพรรษาในอุโบสถ ทำให้ในช่วงหลังนามหลวงพ่อสุโขสัมฤทธิ์ได้ลืมเลือนไปจากชาวบ้านรุ่นที่ทันเห็นในคราวที่ยังเป็นพระพุทธรูปปูน จนถึงกลางปี พ.ศ. 2537 มีการบูรณะอุโบสถวัดคุ้งตะเภา พระสงฆ์จึงได้อัญเชิญองค์หลวงพ่อสุโขสัมฤทธิ์เข้าประดิษฐานยังห้องลับของวัดจนถึงปี พ.ศ. 2552 จึงได้อัญเชิญองค์หลวงพ่อออกประดิษฐานให้ประชาชนสักการะเป็นการชั่วคราวในเทศกาลสงกรานต์ และในปี พ.ศ. 2553 วัดคุ้งตะเภาได้สร้างตู้กระจกนิรภัยพร้อมกับติดตั้งระบบรักษาความปลอดภัยอิเล็กทรอนิกส์บนอาคารศาลาการเปรียญวัดคุ้งตะเภา และได้อัญเชิญองค์หลวงพ่อขึ้นประดิษฐานในหอพระพุทธสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนีประสิทธิมงคล เปิดโอกาสให้ประชาชนสักการะเป็นการถาวรจนถึงปัจจุบัน

งานนมัสการหลวงพ่อสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนี

หลังจากที่วัดคุ้งตะเภาได้อัญเชิญหลวงพ่อสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนี กลับมาสู่แดนมาตุภูมิ (แถบนี้เคยเป็นหัวเมืองของกรุงสุโขทัยในอดีต) ก็มิได้มีการเปิดให้สักการบูชาและเปิดเผยองค์หลวงพ่ออย่างเป็นทางการเช่นในอดีต เนื่องจากปัญหาด้านการรักษาความปลอดภัย เพราะองค์หลวงพ่อเป็นโบราณวัตถุที่ประเมินค่ามิได้ และเป็นที่ปรารถนาสำหรับพ่อค้าวัตถุโบราณ ทำให้ทางวัดจำเป็นต้องเก็บงำปูชนียวัตถุโบราณสำคัญยิ่งของชาติชิ้นนี้ไว้ในสถานที่ต่าง ๆ ภายในวัดโดยไม่ได้เปิดเผยให้ประชาชนทั่วไปทราบมานานกว่า 60 ปี

ในปี พ.ศ. 2552 วัดคุ้งตะเภาจึงได้ทำการเปิดเผยองค์หลวงพ่อสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนี และเปิดโอกาสให้ทุกคนได้สักการะปิดทองสรงน้ำได้ถึงองค์พระ โดยจะอัญเชิญหลวงพ่อมาประดิษฐานให้ประชาชนทำการสักการบูชาได้เฉพาะในช่วง เทศกาลสงกรานต์เท่านั้น

จนในปี พ.ศ. 2553 วัดคุ้งตะเภาได้ทำการอัญเชิญองค์หลวงพ่อขึ้นประดิษฐานเป็นการถาวรบนอาคารศาลาการเปรียญวัดคุ้งตะเภา และเปิดโอกาสให้ประชาชนสักการะได้ทุกวัน

ได้รับถวายพระนามและยกย่องเป็นพระพุทธรูปสำคัญคู่บ้านคู่เมืองอุตรดิตถ์

ด้วยฤทธานุภาพความศักดิ์สิทธิ์ขององค์หลวงพ่อสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนี และพระพุทธศิลปะแบบสุโขทัย-เชียงแสน ที่หาชมได้ยากยิ่ง ทำให้ในปี พ.ศ. 2552 สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดอุตรดิตถ์ จึงได้ยกย่ององค์หลวงพ่อสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนีเป็นพระพุทธรูปโบราณศักดิ์สิทธิ์สำคัญคู่บ้านคู่เมือง 1 ใน 9 องค์ ของจังหวัดอุตรดิตถ์ และวัดคุ้งตะเภาถูกบรรจุให้เป็นหนึ่งในเส้นทางทำบุญไหว้พระ 9 วัด ของจังหวัดอุตรดิตถ์อีกด้วย[8]

สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร มีพระเมตตาธิคุณประทานพระนามให้หลวงพ่อสุโขสัมฤทธิ์ใหม่ เพราะเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองและเพื่อให้คล้องกับนามจังหวัดอุตรดิตถ์

และเนื่องในมหาศุภวาระมงคลดิถีสัมพุทธชยันตี ๒๖๐๐ ปี (การฉลอง 26 พุทธศตวรรษ แห่งการตรัสรู้) ในปี พ.ศ. 2555 สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร องค์พระสังฆบิดรแห่งคณะสงฆ์ไทย จึงได้มีพระเมตตาธิคุณเปลี่ยนถวายพระนามองค์หลวงพ่อสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนีใหม่ให้สอดคล้องกับชื่อจังหวัดอุตรดิตถ์ จากพระนามเดิม หลวงพ่อสุโขทัยสัมฤทธิ์ เป็น พระพุทธสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนี[2]

โดยปรากฏข้อความทรงยกย่องในหนังสือตอบการประทานพระนามจากสำนักเลขานุการสมเด็จพระสังฆราช[1] ว่า

...เนื่องด้วย... เป็นพระพุทธรูปโบราณสำคัญของจังหวัดอุตรดิตถ์ ปางมารวิชัย ศิลปะเชียงแสน-สุโขทัย เป็นพระพุทธรูปสำคัญคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดอุตรดิตถ์...

และการที่มีพระเมตตาธิคุณประทานเปลี่ยนพระนามใหม่ให้เป็น พระพุทธสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนี นั้น เพื่อให้คล้องกับพระนามเดิมที่รู้จักกันทั่วไป และต่อสร้อยให้คล้องกับนามจังหวัดอุตรดิตถ์ ซึ่งเป็นนามพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว[2] องค์หลวงพ่อสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนีจึงมีพระนามใหม่ตั้งแต่นั้นมา

สำหรับประวัติโดยละเอียดของหลวงพ่อสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนี สามารถดูเพิ่มเติมได้ที่ วิกิซอร์ซ เก็บถาวร 2008-06-02 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน

สถานที่ประดิษฐาน[แก้]

องค์หลวงพ่อสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนีประดิษฐานในตู้กระจกนิรภัย

ปัจจุบันหลวงพ่อสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนีประดิษฐานอยู่ที่ วัดคุ้งตะเภา หมู่บ้านคุ้งตะเภา ตำบลคุ้งตะเภา อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์ เดิมนั้น ทางวัดเก็บรักษาไว้ที่ห้องลับของทางวัด ทำให้ปกติมิได้เปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้านมัสการได้ถึงตัวองค์พระ เนื่องจากปัญหาด้านความปลอดภัย วัดคุ้งตะเภาจะอัญเชิญหลวงพ่อสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนีออกให้ประชาชนทั่วไปนมัสการได้ถึงตัวองค์พระเพียงวันเดียวในช่วงเทศกาลสงกรานต์เท่านั้น โดยหากเป็นนอกช่วงเทศกาลสงกรานต์ ผู้ประสงค์สักการะถึงองค์พระต้องทำหนังสือขออนุญาตถึงเจ้าอาวาสวัดคุ้งตะเภาอย่างเป็นทางการ ซึ่งจะต้องได้รับความเห็นชอบจากการพิจารณาของที่ประชุมพระสังฆาธิการและคณะกรรมการวัดคุ้งตะเภา ซึ่งจะได้รับอนุญาตให้เข้าชมสักการะได้เฉพาะราย และจัดชุดเข้าสักการะได้เป็นคราว ๆ ไปเท่านั้น

แต่ในปัจจุบัน วัดคุ้งตะเภาได้สร้างห้องตู้กระจกนิรภัย พร้อมทั้งติดตั้งระบบรักษาความปลอดภัยอิเล็กทรอนิกส์แล้ว จึงทำให้สามารถเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าสักการะได้ทุกวัน โดยปัจจุบันหลวงพ่อสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนีประดิษฐานอยู่ที่หอพระพุทธสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนีประสิทธิมงคล (อาคารทิศตะวันตก) บนอาคารศาลาการเปรียญเฉลิมพระเกียรติฯ วัดคุ้งตะเภา

คำกล่าวสักการบูชาหลวงพ่อสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนี[แก้]

คาถาบูชาหลวงพ่อสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนี[แก้]

นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
“อิมัสสะมิง เภตะระนะทีตีระอาราเม
อัคคะสิทธัตถะโลหะมะยัง สุโขทัยยัง นาม พุทธะปะฏิมัง
สิระสา นะมามิหัง
อิมิสสานุภาเวนะ สัพพะโสตถี ภะวันตุ เมฯ”

คำแปลคาถาบูชาหลวงพ่อสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนี[แก้]

“ข้าพเจ้า ขอบูชาองค์หลวงพ่อสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนี
ด้วยบุญญานุภาพ แห่งองค์หลวงพ่อสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนี
ขอความร่มเย็นเป็นสุข และความสำเร็จสัมฤทธิ์ดังปรารถนาทั้งมวล
จงบังเกิดมีแก่ข้าพเจ้าด้วยเทอญฯ”


เชิงอรรถ[แก้]

หมายเหตุ 1: อีกนัยหนึ่ง พระพุทธรูปนี้จัดเข้าในลักษณะพระพุทธรูปสำริด ศิลปะล้านนา ระยะที่ ๒ หมวด ๒ ราวครึ่งแรกพุทธศตวรรรษที่ ๑๘ สันนิษฐานว่าอาจได้รับอิทธิพลจากศิลปะสุโขทัย ระหว่างรัชกาลพระมหาธรรมราชาที่ ๑ (พระญาลิไท) ราว พ.ศ. ๑๘๙๐ - ๑๙๑๑[15] หรือได้รับอิทธิพลโดยตรงจากศิลปะลังกา สมัยโปโลนนารุวะ (พ.ศ. ๑๕๓๖ - ๑๗๗๙) และสมัยแยกอาณาจักรในช่วงระยะเวลาเดียวกับศิลปะสุโขทัย ซึ่งพระพุทธรูปในหมวดนี้ล้วนสร้างขึ้นอย่างปราณีตด้วยศิลปะชั้นสูง ผลงานประติมากรรมชิ้นเยี่ยมที่สะท้อนถึงลักษณะอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตน และสุนทรียภาพอันงดงาม [16]

หมายเหตุ 2: หลวงพ่ออู่ทอง ถูกโจรกรรมจากวัดดงสระแก้วไปในปี พ.ศ. 2522 ซึ่งปัจจุบันยังไม่ได้คืน


ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 1.5 หนังสือสำนักเลขานุการสมเด็จพระสังฆราช ที่ พ ๐๔๓๗/๒๕๕๕ ลงวันที่ ๑๖ พฤษภาคม ๒๕๕๕ เรื่อง ประทานนามพระพุทธรูป
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 สำนักงานเลขานุการสมเด็จพระสังฆราช. (๒๕๕๕). ประทานบัตรพระนามพระพุทธรูป พระพุทธสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนี. ลงวันที่ ๑๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๕
  3. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศกรมศิลปากร เรื่อง ขึ้นทะเบียนโบราณวัตถุ, เล่ม 104, ตอน 235, 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2530, หน้า 10-11.
  4. 4.0 4.1 4.2 4.3 เขียน ยิ้มศิริ และมานิต วัลลิโภดม. (2500). พุทธานุสรณ์. กรุงเทพฯ : (ม.ป.ท.).
  5. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศกรมศิลปากร เรื่อง ขึ้นทะเบียนโบราณวัตถุ, เล่ม 104, ตอน 235, 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2530, หน้า 10-11.
  6. ศูนย์พัฒนาปิโตรเลียมภาคเหนือ กรมการพลังงานทหาร. (2553). พระพุทธรูปคู่บ่อน้ำมันฝาง. [ออน-ไลน์]. เข้าถึงได้จาก http://www.npdc.mi.th/Npdc/buddha.htm เก็บถาวร 2010-06-17 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  7. เทวประภาส มากคล้าย. (2552). สาระการเรียนรู้ท้องถิ่น : ประเพณีวัฒนธรรมและพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของวัดและหมู่บ้านคุ้งตะเภา. อุตรดิตถ์ : พงษ์วิทยาการพิมพ์.
  8. 8.0 8.1 สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดอุตรดิตถ์. (2552). ข้อมูลโครงสร้างพื้นฐานเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาจังหวัดอุตรดิตถ์-พระพุทธรูปสำคัญในจังหวัดอุตรดิตถ์. [ออนไลน์]. แหล่งข้อมูล : http://utt.onab.go.th/download/serviceutt/128.doc เก็บถาวร 2011-05-13 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. เรียกข้อมูลเมื่อ 13-6-52
  9. สุพจน์ สิงห์สาย. (2542). 19 ศิลปินชั้นเยี่ยม (Artists of Distinction) . [ออน-ไลน์]. แหล่งข้อมูล : http://www.khonnaruk.com/html/19artist/19artist_02.html เก็บถาวร 2006-03-01 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  10. _______. (ม.ป.ป.). ประวัติพระพุทธรูปบูชาฉบับพิสดาร. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ลูก ส.ธรรมภักดี. หน้า 463, 549-551.
  11. “เรื่องกระแสพระบรมราชโองการ ให้อัญเชิญพระพทุธรูปจากสุโขทัยมาประดิษฐานไว้ ณ กรงุเทพฯ จ.ศ. 1156 (พ.ศ. 2337),” 2337. เอกสารต้นฉบับ: สมุดไทยดา อักษรไทย ภาษาไทย เส้นรงค์สีเหลือง. เลขทะเบียน: เลขที่ 9/ก. สถานที่เก็บ: ห้องเอกสารโบราณ หอสมุดแห่งชาติ.
  12. 12.0 12.1 12.2 วัดราชบุรณราชวรวิหาร. (2538). ประวัติวัดราชบูรณราชวรวิหาร และผลงานของพระเดชพระคุณพระราชพฤฒาจารย์ (เชียง อินฺทโชโต)[ลิงก์เสีย]. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์สหธรรมิก. หน้า (12) - (14), 13, 21, 23-24, 81
  13. กระทรวงศึกษาธิการ. (2488, 30 กรกฎาคม). ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง ยุบเลิกพระอารามหลวง.
  14. หวน พินธุพันธ์. (2521). อุตรดิตถ์ของเรา. กรุงเทพฯ: กรุงสยามการพิมพ์. หน้า 90
  15. หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล. (๒๕๔๖). ศิลปะในประเทศไทย. กรุงเทพ : โรงพิมพ์มหาวิทยาลยัยธรรมศาตร์. หน้า ๒๒
  16. สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร. (๒๕๕๑). วัดเบญจมบพิตรและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ วัดเบญจมบพิตร พระพุทธรุปสำคัญ ณ วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม. กรุงเทพฯ : รุ่งศิลป์การพิมพ์. หน้า ๑๕

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]