ข้ามไปเนื้อหา

ผมเป็นชาวเบอร์ลิน

พิกัด: 52°29′06″N 13°20′40″E / 52.484932°N 13.344395°E / 52.484932; 13.344395
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

"อิช บิน ไอน์ แบร์ลีแนร์" (เยอรมัน: Ich bin ein Berliner, "ผมเป็นชาวเบอร์ลิน") เป็นตอนหนึ่งของสุนทรพจน์โดยประธานาธิบดีสหรัฐ จอห์น เอฟ. เคนเนดี ในเบอร์ลินตะวันตก เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2506 โดยเขาได้เน้นถึงความสำคัญของการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกาที่มีต่อเยอรมนีตะวันตกเป็นเวลา 22 เดือนหลังจากเยอรมนีตะวันออกที่ได้รับการสนับสนุนจากสหภาพโซเวียต ตั้งกำแพงเบอร์ลินขึ้นกั้นการเคลื่อนไหวระหว่างเยอรมนีตะวันออกและตะวันตก

สุนทรพจน์ดังกล่าวได้รับการพิจารณาว่าเป็นหนึ่งในสุนทรพจน์ที่ดีที่สุดของเคนเนดี และเป็นช่วงที่สำคัญของสงครามเย็น นอกจากนี้ ยังเป็นการสร้างขวัญกำลังใจใหญ่หลวงแก่ชาวเบอร์ลินตะวันตก ผู้ซึ่งอาศัยอยู่ในดินแดนลึกเข้าไปในเยอรมนีตะวันออกและหวาดกลัวความเป็นไปได้ว่าจะถูกยึดครองจากเยอรมนีตะวันออก

บางรายงานกล่าวว่าเคนเนดีนึกถึงวลีดังกล่าวได้ในช่วงสุดท้าย เช่นเดียวกับความคิดที่จะกล่าวเป็นภาษาเยอรมัน เคนเนดีได้ถามล่ามของเขา โรเบิร์ช เอช. ล็อกเนอร์ ให้แปล "ผมเป็นชาวเบอร์ลิน" ก่อนที่ทั้งสองกำลังเดินขึ้นบันไดของรัทเฮาส์ (ศาลากลาง) ด้วยความช่วยเหลือจากล็อกเนอร์ เคนเนดีได้ฝึกวลีดังกล่าวในสำนักงานของนายกเทศมนตรีในขณะนั้น วิลลี แบรนดท์ และในมือของเขามีบัตรคิวที่มีการสะกดตามแบบโฟเนติก อย่างไรก็ตาม ครูสอนภาษากระทรวงการต่างประเทศสหรัฐผู้ได้เขียนบันทึกการเดินทางเยือนในปี พ.ศ. 2540 ระบุว่า หลายสัปดาห์ก่อนการเดินทางเคนเนดีได้รับการช่วยเหลือเรียบเรียงสุนทรพจน์และสอนเขาให้ออกเสียงอย่างเหมาะสม[1]

ข้อความท้าทายดังกล่าวมุ่งเป้าไปยังโซเวียตเช่นเดียวกับชาวเบอร์ลิน และเป็นแถลงการณ์ชัดเจนของนโยบายสหรัฐในช่วงตื่นตัวของการก่อสร้างกำแพงเบอร์ลิน สถานะอย่างเป็นทางการของเบอร์ลินในขณะนั้นอยู่ภายใต้การยึดครองร่วมกันโดยสี่มหาอำนาจฝ่ายสัมพันธมิตร โดยแต่ละประเทศมีความรับผิดชอบพื้นฐานในพื้นที่หนึ่ง ๆ โดยเฉพาะ สหรัฐได้ประเมินสถานการณ์ไว้ดังนี้ แม้ว่าสถานการณ์ที่แท้จริงนั้นจะแตกต่างกันโดยสิ้นเชิงก็ตาม สุนทรพจน์ของเคนเนดีเป็นตัวอย่างแรกที่สหรัฐรับรองว่าเบอร์ลินตะวันออกเป็นส่วนหนึ่งของค่ายโซเวียต เช่นเดียวกับส่วนอื่น ๆ ของเยอรมนีตะวันออก

อ้างอิง

[แก้]
  1. Margarethe Plischke, "Teaching The Berliner", American Heritage, July/August 1997 (48:4). Letter to publication tells first-person story without a name attached. However, the writer refers to herself as "Mrs. Plischke from the Foreign Service Institute" in the text and is named as Margarethe Plischke in Kennedy and the Berlin Wall by W. R. Smyser, p. 217, via GoogleBooks. Retrieved 2011-05-23.

52°29′06″N 13°20′40″E / 52.484932°N 13.344395°E / 52.484932; 13.344395