ทรู ดิจิทัล พาร์ค
บทความนี้ยังต้องการเพิ่มแหล่งอ้างอิงเพื่อพิสูจน์ความถูกต้อง |
ที่ตั้ง | 101 ซอยปิยะบุตร 1 ถนนสุขุมวิท แขวงบางจาก เขตพระโขนง กรุงเทพมหานคร 10260 |
---|---|
พิกัด | 13°41′06″N 100°36′40″E / 13.685134°N 100.611008°E |
เปิดให้บริการ | 18 กันยายน 2562 |
ผู้บริหารงาน | บริษัท ทรู ดิจิทัล พาร์ค จำกัด โดย
|
พื้นที่ชั้นขายปลีก | 340,000 ตารางเมตร |
จำนวนชั้น | 16 (ทรู ดิจิทัล พาร์ค แคมปัส แอเรีย) 41 (วิสซ์ดอม คอนเนคท์) 50 (วิสซ์ดอม เอสเซนส์) 46 (วิสซ์ดอม อินสปาย) |
ที่จอดรถ | 1,000 คัน |
ขนส่งมวลชน | สถานีปุณณวิถี รถโดยสารประจำทาง สาย 2, 23, 25, 45, 98, 132, 180, 507, 508, 511, 3-1, 3-2E, 3-8, 3-10, 3-11, 3-16E, 3-23E, 3-32 |
เว็บไซต์ | www 101thethirdplace |
ทรู ดิจิทัล พาร์ค (อังกฤษ: True Digital Park) เป็นโครงการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชยกรรมแบบผสมบนพื้นที่ 43 ไร่ ริมถนนสุขุมวิท ในพื้นที่แขวงบางจาก เขตพระโขนง กรุงเทพมหานคร สร้างบนที่ตั้งเดิมของศูนย์กีฬาปิยรมย์ สปอร์ตคลับ และศูนย์การค้าปิยรมย์ เพลส บริหารงานโดย บริษัท ทรู ดิจิทัล พาร์ค จำกัด ซึ่งเกิดจากการร่วมทุนระหว่างซีพี ฟิวเจอร์ ซิตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ คอร์ปอเรชั่น (CPFS) กับทรู คอร์ปอเรชั่น ตัวโครงการประกอบไปด้วยศูนย์การค้า พื้นที่จัดงาน ห้องทดลองเปิด พื้นที่ทำงานรวม และอาคารสำนักงาน ภายใต้แนวคิด "เติร์ดเพลส" เพื่อการใช้ชีวิตที่สมบูรณ์แบบของคนกรุงเทพฯ โดยมีมูลค่าการลงทุนไม่ต่ำกว่า 30,000 ล้านบาท และตั้งเป้าเป็นแลนด์มาร์คที่สำคัญแห่งหนึ่งในพื้นที่ถนนสุขุมวิทตอนปลายในเขตกรุงเทพมหานคร
ประวัติ
[แก้]ทรู ดิจิทัล พาร์ค หรือชื่อเดิมในระหว่างการพัฒนาโครงการคือ วิสซ์ดอม วันโอวัน เป็นโครงการที่ถูกริเริ่มขึ้นภายหลังจากที่แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น (MQDC) เข้าซื้อที่ดินของศูนย์กีฬาปิยรมย์ สปอร์ตคลับ เดิมมีแผนจะใช้ที่ดินเพื่อพัฒนาเป็นเพียงอาคารชุดเพื่อการพักอาศัยขนาดใหญ่ แต่เมื่อพิจารณาอย่างถี่ถ้วนถึงที่ตั้งขนาดที่ดินที่ได้มา ประกอบกับแนวโน้มในการขยายตัวของเมืองที่เริ่มกินเข้าสู่พื้นที่บริเวณถนนสุขุมวิทตอนปลาย ตลอดจนพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการ ทำให้ MQDC ตัดสินใจอัพเกรดโครงการจากคอนโดมิเนียมเดิมขึ้นมาเป็นโครงการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชยกรรมแบบผสมแทน
หลังจากเปิดตัวโครงการในชื่อ วิสซ์ดอม วันโอวัน ได้ไม่นาน ต่อมา ทรู คอร์ปอเรชั่น ได้เข้าร่วมพัฒนาโครงการภายใต้ชื่อใหม่ ทรู ดิจิทัล พาร์ค โดยมุ่งหวังให้พื้นที่แห่งนี้เป็นพื้นที่ต้นแบบของเมืองอัจฉริยะที่สมบูรณ์แบบ และยังมุ่งหวังให้เกิดการพัฒนาจนเป็นศูนย์กลางทางด้านนวัตกรรมขนาดใหญ่ รองรับการเติบโตของกลุ่มสตาร์ทอัพ และมุ่งหวังให้โครงการแห่งนี้เป็นพื้นที่แห่งอนาคตเพื่อต่อยอดสู่การเป็น "กรุงเทพฯ เมืองแห่งเทคโนโลยีไซเบอร์" และ "ระบบนิเวศของเหล่าสตาร์ทอัพ" ที่สมบูรณ์แบบที่สุด ที่จะช่วยผลักดันให้ประเทศไทยก้าวเข้าสู่การเป็นเป้าหมายที่สำคัญของสตาร์ทอัพต่อไป[1]
ทรู ดิจิทัล พาร์ค เปิดให้บริการในส่วนของ "วันโอวัน ทรู ดิจิทัล พาร์ค" เป็นส่วนแรก โดยทดลองเปิดให้บริการในวันที่ 18 - 31 มกราคม พ.ศ. 2562[2] และมีการเปิดตัวเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์[3] จากนั้นมีการเปิดให้บริการ "ทรู ดิจิทัล พาร์ค แคมปัส แอเรีย" ซึ่งถือเป็นส่วนสุดท้ายของเฟสที่ 1 เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน[4] และมีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 18 กันยายน โดยสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น เป็นประธานในพิธี พร้อมด้วย พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมในขณะนั้น[5]
ต่อมาใน พ.ศ. 2567 แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น ประสบปัญหาทางการเงินจนทำให้การก่อสร้างโครงการต่าง ๆ ต้องหยุดชะงัก บริษัทฯ จึงได้มีการโอนถ่ายหุ้นส่วนใน บริษัท ทรู ดิจิทัล พาร์ค จำกัด ในส่วนที่เป็นของบริษัทเองให้กับ ซีพี ฟิวเจอร์ ซิตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ คอร์ปอเรชั่น หรือซีพีเอฟเอส ในเครือเจริญโภคภัณฑ์ เพื่อเป็นการแก้ปัญหาสถานะทางการเงินของบริษัท ภายหลังจากการโอนหุ้นแล้วเสร็จ ซีพีเอฟเอสได้เข้ามาปรับปรุงโครงการต่าง ๆ โดยเฉพาะในส่วนศูนย์การค้าทั้งฝั่งอีสต์และฝั่งเวสต์ มีการเพิ่มร้านค้าใหม่ ๆ เข้ามามากมาย รวมถึงปรับรูปแบบศูนย์การค้าให้เป็นศูนย์ไลฟ์สไตล์ที่ทุกคนสามารถมาใช้ชีวิตได้เต็มที่
การจัดสรรพื้นที่
[แก้]ทรู ดิจิทัล พาร์ค แบ่งพื้นที่ออกเป็นทั้งหมด 3 ส่วน ภายใต้ที่ดินขนาด 43 ไร่ริมถนนสุขุมวิท โดยทั้ง 3 ส่วนประกอบไปด้วยพื้นที่ดังต่อไปนี้
ทรู ดิจิทัล พาร์ค อีสต์
[แก้]ทรู ดิจิทัล พาร์ค อีสต์ เป็นกลุ่มอาคารสำนักงานทั้งหมดสามหลังภายใต้ฐานอาคารขนาดใหญ่ สร้างขึ้นบนพื้นที่เดิมทั้งหมดของศูนย์กีฬาปิยรมย์สปอร์ตคลับ แบ่งพื้นที่หลักออกเป็นสองส่วนดังนี้
ทรู ดิจิทัล พาร์ค อีสต์ แคมปัส
[แก้]ทรู ดิจิทัล พาร์ค แคมปัส เป็นพื้นที่ส่วนสำนักงาน พื้นที่จัดงาน โอเพ่นแล็ป โคเวิร์คกิงสเปซ และพื้นที่สำหรับกลุ่มสตาร์ทอัพภายในโครงการ ประกอบไปด้วยอาคารทั้งหมด 3 แกนภายใต้ฐานอาคารขนาดใหญ่ ได้แก่
- อาคารฟีนิกซ์ (คร่อมอยู่เหนือ 101 แทรค) เป็นอาคารความสูง 10 ชั้น ทั้งหมดเป็นพื้นที่ส่วนกลาง และบางชั้นใช้เป็นสำนักงานย่อยของบริษัทในเครือทรู คอร์ปอเรชั่น
- อาคารกริฟฟิน (ต่อเหนืออาคารเพกาซัส) เป็นอาคารสูง 16 ชั้น พื้นที่ส่วนใหญ่ของอาคารนี้เป็นสำนักงานย่อยของบริษัทในเครือทรู คอร์ปอเรชั่น บริษัทในเครือเจริญโภคภัณฑ์
- อาคารเพกาซัส (ต่อเหนืออาคารศูนย์การค้าในแนวโค้ง) เป็นอาคารสูง 7 ชั้น (รวมทั้งอาคาร) ทั้งหมดเป็นพื้นที่สำหรับสตาร์ทอัพ ประกอบไปด้วยห้องประชุมย่อย หอประชุมใหญ่ และพื้นที่ทำงานร่วม
ทรู ดิจิทัล พาร์ค อีสต์ไลฟ์
[แก้]ทรู ดิจิทัล พาร์ค อีสต์ไลฟ์ (เดิม: วันโอวัน เดอะเทิร์ดเพลส, วันโอวัน ทรู ดิจิทัล พาร์ค) เป็นศูนย์การค้ารูปแบบชุมชนขนาดกลาง มีพื้นที่ทั้งหมด 4 ชั้น (ชั้นใต้ดิน 2 ชั้น) โดยเป็นส่วนฐานล่างของ ทรู ดิจิทัล พาร์ค อีสต์ แคมปัส ประกอบไปด้วยพื้นที่ 4 ส่วนหลัก ดังต่อไปนี้
- ไลฟ์สตรีท เป็นพื้นที่ภายนอกอาคารชั้น G ร้านค้าส่วนใหญ่ในพื้นที่แห่งนี้ เป็นร้านค้าและร้านอาหารที่เปิดทำการตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อตอบรับวิถีชีวิตที่ไม่มีวันหลับของผู้ที่มาใช้บริการ และผู้ที่ทำงานอยู่ภายในทรู ดิจิทัล พาร์ค
- ฮิลไซด์ เป็นพื้นที่ภายนอกอาคารตั้งแต่ชั้น G ถึงชั้น 3 ออกแบบในรูปแบบต่างระดับ ลักษณะคล้ายพื้นที่หุบเขา ร้านค้าส่วนใหญ่เป็นร้านค้าและร้านอาหารทั้งหมด นอกจากนี้พื้นที่ฮิลไซด์ทาวน์ ยังมี 101 พาร์ค อันเป็นพื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่ในโครงการ และยังเป็นพื้นที่สำหรับจัดกิจกรรมหลักของโครงการอีกด้วย
- อีสต์คอมเพล็กซ์ เป็นพื้นที่ส่วนศูนย์การค้าในร่ม มีพื้นที่ทั้งหมด 8 ชั้น (5 ชั้นในส่วนศูนย์การค้า และ 3 ชั้นในส่วนอาคารกริฟฟิน) ภายในมีพื้นที่หลัก ๆ เป็นร้านอาหาร ร้านค้า ธนาคาร นอกจากนี้ยังมีซูเปอร์มาร์เก็ต ท็อปส์ ซึ่งย้ายและขยายออกมาจากศูนย์การค้าปิยรมย์ เพลส, ศูนย์ออกกำลังกายเวอร์จิน แอ็คทีฟ สาขารูปแบบมัลติสปอร์ตคลับที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้, ศูนย์อาหารโลตัส อีทเทอรี ศูนย์อาหารระดับพรีเมียมโดยโลตัส, ลานกิจกรรมอีสต์ อีเวนเทอรี, วิสซ์ดอม โซไซตี้ พื้นที่พักผ่อนหย่อนใจและพื้นที่การทำงานร่วมกันของผู้พักอาศัยในวิสซ์ดอม โซไซตี้ รวมทั้งยังมีสำนักงานและสตูดิโอถ่ายทำรายการของสถานีโทรทัศน์ทีเอ็นเอ็น ช่อง 16 อีกด้วย
- สกายแทรค เป็นทางเชื่อมและทางจักรยานระหว่างพื้นที่ในโครงการ ตลอดจนทางเชื่อมกับอาคารทรู ดิจิทัล พาร์ค เวสต์ อาคารคลาวด์ 11 และเชื่อมไปถึงสถานีปุณณวิถีและสถานีอุดมสุข ของรถไฟฟ้าบีทีเอส สายสุขุมวิท มีจุดเด่นเป็นทางเชื่อมต่างระดับ เพื่อให้เกิดความแตกต่างระหว่างเส้นทาง ทั้งนี้เส้นทางดังกล่าวยังเปิดให้ประชาชนเข้ามาออกกำลังกายด้วยการวิ่งและขี่จักรยานบนพื้นที่ดังกล่าวได้อย่างอิสระ นอกจากนี้บางส่วนของ 101 แทรค ยังได้ติดตั้งอุปกรณ์เพฟเจน (PAVEGEN) ซึ่งจะเปลี่ยนแรงกดที่เกิดจากการเคลื่อนไหวบนพื้นที่ ให้กลับเป็นกระแสไฟฟ้าสำหรับใช้เลี้ยงพื้นที่บางส่วนของโครงการอย่างต่อเนื่อง[6]
ทรู ดิจิทัล พาร์ค เวสต์
[แก้]ทรู ดิจิทัล พาร์ค เวสต์ เป็นอาคารความสูง 16 ชั้น (ชั้นใต้ดิน 2 ชั้น) สร้างบนพื้นที่เดิมทั้งหมดของศูนย์การค้าปิยรมย์ เพลส ภายในประกอบด้วยพื้นที่ดังนี้
- ทรู ดิจิทัล พาร์ค เวสต์ไลฟ์ พื้นที่ค้าปลีกความสูง 3 ชั้น พื้นที่รวม 15,000 ตารางเมตร ภายในประกอบไปด้วยร้านค้า และมินิซูเปอร์มาร์เก็ตโลตัส โกเฟรช สมาร์ทสโตร์
- วันโอวัน โค-แชร์ริ่ง สเปซ พื้นที่เอนกประสงค์ขนาด 2,000 ตารางเมตร รองรับทั้งการทำงาน การศึกษา และเป็นพื้นที่เชิงการเรียนรู้ครบวงจร ภายในยังเป็นที่ตั้งของ ทีเค พาร์ค แอท ทรู ดิจิทัล พาร์ค เวสต์ โดยความร่วมมือกับสถาบันอุทยานการเรียนรู้[7] ศูนย์นวัตกรรมฮุนได ไอโอนิก แล็บ โดยความร่วมมือกับฮุนได ประเทศไทย[8] และ ซีพี อินโนเวชัน เซ็นเตอร์
- ทรู ดิจิทัล พาร์ค แกรนด์ ฮอลล์ ฮอลล์จัดกิจกรรมและการประชุมขนาดกลาง พื้นที่รวม 779 ตารางเมตร
- อาคารยูนิคอร์น (เวสต์แคมปัส) พื้นที่ส่วนสำนักงานรวม 30,000 ตารางเมตร
- สกายการ์เดน พื้นที่สวนลอยฟ้าบริเวณชั้น 3 ในส่วนนี้ยังมีส่วนของลูวิ่งและทางจักรยานลอยฟ้ายาว 550 เมตร และเมดิเทชันฮอลล์ พื้นที่สำหรับทำกิจศาสนาโดยรองรับทุกศาสนา โดยได้รับแรงบันดาลใจในการออกแบบสถาปัตยกรรมจากสถาปัตยกรรมองค์รวมของ วัดศรีชุม จังหวัดสุโขทัย
โดยอาคารหลังนี้มีทางเชื่อมต่อกับอาคารทรู ดิจิทัล พาร์ค อีสต์ สลับกันบริเวณชั้น 2-3 และมีทางเชื่อมกับสถานีปุณณวิถีบริเวณชั้น 2
วิสซ์ดอม โซไซตี้ (พื้นที่พักอาศัย)
[แก้]วิสซ์ดอม โซไซตี้ เป็นกลุ่มอาคารเพื่อการอาศัย บริหารงานโดย บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ตั้งอยู่ด้านหลังอาคารหลักของทรู ดิจิทัล พาร์ค มีทั้งหมด 3 อาคาร ประกอบไปด้วย
- อาคารวิสซ์ดอม คอนเนคท์ สุขุมวิท ความสูง 41 ชั้น
- อาคารวิสซ์ดอม เอสเซนส์ สุขุมวิท ความสูง 50 ชั้น
- อาคารวิสซ์ดอม อินสปาย สุขุมวิท ความสูง 46 ชั้น
อ้างอิง
[แก้]- ↑ เผยโฉม True digital park เมกะโปรเจกต์ของกลุ่ม True กับการสร้าง Ecosystem ให้สตาร์ทอัพ
- ↑ 101 True Digital Park (January 22, 2019). "ร้านค้าที่ทดลองเปิดให้บริการใน True Digital Park". www.facebook.com. สืบค้นเมื่อ October 16, 2019.
- ↑ ผู้จัดการออนไลน์ (February 2, 2019). "MQDC เปิดตัว "101 The Third Place"". mgronline.com. สืบค้นเมื่อ October 16, 2019.
- ↑ เดลินิวส์ (June 12, 2019). ""ทรู ดิจิทัล พาร์ค"โชว์ เวิร์ค สเปซ หวังปั้นสตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์น". www.dailynews.co.th. สืบค้นเมื่อ October 16, 2019.
- ↑ ไทยรัฐ (October 1, 2019). "10 สิ่งที่อยากให้คุณรู้เกี่ยวกับ True Digital Park และงาน T.O.P 2019–Togetherness of Possibilities". www.thairath.co.th. สืบค้นเมื่อ October 16, 2019.
- ↑ MQDC ได้รับรางวัลระดับโลกด้านความยั่งยืน (Sustainability) เป็นแห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากโครงการ WHIZDOM 101
- ↑ ""TK Park สาขา True Digital Park" เปิดแล้ว! นำร่องห้องสมุดมีชีวิตในศูนย์กลางเทคและสตาร์ทอัพที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน เสริมสร้างการเรียนรู้ที่ไม่หยุดนิ่งแค่ในห้องทำงาน". mgronline.com. 2023-02-07.
- ↑ "Hyundai เปิดตัว IONIQ Lab แห่งแรกในไทย ที่ True Digital Park เดินหน้าสู่อนาคตด้วยนวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้าบนความยั่งยืน". techsauce.co. 2023-12-14.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- เว็บไซต์โครงการ
- เว็บไซต์ศูนย์การค้า เก็บถาวร 2019-01-16 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน