วิกฤตการณ์ขีปนาวุธคิวบา
วิกฤตการณ์ขีปนาวุธคิวบา | |||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|
ส่วนหนึ่งของ สงครามเย็น | |||||||
ภาพอ้างอิงจากซีไอเอแสดงขีบนาวุธโซเวียตR-12 Dvina (ชื่อเรียกในนาโต SS-4) ในพิธีสวนสนามที่ จัตุรัสแดง, มอสโก ในวันที่ 1 พฤษภาคม ค.ศ. 1962 | |||||||
| |||||||
คู่สงคราม | |||||||
สหรัฐ ตุรกี อิตาลี สนับสนุนโดย: เนโท |
สหภาพโซเวียต คิวบา สนับสนุนโดย: ภาคีสนธิสัญญาวอร์ซอ | ||||||
ผู้บังคับบัญชาและผู้นำ | |||||||
ความสูญเสีย | |||||||
เครื่องบินจารกรรม U-2 ถูกยิงตก 1 ลำ อากาศยานเสียหาย 1 ลำ |
วิกฤตการณ์ขีปนาวุธคิวบา (อังกฤษ: Cuban Missile Crisis) คือการเผชิญหน้าทางทหารระหว่างสหรัฐอเมริกาฝ่ายหนึ่ง กับสหภาพโซเวียตและประเทศคิวบาอีกฝ่ายหนึ่ง ในช่วงเวลาที่สงครามเย็นอยู่ในช่วงความตึงเครียดจนเกือบจะกลายไปเป็นสงครามปรมาณู ชาวรัสเซียเรียกเหตุการณ์นี้ว่าวิกฤตการณ์แคริบเบียน ส่วนชาวคิวบาเรียกมันว่าวิกฤตการณ์เดือนตุลาคม เหตุการณ์ครั้งนี้ถือเป็นหนึ่งในการเผชิญหน้าครั้งสำคัญในสงครามเย็นนอกจากการปิดล้อมเบอร์ลิน[ต้องการอ้างอิง]
การเผชิญหน้าเริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม ค.ศ. 1962 เมื่อภาพถ่ายจากเครื่องบินสังเกตการณ์ ยู-2 ของสหรัฐอเมริกา เผยให้เห็นฐานปล่อยขีปนาวุธ กำลังถูกสร้างขึ้นในคิวบา ภายใต้การปกครองของฟิเดล กัสโตร เพื่อตอบโต้การสร้างฐานขีปนาวุธของสหรัฐอเมริกา ณ บริเวณพรมแดนของตุรกีและสหภาพโซเวียต
ทางสหรัฐอเมริกาได้กำหนดมาตรการกักกัน ส่งเรือรบเข้าปิดล้อมคิวบา ห้ามเรือบรรทุกสินค้าทุกลำผ่านเข้ามาในน่านน้ำทะเลแคริบเบียน เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม ค.ศ. 1962 หลังจากการเผชิญหน้าผ่านการโต้ตอบทางการทูตอย่างดุเดือด ในวันที่ 28 ตุลาคม ค.ศ. 1962 ทั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา จอห์น เอฟ. เคนเนดี และนายกรัฐมนตรีแห่งสหภาพโซเวียต นิกิตา ครุสชอฟ ต่างตกลงยินยอมที่จะถอนอาวุธปรมาณูของตนออกจากตุรกีและคิวบาตามลำดับ จากการร้องขอของอู ถั่น ซึ่งดำรงตำแหน่งเลขาธิการสหประชาชาติในเวลานั้น
เบื้องหลัง
[แก้]สหรัฐอเมริกาที่หวาดกลัวในการขยายคอมมิวนิสต์ของสหภาพโซเวียต แต่สำหรับประเทศแถบละตินอเมริกา การเป็นมิตรกับสหภาพโซเวียตอย่างเปิดเผยนั้นถูกมองว่าไม่สามารถเป็นที่ยอมรับได้ ทำให้สหรัฐอเมริกากับสหภาพโซเวียตเป็นศัตรูกันมานับตั้งแต่การสิ้นสุดของสงครามโลกครั้งที่สอง ในปี ค.ศ. 1945 การเข้าไปเกี่ยวข้องเช่นนั้นยังเป็นการปฏิเสธลัทธิมอนโร ซึ่งป้องกันไม่ให้อำนาจในยุโรปเข้ามาแทรกแซงในเรื่องของทวีปอเมริกาใต้
ในปลายปี 1961 ประธานาธิบดีสหรัฐ จอห์น เอฟ. เคนเนดีได้เริ่มปฏิบัติการมองกูซ เป็นหนึ่งในปฏิบัติการต่อต้านรัฐบาลของฟิเดล กัสโตร แต่ไม่ประสบความสำเร็จ[1] และสหรัฐอเมริกายังได้ออกมาตรการห้ามขนส่งสินค้าไปยังคิวบา ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1962[2]
สหรัฐอเมริกายังได้ทำปฏิบัติการลับและได้ส่งเจ้าหน้าที่ซีไอเอเข้าไป[3] นายพลเคอร์ติส เลอเมย์ได้แสดงแผนการทิ้งระเบิดให้กับเคนเนดีในเดือนกันยายน ในขณะที่การบินสอดแนมและการก่อกวนขนาดเล็กจากฐานทัพเรือกวนตานาโมของสหรัฐอเมริกา เป็นสิ่งที่คิวบากล่าวโทษต่อรัฐบาลสหรัฐอเมริกา
ในเดือนกันยายน ค.ศ. 1962 รัฐบาลคิวบาได้เห็นหลักฐานสำคัญที่แสดงว่าสหรัฐอเมริกาจะทำการรุกรานตน[4] ผลที่ตามมาคือ กัสโตร และนายกรัฐมนตรีของสหภาพโซเวียต นิกิตา ครุสชอฟ ตกลงที่จะติดตั้งขีปนาวุธนิวเคลียร์อย่างลับ ๆ ในคิวบา ครุสชอฟรู้สึกว่าการรุกรานของสหรัฐอเมริกาต่อคิวบาเป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นในไม่ช้า และการสูญเสียคิวบาจะส่งผลร้ายแรงของการขยายตัวของคอมมิวนิสต์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในละตินอเมริกา เขากล่าวว่าเขาต้องการเผชิญหน้ากับอเมริกาด้วยขีปนาวุธ[5]
ความตึงเครียดเพิ่มมากขึ้นนับตั้งแต่วันที่ 8 ตุลาคม ค.ศ. 1962 ในวันที่ 14 ตุลาคม การลาดตระเวนของสหรัฐอเมริกาไปพบเข้ากับฐานปล่อยขีปนาวุธที่กำลังถูกสร้างขึ้นในคิวบา
วิกฤตการณ์จบลงในอีกสองสัปดาห์ถัดมาในวันที่ 28 ตุลาคม ค.ศ. 1962 เมื่อประธานาธิบดีแห่งสหรัฐ จอห์น เอฟ. เคนเนดี และเลขาธิการสหประชาชาติ อู ถั่น ได้ทำข้อตกลงกับสหภาพโซเวียตเพื่อรื้อการติดตั้งขีปนาวุธเพื่อแลกกับการที่สหรัฐอเมริกาจะยกเลิกการบุกคิวบา ครุสชอฟขอร้องว่าขีปนาวุธจูปิเตอร์ และธอร์ ในตุรกีจะต้องถูกนำออก แต่สหรัฐอเมริกาไม่ได้นำพวกมันออกจริง ๆ และการร้องขอของเขาถูกเพิกเฉยโดยคณะบริหารของเคนเนดี[6]
เคนเนดีได้สั่งการควบคุมดูแลที่เข้มงวด และอ้างการร่วมมือจากรัฐมนตรีต่างประเทศแห่งองค์การนานารัฐอเมริกัน เคนเนดีได้เรียกการประชุมฉุกเฉินขององค์กรนานารัฐอเมริกันและคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเพื่อจัดการกับปัญหาดังกล่าว[7]
เครื่องยู-2 ขึ้นบิน
[แก้]ขีปนาวุธพิสัยกลางเอสเอส-3 ลูกแรกมาถึงในคืนของวันที่ 8 กันยายนและตามมาด้วยลูกที่สองในวันที่ 16 กันยายน ทางโซเวียตได้สร้างฐานยิงขีปนาวุธขึ้นมาเก้าแห่ง หกแห่งสำหรับขีปนาวุธเอสเอส-4 และอีกสามฐานสำหรับขีปนาวุธเอสเอส-5 ซึ่งมีพิสัยการยิงที่ 4,000 กิโลเมตร ตามแผนแล้วจะมีฐานยิงทั้งสิ้น 40 แห่งซึ่งเพิ่มขึ้นจากการโจมตีครั้งแรกถึง 70% ประชาชนของคิวบาได้รับรู้ถึงการมาของขีปนาวุธ โดยมีการรายงานกว่าพันครั้งที่ส่งไปถึงไมอามี่ซึ่งหน่วยข่าวกรองของสหรัฐคิดว่ามันเป็นเรื่องหลอกลวง[8]
ในวันที่ 7 ตุลาคมประธานาธิบดีของคิวบาออสวัลโด ดอร์ติกอสได้กล่าวในการประชุมว่า "หากพวกเราถูกโจมตี เราก็จะทำการป้องกันตนเอง ข้าพเจ้าขอย้ำว่าเราจะป้องกันตัวเองด้วยอาวุธหากหลีกเลี่ยงไม่ได้ อาวุธที่เรานั้นไม่อยากจะมีและไม่อยากจะใช้มัน" ปัญหามากมายนั้นแปลว่าสหรัฐยังหาขีปนาวุธเหล่านั้นไม่เจอจนกระทั่งถึงวันที่ 14 ตุลาคม เมื่อเครื่องล็อกฮีด ยู-2 ได้ทำการบินสอดแนมและถ่ายภาพบริเวณก่อสร้างฐานยิงเอสเอส-4 ได้จากซาน คริสโตบัลทางตะวันตกของคิวบา
อเมริกาวางแผนโต้ตอบ
[แก้]เคนเนดีได้เห็นภาพถ่ายในวันที่ 16 ตุลาคม[9] เขาได้จัดการประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติขึ้น โดยมีเจ้าหน้าที่ระดับสูง 14 คนและน้องชายของเขาโรเบิร์ต เมื่อเวลา 9.00 สหรัฐไม่มีแผนที่จะจัดการกับภัยคุกคามในคิวบา เพราะว่าหน่วยข่าวกรองของสหรัฐนั้นเชื่อว่าโซเวียตไม่ได้ติดตั้งอาวุธนิวเคลียร์ไว้ในคิวบา ทางสภาความมั่นคงแห่งชาติได้รวมกันหาทางออกอย่างเร่งด่วนขึ้นมา 5 วิธี ได้แก่
- ไม่ทำอะไรเลย
- ใช้การเจรจาทางการทูตเพื่อกดดันให้สหภาพโซเวียตถอนขีปนาวุธ
- ใช้การโจมตีทางอากาศต่อขีปนาวุธ
- ใช้กองทัพเข้าบุก
- ทำการปิดล้อมทางทะเลต่อคิวบา ซึ่งจัดว่าเป็นการปิดกันประเทศอย่างจำกัด[10]
ด้วยความเต็มใจหัวหน้าเจ้าหน้าที่ได้ตกลงที่จะทำการเข้าโจมตีเต็มกำลังและเป็นการแก้ไขปัญหาเพียงทางเดียว พวกเขาเห็นพ้องกันว่าโซเวียตจะไม่ขัดขวางอเมริกาจากการเข้ายึดครองคิวบา เคนเนดีนั้นสงสัยในเรื่องนี้ เขาจึงกล่าวว่า
พวกเขาสามารถปล่อยให้สิ่งเหล่านี้ผ่านไปโดยไม่ทำอะไรเลย ตามที่พวกเขากล่าว พวกเขาไม่สามารถยอมให้พวกเราจัดการกับขีปนาวุธของพวกเขา สังหารชาวรัสเซีย และไม่ทำอะไรเลย หากพวกเขาไม่ทำอะไรสักอย่างในคิวบา พวกเขาจะต้องทำอะไรสักอย่างในเบอร์ลินแน่นอน[11]
เคนเนดีสรุปว่าการโจมตีทางอากาศจะเป็นการให้ "ไฟเขียว" กับโซเวียตในการเข้ายึดครองเบอร์ลิน เขาเสริมด้วยว่าในการทำเช่นนั้นพันธมิตรของสหรัฐจะคิดว่าสหรัฐเป็นคนจุดชนวนในการสูญเสียเบอร์ลิน เพราะพวกเขาไม่สามารถแก้ไขปัญหาในคิวบาด้วยสันติวิธีได้[ต้องการอ้างอิง]
จากนั้นในการประชุมได้มีการหารือถึงผลที่จะกระทบความสมดุลทางยุทธศาสตร์ หัวหน้าเจ้าหน้าที่เชื่อว่าขีปนาวุธจะเป็นตัวถ่วงสมดุลอย่างมาก แต่รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมโรเบิร์ต แมคนามาร่าไม่เห็นด้วยในเรื่องนั้น เขาเชื่อว่าขีปนาวุธจะไม่ส่งผลใด ๆ ในด้านยุททธศาสตร์ ส่วนฐานยิงอีก 40 ฐานนั้นจะสร้างความแตกต่างเพียงเล็กน้อยในภาพรวมของความสมดุลด้านยุทธศาสตร์ สหรัฐนั้นมีหัวรบมากกว่า 5,000 หัวรบอยู่แล้วในขณะที่โซเวียตมีเพียง 300 เท่านั้น เขาสรุปว่าการที่โซเวียตมีเพิ่มขึ้นอีก 40 เป็น 340 ลูกนั้นจะไม่เปลี่ยนแปลงสมดุลด้านยุทธศาสตร์เลยแม้แต่น้อย ในปีค.ศ. 1990 เขาพูดซ้ำอีกว่า "มันจะไม่สร้างความแตกต่างใด ๆ กองทัพจะไม่เสียสมดุล ผมไม่เชื่อว่ามันจะเป็นไปได้ทั้งเมื่อก่อนและในตอนนี้"[12]
อย่างไรก็ตามสภาความมั่นคงแห่งชาติก็เห็นด้วยว่าขีปนาวุธจะส่งผลกระทบในด้านสมดุลการเมือง อย่างแรกเคนเนดีได้ให้สัญญากับประชาชนอเมริกันไม่นานก่อนหน้านี้ว่า "หากคิวบานั้นมีความสามารถพอที่จะทำการโจมตีสหรัฐ สหรัฐก็จะทำการตอบโต้"[13] ประการที่สองความน่าเชื่อถือของสหรัฐท่ามกลางเหล่าพันธมิตรและประชาชนอเมริกันจะได้รับผลกระทบในด้านลบหากพวกเขายอมให้สหภาพโซเวียตมาเปลี่ยนแปลงสมดุลด้านยุทธศาสตร์ด้วยการติดตั้งขีปนาวุธในคิวบา เคนเนดีได้ชี้แจงหลังจากวิกฤตการณ์ว่า "มันอาจมีการเปลี่ยนแปลงทางด้านสมดุลการเมือง มันอาจส่งผลให้เห็นในทางความเป็นจริง"[14]
ดังนั้นการบุกเต็มรูปแบบจึงไม่ใช่ทางเลือกที่ดี แต่ต้องมีใครลงมือทำอะไรสักอย่าง โรเบิร์ต แมคนามาร่าได้สนับสนุนการปิดกั้นทางทะเลด้วยการที่มันเป็นทางเลือกที่มีกำลังแต่ก็จำกัดทางกองทัพให้อยู่ในการควบคุม ตามกฎหมายนานาชาติแล้วการปิดกั้นนั้นเป็นการกระทำของสงคราม แต่เคนเนดีไม่คิดว่ามันมีข้อจำกัดเพียงเท่านั้น เขาคิดว่าสหภาพโซเวียตจะไม่ถูกกระตุ้นให้ทำการโจมตีเพราะเพียงแค่มีการปิดกั้นเท่านั้น[ต้องการอ้างอิง]
ในวันที่ 19 ตุลาคม การบินสอดแนมของยู-2 แสดงให้เห็นฐานยิงขีปนาวุธสี่แห่ง ในส่วนหนึ่งของการปิดกั้นกองทัพสหรัฐได้เตรียมตัวพร้อมอย่างมากในการใช้กำลังบังคับในการปิดกั้นและพร้อมสำหรับการเข้าบุกคิวบา กองพลยานเกราะที่ 1 ถูกส่งไปที่จอร์เจียและกองทัพบกห้ากองพลเตรียมพร้อมที่จะเข้าบุก ฝ่ายศูนบ์บัญชาการยุทธศาสตร์ทางอากาศได้ส่งเครื่องบินทิ้งขนาดกลางบี-47 สตราโตเจ็ทไปยังสนามบินพลเรือนและเครื่องบินทิ้งระเบิดขนาดหนักบี-52 สตราโตฟอร์เทรสเข้าสู่การเตรียมพร้อม
การกักประเทศ
[แก้]ตามธรรมเนียมในทางปฏิบัติแล้วการปิดกั้นนั้นเป็นการขัดขวางเรือทุกประเภทไม่ให้เข้ามาในพื้นที่ที่ถูกปิดกั้น และจัดว่าเป็นการกระทำของสงคราม การกักประเทศนั้นดูเป็นทางเลือกที่ดีกว่า ในกรณีนี้จะมีการใช้อาวุธอย่างจำกัด
เคนเนดีได้จัดการปราศรัยขึ้นซึ่งเขาได้กล่าวว่า "เพื่อหยุดการโจมตีเหล่านี้ การกักเรืออย่างเข้มงวดจึงจะเริ่มขึ้นในคิวบา" "1962 Year In Review: Cuban Missile Crisis"
ในเอกสารของนายพลเรือแอนเดอร์สันได้แสดงความแตกต่างระหว่างการจำกัดการใช้อาวุธและการจำกัดทุกอย่าง โดยแสดงให้เห็นว่าการปิดกั้นแบบทั่วไปนั้นไม่ใช่เรื่องที่พวกเขาตั้งใจจะทำ ด้วยการที่มันเป็นปฏิบัติการที่เกิดขึ้นในน่านน้ำสากล ประธานาธิบดีเคนเนดีจึงทำการอนุญาตกองทัพให้ปฏิบัติการภายใต้สนธิสัญญาการป้องกันของสหรัฐ เมื่อเวลา 19.00 ของวันที่ 22 ตุลาคม ประธานาธิบดีเคนเนดีได้ปราศรัยทางวิทยุโดยประกาศถึงการค้นพบตำแหน่งของขีปนาวุธ
วิกฤติทวีความรุนแรง
[แก้]เพียงหนึ่งชั่วโมงหลังจากนั้นเมื่อเวลา 11:24 มีการส่งโทรเลขโดยจอร์จ บอลไปยังสถานทูตอเมริกาในตุรกีและสถานทูตอเมริกาส่งต่อให้กับนาโต้โดยระบุว่าพวกเขาต้องการยื่นข้อเสนอที่จะถอนขีปนาวุธออกจากตุรกีเพื่อแลกกับการที่อีกฝ่ายถอนขีปนาวุธออกจากคิวบา ต่อมาในเช้าของวันที่ 25 ตุลาคมนักข่าวชื่อวอลเตอร์ ลิปป์แมนได้เสนอทางออกเดียวกันในหนังสือพิมพ์ของเขา
ในช่วงที่วิกฤติยังดำเนินต่อไป ในค่ำนั้นโซเวียตได้รายงานถึงการแลกเปลี่ยนข้อตกลงผ่านทางโทรเลขระหว่างครุสชอฟและเบิร์ตแรนด์ รัสเซล ซึ่งครุสชอฟได้เตือนว่าการกระทำเยื่ยงโจรสลัดของสหรัฐจะนำไปสู่สงคราม อย่างไรก็ตามเมื่อเวลา 21:24 มีโทรเลขจากครุชเชฟถึงเคนเนดีซึ่งได้รับเมื่อเวลา 22:52 ซึ่งครุสชอฟได้บอกถึงการที่สหภาพโซเวียตจะปฏิเสธทุกการกระทำตามอำเภอใจของสหรัฐ และมองว่าการปิดกั้นทางทะเลเป็นการกระทำที่ก้าวร้าวและเรือของพวกเขาจะได้รับคำสั่งให้เพิกเฉย
ในคืนของวันที่ 23 ตุลาคมเหล่าหัวหน้าเจ้าหน้าที่ได้สั่งการฝ่ายบัญชาการยุทธศาสตร์ทางอากาศให้ไปยังเดฟคอน 2 (DEFCON 2) เพื่อเพียงยืนยันเวลา ข้อความและการโต้ตอบถูกส่งแบบถอดรหัสเพื่อทำให้หน่วยข่าวกรองของโซเวียตได้รับมัน[1] เรดาร์เตรียมพร้อม แต่ละฐานต่อสายตรงสู่ศูนย์บัญชาการการป้องกันทางอากาศในอเมริกาเหนือ
เมื่อเวลา 01:45 ของวันที่ 25 ตุลาคมเคนเนดีได้ตอบโทรเลขของครุสชอฟด้วยการกล่าวว่าสหรัฐถูกบังคับให้ทำการหลังจากที่ได้รับการยืนยันว่าไม่มีขีปนาวุธที่พร้อมโจมตีใด ๆ ในคิวบา และเมื่อการยืนยันเหล่านั้นได้รับการพิสูจน์แล้วว่าผิดพลาดเขาหวังว่ารัฐบาลของโซเวียตจะกระทำการที่จำเป็นเพื่อทำให้สถานการณ์กลับไปเป็นปกติ
เมื่อเวลา 07:15 เรือยูเอสเอส เอสเซ็กซ์และยูเอสเอส เกียร์ริ่งได้พยายามเข้าสกัดกั้นเรือชื่อบูชาเรสท์แต่ล้มเหลว เรือบรรทุกที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องทางทหารจะสามารถผ่านการปิดกั้นไปได้ หลังจากวันนั้นเมื่อเวลา 17:43 ผู้บัญชาการการปิดกั้นได้สั่งการให้เรือยูเอสเอส เคนเนดีเข้าสกัดกั้นและเข้ายึดเรือของเลบานอน หลังจากที่เรือลำดังกล่าวถูกตรวจก็ผ่านไปได้
เมื่อเวลา 17:00 นายวิลเลียม คลีเมนท์ได้ประกาศว่าขีปนาวุธในคิวบายังคงทำงานอยู่ ต่อมารายงานนี้ได้รับการตรวจสอบโดยซีไอเอที่แนะว่าขีปนาวุธนั้นไม่เคยหยุดทำงานเลย เคนเนดีตอบโต้ด้วยการสั่งการให้เครื่องบินทุกลำติดตั้งอาวุธนิวเคลียร์
เช้าวันต่อมาเคนเนดีได้รายงานต่อคณะกรรมการบริหารว่าเขาเชื่อว่าเพียงแค่การบุกก็เพียงพอแล้วในถอนขีปนาวุธออกจากคิวบา อย่างไรก็ตามเขาถูกโน้มน้าวให้ใช้เวลาและใช้การเจรจาทางการทูต เขาเห็นด้วยและสั่งการให้การบินที่ระดับต่ำเหนือเกาะมีทุก ๆ สองชั่วโมง เขายังวางแผนให้มีการตั้งรัฐบาลใหม่ของคิวบาขึ้นมาหากเกิดการบุก
เมื่อมาถึงจุดนี้วิกฤตการณ์ยังคงเป็นการคุมเชิงอยู่ สหภาพโซเวียตไม่แสดงสัญญาณใด ๆ ที่ว่าพวกเขาจะยอมจำนนและยังเข้าการขัดขวางอีกด้วย สหรัฐไม่มีเหตุผลที่จะเชื่อในทางตรงกันข้ามและยังอยู่ในช่วงแรกของการเตรียมเข้าบุก พร้อมกับการใช้นิวเคลียร์โจมตีโซเวียตในกรณีโซเวียตใช้กำลังทางทหารเข้าโต้ตอบ[15]
วิกฤติดำเนินต่อ
[แก้]“ | การโจมตีคิวบาโดยตรงจะทำให้เกิดสงครามนิวเคลียร์ อเมริกาพูดถึงการโจมตีดังกล่าวอย่างไม่รับรู้ความจริง สำหรับผมแล้วพวกเขาจะแพ้สงครามอย่างไม่ต้องสงสัย | ” |
ในอีกทางหนึ่งกัสโตรเชื่อว่าการบุกจะเริ่มขึ้นในไม่ช้า และได้ส่งจดหมายไปยังครุสชอฟซึ่งดูเหมือนว่าให้มีการเข้าโจมตีสหรัฐ เขายังได้สั่งการให้อาวุธต่อต้านอากาศยานทุกชิ้นในคิวบายิงใส่เครื่องบินของสหรัฐทุกลำที่ผ่านเข้ามา เมื่อเวลา 06:00 ของวันที่ 27 ตุลาคม ซีไอเอได้ส่งรายงานว่ามีที่ตั้งของขีปนาวุธสี่แห่งที่ซาน คริสโตบัลและอีกสองแห่งที่ซากู ลา กรองซึ่งดูเหมือนว่าจะพร้อมสำหรับการใช้งาน พวกเขายังแนะว่ากองทัพของคิวบานั้นยังคงเตรียมพร้อมสำหรับปฏิบัติการ แม้ว่าพวกเขาจะได้รับคำสั่งให้นิ่งเฉยหากไม่ได้ถูกโจมตีก่อน
เมื่อเวลา 09:00 ที่มอสโคว์เริ่มมีการประกาศกระจายเสียงทางวิทยุซึ่งเป็นข้อความจากครุสชอฟ ตรงกันข้ามกับจดหมายเมื่อคืนก่อน ข้อความนั้นได้เสนอการแลกเปลี่ยนแบบใหม่ ว่าด้วยการที่ขีปนาวุธในคิวบาจะถูกถอนออกเพื่อแลกกับการที่อเมริกาถอนขีปนาวุธจูปิเตอร์ออกจากตุรกี ตลอดช่วงวิกฤตการณ์ตุรกีได้แถลงการซ้ำหลายครั้งว่ามันอาจเป็นการพ่ายแพ้หากขีปนาวุธจูปิเตอร์ถูกถอนออกจาประเทศของพวกเขา เมื่อเวลา 10:00 คณะกรรมการบริการทำการประชุมอีกครั้งเพื่อหารือสถานการณ์และได้ข้อสรุปว่าการเปลี่ยนแปลงของข้อความนั้นเกิดขึ้นจากการขัดแย้งกันภายในระหว่างครุสชอฟกับสมาชิกพรรคคนอื่น ๆ ในเครมลิน[17] แมคนามาร่าได้เตือนว่ามีเรือบรรทุกอีกลำอยู่ห่างไปประมาณ 970 กิโลเมตรที่ควรถูกสกัดกั้น เขายังบอกด้วยว่าพวกเขาไม่ได้ทำให้สหภาพโซเวียตตื่นตระหนกถึงเส้นกักกันและแนะว่าให้ส่งข้อมูลเหล่านี้ผ่านทางอู ถั่นที่ยูเอ็น
ในขณะที่การประชุมดำเนินต่อไป เมื่อเวลา 11:03 ได้มีข้อความใหม่จากครุสชอฟเข้ามา ในส่วนหนึ่งของข้อความกล่าวไว้ว่า "ท่านกำลังสร้างความรบกวนเหนือคิวบา ท่านกล่าวว่าสิ่งนี้รบกวนท่านเพราะมันอยู่ห่างจากชายฝั่งของสหรัฐเพียง 90 ไมล์ แต่ท่านกลับติดตั้งขีปนาวุธพลังทำลายล้างสูงของท่านไว้ในตุรกี ใกล้กับเรา ดังนั้นข้าพเจ้าจึงขอทำการต่อรองดังนี้ เราเต็มใจที่จะถอนขีปนาวุธที่ท่านมองว่าเป็นการคุกคามออกจากคิวบา ตัวแทนของท่านจะทำการประกาศว่าสหรัฐจะถอนขีปนาวุธออกจากตุรกีเช่นกัน และหลังจากนั้นบุคลากรที่สภาความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเชื่อถือจะสามารถตรวจสอบข้อตกลงเหล่านี้ได้" กระนั้นคณะกรรมการบริหารก็ยังคงดำเนินการประชุมต่อไปตลอดทั้งวัน
เช้าวันนั้นเครื่องยู-2 ที่บินโดยผู้พันรูดอล์ฟ แอนเดอร์สันบินออกจากฐานบินแมคคอยในฟลอริดา และเมื่อเวลา 12:00 ตามเวลามาตรฐานตะวันออก เครื่องบินก็ถูกยิงตกโดยมิสไซล์ผิวพื้นสู่อากาศเอส-75 ดวิน่าที่ยิงจากฐานในคิวบา ความตึงเครียดในการต่อรองระหว่างสหภาพโซเวียตและสหรัฐเริ่มมีมากขึ้น และต่อมาก็เป็นที่รู้กันว่าคำสั่งให้ยิงเกิดขึ้นโดยผู้บัญชาการของโซเวียตที่อยู่ในท้องที่ ต่อมาเมื่อเวลา 15:41 เอฟ-8 ครูเซเดอร์ของกองทัพเรือสหรัฐหลายลำถูกส่งไปทำภารสอดแนมและถ่ายรูป และมีหนึ่งลำที่ถูกยิงโดยกระสุนขนาด 37 ม.ม.แต่สามารถบินกลับฐานได้ เมื่อเวลา 16:00 เคนเนดีได้เรียกคณะกรรมการบริหารมาที่ทำเนียบขาวและได้สั่งการให้ส่งข้อความไปยังอู ถั่นทันที โดยให้ถามว่าโซเวียตจะระงับงานขีปนาวุธไว้ขณะทำการต่อรองได้หรือไม่ ขณะมีการประชุมนายแมกซ์เวลล์ เทย์เลอร์ได้ส่งข่าวว่าเครื่องยู-2 ถูกยิงตก ก่อนหน้านั้นเคนเนดีตั้งใจว่าหากมีการยิงเกิดขึ้นเขาจะเปิดฉากการโจมตีทันที แต่เขาตัดสินใจที่จะไม่ทำการใด ๆ ยกเว้นจะมีการยิงอีกครั้งเกิดขึ้น ในการสัมภาษณ์อีก 40 ปีต่อมา แมคนามาร่าให้การว่า:
เราต้องส่งยู-2 ออกไปเพื่อหาข้อมูล ไม่ว่าขีปนาวุธของโซเวียตนั้นจะพร้อมใช้งานหรือไม่ เราเชื่อว่าหามันถูกยิงตกก็คงไม่ใช่ฝีมือของคิวบาแต่เป็นโซเวียตมากกว่า มันถูกยิงตกโดยมิสไซล์ผิวพื้นสู่อากาศของโซเวียต และมันจะถูกมองโดยโซเวียตว่าเป็นการเพิ่มความขัดแย้ง ดังนั้นก่อนที่เราจะส่งยู-2 ออกไปเราตกลงกันว่าหากมันถูกยิงตกเราจะไม่ทำการประชุมใด ๆ เราจะเข้าโจมตีเลย มันถูกยิงตกในวันศุกร์ [...] โชคดีที่เราเปลี่ยนใจ เราคิดว่ามันอาจเป็นอุบัติเหตุก็ได้ เราจะไม่โจมตี ต่อมาเราได้รู้ว่าครุสชอฟให้เหตุผลเหมือนกับที่เราคิดเอาไว้ เราส่งยู-2 ออกไป หากมันถูกยิงตก เขาให้เหตุผลว่าเราจะเชื่อว่ามันเป็นการจงใจ ดังนั้นเขาจึงสั่งให้ปลิเยฟ ผู้บัญชาการที่อยู่ในคิวบา ว่าห้ามยิงยู-2[18]
ร่างการโต้ตอบ
[แก้]ตัวแทนจากทั้งเคนเนดีและครุสชอฟได้ตกลงที่จะพบกันในร้านอาหารจีนชื่อเยนฉิงในคลีฟแลนด์พาร์คใกล้กับกรุงวอชิงตัน[19] เคนเนดีแนะว่าพวกเขาจะยอมรับข้อเสนอของครุสชอฟเพื่อแลกเปลี่ยนขีปนาวุธ สมาชิกส่วนมากของเอ็กซ์คอมม์ (EXCOMM) ไม่รู้ว่าโรเบิร์ต เคนเนดีได้ประชุมกับสถานทูตของสหภาพโซเวียตในวอชิงตันเพื่อค้นหาว่าความตั้งใจเหล่านี้เป็นความจริงหรือไม่ เอ็กซ์คอมม์นั้นมักไม่เห็นด้วยกับการยื่นข้อเสนอเพราะว่ามันจะเป็นการทำให้นาโต้เสื่อมลง และรัฐบาลตุรกีได้แถลงการซ้ำหลายครั้งว่าพวกเขาไม่เห็นด้วยกับการแลกเปลี่ยนดังกล่าว
เมื่อการประชุมดำเนินไปก็ได้มีแผนใหม่เกิดขึ้นและเคนเนดีก็ถูกโน้มน้าวอย่างช้า ๆ แผนใหม่นี้เป็นการเรียกร้องให้ประธานาธิบดีเพิกเฉยต่อข้อความล่าสุดและตอบข้อความก่อนหน้าของครุสชอฟแทน เคนเนดีลังเลใจในตอนแรก เขารู้สึกว่าครุสชอฟจะไม่ยอมรับข้อเสนออีกต่อไปเพราะว่ามีข้อตกลงใหม่เกิดขึ้น แต่เลิลเวลลีน ทอมป์สันเถียงว่ายังไงครุสชอฟก็ต้องตกลงอยู่ดี ที่ปรึกษาพิเศษของทำเนียบขาวธีโอดอร์ ซอร์เรนเซ่นและโรเบิร์ต เคนเนดีออกจากการประชุมและกลับมาหลังจาก 45 นาทีผ่านไปพร้อมกับร่างจดหมาย ประธานาธิบดีทำการเปลี่ยนแปลงมากมาย พิมพ์ และส่งมันออกไป หลังจากการประชุมของเอ็กซ์คอมม์ก็มีการประชุมที่เล็กกว่าดำเนินต่อในห้องประชุม กลุ่มถกเถียงว่าจดหมายควรได้รับการเน้นคำพูดให้กับสถานทูตดอบรีนินที่กล่าวว่าหากขีปนาวุธไม่ถูกถอนออก จะมีการใช้กำลังทางทหารเพื่อนำมันออกแทน ดีน รัสก์ได้เพิ่มเงื่อนไขเข้าไปอีกด้วยว่าไม่มีส่วนใดในการตกลงที่พูดถึงตุรกี แต่จงเข้าใจด้วยว่าขีปนาวุธจะถูกถอนออกอย่างเต็มใจทันทีที่วิกฤตการณ์จบสิ้นแล้ว ประธานาธิบดีเห็นด้วยและส่งข้อความดังกล่าวออกไป
ตามการร้องขอ ฟอมินและสกาลีได้มาพบกันอีกครั้ง สกาลีถามว่าทำไมจดหมายทั้งสองฉบับจากครุสชอฟจึงแตกต่างกันนัก ฟอมินอ้างว่ามันเป็นเพราะ"การสื่อสารที่แย่" สกาลีตอบกลับว่าคำอ้างนั้นไม่น่าเชื่อถือและตะโกนว่ามันคือการหักหลัง เขาอ้างว่าการบุกจะเริ่มภายในหนึ่งชั่วโมง ซึ่งจุดนั้นเองฟอมินได้กล่าวว่าการตอบข้อความของสหรัฐถูกคาดการณ์โดยครุสชอฟไม่นานนัก และเขาผลักดันให้สกาลีบอกกับกระทรวงการต่างประเทศว่าไม่มีการทรยศใด ๆ ทั้งสิ้น สกาลีกล่าวว่าเขาไม่คิดว่าจะมีใครเชื่อเขา แต่เขาก็ตกลงที่จะส่งข้อความดังกล่าว ทั้งสองแยกทางกันไป สกาลีรีบเขียนบันทึกส่งให้กับเอ็กซ์คอมม์ทันที
ภายในสหรัฐเป็นที่เข้าใจกันดีว่าการเพิกเฉยข้อเสนอครั้งที่สองและกลับไปใช่ข้อเสนอแรกจะทำให้ครุสชอฟต้องตกที่นั่งลำบาก การเตรียมการทางทหารยังคงดำเนินต่อไปและนายทหารอากาศถูกเรียกกลับฐานเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับปฏิบัติการ ต่อมาโรเบิร์ต เคนเนดีได้แสดงความคิดของเขาว่า "เราไม่ได้ละทิ้งความหวังเสียหมด แต่ความหวังขึ้นอยู่กับการตัดสินใจใหม่ของครุสชอฟในอีกไม่กี่ชั่วโมง มันคือความหวังไม่ใช่การคาดหมาย การคาดหมายคือการเผชิญหน้าทางทหารในวันอังคาร และอาจเป็นพรุ่งนี้"
เมื่อเวลา 20:05 จดหมายถูกร่างขึ้นมาก่อนที่จะถูกส่ง ในจดหมายมีข้อความดังนี้ "เมื่อข้าพเจ้าได้จดหมายของท่าน ตามข้อเสนอของท่าน ซึ่งดูเหมือนเป็นที่ยอมรับได้ ซึ่งจะเป็นดังนี้ 1) ท่านจะต้องยินยอมที่จะถอนระบบอาวุธออกจากคิวบาภายใต้การดูแลของสหประชาชาติ และสัญญาว่าจะไม่นำเอาอาวุธเช่นนั้นเข้ามาในคิวบาอีก 2) ในทางเราจะยินยอมตามข้อตกลงผ่านทางสหประชาชาติ เพื่อให้แน่ใจว่ามีการดำเนินการรับผิดชอบการกระทำต่อไปนี้ (a) เพื่อที่จะยกเลิกการกักกัน และ (b) เพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีการบุกคิวบา"
เมื่อจดหมายถูกส่งออกไปก็มีข้อตกลงเกิดขึ้น อย่างไรก็ตามตามที่โรเบิร์ต เคนเนดีบันทึกเอาไว้ ว่ามีการคาดหวังเล็กน้อยที่ว่าจดหมายนั้นจะได้การตอบรับ เมื่อเวลา 21:00 เอ็กซ์คอมม์ทำการประชุมอีกครั้งเพื่อทบทวนการกระทำสำหรับวันต่อไป มีการร่างแผนสำหรับการโจมตีทางอากาศเข้าใส่ฐานขีปนาวุธและเป้าหมายทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะที่คลังปิโตรเลียม แมคนามาร่ากล่าวว่าพวกเขาต้องมี 2 สิ่งที่พร้อมเสมอ นั่นคือรัฐบาลสำหรับคิวบาและแผนสำหรับการโต้ตอบสหภาพโซเวียตในยุโรป เพราะว่าพวกโซเวียตต้องทำอะไรสักอย่างในยุโรปแน่นอน
เมื่อเวลา 24:00 ของวันที่ 27 ตุลาคม สหรัฐได้รายงานต่อนาโต้ว่าสถานการณ์กำลังสั่นลง สหรัฐอาจพบว่ามันจำเป็นที่จะต้องขอความช่วยเหลือจากเพื่อนในตะวันตกให้ใช้กำลังทางทหารหากจำเป็น เพื่อเพิ่มความมั่นใจ เมื่อเวลา 06:00 ซีไอเอได้รายงานว่าขีปนาวุธทุกลูกในคิวบาพร้อมใช้งานแล้ว
ในวันที่ 27 ตุลาคม กองทัพเรือสหรัฐได้หย่อนระเบิดน้ำลึกหลายชุดเข้าใส่เรือดำน้ำของโซเวียตในเขตกักกัน โดยไม่ระวังว่ามันจะติดตั้งตอร์ปิโดหัวรบนิวเคลียร์ที่พร้อมได้รับคำสั่งให้โจมตีเมื่อถูกระเบิดน้ำลึก[20]
จุดจบของวิกฤติในปี 1962
[แก้]หลังจากไตร่ตรองอย่างหนักระหว่างสหภาพโซเวียตและคณะรัฐมนตรีของเคนเนดี เคนเนดีเห็นด้วยอย่างลับ ๆ ที่จะถอนขีปนาวุธทั้งหมดในตุรกีตามแนวชายแดนโซเวียตเพื่อแลกกับการที่ครุสชอฟนำขีปนาวุธออกจากคิวบา
เมื่อเวลา 09:00 ของวันที่ 28 ตุลาคม มีข้อความใหม่จากครุสชอฟถูกกระจายเสียงทางวิทยุของมอสโคว์ ครุสชอฟได้กล่าวว่า "รัฐบาลของโซเวียตได้ตกลงที่จะหยุดการสร้างฐานยิงอาวุธ และได้ประกาศคำสั่งใหม่ให้รื้อถอนอาวุธที่พวกท่านมองว่าเป็นภัยคุกคามและส่งพวกมันกลับสหภาพโซเวียต"
เคนเนดีตอบรับในทันทีด้วยการแถลงการทางจดหมายว่ามันเป็นการช่วยรักษาความสงบ เขายังว่าต่อด้วยว่าจดหมายฉบับก่อน ๆ ที่ว่า "ข้าพเจ้าตัดสินใจส่งจดหมายให้ท่านในวันที่ 27 ตุลาคมและการตอบรับของท่านในวันนี้เป็นการยืนยันสัญญาของรัฐบาลทั้งสองซึ่งควรจะคงอยู่ต่อไป... สหรัฐจะทำการแถลงในขอบข่ายงานของสภาความมั่นคงเพื่ออ้างอิงถึงคิวบา มันจะเป็นที่ชัดเจนว่าสหรัฐอเมริกาจะไม่รุกล้ำเขตแดนและอำนาจของคิวบา ซึ่งจะไม่ก้าวก่ายงานภายในประเทศ ไม่ใช่เพื่อการรุกรานและไม่ใช่เพื่ออนุญาตให้ใช้อาณาเขตของสหรัฐเป็นหัวหอกในการโจมตีคิวบา และจะยับยั้งผู้ที่วางแผนจะโจมตีคิวบา"[21]
ผลกระทบที่เกิดขึ้นจริงจากข้อตกลงของเคนเนดีและคุรสชอฟคือมันได้ทำให้ตำแหน่งของกัสโตรแข็งแกร่งขึ้นอย่างมากในคิวบา ซึ่งเขาจะไม่ถูกรุกล้ำโดยสหรัฐ มันเป็นไปได้ที่ครุสชอฟนำขีปนาวุธเข้าคิวบาเพียงเพื่อที่จะทำให้เคนเนดีถอนขีปนาวุธออกจากตุรกี และโซเวียตนั้นไม่มีเจตนาในการเริ่มสงครามนิวเคลียร์หาพวกเขามีอาวุธน้อยกว่าฝ่ายอเมริกา อย่างไรก็ตามเนื่องมาจากการถอนขีปนาวุธออกจากตุรกีไม่ได้เปิดเผยต่อสาธารณะในเวลานั้น ครุสชอฟจึงดูเหมือนว่าพ่ายแพ้และกลายเป็นคนอ่อนแอ แนวคิดคือเคนเนดีมีชัยในการแข่งขันทางอำนาจและครุสชอฟก็ต้องอับอาย อย่างไรก็ดีครุสชอฟก็ยังครองอำนาจไปอีก 2 ปี[21]
ผลสืบเนื่อง
[แก้]การประนีประนอมเป็นสิ่งที่น่าอายอย่างมากสำหรับครุสชอฟและสหภาพโซเวียต เพราะว่าการถอนขีปนาวุธของสหรัฐออกจากตุรกีนั้นไม่ได้เผยแพร่ต่อสาธารณะ—มันเป็นเพียงการตกลงอย่างลับ ๆ ระหว่างครุสชอฟกับเคนเนดีเท่านั้น ชาวรัสเซียมองว่ามันเป็นการถอยออกจากสถานการณ์ที่พวกเขาได้เริ่มเอาไว้—แม้ว่าหากพวกเขาทำตามแผนได้ดี ผลที่ออกมาอาจตรงกันข้าม การสิ้นสุดอำนาจของครุสชอฟอีก 2 ปีต่อมาสามารถโยงไปถึงความน่าอับอายของคณะกรรมการโพลิทบูโรเพราะการยอมแพ้ต่อสหรัฐของครุสชอฟและการที่เขาไม่มีคุณสมบัติในการรับมือกับวิกฤติได้ทันท่วงที อย่างไรก็ดีวิกฤตการณ์ขีปนาวุธคิวบาไม่ใช้เพียงเหตุผลเดียวที่ทำให้คุรสชอฟสิ้นอำนาจ เหตุผลหลักมากจากนักการเมืองคู่แข่งอย่างเลโอนิด เบรจเนฟที่เชื่อว่าครุสชอฟมีอำนาจไม่มากพอที่จะรับมือกับปัญหาข้ามชาติ[ต้องการอ้างอิง].
สำหรับคิวบามันคือการหักหลังของโซเวียต ด้วยวิธีการที่โซเวียตตัดสินใจที่จะแก้ไขปัญหานั้นมาจากเคนเนดีและครุสชอฟ สิ่งนี้ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างโซเวียตและคิวบาเสื่อมลงในอีกหลายปีต่อมา[22] ในอีกทางหนึ่งคิวบาก็ยังคงได้รับการป้องกันจากการเข้าบุก
ผู้บัญชาการของสหรัฐนายหนึ่งไม่ยินดีกับผลที่ออกมาเช่นกัน นายพลเลอร์เมย์บอกกับประธานาธิบดีว่ามันเป็นความพ่ายแพ้ครั้งใหญ่ที่สุดของสหรัฐ และเขาว่าสหรัฐน่าจะเข้าโจมตีทันที
วิกฤตการณ์ขีปนาวุธคิวบาเป็นการกระตุ้นให้เกิดการต่อรองสายด่วน ซึ่งทำให้เกิดสายด่วนจากวอชิงตันถึงมอสโคว์ เป็นการสื่อสารโดยตรงระหว่างวอชิงตันกับมอสโคว์ จุดประสงค์คือการที่ผู้นำจากสองประเทศแห่งสงครามเย็นสามารถสื่อสารกันได้โดยตรงเพื่อแก้ไขปัญหา
นักวิจารณ์มากมายยังแนะว่าวิกฤตการณ์นี้ได้กระตุ้นให้สหรัฐใช้กำลังทางทหารมากขึ้น อย่างในสงครามเวียดนาม
การเผชิญหน้าระหว่างอเมริกาและรัสเซียครั้งนี้เกิดขึ้นในเวลาเดียวกันกับสงครามจีน-อินเดีย นักประวัติศาสตร์มองว่าการที่จีนโจมตีอินเดียด้วยเหตุกผลความขัดแย้งเรื่องพื้นที่นั้น ตรงกับวิกฤติการณ์ขีปนาวุธคิวบา[23]
วัฒนธรรมอื่น
[แก้]จากเหตุการณ์ในวิกฤตการณ์ดังกล่าว ต่อมามีการสร้างภาพยนตร์ที่กล่าวถึงวิกฤตการณ์นี้ในปี พ.ศ. 2543 ชื่อเรื่อง Thirteen Days ตั้งชื่อตามชื่อหนังสือ Thirteen Days: A Memoir of the Cuban Missile Crisis ที่เขียนโดย โรเบิร์ต เอฟ. เคนเนดี เมื่อ พ.ศ. 2512
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 Franklin, Jane, [excerpts from] The Cuban Missile Crisis - An In-Depth Chronology, คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-01-11, สืบค้นเมื่อ 2009-06-23
- ↑ The American Presidency Project. "Proclamation 3447—Embargo on all trade with Cuba".
- ↑ Shadow Warrior: The CIA Hero of 100 unknown battles, Felix Rodriguez and John Weisman, Publisher: Simon & Schuster, October 1989, ISBN 978-0-671-66721-4
- ↑ Cuban resolution,october U.S. Public Law 87-733, S.J. Res. 230
- ↑ quote in Weldes, J. - "Constructing National Interests: The United States and the Cuban Missile Crisis" University of Minnesota Press, 1999 p.29
- ↑ Mark J. White, The Cuban Missile Crisis (London: Macmillan Press Ltd, 1996), p. 228
- ↑ Schlesinger, Arthur Jr (1965), A Thousand days: John F Kennedy in the White House
- ↑ Interview with Sidney Graybeal - 29.1.98, vol. George Washington University National Security Archive
- ↑ Revelations from the Russian Archives
- ↑ Allison, Graham (1999). Essence of Decision. Pearson Education. pp. 111–116. ISBN 0-321-01349-2.
- ↑ Kennedy, Robert (1971). Thirteen Days: A memoir of the Cuban Missile Crisis. W.W. Norton & Company. p. 14. ISBN 0-393-09896-6.
- ↑ Blight, J. & Welch, D. - 'On the Brink: Americans and Soviets Reexamine the Cuban Missile Crisis' Noonday Press, 1990
- ↑ Kennedy, J. - 'The President's News Conference of September 13, 1962', In 'Public Papers of the Presidents: John F Kennedy, 1962' pp. 674-681. Washington, DC. Government Printing Office, 1963
- ↑ Kennedy, J. - 'After Two Years: A conversation with the president' Television and radio interview, December 17 1962. In 'Public Papers of the Presidents: John F. Kennedy, 1962' pp.889-904. Washington, DC. Government Printing Office 1963
- ↑ Helms, Richard (Deputy Director for Plans, CIA) (19 January 1962), Memorandum for the Director of Central Intelligence: Meeting with the Attorney General of the United States concerning Cuba (PDF), George Washington University National Security Archives
{{citation}}
: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์) - ↑ Attack us at your Peril, Cocky Cuba Warns US เก็บถาวร 2011-06-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน by Henry Brandon, The Sunday Times, October 28, 1962
- ↑ For the President's Eyes Only, pg. 300
- ↑ Interview with Robert McNamara by Columbia Tristar Home Entertainment, bundled as a DVD special feature of Dr. Strangelove or: How I Learned to Stop Worrying and Love the Bomb
- ↑ Frey, Jennifer (January 14, 2007). "At Yenching Palace, Five Decades of History to Go". Washington Post. สืบค้นเมื่อ 2008-12-27.
- ↑ "The Cuban Missile Crisis, 1962: Press Release, 11 October 2002, 5:00 PM". George Washington University. 2002-10-11. สืบค้นเมื่อ 2008-10-26.
- ↑ 21.0 21.1 Faria p. 103 อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ
<ref>
ไม่สมเหตุสมผล มีนิยามชื่อ "Faria" หลายครั้งด้วยเนื้อหาต่างกัน - ↑ Ramonet, Ignacio, Fidel Castro: My Life. Penguin Books: 2007, p. 278. ISBN 978-0-14-102626-8
- ↑ Frontier India India-China Section เก็บถาวร 2007-02-15 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน Note alleged connections to Cuban Missile Crisis