หลวงพ่อสุวรรณเภตรา

พิกัด: 17°39′12″N 100°08′25″E / 17.653399°N 100.14016°E / 17.653399; 100.14016
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี


พระพุทธสุวรรณเภตรา
ชื่อเต็มพระพุทธสุวรรณเภตรา มหาบรมไตรโลกเชษฐ์ วรเสฏฐมุนี โอฆวิมุตตินฤบดี ศรีบรมไตรโลกนารถ โลกธาตุดิลกฯ
(คำแปล) “พระพุทธองค์ผู้เป็นศาสดาจอมมุนีผู้ประเสริฐยิ่งใหญ่ทั่วสามภพผู้นำสรรพสัตว์ก้าวล่วงโอฆสงสารด้วยจตุราริยสัจจธรรมและอริยัฏฐังคิกมรรค อุปมาดั่งนายเรือสำเภาทองอันนำสรรพสัตว์ทั้งปวงก้าวล่วงพ้นมหาสมุทรแห่งสังสารวัฏ ด้วยความเป็นผู้ยิ่งด้วยปรีชาญาณปัญญาฉลาดกว่าสัตว์ทั้งปวงฉะนั้นฯ”[1]
ชื่อสามัญหลวงพ่อสุวรรณเภตรา, หลวงพ่อสำเภาทอง
ประเภทพระพุทธรูป
ศิลปะปางมารวิชัย ศิลปะสุโขทัย
ความกว้าง47 นิ้ว
ความสูง62 นิ้ว (ตลอดถึงพระรัศมี)
วัสดุโลหะ
สถานที่ประดิษฐานอุโบสถ วัดคุ้งตะเภา
ความสำคัญพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์
หมายเหตุเปิดให้สักการบูชาทุกวัน
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

พระพุทธสุวรรณเภตรา หรือนามสามัญ หลวงพ่อสุวรรณเภตรา เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์สำคัญ 1 ใน 9 องค์แห่งเมืองอุตรดิตถ์ องค์พระหล่อด้วยโลหะปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 47 นิ้ว สูง 62 นิ้ว (ตลอดถึงพระรัศมี) มีพุทธลักษณะสมัยสุโขทัย

หลวงพ่อสุวรรณเภตรา สถาปนาโดยพระครูธรรมกิจจาภิบาล พระครูเกจิใหญ่แห่งเมืองอุตรดิตถ์ในอดีต องค์พระได้อัญเชิญมาประดิษฐานเป็นพระพุทธรูปประธานในอุโบสถวัดคุ้งตะเภา ในฐานะที่เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์สำคัญที่เป็นที่เคารพเลื่อมใสศรัทธาของชาวคุ้งตะเภามาช้านาน

ปัจจุบันหลวงพ่อสุวรรณเภตราประดิษฐานอยู่ ณ อุโบสถวัดคุ้งตะเภา ตำบลคุ้งตะเภา อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์ ปัจจุบันทางวัดคุ้งตะเภาเปิดให้ประชาชนเข้าสักการะได้ทุกวัน

ประวัติ[แก้]

พระครูธรรมกิจจาภิบาล (กลม)

พระพุทธสุวรรณเภตรา ได้หล่อขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2489 โดยพระครูธรรมกิจจาภิบาล (กลม) ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสวัดดอยท่าเสาอยู่ในขณะนั้น ได้ปรารภให้จัดสร้างพระพุทธรูปขึ้น เพื่อนำไปประดิษฐานเป็นพระประธานในอุโบสถวัดคุ้งตะเภาที่ได้สร้างขึ้นใหม่

โดยได้ทำพิธีเททองหล่อขึ้น ณ วัดดอยท่าเสา โดยมีพระครูเกจิใหญ่ของเมืองอุตรดิตถ์ที่เป็นที่นับถือเลื่อมใสในสมัยนั้นร่วมนั่งปรกอธิษฐาน (เช่น หลวงพ่อไซร้ หลวงพ่อเจิม หลวงพ่อเพิ่ม หลวงพ่อกลอง) โดยในการหล่อครั้งนั้นมีประชาชนผู้เลื่อมใสศรัทธานำโลหะมีค่าต่าง ๆ เช่นทองคำ เงิน ฯลฯ มาร่วมถวายหล่อเป็นพุทธบูชาเป็นจำนวนมาก ซึ่งพิธีในครั้งนั้นนับเป็นงานที่มีพระเกจิอาจารย์ใหญ่แห่งเมืองอุตรดิตถ์มาร่วมปรกปลุกเสกมากที่สุดครั้งหนึ่งในจังหวัดอุตรดิตถ์

และเมื่อหล่อองค์พระเสร็จ ก็ปรากฏว่าทองคำได้แล่นลงที่เศียรพระมากอย่างน่าอัศจรรย์ จึงปรากฏองค์พระพุทธรูปซึ่งกรอปไปด้วยพุทธสิริศุภลักษณะมีพระพักตร์อิ่มเอิบสุกปลั่งประดุจดั่งทองคำ (ซึ่งเมื่อผู้ใดมองไปที่พระพักตร์ขององค์ท่านก็จะทราบด้วยตนเองว่า พระพุทธรูปองค์นี้ "ยิ้มได้" อย่างน่าอัศจรรย์ )

อภินิหาร[แก้]

มีเรื่องเล่าที่ผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้านเล่ากันสืบมาด้วยความศรัทธาว่า ในวันที่ทำพิธีอัญเชิญหลวงพ่อมาทางน้ำเพื่อมาประดิษฐานที่อุโบสถวัดคุ้งตะเภา ปรากฏว่าวันนั้นมีพายุฝนรุนแรงมาก แต่เมื่ออัญเชิญองค์หลวงพ่อขึ้นฝั่งก็ปรากฏว่าฝนที่กำลังตกหนักอย่างไม่มีทีท่าว่าจะหยุดตกกลับพลันหยุดตกทันที และเมฆฝนที่ปกคลุมอาณาบริเวณมณฑลพิธีกลับพลันสลาย และแดดกลับออกจ้าอย่างน่าอัศจรรย์ใจแก่ผู้ร่วมพิธีในวันนั้นเป็นอย่างยิ่ง

หลวงพ่อสุวรรณเภตรา หรือที่แปลว่า หลวงพ่อสำเภาทอง เป็นพระนามที่ชาวบ้านคุ้งตะเภาได้ขนานถึงด้วยความเลื่อมใสศรัทธานับถือมาช้านาน ประวัติความเป็นมาอภินิหารความศักดิ์สิทธิ์ของพระพุทธรูปองค์นี้และวัตถุมงคลที่สร้างขึ้นเนื่องด้วยองค์ท่าน เป็นที่นับถือเลื่องลือ เห็นได้จากการกล่าวขานเลื่องลือถึงฤทธานุภาพความศักดิ์สิทธิ์แคล้วคลาดด้วยบารมีแห่งผู้ที่เคารพบูชาวัตถุมงคล เนื่องด้วยองค์ท่านอยู่เนือง ๆ และการที่มีผู้มาบนบานและแก้บนองค์หลวงพ่ออยู่เป็นประจำมิว่างเว้น

วัตถุมงคล[แก้]

วัดคุ้งตะเภาได้จัดสร้างวัตถุมงคลเหรียญหลวงพ่อสุวรรณเภตรา เพื่อมอบเป็นที่ระลึกแก่ผู้ร่วมสมทบทุนบูรณะอุโบสถเป็นรุ่นแรกใน ปี พ.ศ. 2538 และจัดสร้างเหรียญหลวงพ่อสุวรรณเภตราเพื่อมอบแก่ผู้มีจิตศรัทธาและพุทธศาสนิกชนผู้เลื่อมใสในโอกาสที่ทางวัดได้จัดให้มีงานทำบุญฉลองซุ้มประตูใหญ่ใน ปี พ.ศ. 2545 เป็นรุ่นที่สอง

สำหรับเหรียญวัตถุมงคล รุ่นบูรณะโบสถ์ นั้นจัดสร้างเมื่อ ปี พ.ศ. 2538ด้วยเนื้อโลหะสุวรรณชาดรมดำ ผสมโลหะศักดิ์สิทธิ์ มี 2 แบบคือ เหรียญรูปไข่ และเหรียญทรงอาร์ม มีห่วงคล้อง

สำหรับเหรียญวัตถุมงคล รุ่นสร้างซุ้มประตู นั้นจัดสร้างเมื่อ ปี พ.ศ. 2545 ด้วยเนื้อโลหะสุวรรณชาดรมดำ มีทรงเดียวคือ เหรียญทรงอาร์ม มีห่วงคล้อง ใส่ตลับพลาสติกปั้มลายทอง

วัตถุมงคลที่วัดคุ้งตะเภาได้จัดสร้างขึ้นทั้งหมดนั้น ได้รับการปลุกจิตอธิษฐานและผ่านพิธีพุทธาภิเษกจาก พระเดชพระคุณ พระนิมมานโกวิท (หลวงปู่ทองดำ) ทุกรุ่น และทุกรุ่นมิได้จัดสร้างขึ้นเพื่อมุ่งหารายได้ ดังนั้นจึงนับได้ว่า เหรียญและล็อกเก็ตหลวงพ่อสุวรรณเภตรานี้ เป็นวัตถุมงคลที่สร้างขึ้นด้วยเจตนาอันบริสุทธิ์อย่างแท้จริง ควรค่าแก่การเคารพบูชาและนำติดตัวเพื่อเป็นขวัญกำลังใจ เป็นเครื่องเตือนสติให้พุทธศาสนิกชนผู้บูชาได้รำลึกถึงคุณของ พระรัตนตรัย และเป็นเครื่องหมายแห่งความยึดมั่นในองค์คุณแห่งผู้มีสัมมาทิฐิและเลื่อมใสศรัทธาในพระบวรพุทธศาสนาสืบไป

คำกล่าวสักการบูชาหลวงพ่อสุวรรณเภตรา[แก้]

คาถาบูชาหลวงพ่อสุวรรณเภตรา[แก้]

นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
“อิมัง สุวัณณะเภตะระพุทธะปะฏิมัง
สิระสา นะมามิหัง
อิมิสสานุภาเวนะ
สัพพะโสตถี ภะวันตุ เมฯ”

คำแปลคาถาบูชาหลวงพ่อสุวรรณเภตรา[แก้]

“ข้าพเจ้า ขอบูชาองค์หลวงพ่อสุวรรณเภตรา
ด้วยบุญญานุภาพ แห่งองค์หลวงพ่อสุวรรณเภตรา
ขอความร่มเย็นเป็นสุข และความสำเร็จดังปรารถนาทั้งปวง
จงบังเกิดมีแก่ข้าพเจ้าด้วยเทอญฯ”

อ้างอิง[แก้]

  • เทวประภาส มากคล้าย. (2551). สาระการเรียนรู้ท้องถิ่น : ประเพณีวัฒนธรรมและพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของวัดและหมู่บ้านคุ้งตะเภา. อุตรดิตถ์: พงษ์วิทยาการพิมพ์.
  1. หลวงพ่อสุวรรณเภตรา. แผ่นพับประชาสัมพันธ์ งานปิดทองสรงน้ำพระสงกรานต์ สองมหาพุทธปฏิมากรศักดิ์สิทธิ์ วัดคุ้งตะเภา ประจำปี ๒๕๕๒. วัดคุ้งตะเภา: ๒๕๕๒

ดูเพิ่ม[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

17°39′12″N 100°08′25″E / 17.653399°N 100.14016°E / 17.653399; 100.14016