พระเจ้าชาห์ โมฮัมหมัด เรซา ปาห์ลาวี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
โมฮัมหมัด เรซา ปาห์ลาวี
พระบรมสาทิสลักษณ์อย่างเป็นทางการในปี 1973
พระเจ้าชาห์แห่งอิหร่าน
ครองราชย์16 กันยายน 1941 – 3 ธันวาคม ค.ศ. 1979
ราชาภิเษก26 ตุลาคม 1967
ก่อนหน้าพระเจ้าชาห์ เรซา
ถัดไปสิ้นสุดระบอบกษัตริย์
ประสูติ26 ตุลาคม ค.ศ. 1919(1919-10-26)
เตหะราน ประเทศเปอร์เซีย
สวรรคต27 กรกฎาคม ค.ศ. 1980(1980-07-27) (60 ปี)
กรุงไคโร ประเทศอียิปต์
คู่อภิเษกเจ้าหญิงเฟาซียะห์แห่งอียิปต์
(สมรส 1939; หย่า 1948)

โซรยา อัสฟานดิยารี-บักติยารี
(สมรส 1951; หย่า 1958)

ฟาราห์ ดีบา
(สมรส 1959)
พระราชบุตรเจ้าหญิงชาห์นาซ
มกุฎราชกุมารเรซา
เจ้าหญิงฟาราห์นาซ
เจ้าชายอาลี เรซา
เจ้าหญิงไลลา
พระนามเต็ม
โมฮัมหมัด เรซา ปาห์ลาวี
ราชวงศ์ปาห์ลาวี
พระราชบิดาพระเจ้าชาห์ เรซา
พระราชมารดาพระนางตาจญ์ อัล-โมลูก
ศาสนาอิสลามชีอะฮ์
ลายพระอภิไธย
ข้อมูลส่วนบุคคล
ศิษย์เก่า
ยศที่ได้รับการแต่งตั้ง
รับใช้อิหร่าน
สังกัดกองทัพบกจักรวรรดิอิหร่าน
ประจำการ1936–41
ยศCaptain
บังคับบัญชาArmy's Inspection Department

พระเจ้าชาห์ โมฮัมหมัด เรซา ปาห์ลาวี (เปอร์เซีย: محمد رضا شاه پهلوی; 26 ตุลาคม ค.ศ. 1919 – 27 กรกฎาคม ค.ศ. 1980) เป็นชาห์แห่งอิหร่านรัชกาลสุดท้ายก่อนการปฏิวัติอิสลาม พระองค์ได้รับการขนานพระนามเป็น ชาฮันชาห์ (Shahanshah ราชันย์แห่งราชา[1] เทียบเท่าตำแหน่งจักรพรรดิ), อัรยาเมหร์ (Aryamehr แสงแห่งอารยัน) และ บอซอร์ก อาร์เตสตาราน (Bozorg Arteshtārān จอมทัพ[2], เปอร์เซีย:بزرگ ارتشتاران)

พระราชประวัติ[แก้]

พระราชประวัติตอนต้น[แก้]

เจ้าชายโมฮัมหมัด เรซา ฉายพระฉายาลักษณ์ร่วมกับพระบิดา พระพี่นางชามส์ และพระน้องนางอัชราฟ พระน้องนางฝาแฝด

พระเจ้าชาห์ โมฮัมหมัด เรซา ปาห์ลาวี พระราชสมภพเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม ค.ศ. 1919กรุงเตหะราน ประเทศอิหร่าน พระองค์เป็นพระราชโอรสในพระเจ้าชาห์ เรซา ปาห์ลาวี ผู้ก่อตั้งราชวงศ์ปาห์ลาวี กับสมเด็จพระราชินีตาจ อัล-โมลูก ซึ่งเป็นพระภรรยาเจ้าคนที่สองของพระชนก โดยพระองค์มีพระพี่น้องร่วมพระมารดาอีกสามพระองค์ ได้แก่ พระเชษฐภคินีคือเจ้าหญิงชามส์ ปาห์ลาวี พระขนิษฐาฝาแฝดของพระองค์คือเจ้าหญิงอัชราฟ ปาห์ลาวี และมีพระอนุชาคือเจ้าชายอาลี เรซา ปาห์ลาวีที่ 1

นอกจากนี้พระองค์ยังมีพระเชษฐภคิณีต่างพระมารดา 1 พระองค์ คือ เจ้าหญิงฮัมดัมสุลตาเนห์ ปาห์ลาวี อนุชาและขนิษฐาต่างมารดาอีก 6 พระองค์ ได้แก่ เจ้าชายโฆลาม ปาห์ลาวี, เจ้าชายอับดุล เรซา ปาห์ลาวี, เจ้าชายอะห์มัด เรซา ปาห์ลาวี, เจ้าชายมะห์มุด เรซา ปาห์ลาวี, เจ้าหญิงฟาเตเมห์ ปาห์ลาวี และเจ้าชายฮามิด เรซา ปาห์ลาวี

มกุฎราชกุมาร[แก้]

พระองค์ถูกประกาศเป็นมกุฎราชกุมารแห่งอิหร่านอย่างเป็นทางการ ขณะมีพระชันษาเพียง 6 ปี ประกอบกับช่วงเวลานั้น พระองค์ได้ทรงศึกษากับพระราชบิดาอย่างเข้มงวด จนในปี ค.ศ. 1931 พระองค์ได้ถูกส่งไปศึกษาต่อยังประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ที่โรงเรียนเลอโรซี (Le Rosey) ซึ่งโรงเรียนชายล้วน[3] พระองค์เป็นเด็กนักเรียนที่ดี แต่มีพระสหายไม่มาก[3] ด้วยความที่พระองค์เป็นเจ้าชาย พระองค์จึงไม่ได้รับอนุญาตให้ออกไปยังเขตสนามของโรงเรียน[3] หลังจากนั้นพระองค์ได้เสด็จนิวัตกลับกรุงเตหะรานในปี ค.ศ. 1936 พระองค์ได้เข้าศึกษาในโรงเรียนวิชาการทหารกรุงเตหะราน จนสำเร็จการศึกษาในปี ค.ศ. 1938 ทำให้พระองค์มีพัฒนาการและรักกีฬามากขึ้น[3] หลังจากสำเร็จการศึกษา พระองค์ก็อภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงเฟาซียะห์แห่งอียิปต์ในปี ค.ศ. 1939[3]

ทรงราชย์[แก้]

สถานการณ์ก่อนการครองราชย์[แก้]

พระองค์ขณะดำรงตำแหน่งมกุฎราชกุมาร และศึกษาในโรงเรียนทหารเตหะราน

หลังจากความระส่ำระสายของราชวงศ์กอญัร เปอร์เซียได้ตกอยู่ภายใต้ของมหาอำนาจต่างประเทศ โดยเฉพาะรัสเซียและอังกฤษ[4] ตั้งแต่ในรัชสมัยของฟัฏอาลี ชาห์ ชาห์องค์ที่สองแห่งราชวงศ์กอญัร ได้ทำสงครามกับรัสเซียถึง 2 ครั้ง และต้องเสียดินแดนแถบเทือกเขาคอเคซัสทั้งหมด[5] แม้แต่ประเทศอังกฤษมีผลประโยชน์จำนวนมากในเปอร์เซียอย่างการขุดเจาะน้ำมันที่ขุดพบในคริสต์ศตวรรษที่ 19 วัฒนธรรมตะวันตกได้หลั่งไหลเข้าสู่ประเทศจำนวนมาก[4] ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 (ค.ศ. 1914 - 1918) เป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากของเปอร์เซีย เนื่องจากตกอยู่ภายใต้อำนาจของมหาอำนาจตะวันตกหลายประเทศ ทั้งรัสเซีย, อังกฤษ, ออตโตมัน, เยอรมัน และสหรัฐอเมริกา ทำให้เกิดกระแสต่อต้านที่กว้างขวางของประชาชนชาวเปอร์เซีย เพื่อปกป้องผลประโยชน์และเอกราชของประเทศ[4]

ท่ามกลางความระส่ำระสายทางเศรษฐกิจและการเมืองที่ดำเนินมาอย่างยาวนาน จนเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1921 เรซา ข่าน ผู้บัญชาการกองพันน้อยคอสแซคได้นำกองทัพบุกเข้าเมืองหลวงได้ยึดอำนาจและทำการรัฐประหาร[4] หลังการรัฐประหารพระเจ้าอะหมัด ชาห์ กษัตริย์องค์สุดท้ายแห่งราชวงศ์กอญัรได้แต่งตั้งนายตะบาตะบาอี เป็นนายกรัฐมนตรี และเรซา ข่าน เป็นนายกรัฐมนตรีกระทรวงสงคราม[4]

ในปีค.ศ. 1923 พระเจ้าอะหมัด ชาห์ได้เสด็จไปประทับในยุโรปและไม่ได้เสด็จนิวัติมายังอิหร่านเลย[6] เรซา ข่าน อดีตรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสงคราม ได้ยึดอำนาจจากราชวงศ์กอญัรและประกอบพิธีราชาภิเษกเป็นกษัตริย์องค์แรกของราชวงศ์ปาห์ลาวี เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม ค.ศ. 1925[6] และได้เปลี่ยนชื่อประเทศจากเปอร์เซียเป็นอิหร่านอย่างเป็นทางการในปี ค.ศ. 1934[6]

ครองราชย์[แก้]

เมื่อสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้ประทุขึ้น กองทัพพันธมิตรจึงได้ตัดสินใจบุกอิหร่าน ซึ่งขณะนั้นอิหร่านมีความสัมพันธ์อันดีกับเยอรมนี[6] โดยกองทัพอังกฤษได้บุกยึดภาคใต้ของอิหร่าน และกองทัพรัสเซียได้เข้ายึดทางตอนเหนือของอิหร่าน ประเทศอิหร่านจึงถูกปกครองโดยกองทัพสัมพันธมิตร กษัตริย์เรซาจึงถูกบีบบังคับให้สละราชสมบัติ เพื่อให้พระโอรสองค์ใหญ่คือ โมฮัมหมัด เรซา ข่านขึ้นเป็นกษัตริย์แทน ประเทศอิหร่านหลังจากนั้นจึงมีความสัมพันธ์อันดีประเทศตะวันตก โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา[6]

พระราชกรณียกิจ[แก้]

พระราชวงศ์ปาห์ลาวี ในค.ศ. 1967

ในปีค.ศ. 1942 อิหร่านได้สัญญาไตรมิตรกับอังกฤษและรัสเซีย โดย 2 ประเทศรับรองร่วมกันในการเคารพบูรณภาพในดินแดน อธิปไตย และเอกราชทางการเมืองของอิหร่าน[6] ประเทศอังกฤษและสหรัฐอเมริกาได้ถอนกำลังของตนออกจากอิหร่านเมื่อเดือนมีนาคม ค.ศ. 1946 แต่กองทหารโซเวียตยังคงอยู่[6] อิหร่านจึงได้ร้องเรียนต่อสภาความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ โซเวียตจึงยอมถอนทหารออกไปในเดือนพฤษภาคมในปีเดียวกัน[6]

ในปีค.ศ. 1951 เป็นช่วงเวลาที่ประชาชนอิหร่านกำลังตื่นตัวเรื่องชาตินิยม ในพฤษภาคมปีเดียวกันนั้นเอง ดร.มุฮัมหมัด มูซัดเดก ผู้นำคนหนึ่งในขบวนการชาตินิยมอิหร่านได้รับแต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรี[6] หลังจากนั้นนายมูซัดเดกได้ดำเนินการยึดบริษัทน้ำมันแองโกล-อิหร่านออยล์ซึ่งเป็นของอังกฤษเป็นของรัฐ[6] ทำให้ต่างชาติมีมาตรการตอบโต้บอยคอตน้ำมันอิหร่าน[7] ในวันที่ 22 ตุลาคมปีเดียวกัน รัฐบาลอิหร่านได้ประกาศตัดสัมพันธ์ทางการทูตกับอังกฤษ ขณะเดียวกันสถานการณ์ทางเศรษฐกิจเริ่มปั่นป่วน และเสื่อมลงอย่างรวดเร็ว และเกิดความวุ่นวายมากขึ้น[7]

เดือนสิงหาคม ค.ศ. 1953 ชาห์และราชินีได้เสด็จออกนอกประเทศ 3 วันหลังจากนั้นนายพลซาเฮดีประกาศตนเป็นนายกรัฐมนตรี[7] และเข้าควบคุมอำนาจมูซัดเดก และคณะรัฐบาลของเขาถูกจับกุม ชาห์เสด็จกลับอิหร่านและทำการแต่งตั้งรัฐบาลใหม่ที่มีนโยบายนิยมตะวันตก[7] อิหร่านได้ทำการเปิดสัมพันธไมตรีกับการทูตกับอังกฤษใหม่อีกครั้ง และมีการเจรจาตกลงกับบริษัทน้ำมันอังกฤษและสหรัฐอเมริกา[7] และนับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1955 เป็นต้นมา พระเจ้าชาห์ได้เริ่มมีบทบาทในการบริหารประเทศมากขึ้น และพาประเทศเข้าสู่ระบอบการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์[7]

การปฏิวัติขาว[แก้]

ในปีค.ศ. 1963 ชาห์ได้เริ่มโครงการสำคัญหลายอย่างเพื่อพัฒนาอิหร่านให้ก้าวหน้า อาทิเช่น การปฏิรูปที่ดิน ปฏิรูปการเลือกตั้ง การให้สิทธิแก่สตรี การตั้งหน่วยการศึกษา การจัดตั้งหน่วยอนามัย การพัฒนาการเกษตร การโอนป่าเป็นของรัฐเป็นต้น ซึ่งรัฐบาลอิหร่านเรียกโครงการเหล่านี้ว่า "การปฏิวัติขาว" เพราะเป็นการปฏิวัติที่ไม่เสียเลือดเนื้อ[7] ซึ่งนโยบายนี้เป็นนโยบายที่ได้รับแนวคิดมาจากรัฐบาลอเมริกายุคจอห์น เอฟ. เคนเนดี ซึ่งต้องการให้รัฐบาลอิหร่านมีฐานอำนาจที่กว้างขึ้น มีประสิทธิภาพและได้รับความนิยมมากขึ้น และมีคอรัปชั่นน้อยกว่ายุคปี 1950 ที่ผ่านมา[8] นโยบายนี้ใช้วิธีสร้างประชานิยมโดยการปฏิรูปที่ดินเป็นหลัก โดยให้ ดร.ฮัสซัน อาร์ซันจานี (Dr. Hassan Arsanjani) และรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรเป็นผู้เริ่มต้น แต่พอทำไปแล้ว ทั้งสองคนได้รับความนิยมสูงมาก ชาห์จึงทรงปลด ดร. อาร์ซานจานิ ออกจากตำแหน่ง[8] และทรงถือเป็นพระราชกรณียกิจของพระองค์เอง[8] ชาห์ได้ทรงปรับโครงการปฏิรูปที่ดินที่ริเริ่มโดย ดร. อาร์ซานจานิ ใหม่โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างประชานิยมในพระองค์เองรวมทั้งรัฐบาลของพระองค์ การปรับใหม่นี้มีโครงการที่เสนอรวม 6 โปรแกรมด้วยกัน ซึ่งเรียกว่าการปฏิวัติขาว ได้แก่[8]

  1. ให้มีการปฏิรูปที่ดิน
  2. ขายโรงงานที่รัฐบาลเป็นเจ้าของเพื่อนำเงินมาปฏิรูปที่ดิน
  3. ออกกฎหมายเลือกตั้งใหม่ที่ให้สิทธิสตรีในการออกเสียง
  4. จัดให้ป่าไม้เป็นสมบัติของชาติ
  5. ตั้งองค์กรเพื่อการอ่านออกเขียนได้โดยเฉพาะเพื่อการสอนหนังสือในชนบท
  6. ร่างแผนการในการให้คนงานมีส่วนแบ่งในผลกำไรจากอุตสาหกรรม
ชาห์ขณะมอบที่ดินแก่ราษฎรในการปฏิวัติขาว

การทำประชาพิจารณ์เพื่อขอความเห็นชอบในโครงการ 6 ข้อนี้ ได้รับการบอยคอตจากกลุ่มแนวร่วมแห่งชาติ (National Front) เพราะต้องการให้การตัดสินใจในแผนการดังกล่าวซึ่งส่งผลกระทบสูงต่อชาติ ให้เป็นการลงมติในสภาผู้แทนราษฎรที่ได้รับการเลือกตั้งมาอย่างเสรี ความขัดแย้งเรื่องนี้รุนแรงเพิ่มขึ้น จนกระทั่งเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน ค.ศ. 1963 หลังปราศรัยโจมตีรัฐบาล ท่านโคมัยนีก็ถูกจับไปขังคุกที่กรุงเตหะราน[8] ผลของการจับโคมัยนีทำให้ประชาชนโกรธแค้นมาก และพากันออกมาเดินขบวนเต็มไปหมดในถนนทุกสาย เหตุการณ์ต่อสู้เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยอายะตุลลอฮ์โคมัยนี ลุกลามรุนแรงถึงขั้นนองเลือด จนกลายเป็นจุดหักมุมของประวัติศาสตร์อิหร่านที่สำคัญและเป็นรู้จักกันไปทั่วโลกว่า “เหตุการณ์ลุกฮือ 15 กอร์ดัด 1342" (15 Khordad 1342 uprising) ซึ่งเป็นวันเดือนปีอิสลาม หนังสือพิมพ์ต่างประเทศบางฉบับลงข่าวว่า ทหารของชาห์ สาดกระสุนเข้าสังหารผู้ประท้วงคราวนั้น ทำให้คนเสียชีวิตถึง 15,000 คน[8] แรงกดดันจากประชาชนทำให้โคมัยนีได้รับการปล่อยตัว แต่ท่านก็ยังไม่ยอมเลิกต่อต้านนโยบายของชาห์ จนทำให้ถูกทหารจับตัวอีกครั้ง รัฐบาลตัดสินใจเนรเทศโคมัยนีออกนอกประเทศในวันที่ 4 พฤศจิกายน ค.ศ. 1964[7] โดยให้ไปอยู่ตุรกี และต่อมาย้ายไปอยู่เมืองนาจาฟในอิรัก รวมเป็นเวลาถึง 13 ปี โดยหวังว่าจะทำให้ความนิยมในตัวโคมัยนีจางหายไป[8]

จุดจบของระบอบชาห์[แก้]

การประท้วงต่อต้านชาห์[แก้]

การประท้วงของเหล่าประชาชนในกรุงเตหะราน

แต่การถูกเนรเทศไปอยู่อิรักครั้งนี้ แต่ก็ไม่ทำให้ประชาชนลืมบุรุษที่มีนามว่า อยาตุลเลาะห์ โคมัยนีได้เลย เขายังติดต่อกับนักศึกษาประชาชนอยู่ตลอด และมีการให้ความคิดเห็นต่อต้านการทำงานของรัฐบาลอยู่บ่อยครั้ง การเมืองในอิหร่านเองก็ยังไม่นิ่ง นักศึกษาประชาชนยังชุมนุมระลึกถึงเหตุการณ์ 15 กอร์ดัด 1342 ทุกปี[8] จนในวันที่ 7 มกราคม ค.ศ. 1978 หนังสือพิมพ์อิตติลาอัต (Ittila’at) ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์กระบอกเสียงของรัฐบาล ประณามโคมัยนีว่า เป็นผู้ทรยศต่อชาติ เรื่องนี้ทำให้วันต่อมานักศึกษาและประชาชนในเมืองกุม (Qom) ซึ่งเป็นเมืองที่โคมัยนีเคยอาศัยอยู่ตั้งแต่เด็ก ได้ออกมาประท้วงรัฐบาลอย่างรุนแรง[8] การปราบปรามการประท้วงนี้ทำให้สูญเสียชีวิตมากมายอีกครั้ง กลายเป็นแรงกระตุ้นให้มีการเคลื่อนไหวเพื่อการปฏิวัติอย่างต่อเนื่องตลอดปี โดยมีเป้าหมายเพื่อขับไล่ชาห์และราชวงศ์ปาห์ลาวีออกจากราชบัลลังก์ และให้สถาปนารัฐบาลอิสลามขึ้นแทน[8]

แม้ว่าโครงการของชาห์จะได้รับการยอมรับในระยะแรก ซึ่งทำให้อิหร่านเจริญขึ้น แต่ก็ทำให้ประชาชนไม่พอใจ และลุกฮือต่อต้านชาห์[9] เนื่องจากผลจากการปฏิวัติขาว คือ คนในราชวงศ์และข้าราชบริพารใกล้ชิดได้รับที่ดินมหาศาล การมาของ บาร์ ไนต์คลับ หนังสือโป๊หลั่งไหลเข้ามา ทำให้ฝ่ายอนุรักษนิยมและฝ่ายศาสนาไม่พอใจอย่างยิ่ง[10] นอกจากนี้ผลประโยชน์จากการพัฒนาประเทศกลับตกอยู่ในตระกูลคนรวยเพียงไม่กี่ตระกูล รวมถึงพระบรมวงศานุวงศ์และเชื้อพระวงศ์ของชาห์กลับมีธุรกิจและอุตสาหกรรมขนาดใหญ่[10] บรรดาบริษัทต่างชาติต่างก็เชื้อเชิญพระราชวงศ์และข้าราชบริพารชั้นสูงที่มีอำนาจการเมืองและการทหารเข้าเป็นคณะกรรมการในบริษัทของตนด้วย[10] ทำให้เกิดความแตกต่างระหว่างชนชั้น แต่ชาวอิหร่านส่วนใหญ่กลับมีความเป็นอยู่ที่ยากลำบากไร้การศึกษา อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ ขาดแคลนยารักษาโรค รวมไปถึงนโยบายของชาห์ที่ทรงสนับสนุนชาติอิสราเอลด้วย[10]

ด้วยเหตุที่ประชาชนต่อต้านนโนบายของพระองค์ ชาห์จึงตั้งตำรวจลับ "ซาวัค" โดยทำหน้าที่คล้ายตำรวจเกสตาโปของเยอรมนี[10] คอยแทรกซึมในวงการต่าง ๆ เพื่อจับกุมฝ่ายตรงข้ามของพระองค์ โดยเฉพาะในกลุ่มนักเรียนนักศึกษา อาจารย์ นักการเมือง นักหนังสือพิมพ์[10] ซาวัคขึ้นชื่อในการจับกุม และทรมานอย่างทารุณ เป็นที่หวาดกลัวของประชาชน แต่ก็ไม่อาจปิดกั้นการเดินขบวนประท้วงที่เกิดในเวลาต่อมาได้[10]

การปฏิวัติอิสลาม[แก้]

การชุมนุมปฏิวัติอิสลามหน้าจัตุรัสอิสรภาพในวันอาชูรอ ในปี ค.ศ. 1979

ความไม่พอใจของประชาชนเริ่มถึงจุดระเบิดเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม ค.ศ. 1978 ซึ่งตรงกับเดือนรอมฎอน ได้เกิดเหตุไฟไหม้รุนแรงในโรงภาพยนตร์ที่เมืองอะบาดาน มีผู้เสียชีวิต 387 คน[10] รัฐบาลได้ออกข่าวว่าพวกศาสนานิยมหัวรุนแรงเป็นผู้อยู่เบื้องหลัง ทว่าเมื่อตำรวจไม่สามารถหาผู้กระทำผิดได้ก็ทำให้ประชาชนเคียดแค้นรัฐบาล และเกิดการประท้วงตามเมืองต่าง ๆ[11] ส่วนคู่ปรับของชาห์คืออยาตุลเลาะห์ โคมัยนี แม้จะถูกเนรเทศไปยังประเทศอิรัก 12 ปี และภายหลังถูกรัฐบาลอิรักขอร้องให้ออกไปนอกประเทศ โคมัยนีจึงได้อพยพไปอยู่ฝรั่งเศส[11] แต่โคมัยนีก็ใช้การอัดเสียงใส่เทปคาสเซตได้ทำการอัดซ้ำและทำการเผยแพร่แก่นักศึกษาประชาชน และลุกลามถึงนักศึกษาอิหร่านในต่างประเทศด้วย[11]

หลังโศกนาฏกรรมที่เมืองอะบาดาน ประชาชนในเตหะรานได้รวมกันประท้วงชาห์ เผาธงชาติ ถือป้ายข้อความ "แยงกี้ โกโฮม" "ชาห์ต้องลาออก" และ "โคมัยนีต้องปกครองอิหร่าน" มีสตรีแต่งกายด้วยชุดดำสวมคลุมศีรษะจำนวนมาเข้าร่วมขบวนด้วย[11] ขบวนได้ปะทะกับทหาร ทำให้มีผู้เสียชีวิต และบาดเจ็บหลายคน[11] หลังจากเหตุการณ์นี้ ก็เกิดเหตุการณ์ประท้วงระลอกแล้วระลอกเล่าตามหัวเมืองอื่น กรรมกรนับแสนคนนัดหยุดงาน พนักงานรัฐวิสาหกิจ บรรดาครู อาจารย์ นักเรียน นักศึกษา ต่างเข้าร่วมกันประท้วง[11] โคมัยนีเองแม้จะอยู่ต่างประเทศ แต่ก็ได้เรียกร้องให้มุสลิมทั่วโลกหันมาสนใจการต่อสู้ของประชาชนชาวอิหร่าน โดยได้กล่าวในระหว่างฤดูกาลประกอบพิธีฮัจญ์ มีใจความตอนหนึ่งว่า

ชาห์ได้ยกทรัพยากรธรรมชาติ และผลประโยชน์ที่ประชากรพึงมีพึงได้ให้แก่ชาวต่างชาติจนหมดสิ้น ชาห์ยกน้ำมันให้อเมริกา ยกก๊าซธรรมชาติให้โซเวียต ทุ่งเลี้ยงสัตว์ ป่า และน้ำมันส่วนหนึ่งให้อังกฤษ โดยปล่อยให้ประชาชนอยู่ในความล้าหลัง

— อยาตุลเลาะห์ โคมัยนี[11]

การประท้วงครั้งใหญ่ที่สุดเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม ค.ศ. 1978 ซึ่งเป็นวันรำลึกถึงการเสียชีวิตของอิหม่ามฮุเซน วันนั้นประชาชนนับล้านได้ออกมาชุมนุมกันบนท้องถนนและที่สาธารณะ มีการชูรูปโคมัยนี มีการตะโกนด่าทออเมริกา และเรียกร้องรัฐอิสลาม[11]

การประท้วงใหญ่เกิดขึ้นอีกที่เมืองมาชาดมีการลุกฮือเผาบ้านของชาวอเมริกัน ตลอดจนกิจการต่าง ๆ ของชาวตะวันตก[12] ทหารได้สกัดกั้นและทำให้มีผู้บาดเจ็บล้มตายนับร้อย เหตุการณ์ลุกลามใหญ่โตจนรัฐบาลอเมริกา และยุโรปสั่งให้คนของตนออกจากอิหร่าน[12] ความตึงเครียดที่กดดันทำให้ชาห์ทำตามคำแนะนำของอเมริกา โดยการเสด็จออกนอกประเทศพร้อมครอบครัว เมื่อวันที่ 13 มกราคม ค.ศ. 1979[12][13] โดยที่รัฐบาลของนายชาห์ปูร์ บัคเตียร์ ได้ออกประกาศว่า พระองค์มิได้สละบัลลังก์แต่อย่างใด[12] และแล้วในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ โคมัยนีพร้อมผู้ช่วยราว 500 คน และนักหนังสือพิมพ์อีก 150 คน ได้โดยสารเครื่องบินโบอิ้ง 747 ของสายการบินฝรั่งเศสกลับสู่อิหร่าน โดยมีประชาชนต้อนรับอย่างเนืองแน่น แม้ระยะแรกกองทัพบกประกาศว่าพร้อมหลั่งเลือดเพื่อค้ำบัลลังก์ชาห์[12] หรือหนุนรัฐบาลนายบัคเตียร์ ภายหลังกองทัพบกได้วางตัวเป็นกลาง[12] ประชาชนฝ่ายโคมัยนีจึงได้เข้าควบคุมเตหะรานไว้ได้โดยบุกยึดที่ทำการรัฐบาล กระทรวงทบวงกรม ตึกรัฐสภา และสถานีตำรวจไว้ได้หมด[12]

ต่อมารัฐบาลที่ได้รับการแต่งตั้งจากโคมัยนีก็เข้ารับหน้าที่ควบคุมสถานการณ์ภายในประเทศ และนำอิหร่านเข้าสู่การปกครองของรัฐอิสลามตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา[14] โดยมีผู้นำสูงสุดคือ อิหม่ามโคมัยนี เรียกว่า ฟากิฮ์ หรือ รอฮ์บัรร์ ถือเป็นผู้นำสูงสุดทางจิตวิญญาณมีอำนาจครอบคลุมทั้งการเมืองและการปกครองทั้งหมด[14]

ชีวิตส่วนพระองค์[แก้]

พระเจ้าชาห์ โมฮัมหมัด เรซา ปาห์ลาวี ทรงอภิเษกทั้งหมด 3 ครั้ง[15] มีพระโอรส-ธิดา 5 พระองค์ โดยเป็นพระโอรส 2 พระองค์ พระธิดา 3 พระองค์ ได้แก่

เฟาซียะห์แห่งอียิปต์[แก้]

ในงานอภิเษกสมรสที่วังอาบิดิน ประเทศอียิปต์ ของพระองค์กับเจ้าหญิงเฟาซียะห์

เจ้าหญิงเฟาซียะห์แห่งอียิปต์ ประสูติเมื่อ 5 พฤศจิกายน ค.ศ. 1921 พระราชธิดาในพระเจ้าฟูอัดที่ 1 แห่งอียิปต์ กับสมเด็จพระราชินีนาซลีแห่งอียิปต์ และพระราชขนิษฐาในพระเจ้าฟารุกที่ 1 แห่งอียิปต์ ชาห์ได้อภิเษกกับเจ้าหญิงเฟาซียะห์เมื่อครั้งยังดำรงพระอิสริยยศเป็นมกุฎราชกุมาร เมื่อวันที่ 16 มีนาคม ค.ศ. 1939กรุงไคโร ประเทศอียิปต์ และอภิเษกสมรสอีกครั้งที่กรุงเตหะราน ประเทศอิหร่าน สองปีต่อมามกุฎราชกุมารแห่งอิหร่านก็เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติแห่งอิหร่านต่อจากพระราชบิดา เจ้าหญิงเฟาซียะห์จึงดำรงพระอิสริยยศเป็นราชินีแห่งอิหร่าน

พระราชินีเฟาซียะห์ทรงเป็นนางแบบให้เซซิล บีตัน ถ่ายพระฉายาลักษณ์เพื่อตีพิมพ์ลงในนิตยสารไลฟ์ (Life) โดยนายเซซิล บีตันได้กล่าวชื่นชมพระราชินีองค์นี้ว่าทรงเป็น "เทพธิดาวีนัสแห่งเอเชีย" ทั้งยังเสริมว่า "มีพระพักตร์รูปหัวใจคมซีดเผือดผิดปกติ แต่มีดวงพระเนตรสีฟ้าอันเฉียบคม" และด้วยความที่เป็นสตรีที่ทรงพระสิริโฉมจึงถือว่าเป็นหนึ่งในสตรีที่สวยที่สุดในโลกในขณะนั้น[16] ชาห์และพระราชินีเฟาซียะห์มีพระราชธิดาด้วยกัน 1 พระองค์ คือ เจ้าหญิงชาห์นาซ ปาห์ลาวี ซึ่งประสูติเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม ค.ศ. 1940 แต่ความรักของทั้งสองกลับถึงทางตัน ภายหลังชาห์และพระราชินีเฟาซียะห์ได้ทรงหย่ากันอย่างเป็นทางการในปี ค.ศ. 1945 ที่ประเทศอียิปต์ และในปี ค.ศ. 1948 ที่ประเทศอิหร่าน โดยทางสำนักพระราชวังให้เหตุผลว่า "ด้วยสภาวะอากาศของเปอร์เซียทำให้สุขภาพของราชินีเฟาซียะห์ทรุดโทรม ดังนั้นจึงเห็นด้วยกับพระขนิษฐากษัตริย์อียิปต์ที่ต้องการจะหย่า" และชาห์ก็ออกมาประกาศว่า "ไม่มีผลกระทบต่อความสัมพันธ์อันดีที่มีอยู่ระหว่างอียิปต์กับอิหร่าน"[17] หลังจากการหย่าสมเด็จพระราชินีเฟาซียะห์ได้กลับได้ไปใช้พระอิสริยยศ เจ้าหญิงแห่งอียิปต์และซูดาน ตามเดิม ภายหลังเจ้าหญิงได้เสกสมรสกับอิสมาอิล ฮุสเซน ชีรีน และมีพระโอรส-ธิดา 2 องค์

โซรยา อัสฟานดียารี[แก้]

ชาห์ทรงอภิเษกสมรสครั้งที่สองกับสตรีสามัญชน นามว่านางสาวโซรยา อัสฟานดียารี-บักติยารี ประสูติเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน ค.ศ. 1932 ณ โรงพยาบาลมิชชันนารีอังกฤษ เมืองอิสฟาฮาน[18] เป็นธิดาของนายคาลิล อัสฟานดิยารี และนางอีวา คาร์ล โดยบิดาของเธอเป็นอดีตเอกอัครราชทูตอิหร่านประจำประเทศเยอรมันตะวันตก และเป็นชาวอิหร่านเชื้อสายเผ่าบักติยารี[18] ส่วนมารดาเป็นชาวรัสเซียสัญชาติเยอรมัน โดยเธอเป็นญาติของซาดาร์ อาซาด ซึ่งเป็นผู้นำการเคลื่อนไหวในรัฐธรรมนูญอิหร่านแห่งศตวรรษที่ 20[19] โซรยาได้รู้จักกับชาห์ จากการแนะนำของนางฟารุฆ ซาฟาร์ บักติยารี[18] ขณะที่โซรยายังศึกษาอยู่ในโรงเรียนฟินนิชิง ประเทศสวิตเซอร์แลนด์[19] โดยทั้งคู่ได้ทำการหมั้นกัน โดยของหมั้นในงานนี้คือแหวนเพชร 22.37 กะรัต[20] ชาห์และโซรยาได้อภิเษกสมรสกันเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1951 ณ พระราชวังโกเลสตาน (Golestan Palace) กรุงเตหะราน ประเทศอิหร่าน[15] ซึ่งเดิมทั้งสองมีแผนที่จะจัดงานอภิเษกสมรสในวันที่ 27 ธันวาคม ค.ศ. 1950 แต่พิธีได้ถูกเลื่อนออกไปเนื่องจากโซรยาได้ล้มป่วยลง[21]

แต่ด้วยโซรยาไม่สามารถทำหน้าที่ให้กำเนิดรัชทายาทได้ โดยชาห์ทรงตรัสเรื่องนี้เป็นนัย เธอพยายามรักษาตามสถานพยาบาลต่างๆ แต่ก็ตระหนักดีว่าเธอจะไม่สามารถให้กำเนิดรัชทายาทได้ เธอจึงตัดสินใจหย่ากับชาห์อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 6 เมษายน ค.ศ. 1958 และขณะนั้นชาห์ได้ให้ความสนพระทัยที่จะอภิเษกสมรสกับกับเจ้าหญิงมารีอา กาเบรียลลาแห่งซาวอย และพระราชธิดาของสมเด็จพระเจ้าอุมแบร์โตที่ 2 แห่งอิตาลี ซึ่งเรื่องราวของชาห์ที่พยายามจะอภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงอิตาลีได้ถูกนำมาเรียกกันว่า "กษัตริย์มุสลิมกับเจ้าหญิงคาทอลิก" ส่วนหนังสือลอสเซวาตอเรโรมาโน (L'Osservatore Romano) ของสำนักวาติกันก็ได้เขียนอีกเช่นกันว่า "องุ่นพิษ"[22] ส่วนสมเด็จพระราชินีโซรยาหลังจากการหย่า จึงได้รับพระอิสริยยศเป็น เจ้าหญิงแห่งอิหร่าน และได้ผันตัวเป็นนักแสดงในยุโรประยะหนึ่ง[23] ก่อนที่จะสิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม ค.ศ. 2001[24][25]

ฟาราห์ ดีบา[แก้]

ชาห์กับฟาราห์

ชาห์ทรงอภิเษกสมรสครั้งที่สามกับสตรีสามัญชน นามว่านางสาวฟาราห์ ดีบา ประสูติเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม ค.ศ. 1938 ณ ทางตะวันตกเฉียงเหนือของเมืองทาบริซ ประเทศอิหร่าน[26] ธิดาของนายโซห์รับ ดีบา และนางฟารีเดห์ ฆอตไบ เธอมีเชื้อสายอเซอรี[27][28] โดยบิดาของเธอเป็นคนพื้นเมืองอาเซอร์ไบจาน (อิหร่าน) ส่วนพระมารดานั้นมีพื้นเพมาจากจังหวัดกิลาน ซึ่งตั้งอยู่ชายฝั่งทะเลแคสเปียน[26]

เธอได้ไปศึกษาต่อ ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส โดยศึกษาทรงด้านสถาปัตยกรรมศาสตร์ที่ปารีส ซึ่งทำให้เธอมีโอกาสได้เข้าเฝ้าพระเจ้าชาห์เป็นครั้งแรก เมื่อครั้งที่พระเจ้าชาห์เสด็จเยือนฝรั่งเศสอย่างเป็นทางการ ฟาราห์ได้เข้าเฝ้าพร้อมกับนักศึกษาชาวอิหร่านคนอื่นๆ ในสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปารีสในปี ค.ศ. 1959 และต่อมาก็มีโอกาสเข้าเฝ้าอีกหลายครั้งเมื่อเสด็จกลับอิหร่านในช่วงปิดภาคเรียนฤดูร้อน ทั้งสองได้พัฒนาสัมพันธภาพ จนในที่สุดสำนักพระราชวังก็ประกาศหมั้นเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน ในปีเดียวกัน และได้อภิเษกสมรสกันเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม ค.ศ. 1959 และเธอเป็นพระมเหสีพระองค์แรกที่สามารถให้ประสูติกาลพระราชโอรสเพื่อสืบราชบัลลังก์ได้เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม ค.ศ. 1960 และเป็นพระมเหสีเพียงพระองค์เดียวของประวัติศาสตร์อิหร่านที่ได้มีการเฉลิมพระอภิไธยเป็น จักรพรรดินี หรือ ชาห์บานู (شاهبانو) องค์แรกและองค์เดียวของอิหร่านยุคปัจจุบัน และยังทรงสถาปนาให้เป็น "จักรพรรดินีนาถผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์" ในกรณีที่พระองค์สวรรคตหรือไม่สามารถปกครองประเทศได้ก่อนที่มกุฎราชกุมารจะเจริญพระชันษาครบ 21 ชันษา ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่แปลกใหม่สำหรับประเทศในตะวันออกกลาง[29] ชาห์และฟาราห์มีพระราชโอรส-ธิดา 4 พระองค์ ได้แก่

  1. มกุฎราชกุมารเรซา ปาห์ลาวี (ประสูติ 31 ตุลาคม ค.ศ. 1960-) อภิเษกสมรสกับนางสาวยัสมิน อาเตมัด-อามินี มีพระธิดาด้วยกัน 3 พระองค์[15]
  2. เจ้าหญิงฟาราห์นาซ ปาห์ลาวี (ประสูติ 12 มีนาคม ค.ศ. 1963-)
  3. เจ้าชายอาลี เรซา ปาห์ลาวีที่ 2 (ประสูติ 28 เมษายน ค.ศ. 1966 - สิ้นพระชนม์ 4 มกราคม ค.ศ. 2011)[30][31] ทรงหมั้นกับซาราห์ ตาบาตาบัย[32] แต่มีพระธิดาเพียงพระองค์เดียวที่เกิดจากนางสาวราฮา ดีเดวาร์[33]
  4. เจ้าหญิงไลลา ปาห์ลาวี (ประสูติ 27 มีนาคม ค.ศ. 1970 – สิ้นพระชนม์ 10 มิถุนายน ค.ศ. 2001)[34]

หลังจากการปฏิวัติอิสลาม อดีตจักรพรรดินีฟาราห์ได้เสด็จลี้ภัยร่วมกับครอบครัว แต่ภายหลังการสวรรคตของพระสวามี อดีตจักรพรรดินีทรงใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งเป็นสถานที่ที่พระองค์ทรงพบกับพระสวามีครั้งแรก[34]

พระบรมศพของพระองค์ในประเทศอียิปต์

สวรรคต[แก้]

หลังจากที่พระเจ้าชาห์ ได้อพยพลี้ภัยพำนักในต่างประเทศหลายประเทศ สุดท้ายพระองค์จึงเสด็จสวรรคตที่กรุงไคโร ประเทศอียิปต์ด้วยโรคมะเร็ง เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม ค.ศ. 1980 โดยได้จัดงานพระศพของชาห์ให้อย่างสมพระเกียรติในฐานะอดีตพระเทวัน (น้องเขย) ของพระเจ้าฟารุกที่ 1 แห่งอียิปต์ โดยฝังไว้ในกรุงไคโร และในพระราชพิธีนี้มีชาวอิหร่านไปร่วมพิธีหลายแสนคน[35]

ปัจจุบัน เจ้าชายเรซา ปาห์ลาวี มกุฎราชกุมารแห่งอิหร่าน พระราชโอรสองค์ใหญ่ของพระองค์ได้สถาปนาตนเองเป็นพระเจ้าชาห์อ้างสิทธิในราชบัลลังก์อิหร่านในปัจจุบัน[36] ปัจจุบันพระองค์ทรงประทับลี้ภัยอยู่ในสหรัฐอเมริกา ร่วมกับพระภรรยาและพระราชธิดา[37][38]

เครื่องราชอิสริยาภรณ์[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. D. N. MacKenzie. A Concise Pahlavi Dictionary. Routledge Curzon, 2005.
  2. M. Mo'in. An Intermediate Persian Dictionary. Six Volumes. Amir Kabir Publications, 1992.
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 3.4 "Mohammad Reza Pahlavi Biography - family, history, wife, school, young, son, old, information, born, house, time, year". World Biography. สืบค้นเมื่อ 2010-10-24.
  4. 4.0 4.1 4.2 4.3 4.4 จักรพันธุ์ กังวาฬ และคนอื่นๆ. หน้า 17
  5. "Battle Between Persians and Russians". State Hermitage Museum. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-05-14. สืบค้นเมื่อ 2009-09-19.
  6. 6.00 6.01 6.02 6.03 6.04 6.05 6.06 6.07 6.08 6.09 จักรพันธุ์ กังวาฬ และคนอื่นๆ. หน้า 18
  7. 7.0 7.1 7.2 7.3 7.4 7.5 7.6 7.7 จักรพันธุ์ กังวาฬ และคนอื่นๆ. หน้า 19
  8. 8.00 8.01 8.02 8.03 8.04 8.05 8.06 8.07 8.08 8.09 "ศาสนากับการเมืองในอิหร่าน". เสรีภาพ ณ ชะเยือง. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-01-13. สืบค้นเมื่อ 2010-10-25.
  9. ใด ใด ในโลกล้วนอนิจจัง[ลิงก์เสีย]
  10. 10.0 10.1 10.2 10.3 10.4 10.5 10.6 10.7 จักรพันธุ์ กังวาฬ และคนอื่นๆ. หน้า 20
  11. 11.0 11.1 11.2 11.3 11.4 11.5 11.6 11.7 จักรพันธุ์ กังวาฬ และคนอื่นๆ. หน้า 21
  12. 12.0 12.1 12.2 12.3 12.4 12.5 12.6 จักรพันธุ์ กังวาฬ และคนอื่นๆ. หน้า 22
  13. "อิหร่าน (๓)". เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-10-26. สืบค้นเมื่อ 2009-10-26.
  14. 14.0 14.1 จักรพันธุ์ กังวาฬ และคนอื่นๆ. หน้า 23
  15. 15.0 15.1 15.2 "การอภิเษกสมรสของพระเจ้าชาห์ โมฮัมหมัด เรซา ปาห์ลาวี". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-06-14. สืบค้นเมื่อ 2010-01-21.
  16. "Bidding Farewell". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-04-02. สืบค้นเมื่อ 2010-10-22.
  17. The New York Times, 20 November 1948, page 1
  18. 18.0 18.1 18.2 Soraya Esfandiari Bakhtiari Bakhtiarifamily
  19. 19.0 19.1 Shah To Wed, Iran Hears, The New York Times, 10 October 1950, p. 12.
  20. The Tribune, Chandigarh, India – Business
  21. Wedding of Shah Postponed, The New York Times, 22 December 1950, p. 10.
  22. Paul Hofmann, Pope Bans Marriage of Princess to Shah, The New York Times, 24 February 1959, p. 1.
  23. Princess Soraya (Official page) About me:Soraya Esfandiary-Bakhtiari
  24. ARTICLE WRITTEN BY DR ABBASSI FOR NIMROOZ NEWSPAPER[ลิงก์เสีย]
  25. The Iranian Soraya Fragments of a life By Cyrus Kadivar June 25, 2002 The Iranian
  26. 26.0 26.1 ปาห์ลาวี, ฟาราห์. ความทรงจำของฟาราห์ ปาห์ลาวี. ISBN 1-4013-5961-2
  27. Shakibi, Zhand. Revolutions and the Collapse of Monarchy: Human Agency and the Making of Revolution in France, Russia, and Iran. I.B.Tauris, 2007. ISBN 1-84511-292-X; p. 90
  28. Taheri, Amir. The Unknown Life of the Shah‎. Hutchinson, 1991. ISBN 0-09-174860-7; p. 160
  29. "The World: Farah: The Working Empress". Time. 4 November 1974. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-07-03. สืบค้นเมื่อ 2 May 2010.
  30. "เจ้าชายอาลีเรซา ปาห์ลาวี โอรสองค์เล็กพระเจ้าชาห์แห่งอิหร่าน สิ้นพระชนม์แล้ว". konmun.com. 2010-01-05. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-09-24. สืบค้นเมื่อ 2010-01-06.
  31. "รัฐบาลอิหร่าน เมิน-เจ้าชายยิงตัวตาย". www.muslimthai.com. 2010-01-06. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-01-08. สืบค้นเมื่อ 2010-01-06.
  32. "Salam Worldwide". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-01-07. สืบค้นเมื่อ 2010-10-22.
  33. "Announcement of Birth". Reza Pahlavi. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-09-30. สืบค้นเมื่อ 2011-08-05.
  34. 34.0 34.1 "Shah's daughter laid to rest". BBC News. 2001-06-17. สืบค้นเมื่อ 2009-11-11.
  35. "The last persian king of iran". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-04-07. สืบค้นเมื่อ 2009-10-20.
  36. "เรซากับแผนล้มรัฐบาลอิหร่าน". นสพ.คมชัดลึก. วันจันทร์ที่ 15 กุมภาพันธ์ 2553. สืบค้นเมื่อ 25-10-2010. {{cite news}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |date= (help)[ลิงก์เสีย]
  37. "Shah's daughter 'could not stand' exile". BBC News. 2001-06-12. สืบค้นเมื่อ 2010-7-14. {{cite news}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  38. "Shah's daughter laid to rest". BBC News. 2001-06-17. สืบค้นเมื่อ 2009-11-11.

บรรณานุกรม[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

ก่อนหน้า พระเจ้าชาห์ โมฮัมหมัด เรซา ปาห์ลาวี ถัดไป
พระเจ้าชาห์ เรซา ปาห์ลาวี ชาห์แห่งอิหร่าน
(16 กันยายน ค.ศ. 1941 - 11 กันยายน ค.ศ. 1979)
ไม่มี (ระบอบกษัตริย์ถูกล้มล้าง)
พระเจ้าชาห์ เรซา ปาห์ลาวี ประมุขแห่งรัฐอิหร่าน
(16 กันยายน ค.ศ. 1941 - 11 กันยายน ค.ศ. 1979)
อายะตุลลอหฺรูฮุลลอฮ์ โคมัยนี
ไม่มี ผู้อ้างสิทธิในราชบัลลังก์อิหร่าน
(11 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1979 - 27 กรกฎาคม ค.ศ. 1980)
มกุฎราชกุมารเรซา ปาห์ลาวี