โรงเรียนบ้านหาดเสือเต้น

พิกัด: 17°39′32″N 100°10′57″E / 17.658931°N 100.182629°E / 17.658931; 100.182629
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
โรงเรียนบ้านหาดเสือเต้น
Ban Hat Suea Ten School
หสต.
ที่ตั้ง
แผนที่
ข้อมูล
ชื่ออื่นส.ต.ม.
คำขวัญอตฺตานํ ทมยนฺติ ปณฺฑิตา
บัณฑิตย่อมฝึกฝนตน
สถาปนาพ.ศ. 2496
หน่วยงานกำกับกระทรวงศึกษาธิการ (โรงเรียนรัฐ)
สพฐ.อต.เขต 1
รหัสศธ 03180.130
ผู้อำนวยการ
นายอุดม รัตนสังข์ ค.บ., ค.ม. (การบริหารการศึกษา) [1][2]
สี███ สีน้ำเงิน หมายถึง ความรู้, ความสง่างามด้วยความรู้
███ สีแสด หมายถึง ความมีคุณธรรมในจิตใจ
เพลงมาร์ชหาดเสือเต้น
เว็บไซต์www.hstschool.org

โรงเรียนบ้านหาดเสือเต้น เป็นโรงเรียนประจำหมู่บ้านหาดเสือเต้น ตั้งอยู่ที่ บ้านหาดเสือเต้น ตำบลคุ้งตะเภา อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์ สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาอุตรดิตถ์เขต 1 สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ โรงเรียนบ้านหาดเสือเต้น เป็นสถานศึกษารางวัลโรงเรียนพระราชทานในระดับประถมศึกษา[3][4] ปัจจุบันโรงเรียนแบ่งการเปิดการสอนเป็น ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ระดับประถมศึกษา และระดับก่อนประถมศึกษา

โรงเรียนบ้านหาดเสือเต้น เดิมชื่อว่า "โรงเรียนบ้านงิ้วงาม 2" เปิดทำการเรียนการสอนครั้งแรกในปี พ.ศ. 2496 โดยอาศัยศาลาการเปรียญวัดหาดเสือเต้นเป็นสถานที่เรียน (ได้อาศัยเรียนอยู่ที่วัดหาดเสือเต้นจนถึง พ.ศ. 2512 จึงย้ายมายังที่ตั้งปัจจุบัน)

ปัจจุบันโรงเรียนบ้านหาดเสือเต้นเปิดทำการเรียนการสอนเป็น 3 ระดับชั้น คือระดับก่อนประถมศึกษา ระดับประถมศึกษา และระดับมัธยมศึกษาตอนต้น มีนายอุดม รัตนสังข์ ดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านหาดเสือเต้นคนปัจจุบัน[5]

ประวัติ[แก้]

ปัจจุบันโรงเรียนบ้านหาดเสือเต้นเปิดการเรียนการสอนถึงระดับมัธยมศึกษาตอนต้น

โรงเรียนบ้านหาดเสือเต้น ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2496 โดยมีผู้ใหญ่มี อินยา เป็นหัวหน้าขอแยกนักเรียนจากโรงเรียนบ้านงิ้วงามมาเพื่อขอจัดตั้งเป็นโรงเรียนสาขาของโรงเรียนบ้านงิ้วงาม โดยให้ชื่อว่า โรงเรียนบ้านงิ้วงาม ๒ โดยอาศัยศาลาการเปรียญวัดหาดเสือเต้นเป็นสถานที่เรียน ต่อมาในปี พ.ศ. 2512 ได้รับงบประมาณในการสร้างอาคารเรียนหลังใหม่จากองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุตรดิตถ์ ให้สร้างอาคารเรียนถาวรแบบ ป.๑ ฉ. ใต้ถุนต่ำ 3 ห้องเรียน ในวงเงิน 75,000 บาท โดยสร้างในพื้นที่ ๆ กรรมการศึกษาโรงเรียนมอบให้ จำนวน 27 ไร่ 2 งาน 50 ตารางวา ห่างจากศาลาการเปรียญวัดหาดเสือเต้น ประมาณ 500 เมตร

วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2499 ทางราชการได้อนุมัติให้แยกจากโรงเรียนบ้านงิ้วงามมาจัดตั้งเป็นเอกเทศ ให้ชื่อตามนามหมู่บ้านว่า โรงเรียนบ้านหาดเสือเต้น

ประวัติการสร้างอาคารเรียน

  • พ.ศ. 2512 สร้างอาคารเรียนแบบ ป.1 ฉ. ใต้ถุนต่ำ 3 ห้องเรียน ใช้งบประมาณ 85,000 บาท
  • พ.ศ. 2512 เดือนกันยายน ได้รับงบประมาณสร้างต่อเติมแบบเดิม จำนวน 2 ห้องเรียน ใช้งบประมาณ 44,000 บาท
  • พ.ศ. 2516 ได้รับงบประมาณสมทบสร้างหอประชุมแบบพิเศษ ใช้งบประมาณ 10,500 บาท
  • พ.ศ. 2517 ได้รับงบประมาณสร้างอาคารเรียนแบบ ป.1 ฉ. ใต้ถุนต่ำ 3 ห้องเรียน ใช้งบประมาณ 120,000 บาท
  • พ.ศ. 2518 ได้รับงบประมาณสร้างโรงอาหารแบบ 312 ใช้งบประมาณ 60,000 บาท
  • พ.ศ. 2519 ได้รับงบประมาณสนับสนุนต่อเติมพื้นหอประชุม ใช้งบประมาณ 10,000 บาท
  • พ.ศ. 2520 ได้รับงบประมาณสร้างอาคารเรียนแบบ ป.1 ฉ ใต้ถุนต่ำ จำนวน 2 ห้องเรียน ในจำนวนเงิน 190,000 บาท
  • พ.ศ. 2521 ได้รับงบประมาณต่อเต้มอาคารเรียนหลังที่ 2 จำนวน 1 ห้องเรียน ในจำนวนเงิน 95,000 บาท
  • พ.ศ. 2524 ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดสร้างสนามบาสเกตบอล งบประมาณ 26,000 บาท[6]
  • พ.ศ. 2524 ได้รับงบประมาณจาก กรช. สร้างถังน้ำฝน 3 ลูก สิ้นงบประมาณ 20,000 บาท
  • พ.ศ. 2525 ได้รับงบประมาณจาก สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร บุญยง วัฒนพงษ์ สร้างรั้ว คสล. งบประมาณ 28,500 บาท
  • พ.ศ. 2525 ได้รับงบประมาณสนับสนุนรั้วจากกรรมการสถานศึกษาช่วยต่อเติมเพื่อสมทบกับงบประมาณจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร บุญยง วัฒนพงษ์
  • พ.ศ. 2536 ได้รับงบประมาณจากสปช. สร้างอาคารอเนกประสงค์ งบประมาณ 390,000 บาท
  • พ.ศ. 2537 ได้รับงบประมาณจากโรงงานน้ำตาลไทยเอกลักษณ์สร้างประตูรั้วเหล็ก งบประมาณ 60,000 บาท
  • พ.ศ. 2538 ได้รับงบประมาณจาก สปช.สร้างสนามบาสเกตบอล งบประมาณ 128,000 บาท
  • พ.ศ. 2538 ได้รับงบประมาณจาก สปช.สร้างห้องน้ำแบบ สปช. 601 จำนวน 2 ห้อง งบประมาณ 50,000 บาท
  • พ.ศ. 2549 สร้างเรือนดนตรีไทยและศาลากลางน้ำ ไม่ได้ใช้งบประมาณ โดยรื้อไม้เก่าจากบ้านพักครู โรงเรียนบ้านหาดเสือเต้นและโรงเรียนชุมชนเมือง
  • พ.ศ. 2550 สร้างห้องเรียนธรรมชาติ งบประมาณ 12,700 บาท
  • พ.ศ. 2550 สร้างห้องน้ำสำหรับนักเรียนมัธยมฯ หญิง และสวนหย่อม โดยอาศัยเงินกองทุนและคณะครูมัธยมฯ บริจาค
  • พ.ศ. 2550 ปูกระเบื้องห้องเรียน อาคารมัธยมศึกษาปีที่ 1-3 ไม่ได้ใช้งบประมาณของทางราชการ โดยอาศัยเงินบริจาคจากคณะครูและนักเรียน
  • พ.ศ. 2550 ทาสีอาคารเรียนทั้งหมด โดยใช้เงินกองทุนและเงินบริจาคจากคณะครู งบประมาณ 29,954 บาท
  • พ.ศ. 2550 ปูกระเบื้องโรงอาหาร โดยใช้งบประมาณ, เงินกองทุน และรับบริจาคกระเบื้องบางส่วนจากผู้ใหญ่สนธิ จันทร์คำ
นักเรียนโรงเรียนบ้านหาดเสือเต้น
  • พ.ศ. 2550 ได้รับเงินสนับสนุนจาก คุณมนูญ มนูสุข ผู้พิพากษาศาลจังหวัดอุตรดิตถ์ จัดสร้างห้องน้ำสำหรับนักเรียนประถม 1-2 เป็นเงิน 20,000 บาท และครูลำเนาว์ฯ บริจาคปูนเทพื้น จำนวน 20,000 บาท
  • พ.ศ. 2550 สร้างเรือนจอดรถจักรยานนักเรียนมัธยมฯ โดยใช้เงินกองทุน, เงินบริจาคจากคณะผู้บริหารโรงเรียน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน และเงินบริจาคของนายทอง อ่อนจันทร์
  • พ.ศ. 2551 ได้รับงบประมาณซ่อมแซมอาคารเรียน ป.1 ฉ จาก สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นเงิน 90,000 บาท จัดทำแล้วเสร็จ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2551
  • พ.ศ. 2551 จัดทำสถานที่ติดตั้งระบบประปาไฟฟ้าและปรับปรุงอาคารโภชนาการเป็นเงิน 70,000 บาท โดยไม่ใช้งบประมาณของทางราชการ เมื่อ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2551
  • พ.ศ. 2551 ได้รับการจัดสรรระบบประปาไฟฟ้าจากประเทศญี่ปุ่น โดยการประสานงานของสโมสรโรตารี่ ศิลาอาสน์ เป็นเงิน 100,000 บาท[7]

หัวหน้าสถานศึกษา[แก้]

ผู้บริหารสถานศึกษา
รายชื่อ ระยะเวลาอยู่ในตำแหน่ง

นายธารา น่วมศิริ ไม่ทราบ - พ.ศ. 2551
นายอุดม รัตนสังข์ พ.ศ. 2551 - ปัจจุบัน

สัญลักษณ์โรงเรียนบ้านหาดเสือเต้น[แก้]

พระพุทธรูปประจำโรงเรียนบ้านหาดเสือเต้น[แก้]

พระพุทธอนันตปัญญามหาศิริธรรโมภาส พระพุทธรูปประจำโรงเรียนบ้านหาดเสือเต้น ประดิษฐานในมณฑป

พระพุทธรูปประจำโรงเรียนบ้านหาดเสือเต้น เป็นพระพุทธรูปนั่งปางมารวิชัย หน้าตักเก้านิ้ว มีพุทธลักษณะสมัยสุโขทัยตอนปลายหล่อในสมัยรัชกาลปัจจุบันด้วยโลหะทองเหลืองผิวบริสุทธิ์ ปลายองคุลีเสมอกันทุกองค์ ชายสังฆาฏิเป็นง่ามเขี้ยวตะขาบจรดพระนาภี ตามแบบอย่างพระพุทธรูปสมัยสุโขทัย องค์พระประดิษฐานอยู่ภายในมณฑปพระพุทธรูปประธานประจำโรงเรียนใกล้กับเสาธงชาติด้านหน้าอาคารราชพฤกษ์โรงเรียนบ้านหาดเสือเต้น เป็นสัญลักษณ์ทางพระพุทธศาสนาประจำโรงเรียนที่สำคัญประการหนึ่ง องค์พระเป็นประธานสำหรับประกอบพิธีบูชาพระรัตนตรัยก่อนเข้าห้องเรียนของนักเรียนประจำวันทุกวัน พระพุทธรูปองค์นี้ได้รับการถวายพระนามว่า "พระพุทธอนันตปัญญามหาศิริธรรโมภาส" พระนามพระพุทธรูปเป็นมงคลนามสื่อความหมายถึง "พระพุทธเจ้าผู้ทรงเปล่งซึ่งพระประทีปแห่งธรรมคือความเป็นมหามิ่งมงคลอันเกิดจากการเป็นผู้ทรงกอรปไปด้วยพระปัญญาคุณอันไม่มีที่สิ้นสุด"

ตราสัญลักษณ์โรงเรียนบ้านหาดเสือเต้น[แก้]

ไฟล์:Ban Hat Suea Ten School logo2.jpg
ตราสัญลักษณ์โรงเรียนบ้านหาดเสือเต้น

ตราสัญลักษณ์โรงเรียนบ้านหาดเสือเต้น เป็นรูปวงรี ภายในมีข้อความ สตม แสดงอักษรย่อของโรงเรียน ส, ต หมายถึงบ้านหาดเสือเต้น และ ม หมายถึง เมือง อักษรทั้งสามย้อมสีน้ำเงินและสีแสด อันเป็นสีประจำโรงเรียน ด้านล่างอักษรกรอบในมีช่อชัยพฤกษ์ หมายถึงปัญญา แถบรอบนอกด้านบนเป็นชื่อโรงเรียน ด้านล่างเป็นพุทธภาษิตภาษาบาลีคำขวัญประจำโรงเรียนอันมีที่มาจากพระไตรปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท, มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ และขุททกนิกาย เถรคาถา ว่า "อตฺตานํ ทมยนฺติ ปณฺฑิตา" แปลว่า บัณฑิตย่อมฝึกตน[8]

คำขวัญโรงเรียนบ้านหาดเสือเต้น[แก้]

คำขวัญโรงเรียนบ้านหาดเสือเต้น เป็นพระพุทธศาสนสุภาษิตภาษาบาลีอันมีที่มาจากพระไตรปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท, มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ และขุททกนิกาย เถรคาถา ว่า

อตฺตานํ ทมยนฺติ ปณฺฑิตา
บัณฑิตย่อมฝึกตน

— ขุ. ธ. ๒๕/๒๕

หมายถึงนักเรียนโรงเรียนบ้านหาดเสือเต้น เข้ามาศึกษาเพื่อฝึกหัดตนทั้งกายและใจให้กลายเป็นผู้ที่เรียกว่าบัณฑิตที่แท้จริง คือเป็นผู้มีความรู้วิชาการควบคู่กับคุณธรรมในจิตใจ เป็นคนดีของสังคมได้ในอนาคต

เพลงประจำโรงเรียน[แก้]

มาร์ชหาดเสือเต้น
เพลงประจำโรงเรียน มาร์ชหาดเสือเต้น
  • หากไม่ได้ยินเสียง โปรดดูเพิ่มที่ วิกิพีเดีย:วิธีใช้สื่อ
  • ปัจจุบัน เพลงประจำโรงเรียนบ้านหาดเสือเต้น คือเพลง มาร์ชหาดเสือเต้น เป็นบทเพลงประจำโรงเรียนแห่งนี้ โดยมีทำนองแบบเพลงมาร์ช และเนื้อหากล่าวถึงความหมายของสีประจำโรงเรียนและความสามัคคี

    สีประจำโรงเรียน[แก้]

    • ██ น้ำเงิน หมายถึง ความสุขสงบร่มเย็น
    • ██ แสด หมายถึง ปัญญา ความรู้

    พื้นที่ของสถานศึกษา[แก้]

    อาณาบริเวณของสถานศึกษา[แก้]

    โรงเรียนบ้านหาดเสือเต้น ตั้งอยู่หมู่ที่ 6 ตำบลคุ้งตะเภา อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์ รหัสโรงเรียน 690013 ตัวโรงเรียนตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำน่าน ห่างจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาอุตรดิตถ์เขต 1 เป็นระยะทาง 18 กิโลเมตร ห่างจากศาลากลางจังหวัดอุตรดิตถ์ ประมาณ 20 กิโลเมตร โรงเรียนบ้านหาดเสือเต้น ตั้งอยู่บนที่ราชพัสดุ มีพื้นที่และกรรมสิทธิ์ถือครองที่ดินจำนวน 27 ไร่ 2 งาน 50 ตารางวา เลขที่กรรมสิทธิ์ อต.190 นส.3ก เลขที่ 348 (ที่ราชพัสดุ) โดยที่ดินผืนนี้ได้รับบริจาคจากชาวบ้านในหมู่บ้านจำนวน 4 แปลง คือ ที่ดินของนายดอกไม้ นางละมูล รุ่งเชตุ, นายเนียม นางบุญชอบ ดอนคง, นายแหนง นางลูกอิน ดอนคง และนายพยอม จินดาประทุม

    โรงเรียนมีบริเวณพื้นที่ทั้งหมด 27 ไร่ 2 งาน 50 ตารางวา อาณาเขตส่วนใหญ่ใช้เป็นพื้นที่ในการจัดการศึกษาสำหรับนักเรียน แบ่งเป็น

    • พิ้นที่สนามกีฬา 4 ไร่ 2 งาน ใช้เป็นสนามกีฬาฟุตบอล, วอลเลย์บอล, ตะกร้อ และเปตอง
    • พื้นที่ตั้งอาคารเรียนและอาคารประกอบ จำนวน 5 ไร่ เป็นอาคารไม้ 2 หลัง อาคารปูนชั้นเดียว 1 หลัง อาคารเอนกประสงค์ 1 หลัง และโรงอาหารไม้ 1 หลัง
    • พื้นที่สำหรับการเรียนการเกษตรจำนวน 3 ไร่ ใช้ปลูกพืชผักสวนครัว, พืชล้มลุก และไม้ยืนต้น
    • พื้นที่สำหรับเลี้ยงปลา จำนวน 4 ไร่ แบ่งเป็นบ่อเลี้ยงปลา 3 บ่อ
    • พื้นที่สำหรับทำนาเพื่อการศึกษา จำนวน 6 ไร่
    • พื้นที่สำหรับจัดกิจกรรมสิ่งแวดล้อม จำนวน 2 ไร่
    • พื้นที่สำหรับจัดการศึกษาธรรมชาติและสมุนไพร จำนวน 2 ไร่ 30 ตารางวา
    ภาพพาโนรามาโรงเรียนบ้านหาดเสือเต้น

    อาคารสถานที่[แก้]

    • อาคารเรียนแบบ ป.1 ฉ. ใต้ถุนต่ำ 5 ห้องเรียนจำนวน 1 หลัง
    • อาคารเรียนแบบ ป.1 ฉ. ใต้ถุนต่ำ 3 ห้องเรียน จำนวน 1 หลัง
    • หอประชุมใหญ่ จำนวน 1 หลัง
    • โรงอาหารแบบ 312 จำนวน 1 หลัง
    • ห้องน้ำ 3 หลัง

    การศึกษา[แก้]

    นักเรียนโรงเรียนบ้านหาดเสือเต้นในชุดสีประจำโรงเรียน

    โรงเรียนบ้านหาดเสือเต้น มีเขตพื้นที่บริการนักเรียนจำนวน 3 หมู่บ้าน คือ หมู่ 5 หมู่ 6 และหมู่ 8 บ้านหาดเสือเต้น ตำบลคุ้งตะเภา อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์ จำนวนหลังคาเรือนตั้งอยู่ห่างจากโรงเรียน ตั้งแต่ประมาณ 100 เมตร ถึง 3000 เมตร มีนักเรียนเดินทางมาโรงเรียนโดยเดินเท้าและใช้จักรยานยืมเรียน การสัญจรภายในหมู่บ้านบางพื้นที่มีปัญหาในช่วงฤดูฝน

    โรงเรียนบ้านหาดเสือเต้น มีนำเรียนจากหมู่บ้านใกล้เคียงเข้ามาศึกษาเล่าเรียน ทั้งจากหมู่ 4 บ้านคุ้งตะเภา หมู่ 5 บ้านหัวหาด หมู่7 บ้านบ่อพระ และหมู่ 9 บ้านหนองบัว (ตำบลผาจุก อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์) รวมจำนวนประชากรในเขตพื้นที่บริการทั้งชายหญิงประมาณ 1,700 คน จำนวนหลังคาเรือน 350 หลังคาเรือน[9]

    การจัดการศึกษา[แก้]

    การเปิดการเรียนการสอนในช่วงชั้นต่าง ๆ

    • พ.ศ. 2512 เปิดการเรียนการสอนระดับประถมศึกษา 1-6
    • พ.ศ. 2534 ได้ขอเปิดทำการสอนขยายโอกาส ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1
    • พ.ศ. 2535 ได้ขอเปิดทำการสอนขยายโอกาส ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2
    • พ.ศ. 2536 ได้ขอเปิดทำการสอนขยายโอกาส ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3

    การรับบุคคลเข้าศึกษา[แก้]

    คณะครูนักเรียนและผู้บริหารโรงเรียน โรงเรียนบ้านหาดเสือเต้น ปีการศึกษา 2553

    ระดับก่อนเกณฑ์การศึกษา[แก้]

    โรงเรียนบ้านหาดเสือเต้น รับนักเรียนระดับก่อนเกณฑ์การศึกษาจากหมู่บ้านหาดเสือเต้นทั้ง 2 หมู่

    ระดับประถมศึกษา[แก้]

    ระดับประถมศึกษา โรงเรียนบ้านหาดเสือเต้นรับนักเรียนในเขตพื้นที่บริการนักเรียนจำนวน 3 หมู่บ้าน คือ หมู่ 5 หมู่ 6 และหมู่ 8 บ้านหาดเสือเต้น ตำบลคุ้งตะเภา อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์

    ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น[แก้]

    ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น โรงเรียนบ้านหาดเสือเต้นรับนักเรียนในเขตพื้นที่บริการนักเรียนจำนวน 3 หมู่บ้าน คือ หมู่ 5 หมู่ 6 และหมู่ 8 บ้านหาดเสือเต้น ตำบลคุ้งตะเภา อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์

    การสำเร็จการศึกษา[แก้]

    ผู้เรียนสำเร็จการศึกษาระดับประถมศึกษาปีที่ 6 จะได้รับอนุมัติประกาศนียบัตรรับรองการสำเร็จการศึกษาระดับประถมศึกษา และผู้เรียนที่สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาปีที่ 3 จะได้ประกาศนียบัตรรับรองการสำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้น

    อื่น ๆ[แก้]

    โรงเรียนรางวัลพระราชทาน[แก้]

    ขบวนอัญเชิญประกาศนียบัตรรางวัลพระราชทาน โรงเรียนบ้านหาดเสือเต้น พ.ศ. 2550

    โรงเรียนบ้านหาดเสือเต้น เป็นโรงเรียนระดับพื้นฐานในเขตชนบทหนึ่งในไม่กี่แห่งของโรงเรียนในจังหวัดอุตรดิตถ์ที่ได้รับรางวัลโรงเรียนพระราชทานในระดับประถมศึกษาถึง 2 สมัย โดยครั้งแรกได้รับพระราชทานรางวัลโรงเรียนพระราชทาน ประเภทโรงเรียนประถมศึกษาขนาดเล็ก ในปี พ.ศ. 2530 ครั้งที่สองได้รับพระราชทานรางวัล (ประภทเดียวกัน) ในปี พ.ศ. 2550

    ปัจจุบันโรงเรียนบ้านหาดเสือเต้นจัดโต๊ะหมู่สำหรับประดิษฐานประกาศนียบัตรรางวัลโรงเรียนพระราชทานไว้ภายในห้องประชุมโรงเรียนบ้านหาดเสือเต้น และได้มีการจัดติดตั้งป้ายแสดงข้อความโรงเรียนรางวัลพระราชทานไว้บริเวณหน้าโรงเรียน (ประตูด้านทิศตะวันตก)

    โรงเรียนคุณธรรมชั้นนำระดับดีมาก[แก้]

    พระสงฆ์เข้าสอนศีลธรรมในโรงเรียนบ้านหาดเสือเต้น

    โรงเรียนบ้านหาดเสือเต้น ได้เข้าร่วมโครงการโรงเรียนวิถีพุทธตามโครงการของกรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม ในปี พ.ศ. 2548 และมีการจัดกิจกรรมส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรมด้านพระพุทธศาสนามาโดยตลอด รวมทั้งได้รับความร่วมมือจากคณะสงฆ์ตำบลคุ้งตะเภา นำพระสงฆ์เข้าสอนศีลธรรมในสถานศึกษา ซึ่งเป็นโครงการในดำริของพระสมุห์สมชาย จีรปุญฺโญ มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2542 ซึ่งมีนักเรียนสอบไล่ได้ธรรมศึกษาจำนวนมากในแต่ละปี ทำให้ในปี พ.ศ. 2550 โรงเรียนบ้านหาดเสือเต้น ได้รับเลือกให้เข้ารับการประเมินคุณภาพการเรียนการสอนและการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ทางพระพุทธศาสนา จากส่วนธรรมนิเทศ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย โดยได้ผลการประเมินผ่านใน ระดับคุณภาพดีมาก (ระดับสูงสุด) ซึ่งเป็นหนึ่งในไม่กี่โรงเรียนในภาคเหนือตอนล่างที่ได้รับคัดเลือกให้เข้ารับการประเมินและสามารถผ่านการประเมินได้ในระดับดังกล่าว[10]

    ดูเพิ่มที่ เขตปกครองคณะสงฆ์ตำบลคุ้งตะเภา

    การติดต่อโรงเรียน[แก้]

    สามารถติดต่อโรงเรียนหาดเสือเต้นได้โดยทางโทรศัพท์เลขหมาย 0 5540 7035

    อ้างอิง[แก้]

    1. อุดม รัตนสังข์. (2547). การจัดการความขัดแย้งของผู้บริหารโรงเรียนประถมศึกษา อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์. วิทยานิพนธ์ คม. (ครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาบริหารการศึกษา)[ลิงก์เสีย]. อุตรดิตถ์ : บัณฑิตวิทยาลัยมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์. อัดสำเนา.
    2. อุดม รัตนสังข์. (2547). บทคัดย่อวิทยานิพนธ์ "การจัดการความขัดแย้งของผู้บริหารโรงเรียนประถมศึกษา อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์". วิทยานิพนธ์ คม. (ครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาบริหารการศึกษา)[ลิงก์เสีย]. อุตรดิตถ์ : บัณฑิตวิทยาลัยมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์. อัดสำเนา.
    3. เทศบาลตำบลคุ้งตะเภา. (2552). ภาพกิจกรรม ฉลองโรงเรียนพระราชทานโรงเรียนบ้านหาดเสือเต้น (รางวัลดีเด่นชั้นประถมขนาดเล็กระดับประเทศ) . [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : [1] เก็บถาวร 2016-03-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. เข้าถึงแหล่งข้อมูลเมื่อ 5-8-52
    4. "สำเนาที่เก็บถาวร" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2011-12-19. สืบค้นเมื่อ 2010-10-08.
    5. ข้อมูลโรงเรียนในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาอุตรดิตถ์ เขต 1. สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาอุตรดิตถ์ เขต 1. [ออนไลน์]. เข้าถึงข้อมูลได้จาก [2][ลิงก์เสีย]. เข้าถึงเมื่อ 31-8-52
    6. โรงเรียนบ้านหาดเสือเต้น. (2550). แผนงานบริหารงานบุคคลโรงเรียนบ้านหาดเสือเต้น : ข้อมูลสารสนเทศโรงเรียนบ้านหาดเสือเต้น ประจำปีการศึกษา 2550.อุตรดิตถ์ : โรงเรียนบ้านหาดเสือเต้น. อัดสำเนา.
    7. โรงเรียนบ้านหาดเสือเต้น. (2551). แผนงานบริหารงานบุคคลโรงเรียนบ้านหาดเสือเต้น : ข้อมูลสารสนเทศโรงเรียนบ้านหาดเสือเต้น ประจำปีการศึกษา 2551.อุตรดิตถ์ : โรงเรียนบ้านหาดเสือเต้น. อัดสำเนา.
    8. ม. ม. ๑๓/๔๘๗. ขุ. ธ. ๒๕/๒๕. ขุ. เถร. ๒๖/๓๘๙.
    9. กลุ่มอำนวยการงานพัฒนาข้อมูลเทคโนโลยีสารสนเทศโรงเรียนบ้านหาดเสือเต้น. (2550). ข้อมูลสารสนเทศโรงเรียนบ้านหาดเสือเต้น ประจำปีการศึกษา 2550. อุตรดิตถ์ : โรงเรียนป่ากล้วยเสริมวิทยา. อัดสำเนา.
    10. ส่วนธรรมนิเทศ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. (๒๕๕๒). รายงานฉบับสมบูรณ์ การประเมินเสนอแนะและพัฒนาโรงเรียนคุณธรรมชั้นนำระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ปีการศึกษา ๒๕๕๐[ลิงก์เสีย]. กรุงเทพฯ: ศูนย์ประสานงานโครงการครูพระสอนศีลธรรมในโรงเรียน. หน้า ๑๖๒

    ดูเพิ่ม[แก้]

    แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

    17°39′32″N 100°10′57″E / 17.658931°N 100.182629°E / 17.658931; 100.182629