พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดคุ้งตะเภา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดคุ้งตะเภา
Wat Kungtapao Local Museum
ส่วนหนึ่งของการจัดแสดงนอกอาคาร (Open-air museum)
พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดคุ้งตะเภา ดำเนินการโดยวัดและชุมชน
ก่อตั้งพ.ศ. 2549
ที่ตั้งอาคารอสีติวัสสายุมงคลมหาศาลาการเปรียญ
วัดคุ้งตะเภา หมู่บ้านคุ้งตะเภา
ตำบลคุ้งตะเภา อำเภอเมืองอุตรดิตถ์
จังหวัดอุตรดิตถ์[2]
พิกัดภูมิศาสตร์17°39′14″N 100°08′24″E / 17.653801°N 100.140123°E / 17.653801; 100.140123
ผู้อำนวยการพระสมุห์สมชาย จีรปุญฺโญ[1]
(เจ้าอาวาสวัดคุ้งตะเภา, ประธานหน่วย อปต.ดีเด่น)
ภัณฑารักษ์พระมหาเทวประภาส วชิรญาณเมธี[1]
(เลขานุการรองเจ้าคณะอำเภอเมืองอุตรดิตถ์)
นายสมชาย สำเภาทอง[1]
(ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 4 ตำบลคุ้งตะเภา)
เว็บไซต์www.watkungtapao.thmy.com

พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดคุ้งตะเภา (อังกฤษ: Wat Kungtapao Local Museum) เป็นแหล่งการเรียนรู้ท้องถิ่นขนาดเล็ก ตั้งอยู่ที่ วัดคุ้งตะเภา หมู่ 4 หมู่บ้านคุ้งตะเภา ตำบลคุ้งตะเภา อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ จัดแสดงเอกสารโบราณและโบราณวัตถุของวัดและชุมชนหมู่บ้านคุ้งตะเภา บริหารจัดการในรูปแบบกรรมการโดยวัดและชุมชน[3] ในความอุปถัมภ์ของมูลนิธิ 250 ปี วัดคุ้งตะเภา[4][5]

พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2549 โดยดำริของพระสมุห์สมชาย จีรปุญฺโญ (แสงสิน) และพระมหาเทวประภาส วชิรญาณเมธี ที่ได้เก็บรวบรวมโบราณวัตถุและศิลปวัตถุของวัด เพื่อเป็นสถานที่จัดแสดงเอกสารโบราณและวัตถุโบราณของวัด และที่ทางวัดได้รับบริจาคจากชาวบ้าน เช่น พระพุทธรูปโบราณ สมุดไทย สมุดข่อย ใบลาน เพื่อให้คนในท้องถิ่นได้ศึกษาขนบวัฒนธรรมวิถีชีวิตความเป็นอยู่ในอดีตของบรรพบุรุษ และเพื่อให้คนในท้องถิ่นได้รับรู้และเกิดความภาคภูมิใจในมรดกและความเป็นมาของชุมชนบ้านคุ้งตะเภาที่มีอายุความเป็นมายาวนานมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา[6]

ปัจจุบันพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดคุ้งตะเภา ตั้งอยู่ที่อาคารอสีติวัสสายุมงคลมหาศาลาการเปรียญ ภายในวัดคุ้งตะเภา ใกล้กับจุดตัดสี่แยกคุ้งตะเภา ติดทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 11 ทางผ่านสำคัญก่อนขึ้นสู่จังหวัดแพร่ เปิดให้ประชาชนได้เข้าชมทุกวันธรรมสวนะ ตั้งแต่เวลา 8.20 - 17.30 น. โดยไม่เก็บค่าเข้าชม

ประวัติ[แก้]

ส่วนจัดแสดงครื่องมือเครื่องใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น ภายในพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดคุ้งตะเภา

พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดคุ้งตะเภา ก่อตั้งขึ้นโดยดำริของพระสมุห์สมชาย จีรปุญฺโญ (แสงสิน) และพระมหาเทวประภาส วชิรญาณเมธี เนื่องจากท่านสังเกตเห็นโบราณวัตถุและเอกสารโบราณต่าง ๆ ที่ถูกเก็บรักษากระจัดกระจายไว้ตาม สถานที่ต่าง ๆ ภายในวัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเอกสารโบราณ เช่น ใบลาน สมุดไทย สมุดข่อย จำนวนมาก (มากกว่า 100 ผูก/เล่ม) ซึ่งมีทั้งตำรายาแผนโบราณ ตำราบทพระอัยการ จินดามณี และคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ได้รับการดูแลอย่างที่ควรจะเป็น ท่านจึงได้ริเริ่มเก็บรวบรวมโบราณวัตถุต่าง ๆ ในวัดมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2539 จนในปี พ.ศ. 2549 จึงสามารถนำเอกสารโบราณต่าง ๆ มาจัดแสดงให้ประชาชนได้ชม โดยใช้พื้นที่ชั้นสองของกุฏิปั้นหยา เป็นอาคารสำหรับจัดแสดง เพื่อที่พระสงฆ์จะได้ดูแลรักษาเอกสารและวัตถุโบราณต่าง ๆ ที่นำมาจัดแสดงได้โดยสะดวก ซึ่งสิ่งของที่นำมาจัดแสดงให้ชมยังมีจำนวนไม่มากนัก (เพียง 4 ตู้จัดแสดง) และเอกสารโบราณและวัตถุโบราณที่สำคัญส่วนใหญ่ยังคงเก็บรักษาไว้โดยมิได้นำมาออกแสดง

วัตถุจัดแสดงบางส่วนในพิพิธภัณฑ์ได้รับบริจาคมาจากชุมชนคุ้งตะเภา เพื่ออนุรักษ์มรดกภูมิปัญญาท้องถิ่นไว้ให้ชนรุ่นหลังได้ศึกษา

เดิมนั้น พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดคุ้งตะเภา เป็นเพียงส่วนพิพิธภัณฑ์จัดแสดงวัตถุโบราณ เพียงแห่งเดียวของตำบลคุ้งตะเภา (พ.ศ. 2554) และเนื่องจากไม่ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากทางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและภาคราชการ ทำให้ส่วนตู้จัดแสดงสามารถวางสิ่งของจัดแสดงได้น้อย เพราะตู้จัดแสดงมีอย่างจำกัด ในขณะที่โบราณวัตถุและเอกสารโบราณที่สมควรนำออกจัดแสดงที่ท่านเจ้าอาวาสวัดคุ้งตะเภารวบรวมไว้มีจำนวนมาก

ในปี พ.ศ. 2555 วัดคุ้งตะเภาได้จัดสร้างห้องพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดคุ้งตะเภา โดยความร่วมมือระหว่างวัดและชุมชนบ้านคุ้งตะเภา โดยการนำของเจ้าอาวาส คณะสงฆ์วัดคุ้งตะเภา และนายสมชาย สำเภาทอง ผู้ใหญ่บ้านคุ้งตะเภา สร้างพื้นที่จัดแสดงบนอาคารศาลาการเปรียญวัดคุ้งตะเภาหลังใหม่ (อาคารอสีติวัสสายุมงคลมหาศาลาการเปรียญ) และได้ย้ายสถานที่จัดแสดงจากอาคารกุฎิปั้นหยาซึ่งมีขนาดเล็ก มาจัดแสดงบนพื้นที่ใหม่ ซึ่งปัจจุบันมีตู้จัดแสดงรวมมากกว่า 20 ตู้ บนเนื้อที่กว่า 300 ตารางเมตร เต็มพื้นที่อาคารศาลาทิศตะวันออก มีการนำโบราณวัตถุศิลปวัตถุ เอกสารโบราณ และเครื่องมือเครื่องใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นโบราณของคนคุ้งตะเภาในอดีตมาจัดแสดง รวมมากกว่า 500 สิ่งจัดแสดง เป็นพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นที่ดำเนินการโดยวัดและชุมชน ที่มีวัตถุจัดแสดงมากที่สุดแห่งหนึ่งของจังหวัดอุตรดิตถ์[7]

อาคารพิพิธภัณฑ์[แก้]

หอจัดแสดงพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดคุ้งตะเภา บนอาคารอสีติวัสสายุมงคลมหาศาลาการเปรียญ มุขทิศตะวันออก

อาคารที่ตั้งพิพิธภัณฑ์ อยู่ในพื้นที่ด้านตะวันออกของศาลาประธานวัดคุ้งตะเภา ซึ่งเป็นอาคารทรงโรงเครื่องสับแบบภาคกลางโบราณ ที่มีอายุมากกว่าสองร้อยปี จากประวัติหลักฐานการสถาปนาวัดคุ้งตะเภา กล่าวว่าในสมัยธนบุรี จุลศักราช 1132 ปีขาล โทศก วัดคุ้งตะเภามีศาลาการเปรียญเก่าแก่อยู่หลังหนึ่ง ตั้งอยู่ริมแม่น้ำน่าน ชาวบ้านคุ้งตะเภาได้ย้ายโครงสร้างศาลาดังกล่าว มา ณ ที่ตั้งปัจจุบันในปี พ.ศ. 2472 โดยคงรูปแบบเก่าแต่ครั้งธนบุรีไว้ด้วย

จากรูปแบบภูมิสถาปัตย์ของอาคารหลังนี้ เป็นรูปแบบศาลาโบราณที่มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา มีโครงสร้างคล้ายกับศาลาการเปรียญวัดใหญ่ท่าเสาที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานสำคัญของชาติ[8] โดยความเก่าแก่ของโครงสร้างและรูปแบบศาลาลักษณะนี้ อาจารย์พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษประจำกรมศิลปากรกล่าวว่า เป็นรูปแบบโครงอาคารศาลาการเปรียญที่มีความเก่าแก่มาตั้งแต่สมัยอยุธยา

พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดคุ้งตะเภา มีการจัดการและดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ในรูปแบบของคณะกรรมการ ทั้งบ้าน วัด และโรงเรียน

ศาลาการเปรียญหลังนี้ได้รับการบูรณะในปี พ.ศ. 2549 และส่วนจัดแสดงอาคารหอพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดคุ้งตะเภาแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2554 มีพื้นที่กว่า 300 ตารางเมตร มีโบราณวัตถุ-ศิลปวัตถุ จัดแสดงจำนวนกว่า 1,000 สิ่งจัดแสดง โดยจัดทิศทางการเข้าชมตามความเหมาะสมของพื้นที่อาคาร

ปัจจุบันพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดคุ้งตะเภา แบ่งพื้นที่ห้องจัดแสดงออกเป็นสามส่วนคือ ส่วนจัดแสดงประวัติความเป็นมาของชุมชนและวัดคุ้งตะเภา ส่วนจัดแสดงเอกสารโบราณ และส่วนจัดแสดงโบราณวัตถุและเครื่องมือเครื่องใช้ภูมิปัญญาโบราณของท้องถิ่น นอกจากนี้ ภายในพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดคุ้งตะเภา ยังมีห้องสมุดทางพระพุทธศาสนา ซึ่งมีพระไตรปิฎก อรรถกถา ตำรา และหนังสือทางพระพุทธศาสนา รวมทั้งหนังสือวิชาการและงานวิจัยทางด้านประวัติศาสตร์ ประเพณี และวัฒนธรรมท้องถิ่น รวมมากกว่า 3,000 เล่ม[9]

การจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์[แก้]

ยอดเสาหงษ์โบราณอายุสองร้อยกว่าปี ที่นำมาจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์

วัตถุที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดคุ้งตะเภาส่วนใหญ่ ได้มาจากชาวบ้านคุ้งตะเภาทุกคนผู้มีจิตศรัทธา ที่ตั้งใจอุทิศให้เป็นประโยชน์แก่สาธารณชน เป็นสาธารณสมบัติของชุมชน โดยมีวัดคุ้งตะเภาเป็นผู้ดูแล ในรูปแบบของกรรมการ

วัตถุจัดแสดงทั้งหมด เริ่มดำเนินการจัดหา รวบรวม จากทั้งภายในวัดคุ้งตะเภา และจากการรับบริจาคของคนในชุมชนคุ้งตะเภา ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 จัดแสดงครั้งแรกในอาคารปั้นหยาสองชั้นจนถึงปี พ.ศ. 2554 ต่อมาวัตถุจัดแสดงมีจำนวนมาก จึงได้หาทุนจัดสร้างอาคารพิพิธภัณฑ์จากศรัทธาในชุมชน และย้ายมาจัดแสดงในอาคารพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดคุ้งตะเภา (อาคารเฉลิมพระเกียรติอสีติวัสสายุมงคล) จนถึงปัจจุบัน

วัตถุจัดแสดงส่วนใหญ่ในพิพิธภัณฑ์จึงเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ที่มีความผูกพันกับวิถีชีวิต ความเชื่อ และภูมิปัญญาท้องถิ่นคนคุ้งตะเภาในอดีตช่วงร้อยกว่าปีก่อน และจากหลักฐานเอกสารโบราณที่ประกอบไปด้วยทั้งอักษรไทย (สมัยอยุธยา-ต้นรัตนโกสินทร์) และอักษรตัวเมืองบางส่วน (อักษรธรรมลานนา) รวมทั้งเสาหงส์โบราณ (คติมอญ) ทำให้ทราบว่าหมู่บ้านคุ้งตะเภาในอดีตเป็นชุมชนพหุวัฒนธรรมเก่าแก่ ที่มีการปะทะสังสรรค์ทางวัฒนธรรมมาตั้งแต่โบราณกาล เป็นหมู่บ้านพหุวัฒนธรรมที่ควรค่าแก่การศึกษาสำหรับผู้สนใจ โดยเฉพาะวัตถุที่จัดแสดงบางชิ้นมีความเก่าแก่มาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ซึ่งค้นพบในบริเวณที่ตั้งหมู่บ้านคุ้งตะเภา แม้จะไม่ได้มาจากการขุดค้นทางโบราณคดี แต่เชื่อได้ว่า หมู่บ้านคุ้งตะเภา เป็นถิ่นฐานที่มีผู้คนอยู่อาศัยมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ หรือกว่า 2,000 - 3,000 ปีมาแล้ว[9]

ประเภทกลุ่มการจัดแสดง[แก้]

พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดคุ้งตะเภา มีลักษณะเป็นอาคารโถงสองชั้น หลังคาทรงไทย ภายในอาคารจัดแสดงข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ ไว้ตามมุมต่าง ๆ และที่ตู้จัดแสดง กว่า 20 ตู้ จำแนกเป็นกลุ่มได้ 13 กลุ่ม[9] คือ

กลองมโหระทึกสำริด รูปแบบสมัยก่อนประวัติศาสตร์ในกลุ่มวัฒนธรรมดองซอน (Dongson Culture) ที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดคุ้งตะเภา
  • กลุ่มเอกสารโบราณ ประกอบด้วย สมุดไทย ใบลาน วรรณคดีไทย และวรรณคดีคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา ตำราแพทย์แผนไทย สมุนไพร บทพระอัยการลักษณะต่าง ๆ กฎหมายตราสามดวง สมุดฝรั่งสมัยรัชกาลที่ 4-5 ความเก่าแก่ของเอกสารโบราณมีความเก่าแก่ที่สุดตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้น จนถึงสมัยรัตนโกสินทร์
  • กลุ่มพระพุทธรูปและเครื่องใช้ทางศาสนา เช่น พระพุทธรูปโบราณสมัยเชียงแสน-สุโขทัย อายุกว่า 800 ปี, ยอดพระเกศสัมฤทธิ์, ฉัตรเก่า, แผงพระไม้แกะสลัก, พระพุทธรูปทรงเครื่องสมัยรัตนโกสินทร์, พระพุทธรูปแกะสลัก, หงส์ยอดเสาโบราณ, ตาลปัตร พัดยศ และธรรมาสน์ไม้ฝีมือช่างพื้นบ้าน เป็นต้น
  • กลุ่มเครื่องมือในการทำนา เช่น ระหัดวิดน้ำ, คันไถและคราดที่ทำด้วยไม้และโลหะ, คานและแอกไม้ประกอบคันไถ, เครื่องสีฝัดข้าว, ขอฉาย, สากตำข้าว, ครกตำข้าวทำจากไม้ และเครื่องสีข้าวแบบแรงมือและคันโยก เป็นต้น
  • กลุ่มยานพาหนะ เช่น เกวียนเทียมวัวและควาย, เรือสำเภาจำลอง, ใบพายเรือ และจักรยานโบราณ เป็นต้น
  • กลุ่มเครื่องมือช่าง เช่น เลื่อยสั้น-ยาว, มีดพร้า-ปลอกมีด, สว่านมือ, กบมือไสไม้ และขวานโยน เป็นต้น
  • กลุ่มเครื่องมือในการจับสัตว์ เช่น ลอบ, สุ่ม, ข้อง, ไซ, เบ็ด, ฉมวกเหล็ก-ไม้, เครื่องดักสัตว์ที่ทำจากไม้ เป็นต้น
  • กลุ่มเครื่องมือในงานเกษตรกรรมและเหล็ก เช่น เครื่องปั่นด้าย, เครื่องบีบเมล็ดข้าวโพด, อุปกรณ์ตากยาสูบ, สูบลม, หลอดสูบน้ำดับเพลิงโบราณ และเครื่องมือช่างตีเหล็กโบราณ เป็นต้น
ส่วนหนึ่งในพื้นที่จัดแสดงพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดคุ้งตะเภา
  • กลุ่มของใช้ในครัวเรือน เช่น กระด้ง, โม่, สาแหรก, ถังไม้, หม้อ-ไหดินเผา, เตารีด, คนโท, ตะกร้าหวาย, ปิ่นโต, ชุดสำรับ กับข้าวทำจากแก้ว, ถาดกระเบื้อง-สังกะสี, ถ้วยชาม, ตะเกียงโบราณ, เครื่องบดยาทำจากไม้-หิน, กระเบื้องหลังคาดินเผา, หีบเหล็ก, คานหาบ, กระบุง และกระจาด เป็นต้น
  • กลุ่มเครื่องใช้ที่ทำจากโลหะทองเหลืองและเงิน เช่น ชุดเชี่ยนหมากโบราณ, กล้องยาสูบ, ขัน, ทัพพี, พาน, ผอบ และตลับ เป็นต้น
  • กลุ่มเครื่องใช้ที่ทำจากเครื่องลายครามและเครื่องเบญจรงค์ เช่น โถ, ถ้วย, หม้อใส่ข้าว, ช้อน, ผอบ และพานเบญจรงค์โบราณ เป็นต้น
  • กลุ่มอาวุธ เช่น มีด, ดาบ, มีดสั้น, ดาบเหล็กน้ำพี้, ก้อนสินแร่เหล็กน้ำพี้ขนาดใหญ่ และดาบเหล็กลอง เป็นต้น
  • กลุ่มพระเครื่อง เหรียญกษาปณ์ และเงินโบราณ เช่น เงินพดด้วงโบราณ, สตางค์รู, เหรียญเงินรัชกาลที่ 5, ธนบัตร เหรียญกษาปณ์เก่า รวมทั้งพระเครื่องทั้งที่ทำจากดิน และที่ทำจากเหรียญโลหะ จำนวนมาก เป็นต้น
  • กลุ่มวัตถุสมัยก่อนประวัติศาสตร์ เช่น กลองมโหระทึกสำริด รูปแบบสมัยก่อนประวัติศาสตร์ในกลุ่มวัฒนธรรมดองซอน (Dongson Culture), ขวานหินขัดสมัยก่อนประวัติศาสตร์ และเศษเครื่องใช้ทำจากดินเผา เป็นต้น

การดำเนินการ[แก้]

ส่วนจัดแสดงพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดคุ้งตะเภาในปัจจุบัน
ส่วนจัดแสดงเครื่องมือเครื่องใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น

ปัจจุบัน พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดคุ้งตะเภา ดำเนินการในรูปแบบคณะกรรมการ ซึ่งมาจากผู้บริจาคโบราณวัตถุ และศิลปวัตถุ ให้กับทางพิพิธภัณฑ์นับร้อยคน เพื่อเน้นกระบวนการมีส่วนร่วม และการสานเสวนาเพื่อการพัฒนาพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นอย่างสร้างสรรค์ โดยมาจากการแต่งตั้งของเจ้าอาวาสวัดคุ้งตะเภา ตามคำสั่งเจ้าอาวาสวัดคุ้งตะเภา ที่ 2/2555 เรื่อง จัดตั้งพิพิธภัณฑ์วัดคุ้งตะเภา ภายใต้คำขวัญ "พิพิธภัณฑ์ของชุมชน โดยชุมชน และเพื่อชุมชน" และวัตถุประสงค์การจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดคุ้งตะเภา ทั้ง 4 ข้อ ดังนี้[1]

พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดคุ้งตะเภา ดำเนินการโดยใช้งบประมาณทั้งหมดจากศรัทธาของพระสงฆ์และประชาชนในชุมชน
  1. ส่งเสริม สนับสนุนการศึกษาค้นคว้า ประวัติความเป็นมาของชุมชนท้องถิ่น ศิลปวัตถุ โบราณวัตถุ เครื่องมือ เครื่องใช้ในการดำเนินวิถีชีวิตของบรรพบุรุษหรือบุคคลสำคัญของชุมชนท้องถิ่นบ้านวัดคุ้งตะเภา
  2. จัดหาอาคารสถานที่สำหรับจัดเป็นพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดคุ้งตะเภา รวมทั้งการออกแบบอาคารสถานที่ให้มีความเหมาะสมกับเนื้อหา ศิลปวัตถุที่จะจัดแสดง และเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ตามความต้องการของชุมชนหรือท้องถิ่น
  3. จัดเตรียมข้อมูล รวบรวมศิลปวัตถุ โบราณวัตถุประเภทต่าง ๆ เพื่อการจัดแสดงผลงานภายในพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดคุ้งตะเภา
  4. บำรุงรักษาพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดคุ้งตะเภาให้มีสภาพที่สมบูรณ์ดีพร้อมอยู่เสมอ เพื่อเปิดให้ประชาชนและผู้สนใจเข้าเยี่ยมศึกษาค้นคว้าหาความรู้

ปัจจุบันพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดคุ้งตะเภา ดำเนินการโดยใช้งบประมาณทั้งหมดจากศรัทธาของพระสงฆ์และประชาชนในชุมชน

เกียรติคุณและรางวัลที่ได้รับ[แก้]

จากการลงพื้นที่สำรวจและประเมินพิพิธภัณฑ์ต้นแบบการเรียนรู้ ของคณะกรรมการจากสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (สพร.) พบว่าพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดคุ้งตะเภา มีแนวคิดการจัดพื้นที่เป็นพิพิธภัณฑ์เปิด ที่สอดคล้องสัมพันธ์กับวิถีความเชื่อของชุมชน และมีแผนการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทำให้พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดคุ้งตะเภา ได้รับคัดเลือก เป็น 1 ใน 4 พิพิธภัณฑ์ จากทั่วประเทศ ให้ได้รับรางวัล "พิพิธภัณฑ์ต้นแบบการเรียนรู้" (ประเภทวัดและชุมชน) จากสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (สพร.) ในปี พ.ศ. 2557 [10][11]

นามรางวัลที่พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดคุ้งตะเภาได้รับ องค์กรที่มอบรางวัล ผู้มอบรางวัล ปีที่ได้รับ อ้างอิง
- รางวัล วัฒนคุณาธร ผู้ทำคุณประโยชน์ต่อกระทรวงวัฒนธรรม ด้านองค์กรเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม ๑ ใน ๒ แห่ง ระดับประเทศ สำนักเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม พ.ศ. 2558 [12][13][14][15]
- รางวัลเกียรติยศ "พิพิธภัณฑ์ต้นแบบการเรียนรู้" ประเภทวัดและชุมชน สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (NDMI) ดร.ราเมศ พรหมเย็น ผู้อำนวยการสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (สพร.) พ.ศ. 2557 [10]

การเข้าชม[แก้]

ปัจจุบันพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดคุ้งตะเภา เปิดให้เข้าชมทุกวันธรรมสวนะ ตั้งแต่เวลา 06.30 - 16.00 น. โดยไม่เก็บค่าเข้าชม

สำหรับผู้ที่สนใจชมพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดคุ้งตะเภานอกจากวันและเวลาที่กำหนดไว้ สามารถติดต่อพระภิกษุผู้ดูแลอาคารเพื่อขอเข้าชมได้ โดยควรแจ้งให้ทราบล่วงหน้า

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 เจ้าอาวาสวัดคุ้งตะเภา. (2555, 9 กุมภาพันธ์). คำสั่งที่ 2/2555 เรื่อง จัดตั้งพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดคุ้งตะเภา.
  2. ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน). (2555). ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นในประเทศไทย : พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดคุ้งตะเภา. [ออน-ไลน์]. เข้าถึงได้จากhttp://www.sac.or.th/databases/museumdatabase/review_inside.php?id=1349 เข้าถึงเมื่อ 20-3-55
  3. ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน). (2555). ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย : พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดคุ้งตะเภา. [ออน-ไลน์]. เข้าถึงแหล่งข้อมูลได้จาก :http://www.sac.or.th/databases/museumdatabase/review_inside.php?id=1349 เก็บถาวร 2014-08-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  4. หนังสือสำนักงานมูลนิธิ ๒๕๐ ปี วัดคุ้งตะเภา ที่ มวคภ.๒๔๖/๕๙๐๒ ลงวันที่ ๑๓ มิถุนายน ๒๕๕๙ เรื่อง การรับพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดคุ้งตะเภาไว้ในความอุปถัมภ์
  5. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศนายทะเบียนมูลนิธิจังหวัดอุตรดิตถ์ เรื่อง จดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิ "มูลนิธิ ๒๕๐ ปี วัดคุ้งตะเภา", เล่ม ๑๓๓ ตอน ๔๔ ง, ๙ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๙, หน้า ๔๙-๕๐
  6. ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม. (2554). พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดคุ้งตะเภา. [ออน-ไลน์]. เข้าถึงแหล่งข้อมูลได้จาก : http://m-culture.in.th/album/view/53165[ลิงก์เสีย]
  7. ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน). (2555). ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นในประเทศไทย : พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดคุ้งตะเภา. [ออน-ไลน์]. เข้าถึงแหล่งข้อมูลได้จาก : http://www.sac.or.th/databases/museumdatabase/detail_museum.php?get_id=27-013&word=[ลิงก์เสีย]
  8. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศกรมศิลปากร เรื่อง ขึ้นทะเบียนโบราณสถานและกำหนดเขตที่ดินโบราณสถาน (วัดเมืองปอน (ร้าง) และวัดต่อแพ จังหวัดแม่ฮ่องสอนวัดธาตุโขง (ร้าง) วัดธาตุเขียว (ร้าง) วัดร้อยข้อ (ร้าง) จังหวัดเชียงรายวัดเชียงแสน วัดหมื่นพริก (ร้าง) จังหวัดเชียงใหม่ วัดหนองห้า จังหวัดพะเยา วัดใหญ่ชัยมงคล วัดยมราช จังหวัดพิษณุโลก วัดคุ วัดดงดีปลี วัดโบสถ์ จังหวัดสุโขทัย วัดพระเจดีย์ทอง จังหวัดกำแพงเพชร เจดีย์ยุทธหัตถี วัดพระบรมธาตุ จังตาก วัดห้วยเขน จังหวัดพิจิตร วัดใหญ่ท่าเสา จังหวัดอุตรดิตถ์), เล่ม 114, พิเศษ 87 ง, 29 กันยายน พ.ศ. 2540, หน้า 2
  9. 9.0 9.1 9.2 เทวประภาส มากคล้าย. (2553). คุ้งตะเภา จากอดีตสู่ปัจจุบัน : พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ ประเพณีวัฒนธรรม ความเชื่อ และภูมิปัญญาท้องถิ่น. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์แห่งมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. ISBN 9789743648847
  10. 10.0 10.1 สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ. (๒๕๕๗). ประกาศเกียรติคุณพิพิธภัณฑ์ต้นแบบการเรียนรู้ ประเภทวัดและชุมชน ๒๕๕๗. ลงวันที่ ๑๘ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๗
  11. สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ. (2557). “การให้บริการในพิพิธภัณฑ์” ตามมาตรฐานสากล. [ออน-ไลน์]. เข้าถึงแหล่งข้อมูลได้จาก :http://www.ndmi.or.th/upload/activity/file/file-231906466.pdf[ลิงก์เสีย]
  12. สำนักตรวจและประเมินผล สำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม. (2558). ผลการคัดเลือกผู้ทำคุณประโยชน์ต่อกระทรวงวัฒนธรรม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๕๘. [ออน-ไลน์]. แหล่งที่มา : http://www.m-culture.go.th/evaluate/files/716/%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%88%E0%B8%B3%E0%B8%9B%E0%B8%B52558/%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%99/__.pdf[ลิงก์เสีย]
  13. สำนักเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม สำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม. (2558). ผลการคัดเลือกผู้ทำคุณประโยชน์ต่อกระทรวง ระดับประเทศ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2558 ด้านการเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม (ระดับประเทศ). [ออน-ไลน์]. แหล่งที่มา : http://www.m-culture.go.th/surveillance/index.php/2013-06-07-06-47-37/2013-06-19-04-16-42/item/%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A8%E0%B8%9C%E0%B8%A5%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%84%E0%B8%B1%E0%B8%94%E0%B9%80%E0%B8%A5%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%81%E0%B8%9C%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B8%97%E0%B8%B3%E0%B8%84%E0%B8%B8%E0%B8%93%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%82%E0%B8%A2%E0%B8%8A%E0%B8%99%E0%B9%8C%E0%B8%95%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%97%E0%B8%A3%E0%B8%A7%E0%B8%87
  14. เดลินิวส์. (2558). วธ.ดึงเยาวชนร่วมบริหารงานวัฒนธรรม. [ออน-ไลน์]. แหล่งที่มา : http://www.dailynews.co.th/education/351637
  15. เว็บไซต์โลกวันนี้. (2558). รวธ.มอบโล่เชิดชูเกียรติผู้ทำคุณประโยชน์. [ออน-ไลน์]. แหล่งที่มา : http://www.lokwannee.com/web2013/?p=179247[ลิงก์เสีย]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

พิกัดภูมิศาสตร์: 17°39′14″N 100°08′24″E / 17.653801°N 100.140123°E / 17.653801; 100.140123