ข้ามไปเนื้อหา

จัตุรัสแดง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระราชวังเครมลินและจัตุรัสแดง, มอสโก
แหล่งมรดกโลกโดยยูเนสโก
ที่ตั้งมอสโก, ประเทศรัสเซีย
เกณฑ์พิจารณามรดกโลกทางวัฒนธรรม: i, ii, iv, vi
อ้างอิง545
ขึ้นทะเบียน1990 (สมัยที่ 14th)
พิกัด55°45′15″N 37°37′12″E / 55.75417°N 37.62000°E / 55.75417; 37.62000
จัตุรัสแดงตั้งอยู่ในรัสเซีย
จัตุรัสแดง
ตำแหน่งของจัตุรัสแดงในประเทศรัสเซีย
จัตุรัสแดงตั้งอยู่ในยุโรป
จัตุรัสแดง
จัตุรัสแดง (ยุโรป)

จัตุรัสแดง (รัสเซีย: Красная площадь, อักษรโรมัน: Krásnaya plóshchad, สัทอักษรสากล: [ˈkrasnəjə ˈpɫoɕːɪtʲ]) เป็นจัตุรัสกลางเมืองของของกรุงมอสโก สหพันธรัฐรัสเซีย จัตุรัสแดงมีขนาดกว้าง 70 เมตร ยาว 695 เมตร มีขนาดพื้นที่รวม 23,100 ตารางเมตร จัตุรัสแดงอาจถือได้ว่าเป็นจัตุรัสกลางกรุงมอสโกและทั้งประเทศรัสเซียเพราะถนนสายสำคัญทุกสายของกรุงมอสโกจะวิ่งตรงออกจากจัตุรัสแดงแห่งนี้ นอกจากนี้ จัตุรัสแดงยังเป็นสถานที่ตั้งของมหาวิหารเซนต์เบซิล และสุสานวลาดิมีร์ เลนินอีกด้วย ชื่อจัตุรัสแดงมักเข้าใจผิดว่า คำว่า "แดง" ในชื่อจัตุรัส มาจากสีของคอมมิวนิสต์ หรือสีของอิฐในบริเวณนั้นที่เป็นสีแดง แต่แท้จริงแล้วชื่อจัตุรัสแดง มาจากภาษารัสเซียคำว่า красный (krásnyj) ซึ่งในภาษารัสเซียดั้งเดิมมีความหมายว่า สวยงาม ในขณะที่ภาษารัสเซียสมัยใหม่ แปลว่าสีแดง

ประวัติ

[แก้]

จัตุรัสแดงถูกตั้งขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 15 ภายใต้พระราชโองการของพระเจ้าอีวานมหาราช การสร้างจัตุรัสแดงนี้มีจุดประสงค์เพื่อปรับปรุงความปลอดภัยของพระราชวังเครมลินโดยการสร้างพื้นที่นอกกำแพงวังสำหรับใช้ยิงเพราะตำแหน่งที่จัตุรัสแดงตั้งอยู่นั้นขาดแนวป้องกันทางธรรมชาติ โดยพื้นที่ของจัตุรัสแดงในสมัยนั้นถือเป็นศูนย์กลางของการค้าขาย ต่อมาในสมัยของพระเจ้าซาร์อีวานที่ 4 มหาวิหารเซนต์เบซิล มหาวิหารที่ถือเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของจัตุรัสแดงในปัจจุบันก็ได้ถูกสร้างขึ้น หลังจากนั้นจัตุรัสแดงก็ถูกปรับปรุงพื้นที่เรื่อยมา จนกระทั่งหลังจากการรุกรานของฝรั่งเศสโดยนโปเลียน มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เกิดขึ้น อาคารบางหลังและสิ่งปลูกสร้างสำหรับการค้าขายซึ่งถูกไฟไหม้ได้ถูกรื้อถอนออกและมีการสร้างสิ่งใหม่ ๆ ขึ้นแทน อาทิเช่น รถราง การประดับด้วยโคมไฟ ห้างสรรพสินค้า GUM เป็นต้น

สมัยสหภาพโซเวียต จัตุรัสแดงใช้เป็นที่สำหรับการเดินสวนสนามแสดงแสนยานุภาพทางทหาร โดยจะมีการแสดงแสนยานุภาพทางการทหารสำหรับวันเมย์เดย์, วันแห่งชัยชนะ และการปฏิวัติเดือนตุลาคม การเดินขบวนสวนสนามที่เด่น ๆ มีอยู่ 2 เหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับมหาสงครามรักชาติ คือ การเดินขบวนในปี ค.ศ. 1941 ซึ่งในเวลานั้น สหภาพโซเวียตกำลังถูกรุกรานโดยนาซีเยอรมนี ทหารที่มาเดินขบวนนั้น หลังเสร็จสิ้นการเดินขบวนก็ถูกส่งตรงจากจัตุรัสแดงไปแนวหน้าทันที และ อีกครั้งคือการเดินขบวนใน ค.ศ. 1945 ซึ่งเป็นการเดินฉลองชัยชนะหลังจากที่นาซีเยอรมนียอมแพ้ต่อสหภาพโซเวียตแล้ว

ต่อมาในปัจจุบัน จัตุรัสแดงถูกใช้เป็นสถานที่สำหรับการจัดแสดงของศิลปินและวงดนตรีชื่อดังหลายกลุ่มเช่น ชากีรา วงสกอร์เปียนส์ พอล แม็กคาร์ตนีย์ เป็นต้น นอกจากนี้ในเดือนมกราคม ค.ศ. 2008 รัสเซียได้ประกาศว่าจะกลับมาเดินขบวนอีกครั้งและในเดือนพฤษภาคมปีเดียวกัน ก็ได้มีการเดินขบวนเป็นครั้งแรกหลังจากการล่มสลายของสหภาพโซเวียต ล่าสุดในวันที่ 9 พฤษภาคม ค.ศ. 2010 ในโอกาสครบรอบ 65 ปีของการยอมรับความพ่ายแพ้ของเยอรมนี กองทหารจากฝรั่งเศส โปแลนด์ และสหราชอาณาจักรได้ร่วมกันเดินสวนสนามในวันแห่งชัยชนะที่มอสโกเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์

การได้รับคัดเลือกเป็นมรดกโลก

[แก้]

ในปี พ.ศ. 2533 จัตุรัสแดงและอนุสาวรีย์เครมลินได้รับการคัดเลือกจาก UNESCO ให้เป็นมรดกโลกด้วยข้อกำหนดและหลักเกณฑ์ในการพิจารณา ดังต่อไปนี้

  • (i) - เป็นตัวแทนในการแสดงผลงานชิ้นเอกที่จัดทำขึ้นด้วยการสร้างสรรค์อันชาญฉลาดของมนุษย์
  • (ii) - เป็นสิ่งที่มีอิทธิพลยิ่ง ผลักดันให้เกิดการพัฒนาสืบต่อมาในด้านการออกแบบทางสถาปัตยกรรม อนุสรณ์สถาน ประติมากรรม สวน และภูมิทัศน์ ตลอดจนการพัฒนาศิลปกรรมที่เกี่ยวข้อง หรือการพัฒนาการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ ซึ่งได้เกิดขึ้นในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง หรือบนพื้นที่ใดๆ ของโลกซึ่งทรงไว้ซึ่งวัฒนธรรม
  • (iv) - เป็นตัวอย่างอันโดดเด่นของประเภทของสิ่งก่อสร้างอันเป็นตัวแทนของการพัฒนาทางด้านวัฒนธรรม สังคม ศิลปกรรม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี อุตสาหกรรม ในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ
  • (vi) - มีความคิดหรือความเชื่อที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับเหตุการณ์ หรือมีความโดดเด่นยิ่งในประวัติศาสตร์

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]