การเสกสมรสระหว่างราชวงศ์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระเจ้าเฟลีเปที่ 2 แห่งสเปน และพระมเหสี พระราชินีนาถแมรีที่ 1 แห่งอังกฤษ จากราชวงศ์ฮับส์บูร์ก ซึ่งทั้งสองพระองค์ต่างก็เป็นพระญาติ (ลูกพี่ลูกน้อง) ของกันและกัน
พระราชพิธีราชาภิเษกสมรสระหว่างซาร์นิโคลัสที่ 2 แห่งรัสเซีย กับเจ้าหญิงอลิกซ์แห่งเฮสส์ ซึ่งเป็นพระญาติชั้นที่สองและมีพระปัยยิกา (ย่าทวด, ยายทวด) ร่วมกันคือ เจ้าหญิงวิลเฮลมีนแห่งบาเดิน

การเสกสมรสระหว่างราชวงศ์ (อังกฤษ: royal intermarriage) คือการแต่งงานระหว่างสมาชิกของราชวงศ์ผู้ปกครอง[n 1]สองราชวงศ์ ซึ่งในอดีตถือเป็นยุทโธบายทางการทูตที่ใช้กันโดยทั่วไปเพื่อผลประโยชน์ของชาติ ในบางครั้งการเสกสมรสนี้เกิดขึ้นด้วยการบังคับใช้กระบวนการทางกฎหมายต่อบุคคลผู้สืบเชื้อสายราชวงศ์ และในหลาย ๆ ครั้งเกี่ยวข้องกับนโยบายทางการเมืองและ/หรือขนบธรรมเนียมของระบอบราชาธิปไตยเสียเป็นส่วนใหญ่

ในทวีปยุโรป การเสกสมรสในลักษณะนี้เป็นที่แพร่หลายอย่างมาก โดยเฉพาะในช่วงตั้งแต่สมัยกลางจนกระทั่งสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ในขณะที่หลักฐานของการเสกสมรสระหว่างราชวงศ์ในส่วนอื่น ๆ ของโลก สามารถสืบค้นย้อนไปได้ไกลที่สุดถึงยุคสัมฤทธิ์[1] ซึ่งบ่อยครั้งที่พระมหากษัตริย์ในอดีตมักจะพยายามแผ่ขยายราชวงศ์ของพระองค์ออกไปทั้งในและนอกประเทศ[2] ดังนั้นสายสัมพันธ์ทางเครือญาติซึ่งเกิดจากการเสกสมรสนี้ จึงเป็นปัจจัยที่ช่วยทั้งกระตุ้นและยับยั้งความขัดแย้งและการรุกรานระหว่างรัฐ[3] ทั้งยังช่วยริเริ่ม ส่งเสริม และรับประกันสันติภาพระหว่างรัฐได้อีกด้วย นอกจากนี้สายสัมพันธ์ทางเครือญาติจากการเสกสมรสยังสามารถรักษามิตรไมตรีของสองราชวงศ์ ที่ต่างพยายามหลีกเลี่ยงภัยคุกคามจากการรุกรานและความขัดแย้งอันมีชนวนเหตุมาจากการยุยงของราชวงศ์ที่สาม[3] พร้อมเสริมสร้างโอกาสที่จะผนวกรวมดินแดนเข้าเป็นส่วนหนึ่งของตนจากการอ้างสิทธิ์ทางกฎหมายเหนือราชบัลลังก์ หรือแม้กระทั่งการอ้างสิทธิ์เหนือส่วนหนึ่งของรัฐ เช่น อาณานิคม ผ่านการรับช่วงสืบทอดอำนาจการปกครองในกรณีที่รัฐนั้นเกิดปัญหาไร้รัชทายาทสืบทอดราชบัลลังก์ หรือในกรณีที่พระมหากษัตริย์องค์ก่อนหน้าไม่มีรัชทายาทเพศชายไว้สืบทอดราชสมบัติโดยปราศจากข้อกังขาได้

ในบางส่วนของทวีปยุโรป ราชวงศ์ต่าง ๆ ยังคงนิยมเสกสมรสระหว่างกันเป็นปกติ (สมาชิกราชวงศ์เสกสมรสกับตระกูลขุนนางต่าง ๆ ภายในรัฐ) ไปจนกระทั่งคริสต์ศตวรรษที่ 16 และนับแต่นั้นเป็นต้นมา จึงเริ่มหันมานิยมการเสกสมรสระหว่างราชวงศ์ของรัฐอธิปไตยต่าง ๆ มากขึ้น แต่ในส่วนอื่น ๆ ของโลก การเสกสมรสเช่นนี้กลับได้รับความนิยมน้อยกว่ามากและเริ่มลดจำนวนลงตามกาลเวลาที่ผ่านไป หรือแปรเปลี่ยนไปตามขนบธรรมเนียมและนโยบายการต่างประเทศในขณะนั้น

การเสกสมรสในฐานะนโยบายการต่างประเทศ[แก้]

พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส และ พระเจ้าเฟลีเปที่ 4 แห่งสเปน ทรงพบปะกัน ณ เกาะเฟียสันท์ เพื่อลงพระนามาภิไธยในสนธิสัญญาพิเรนีส ซึ่งส่วนหนึ่งของข้อตกลงในสนธิสัญญากำหนดให้มีการอภิเษกสมรสกันระหว่างพระเจ้าหลุยส์และเจ้าหญิงมาเรีย เทเรส พระราชธิดาของพระเจ้าเฟลีเปที่ 4

ในอุดมคติของวัฒนธรรมตะวันตกร่วมสมัย การเสกสมรสคือสายสัมพันธ์อันเป็นเอกลักษณ์ระหว่างคู่รักสองคน ในขณะที่ครอบครัวซึ่งสายเลือดและการสืบสกุลคือจุดศูนย์กลางของอำนาจและมรดกตกทอด (เช่น พระราชวงศ์ของกษัตริย์) มักมองการแต่งงานในรูปแบบที่ต่างออกไป บ่อยครั้งที่มักจะมีภาระความรับผิดชอบทางการเมืองหรือที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับความรักใคร่ให้ต้องปฏิบัติตาม ดังนั้นว่าที่คู่ครองในอนาคตจึงต้องได้รับการพิจารณาอย่างถี่ถ้วนในรายละเอียดเกี่ยวกับฐานะความมั่งคั่งและอำนาจบารมี เป็นผลให้การเสกสมรสด้วยเหตุผลทางการเมือง เศรษฐกิจ หรือการทูต คือรูปแบบที่พบเห็นได้โดยทั่วไปในชนชั้นผู้ปกครองของยุโรปมานานนับศตวรรษ[4]

ทวีปยุโรป[แก้]

สมัยกลางและสมัยใหม่ช่วงต้น[แก้]

การเลือกคู่อภิเษกสมรสอย่างถี่ถ้วนมีความสำคัญต่อการดำรงสถานะราชวงศ์ เช่น ในดินแดนบางแห่ง หากเจ้าชายหรือพระราชาเสกสมรสกับสามัญชนผู้ไม่มีเชื้อสายราชวงศ์ และแม้ว่าบุตรธิดาคนแรกอันประสูติแด่เจ้าชายหรือพระราชาจะเป็นรับรู้กันโดยทั่วไปแล้วก็ตาม บุตรธิดาคนดังกล่าวอาจไม่มีสิทธิ์อ้างตนเป็นเชื้อขัตติยราชสกุลตามพระบิดาได้เลย[4]

ตามประเพณีแล้ว การเสกสมรสระหว่างราชวงศ์มีปัจจัยที่เป็นองค์ประกอบสำคัญหลายประการ เช่น ความกว้างใหญ่ของอาณาเขตพื้นที่ที่ราชวงศ์นั้นปกครองหรือควบคุมอยู่[4] หรือปัจจัยที่เกี่ยวข้องอีกประการหนึ่งก็คือเสถียรภาพในการปกครองดินแดนของตน เนื่องจากราชวงศ์ต่าง ๆ มักมีท่าทีบ่ายเบี่ยงหากอีกราชวงศ์ที่จะร่วมเสกสมรสด้วยนั้นเผชิญกับความไม่แน่นอนในการปกครอง[4] พันธมิตรทางการเมืองก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่สำคัญ เพราะการเสกสมรสเช่นนี้คือตัวแปรสำคัญที่จะช่วยผูกมัดเอาสองราชวงศ์และประเทศเข้าไว้ด้วยกัน ทั้งในยามสงบและยามศึกสงคราม อีกทั้งยังเป็นตัวแปรที่ช่วยตัดสินความเป็นไปทางการเมืองครั้งสำคัญ ๆ ได้อีกด้วย[4][5]

นอกจากนี้การเสกสมรสระหว่างราชวงศ์ยังหมายถึงโอกาสที่ดินแดนจะตกไปอยู่การครอบครองของราชวงศ์อื่นอีกด้วย เช่นในกรณีที่รัชทายาทลำดับแรกสุดผู้ประสูติแด่พระราชบิดา-มารดาซึ่งฝ่ายหนึ่งสืบเชื้อสายมาจากราชวงศ์ต่างชาติ[6][n 2][n 3] เช่นในกรณีของราชวงศ์ฮับส์บูร์ก ที่แผ่ขยายอิทธิพลของตนผ่านการเสกสมรสกับราชวงศ์ต่าง ๆ และอภิสิทธิ์ทางการเมืองเหนือดินแดนที่ต่อมารวมกันเป็นสวิตเซอร์แลนด์ในปัจจุบัน และในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 13 ราชวงศ์นี้ยังมุ่งเน้นนโยบายการเสกสมรสกับราชวงศ์ในอัลซาซบนและชวาเบีย[7] ซึ่งนโยบายการรวมดินแดนผ่านการเสกสมรสเช่นนี้ประสบความสำเร็จอย่างมาก จนก่อให้เกิดคำขวัญในภาษาละตินว่า Bella gerant alii, tu, felix Austria, nube! ("ปล่อยให้ผู้อื่นทำศึกสงครามไป ส่วนเธอ, ออสเตรียผู้แสนสุข, จงเสกสมรส!")[8]

พระบรมสาทิสลักษณ์ในวัยเยาว์ของพระราชินีนาถแมรีที่ 1 แห่งสกอตแลนด์ และพระเจ้าฟร็องซัวที่ 2 แห่งฝรั่งเศส พระราชสวามี (วาดขึ้นไม่นานหลังจากพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระเจ้าฟร็องซัวที่ 2)

แต่ในบางกรณี พระมหากษัตริย์บางพระองค์ก็จะทรงทำทุกวิถีทางเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการเสกสมรสระหว่างราชวงศ์ เช่นในกรณีของเจ้าหญิงมาเรีย เทเรส พระราชธิดาในพระเจ้าเฟลีเปที่ 4 แห่งสเปน เมื่อเสกสมรสกับพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส ทรงถูกบังคับให้สละราชสิทธิ์ในการสืบราชบัลลังก์สเปน[9] และในบางกรณีเมื่อพระมหากษัตริย์หรือรัชทายาทผู้มีสิทธิโดยตรงยอมเสกสมรสแลกกับข้อตกลงพิเศษ (บางครั้งมาในรูปแบบสนธิสัญญา) จะมีการเจรจาตกลงในประเด็นการสืบราชสมบัติไว้ล่วงหน้า เช่น ข้อตกลงในการเสกสมรสระหว่างพระเจ้าเฟลีเปที่ 2 แห่งสเปน และพระราชินีนาถแมรีที่ 1 แห่งอังกฤษ ที่กำหนดไว้ว่ามรดกจากฝั่งพระมารดา เช่น เบอร์กันดีและกลุ่มประเทศแผ่นดินต่ำ จะถูกมอบให้แก่พระราชโอรส-ธิดาของทั้งสองพระองค์ในอนาคต แต่มรดกในฝั่งของพระบิดา อันประกอบไปด้วยสเปน, เนเปิลส์, ซิซิลี และมิลาน จะตกทอดไปยังดอน การ์โลส พระราชโอรสองค์แรกในพระเจ้าเฟลีเปกับพระนางมารีอา มานูเอลาแห่งโปรตุเกส ซึ่งหากดอน การ์โลส สิ้นพระชนม์โดยปราศจากรัชทายาทแล้ว มรดกฝั่งพระบิดาจึงจะตกทอดไปยังพระราชโอรส-ธิดา อันประสูติจากการเสกสมรสครั้งที่สองกับพระนางแมรี[10] ในทางกลับกัน การเสกสมรสระหว่างพระราชินีนาถแมรีที่ 1 แห่งสกอตแลนด์ กับพระเจ้าฟร็องซัวที่ 2 แห่งฝรั่งเศส (พระราชโอรสและรัชทายาทของพระเจ้าอองรีที่ 2) ในปี พ.ศ. 2101 อันเป็นผลมาจากสนธิสัญญาฝรั่งเศส-สกอตแลนด์ กำหนดว่าหากพระราชินีนาถแมรีสวรรคตโดยปราศจากรัชทายาท จะส่งผลให้ราชบัลลังก์สกอตแลนด์ถูกรวมเข้ากับราชบัลลังก์ฝรั่งเศส[10]

ศาสนามีสายสัมพันธ์อันแนบแน่นกับวงการเมืองของยุโรป เช่น บทบาทสำคัญในระหว่างการเจรจาเพื่อจัดการเสกสมรสขึ้น การเสกสมรสระหว่างเจ้าหญิงฝรั่งเศส มาร์เกอริตแห่งวาลัว กับพระเจ้าอองรีที่ 3 แห่งนาวาร์ (ผู้นำฝ่ายอูเกอโนต์ในฝรั่งเศส) ณ กรุงปารีส พ.ศ. 2105 ปรากฏชัดแจ้งว่าคือความพยายามในการ กระชับมิตร ระหว่างฝ่ายคาทอลิกและฝ่ายโปรเตสแตนท์ในฝรั่งเศส แต่ผลแท้จริงกลับเป็นเพียงกลอุบายลวงดังปรากฏเป็นเหตุการสังหารหมู่วันเซนต์บาโทโลมิว[11] และภายหลังการปฏิรูปศาสนาของอังกฤษ คู่เสกสมรสระหว่างพระมหากษัตริย์อังกฤษกับเจ้าหญิงในรีตโรมันคาทอลิกมักไม่เป็นที่นิยม โดยเฉพาะในกรณีที่พระราชินีไม่ทรงยินยอมที่จะเปลี่ยนไปเข้ารีตโปรเตสแตนท์หลังการเสกสมรส หรืออย่างน้อยที่สุดทรงแอบประกอบพิธีกรรมทางศาสนาของตนแบบลับ ๆ[n 4] ซึ่งต่อมามีการผ่านพระราชบัญญัติว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ในปี พ.ศ. 2243 ที่จำกัดสิทธิ์รัชทายาทผู้เสกสมรสกับชาวคาทอลิกไม่ให้สืบราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์อังกฤษ[13] ส่วนราชวงส์ผู้ปกครองอื่น ๆ อาทิเช่น ราชวงศ์โรมานอฟ[n 5] และราชวงศ์ฮับส์บูร์ก[16] ที่ยินยอมให้มีการเสกสมรสก็ต่อเมื่อคู่เสกสมรสอยู่ในรีตเดียวกันอยู่แล้วหรือเต็มใจที่จะเปลี่ยนรีตของตน เช่น ในปี พ.ศ. 2469 เมื่อเจ้าหญิงอัสตริดแห่งสวีเดนเสกสมรสกับพระเจ้าเลโอโปลด์ที่ 3 แห่งเบลเยียม ที่ทรงตกลงว่าพระราชโอรส-ธิดาจะทรงได้รับการเลี้ยงดูแบบคาทอลิก แต่ไม่ได้กำหนดให้เจ้าหญิงอัสตริดต้องทรงสละรีตลูเทอแรนของพระองค์ แม้กระนั้นก็ยังทรงเปลี่ยนรีตในปี พ.ศ. 2473[17] นอกจากนี้คู่เสกสมรสบางคู่ถูกล้มเลิกเนื่องจากไม่สามารถประณีประนอมทางศาสนาได้ เช่น แผนการอภิเษกสมรสระหว่างพระเจ้าวลาดิสเลาสที่ 4 วาซาแห่งโปแลนด์ (โรมันคาทอลิก) กับเจ้าหญิงเอลิซาเบธแห่งพาลาทิเนต (ลูเทอแรน) ที่ไม่เป็นที่นิยมชมชอบเนื่องจากขุนนางส่วนมากของโปแลนด์เข้ารีตคาทอลิก ดังนั้นแผนดังกล่าวจึงถูกตีตกไปอย่างเงียบ ๆ[18]

ในบางครั้ง การเสกสมรสระหว่างราชวงศ์ผู้ปกครองกับบริวารใต้อาณัติก็สามารถพบเห็นได้ทั่วไป เช่น พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดธรรมสักขีกับอิดิธแห่งเวสเซ็กซ์ และพระเจ้าวลาดิสเลาสที่ 2 ยากีลโลแห่งโปแลนด์กับเอลิซาเบธ กรานอฟสกา ที่รู้จักกันโดยทั่วไปในยุโรปสมัยกลาง อย่างไรก็ตาม ในขณะที่ราชวงศ์ต่าง ๆ เริ่มหันเข้าสู่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชเพื่อรักษาอำนาจบารมีและความจงรักภักดีในหมู่สมาชิกคู่แข่งของระบอบศักดินา สายสัมพันธ์ทางเครือญาติกับตระกูลขุนนางท้องถิ่นจึงค่อย ๆ หายไปในท้ายที่สุด เนื่องจากราชวงศ์ต่าง ๆ หันไปเสกสมรสกับราชวงศ์ต่างชาติมากขึ้น[19][20] การเสกสมรสกับบริวารใต้ปกครองเช่นนี้ฉุดดึงเอาพระมหากษัตริย์ลงมาอยู่ระดับเดียวกับประชาชนในปกครองของพระองค์เอง และมักจะก่อให้เกิดความมักใหญ่ใฝ่สูงของครองครัวสามัญชนคู่เสกสมรส ทั้งยังก่อให้เกิดเรื่องราวความอิจฉาริษยาและการดูหมิ่นเหยียดหยามในหมู่ขุนนางศักดินา ส่วนความคิดที่ว่าพระมหากษัตริย์ควรเสกสมรสกับราชวงศ์หรือพระมหากษัตริย์ต่างชาติเพื่อหลีกเลี่ยงและยุติภัยสงครามนั้น แต่เดิมแนวคิดนี้มีจุดกำเนิดมาจากลัทธิปฏิบัตินิยม ซึ่งในช่วงที่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์กำลังรุ่งเรือง แนวคิดนี้มีส่วนช่วยให้เกิดแนวความคิดที่ว่าการเสกสมรสระหว่างราชวงศ์ผู้ปกครองกับสามัญชนใต้ปกครองของตนคือข้อเสียเปรียบทั้งทางด้านสังคมและการเมือง ซ้ำยังเป็นการละเลยโอกาสที่จะเสกสมรสกับราชวงศ์ต่างชาติให้หลุดลอยไปโดยไร้ประโยชน์[21][22]

โรมันโบราณ[แก้]

แม้จักรพรรดิโรมันมักจะเสกสมรสกับสตรีชาวโรมันด้วยกัน แต่กระนั้นราชวงศ์ผู้ปกครองรัฐบริวารที่อยู่ใต้อาณัติของโรมในแถบตะวันออกใกล้และแอฟริกาเหนือก็มักจะจัดการเสกสรมรสระหว่างราชวงศ์ขึ้นเพื่อสั่งสมฐานอำนาจของตน[23] การเสกสมรสเหล่านี้มักจะต้องได้รับความเห็นชอบหรือในบางโอกาสจัดขึ้นตามพระราชโองการจากองค์จักรพรรดิ ฝ่ายโรมเห็นว่าการเสกสมรสเช่นนี้เท่ากับเป็นการเพิ่มพูนเสถียรภาพแก่บรรดารัฐบริวาร และช่วยป้องกันสงครามยิบย่อยที่จะเกิดขึ้นภายในท้องถิ่น อันจะส่งผลกระทบต่อสันติภาพโรมัน[24] เจ้าหญิงกลาฟีราแห่งแคปพาโดเชีย (Glaphyra of Cappadocia) ได้ชื่อว่าทรงตระเตรียมการเสกสมรสระหว่างราชวงศ์ถึงสามครั้งให้แก่ พระเจ้าจูบาที่ 2 แห่งนูมิเดีย, พระเจ้าอเล็กซานเดอร์แห่งยูเดีย และ เฮโรด อาร์เชเลาสแห่งซามาเรีย[25]

ตัวอย่างของการเสกสมรสเช่นในนี้ในสมัยโรมันได้แก่

  • พระเจ้าโพเลมอนที่ 2 แห่งโพนตัส กับ เบเรนิซแห่งยูเดีย (ธิดาของเฮโรด อะกริปพาที่ 1)[26]
  • พระเจ้าอะริสโตบูลัสที่ 4 แห่งยูเดีย กับ เบเรนิซแห่งยูเดีย (ธิดาของซาโลเม)[27]
  • พระเจ้าอะริสโตบูลัส ไมเนอร์แห่งยูเดีย กับ ไอโอทาพาแห่งเอมีซา[28]

จักรวรรดิไบแซนไทน์[แก้]

ในช่วงเข้าสู่คริสต์ศตวรรษที่ 14 ภูมิภาคอานาโตเลียและบริเวณโดยรอบเต็มไปด้วยรัฐอธิปไตยขนาดเล็ก ทำให้การเสกสมรสระหว่างราชวงศ์คือเครื่องมือสำคัญในการรักษาไว้ซึ่งสัมพันธไมตรีระหว่างรัฐ

แม้ว่าจักรพรรดิบางองค์อย่างจักรพรรดิจัสตินที่ 1 และจักรพรรดิจัสติเนียนที่ 1 จะเสกสมรสกับมเหสีผู้มีพื้นเพต่ำต่อย[n 6] แต่การเสกสมรสระหว่างราชวงศ์ก็ถือว่าเป็นเรื่องปกติในจักรวรรดิไบแซนไทน์ ภายหลังการล้อมกรุงคอนสแตนติโนเปิล พ.ศ. 1747 ราชวงศ์ผู้ปกครองอย่างราชวงศ์ลาสคาริสและราชวงศ์พาลาโอโลกอสเห็นว่าเป็นการรอบคอบแล้วที่จะเสกสมรสกับราชวงศ์ต่างชาติ ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือการเสกสมรสระหว่างจักรพรรดิจอห์นที่ 3 ดูคาส วาตัทซีส กับพระนางคอนสแตนซ์ พระธิดาในจักรพรรดิฟรีดริชที่ 2 แห่งโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ เพื่อเสริมสร้างความเป็นพันธมิตรระหว่างกันให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น[31] ต่อมาจักรพรรดิมิคาเอลที่ 8 พาลาโอโลกอส ทรงเจริญสัมพันธไมตรีกับชาวมองโกลในปี พ.ศ. 1806 และจัดการเสกสมรสระหว่างพระธิดาของพระองค์กับข่านของมองโกลเพื่อเสริมสร้างสัมพันธไมตรีดังกล่าว ประกอบด้วย เจ้าหญิงยูฟรอไซน์ พาลาโอโลกีนากับนอไก ข่านแห่งโกลเดนฮอร์ด และเจ้าหญิงมารีอา พาลาโอโลกีนากับอะบาคา ข่านแห่งจักรวรรดิข่านอิล[32] ในช่วงท้ายคริสต์ศตวรรษดังกล่าว จักรพรรดิอันโดรนิคอสที่ 2 พาลาโอโลกอส ก็ทรงเจริญสัมพันธไมตรีกับกาวานแห่งจักรวรดิข่านอิล รวมถึงตอคตาและอุซเบก ข่านแห่งโกลเดนฮอร์ด นำมาซึ่งการเสกสมรสระหว่างพระธิดาของพระองค์กับบรรดาข่านเหล่านั้น[33]

ผู้ปกครองแห่งจักรวรรดิเทรบิซอนด์ได้ชื่อว่ามักจะจัดการเสกสมรสระหว่างพระธิดาของตนกับรัฐข้างเคียงในฐานะการเจริญสัมพันธไมตรีทางการทูต[n 7] เจ้าหญิงธีโอโดรา มากาเล คอมเนเน พระธิดาในจักรพรรดิจอห์นที่ 4 เสกสมรสกับอุซซุน ข่าน เจ้าแห่งอัค โคยุนลู เพื่อเจริญสัมพันธไมตรีระหว่างกัน ซึ่งแม้ว่าพระนางธีโอโดรา ผู้เป็นชาวคริสต์เคร่งศาสนาและจำต้องมาพำนักอยู่ในรัฐอิสลาม จะสามารถแผ่ขยายอิทธิพลของตนเหนือราชกิจของพระสวามีทั้งในและนอกประเทศได้สำเร็จ แต่สัมพันธไมตรีดังกล่าวจะไม่อาาจยับยั้งการล่มสลายของจักรวรรดิเทรบิซอนด์ได้ในท้ายที่สุดก็ตาม[35]

และแม้ว่าการเสกสมรสเช่นนี้จะเป็นการเสริมสร้างสถานะของจักรวรรดิตามปกติ แต่ก็ปรากฏการเสกสมรสข้ามราชวงศ์ที่เป็นการบั่นทอนเสถียรภาพพระราชอำนาจขององค์จักรพรรดิเป็นบางกรณี เช่น เมื่อจักรพรรดิอันโดรนิคอสที่ 2 พาลาโอโลกอส เสกสมรสกับพระเมหสีองค์ที่ 2 พระนางไอรีนแห่งมอนต์เฟอร์แรต เนื่องจากในปี พ.ศ. 1827 พระนางสร้างความแตกแยกในจักรวรรดิจากพระประสงค์ที่จะให้พระโอรสของตนสืบทอดราชสมบัติร่วมกับเจ้าชายมิคาเอล พระโอรสอันประสูติแด่การเสกสมรสครั้งแรก พระนางยังทรงขู่ด้วยว่าจะเสด็จออกจากกรุงคอนสแตนติโนเปิลอันเป็นเมืองหลวง ไปตั้งราชสำนักของตน ณ เมืองรองของจักรวรรดิอย่างเทสซาโลนีกา[31]

หลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง[แก้]

ในสมัยปัจจุบัน การเสกสมรสระหว่างราชวงศ์ลดจำนวนลงจากสมัยก่อนมาก โดยเฉพาะในบรรดาราชวงศ์ของยุโรป เนื่องจากสมาชิกราชวงศ์ในยุโรปหันมาเสกสมรสกับสมาชิกตระกูลขุนนางท้องถิ่นมากขึ้น เช่นในกรณีของพระเจ้าจอร์จที่ 6 แห่งสหราชอาณาจักร, เจ้าชายชาลส์ เจ้าชายแห่งเวลส์, พระราชาธิบดีอัลแบร์ที่ 2 แห่งเบลเยียม และเจ้าชายฮันส์-อาดัมที่ 2 แห่งลิกเตนสไตน์ หรือเสกสมรสกับสมาชิกตระกูลขุนนางที่ถูกล้มเลิก เช่น พระราชาธิบดีฟีลิปแห่งเบลเยียม, พระราชินีนาถมาร์เกรเธอที่ 2 แห่งเดนมาร์ก และพระราชินีนาถเบียทริกซ์แห่งเนเธอร์แลนด์ หรือแม้กระทั่งกับสามัญชนธรรมดา เช่น พระราชาธิบดีคาร์ลที่ 16 กุสตาฟแห่งสวีเดน, พระราชาธิบดีฮารัลด์ที่ 5 แห่งนอร์เวย์, แกรนด์ดยุกอ็องรีแห่งลักเซมเบิร์ก, พระราชาธิบดีเฟลีเปที่ 6 แห่งสเปน, พระราชาธิบดีวิลเลม-อเล็กซานเดอร์แห่งเนเธอร์แลนด์, เจ้าชายวิลเลียม ดยุกแห่งเคมบริดจ์ และเจ้าชายอัลแบร์ที่ 2 แห่งโมนาโก

ในยุโรป มีเพียงพระราชาธิบดีควน การ์โลสที่ 1 แห่งสเปน, พระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร และเจ้าชายอาโลอิส เจ้าชายรัชทายาทแห่งลิกเตนสไตน์ เท่านั้นที่เสกสมรสกับสมาชิกราชวงศ์ต่างชาติ[n 8][36]

จึงกล่าวได้ว่าการเสกสมรสต่างราชวงศ์ยังคงเกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบัน ดังตัวอย่างต่อไปนี้

การเสกสมรสระหว่างสองราชวงศ์ปกครอง[แก้]
พ.ศ. 2525
ราชวงศ์ลิกเตนสไตน์ ราชวงศ์นัสเซา-ไวล์บูร์ก
เจ้าชายนิโคลัสแห่งลิกเตนสไตน์ และ เจ้าหญิงมาร์การิธาแห่งลักเซมเบิร์ก[37]
(เสกสมรส : วันที่ 20 มีนาคม ณ มหาวิหารน็อทร์-ดามแห่งลักเซมเบิร์ก กรุงลักเซมเบิร์ก ประเทศลักเซมเบิร์ก)
พ.ศ. 2507
ราชวงศ์กลึคส์บูร์ก ราชวงศ์กลึคส์บูร์ก
พระราชาธิบดีคอนสแตนตินที่ 2 แห่งกรีซ และ เจ้าหญิงอันเนอ-มารีแห่งเดนมาร์ก[38]
(เสกสมรส : วันที่ 18 กันยายน ณ มหาวิหารเมืองแห่งเอเธนส์ กรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซ)
พ.ศ. 2505
ราชวงศ์บูร์บง ราชวงศ์กลึคส์บูร์ก
พระราชาธิบดีควน การ์โลสที่ 1 แห่งสเปน และ เจ้าหญิงโซเฟียแห่งกรีซและเดนมาร์ก [39]
(เสกสมรส : วันที่ 14 พฤษภาคม ณ มหาวิหารนักบุญไดโอไนซัส กรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซ)
พ.ศ. 2496
ราชวงศ์นัสเซา-ไวล์บูร์ก ราชวงศ์ซัคเซิน-โคบูร์กและโกทา
แกรนด์ดยุกฌ็องแห่งลักเซมเบิร์ก และ เจ้าหญิงโฌเซฟีน-ชาร์ล็อตแห่งเบลเยียม[40]
(เสกสมรส : วันที่ 9 เมษายน ณ มหาวิหารน็อทร์-ดามแห่งลักเซมเบิร์ก กรุงลักเซมเบิร์ก ประเทศลักเซมเบิร์ก)
พ.ศ. 2490
ราชวงศ์วินด์เซอร์ ราชวงศ์กลึคส์บูร์ก
พระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร และ เจ้าชายฟิลิปปอสแห่งกรีซและเดนมาร์ก[41]
(เสกสมรส : วันที่ 20 พฤศจิกายนเวสต์มินสเตอร์แอบบีย์ กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร)
พ.ศ. 2487
ราชวงศ์คาราจอร์เจวิช ราชวงศ์กลึคส์บูร์ก
พระเจ้าปีเตอร์ที่ 2 แห่งยูโกสลาเวีย และ เจ้าหญิงอเล็กซานดราแห่งกรีซและเดนมาร์ก[42]
(เสกสมรส : วันที่ 20 มีนาคมกรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร)
พ.ศ. 2478
ราชวงศ์กลึคส์บูร์ก ราชวงศ์เบอร์นาดอตต์
พระเจ้าเฟรเดอริกที่ 9 แห่งเดนมาร์ก และ เจ้าหญิงอิงกริดแห่งสวีเดน[43]
(เสกสมรส : วันที่ 24 กุมภาพันธ์ ณ มหาวิหารใหญ่ กรุงสต็อกโฮล์ม ประเทศสวีเดน)
พ.ศ. 2477
ราชวงศ์วินด์เซอร์ ราชวงศ์กลึคส์บูร์ก
เจ้าชายจอร์จ ดยุกแห่งเคนต์ และ เจ้าหญิงมารีนาแห่งกรีซและเดนมาร์ก[44]
(เสกสมรส : วันที่ 29 พฤศจิกายนเวสต์มินสเตอร์แอบบีย์ กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร)
พ.ศ. 2473
ราชวงศ์ซาวอย ราชวงศ์ซัคเซิน-โคบูร์กและโกทา
พระเจ้าอุมแบร์โตที่ 2 แห่งอิตาลี และ เจ้าหญิงมารี-โจเซแห่งเบลเยียม[45]
(เสกสมรส : วันที่ 8 มกราคมกรุงโรม ประเทศอิตาลี)
พ.ศ. 2473
ราชวงศ์ซัคเซิน-โคบูร์ก-โกทาและโคฮารี ราชวงศ์ซาวอย
พระเจ้าซาร์บอริสที่ 3 แห่งบัลแกเรีย และ เจ้าหญิงโจวันนาแห่งอิตาลี[46]
(เสกสมรส : วันที่ 25 ตุลาคมเมืองอัสซีซี ประเทศอิตาลี)
พ.ศ. 2472
ราชวงศ์กลึคส์บูร์ก ราชวงศ์เบอร์นาดอตต์
พระราชาธิบดีโอลาฟที่ 5 แห่งนอร์เวย์ และ เจ้าหญิงมาร์ธาแห่งสวีเดน[47]
(เสกสมรส : วันที่ 21 มีนาคมกรุงออสโล ประเทศนอร์เวย์)
พ.ศ. 2469
ราชวงศ์ซัคเซิน-โคบูร์กและโกทา ราชวงศ์เบอร์นาดอตต์
พระเจ้าเลโอโปลด์ที่ 3 แห่งเบลเยียม และ เจ้าหญิงอัสตริดแห่งสวีเดน[48]
(เสกสมรส : วันที่ 4 พฤศจิกายนกรุงสต็อกโฮล์ม ประเทศสวีเดน [พิธีทางรัฐ] และวันที่ 10 พฤศจิกายน ณ มหาวิหารนักบุญไมเคิลและกูดูลา กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม [พิธีทางศาสนา])
พ.ศ. 2466
ราชวงศ์เบอร์นาดอตต์ ราชวงศ์แบตเตนเบิร์ก
พระเจ้ากุสตาฟที่ 6 อดอล์ฟแห่งสวีเดน และ เลดีหลุยส์ เมาต์แบตแตน[49]
(เสกสมรส : วันที่ 3 พฤศจิกายนพระราชวังเซนต์เจมส์ กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร)
พ.ศ. 2465
ราชวงศ์คาราจอร์เจวิช ราชวงศ์โฮเฮนซอลเลิร์น-ซิกมาริงเงิน
พระเจ้าอเล็กซานเดอร์ที่ 1 แห่งยูโกสลาเวีย และ เจ้าหญิงมาเรียแห่งโรมาเนีย[37][50]
(เสกสมรส : วันที่ 8 มิถุนายนกรุงเบลเกรด ประเทศยูโกสลาเวีย)
การเสกสมรสกับราชวงศ์ปกครอง[แก้]
กรณีตัวอย่างในปัจจุบัน[แก้]
  • เจ้าชายคะนุด เจ้าชายรัชทายาทแห่งเดนมาร์ก และ เจ้าหญิงคาโรไลน์-มาทิลด์แห่งเดนมาร์ก (พ.ศ. 2476) [n 9]

และเนื่องจากการเสกสมรสระหว่างราชวงศ์นี้ ทำให้พระประมุขยุโรปในปัจจุบัน 10 พระองค์มีบรรพบุรุษพระองค์เดียวกันคือโยฮัน วิลเลม ฟรีโซ เจ้าชายแห่งออร์เรนจ์[61]

สายสัมพันธ์ทางเครือญาติที่ใกล้ชิดที่สุดระหว่างพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 และพระมหากษัตริย์ในทวีปยุโรปพระองค์อื่น ๆ
พระนาม ประเทศ ชั้นพระญาติ บรรพบุรุษร่วมพระองค์ล่าสุด วันสวรรคตของบรรพบุรุษ ลำดับรุ่นทายาทนับจาก
โยฮัน วิลเลม ฟรีโซ
พระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 สหราชอาณาจักร - - - รุ่นที่ 9
พระราชาธิบดีฮารัลด์ที่ 5 นอร์เวย์ ชั้นที่ 2 พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 7 แห่งสหราชอาณาจักร 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2453 รุ่นที่ 10
พระราชินีนาถมาร์เกรเธอที่ 2 เดนมาร์ก ชั้นที่ 3 พระเจ้าคริสเตียนที่ 9 แห่งเดนมาร์ก 29 มกราคม พ.ศ. 2449 รุ่นที่ 10
พระราชาธิบดีคาร์ลที่ 16 กุสตาฟ สวีเดน ชั้นที่ 3 พระราชินีนาถวิกตอเรียแห่งสหราชอาณาจักร 22 มกราคม พ.ศ. 2444 รุ่นที่ 10
พระราชาธิบดีเฟลีเปที่ 6 สเปน ชั้นที่ 3 พระราชินีนาถวิกตอเรียแห่งสหราชอาณาจักร 22 มกราคม พ.ศ. 2444 รุ่นที่ 11
พระราชาธิบดีอัลแบร์ที่ 2 เบลเยียม ชั้นที่ 3 พระเจ้าคริสเตียนที่ 9 แห่งเดนมาร์ก 29 มกราคม พ.ศ. 2449 รุ่นที่ 10
แกรนด์ดยุกอ็องรี ลักเซมเบิร์ก ชั้นที่ 3 พระเจ้าคริสเตียนที่ 9 แห่งเดนมาร์ก 29 มกราคม พ.ศ. 2449 รุ่นที่ 10
พระราชาธิบดีวิลเลม-อเล็กซานเดอร์ เนเธอร์แลนด์ ชั้นที่ 5 ดยุกฟรีดริชที่ 2 ออยเกินแห่งเวือร์ทเทิมแบร์ค 25 ธันวาคม พ.ศ. 2340 รุ่นที่ 10
เจ้าชายฮันส์-อาดัมที่ 2 ลิกเตนสไตน์ ชั้นที่ 7 โยฮัน วิลเลม ฟรีโซ เจ้าชายแห่งออร์เรนจ์ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2254 รุ่นที่ 10
เจ้าชายอาลแบร์ที่ 2 โมนาโก ชั้นที่ 7 โยฮัน วิลเลม ฟรีโซ เจ้าชายแห่งออร์เรนจ์ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2254 รุ่นที่ 11

ทวีปเอเชีย[แก้]

ไทย[แก้]

ในประวัติศาสตร์ ปรากฏการเสกสมรสในหมู่พระญาติของราชวงศ์จักรีหลายครั้ง[62] แต่น้อยครั้งที่จะปรากฏการเสกสมรสระหว่างพระราชวงศ์ไทยกับชาวต่างชาติ หรือแม้แต่กับเชื้อพระวงศ์ต่างชาติ เนื่องจากกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช 2467 หมวดที่ 11 ต้องห้ามมิให้เจ้านายเชื้อพระวงศ์ที่มีพระชายาเป็นชาวต่างประเทศได้สืบราชสันตติวงศ์[63]

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเป็นพระญาติชั้นที่หนึ่ง (ตามแบบตะวันตก) กับสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ซึ่งทั้งสองพระองค์ต่างก็เป็นพระราชนัดดา (ในกรณีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว) และพระปนัดดา (ในกรณีของสมเด็จพระบรมราชินีนาถ) ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวด้วยกันทั้งสองพระองค์[64] เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระชายาหลายพระองค์ ในจำนวนนั้นมีศักดิ์เป็นพระขนิษฐาของพระองค์เอง เช่น สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา และสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี ซึ่งล้วนแล้วแต่มีพระบิดาร่วมกันคือ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว[65]

จีน[แก้]

แบบแผนการเสกสมรสในประวัติศาสตร์จีนเปลี่ยนแปลงไปตามแต่ละยุคสมัยของแต่ละราชวงศ์ ในช่วงราชวงศ์ถัง (พ.ศ. 1161 - 1147) พระจักรพรรดิทรงมักจะมอบพระธิดาให้ไปเสกสมรสกับผู้ปกครองอาณาจักรข่านอุยกูร์ เพื่อเสริมสร้างสัมพันธไมตรีพิเศษทางการค้าและการทหาร หลังจากที่อาณาจักรข่านสนับสนุนจีนในการปราบปรามกบฏอันลู่เชียน[66] ปรากฏเจ้าหญิงราชวงศ์ถังอย่างน้อย 3 พระองค์ที่ได้เสกสมรสกับพระเจ้าข่านในช่วง พ.ศ. 1301 ถึง พ.ศ. 1364 ก่อนที่สัมพันธไมตรีนี้จะถูกระงับลงชั่วคราวในปี พ.ศ. 1331 ซึ่งเชื่อกันว่ามีสาเหตุมากจากเสถียรภาพภายในจักรวรรดิจีนที่มั่นคงมาก จนส่งผลให้อาณาจักรข่านถูกลดบทบาทลง อย่างไรก็ตาม ด้วยภัยคุกคามจากทิเบตทางทิศตะวันตก จักรวรรดิจีนจึงต้องรื้อฟื้นความสัมพันธ์กับข่านอุยกูร์ขึ้นมาอีกครั้ง และจัดการเสกสมรสระหว่างเจ้าหญิงไท้เห๋อกับข่านบิลเกอ[66]

ส่วนพระจักรพรรดิของราชวงศ์ถัดมาอย่างราชวงศ์ซ่ง (พ.ศ. 1503 - 1822) มีแนวโน้มที่จะเสกสมรสกับสตรีจีนมากกว่าสตรีต่างชาติ แม้ว่าในช่วงราชวงศ์ถังพระจักรพรรดินิยมเสกสมรสกับสตรีสูงศักดิ์จากตระกูลขุนนาง แต่ในราชวงศ์ซ่งกลับไม่ได้ให้ความสำคัญกับยศฐาบรรดาศักดิ์ของสตรีที่จะมาเป็นพระมเหสีมากเท่าใดนัก[67] ประมาณกันว่ามีพระมเหสีราชวงศ์ซ่งจำนวนหนึ่งในสี่เท่านั้นที่มาจากตระกูลสูงศักดิ์ ส่วนจำนวนที่เหลือล้วนแล้วแต่มีพื้นเพต่ำต่อยมาก่อน ตัวอย่างเช่น จักรพรรดินีหลิว พระอัครมเหสีในจักรพรรดิซ่งเจินจง ที่เคยเป็นนักแสดงตามท้องถนนมาก่อน หรือพระมเหสีเหมียวในจักรพรรดิซ่งเหรินจง ผู้เป็นธิดาของพระนม (แม่นม) ของพระจักรพรรดิเอง[67]

ในช่วงราชวงศ์ชิง (พ.ศ. 2187 - 2455) พระจักรพรรดิทรงเลือกพระมเหสีจากหนึ่งในตระกูลของแปดกองธงเป็นหลัก (ระบบซึ่งแบ่งแยกตระกูลชาวแมนจูพื้นเมืองออกเป็นกลุ่มกอง)[68] เพื่อดำรงไว้ซึ่งความบริสุทธิ์ในเชื้อสายชาวแมนจูของราชวงศ์ ซึ่งหลังจากที่จักรพรรดิคังซี (พ.ศ. 2205 - 2265) เสด็จสวรรคต จักรพรรดิและเจ้าชายในรุ่นต่อมาก็ทรงถูกห้ามไม่ให้เสกสมรสกับสตรีที่ไม่ใช่ชาวแมนจู[69] แต่ไม่ได้จำกัดการเสกสมรสของเจ้าหญิงตามกฏนี้แต่ประการใด แม้กระนั้นก็ตาม เจ้าหญิงหลายพระองค์ก็ทรงถูกจัดการเสกสมรสกับเจ้าชายมองโกลอยู่เสมอ ๆ ตามแบบขนบราชวงศ์ก่อนหน้า เพื่อเสริมสร้างสัมพันธไมตรีทางการเมืองและการทหาร โดยเฉพาะในช่วงต้นของราชวงศ์ที่ปรากฏการเสกสมรสกับเจ้าชายมองโกลของพระธิดาในจักรพรรดิหนูเอ่อร์ฮาชื่อจำนวน 9 พระองค์ และพระธิดาในจักรพรรดิฉงเต๋อจำนวน 12 พระองค์[69]

ญี่ปุ่นและเกาหลี[แก้]

พระฉายาลักษณ์การเสกสมรสระหว่างมกุฎราชกุมารอีอึนแห่งเกาหลี และเจ้าหญิงมะซะโกะแห่งนะชิโมะโตะจากญี่ปุ่น

ในสมัยอาณาจักรชิลลา มีขนบธรรมเนียมที่จำกัดการสืบราชสมบัติไว้สำหรับเชื้อพระวงศ์ในชั้น ซองกอล (กระดูกศักดิ์สิทธิ์) โดยเฉพาะ ดังนั้นเชื้อพระวงศ์ที่มีบรรดาศักดิ์ในชั้นนี้จึงต้องรักษาไว้ซึ่งบรรดาศักดิ์ของตนด้วยการเสกสมรสกับเชื้อพระวงศ์หรือสมาชิกขุนนางในชั้นเดียวกัน เช่นเดียวกับวิถีปฏิบัติในทวีปยุโรปที่เชื้อพระวงศ์มักจะเสกสมรสกับเชื้อพระวงศ์ด้วยกันเองเพื่อคงไว้ซึ่งความบริสุทธิ์ในสายพระโลหิต[70]

ส่วนในญี่ปุ่น การเสกสมรสในหมู่เชื้อพระวงศ์ด้วยกันเองและกับเชื้อพระวงศ์ต่างชาติจากจักรวรรดิเกาหลีถือเป็นเรื่องปกติและไม่ได้สร้างความด่างพร้อยต่อสายพระโลหิตอันบริสุทธิ์แต่อย่างใด[71] ตามพงศาวดารโชะคุนิฮงงิ ซึ่งถูกเขียนขึ้นโดยพระราชโองการของพระจักรพรรดิจนสำเร็จครบถ้วนในปี พ.ศ. 1340 กล่าวว่าจักรพรรดิคัมมุที่ทรงปกครองตั้งแต่ พ.ศ. 1324 ถึง พ.ศ. 1349 มีพระราชมารดาเป็นพระสนมชาวเกาหลีนามว่า พระนางนิอิงะซะแห่งทะกะโนะ ผู้สืบเชื้อสายมาจากพระเจ้ามูรยองแห่งแพ็กเจ หนึ่งในสามราชอาณาจักรเกาหลี[71]

ในยุคสมัยใหม่ ในปี พ.ศ. 2463 มกุฎราชกุมารอีอึนแห่งเกาหลี เสกสมรสกับเจ้าหญิงมะซะโกะแห่งนะชิโมะโตะ และในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2474 เจ้าชายอีกอน พระราชนัดดาในจักรพรรดิโกจง เสกสมรสกับมะซึดะอิระ โยะซิโกะ พระญาติของเจ้าหญิงมะซะโกะ ซึ่งทางการญี่ปุ่นมองว่าการเสกสมรสระหว่างเชื้อพระวงศ์ญี่ปุ่น-เกาหลีเช่นนี้จะช่วยสร้างเสถียรภาพในการปกครองอาณานิคมเกาหลีของญี่ปุ่น ทั้งยังเป็นการรวมสายพระโลหิตของราชวงศ์ญี่ปุ่นเข้ากับราชวงศ์อีของเกาหลีอีกด้วย[71]

ทวีปแอฟริกา[แก้]

การเสกสมรสในหมู่เชื้อพระวงศ์เดียวกันก็ถือเป็นเรื่องปกติในแอฟริกากลางเช่นเดียวกัน[72] การเสกสมรสระหว่างราชวงศ์สวาซิแลนด์ ราชวงศ์ชาวซูลู และราชวงศ์ชาวเทมบู ในแอฟริกาใต้ก็สามารถพบเห็นได้เป็นการทั่วไป[73] เช่น ในปี พ.ศ. 2520 เซนานี แมนเดลา เชื้อพระวงศ์เทมบูและลูกสาวของอดีตประธานาธิบดีแอฟริกาใต้ เนลสัน แมนเดลา แต่งงานกับเจ้าชายทัมบูมูซี ดลามีนี พระอนุชาในพระราชาธิบดีอึมสวาตีที่ 3 แห่งสวาซิแลนด์[74]

กรณีตัวอย่างในประวัติศาสตร์การเสกสมรสระหว่างราชวงศ์ในแอฟริกา เช่น

โลกมุสลิม[แก้]

อัล-อันดาลัส[แก้]

ในช่วงตั้งแต่การพิชิตอิสปาเนียของอุมัยยัด (Umayyad conquest of Hispania) จนถึงช่วงเรกองกิสตา การเสกสมรสระหว่างเชื้อพระวงศ์สเปนและรัฐเคาะลีฟะฮ์อุมัยยัดถือเป็นเรื่องปกติ การเสกสมรสครั้งแรก ๆ เช่นระหว่างอับด์ อัล-อะซิส อิบน์ มูซา และเอกิโลนา ในช่วงเข้าสู่คริสต์ศตวรรษที่ 8 ที่หวังจะช่วยให้การยึดครองคาบสมุทรไอบีเรียของฝ่ายมุสลิมมีความชอบธรรม[77] ส่วนการเสกสมรสในครั้งถัด ๆ มา มีจุดประสงค์ก็เพื่อตกลงในสนธิสัญญาการค้าระหว่างพระมหากษัตริย์ในศาสนาคริสต์และเคาะลีฟะฮ์มุสลิม[78] เช่น การเสกสมรสระหว่างพระเจ้าอัลฟอนโซที่ 6 แห่งลีออนและคาสตีล กับเซอีดาแห่งเซวิลล์ โดยเชื่อกันว่าเชื้อพระวงศ์ยุโรปส่วนมากมีบรรพบุรุษที่สามารถสืบค้นย้อนไปถึงครอบครัวของศาสดามูฮัมหมัด แต่ข้อสันนิษฐานนี้ยังคงเป็นที่ถกเถียงอยู่ในปัจจุบัน[78]

จักรวรรดิออตโตมัน[แก้]

ในจักรวรรดิออตโตมัน สุลต่านและเจ้าชายหลายพระองค์ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 14 และ 15 นิยมเสกสมรสดับสมาชิกราชวงศ์ปกครองของรัฐข้างเคียง[79]โดยไม่สนใจในข้อจำกัดด้านศาสนา สุลต่านออตโตมันเสกสมรสกับทั้งชาวคริสต์และมุสลิมด้วยจุดประสงค์ทางการเมืองล้วน ๆ เนื่องจากออตโตมันรายล้อมไปด้วยรัฐข้างเคียงที่อาจเป็นศัตรูได้ในอนาคต เช่น ชาวคริสต์อย่างจักรวรรดิไบแซนไทน์หรือเซอร์เบีย หรือมุสลิมด้วยกันเองอย่างราชรัฐเบย์ลิกในอานาโตเลีย (Anatolian beyliks) ต่าง ๆ อาทิเช่น ดูลกาดิช, จาร์เมียนิดส์, ซารุคานิดส์ และคารามานิดส์ ดังนั้นการเสกสมรสระหว่างราชวงศ์จึงเป็นหนทางในสร้างสัมพันธไมตรีกับรัฐเหล่านี้[79] แต่ต่อมาในปี พ.ศ. 2047 การเสกสมรสกับราชวงศ์ต่างชาติดูเหมือนจะหยุดชะงักลง โดยปรากฏการเสกสมรสเช่นนี้ครั้งสุดท้ายในปี พ.ศ. 1978 ระหว่างสุลต่านมูรัดที่ 2 กับมารา บรานโควิช พระราชธิดาในพระเจ้าดูราด บรานโควิชแห่งเซอร์เบีย ซึ่ง ณ เวลานี้ จักรวรรดิออตโตมันได้สั่งสมฐานอำนาจมากพอที่จะผนวกรวมหรือปราบปรามบรรดารัฐคู่แข่งในอดีตได้สำเร็จ การเสกสมรสกับราชวงศ์ต่างชาติในฐานะเครื่องมือด้านนโยบายการต่างประเทศจึงหมดความสำคัญลง[79]

เนื่องจากหลักศาสนาอิสลาม kafa'a ไม่สนับสนุนการแต่งงานกับบุคคลจากต่างศาสนาหรือจากต่างฐานันดร[n 10] ดังนั้นผู้ปกครองของชาติมุสลิมในบริเวณใกล้เคียงจึงไม่ยอมมอบธิดาของตนให้เสกสมรสกับเจ้าชายออตโตมันไปจนกระทั่งคริสต์ศตวรรษที่ 15 หลังจากที่จักรวรรดิออตโตมันสั่งสมอำนาจจนทวีความสำคัญขึ้นมา และด้วยหลักศาสนานี้เองที่ทำให้เจ้าชายออตโตมันสามารถเสกสมรสกับสตรีชาวคริสต์ได้อย่างอิสระ ในขณะที่เจ้าหญิงมุสลิมกลับถูกกีดกันไม่ให้เสกสมรสกับเจ้าชายชาวคริสต์[81]

หลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง[แก้]

ในยุคสมัยใหม่ ปรากฏการเสกสมรสระหว่างสมาชิกราชวงศ์ของรัฐอิสลาม เช่น จอร์แดน โมรอคโค ซาอุดิอาระเบีย และรัฐสมาชิกในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ดังตัวอย่างได้แก่

การเสกสมรสต่างฐานันดร[แก้]

อาร์ชดยุกฟรันซ์ แฟร์ดีนันด์แห่งออสเตรีย และพระชายาต่างฐานันดร เคาน์เตสโซฟี โชเต็ค

ในช่วงเวลาหนึ่ง หลายราชวงศ์ถือปฏิบัติตามขนบการเสกสมรสต่างราชวงศ์อย่างเคร่งครัด เช่น ราชวงศ์เบอร์นาดอตต์ ราชวงศ์ฮับส์บูร์ก ราชวงศ์ซิซิลี ราชวงศ์บูร์บงในสเปน และราชวงศ์โรมานอฟ ถึงกับตรากฎประจำราชวงศ์ขึ้นเพื่อใช้เป็นระเบียบในการเสกสมรสกับต่างราชวงศ์[86] และให้ความสำคัญอย่างมากว่าเชื้อพระวงศ์จะต้องเสกสมรสกับบุคคลจากฐานันดรเดียวกัน (เช่น เชื้อพระวงศ์ต่างชาติ) ดังนั้นจึงมีการกีดกันแม้กระทั่งขุนนางคนโตที่สุดจากตระกูลศักดินาออกไป[87]

โดยทั่วไปแล้วการแต่งงานต่างฐานันดรคือการที่บุรุษจากตระกูลสูงแต่งงานกับสตรีจากฐานันดรที่ต่ำกว่า (เช่น ธิดาจากตระกูลขุนนางระดับล่างหรือตระกูลสามัญชน)[88] และตามปกติแล้ว บุตรที่เกิดจากการแต่งงานไม่สามารถอ้างสิทธิ์ในการสืบราชสกุล บรรดาศักดิ์ ฐานันดร หรือมรดกที่ยกให้ แต่บุตรเหล่านี้ถือว่าเป็นบุตรที่ถูกต้องตามกฎหมายในประเด็นอื่น ๆ และถูกใช้ห้ามปรามไม่ให้มีการพหุสมรส[89]

กรณีตัวอย่างของการเสกสมรสต่างฐานันดร เช่น

การเสกสมรสในสายโลหิตเดียวกัน[แก้]

พระราชมารดาในพระเจ้าการ์โลสที่ 2 แห่งสเปน พระนางมาเรียนาแห่งออสเตรีย เป็นพระภาคิไนย (หลานอา) ในพระเจ้าเฟลีเปที่ 4 พระราชสวามีของพระองค์เอง

เมื่อกาลเวลาผ่านไป จำนวนยีนทั้งหมดในแหล่งหรือ ยีนพูล (Gene pool) ภายในราชวงศ์ปกครองมีจำนวนลดลง จากการเสกสมรสภายในเครือญาติเนื่องจากจำนวนคู่สมรสที่เหมาะสมมีจำนวนจำกัด (ก่อนที่สายสัมพันธ์ของราชวงศ์ต่าง ๆ ในยุโรปจะข้องเกี่ยวเป็นเครือญาติกันทั้งหมด) ส่งผลให้เชื้อพระวงศ์หลายพระองค์สืบราชสันตติวงศ์มาจากบรรพบุรุษพระองค์เดียวกันผ่านสายราชวงศ์ต่าง ๆ เช่น เชื้อพระวงศ์ยุโรปหลายพระองค์ที่สืบราชสันตติวงศ์จากพระราชินีนาถวิกตอเรียแห่งสหราชอาณาจักร หรือ พระเจ้าคริสเตียนที่ 9 แห่งเดนมาร์ก[94] รวมถึงราชวงศ์ฮับส์บูร์กที่ได้ชื่อว่านิยมการเสกสมรสในสายโลหิตเดียวกัน จนนำไปตั้งเป็นชื่อของความผิดปกติที่พบได้บ่อยภายในเครือญาติอย่างภาวะคางยื่น (Prognathism) ว่า ริมฝีปากฮับส์บูร์ก (Habsburg lip) แม้จะไม่มีหลักฐานทางพันธุกรรมมายืนยันข้อสันนิษฐานดังกล่าวก็ตาม ราชวงศ์วงที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันอย่างราชวงศ์ฮับส์บูร์ก ราชวงศ์บูร์บง ราชวงศ์บรากันซา และราชวงศ์วิตเตลส์บาค[n 11] ก็มักจะจัดการเสกสมรสในหมู่พระญาติชั้นที่หนึ่งบ่อยครัง หรือในหมู่พระญาติชั้นรองระหว่างพระปิตุลา (ลุง) กับพระภาคิไนย (หลานอา) เป็นครั้งคราว[95][96]

ตัวอย่างการเสกสมรสที่ผิดประเพณีและผลกระทบที่ตามมา เช่น

  • ผู้ปกครองทุกพระองค์ในราชวงศ์ทอเลมีตั้งแต่พระเจ้าทอเลมีที่ 2 เป็นต้นมา เสกสมรสกับพระเชษฐา พระอนุชา พระเชษฐภคินี หรือพระขนิษฐาของพระองค์เองทั้งสิ้น เพื่อรักษา "ความบริสุทธิ์" ของสายพระโลหิต และเพื่อดำรงไว้ซึ่งสายการสืบราชสันตติวงศ์ในหมู่พระญาติ กรณีที่เป็นที่รู้จักมากที่สุดคือกรณีของคลีโอพัตราที่ 7 (หรือ คลีโอพัตราที่ 6) ที่เสกสมรสกับพระเจ้าทอเลมีที่ 13 ธีออส ฟิโลปาตอร์ พระอนุชาของพระองค์ และทรงปกครองอียิปต์โบราณร่วมกันหลังการสวรรคตของพระราชบิดา[97]
  • ฌ็องที่ 5 แห่งอาร์มาญัก ที่ทรงคบชู้กับพระขนิษฐาของตน ซึ่งนับว่าเป็นกรณีที่พบเห็นได้ยาก[98] แต่หลังจากนั้นกลับทอดทิ้งบุตรของตนไปและเสกสมรสใหม่อีกครั้ง ทั้งนี้ไม่มีหลักฐานใดที่แสดงว่าการสมรสกับพระขนิษฐาของตนเกิดขึ้นด้วยเหตุผลการเสกสมรสต่างราชวงศ์ หากแต่ด้วยเหตุผลส่วนพระองค์[98]
  • หนึ่งในตัวอย่างที่โด่งดังที่สุดของลักษณะทางพันธุกรรมอันเกิดจากการเสกสมรสในหมู่ราชวงศ์เดียวกันคือ ภาวะคางยื่นของราชวงศ์ฮับส์บูร์ก หรือ ฮับสบูร์กาอุนทาลิพเพอ (Habsburger Unter Lippe; ริมฝีปากฮับส์บูร์ก หรือขากรรไกรฮับส์บูร์ก) ซึ่งปรากฏในหมู่พระญาติและเชื้อพระวงศ์ฮับส์บูร์กหลายพระองค์ตลอดช่วงหกศตวรรษ[99]

หมายเหตุ[แก้]

  1. ราชวงศ์ผู้ปกครอง (อังกฤษ: Reigning houses, Ruling houses) คือราชวงศ์ที่ดำรงสถานะเป็นพระประมุขแห่งรัฐอธิปไตยหนึ่งแห่งขึ้นไป
  2. พระเจ้าจอร์จที่ 1 เสวยราชย์ขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์แห่งบริเตนใหญ่ด้วยราชสันตติวงศ์ของพระราชมารดา โซเฟียแห่งฮาโนเวอร์ ซึ่งสืบราชสันตติวงศ์มาจากพระเจ้าเจมส์ที่ 6 และที่ 1
  3. ราชบัลลังก์แห่งอารากอนและคาสตีลถูกรวมเข้าด้วยกันภายใต้การปกครองของราชวงศ์ฮับส์บูร์ก เมื่อจักรพรรดิคาร์ลที่ 5 แห่งโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ ขึ้นเสวยราชบัลลังก์ของทั้งสองอาณาจักรด้วยราชสันตติวงศ์ของพระราชบิดา-มารดา พระเจ้าเฟลีเปที่ 1 แห่งคาสตีล (กษัตริย์แห่งคาสตีล) และโจแอนนาแห่งอารากอน สมเด็จพระราชินีแห่งคาสตีล (กษัตริย์แห่งอารากอน)[6]
  4. ตัวอย่างที่ชัดเจนคือกรณีการเสกสมรสระหว่างพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 แห่งอังกฤษ กับเจ้าหญิงคาทอลิก เฮนเรียตตา มาเรียแห่งฝรั่งเศส เมื่อพระนางเฮนเรียตตาทรงประกอบพิธีกรรมทางศาสนาแบบคาทอลิดอย่างเปิดเผยและยืนกรานที่จะคงผู้ติดตามชาวคาทอลิกของพระองค์ไว้ ซึ่งในขณะนั้นเป็นช่วงขันติธรรมทางศาสนาในสังคมอังกฤษ ทำให้พระนางเป็นพระราชินีที่สาธารณชนไม่นิยมชมชอบ[12]
  5. เชื้อพระวงศ์รัสเซียมักเสกสมรสกับเจ้าหญิงต่างชาติก็ต่อเมื่อทรงเปลี่ยนมาเข้ารีตออร์โธดอกซ์รัสเซียเท่านั้น[14] เช่น เจ้าหญิงอลิกซ์แห่งเฮสส์ พระมเหสีในซาร์นิโคลัสที่ 2 ที่ทรงเปลี่ยนจากลูเทอแรน[15]
  6. ว่ากันว่าพระมเหสีจักรพรรดิจัสตินที่ 1 นามว่าพระนางยูเฟเมีย เคยเป็นทั้งทาสและอนารยชนมาก่อน[29] ส่วนพระเมสีของจักรพรรดิจัสติเนียนที่ 2 พระนางธีโอโดรา เคยเป็นนักแสดง บ้างก็อ้างว่าเป็นโสเภณีอีกด้วย[30]
  7. โดนัลด์ แมคกิลลิฟเรย์ นิคอล กล่าวไว้ในหนังสือ The Last Centuries of Byzantium 1261–1453 ว่า "บรรดาพระธิดาของจักรพรรดิอะเล็กซิออสที่ 2 แห่งเทรบิซอนด์ เสกสมรสกับเอมีร์แห่งซีโนปและเอร์ซินจาน ส่วนบรรดาพระนัดดาของพระองค์ก็เสกสมรสเอมีร์แห่งชาลิเบีย ในขณะที่บรรดาพระปนัดดาของพะรองค์ (พระธิดาในจักรพรรดิอะเล็กซิออสที่ 3 ผู้สวรรคตในปี พ.ศ. 1933) ก็ถวายตัวรับใช้จักวรรดิเช่นเดียวกัน"[34]
  8. ทั้งพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร และพระราชาธิบดีควน การ์โลสที่ 1 แห่งสเปน ต่างก็เสกสมรสกับสมาชิกราชวงศ์กรีก ได้แก่ เจ้าชายฟิลิปแห่งกรีซและเดนมาร์ก และเจ้าหญิงโซเฟียแห่งกรีซและเดนมาร์ก ตามลำดับ ในปี พ.ศ. 2536 เจ้าชายอาโลอิส รัชทายาทแห่งลิกเตนสไตน์ เสกสมรสกับดัชเชสโซฟีในบาวาเรีย สมาชิกราชวงศ์วิตเตลส์บาค[36] ซึ่งทั้งราชวงศ์กรีก (ราชวงศ์กลึคสบวร์ก) และราชวงศ์วิตเตลส์บาคต่างก็ไม่ได้ปกครองรัฐอธิปไตยเช่นในอดีต
  9. เจ้าชายคะนุด เจ้าชายรัชทายาทแห่งเดนมาร์ก เสกสมรสกับเจ้าหญิงคาโรไลน์-มาทิลด์แห่งเดนมาร์กในปี พ.ศ. 2476 ซึ่งทั้งสองพระองค์ต่างก็เป็นพระญาติชั้นที่หนึ่งของกันและกัน ทั้งยังเป็นสมาชิกราชวงศ์กลึคสบวร์กและพระนัดดาของสมเด็จพระเจ้าเฟรเดอริกที่ 8 แห่งเดนมาร์กร่วมกัน[60]
  10. คาโรลีน เฟลอห์-ลอบบาน อธิบายในบทความ Islamic Law and Society in the Sudan ว่า "เป็นการดีกว่าที่สตรีชาวมุสลิมจะเปลี่ยนศาสนาไปเป็นอิสลามก่อนการสมรสกับชายชาวมุสลิม แต่ถึงกระนั้นก็ไม่ถึงกับว่าจำเป็นต้องทำทุกครั้งเสมอไป ในขณะที่ชายที่ไม่ใช่มุสลิมกลับจำเป็นต้องเปลี่ยนศาสนาก่อนการสมรสกับสตรีชาวมุสลิมทุกครั้ง"[80]
  11. เชื้อพระวงศ์วิตเตลส์บาคหลายพระองค์ประสบกับภาวะวิกลจริต ส่วนหนึ่งมีสาเหตุมาจากการเสกสมรสในเครือญาติบ่อยครั้ง สมาชิกราชวงศ์หลายพระองค์ประสบกับทั้งภาวะผิดปกติทั้งทางร่างกายและทางจิตใจเช่นเดียวกับโรคลมชัก[95]

อ้างอิง[แก้]

  1. Cohen, p.165
  2. Thomson, pp.79–80
  3. 3.0 3.1 Bucholz, p.228
  4. 4.0 4.1 4.2 4.3 4.4 Fleming
  5. Beeche (2009), p.1
  6. 6.0 6.1 'Charles V', Encyclopædia Britannica
  7. Heimann, pp.38–45
  8. Christakes, p.437
  9. Maland, p.227
  10. 10.0 10.1 Verzijl, p.301
  11. anselme, p.145
  12. Griffey, p.3
  13. BAILII, 'Act of Settlement 1700'
  14. Mandelstam Balzer, p.56
  15. Rushton, p.12
  16. Curtis, p.271
  17. Beéche, p.257
  18. Czaplinski, pp.205-208
  19. Durant, pp.552–553, 564–566, 569, 571, 573, 576
  20. Prazmowska, p.56
  21. Beeche (2010), p.24
  22. Greenfeld, p.110
  23. Warwick, p.36
  24. Salisbury, p.137
  25. Roller, p.251
  26. Schürer, Millar & Fergus. p.474
  27. Morgan Gilman, p.1
  28. William, p.301
  29. Garland, p.14
  30. Frassetto, p.332
  31. 31.0 31.1 Ostrogorsky, p.441
  32. Nicol, p.304
  33. Jackson, p.203
  34. Nicol, p.403
  35. Bryer, p.146
  36. 36.0 36.1 36.2 Beeche (2009), p.13
  37. 37.0 37.1 deBadts de Cugnac, pp.680–681
  38. 'Queen Anna Maria', The Greek Monarchy
  39. 'End of a Royal romance? Spain's King and Queen to shun Golden Wedding celebration sparking rumours the pair are 'estranged, The Daily Mail
  40. 'Life Goes to a Twice Royal Wedding: Luxembourg Prince Marries a Princess', Life
  41. deBadts de Cugnac, pp.514–515, 532
  42. deBadts de Cugnac, pp.534, 873
  43. deBadts de Cugnac, p.354
  44. deBadts de Cugnac, pp.509, 529
  45. deBadts de Cugnac, p.620
  46. deBadts de Cugnac, p.333
  47. deBadts de Cugnac, p.710
  48. deBadts de Cugnac, p.290
  49. deBadts de Cugnac, p.845
  50. deBadts de Cugnac, p.870”
  51. 'Andrea Casiraghi, second in line to Monaco's throne, weds Colombian heiress', The Telegraph
  52. Verlag, p.105
  53. 'Princess Astrid', The Belgian Monarchy
  54. deBadts de Cugnac, pp.195, 680–681
  55. deBadts de Cugnac, pp.641, 876
  56. deBadts de Cugnac, p.335
  57. deBadts de Cugnac, pp.590–591, 730
  58. deBadts de Cugnac, p.849
  59. deBadts de Cugnac, p.678
  60. Thomas, p.91
  61. "Roglo Genealogical database".
  62. Dobbs
  63. Liu & Perry
  64. Thailand Country Study
  65. Stengs, p.275
  66. 66.0 66.1 Veit, p.57
  67. 67.0 67.1 Zhao, p.34
  68. Walthall, p.138
  69. 69.0 69.1 Walthall, p.149
  70. Kim, p.56
  71. 71.0 71.1 71.2 Kowner, p.478
  72. Dobbs, David
  73. 'Wedding Brings Xhosa, Zulu Tribes Together', LA Times
  74. Keller
  75. 'Nelson Mandela: A Unique World Leader Dies At 95', Nigerian Echo
  76. Kobo, p.46
  77. Schaus, p.593
  78. 78.0 78.1 Albany & Salhab, pp.70–71
  79. 79.0 79.1 79.2 Peirce, pp.30–31
  80. Fluehr-Lobban
  81. 81.0 81.1 Magill, p.2566
  82. 'Biographies: HRH Princess Haya',Office of HRH Princess Haya Bint Al Hussein
  83. 'Prince Muhammed Ali of Egypt and Princess Noal Zaher of Afghanistan Prepare for their Royal Wedding', Hello!
  84. 'Tribute to mothers’ caring nature', The Star
  85. Sarma, 'Bella Vista'
  86. deBadts de Cugnac, p.833, 173–175, 368, 545, 780–782
  87. Beeche (2010), p.vi-x
  88. Diesbach, pp.25–26
  89. Diesbach, p.35
  90. Thornton, p.162
  91. Vork, p.13
  92. Wortman, p.123
  93. Cecil, p.14
  94. Beeche (2009), p.7
  95. 95.0 95.1 Owens, p.41
  96. Ruiz, p.47
  97. Bevan
  98. 98.0 98.1 Guyenne, p.45
  99. 'Topics in the History of Genetics and Molecular Biology: The Habsburg Lip', Michigan State University

บรรณานุกรม[แก้]

  • Albany, HRH Prince Michael of; Salhab, Walid Amine (2006). The Knights Templar of the Middle East (1st ed.). MA, USA: Weister Books. ISBN 9781578633463.
  • Alexander, Harriet (31 August 2013). "Andrea Casiraghi, second in line to Monaco's throne, weds Colombian heiress". The Telegraph. สืบค้นเมื่อ 4 June 2014.
  • Anselme, Père (1967). Histoire de la Maison Royale de France (ภาษาฝรั่งเศส). Vol. I. Paris: Editions du Palais-Royal. p. 145.
  • deBadts de Cugnac, Chantal; Coutant de Saisseval, Guy (2002). Le Petit Gotha [The Little Gotha] (ภาษาฝรั่งเศส). Paris, France: Nouvelle Imprimerie Laballery. ISBN 2950797431.
  • "Act of Settlement 1700". BAILII. n.d. สืบค้นเมื่อ 20 October 2011.
  • Ball, Warwick (2000). Rome in the East: The Transformation of an Empire. New York, USA: Routledge. ISBN 9780415243575.
  • Beeche, Arturo (2009). The Gotha: Still a Continental Royal Family, Vol. 1. Richmond, US: Kensington House Books. ISBN 9780977196173.
  • Beeche, Arturo (2013). The Coburgs of Europe. Richmond, US: Eurohistory. ISBN 9780985460334.
  • Beeche, Arturo (2010). The Grand Dukes. Berkeley, CA, US. ISBN 9780977196180.
  • Bevan, E.R. "House of Ptolomey, The". uchicago.edu.
  • "Biographies: HRH Princess Haya". Office of HRH Princess Haya Bint Al Hussein. n.d. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-10-04. สืบค้นเมื่อ 4 June 2014.
  • Bryer, Anthony (1975). "Greeks and Türkmens: The Pontic Exception". Dumbarton Oak Papers. 29: 113–148. doi:10.2307/1291371. JSTOR 1291371.
  • Bucholz, Robert; Key, Newton (2009). Early Modern England 1485–1714: A Narrative History. Oxford. ISBN 9781405162753.
  • Cecil, Lamar (1996). Wilhelm II: Emperor and exile, 1900–1941. North Carolina, US: The University of North Carolina Press. ISBN 9780807822838.
  • de Ferdinandy, Michael (n.d.). "Charles V". Encyclopaedia Britannica. สืบค้นเมื่อ 30 May 2014.
  • Christakes, George (2010). Integrative Problem-Solving in a Time of Decadence. Springer. p. 437. ISBN 9789048198894. สืบค้นเมื่อ 27 June 2014.
  • Cohen, Raymond; Vestbrook, Raymond (2000). Amarna Diplomacy: The Beginnings of International Relations. Baltimore. ISBN 9780801861994.
  • Curtis, Benjamin (2013). The Habsburgs: The History of a Dynasty. London, UK: Bloomsbury Publishing Inc. ISBN 9781441150028. {{cite book}}: |access-date= ต้องการ |url= (help)
  • Czaplinski, Władysław (1976). Władysław IV i jego czasy [Władysław IV and His Times] (ภาษาโปแลนด์). Warsaw, Poland: Wiedza Poweszechna.
  • Diesbach, Ghislain (1967). Secrets of the Gotha: Private Lives of Royal Families of Europe. London, UK: Chapman & Hall. ISBN 9783928741200.
  • Dobbs, David (2011). "The Risks and Rewards of Royal Incest". National Geographic Magazine. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-08-23. สืบค้นเมื่อ 24 June 2014.
  • Durant, Will (1950). The Story of Civilzation: The Age of Faith. Vol. IV. New York, USA: Simone and Schuster. ISBN 9781451647617.
  • "End of a Royal romance? Spain's King and Queen to shun Golden Wedding celebration sparking rumours the pair are 'estranged'". The Daily Mail. 10 May 2012. สืบค้นเมื่อ 5 June 2014.
  • Fleming, Patricia H. (1973). "The Politics of Marriage Among Non-Catholic European Royalty". Current Anthropology. 14 (3): 231. doi:10.1086/201323. {{cite journal}}: |access-date= ต้องการ |url= (help)
  • Fluehr-Lobban, Carolyn (1987). "Islamic Law and Society in the Sudan". 26 (3 ed.). Islamabad, Pakistan: Islamic Research Institute, International Islamic University. สืบค้นเมื่อ 6 June 2014. {{cite journal}}: Cite journal ต้องการ |journal= (help)
  • Frassetto, Michael (2003). Encyclopedia of Barbarian Europe: Society in Transformation. California, US: ABC-CLIO Ltd. ISBN 9781576072639.
  • Garland, Lynda (2002). Byzantine Empresses: Women and Power in Byzantium AD 527–1204. Oxford, UK: Routledge. ISBN 9781134756391.
  • Guyenne, Valois (2001). Incest and the Medieval Imagination. Oxford: Oxford University Press. ISBN 9780861932269.
  • Greenfeld, Liah (1993). Nationalism: Five Roads to Modernity. USA: Harvard University Press. ISBN 9780674603196.
  • Griffey, Erin (2008). Henrietta Maria: piety, politics and patronage. Aldershot, UK: Ashgate Publishing. ISBN 9780754664208. {{cite book}}: |access-date= ต้องการ |url= (help)
  • Haag, Michael (2003). The Rough Guide History of Egypty. London, UK: Rough Guides Ltd. ISBN 9781858289403. สืบค้นเมื่อ 27 June 2014.
  • Heimann, Heinz-Dieter (2010). Die Habsburger: Dynastie und Kaiserreiche [The Habsburgs: dynasty and empire] (ภาษาเยอรมัน). ISBN 9783406447549.
  • Jackson, Peter. The Mongols and the West, 1221-1410. Harlow, UK: Pearson Longman. ISBN 0582368960.
  • Keller, Bill (1990). "Zulu King Breaks Ties To Buthelezi". The New York Times. สืบค้นเมื่อ 28 April 2008.
  • Kelly, Edmond (1991). Revolutionary Ethiopia: From Empire to People's Republic. Bloomington, US: Indiana University Press. ISBN 9780253206466.
  • Kim, Jinwung (2012). A History of Korea: From "Land of the Morning Calm" to States in Conflict. University of Indiana Press. ISBN 9780253000248.
  • Kobo, Ousman (2012). Unveiling Modernity in Twentieth-Century West African Islamic Reforms. Leiden, Netherlands: Kononklijke Brill. ISBN 9789004233133.
  • Kowner, Rotem (2012). Race and Racism in Modern East Asia: Western and Eastern Constructions. Leiden: Brill. ISBN 9789004237292.
  • Liu, Caitlin; Perry, Tony (2004). "Thais Saddened by the Death of Young Prince". LA Times. สืบค้นเมื่อ 29 April 2014.
  • "Life Goes to a Twice Royal Wedding: Luxembourg Prince Marries a Princess". Life. 1953. {{cite web}}: |access-date= ต้องการ |url= (help); |url= ไม่มีหรือว่างเปล่า (help)
  • Macurdy, Grace H.; Forrer, Leonard (1993). Two Studies on Women in Antiquity. Illinois, US: Ares Publishers. ISBN 9780890055434.
  • Magill, Frank (2014). The 20th Century: Dictionary of World Biography. Vol. 8. London, UK: Routledge. ISBN 9781317740605.
  • Maland, David (1991). Europe in the Seventeenth Century (Second ed.). London, UK: Macmillan. ISBN 0333335740.
  • Mandelstam Balzer, Marjorie (2010). Religion and Politics in Russia. New York, US: M.E. Sharpe, Inc. ISBN 9780765624147. {{cite book}}: |access-date= ต้องการ |url= (help)
  • Morgan Gilman, Florence (2003). Herodias: At Home in that Fox's Den. US: Liturgical Press. ISBN 9780814651087.
  • Nicol, Donald MacGillivray (2004). The Last Centuries of Byzantium 1261–1453. Cambridge, UK: Cambridge University Press. ISBN 9780521439916.
  • Opeyemi, Oladunjo (6 December 2013). "Nelson Mandela: A Unique World Leader Dies At 95". Nigerian Echo. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-12-08. สืบค้นเมื่อ 2 July 2014.
  • Ostrogorsky, George (1969). History of the Byzantine State. New Brunswick, Canada: Rutgers University Press. ISBN 9780521439916.
  • Owens, Karen (2013). Franz Joseph and Elisabeth: The Last Great Monarchs of Austria-Hungary. North Carolina, US: McFarland & Co Inc. ISBN 9780786476749.
  • Peirce, Leslie P. (1994). The Imperial Harem: Women and Sovereignty in the Ottoman Empire. Oxford, UK: Oxford University Press. ISBN 9780195086775. {{cite book}}: |access-date= ต้องการ |url= (help)
  • Prazmowska, Anita (2011) [2004]. A History of Poland (2 ed.). New York, US: Palgrave Macmillan. ISBN 9780230252356.
  • "Prince Muhammed Ali of Egypt and Princess Noal Zaher of Afghanistan Prepare for their Royal Wedding". Hello!. 2013. สืบค้นเมื่อ 26 November 2013.
  • "Princess Astrid". The Belgian Monarchy. n.d. สืบค้นเมื่อ 4 July 2014.
  • Qingzhi Zhao, George (2008). Marriage as Political Strategy and Cultural Expression: Mongolian Royal Marriages from World Empire to Yuan Dynasty. New York. ISBN 9781433102752.
  • Roller, Duane (1998). The Building Program of Herod the Great. California, US: University of California Press.
  • Ruiz, Enrique (2009). Discriminate Or Diversify. Positivepsyche.Biz crop. ISBN 9780578017341.
  • Rushton, Alan R. (2008). Royal Maladies: Inherited Diseases in the Ruling Houses of Europe. BC, Canada: Trafford Publishing. ISBN 9781425168100. {{cite book}}: |access-date= ต้องการ |url= (help)
  • Salisbury, Joyce E. (2001). Encyclopedia of Women in the Ancient World. California, US: ABC-CLIO Inc. ISBN 9781576070925.
  • Sarma, Rani (2008). "Bella Vista". The Deodis of Hyderabad a Lost Heritage. New Delhi, Inda: Rupa Co. ISBN 9788129127839.
  • Schaus, Margaret (2006). Women and Gender in Medieval Europe: An Encyclopedia. New York, US: Routledge. ISBN 9781135459604.
  • Schürer, Emil; Millar, Fergus; Vermes, Geza (2014) [1973]. The History of the Jewish People in the Ages of Jesus Christ. Vol. 1. IL, US: Bloomsbury Publishing Plc.
  • Smith, William (1860). Dictionary of Greek and Roman Biography and Mythology. Vol. 1. US: Harvard University. ISBN 9781845110024.
  • Stengs, Irene (2009). Worshipping the Great Moderniser: King Chulalongkporn, Patron Saint of the Thai Middle Class. Washington, US: University of Washington Press. ISBN 9780295989174. {{cite book}}: |access-date= ต้องการ |url= (help)
  • Thailand Country Study Guide (4th ed.). Washington DC, US: International Business Publications USA. 2007. ISBN 9781433049194. {{cite book}}: |access-date= ต้องการ |url= (help)
  • Thornton, Michael (1986). Royal Feud: The Dark Side of the Love Story of the Century. New York, US: Random House Publishing. ISBN 9780345336828.
  • Thomas, Alastair H. (2010). The A to Z of Denmark. Washington DC, US: Scarecrow Press. ISBN 9781461671848.
  • Thomson, David (1961). Europe Since Napoleon. New York: Knopf. ISBN 9780140135619.
  • "Topics in the History of Genetics and Molecular Biology: The Habsburg Lip". Michigan State University. 2000. สืบค้นเมื่อ 4 June 2014.
  • "Tribute to mothers' caring nature". The Star. 2008. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-06-08. สืบค้นเมื่อ 25 June 2014.
  • "Queen Anne Marie". The Greek Monarchy. n.d. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-09-24. สืบค้นเมื่อ 5 June 2014.
  • Veit, Veronika (2007). The Role of Women in the Altaic World. Germany: Harrassowitz. ISBN 9783447055376.
  • Verlag, Starke (1997). Genealogisches Handbuch des Adels, Fürstliche Häuser XV [Genealogical Handbook of the nobility, Princely houses XV] (ภาษาเยอรมัน). ISBN 9783798008342.
  • Verzijl, J. H. W. International Law in Historical Perspective. Nova et Vetera Iuris Gentium. Vol. III.
  • Vork, Justin (2012). Imperial Requiem: Four Royal Women and the Fall of the Age of Empires. Bloomington, US: iUniverse.com. ISBN 9781475917499.
  • Walthall, Anne (2008). Servants of the Dynasty: Palace Women in World History. London. ISBN 9780520254442.
  • "Wedding Brings Xhosa, Zulu Tribes Together". Los Angeles Times. California. 2002. สืบค้นเมื่อ 7 April 2013.
  • Wortman, Richard (2013). Scenarios of Power: Myth and Ceremony in Russian Monarchy from Peter the Great to the Abdication of Nicholas II. New Jersey, US: Princeton University Press. ISBN 9781400849697.