ข้ามไปเนื้อหา

ต้นบุนนาควัดคุ้งตะเภา

นี่คือบทความคุณภาพ คลิกเพื่อดูรายละเอียดเพิ่มเติม
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ต้นบุนนาควัดคุ้งตะเภา

ชื่อต้นไม้ ต้นบุนนาควัดคุ้งตะเภา
ชื่อท้องถิ่น บุนนาคใหญ่, บุนนาคคู่วัด
สถานะ รุกขมรดกระดับชาติ (พ.ศ. 2562)[1]
ที่ตั้ง วัดคุ้งตะเภา จังหวัดอุตรดิตถ์
พิกัดภูมิศาสตร์ 17°39′14″N 100°08′22″E / 17.653906°N 100.139419°E / 17.653906; 100.139419
สปีชีส์ M. ferrea
ชื่อทวินาม Mesua ferrea
ปลูกเมื่อ พ.ศ. 2313 (ตามความเชื่อ)
การขึ้นทะเบียน กระทรวงวัฒนธรรม
เจ้าของ วัดคุ้งตะเภา
เว็บไซต์ sites.google.com/site/watkungtaphao/

ต้นบุนนาควัดคุ้งตะเภา เป็นต้นไม้ขนาดใหญ่ที่ได้รับประกาศขึ้นทะเบียนให้เป็นรุกขมรดกระดับประเทศโดยกระทรวงวัฒนธรรมในปี พ.ศ. 2562[1] ไม้ต้นมีอายุประมาณ 240 ปี จากขนาดเส้นรอบวง 3–4 เมตร ความสูง 25 เมตร ตำนานท้องถิ่นเชื่อว่าสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงปลูกไว้เมื่อแรกสร้างวัดคุ้งตะเภาใน พ.ศ. 2313 นอกจากนี้ยังได้รับยกย่องให้เป็นบุนนาคพญาในวัดที่ใหญ่และเก่าแก่ที่สุดในหัวเมืองเหนือของสยาม[2]

ประวัติ

[แก้]

บุนนาคนี้ยืนต้นอยู่ในวัดคุ้งตะเภา การปลูกต้นบุนนาคไว้ในวัดเป็นขนบการปลูกสมุนไพรเกสรทั้ง 5 ไว้ในวัดตามจารีตสุโขทัยโบราณจากหลักฐานในศิลาจารึกสุโขทัย เพื่อให้เป็นสมุนไพรรักษาโรคและเป็นต้นไม้มงคลประจำอาราม ที่ตั้งนี้ยังอยู่บริเวณริมแม่น้ำน่านสายเก่าอันเป็นที่ตั้งวัดคุ้งตะเภาเดิมในสมัยธนบุรี ซึ่งเป็นเส้นทางเดินทัพของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเมื่อคราวยกทัพมาปราบปรามชุมนุมเจ้าพระฝาง ในตำบลที่ตั้งพลับพลารับเสด็จพระตำหนักค่ายหาดสูงตามพระราชพงศาวดาร[3] วัดคุ้งตะเภาปรากฏหลักฐานการสร้างวัดในปีเดียวกันนั้นหลังการชำระสงฆ์คราวปราบชุมนุมเจ้าพระฝางใน พ.ศ. 2313[4] และในบริเวณโดยรอบต้นบุนนาค ยังพบเศษอิฐและกระเบื้องดินเผาโบราณกระจัดกระจายอยู่ทั่วไปในระดับชั้นดินอีกด้วย[5]

ตำนานเล่าสืบมาว่า สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีปลูกถวายไว้บูชาพระรัตนตรัยตั้งแต่แรกสร้างวัด พร้อมกับต้นโพธิ์สามเส้าที่ปลูกด้านริมแม่น้ำน่านด้านทิศเหนือของวัด (ปัจจุบันเหลือ 2 ต้น) โดยพระองค์ได้ทรงปลูกบุนนาคไว้ในทิศตะวันตกของวัดติดริมแม่น้ำน่านสายเก่า การปลูกไว้ในทิศดังกล่าวเป็นทิศปลูกต้นบุนนาคตามตำราโบราณ เพื่อให้อยู่คู่วัดปกป้องคุ้มครองและเป็นสิริมงคลสำหรับวัดและชาวบ้าน

บริเวณต้นบุนนาคเมื่อประมาณ 50 ปีก่อน เคยมีต้นลั่นทม ต้นพิกุล และต้นมะม่วงใหญ่ขนาดหลายคนโอบอยู่ใกล้กัน แต่ก็ล้มลงไปนานแล้ว ปัจจุบันนอกจากต้นโพธิ์สามเส้าโบราณคู่วัด ต้นบุนนาคนี้เป็นต้นไม้โบราณเพียงต้นเดียวในบริเวณท่าแม่น้ำน่านเก่าที่ยังคงยืนต้นอยู่[2] ในช่วงก่อนน้ำท่วมใหญ่เมืองอุตรดิตถ์ ปี พ.ศ. 2493 ที่ทำให้ชาวบ้านตัดสินใจย้ายหมู่บ้านจากริมน้ำน่านขึ้นมาอยู่บนที่ราบด้านบนในระดับเดียวกับวัด ต้นบุนนาคต้นนี้เคยอยู่บริเวณหัวสะพานไม้โบราณที่ทอดข้ามบุ่งน้ำน่านเก่าไปยังบ่อน้ำโบราณของวัด ชาวบ้านจะเดินทางมาจากชุมชนริมน้ำน่าน และใช้ต้นบุนนาคนี้เป็นจุดพบปะ นั่งพักผ่อนสังสรรค์กัน ก่อนจะพาไปทำบุญในหอฉันและศาลาหลังเก่าบริเวณต้นตาลใหญ่[2]

ปัจจุบันหลังแม่น้ำน่านเปลี่ยนเส้นทางห่างจากท่าน้ำวัดเดิมไปกว่า 1 กิโลเมตร และมีการตัดถนนสายเอเชียในประมาณ พ.ศ. 2520 ทำให้หน้าวัดกลายเป็นหลังวัด ต้นบุนนาคหน้าวัดจึงเปลี่ยนสถานะมาอยู่หลังวัด พร้อม ๆ กับการสิ้นสุดเส้นทางสัญจรทางน้ำ และทางบกโบราณ เส้นเลียบน้ำน่าน บุ่งวังงิ้ว-พระฝาง ที่เคยใช้สัญจรกันมาตั้งแต่สมัยธนบุรี เหลือเพียงเรื่องเล่าในความทรงจำของปู่ย่าตายาย และต้นบุนนาคโบราณที่ยังยืนต้น เป็นประจักษ์พยานความเก่าแก่ทรงคุณค่าของชุมชนและวัดคุ้งตะเภามาจนปัจจุบัน[5]

อายุ

[แก้]

จากการประเมินอายุของเจ้าหน้าที่ป่าไม้สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดอุตรดิตถ์ และนักวิชาการด้านพฤกษศาสตร์จากมหาวิทยาลัยนเรศวร ซึ่งได้วัดขนาดต้นบุนนาควัดคุ้งตะเภาในต้นปี พ.ศ. 2562 พบเส้นรอบวงวัดจากพื้นดิน 1.30 เมตร ตามหลักวิชาการ ได้เส้นรอบวง 3.6 เมตร ความสูง 25–30 เมตร ทรงพุ่มกว้าง 8–10 เมตร โดยคำนวณจำนวนปีของบุนนาควัดคุ้งตะเภาโดยการนำค่าประมาณตามหลักวิชาการ ได้ค่าเท่ากับ 240 ปี ใกล้เคียงกับอายุของวัดตามหลักฐานลายลักษณ์อักษรคือ ปี พ.ศ. 2313[2]

การขึ้นทะเบียน

[แก้]

ต้นบุนนาควัดคุ้งตะเภาได้รับการพิจารณาจากกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ประกาศยกย่องให้เป็น 1 ใน 88 ต้นไม้รุกขมรดกของแผ่นดิน โดยผ่านหลักเกณฑ์การพิจารณาให้เป็นต้นไม้รุกขมรดกที่มีคุณค่าของชาติ ทั้งในด้านอายุ ความหายาก และขนาด รวมถึงสุนทรียศาสตร์ พฤกษศาสตร์ นิเวศวิทยา และคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ที่มีลักษณะเฉพาะเป็นเอกลักษณ์ มีการประกาศขึ้นทะเบียนเมื่อวันที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2562[1] จัดเป็นเป็น 1 ใน 4 รุกขมรดกสำคัญของจังหวัดอุตรดิตถ์[6]

ระเบียงภาพ

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 1.2 "ประกาศกรมส่งเสริมวัฒนธรรม เรื่อง ประกาศผลการคัดเลือกต้นไม้ " รุกข มรดกของแผ่นดิน" ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๒ ลงวันที่ ๑๑ เมษายน พ.ศ. ๒๕๖๒" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2019-04-11. สืบค้นเมื่อ 2019-04-11.
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 ________. (2562). รายงานการสำรวจข้อมูลต้นไม้ "รุกข มรดกของแผ่นดิน" ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562. อุตรดิตถ์ : สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดอุตรดิตถ์. (อัดสำเนา).
  3. ธีระวัฒน์ แสนคำ. (2558). 'สวางคบุรีศรีคุ้งตะเภา : สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชกับสมรภูมิสวางคบุรี-คุ้งตะเภา อนุสรณ์ 245 ปี แห่งการสถาปนาวัดคุ้งตะเภา'. อุตรดิตถ์ : สำนักงานสภาวัฒนธรรมจังหวัดอุตรดิตถ์ กระทรวงวัฒนธรรม. ISBN 978-616-543-334-1 หน้า 78-79
  4. กรมการศาสนา. (2531). ประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร เล่ม ๗. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์การศาสนา. หน้า 34.
  5. 5.0 5.1 พระมหาเทวประภาส วชิรญาณเมธี. (2560). 'สารพันบันทึกเล่าพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดคุ้งตะเภา : ประเพณี วัฒนธรรม ความเชื่อ และภูมิปัญญาท้องถิ่น'. กรุงเทพฯ : กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม. ISBN 978-616-543-4522. หน้า 47-51
  6. "ประกาศกรมส่งเสริมวัฒนธรรม เรื่อง ประกาศผลการคัดเลือกต้นไม้ "รุกข มรดกของแผ่นดิน ใต้ร่มพระบารมี" ลงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2019-04-11. สืบค้นเมื่อ 2019-04-11.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]