ไดอานา เจ้าหญิงแห่งเวลส์
ไดอานา | |
---|---|
เจ้าหญิงแห่งเวลส์ | |
ไดอาน่า ในปี 1997 | |
ประสูติ | 1 กรกฎาคม ค.ศ. 1961 ตำหนักซานดริงแฮม สหราชอาณาจักร ไดอาน่า ฟรานเซส สเปนเซอร์ |
สิ้นพระชนม์ | 31 สิงหาคม ค.ศ. 1997 โรงพยาบาลปีเต-แซลแปตริแยร์ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส | (36 ปี)
คู่สมรส | สมเด็จพระเจ้าชาลส์ที่ 3 แห่งสหราชอาณาจักร (1981-1996) |
บุตร | |
บิดามารดา |
|
ครอบครัว |
|
ลายมือชื่อ | |
ไดอานา เจ้าหญิงแห่งเวลส์ (อังกฤษ: Diana, Princess of Wales) มีพระนามเดิมว่า ไดอานา ฟรานเซส (Diana Frances) สกุลเดิม สเปนเซอร์ (Spencer) (1 กรกฎาคม ค.ศ. 1961 – 31 สิงหาคม ค.ศ. 1997) เป็นพระชายาองค์แรกของสมเด็จพระเจ้าชาลส์ที่ 3 แห่งสหราชอาณาจักร เมื่อครั้นดำรงพระราชอิสริยยศเป็น เจ้าชายชาลส์ เจ้าชายแห่งเวลส์
ไดอาน่าถือกำเนิดในตระกูลขุนนางที่สืบทอดเชื้อสายจากราชวงศ์อังกฤษในสมัยกลางและทรงเป็นญาติห่างๆกับ แอนน์ บุลิน เป็นบุตรีคนที่ 3 ของพระชนกจอห์น สเปนเซอร์ ไวเคานต์อัลธอร์พ และพระชนนีฟรานเซส โรช ในวัยเด็กไดอานาพักอาศัยที่คฤหาสน์พาร์กเฮาส์ ซึ่งตั้งอยู่ในเขตพระราชฐาน ตำหนักซานดริงแฮม ไดอานาเข้าศึกษาขั้นพื้นฐานในโรงเรียนที่ประเทศอังกฤษ และต่อมาได้เข้าศึกษาต่อช่วงเวลาสั้น ๆ ที่โรงเรียนการเรือน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ขณะอายุได้ 14 ปี ไดอานาได้รับบรรดาศักดิ์ เลดี เมื่อบิดาสืบทอดฐานันดรศักดิ์ เอิร์ลแห่งสเปนเซอร์ เธอเริ่มเป็นที่รู้จักไปทั่วโลกเมื่อเป็นเข้าพิธีหมั้นหมายกับเจ้าชายชาลส์ เจ้าชายแห่งเวลส์ใน ค.ศ. 1981
พระราชพิธีอภิเษกสมรสระหว่างไดอานา สเปนเซอร์และเจ้าชายแห่งเวลส์ จัดขึ้น ณ อาสนวิหารนักบุญเปาโล เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม ค.ศ. 1981 โดยมีการถ่ายทอดสดพระราชพิธีและมีผู้รับชมทางโทรทัศน์มากกว่า 750 ล้านคนทั่วโลก ไดอานาได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น เจ้าหญิงแห่งเวลส์ ดัชเชสแห่งคอร์นวอล ดัชเชสแห่งรอธเซย์ และเคาน์เตสแห่งเชสเตอร์ หลังจากพระราชพิธีอภิเษกสมรสได้ไม่นานก็มีพระประสูติการเจ้าชายวิลเลียม พระโอรสพระองค์แรก และเจ้าชายแฮร์รี พระโอรสพระองค์ที่สองในอีก 2 ปีถัดมา ทั้งสองพระองค์อยู่ในตำแหน่งรัชทายาทลำดับที่สองและสามแห่งราชบัลลังก์อังกฤษ ในระหว่างที่ทรงดำรงพระอิสริยศเจ้าหญิงแห่งเวลส์ พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินออกปฏิบัติพระกรณียกิจมากมายแทนสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 รวมทั้งเสด็จเยือนต่างประเทศอยู่สม่ำเสมอ พระกรณียกิจที่สำคัญในบั้นปลายพระชนม์ชีพ คือ การรณรงค์ต่อต้านการใช้ทุ่นระเบิด นอกจากนี้ พระองค์ทรงดำรงตำแหน่งประธานโรงพยาบาลเด็กเกรทออร์มันด์สตรีท และทรงเป็นองค์อุปถัมภ์โครงการและมูลนิธิอื่น ๆ มากกว่าหลายร้อยแห่งจนถึง ค.ศ. 1996
ตลอดพระชนม์ชีพของไดอานา ทั้งก่อนอภิเษกสมรสและภายหลังหย่าร้าง สื่อมวลชนทั่วโลกต่างเกาะติดชีวิตของไดอานาและนำเสนอข่าวคราวความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับพระองค์อยู่ตลอดเวลา พระองค์ทรงหย่าขาดจากพระสวามีในวันที่ 28 สิงหาคม ค.ศ. 1996 การสิ้นพระชนม์จากอุบัติเหตุทางรถยนต์อย่างกะทันหันในวันที่ 31 สิงหาคม ค.ศ. 1997 สิริพระชันษา 36 ปี 61 วัน ยิ่งทำให้สื่อทุกแขนงเกาะติดการรายงานข่าวการสิ้นพระชนม์ และรายงานภาพภาพประชาชนที่ออกมาแสดงความเศร้าเสียใจต่อการจากไปของพระองค์ หนึ่งสัปดาห์ต่อมาพระราชพิธีพระศพถูกจัดขึ้นที่เวสต์มินสเตอร์แอบบีย์และมีการถ่ายทอดสดพระราชพิธีไปยังเครือข่ายโทรทัศน์ทั่วโลก
วัยเด็ก
[แก้]ไดอานา ฟรานเซส สเปนเซอร์ เกิดเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม ค.ศ. 1961 ในพาร์กเฮาส์ เมืองซานดริงแฮม มณฑลนอร์ฟอล์ก เธอเป็นบุตรีคนสุดท้ายและบุตรคนที่สามจากทั้งหมด 5 คนของ จอห์น สเปนเซอร์ ไวเคานต์อัลธอร์พ (ค.ศ. 1924–1992) และภริยาคนแรก ฟรานเซส โรช (ค.ศ. 1916–2004)[1] ตระกูลสเปนเซอร์มีสายสัมพันธ์แน่นแฟ้นกับราชวงศ์อังกฤษมานานหลายชั่วอายุคน[2] ทั้งย่าและยายของไดอานาต่างเคยปฏิบัติหน้าที่นางสนองพระโอษฐ์ในสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธ พระราชชนนี[3] ในช่วงเวลานั้นไวเคานต์หวังให้ทารกในครรภ์ที่ 3 (ไดอานา) กำเนิดเป็นเพศชาย เพื่อจะได้สืบทอดตำแหน่งขุนนางตระกูลสเปนเซอร์ต่อไป อีกทั้งไม่ได้มีการเตรียมชื่อเด็กหญิงไว้ล่วงหน้า จนกระทั่งหนึ่งสัปดาห์ผ่านไป ฟรานเซส มารดา จึงได้ตั้งชื่อให้ว่า ไดอานา ฟรานเซส ซึ่งนามต้นนี้ได้มาจากบรรพบุรุษของเธอนั่นคือไดอานา รัสเซล ดัชเชสแห่งเบดฟอร์ด (ค.ศ. 1710–1735) หรือ เลดีไดอานา สเปนเซอร์ ในนามเดิมก่อนการสมรส และเลดีไดอานาผู้นี้เคยถูกคาดหวังให้อภิเสกสมรสกับเจ้าชายเฟรเดอริก เจ้าชายแห่งเวลส์ (ค.ศ.1707–1751)[4]
ไดอานาเข้ารับบัพติศมาในวันที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2504 ณ โบสถ์เซนต์แมรีแมกดาลีน เมืองซานดริงแฮม[5] เธอมีพี่น้องรวม 4 คน ดังนี้ ซาราห์ (ปัจจุบันคือ เลดี้ซาราห์ แมคคอร์เคอเดล), เจน (ปัจจุบันคือ เจน เฟลโลวส์ บารอนเนสเฟลโลวส์) และชาลส์ (ปัจจุบันเป็น เอิร์ลแห่งสเปนเซอร์ที่ 9)[6] ส่วนจอห์น พี่ชายเสียชีวิตขณะยังเป็นทารก ประมาณ 1 ปีก่อนไดอานากำเนิด[7] เกิดความตึงเครียดภายในครอบครัวสเปนเซอร์ เพราะบิดามารดาของเธอต้องการมีลูกชายไว้สืบทอดวงศ์ตระกูล ที่ ณ เวลานั้นไวเคานต์มีบุตรสาวอยู่แล้วถึง 2 คน[8][7] และมีเรื่องเล่าลือในหมู่ชนชั้นสูงกันว่า เลดี้อัลธอร์พถูกนำตัวไปตรวจร่างกายที่คลินิกสูตินรีเวชในกรุงลอนดอน เพื่อตรวจหาความผิดปกติในร่างกายของเธอ ชาลส์ เล่าถึงความอับอายของมารดาว่า “เป็นช่วงเวลาเลวร้ายในครอบครัวและอาจเป็นจุดเริ่มต้นของการหย่าร้าง และพ่อแม่คงไม่มีทางที่ลืมเรื่องราวนี้อย่างแน่นอน”[6] ไดอานาเติบโตในคฤหาสน์พาร์กเฮาส์ซึ่งตั้งอยู่ภายในอาณาเขตของตำหนักซานดริงแฮม[6] ครอบครัวสเปนเซอร์เช่าคฤหาสน์หลังนี้จากสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 โดยในฤดูหนาวของทุก ๆ ปี สมาชิกราชวงศ์อังกฤษมักจะเสด็จมาประทับที่ตำหนักซานดริงแฮมนี้ ซึ่งไดอานายังเคยร่วมเป็นเพื่อนเล่นของเจ้าชายน้อยสองพระองค์ คือ เจ้าชายแอนดรูว์ และ เจ้าชายเอ็ดเวิร์ด พระราชโอรสของสมเด็จพระราชินี[9][10]
บิดาและมารดาของไดอานาหย่าร้างกันเมื่อเธออายุได้ 7 ปี และต่อมา ฟรานเซสมีความสัมพันธ์กับ ปีเตอร์ ชานด์ คิดด์ และต่อมาได้เข้าพิธีสมรสกับชายคนนี้ใน ค.ศ. 1969[11] โดยไดอานาย้ายไปพักอยู่กับมารดาที่ลอนดอนระหว่างที่การแยกกันอยู่ในปีช่วง ค.ศ. 1967 แต่ในวันหยุดคริสต์มาสปีเดียวกันนั้นเอง ลอร์ดอัลธอร์พไม่อนุญาตให้ไดอานาเดินทางกลับลอนดอนพร้อมกับฟรานเซส และในเวลาต่อมาบิดาชนะคดีฟ้องร้องสิทธิในการเป็นผู้ปกครองของไดอานา ซึ่งได้รับความช่วยเหลือทางคดีจากบารอนเนสเฟอร์มอย ซึ่งเป็นยายของไดอานา[12]
ใน ค.ศ. 1972 ลอร์ดอัลธอร์พคบหากับ เรน เคาน์เตสแห่งดาร์ตมัธ บุตรีคนเดียวของ อเล็กซานเดอร์ แมคคอเคอร์เดล และบาร์บารา คาร์ทแลนด์ ทั้งสองจดทะเบียนสมรสที่แค็กซ์ตันฮอลล์ กรุงลอนดอนเมื่อ ค.ศ. 1976[13]
ใน ค.ศ. 1975 ไดอานาได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น เลดี[14] ภายหลังที่พ่อสืบทอดบรรดาศักดิ์เป็นเอิร์ลแห่งสเปนเซอร์ ครอบครัวสเปนเซอร์จึงต้องย้ายออกจากพาร์กเฮาส์ เพื่อกลับไปพักอาศัยที่ยังคฤหาสน์อัลธอร์พเป็นการถาวร โดยคฤหาสน์ที่ว่านี้คือ คฤหาสน์ประจำตระกูลสเปนเซอร์ ในมณฑลนอร์ทแธมป์ตัน[15]
การศึกษาและอาชีพ
[แก้]ไดอานาเรียนอ่านเขียนครั้งแรกกับครูหญิงประจำบ้าน เกอร์ทรูด อัลเลน[17] ต่อมาจึงได้เรียนที่โรงเรียนเอกชนซิลฟิลด์ เมืองเกย์ตัน มณฑลนอร์ฟอล์ก เมื่ออายุได้ 9 ปี[18] จึงได้ย้ายไปเรียนที่โรงเรียนริดเดิลสเวิร์ธ ซึ่งเป็นโรงเรียนประจำหญิงล้วนใกล้เมืองดิส และเมื่ออายุได้ 12 ปี ได้เข้าศึกษาต่อในโรงเรียนเวสต์ฮีธเกิร์ลส์สคูล เมืองเซเว่นโอ๊กส์ มณฑลเคนต์ ซึ่งพี่สาวทั้งสองของเธอเรียนอยู่ที่โรงเรียนนี้เช่นเดียวกัน[19] ไดอานาได้ผลการเรียนต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน เพราะไม่ผ่านการทดสอบวิชาพื้นฐานระดับประเทศ (O-Levels) ถึงสองครั้ง แต่เธอได้รับรางวัลนักเรียนดีจากโรงเรียนจากกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์เพื่อสาธารณะ[20] เธอลาออกจากโรงเรียนตอนอายุ 16 ปี[21] และยังคงเป็นเด็กสาวเรียบร้อยขี้อายอยู่เหมือนเดิม[22][23] แม้จะเรียนไม่เก่ง แต่ความสามารถพิเศษทางดนตรี (เปียโน) และกีฬา (ว่ายน้ำและดำน้ำ) ของเธอนั้นโดดเด่นกว่าเพื่อนร่วมชั้นเรียน นอกจากนี้เธอยังมีความสนใจด้านการเต้นบัลเลต์และการเต้นแท็ป[24]
ใน ค.ศ. 1978 ไดอานาเดินทางกลับลอนดอน หลังจากเรียนที่โรงเรียนการเรือนอังสติตูอัลแป็งวิเดมาแน็ต เมืองรูฌมงต์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ได้เพียงหนึ่งภาคการศึกษา เธอพักกับเพื่อนร่วมชั้นเรียนอีกสองคนที่อพาร์ตเมนต์ของแม่ในลอนดอน[25] ต่อมาเธอเข้าเรียนทำอาหารในหลักสูตรพิเศษ แต่ไม่เคยปรุงอาหารให้เพื่อนรับประทาน เธอรับจ้างทำงานหลายอย่างและได้รับค่าตอบแทนจำนวนเล็กน้อย เธอเคยเป็นครูสอนเต้นรำสำหรับเด็ก แต่ต้องลาออกเมื่อขาดงานนานถึง 3 เดือนเพื่อพักรักษาตัวจากอุบัติเหตุจากการเล่นสกี[26] หลังจากนั้นได้ไม่นาน ไดอานาทำงานเป็นผู้ช่วยครูโรงเรียนเตรียมอนุบาล และยังคงรับจ้างทำความสะอาดให้ซาราห์ พี่สาว รวมทั้งให้เพื่อน ๆ ของเธอ อีกหนึ่งงานที่เธอรับจ้างคือการจัดเตรียมอาหารเครื่องดื่มในงานปาร์ตี้[27] นอกจากนี้ไดอานายังเคยทำหน้าที่พี่เลี้ยงให้ครอบครัวโรเบิร์ตสัน ชาวอเมริกันในลอนดอน และงานสุดท้ายในชีวิตสาวโสดของเธอ คือตำแหน่งผู้ช่วยครูโรงเรียนเตรียมอนุบาลยังอิงแลนด์สคูล ย่านพิมลิโค[28]
ใน ค.ศ. 1979 ฟรานเซส แม่ของเธอซื้ออะพาร์ตเมนต์ที่โคลเฮิร์นคอร์ทในย่านเอิร์ลส์คอร์ทให้เป็นของขวัญวันเกิดอายุ 18 ปีให้ไดอานา[29] และได้ย้ายมาพักอยู่ที่อะพาร์ตเมนต์แห่งนี้กับเพื่อนร่วมห้อง 3 คน และย้ายออกเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1981[30] หนึ่งวันหลังจากวันประกาศหมั้นกับเจ้าชายชาลส์
ชีวิตสมรสกับเจ้าชายแห่งเวลส์
[แก้]ไดอานาพบกับเจ้าชายชาลส์ครั้งแรกในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1977 ขณะที่ยังทรงคบหากับเลดีซาราห์ พี่สาวคนโตของไดอานา[31][32] ในกลาง ค.ศ. 1980 ทั้งสองได้รับเชิญให้ไปร่วมพักผ่อนในชนบท ไดอานาชมเจ้าชายแข่งโปโล และเจ้าชายทรงเกิดความสนพระทัยเธอและทรงปรารถนาที่จะได้เธอมาเป็นเจ้าสาว ความสัมพันธ์ก้าวหน้าไปอีกขั้นเมื่อพระองค์ส่งคำเชิญให้เธอร่วมลงเรือพระที่นั่งบริตาเนียเพื่อเดินทางไปพักผ่อนวันหยุดที่เมืองคาวส์ เมืองท่าชายทะเลบนเกาะไอล์ออฟไวต์ บริเวณตอนใต้ของอังกฤษ และตามด้วยจดหมายเชิญให้ไปพักผ่อนวันหยุดสุดสัปดาห์และเข้าเฝ้าฯ พระราชวงศ์ที่ปราสาทบัลมอรัลในสกอตแลนด์ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1980[33][34] ณ ปราสาทบัลมอรัล ไดอานาได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระราชินีนาถ เจ้าชายฟิลิป ดยุกแห่งเอดินบะระ และสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธ พระราชชนนี ต่อมาเจ้าชายจึงตัดสินพระทัยคบหากันกับเลดีไดอานาอย่างคู่รักเป็นเวลาสั้น ๆ
วันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2524 เจ้าชายทรงขอหมั้นไดอานาและเธอตอบตกลง แต่ข่าวการหมั้นหมายถูกปิดเก็บความลับจากสื่อมวลชนนานกว่าสามสัปดาห์[30]
พิธีหมั้นและพระราชพิธีอภิเษกสมรส
[แก้]สำนักพระราชวังบักกิงแฮมประกาศพิธีหมั้นหมายระหว่างเจ้าชายชาลส์และเลดี้ไดอานา สเปนเซอร์ อย่างเป็นทางการ ณ วันที่ 24 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1981[17] ไดอานาเลือกแหวนหมั้น ประดับเพชร 14 เม็ด รอบแซฟไฟร์ซีลอนสีน้ำเงินน้ำหนัก 12 กะรัต ขึ้นวงเรือนจากแพลทินัมน้ำหนัก 18 กะรัต[17] แหวนหมั้นวงนี้มีความคล้ายคลึงกับแหวนหมั้นของฟรานเซส มารดาของไดอานา ผลิตและประกอบโดยร้านเพชรเจอร์ราร์ด ผู้ผลิตอัญมณีสำหรับราชสำนัก (ณ ขณะนั้น) แต่สมาชิกราชวงศ์ไม่นิยมโปรดสั่งทำแหวนจากร้านเพชรแห่งนี้ และพบว่าแหวนวงนี้ปรากฏอยู่ในคอลเลคชันเครื่องเพชรที่มีอยู่เดิม และไม่ได้มีการปรับเปลี่ยนให้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว [35] นอกจากนี้ สมเด็จพระราชชนนีได้ประทานเข็มกลัดเพชรประดับไพลินเพื่อเป็นของขวัญหมั้นเพิ่มเติมแก่ไดอานาอีกด้วย[36]
ใน ค.ศ. 2010 แหวนหมั้นแซฟไฟร์สีน้ำเงินนี้ถูกนำมาใช้อีกครั้งเพื่อเป็นแหวนหมั้นสำหรับแคเธอริน มิดเดิลตัน[37] และมีการผลิตแหวนรูปทรงคล้ายกันนี้ทั่วโลก
หลังการประกาศหมั้น ไดอานาลาออกจากตำแหน่งครูโรงเรียนอนุบาลและย้ายไปพักอยู่ในพระตำหนักคลาเรนซ์เฮาส์ ที่ประทับของพระราชชนนี ณ ขณะนั้น[38] ต่อมาไดอานาจึงเข้าพักในพระราชวังเค็นซิงตันจนกระทั่งวันอภิเษกสมรส[38] ไดอานาเป็นหญิงสาวชาวอังกฤษคนแรกในรอบ 300 ปีที่ได้เข้าพิธีอภิเษกสมรสกับมกุฎราชกุมารอังกฤษ และยังถือว่าเป็นพระสุณิสา(สะใภ้) พระองค์แรกของราชวงศ์วินด์เซอร์ที่มีอาชีพและรายได้เป็นของตัวเอง[20][17]
การปรากฏกายครั้งแรกต่อสาธารณชนของไดอานาพร้อมกับเจ้าชายชาลส์ คือ งานบอลล์เพื่อการกุศลในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1981 ที่โกลด์สมิธส์ฮอลล์ และที่แห่งนั้นเธอได้มีโอกาสเข้าเฝ้า เจ้าหญิงเกรซ เจ้าหญิงพระชายาแห่งโมนาโก[38][39]
ไดอานาในวัยเพียง 20 ปี ได้รับการสถาปนาเป็นเจ้าหญิงแห่งเวลส์ ในพระราชพิธีอภิเษกสมรสกับเจ้าชายชาลส์ เจ้าชายแห่งเวลส์ เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม ค.ศ. 1981 ณ อาสนวิหารนักบุญเปาโล สาเหตุที่เลือกจัดพิธีในมหาวิหารแห่งนี้ เพราะสามารถรองรับผู้เข้าร่วมพิธีได้มากกว่าเวสต์มินสเตอร์แอบบีย์ ซึ่งเป็นสถานที่ประกอบพิธีอภิเษกสมรสของราชสำนักตามธรรมเนียมนิยม[20][17] พระราชพิธีอภิเษกสมรสนี้ยิ่งใหญ่หรูหราจนถูกกล่าวขานกันว่างดงามราวกับงานแต่งงานในเทพนิยาย และมีผู้เฝ้าติดตามชมพระราชพิธีกว่า 750 ล้านคนทั่วโลก โดยตลอดเส้นทางขบวนเสด็จในกรุงลอนดอนเนืองแน่นไปด้วยประชาชนกว่า 600,000 ที่ต่างเฝ้ารอชมพระโฉมของเจ้าบ่าวและเจ้าสาวด้วยความตื่นเต้น[17][40]
ที่หน้าแท่นบูชาภายในมหาวิหาร ไดอานาขานสองพระนามแรกของพระสวามีไม่ถูกต้อง ว่า Philip Charles Arthur George ซึ่งพระนามที่ถูกต้องคือ Charles Philip[40] และไม่ได้ให้กล่าวปฏิญาณว่า "จะเชื่อฟังพระสวามี" ด้วยเช่นกัน เนื่องจากทั้งสองขอให้ตัดประโยคดังกล่าวออกไป[41] ไดอานาเดินเข้าสู่อาสนวิหารด้วยชุดแต่งงานสีขาวมูลค่า 9,000 ปอนด์ ออกแบบโดยห้องเสื้อเอ็มมานูเอล ชายกระโปรงยาว 25 ฟุต (7.62 เมตร)[42] บทเพลงที่ใช้บรรเลงระหว่างประกอบพิธีในอาสนวิหารได้แก่ พรินซ์ออฟเดนมาร์กส์มาร์ช, ไอวาวทูดี มายคันทรี, พอมพ์แอนด์เซอร์คัมสแตนซ์หมายเลข 4, และก็อดเซฟเดอะควีน[43]
ด้วยพระอิสริยยศเจ้าหญิงแห่งเวลส์ (ณ ขณะนั้น) ไดอานาจึงอยู่ในลำดับที่ 3 แห่งลำดับโปเจียมฝ่ายใน (ต่อจากสมเด็จพระราชินีนาถ และสมเด็จพระราชชนนี) และอยู่ในลำดับที่ 5 หรือ 6 ในลำดับโปเจียมแห่งราชอาณาจักรเครือจักรภพ (ถัดจาก สมเด็จพระราชินีนาถ วิซรอย ดยุกแห่งเอดินบะระ สมเด็จพระราชชนนี และเจ้าชายแห่งเวลส์) สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงพระราชทานเครื่องอิสริยาภรณ์แห่งราชวงศ์จำนวนหนึ่งแก่ไดอานา ทรงพระราชทานพระราชานุญาตใหใช้มงกุฎเคมบริดจ์เลิฟเวอร์สน็อต[44][45] ตลอดจนทรงพระราชทานตราอาร์มประจำตัวให้แก่เจ้าหญิงอีกด้วย[46]
พระโอรส
[แก้]เมื่ออภิเษกสมรสแล้ว ที่ประทับในกรุงลอนดอนอย่างเป็นทางการของเจ้าชายและเจ้าหญิงแห่งเวลส์ คือ พระราชวังเคนซิงตัน นอกจากนี้ยังมี พระตำหนักไฮโกรฟ เมืองเทตบรี ซึ่งเป็นที่ประทับอีกแห่งนอกกรุงลอนดอน ตั้งอยู่ในมณฑลกลอสเตอร์เชอร์
5 พฤศจิกายน ค.ศ. 1981 สำนักพระราชวังบักกิงแฮมแถลงข่าวเรื่องเจ้าหญิงแห่งเวลส์ทรงตั้งพระครรภ์[47]
เดือนมกราคม ค.ศ. 1982 ขณะที่มีอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ เจ้าหญิงประสบอุบัติเหตุลื่นล้มในพระตำหนักซานดริงแฮม เซอร์จอร์จ พิงเกอร์ สตูนรีแพทย์ประจำราชสำนัก ได้เดินทางมาจากลอนดอนเพื่อถวายการรักษา แม้เจ้าหญิงจะทรงมีพระอาการบาดแผลฟกช้ำรุนแรง แต่พระกุมารในพระอุทรปลอดภัย[48]
วันจันทร์ที่ 21 มิถุนายน ค.ศ. 1982 เจ้าหญิงไดอานามีพระประสูติกาลพระโอรสองค์แรก เจ้าชายวิลเลียม อาร์เธอร์ ฟิลิป หลุยส์[49] ณ อาคารลินโดวิง โรงพยาบาลเซนต์แมรี เขตแพดดิงตัน กรุงลอนดอน[48]
ท่ามกลางเสียงวิพากย์วิจารณ์จากสื่อ เจ้าหญิงไดอานาได้ทรงตัดสินพระทัยเสด็จเยือนออสเตรเลียและนิวซีแลนด์พร้อมด้วยพระโอรสน้อย และทรงได้รับกระแสความนิยมจากประชาชนอย่างล้นหลาม พระองค์ทรงเคยตรัสถึงการเสด็จฯ เยือนออสเตรเลียนี้ว่าไม่ต้องการให้พระโอรสร่วมเสด็จด้วยในตอนแรก แต่ทรงเปลี่ยนพระทัยเมื่อ มัลคอล์ม เฟรเซอร์ นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย (ในขณะนั้น) กราบทูลฯ ให้พระองค์เสด็จฯ พร้อมด้วยเจ้าชายวิลเลียม[50]
มีพระประสูติกาลพระโอรสองค์ที่สอง เจ้าชายเฮนรี ชาลส์ อัลเบิร์ต เดวิด เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน ค.ศ. 1984[51] พระองค์ตรัสว่าทรงมีความใกล้ชิดกับพระสวามีมากที่สุดระหว่างทรงพระครรภ์เจ้าชายแฮร์รี เจ้าหญิงไม่ได้ทรงเปิดเผยเพศของพระกุมารให้แก่ผู้ใดทราบล่วงหน้า รวมทั้งพระสวามี
ในเวลานั้น มีข่าวลือว่าเจ้าชายชาลส์ไม่ใช่พระบิดาของเจ้าชายแฮร์รี แต่เป็น เจมส์ ฮิววิตต์ ครูสอนขี่ม้าที่เจ้าหญิงเคยมีความสัมพันธ์อย่างลับ ๆ เนื่องจากลักษณะทางกายภาพภายนอกที่คล้ายกันอย่างมาก แต่มีหลักฐานหลายชิ้นออกมาหักล้างข่าวลือนี้ ที่ยืนยันว่าเจ้าหญิงมีพระประสูติกาลเจ้าชายแฮร์รีก่อนที่จะทรงมีสัมพันธ์รักกับฮิววิตต์[52][53][54]
เจ้าหญิงไดอานามักพาพระโอรสออกนอกเขตพระราชฐานเพื่อท่องเที่ยวและเยี่ยมชมตามสถานที่ต่าง ๆ ในเมืองอย่างเช่นสามัญชน[17][55][56] เจ้าหญิงทรงไม่ยอมอ่อนข้อต่อพระสวามีและราชสำนักในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับพระโอรส เจ้าหญิงเป็นผู้เลือกพระนามแรกของพระโอรสทั้งสอง และทรงฝ่าฝืนธรรมเนียมปฏิบัติในราชสำนักหลายอย่าง เช่น ไม่โปรดให้มีพระพี่เลี้ยงสำหรับพระโอรสทั้งสอง ทรงเลือกโรงเรียน เครื่องแต่งกาย วางแผนทำกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกับพระโอรสเท่าที่ตารางเวลางานของพระองค์เอื้ออำนวย บางครั้งก็ทรงขับรถยนต์ไปส่งพระโอรสที่โรงเรียนด้วยพระองค์เอง และทรงกำหนดเวลาประกอบพระกรณียกิจของพระองค์ให้เสร็จสิ้นพร้อมกับชั้นเรียนของพระโอรส[57]
ชีวิตสมรสที่ล้มเหลวและการแยกกันอยู่กับเจ้าชายแห่งเวลส์
[แก้]เพียง 5 ปีหลังจากพระราชพิธีอภิเษกสมรส ชีวิตรักของครอบครัวเวลส์เริ่มระหองระแหงและเดินมาถึงทางตัน ด้วยเหตุที่ทั้งสองพระองค์ไม่สามารถปรับตัวเข้าหากันได้ เช่น ช่องว่างระหว่างวัย ที่สองพระองค์มีพระชันษาห่างกันมากถึง 13 ปี[58] และความคลางแคลงใจของเจ้าหญิงในความสัมพันธ์ของพระสวามีกับคนรักเก่า นางคามิลลา พาร์กเกอร์ โบลส์[59] ต้น ค.ศ. 1990 สาธารณชนต่างรับรู้ว่า ชีวิตคู่ของเจ้าชายและเจ้าหญิงแห่งเวลส์ได้ล่มสลายลงเมื่อสื่อมวลชนเปิดโปงเรื่องส่วนพระองค์อย่างหมดเปลือกสองจนกลายเป็นข่าวอื้อฉาวไปทั่วโลก แม้ว่าในช่วงแรก ๆ ทั้งสองพระองค์ทรงพยายามปิดบังปัญหาชีวิตสมรส แต่กลับล้มเหลวเมื่อทั้งเจ้าชายและเจ้าหญิงทรงต่างกล่าวโทษกันและกันว่าเป็นตัวทำลายชีวิตคู่ผ่านการให้ข่าวผ่านนักข่าวหนังสือพิมพ์และพระสหายคนสนิท[59]
จุดแตกหักในชีวิตคู่ของเจ้าชายและเจ้าหญิงแห่งเวลส์ส่อเค้าลางชัดเจนในช่วงต้น ค.ศ. 1985[60] เมื่อเจ้าชายชาลส์กลับไปสานความสัมพันธ์กับนางคามิลลา พาร์กเกอร์ โบลส์ หญิงคนรักเก่าที่แต่งงานแล้ว ต่อจากนั้นไม่นานไดอานาก็ลอบมีสัมพันธ์ลับกับพันตรี เจมส์ ฮิววิตต์ ความสัมพันธ์ชู้สาวของเจ้าชายและเจ้าหญิงถูกเปิดเผยในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1992 ในหนังสือ Diana: Her True Story (ชีวิตจริงของไดอานา) เรียบเรียงโดย แอนดรูว์ มอร์ตัน[61][62] และเนื้อหาของหนังสือเล่มนี้เคยได้รับการตีพิมพ์มาแล้วในคอลัมน์ของรายสัปดาห์ของ The Sunday Times เนื้อหาส่วนใหญ่อ้างว่าเจ้าหญิงทรงพยายามปลงพระชนม์ชีพพระองค์เองจากปัญหาชีวิตในราชวงศ์
ระหว่าง ค.ศ. 1992–1993 เทปบันทึกเสียงการสนทนาทางโทรศัพท์กับบุคคลที่สามของทั้งเจ้าชายและเจ้าหญิงหลุดออกมาสู่สื่อมวลชน ทำให้สาธารณชนได้ล่วงรู้ถึงความเกลียดชังระหว่างสองพระองค์ เทปบันทึกเสียงการสนทนาระหว่างไดอานากับเจมส์ กิลบี ถูกเผยแพร่โดยหนังสือพิมพ์เดอะซัน ผ่านบริการโทรศัพท์สายด่วนในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1992 บทสนทนาส่วนตัวนี้ได้รับการถอดความและตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์เดอะซันภายในเดือนเดียวกัน กรณีดังกล่าวเป็นที่รู้จักในนาม "สควิดจีเกต" โดยคำว่า "สควิดจี" ที่กิลบีใช้เรียกไดอานาอย่างสนิทเสน่หา[63][17]
พฤศจิกายน ค.ศ. 1992 ข้อความส่วนหนึ่งจากเทปบันเสียง “คามิลลาเกต” ซึ่งบันทึกการสนทนาทางโทรศัพท์ระหว่างเจ้าชายชาลส์กับนางคามิลลา ปรากฏในหนังสือพิมพ์แทบลอยด์หลายสำนักในอังกฤษ[64][65]
ในธันวาคม ค.ศ. 1992 จอห์น เมเจอร์ นายกรัฐมนตรี ได้แถลงการณ์ ณ สภาสามัญชนสหราชอาณาจักร เรื่องการแยกกันอยู่ระหว่างเจ้าหญิงกับเจ้าชายแห่งเวลส์[66]
ในมกราคม ค.ศ. 1993 ข้อความจากเทปบันทึกเสียงฉบับเต็ม คามิลลาเกต ถูกนำลงตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์หลายสำนักอีกครั้ง[17]
ใน ค.ศ. 1993 กลุ่มหนังสือพิมพ์เดอะมิเรอร์ลงภาพแอบถ่ายของเจ้าหญิงไดอานาระหว่างทรงออกกำลังกายอยู่ภายในโรงยิมแอลเอฟิตเนส ในภาพ เจ้าหญิงทรงอยู่ในชุดออกกำลังกายแนบเนื้อและกางเกงขาสั้น[67][68] ภาพดังกล่าวลักลอบถ่ายโดย ไบรซ์ เทย์เลอร์ เจ้าของโรงยิม ทนายความของไดอานาดำเนินการทางกฎหมายทันทีที่ภาพดังกล่าวถูกเผยแพร่ โดยมีคำร้องให้ศาลห้ามให้มีการวางจำหน่ายและเผยแพร่ภาพดังกล่าวอย่างถาวร[67][68] แต่อย่างไรก็ตามภาพถ่ายชุดนี้ถูกลักลอบนำไปตีพิมพ์โดยหนังสือพิมพ์นอกสหราชอาณาจักร[67] ท้ายที่สุด ศาลมีคำสั่งห้ามกลุ่มหนังสือพิมพ์มิเรอร์และนายเทย์เลอร์ให้ทำซ้ำหรือเผยแพร่ภาพถ่ายของไดอานาเพิ่มเติมอีกเป็นอันขาด[67]สุดท้ายกลุ่มหนังสือพิมพ์มิเรอร์ยอมประกาศขอโทษหลังถูกตั้งข้อครหาและวิจารณ์อย่างหนักจากหลายฝ่ายในสังคม มีการรายงานว่ากลุ่มหนังสือพิมพ์เดอะมิเรอร์ได้ชดเชยค่าเสียหายจำนวน 1 ล้านปอนด์ให้แก่เจ้าหญิงเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายด้านกฎหมาย อีกทั้งยังบริจาคเงินจำนวน 2 แสนปอนด์ให้แก่องค์กรการกุศลของพระองค์[67] นายเทย์เลอร์ยอมจ่ายค่าเสียหายให้แก่ไดอานาเช่นเดียวกันด้วยเงิน 3 แสนปอนด์ แต่มีข่าวลือว่ามีสมาชิกราชวงศ์พระองค์หนึ่งได้ช่วยเหลือนายเลอร์ในเรื่องเงินค่าเสียหายดังกล่าว[67]
เจ้าหญิงมาร์กาเรต ซึ่งเป็นพระมาตุลานี (ป้าสะใภ้) ของไดอานาทรงเผาทำลายจดหมาย “ลับสุดยอด” ซึ่งไดอานาทรงเขียนถึงสมเด็จพระราชชนนีเมื่อ ค.ศ. 1993 เจ้าหญิงมาร์กาเรตทรงรับสั่งว่าเนื้อหาในจดหมายเหล่านั้นเต็มไปด้วยเรื่องส่วนตัวจำนวนมาก วิลเลียม ชอว์ครอส นักประวัติศาสตร์ พูดถึงเรื่องนี้ว่า ไม่แปลกใจเลยที่เจ้าหญิงมาร์กาเรตทรงกำลังช่วยปกป้องพระมารดาและสมาชิกราชวงศ์พระองค์อื่น ๆ” ชอว์ครอสเห็นว่าการกระทำของเจ้าหญิงมาร์กาเรตนั้นสมเหตุสมผล แต่หากพิจารณาในมุมนักประวัติศาสตร์ เขากลับรู้สึกเสียดายที่ทรงทำลายจดหมายนั้น[69]
ระหว่างที่ไดอานากล่าวหาคามิลลาว่าเป็นตัวทำลายครอบครัวของพระองค์ เจ้าหญิงทรงเกิดความหวาดระแวงว่าเจ้าชายชาลส์กำลังลอบมีสัมพันธ์ลับ ๆ กับผู้หญิงคนใหม่ เดือนตุลาคม ค.ศ. 1993 เจ้าหญิงเขียนจดหมายถึงเพื่อนสนิทคนหนึ่ง ใจความว่า ทรงเชื่อว่าพระสวามีกำลังหลงรัก ทิกกี เล็กจ์-เบิร์ก ผู้ช่วยส่วนพระองค์ (อดีตพระพี่เลี้ยง) และต้องการสมรสใหม่ผู้หญิงคนนี้[70] นางสาวเล็กจ์-เบิร์กเคยได้รับการว่าจ้างโดยเจ้าชายชาลส์ในตำแหน่งพระพี่เลี้ยงของพระโอรสทั้งสองเมื่ออยู่ในความดูแลของพระบิดา[71] ไดอานาทรงกริ้วมากเมื่อทรงทราบความมิตรภาพที่ดีระหว่างพระโอรสกับเล็กจ์-เบิร์ก[72]
3 ธันวาคม ค.ศ. 1993 เจ้าหญิงแห่งเวลส์ทรงประกาศถอนตัวจากชีวิตสาธารณชนอย่างเป็นทางการ และในเวลาเดียวกันนั้น ข่าวซุบซิบเรื่องสัมพันธ์รักระหว่างเจ้าหญิงไดอานากับเจมส์ ฮิววิตต์ อดีตครูสอนขี่ม้าของเจ้าชายวิลเลียมและเจ้าชายแฮร์รี กำลังแพร่สะพัดอย่างหนาหู จนถึงกับมีการตีพิมพ์เรื่องดังกล่าวเป็นหนังสือชื่อว่า Princess in Love และถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ในชื่อเดียวกันใน ค.ศ. 1996[73]
29 มิถุนายน ค.ศ. 1994 เจ้าชายแห่งเวลส์ทรงประทานสัมภาษณ์ผ่านทางรายการโทรทัศน์แก่ โจนาธาน ดิมเบิลบลี เพื่อชี้แจงถึงเรื่องชีวิตคู่ที่ล้มเหลวด้วยพระองค์เองต่อสาธารณชน ทรงยอมรับว่าพระองค์กลับไปมีความสัมพันธ์กับนางคามิลลา หลังจากที่ชีวิตคู่ของพระองค์กับเจ้าหญิงนั้นมาถึงทางตันใน ค.ศ. 1986[74][75][76]
ทินา บราวน์ แซลลี บีเดล สมิธ และซาราห์ แบรดฟอร์ด และนักเขียนหลายคน เห็นพ้องต้องคำในถ้อยคำให้สัมภาษณ์ของเจ้าหญิงในรายการโทรทัศน์ บีบีซีพาโนรามา ที่ออกอากาศช่วงปลาย ค.ศ. 1995 ตอนหนึ่งของสัมภาษณ์เจ้าหญิงทรงเปิดเผยว่าทรงได้รับความทุกข์ทรมานสาหัสจากโรคซึมเศร้าและโรคบูลีเมียขั้นรุนแรง และทรงพยายามทำร้ายพระองค์เองด้วยการกรีดข้อพระหัตถ์และพระเพลา[77] จากพระอาการต่าง ๆ ที่ทรงกล่าวไว้ในการสัมภาษณ์ครั้งนั้น ทำให้นักเขียนและนักประวัติศาสตร์ต่างลงความเห็นว่าไดอานามีความผิดปกติทางบุคลิกภาพแบบก้ำกึ่ง[78][79]
การหย่าร้าง
[แก้]มาร์ติน บาชีร์ ได้รับพระอนุญาตจากเจ้าหญิงแห่งเวลส์เพื่อขอสัมภาษณ์พระองค์ในรายการ พาโนรามา ซึ่งนำเสนอเรื่องราวเหตุการณ์ที่กำลังอยู่ในกระแส และเทปการสัมภาษณ์เจ้าหญิงออกอากาศเมื่อ 20 พฤศจิกายน ค.ศ. 1995[77]
ทรงตรัสถึงเจมส์ ฮิววิตต์ว่า "ใช่ ฉันเคยหลงรักเขา ใช่ฉันเคยหลงรักเขา แต่เขาทำให้ฉันเสียหายอย่างที่สุด” ทรงตรัสถึงความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าชายชาลส์กับนางคามิลลาว่า “มีคนสามคนในชีวิตคู่และเรารู้สึกอึดอัด” ทรงตรัสถึงพระองค์ในอนาคตว่า “ฉันปรารถนาที่จะเป็นราชินีในใจของประชาชน” และทรงแสดงความกังวลต่อความเหมาะสมในการขึ้นครองราชย์ของพระสวามีว่า “หน้าที่ [ในฐานะประมุข] เป็นภารกิจสำคัญอย่างยิ่ง และมาพร้อมกับกฎเกณฑ์ต่าง ๆ มากมาย และฉันไม่รู้ว่าเจ้าชายจะสามารถปรับตัวให้เข้ากับตำแหน่งพระประมุขได้หรือไม่”[77]
เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม ค.ศ. 1995 สำนักพระราชวังบักกิงแฮมออกแถลงการณ์ เรื่อง สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 มีพระราชหัตถเลขาถึงเจ้าชายและเจ้าหญิงแห่งเวลส์ ทรงแนะนำให้พระโอรสและพระสุณิสาทรงหย่าขาดกัน[80][81] สำนักข่าวบีบีซีรายงานว่าพระราชหัตถเลขาและความเคลื่อนไหวของสมเด็จพระราชินีนาถเกิดขึ้นหลังจากพระองค์ได้รับการสนับสนุนจากนายกรัฐมนตรีและคณะองคมนตรีชั้นผู้ใหญ่หลังใช้เวลาปรึกษาหารือนาน 2 สัปดาห์[82] และในเวลาต่อมาไม่นานมีเอกสารแถลงการณ์ยินยอมหย่าร้างจากเจ้าชายแห่งเวลส์
กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1996 เจ้าหญิงแห่งเวลส์ทรงยอมรับข้อตกลงการหย่าร้างหลังการเจรจากับเจ้าชายและตัวแทนของสมเด็จพระราชินีนาถ[83] แต่เกิดความวุ่นวายภายขึ้นในสำนักพระราชวังบักกิงแฮม เมื่อไดอานาต้องการให้มีการประกาศยินยอมหย่าพร้อมกับชี้แจงข้อตกลงต่าง ๆ อย่างเป็นทางการ
กรกฎาคม ค.ศ. 1996 เจ้าหญิงและเจ้าชายยอมรับข้อตกลงในการหย่าร้าง[84]
28 สิงหาคม ค.ศ. 1996 การหย่าร้างมีผลสมบูรณ์[72] และไม่กี่วันก่อนมีคำสั่งศาลให้ทั้งสองพระองค์หย่าขาด สำนักพระราชวังบักกิงแฮมเผยแพร่เอกสารสิทธิระบุว่า ไดอานาจะต้องสูญเสียฐานันดรศักดิ์ชั้นเจ้าฟ้า (Her Royal Highness) เนื่องจากมิได้เป็นเจ้าหญิงพระชายาในเจ้าชายแห่งเวลส์อีกต่อไป และให้ใช้พระนาม “ไดอานา เจ้าหญิงแห่งเวลส์” แต่เพียงเท่านั้น[85] มีการรายงานเพิ่มเติมว่า สมเด็จพระราชินีนาถทรงตัดสินพระทัยให้คงไว้ซึ่งพระอิสริยศ “เจ้าหญิงแห่งเวลส์” ท้ายพระนามของหลังการหย่าร้าง แต่เจ้าชายชาลส์ทรงคัดค้านและเรียกร้องให้ริบคืนพระอิสริยศดังกล่าวจากอดีตพระชายา
เนื่องจากเป็นพระมารดาของเจ้าชายวิลเลียม ผู้ซึ่งเป็นรัชทายาทอันดับสองและมีความเป็นไปได้ที่จะได้ทรงขึ้นครองราชย์ในภายภาคหน้า จึงมีความเห็นพ้องกันภายในราชสำนักว่า หลังทรงหย่าร้าง ควรให้ไดอานาดำรงพระอิสริยศเช่นเดียวกับที่ทรงเคยได้รับระหว่างการเป็นพระชายาในเจ้าชายแห่งเวลส์ เจ้าชายวิลเลียมเคยตรัสปลอบใจพระมารดาครั้งหนึ่งว่า “ไม่เป็นไรครับ ผมจะคืนยศให้แม่เองในวันที่ผมได้เป็นพระราชา”
ทินา บราวน์ ระบุว่าก่อนหน้าการหย่าร้างเพียง 1 ปี เจ้าชายฟิลิป ดยุกแห่งเอดินบะระ ได้ทรงส่งจดหมายส่วนพระองค์เพื่อเตือนพระสุณิสา ว่า “ถ้าเธอไม่ประพฤติตัวให้ดี เราจะริบยศเธอคืน” และเจ้าหญิงทรงเขียนตอบกลับพระสัสุระว่า “พระยศของหม่อมฉันเก่าแก่กว่าของท่าน ฟิลิป”[84]
ไดอานาได้รับเงินจำนวนมหาศาลเพื่อดำรงชีพจากเจ้าชายชาลส์หลังการหย่าร้างจำนวน 17 ล้านปอนด์ พร้อมเงินรายปีจำนวน 400,000 ปอนด์ต่อปี (15.65 ล้านบาทต่อปี–อัตราแลกเปลี่ยน สิงหาคม ค.ศ. 1996) ทั้งสองพระองค์ร่วมลงนามในข้อตกลงซึ่งมีเงื่อนไขเพิ่มเติมพิเศษ ห้ามมิให้ทั้งสองฝ่ายนำรายละเอียดต่าง ๆ ในระหว่างชีวิตคู่จนถึงการหย่าร้างไปเผยแพร่ไม่ว่าในกรณีใด ๆ[86][84]
หลังการหย่าร้างไม่นาน ไดอานาทรงกล่าวหา ทิกกี เล็กจ์-เบิร์ก ผู้ช่วยของเจ้าชายชาลส์ ว่า ลอบไปทำแท้งหลังตั้งท้องกับเจ้าชาย โดยเล็กจ์-เบิร์กไม่พอใจอย่างมากและได้เรียกร้องพระองค์ทรงกล่าวคำขอโทษ [87][88] ต่อมา แพทริก เจฟสัน เลขานุการของไดอานา ขอลาออกหลังมีการกล่าวหาเกิดขึ้น และได้เขียนข้อความพาดพิงเจ้าหญิงไว้ว่า “ทรงสำราญพระทัยจากการให้ร้ายเล็กจ์-เบิร์กว่าหล่อนแอบไปทำแท้ง”[89][90]
ไดอานาทรงมีความขัดแย้งกับพระมารดาอย่างรุนแรงในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1997 เมื่อฟรานเซสให้สัมภาษณ์กับนิตยสารฮัลโหล ว่า เธอพอใจจากการถูกเรียกคืนอิสริยศหลังหย่าร้างกับเจ้าชายชาลส์ นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาทั้งสองต่างไม่ยอมพูดจาหรือติดต่อกันอีกเลยจนกระทั่งไดอานาสิ้นพระชนม์[91]
สำนักพระราชวังบักกิงแฮมชี้แจงว่า ไดอานา เจ้าหญิงแห่งเวลส์ สิ้นพระชนม์ในขณะที่ยังเป็นสมาชิกราชวงศ์ เนื่องจากเป็นพระมารดาของรัชทายาทอันดับที่สองและสาม และข้อมูลนี้ได้รับการยืนยันจาก บารอนเนส บัทเลอร์-สลอส เจ้าหน้าที่โคโรเนอร์แห่งราชสำนัก ก่อนการพิจารณาคดีการสิ้นพระชนม์ของไดอานาเมื่อวันที่ 8 มกราคม ค.ศ. 2007 โดยกล่าวว่า "ดิฉันรู้สึกพึงพอใจที่ ไดอานา เจ้าหญิงแห่งเวลส์ ยังคงสถานะเป็นสมาชิกราชวงศ์อยู่ แม้ว่าจะสิ้นพระชนม์ไปแล้วก็ตาม”[92] และความเป็นสมาชิกราชวงศ์ของพระองค์ได้รับการรับรองอีกครั้งโดยคณะลูกขุนแห่งศาลสูงไฮคอร์ท ซึ่งเป็นผู้กล่าวรับคำร้องพิจารณาคดีมรณกรรมของไดอานาและโดดีในฝรั่งเศส ดังนี้ “การพิจารณาคดีครั้งนี้มีผู้เสียชีวิตสองคน ผู้หนึ่งเป็นสมาชิกแห่งพระราชวงศ์ (ไดอานา เจ้าหญิงแห่งเวลส์) แต่อีกผู้หนึ่งไม่ใช่ (โดดี อัลฟาเยด) ”[93]
พระกรณียกิจในฐานะเจ้าหญิงแห่งเวลส์
[แก้]พระกรณียกิจอย่างเป็นการครั้งแรกของเจ้าหญิงแห่งเวลส์ คือ การเสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศเวลส์พร้อมกับเจ้าชายแห่งเวลส์เป็นเวลา 3 วัน ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1981[20] และเสด็จไปร่วมรัฐพิธีเปิดประชุมรัฐสภาอังกฤษเป็นครั้งแรกเมื่อ 4 พฤศจิกายน ในปีเดียวกัน[94] ต่อมาในวันที่ 18 พฤศจิกายนในปีเดียวกัน พระองค์ทรงเป็นประธานเปิดไฟต้นคริสต์มาสบนถนนรีเจนต์ ซึ่งถือว่าเป็นการเสด็จประกอบพระกรณียกิจครั้งแรกที่ไม่ได้เสด็จร่วมพระสวามีและพระบรมวงศานุวงศ์[95]
เดือนมิถุนายน ค.ศ. 1982 เสด็จร่วมทอดพระเนตรการสวนสนามทหารกองเกียรติยศในวโรกาสวันคล้ายวันพระราชสมภพของสมเด็จพระราชินีนาถ และเจ้าหญิงทรงปรากฏพระองค์บนระเบียงมุขพระราชวังบักกิงแฮมต่อประชาชนที่มาเข้าเฝ้า[20]และใน ค.ศ. 1982 เจ้าหญิงไดอานาเสด็จเยือนต่างประเทศโดยเพียงพระองค์เดียวเป็นครั้งแรก เพื่อเสด็จไปทรงร่วมพระราชพิธีพระศพของเจ้าหญิงเกรซแห่งโมนาโก ต่อมาในปีเดียวกัน เสด็จพร้อมด้วยเจ้าชายชาลส์ไปในการเสด็จเยือนเนเธอร์แลนด์ และเจ้าหญิงทรงได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ Order of the Crown จากสมเด็จพระราชินีนาถเบียทริกซ์แห่งเนเธอร์แลนด์[96]
ใน ค.ศ. 1983 เจ้าชายแห่งเวลส์และเจ้าหญิงแห่งเวลส์เสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศออสเตรเลียและประเทศนิวซีแลนด์ พร้อมด้วยเจ้าชายวิลเลียม และทั้งสามพระองค์ทรงได้รับการต้อนรับจากตัวแทนชนเผ่าพื้นเมืองมาวรีในนิวซีแลนด์[20] ในเดือนกรกฎาคมและสิงหาคม ค.ศ. 1983 เจ้าชายและเจ้าหญิงเสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศแคนาดา ในการเสด็จฯ เยือนครั้งนี้ ทรงร่วมพิธีเปิดการแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัยโลกฤดูร้อน 1983 ที่เมืองเอ็ดมันตัน และเสด็จพระราชดำเนินไปเกาะนิวฟันด์แลนด์เพื่อรำลึกการครบรอบ 400 ปีที่อังกฤษประกาศกรรมสิทธิ์เหนือดินแดนแห่งนี้[97]
ในเมษายน ค.ศ. 1985 เจ้าชายและเจ้าหญิงแห่งเวลส์ พร้อมด้วยเจ้าชายวิลเลียมและเจ้าชายแฮร์รี[20] เสด็จฯ เยือนประเทศอิตาลี และทรงได้พบกับประธานาธิบดีอาเลสซานโดร เปอร์ตินี และเสด็จพระราชดำเนินไปสันตะสำนักแห่งโรม และทรงเข้าเฝ้าสมเด็จพระสันตะปาปาจอห์น ปอลที่ 2[98] ในพฤศจิกายน ค.ศ. 1985 เจ้าชายและเจ้าหญิงเสด็จฯ เยือนสหรัฐ ณ ทำเนียบขาว ทรงเข้าพบโรนัลด์ เรแกน ประธานาธิบดี และแนนซี เรแกน สุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง[20]
ใน ค.ศ. 1986 เจ้าหญิงและเจ้าชายแห่งเวลส์เสด็จฯ เยือนประเทศญี่ปุ่น, อินโดนีเซีย, สเปน และเสด็จไปทอดพระเนตรงานเวิลด์เอกซ์โป 1986 ซึ่งจัดขึ้นที่เมืองแวนคูเวอร์ รัฐบริติชโคลัมเบีย ประเทศแคนาดา[97]
ใน ค.ศ. 1988 เจ้าชายและเจ้าหญิงแห่งเวลส์เสด็จฯ เยือนออสเตรเลียเป็นเวลา 10 วัน และทรงเข้าร่วมพิธีเฉลิมฉลองวันชาติออสเตรเลียครบรอบ 200 ปี[20][99]
ในระหว่างวันที่ 3-5 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1988 เจ้าหญิงและเจ้าชายแห่งเวลส์เสด็จฯ เยือนประเทศไทยในฐานะพระราชอาคันตุกะ เพื่อทรงร่วมถวายพระพรพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในวโรกาสทรงเจริญพระชนมพรรษา 60 พรรษา [100]
ในกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1989 เจ้าหญิงเสด็จฯ เยือนนครนิวยอร์ก สหรัฐ และในระหว่างการเสด็จเยี่ยมโรงพยาบาลฮาร์เลม และทรงสร้างความประหลาดใจแก่สาธารณชนเมื่อทรงโอบกอดเด็กอายุ 7 ขวบคนหนึ่งซึ่งป่วยด้วยโรคเอดส์[101]
ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1990 เจ้าชายชาลส์และเจ้าหญิงไดอานาเสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศไนจีเรียและแคเมอรูน และทรงร่วมเสวยพระกระยาหารค่ำที่ประธานาธิบดีแห่งแคเมอรูนจัดเลี้ยงถวายที่กรุงยาอุนเด[102] โดยพระกรณียกิจหลักในการเสด็จฯ เยือนแคเมอรูนครั้งนี้คือ การเสด็จเยี่ยมโรงพยาบาลและเยี่ยมชมโครงการพัฒนาสตรี[102] ในพฤษภาคม ค.ศ. 1990 เจ้าชายชาลส์และเจ้าหญิงไดอานาเสด็จฯ เยือนประเทศฮังการีเป็นเวลา 4 วัน[101][103] ซึ่งถือได้ว่าเจ้าชายและเจ้าหญิงเป็นสมาชิกราชวงศ์สองพระองค์แรกที่เสด็จฯ เยือนอดีตรัฐสมาชิกในกติกาสัญญาวอร์ซอ[101] ทั้งสองได้ร่วมงานเลี้ยงพระยาหารค่ำ ซึ่งจัดถวายโดยประธานาธิบดีรักษาการ อาร์พาร์ด กอนทส์ และเสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรการแสดงแฟชันที่พิพิธศิลปะประยุกต์ในกรุงบูดาเปสต์[103]
ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1990 เจ้าชายและเจ้าหญิงแห่งเวลส์เสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศญี่ปุ่น เพื่อร่วมพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของสมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะ[20][104]
เพื่อเป็นการส่งเสริมขวัญกำลังใจให้แก่หน่วยกำลังพลที่ปฏิบัติงานในสงครามอ่าวเปอร์เซีย เจ้าหญิงแห่งเวลส์จึงเสด็จฯ เยือนประเทศเยอรมนีในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1990 เพื่อทรงพบกับครอบครัวทหารที่เข้าร่วมสงคราม[101] และไม่กี่สัปดาห์ต่อมา เสด็จฯ เยือนเยอรมนีอีกครั้งในเดือนมกราคม ค.ศ. 1991 เพื่อเสด็จเยี่ยมฐานบินเบรอเกน และทรงเขียนจดหมายให้กำลังเพื่อตีพิมพ์ในนิตยสารทางการทหาร ได้แก่ Soldier, Navy News และ RAF News[101]
ในกันยายน ค.ศ. 1991 เจ้าหญิงเสด็จฯ เยือนปากีสถานเพียงพระองค์เดียว และร่วมเสด็จฯ เยือนประเทศบราซิลพร้อมกับเจ้าชายชาลส์[105] ระหว่างการเสด็จฯ เยือนบราซิล เจ้าหญิงเสด็จไปที่องค์กรการกุศลที่ช่วยเหลือคนไร้บ้านและเยาวชนเร่ร่อน[105]
การเสด็จฯ เยือนต่างประเทศครั้งสุดท้ายของเจ้าชายและเจ้าหญิงแห่งเวลส์ คือ การเสด็จฯ เยือนประเทศอินเดีย เดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1992 และประเทศเกาหลีใต้ เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2535[20] ในการเสด็จฯ เยือนอินเดียคราวนั้น เจ้าหญิงได้เสด็จไปเยี่ยมแม่ชีเทเรซา ในสถานสงเคราะห์เมืองโกลกาตา และทั้งสองจึงได้เริ่มติดต่อกันอย่างไม่เป็นทางการนับแต่นั้นมา[106]
ในพฤษภาคม พ.ศ. 2535 เจ้าหญิงเสด็จฯ เยือนประเทศอียิปต์ และทรงเข้าพบกับประธานาธิบดีฮุสนี มุบาร็อก[107]
แม้ว่าในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1993 ทรงประกาศถอนตัวจากกิจกรรมสาธารณะอย่างไม่มีกำหนด แต่เจ้าหญิงไดอานาทรงยืนยันว่าจะยังคงปรากฏพระองค์ในกิจกรรมการกุศลอยู่บ้างเป็นครั้งคราว[20][101] ในฐานะที่ทรงดำรงตำแหน่งรองประธานสภากาชาดบริติช พระองค์ได้ทรงร่วมเป็นกำลังสำคัญในการจัดงานฉลองครบรอบ 125 ปี[101] สภากาชาดบริติช ต่อมาสมเด็จพระราชินีนาถทรงส่งคำเชิญอย่างเป็นทางการให้เจ้าหญิงไดอานาทรงร่วมพิธีรำลึกวันดี-เดย์[20]
กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1995 เจ้าหญิงแห่งเวลส์เสด็จฯ เยือนประเทศญี่ปุ่น และได้ทรงเข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะ และสมเด็จพระจักรพรรดินีมิชิโกะ ณ พระราชวังหลวงโตเกียว[104]
มิถุนายน ค.ศ. 1995 เจ้าหญิงไดอานาเสด็จฯ เยือนเมืองเวนิส ประเทศอิตาลี เพื่อทรงเข้าร่วมเทศกาลศิลปะเวนิสเบียนนาเล[108] พฤศจิกายน ค.ศ. 1995 เจ้าหญิงเสด็จฯ เยือนประเทศอาร์เจนตินา เป็นเวลา 4 วัน เพื่อร่วมงานการกุศล ทั้งนี้ได้เสด็จฯ ไปเยี่ยมเยียนผู้ป่วยโรงพยาบาลดอกเตอร์แองเจิล รอฟโฟ กรุงบัวโนสไอเรส[109]
ในระหว่างปี 1995-1997 พระองค์ได้เสด็จฯ เยือนอีกหลายประเทศ เช่น เบลเยียม เนปาล สวิตเซอร์แลนด์ ซิมบับเว บอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา แองโกลา[20] และอื่น ๆ และระหว่างเวลา 4 ปีที่ทรงแยกกันอยู่กับเจ้าชายชาลส์ เจ้าหญิงเสด็จพระราชดำเนินไปร่วมพิธีใหญ่สำคัญ ๆ ในฐานะพระราชวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ เช่น พิธีรำลึกครบรอบ 50 ปี วันชัยในทวีปยุโรป ค.ศ. 1995 และพิธีรำลึกวันชัยเหนือญี่ปุ่น[20]
งานฉลองวันคล้ายวันประสูติปีที่ 36 ของพระองค์และเป็นครั้งสุดท้าย จัดขึ้นที่หอศิลป์เทต กรุงลอนดอน และยังตรงกับการเฉลิมฉลองครบรอบ 100 ปีของการก่อตั้งหอศิลป์แห่งนี้อีกด้วย[20]
กิจกรรมสาธารณกุศล
[แก้]ใน ค.ศ. 1983 พระองค์ทรงตรัสถึงความกดดันในสถานะใหม่ของพระองค์กับ นายไบรอัน เพ็กฟอร์ด ผู้ว่าการรัฐนิวฟันด์แลนด์ ณ ขณะนั้น ว่า “ฉันรู้สึกว่าเป็นการยากมากเหลือเกินที่จะทนต่อความดันในการเป็นเจ้าหญิงแห่งเวลส์ แต่ฉันกำลังเรียนรู้เพื่อจะพร้อมรับมือกับหน้าที่นี้” [110]โดยในฐานะเจ้าหญิงแห่งเวลส์ สาธารณชนต่างคาดหวังให้พระองค์เสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมเยียนโรงพยาบาล โรงเรียน และสถานที่สำคัญต่าง ๆ ดังที่สมาชิกพระราชวงศ์ทรงให้การสนับสนุนช่วยเหลือสังคมในช่วงศตวรรษที่ 20
ไม่นานหลังทรงอภิเษกสมรส เจ้าหญิงทรงเริ่มปฏิบัติพระกรณียกิจด้านการกุศลเพิ่มมากขึ้น ใน ค.ศ. 1988 พระองค์ทรงปฏิบัติพระกรณียกิจจำนวน 191 ครั้ง[111] และเพิ่มขึ้นเป็น 397 ครั้งใน ปี 1991[112] เจ้าหญิงทรงให้ความสำคัญอย่างยิ่งในการช่วยเหลือโครงการหรือองค์กรการกุศลที่เกี่ยวข้องกับโรคร้ายและสุขอนามัย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โรคเอดส์และโรคเรื้อน ซึ่งยังไม่มีสมาชิกราชวงศ์พระองค์ใดทรงปฏิบัติมาก่อน สตีเฟน ลี ผู้อำนวยการสถาบันควบคุมการระดมทุนเพื่อการกุศลแห่งสหราชอาณาจักร กล่าวถึงพระองค์ว่า พระองค์ประสบความสำเร็จอย่างมหาศาลในการระดมทุนเพื่อการกุศลในศตวรรษที่ 20[113]
นอกจากพระกรณียกิจที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพอนามัยแล้ว เจ้าหญิงยังทรงขยายขอบเขตงานในอีกหลายด้าน เช่น การรณรงค์คุ้มครองสัตว์ และการรณรงค์ต่อต้านการใช้ทุ่นระเบิด[114] พระองค์เคยดำรงตำแหน่งองค์อุปถัมภ์องค์กรการกุศลที่ให้ความช่วยเหลือคนไร้บ้าน เยาวชน ผู้ติดยาเสพติด และผู้สูงอายุ ทรงดำรงตำแหน่งประธานโรงพยาบาลเด็กเกรทออร์มันด์สตรีทตั้งแต่ปี 1989 ทรงเป็นองค์อุปถัมภ์ เฮดเวย์ ซึ่งเป็นสมาคมเพื่อผู้ป่วยทางสมอง ตั้งแต่ปี 1991-1996[115][116] ทรงเป็นองค์อุปถัมภ์พิพิธภัณฑ์เนเชอรัลฮิสทรี[115][117] และทรงทำหน้าที่ประธานสถาบันดุริยางค์ศิลป์แห่งลอนดอนในพระราชูปถัมภ์[87][118][115]
ใน ค.ศ. 1988 ทรงเป็นองค์อุปถัมภ์สภากาชาดบริติชและทรงให้ความช่วยเหลือหน่วยงานย่อยของสภากาชาดบริติชในต่างประเทศ อีกทั้งทรงมักจะเสด็จไปเยี่ยมผู้ป่วยโรคร้ายและผู้ป่วยระยะสุดท้ายในโรงพยาบาลรอยัลบรอมป์ตันเป็นประจำทุกสัปดาห์[101]
ใน ค.ศ. 1992 เจ้าหญิงทรงเป็นองค์อุปถัมภ์พระองค์แรกของโครงการเชสเตอร์ชายด์เบิร์ธแอพพีล ซึ่งเป็นโครงการด้านการกุศลที่ให้ความช่วยเหลือด้านการผดุงครรภ์[119] และทรงใช้ช่องทางต่าง ๆ เพื่อระดมทุนช่วยเหลือโครงการแห่งนี้จนได้รับเงินบริจาคจำนวนมากถึง 1 ล้านปอนด์ และทรงประทานพระอนุญาตให้นำพระอิสริยศส่วนหนึ่งของพระองค์ (เคานต์เตสแห่งเชสเตอร์) มาใช้ตั้งชื่อโครงการ[119]
ในมิถุนายน ค.ศ. 1995 เจ้าหญิงเสด็จฯ เยือนกรุงมอสโก และเสด็จฯ เยี่ยมโรงพยาบาลเด็กที่พระองค์ทรงเคยให้ความช่วยด้านอุปกรณ์ทางการแพทย์ และมีการทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลอินเตอร์เนชันแนลเลโอนาร์โดไพรซ์แก่เจ้าหญิงแห่งเวลส์ ซึ่งรางวัลนี้จะมอบให้เฉพาะแก่ผู้อุปถัมภ์และบุคคลที่มีความโดดเด่นในด้านศิลปะ การแพทย์ และกีฬา[114] ธันวาคม ค.ศ. 1995 เจ้าหญิงไดอานาทรงได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลมนุษยธรรมแห่งปีจากองค์กรยูไนเต็ดเซรีบรัลพอลซี นครนิวยอร์ก จากการที่พระองค์ทรงให้การอุปถัมภ์องค์กรการสาธารณกุศลต่าง ๆ มากมาย[120][121][122]
ในตุลาคม ค.ศ. 1996 เจ้าหญิงแห่งเวลส์ทรงได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลเหรียญทองในการประชุมด้านสุขภาพ ซึ่งจัดการประชุมโดยศูนย์ปีโอมันซุ เมืองรีมีนี ประเทศอิตาลี[123]
หนึ่งวันหลังจากทรงหย่า ไดอานาทรงประกาศลาออกจากองค์กรการกุศลจำนวนกว่า 100 แห่ง เพื่อทรงทุ่มเทพระราชกิจกับ 6 องค์กรหลัก ได้แก่ มูลนิธิเซ็นเตอร์พอยท์ บริษัทอิงลิชเนชันแนลบัลเลต์ โรงพยาบาลเด็กเกรทออร์มันด์สตรีท พันธกิจเพื่อต่อสู้โรคเรื้อน กองทุนโลกเพื่อต่อสู้โรคเอดส์ และโรงพยาบาลรอยัลมาร์สเดน[124] แต่พระองค์ยังทรงปฏิบัติงานร่วมกับโครงการรณรงค์ต่อต้านการใช้ทุ่นระเบิดแห่งสภากาชาดบริติช แม้ไม่ได้ทรงดำรงตำแหน่งองค์อุปถัมภ์อีกต่อไป[125][126]
ในพฤษภาคม ค.ศ. 1997 ไดอานาเสด็จฯ ไปเปิดศูนย์ริชาร์ด แอทเทนเบอเรอห์เพื่อผู้พิการและศิลปะ หลังจากตกลงรับคำเชิญของ ริชาร์ด แอทเทนเบอเรอห์[127]
ในมิถุนายน ค.ศ. 1997 ชุดราตรีและชุดสูทของไดอานาถูกนำออกประมูลโดยสถาบันคริสตีส์ในลอนดอนและนิวยอร์ก และรายได้จากการประมูลถูกนำไปบริจาคให้แก่องค์กรการกุศล[20]
พระกรณียกิจสุดท้ายอย่างเป็นทางการก่อนสิ้นพระชนม์ คือ เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดโรงพยาบาลนอร์ธวิกพาร์ก กรุงลอนดอน เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม ค.ศ. 1997[20]
พระราชกิจในด้านต่าง ๆ
[แก้]ผู้ป่วยเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยโรคเอดส์
[แก้]เจ้าหญิงไดอานาทรงเริ่มปฏิบัติพระกรณียกิจเพื่อช่วยเหลือและให้กำลังใจผู้ป่วยโรคเอดส์ตั้งแต่ ค.ศ. 1982[128] เป็นต้นมา ใน ค.ศ. 1989 เจ้าหญิงเสด็จฯ ไปทรงเปิดศูนย์บริการสุขภาพเพื่อผู้ป่วยโรคเอดส์แลนด์มาร์ก ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนใต้ของกรุงลอนดอน[129][130] พระองค์ทรงไม่รังเกียจที่จะสัมผัสร่างกายผู้ป่วยเอดส์ ทั้งที่การแพทย์ในสมัยนั้นยังไม่สามารถยืนยันได้แน่ชัดว่าโรคเอดส์สามารถติดต่อผ่านทางการสัมผัส[106][131][132] เจ้าหญิงจึงถือเป็นสมาชิกพระราชวงศ์อังกฤษพระองค์แรกที่ทรงสัมผัสผู้ป่วยโรคเอดส์[128] ทรงพยายามลบล้างความเชื่อผิด ๆ เกี่ยวกับโรคเอดส์ โดยทรงกุมมือผู้ป่วยโรคเอดส์คนหนึ่งในระหว่างเสด็จฯ เยี่ยมโรงพยาบาลเมื่อ ค.ศ. 1987 ทรงมีรับสั่งในเวลาต่อมาว่า “ผู้ป่วยเชื้อเอชไอวีไม่ได้น่ากลัวอย่างหลายคนคิด เราสามารถจับมือและโอบกอดพวกเขาได้ สวรรค์เท่านั้นที่ทรงรู้ว่าพวกเขาต้องการ ยิ่งกว่านั้น เรายังสามารถอยู่อาศัยในบ้านเดียวกันร่วมกับผู้ป่วยได้ ทำงานในสถานที่เดียวกันได้ ตลอดทั้งใช้สนามเด็กเล่นและของเล่นร่วมกันได้อีกด้วย”[101][133][134] เจ้าหญิงไดอานาทรงไม่พอทัยเมื่อสมเด็จพระราชินีนาถทรงไม่โปรดให้พระองค์ทรงงานการกุศลเกี่ยวผู้ป่วยเอดส์ พร้อมทั้งทรงแนะนำให้เจ้าหญิงเลือกปฏิบัติพระราชกิจที่ “น่าอภิรมย์” มากกว่านี้[128]
ในตุลาคม ค.ศ. 1990 เจ้าหญิงเสด็จฯ ไปทรงเปิดแกรนด์มาส์เฮาส์ ซึ่งเป็นสถานสงเคราะห์เพื่อเยาวชนที่ป่วยด้วยโรคเอดส์ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐอเมริกา[135] และยังเคยเป็นองค์อุปถัมภ์กองทุนโลกเพื่อต่อสู้โรคเอดส์ ค.ศ. 1991 เจ้าหญิงเสด็จฯ ไปโรงพยาบาลมิดเดิลเซ็กส์ และได้ทรงกอดผู้ป่วยคนหนึ่งที่แผนกผู้ป่วยเอดส์ ซึ่งกลายเป็นภาพข่าวโด่งดังในเวลาต่อมา ระหว่างที่ทรงให้การอุปถัมภ์องค์การเทิร์นนิงพอยท์[101] ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านสาธารณสุข และใน ค.ศ. 1992 เจ้าหญิงทรงมีโอกาสเสด็จฯ ไปเยี่ยมชนโครงการของเทิร์นนิงพอยท์เพื่อผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวีและและผู้ป่วยเอดส์[136] ต่อมาทรงริเริ่มการระดมทุนเพื่อสนับสนุนการค้นคว้าวิจัยเพื่อรักษาโรคเอดส์[17]
ในมีนาคม ค.ศ. 1997 เสด็จฯ เยือนประเทศแอฟริกาใต้ และทรงเข้าพบประธานาธิบดีเนลสัน แมนเดลา[137][138] 2 พฤศจิกายน ค.ศ. 2002 แมนเดลามีถ้อยแถลงว่า กองทุนเนลสัน แมนเดลา เพื่อเด็กและเยาวชนจะร่วมงานภารกิจกับกองทุนอนุสรณ์ไดอานา เจ้าหญิงแห่งเวลส์ เพื่อต่อสู้กับการแพร่ระบาดของโรคเอดส์อย่างรุนแรงในประเทศแอฟริกาใต้ โดยจะให้การช่วยเหลือผู้ป่วยและเยาวชนในที่ได้รับผลกระทบจากโรคร้ายนี้[139] และเขายังระบุว่า ไม่กี่เดือนก่อนที่จะสิ้นพระชนม์ เจ้าหญิงทรงมีแผนที่จะผนวกสององค์กรเพื่อทำงานการกุศลด้านโรคเอดส์ร่วมกัน แมนเดลายังกล่าวถึงเจ้าหญิงผู้ล่วงลับว่า “เมื่อพระองค์ทรงสัมผัสร่างกายผู้ป่วยโรคเรื้อหรือทรงประทับบนเตียงร่วมกับผู้ป่วยเอดส์ชายรายหนึ่งพร้อมทรงกุมมือให้กำลังใจเขา พระองค์ได้เปลี่ยนแปลงความคิดสาธารณชนและเพิ่มโอกาสให้ผู้ป่วยเหล่านั้นได้มีชีวิตอยู่ต่อ” แมนเดลายังกล่าวว่าเจ้าหญิงทรงใช้สถานะและชื่อเสียงของพระองค์เพื่อขจัดอคติที่มีต่อผู้ป่วยเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์[139][140]
การต่อต้านการใช้ทุ่นระเบิด
[แก้]พระองค์ทรงมีความสนใจด้านต่อต้านการใช้ทุ่นระเบิดจากการที่ทรงเป็นองค์อุปถัมภ์องค์กรฮาโลทรัสต์ ซึ่งทำหน้าที่เก็บกู้ทุ่นระเบิดที่หลงเหลือในพื้นที่ที่เคยเกิดสงคราม[141][142] ในมกราคม ค.ศ. 1997 ภาพข่าวเจ้าหญิงในชุดเกราะและหน้ากากป้องกันแรงอัดระหว่างเสด็จฯ ไปเขตพื้นที่ทุ่นระเบิดในประเทศแองโกลา ถูกเผยแพร่ไปทั่วโลก[141][142] ระหว่างการเสด็จฯ เยือนแองโกลา แต่ขณะเดียวกับพระองค์ทรงถูกวิจารณ์ว่ากำลังเข้าไปแทรกแซงการเมืองและเป็น ”ตัวอันตราย”[143] ท่ามกลางกระแสวิจารณ์องค์กรฮาโลทรัสต์ได้ออกมาชี้แจงว่า พระกรณียกิจของไดอานากระตุ้นให้นานาชาติตระหนักถึงผลเสียหายร้ายแรงจากการใช้ทุ่นระเบิดและผู้ที่ได้บาดเจ็บจากอาวุธสงครามชนิดนี้[141][142]
ในมิถุนายน ค.ศ. 1997 พระองค์ทรงขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ระหว่างการประชุมเรื่องทุ่นระเบิด ซึ่งจัดขึ้น ณ สมาคมภูมิศาสตร์ในพระราชูปถัมภ์ และเสด็จฯ ไปกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เพื่อร่วมรณรงค์โครงการต่อต้านการใช้ทุ่นระเบิดของสภากาชาดอเมริกา[20] และในระหว่างวันที่ 7–10 สิงหาคม ค.ศ. 1997 เพียงไม่กี่วันก่อนจะสิ้นพระชนม์ พระองค์ได้เสด็จฯ เยือนประเทศบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา เพื่อให้กำลังผู้ที่ได้รับผลกระทบจากทุ่นระเบิด [20][144][145][146] พระราชกิจการต่อต้านทุ่นระเบิดของพระองค์นั้นเห็นผลอย่างเป็นรูปธรรมอย่างยิ่ง โดยเห็นได้ชัดจากการที่นานาประเทศร่วมลงนามในสนธิสัญญาออตตาวา เพื่อการยกเลิกใช้ทุ่นระเบิดในภาวะสงคราม และต่อมาสภาสามัญชนแห่งรัฐสภาอังกฤษก็ได้ผ่านร่างกฎหมายต่อต้ารการใช้ทุ่นระเบิดเมื่อปี 1999[147]
แครอล เบลลามี ผู้อำนวยการองค์การยูนิเซฟ กล่าวว่า พื้นทุ่นระเบิดยังคงเป็นอันตรายต่อเด็กน้อยไร้เดียงสาทั่วโลก และเธอเสนอให้กลุ่มประเทศที่ผลิตและสะสมทุ่นระเบิดในคลังสรรพาวุธ ซึ่งได้แก่ สหรัฐอเมริกา จีน อินเดีย เกาหลีเหนือ ปากีสถาน และรัสเซีย เข้าร่วมลงนามในสนธิสัญญาต่อต้านทุ่นระเบิด[148]
ปลายปี 1997 โครงการต่อต้านทุ่นระเบิดสากลที่พระองค์ทรงร่วมรณรงค์ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลโนเบล และได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ หลังจากที่สิ้นพระชนม์เพียงไม่กี่เดือน[149]
ผู้ป่วยโรคมะเร็ง
[แก้]การเสด็จพระราชดำเนินไปสถาบันเฉพาะทางด้านโรงมะเร็งครั้งแรกอย่างเป็นทางการของพระองค์ คือการเสด็จฯ ไปโรงพยาบาลศูนย์มะเร็งรอยัลมาร์สเดน เอ็นเอชเอสฟันเดชันทรัสต์ กรุงลอนดอน ใน ค.ศ. 1985[150] และพระองค์ทรงมอบเงินจำนวนหนึ่งที่ได้จากการประมูลฉลองพระองค์เมื่อ ค.ศ. 1997 ให้แก่โรงพยาบาลแห่งนี้[150] ผู้จัดการกองทุนโรงพยาบาลรอยัลมาร์สเดนกล่าวถึงพระองค์ว่า “เจ้าหญิงทรงขจัดอคติและทัศนคติที่ไม่ดีของโรคร้าย เช่น โรคเอดส์ เชื้อเอชไอวี และโรคเรื้อน"[150] และทรงดำรงตำแหน่งประธานโรงพยาบาลศูนย์มะเร็งรอยัลมาร์สเดนตั้งแต่วันที่ 27 มิถุนายน ค.ศ. 1989[151][152][153] ในเวลาต่อมาเสด็จฯ มาเปิดแผนกผู้ป่วยมะเร็งเด็กวูล์ฟสันในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2536[151]
ในมิถุนายน ค.ศ. 1996 เจ้าหญิงเสด็จฯ เยือนเมืองชิคาโกในฐานะประธานโรงพยาบาลรอยัลมาร์สเดน เพื่อทรงร่วมงานระดมทุนการกุศลและทรงจัดหาทุนได้มากถึง 1 ล้านปอนด์เพื่อการค้นคว้าวิจัยการรักษาโรงมะเร็ง[101] และในกันยายน ค.ศ. 1996 พระองค์ทรงตอบรับคำเชิญของแคเธอริน เกรแฮม และเสด็จฯ ไปกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เพื่อร่วมเสวยพระกระยาหารเช้าที่ทำเนียบขาว ซึ่งจัดขึ้นโดยศูนย์นีนา ไฮด์ เพื่อการวิจัยมะเร็งทรวงอก[154] และพระองค์ยังเสด็จฯ ไปร่วมงานระดมทุนประจำปีสำหรับศูนย์วิจัยมะเร็งแห่งนี้ด้วย ซึ่งมีสำนักพิมพ์เดอะวอชิงตันโพสต์เป็นเจ้าภาพหลักในการจัดงาน[17][155]
เจ้าหญิงเสด็จฯ ไปทรงเปิดมูลนิธิชิลเดรนวิธลูคีเมียอย่างเป็นทางการ (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น มูลนิธิชิลเดรนวิธแคนเซอร์ยูเค) เพื่อเป็นการรำลึกถึงเยาวชนที่เสียชีวิตจากโรคมะเร็งเมื่อปี 1988[156][157][158] ย้อนกลับไปในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1987 ไม่กี่วันหลังจาก เจ้าหญิงทรงได้พบกับพ่อและแม่ของจีน[157][158] โอกอร์แมน เด็กหญิงชาวอังกฤษที่เสียชีวิตลงด้วยโรคมะเร็ง การเสียชีวิตของจีนและพี่ชายของเธอในเวลาไล่เลี่ยกันสร้างความสะเทือนใจให้พระองค์เป็นอันมาก และทรงมอบความช่วยเหลือแก่ครอบครัวโอกอร์แมนเพื่อจัดตั้งมูลนิธิด้วย[156][157][158] มูลนิธิดังกล่าวมีพิธีเปิดอย่างทางการเมื่อวันที่ 12 มกราคม ค.ศ. 1988 ที่โรงเรียนมัธยมมิลล์ฮิลล์ โดยพระองค์เสด็จฯ เป็นองค์ประธานในพิธีเปิด และทรงบริจาคเงินแก่มูลนิธิแห่งนี้จนกระทั่งทรงสิ้นพระชนม์[156][158]
พระราชกิจด้านอื่น ๆ
[แก้]ในพฤศจิกายน ค.ศ. 1989 เจ้าหญิงแห่งเวลส์เสด็จฯ เยี่ยมโรงพยาบาลผู้ป่วยโรคเรื้อนในอินโดนีเซีย[159][128] หลังจากนั้นไม่นานทรงให้การอุปถัมภ์พันธกิจเพื่อต่อสู้โรคเรื้อน ซึ่งองค์การกุศลที่ให้ความช่วยเหลือและการรักษาทางการแพทย์แก่ผู้ป่วยด้วยโรคเรื้อน และพระองค์ทรงสนับสนุนองค์การแห่งนี้จนสิ้นพระชนม์[124] นอกจากนี้เจ้าหญิงยังเสด็จฯ ไปโรงพยาบาลโรคเรื้อนในอีกหลายแห่งทั่วโลกในประเทศต่าง ๆ เช่น อินเดีย เนปาล ซิมบับเว และไนจีเรีย[101][160] และทรงสัมผัสผู้ป่วยโรคเรื้อน ทั้งที่ ณ เวลานั้นผู้คนไม่กล้าแตะต้องตัวผู้ป่วยเพราะความเข้าใจที่ผิดว่าโรคเรื้อนสามารถติดต่อได้ผ่านการสัมผัส[101][159] พระองค์ทรงตรัสถึงการเสด็จเยี่ยมผู้ป่วยโรคเรื้อนว่า “ฉันคิดคำนึงอยู่ตลอดในเรื่องการสัมผัสตัวผู้ป่วยโรคเรื้อน จึงได้พยายามใช้วิธีอย่างง่าย ๆ เพื่อไม่ให้พวกเขารู้สึกว่ากำลังโดนหยามเหยียดหรือเป็นที่รังเกียจ"[160]
หลังจากสิ้นพระชนม์ ศูนย์สุขศึกษาไดอานา เจ้าหญิงแห่งเวลส์ ในเมืองนอยดา ประเทศอินเดีย มีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2001 โดยศูนย์ดังกล่าวนี้ก่อตั้งขึ้นเพื่อเป็นการรำลึกเป็นพระเกียรติคุณของพระองค์ และเพื่อดูแลช่วยเหลือผู้ป่วยที่ได้รับความทุกข์ทรมานจากโรคเรื้อนและภาวะทุพพลภาพ ศูนย์แห่งนี้ได้รับเงินทุนก่อตั้งโดยกองทุนอนุสรณ์ไดอานา เจ้าหญิงแห่งเวลส์[160]
เจ้าหญิงแห่งเวลส์ทรงเป็นผู้สนับสนุนหลักขององค์กรเซ็นเตอร์พอยท์มาตั้งแต่ปี 1992[161][162] องค์กรแห่งนี้ให้การช่วยจัดหาที่อยู่และช่วยเหลือคนไร้บ้านในอังกฤษ พระองค์ทรงให้กำลังใจแก่เยาวชนเร่ร่อนและทรงตรัสว่า “พวกเขาสมควรได้โอกาสเพื่อเริ่มต้นชีวิตที่ดีอีกสักครั้ง” [163]“พวกเรา ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของสังคม ควรตระหนักว่า เยาวชนของเรา ผู้ซึ่งเป็นอนาคตของประเทศนี้ สมควรได้รับโอกาสอีก”[163] เจ้าหญิงไดอานาทรงมักพาเจ้าชายวิลเลียมและเจ้าชายแฮร์รีเสด็จเป็นการส่วนพระองค์เพื่อไปเยี่ยมศูนย์เซ็นเตอร์พอยท์[163][17] เจ้าหน้าที่ที่ทำงานในศูนย์แห่งนี้เล่าถึงช่วงเวลานั้นว่า เยาวชนในศูนย์ทุกคนรู้สึกปลาบปลื้มใจอย่างมาก เพราะทุกครั้งพระองค์เสด็จฯ เจ้าหญิงทรงไม่เสแสร้งและไม่ถือพระองค์แต่อย่างใด[164] ปัจจุบันเจ้าชายวิลเลียมทรงดำรงตำแหน่งองค์อุปถัมภ์องค์การเซ็นเตอร์พอยท์[161]
เจ้าหญิงทรงให้การสนับสนุนมูลนิธิและองค์การกุศลที่ช่วยเหลือสังคมและให้บริการทางสุขภาพจิต เช่น รีเลตและเทิร์นนิงพอยท์[101] รีเลตเป็นองค์การก่อตั้งขึ้นใหม่ในปี 1987 จากเดิมเคยเป็นหน่วยงานให้คำปรึกษาปัญหาชีวิตคู่ และเจ้าหญิงทรงให้ความอุปถัมภ์องค์การรีเลตมาตั้งแต่ ค.ศ. 1989[101]เทิร์นนิงพอยท์ คือ องค์การที่ดูแลด้านสาธารณสุขที่ให้การบำบัดช่วยเหลือแก่ผู้ติดยาเสพติดและแอลกอฮอล์ รวมทั้งผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิต พระองค์ทรงเริ่มให้การสนับสนุนมาตั้งแต่ ปี 1987[101] และได้เสด็จฯ มาเยี่ยมผู้เข้ารับการบำบัดที่องค์การแห่งนี้อยู่เป็นประจำ ทรงกล่าวสุนทรพจน์เมื่อ ค.ศ. 1990 ที่องค์การเทิร์นนิงพอยท์ ดังนี้ว่า "เราต้องใช้เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์พูดจาหว่านล้อมสังคมที่หวาดกลัวให้ยอมรับบุคคล ผู้ได้รับการวินิจฉัยว่ามีความวิกลจริตกลับเข้าสู่สังคม ตลอดจนผู้ที่มีความผิดปกติของระบบประสาทและอาการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งพวกเขาเหล่านี้ครั้งหนึ่งเคยถูกผลักไสให้พ้นไปจากสังคมสมัยวิกตอเรีย"[101]
แม้ว่าจะทรงประสบความยุ่งยากในการเดินทางไปประเทศกลุ่มมุสลิม แต่ภายในปีเดียวกัน พระองค์ก็ได้เสด็จฯ เยือนประเทศปากีสถาน เพื่อทรงเยี่ยมศูนย์บำบัดผู้ติดยาเสพติดในกรุงลาฮอร์ เพื่อเป็นนัยบ่งบอกว่าการต่อต้านการใช้สารเสพติดคือหนึ่งในพระราชกิจหลัก[101]
หลังการหย่าร้าง (พ.ศ. 2539 - 2540)
[แก้]หลังจากการหย่าร้าง ไดอานาได้รับอะพาร์ตเมนต์หมายเลข 8 และ 9 ทางปีกขวาด้านหลังพระราชวังเคนซิงตัน อพาร์ตเมนต์แห่งนี้ใช้เป็นที่พักอย่างเป็นการตั้งแต่การอภิเษกสมรสกับเจ้าชายชาลส์เมื่อ ค.ศ. 1981 เธอย้ายกองงานส่วนพระองค์มาที่พระราชวังเคนซิงตัน และยังได้พระบรมราชานุญาตให้ใช้สเตทอะพาร์ตเมนต์ในพระราชวังเซนต์เจมส์ได้เช่นกัน[84][165] นอกจากนี้ไดอานาจะยังมีสิทธิ์ในการยืมเครื่องประดับและอัญมณีแห่งราชวงศ์ ดังเช่นที่เคยทรงได้รับอภิสิทธิ์เช่นนี้ระหว่างดำรงพระอิสริยศเจ้าหญิงแห่งเวลส์ และยังสามารถเดินทางด้วยเครื่องบินพระที่นั่งสำหรับพระราชวงศ์ของรัฐบาลอังกฤษได้ตามปกติ หากว่ามีพระกรณียกิจจำเป็นทั้งในสหราชอาณาจักรและในต่างประเทศ[84] แต่ในหนังสือซึ่งถูกวางจำหน่ายใน ค.ศ. 2003 เขียนโดย พอล เบอร์เรล อดีตมหาดเล็กคนสนิทของไดอานา อ้างว่า ในจดหมายลับส่วนพระองค์ของเจ้าหญิงได้เปิดเผยว่า น้องชายของพระองค์ ชาลส์ สเปนเซอร์ ห้ามไม่ให้พี่สาวเสด็จกลับไปพักที่คฤหาสน์อัลธอร์พตามความตั้งใจ[88]
ไดอานาคบหากับศัลยแพทย์โรคหัวใจชาวอังกฤษ-ปากีสถาน นายแพทย์ฮัสนัท ข่าน พระสหายหลายคนกล่าวถึงชายผู้นี้ว่า “รักแท้ของไดอานา”[166] และไดอานาเองกล่าวถึงเขาว่าเป็น “มิสเตอร์วอนเดอร์ฟูล”[167][168][169][170] เดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1996 ไดอานาเดินทางเยือนกรุงลาฮอร์ ประเทศปากีสถาน ตามคำเชิญจากอิมราน ข่าน ญาติของฮัสนัท ข่าน และได้พบกับครอบครัวของฮัสนัทอย่างเป็นการส่วนตัว[171][172] ข่านเป็นผู้ที่รักความเป็นส่วนตัวอย่างมากและความสัมพันธ์ระหว่างไดอานากับเขาเป็นไปในทางลับ โดยที่ไดอานาบอกปัดข่าวลือผู้สื่อข่าวและสื่อมวลชนเมื่อถูกถามในเรื่องความสัมพันธ์นี้ ความสัมพันธ์ของทั้งสองกินเวลายาวนานราว ๆ 2 ปี และจบลงอย่างคลุมเครือ[172][173] เนื่องจากไดอานาเคยตัดพ้อถึงความเสียใจที่เขาบอกเลิกพระองค์[166] แต่คำให้การของฮัสนัทในระหว่างพิจารณาคดีการสิ้นพระชนม์ เขาเล่าว่าไดอานาเป็นผู้บอกเลิกนี้ในกลาง ค.ศ. 1997[174] และพอล เบอร์เรล ก็ได้ยืนยันไปในทิศทางเดียวกันว่า เธอได้บอกเลิกกับเขาในเดือนกรกฎาคมปีนั้นเอง[175]
หนึ่งเดือนต่อมา ไดอานาได้พบกับโดดี อัลฟาเยด ลูกชายของมหาเศรษฐี โมฮัมเหม็ด อัลฟาเยด ซึ่งเป็นเจ้าภาพจัดการท่องเที่ยวในช่วงลาพักร้อนให้กับเธอในปีนั้น[176] ไดอานาวางแผนที่จะพาพระโอรสเดินทางไปพักร้อนที่หมู่บ้านเศรษฐีแฮมป์ตัน บนเกาะลองไอส์แลนด์ รัฐนิวยอร์ก แต่เจ้าหน้าที่ด้านความปลอดภัยปฏิเสธแผนการนี้ หลังจากตัดสินใจเลื่อนการเดินทางเยือนประเทศไทย เธอตอบรับคำชวนของโดดีที่ร่วมเดินทางไปพักร้อนกับครอบครัวอัลฟาเยดที่ภาคใต้ของฝรั่งเศส ภายใต้การดูแลรักษาความปลอดภัยของครอบครัวอัลฟาเยด จึงทำให้หน่วยราชองครักษ์อนุญาตให้เธอพร้อมพระโอรสเดินทางไปพักร้อนที่ฝรั่งเศส และได้เดินทางท่องเที่ยวทะเลเมดิเตอร์เรเนียนด้วยเรือยอชท์หรูชื่อว่า “โจนิคัล” ที่โมฮัมเหม็ดซื้อมาเพื่อรับรอ
ในกลางดึกของคืนวันที่ 31 สิงหาคม ค.ศ. 1997 ไดอานาประสบอุบัติเหตุในรถยนต์ที่อุโมงค์ลอดใต้สะพานปองต์เดอลัลมา ในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ความรุนแรงทำให้นายโดดี อัลฟาเยด พระสหาย และนายอองรี ปอล ผู้จัดการฝ่ายความปลอดภัยของโรงแรมริตช์เสียชีวิตทันที ไดอานาได้รับบาดเจ็บสาหัสและเสียชีวิตในเวลาต่อมา เมื่อช่วงเช้ามืดของวันที่ 31 สิงหาคม ค.ศ. 1997 หลังจากทีมแพทย์ได้ทำการรักษาอย่างสุดความสามารถ ณ โรงพยาบาลปิเต-ซาลเปตริแยร์ กรุงปารีส
พระราชพิธีพระศพมีขึ้นในวันที่ 6 กันยายน ค.ศ. 1997 ที่เวสต์มินสเตอร์แอบบีย์ และมีผู้รับชมการถ่ายทอดสดพระราชพิธีในสหราชอาณาจักรมากถึง 32.1 ล้านคน ซึ่งเป็นหนึ่งในการถ่ายทอดสดที่มีผู้ชมมากที่สุดของประเทศ นอกจากนี้ยังมีผู้ติดตามรับชมพระราชพิธีนี้ทั่วทุกมุมโลกกว่าหลายร้อยล้านคน[177][178]
ทฤษฎีสมคบคิด การสืบสวนคดีอุบัติเหตุ และคำพิพากษาคดี
[แก้]เจ้าหน้าที่พิพากษาฝรั่งเศสทำการสืบสวนคดีอุบัติเหตุนี้เบื้องต้น และสรุปว่าสาเหตุของอุบัติเหตุนี้ เป็นผลมาจากความประมาทของ อองรี ปอล ผู้ขับรถเมอร์เซเดสเบนซ์ในคืนนั้นที่ไม่สามารถควบคุมรถยนต์ได้เนื่องจากมีอาการมึนเมา [179] บิดาของโดดี นายโมฮัมเหม็ด อัล ฟาเยด เจ้ากิจการโรงแรมริทซ์ปารีส และเป็นนายจ้างของนายปอล[180] กล่าวอ้างว่า อุบัติเหตุนี้เป็นการปลงชีพไดอานา[181] ซึ่งดำเนินการโดยหน่วยข่าวกรองเอ็มไอ 6 ของอังกฤษ และเจ้าชายฟิลิป ดยุกแห่งเอดินบะระ
มีการสืบสวนคดีอุบัติเหตุของไดอานาเป็นครั้งที่ 2 ในปีระหว่าง ค.ศ. 2004 และ ค.ศ. 2007-2008[182] ศาลอังกฤษพิพากษาว่า อุบัติเหตุครั้งนี้เกิดขึ้นจากความประมาทร้ายแรงของอองรี ปอล ซึ่งขับรถยนต์ด้วยความเร็วสูงเพื่อหลบหนีการไล่ล่าช่างภาพปาปารัสซี[183] วันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2551 คณะลูกขุนยืนตามคำพิพากษาเดิม ชี้ขาดว่าการสิ้นพระชนม์ของไดอานา เจ้าหญิงแห่งเวลส์ เกิดจากการกระทำโดยประมาทของนายอองรี ปอล
ภายหลังการตัดสินคดี นายโมฮัมเหม็ด ฟาเยด ประกาศวางมือจากต่อสู้คดีดังกล่าวที่กินเวลายืดเยื้อกว่า 10 ปี [184] โดยให้เหตุผลว่า เพื่อเป็นรักษาพระเกียรติของพระโอรสทั้งสองของไดอานา[185]
การถวายความอาลัยและพิธีศพ
[แก้]การเสียชีวิตของไดอานา ผู้ทรงเสน่ห์อย่างกะทันหันและไม่คาดคิด สร้างความโศกเศร้าสะเทือนใจไปทั่วโลก บุคคลสำคัญในหลายประเทศได้ส่งสาส์นแสดงความอาลัยมายังสหราชอาณาจักร ประชาชนทยอยนำช่อดอกไม้ เทียน การ์ดและจดหมายแสดงความอาลัยไปวางไว้หน้าประตูพระราชวังเคนซิงตัน เป็นเวลาต่อเนื่องกันนานหลายเดือน[186] เมื่อเครื่องบินอัญเชิญศพ พร้อมด้วยเจ้าชายชาลส์ อดีตพระสวามี และพี่สาวทั้งสองของไดอานา เดินทางถึงกรุงลอนดอน ในตอนบ่ายวันที่ 31 สิงหาคม ค.ศ. 1997[187][188] และมีการนำศพไดอานาไปเก็บรักษาต่อที่ห้องเก็บศพแห่งหนึ่งภายในกรุงลอนดอน จากนั้นโลงศพจึงได้รับการประดิษฐาน ณ โบสถ์หลวงในพระราชวังเซนต์เจมส์[187]
พระราชพิธีพระศพจัดขึ้นภายในวิหารเวสต์มินสเตอร์เมื่อวันเสาร์ที่ 6 กันยายน ค.ศ. 1997 และเมื่อเย็นวาน (5 กันยายน ค.ศ. 1997) สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 มีพระราชดำรัสแสดงความเสียพระราชหฤทัยต่อการสิ้นพระชนม์ของไดอานา ซึ่งถ่ายทอดสดสัญญาณภาพตรงจากพระราชวังบักกิงแฮม[20]
พระโอรสสองพระองค์ เจ้าชายวิลเลียมและเจ้าชายแฮร์รีได้ทรงร่วมเสด็จตามขบวนพระศพพระมารดา พร้อมด้วยเจ้าชายชาลส์ อดีตพระสวามี เจ้าชายฟิลิป ดยุกแห่งเอดินเบอระ อดีตพระสสุระ ชาลส์ สเปนเซอร์ เอิร์ลสเปนเซอร์ที่ 9 น้องชายของไดอานา พร้อมด้วยตัวแทนจากสมาชิกหน่วยงานมูลนิธิและองค์การกุศลที่ไดอานาทรงให้การอุปถัมภ์[20]
เอิร์ลสเปนเซอร์กล่าวถึงพี่สาวผู้ล่วงลับว่า “ไดอานาได้แสดงให้เห็นว่าในปีสุดท้ายของชีวิต เธอไม่จำเป็นต้องใช้ยศฐาบรรดาศักดิ์ใด ๆ มาสร้างมนต์เสน่ห์แสนพิเศษให้ตัวเธอ”[189]
เอลตัน จอห์น ได้ดัดแปลงเนื้อร้องเพลง Candle in the Wind สำหรับขับร้องประกอบเปียโนเป็นกรณีพิเศษในระหว่างช่วงหนึ่งของพิธีศพ ซึ่งเพลงนี้ถูกนำมาขับร้องสดในที่สาธารณะเพียงไม่กี่ครั้งเท่านั้น และเพลง Candle in the Wind วางจำหน่ายเป็นซิงเกิลใน ค.ศ. 1997 และรายได้ทั้งหมดที่ได้จากการขายซิงเกิลนี้ถูกนำไปบริจาคให้แก่องค์การกุศลของไดอานา[189][190][191]
ในเวลาบ่ายของวันที่ 6 กันยายน ค.ศ. 1997 ครอบครัวสเปนเซอร์ประกอบพิธีฝังศพภายในพื้นที่คฤหาสน์อัลธอร์พ ซึ่งเป็นบ้านประจำตระกูลสเปนเซอร์ โดยพิธีถูกจัดขึ้นอย่างเป็นการส่วนตัว มีเพียงญาติและผู้ใกล้ชิดที่ได้รับเชิญเท่านั้นเข้าร่วมพิธีฝังพระศพ ได้แก่ เจ้าชายชาลส์ อดีตพระสวามี, เจ้าชายวิลเลียมและเจ้าชายแฮร์รี พระโอรสทั้งสองพระองค์ของไดอานา นางฟรานเซส ชานด์-คิดด์ พระมารดา เลดี้ซาราห์ แมคคอร์เคอเดล และบารอนเนสเจน เฟลโลวส์ พี่สาว ชาลส์ สเปนเซอร์ เอิร์ลสเปนเซอร์ที่ 9 น้อง เพื่อสนิท และบาทหลวงผู้ประกอบพิธี[192]
ไดอานาอยู่ชุดเดรสแขนยาวสีดำสนิท ออกแบบและตัดเย็บโดยแคธรีน วอล์กเกอร์ ซึ่งชุดเดรสนี้พระองค์ทรงเลือกไว้ใช้ส่วนพระองค์เมื่อหลายสัปดาห์ก่อน พระองค์บรรทมอยู่ในโลงพระศพ พระหัตถ์ทั้งสองกุมสร้อยประคำซึ่งเป็นของขวัญที่ทรงได้รับจากแม่ชีเทเรชาแห่งกัลกัตตา ผู้วายชนม์ในสัปดาห์เดียวกันกับพระองค์ พระศพได้รับการฝังบนเกาะกลางทะเลสาบรูปไข่ (52.283082°N 1.000278°W) ซึ่งตั้งอยู่ทางสวนป่าทิศตะวันออกเฉียงเหนือของคฤหาสน์[192]
กำลังพลจากกองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบรักษาพระองค์ ในเจ้าหญิงแห่งเวลส์ ได้รับเกียรติให้ทำหน้าที่อัญเชิญโลงพระศพไปยังหลุมพระศพบนเกาะกลางทะเลสาบ ก่อนหน้านี้พระญาติตั้งใจว่าจะทำพิธีบรรจุพระศพที่สุสานประจำตระกูล ณ โบสถ์ในเมืองเกรทบริงตัน แต่เมื่อเอิร์ลสเปนเซอร์ พระอนุชา พิจารณาเรื่องความปลอดภัยและผู้คนจำนวนมากที่ต้องการเดินทางมาเคารพพระศพ ดังนั้นจึงมีการตกลงกันภายในครอบครัวว่าจะฝังพระศพที่คฤหาสน์อัลธอร์พ ซึ่งครอบครัวสามารถดูแลรักษาได้สะดวก อีกทั้งพระโอรส และพระญาติยังสามารถเดินทางมาสุสานพระองค์ได้อย่างเป็นการส่วนตัว
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหลังการสิ้นพระชนม์
[แก้]ภายหลังการสิ้นพระชนม์ กองทุนอนุสรณ์ไดอานา เจ้าหญิงแห่งเวลส์ ได้รับสิทธิ์แต่เพียงผู้เดียวในการจัดการลิขสิทธิ์ภาพ ตราอาร์ม และสัญลักษณ์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับไดอานา[193] ใน ค.ศ. 2001 เจ้าหน้าที่กองทุน นำโดย เลดี้ซาราห์ พระเชษฐภคินี ได้ฟ้องร้องคดีละเมิดลิขสิทธิ์กับบริษัทแฟรงคลินมินท์ สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายตุ๊กตาไดอานา รวมทั้งจานและเครื่องประดับที่มีรูปพระองค์ปรากฏอยู่บนสินค้า ภายหลังจากที่ทางกองทุนปฏิเสธการให้สิทธิ์ใช้ภาพไดอานาแก่โรงกษาปณ์แห่งนี้[194][195][196]
การพิจารณีคดีละเมิดลิขสิทธิ์นี้ถูกนำขึ้นไต่สวนที่ศาลรัฐแคลิฟอร์เนีย แต่การฟ้องร้องในกรณีที่เกี่ยวกับการนำภาพถ่ายบุคคลไปใช้งานโดยไม่ได้รับอนุญาตนั้น โดยเจ้าของภาพถ่ายนั้นได้ถึงแก่ความตาย ฝ่ายโจทก์สามารถดำเนินคดีแทนผู้ตายได้ หากก่อนถึงแก่ความตาย ผู้เสียชีวิตได้พำนักอยู่ในรัฐแคลิฟอร์เนียเป็นเวลารวมกัน 1 ปีขึ้นไป แต่ไดอานาไม่ทรงเข้าเกณฑ์ดังกล่าว เนื่องจากไม่ได้ประทับอยู่ในรัฐแคลิฟอร์เนียก่อนสิ้นพระชนม์ ฉะนั้นศาลจึงถือว่าการฟ้องร้องคดีครั้งนี้ กองทุนเป็นผู้ดำเนินคดีแทนในฐานะผู้จัดการมรดก เป็นเหตุให้ศาลไม่รับฟ้อง และกองทุนฯ แพ้คดีในที่สุด
ต่อมาแฟรงคลินมินท์เรียกร้องให้กองทุนอนุสรณ์ไดอานา เจ้าหญิงแห่งเวลส์ จ่ายค่าชดเชยทางกฎหมายเป็นจำนวนเงินทั้งหมด 3 ล้านปอนด์ จนเป็นเหตุให้กองทุนไม่สามารถให้การสนับสนุนทางการเงินแก่องค์การกุศลอื่น ๆ ได้[194][195][196]
ต่อมาใน ค.ศ. 2003 แฟรงคลินมินท์ตัดสินใจฟ้องกลับกองทุนอนุสรณ์ฯ แต่เดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2004 ทั้งสองฝ่ายตกลงยอมความในชั้นศาล โดยกองทุนอนุสรณ์ฯ ยอมจ่ายเงินค่าชดเชยจำนวน 13.5 ล้านปอนด์ ให้แก่บริษัทแห่งนี้ และให้กองทุนอนุสรณ์ฯ และแฟรงคลินมินท์สามารถนำเงินส่วนหนึ่งจากค่าชดเชยดังกล่าว ไปบริจาคให้แก่องค์การกุศลหรือนำไปใช้จ่ายเพื่อสาธารณประโยชน์ตามที่ทั้งสองฝ่ายเห็นสมควร[197]
13 กรกฎาคม ค.ศ. 2006 นิตยสารอิตาลี Chi ตีพิมพ์ภาพถ่ายไดอานาขณะทรงติดอยู่ภายในซากรถเมอร์เซเดสเบนซ์[198] แม้ว่าจะมีการขอร้องห้ามไม่ให้เผยแพร่ภาพดังกล่าวสู่สาธารณชน[199] ด้านบรรณาธิการนิตยสาร Chi ได้ออกมากล่าวปกป้องการตัดสินของกองบรรณาธิการ โดยอ้างว่า ตีพิมพ์ภาพดังกล่าวเนื่องจากยังไม่เคยได้รับการเผยแพร่ที่ใดมาก่อน และภาพเหล่านี้ไม่ได้เป็นการหมิ่นพระเกียรติแต่อย่างใด[199]
1 กรกฎาคม ค.ศ. 2007 เจ้าชายวิลเลียม และเจ้าชายแฮร์รี เป็นเจ้าภาพการจัดคอนเสิร์ตการกุศลเพื่อรำลึกถึงพระมารดา ณ เวมบลีย์สเตเดียม ซึ่งตรงกับคล้ายวันประสูติปีที่ 46 ชันษาของไดอานา
พิธีทางศาสนาเพื่อรำลึกถึงไดอานา เจ้าหญิงแห่งเวลส์ ซึ่งเป็นวาระครบ 10 ปีของการสิ้นพระชนม์ ถูกจัดขึ้นเมื่อ 31 สิงหาคม ค.ศ. 2007 ณ โบสถ์การ์ดชาเพล ค่ายเวลลิงตัน กรุงลอนดอน มีสมาชิกพระราชวงศ์และพระประยูรญาติ สมาชิกจากตระกูลสเปนเซอร์ พระสหาย อดีตข้าราชบริพารและที่ปรึกษาในพระองค์ ตัวแทนจากองค์กรการกุศลของพระองค์ นักการเมือง เช่น กอร์ดอน บราวน์ โทนี แบลร์ และจอห์น เมเจอร์ ตลอดทั้งพระสหายจากแวดวงบันเทิง เช่น เดวิด ฟรอสต์ เอลตัน จอห์น และ คลิฟฟ์ ริชาร์ด
ภาพถ่ายส่วนพระองค์ระหว่างที่ยังเป็นวัยรุ่น ซึ่งกำลังนอนหนุนตักชายหนุ่มนิรนามผู้หนึ่ง โดยสันนิษฐานว่าอาจถูกบันทึกไว้เมื่อ ค.ศ. 1979-1980 และรอยดินสอเขียนไว้บนภาพว่า “ห้ามเผยแพร่” ภาพนี้อยู่ในคลังภาพของหนังสือพิมพ์เดลิมิเรอร์ และถูกนำออกประมูลที่ประเทศอังกฤษใน ค.ศ. 2013[200]
19 มีนาคม ค.ศ. 2013 ชุดราตรีจำนวน 10 ชุดของไดอานา รวมทั้งชุดราตรีกำมะหยี่สีน้ำเงินรัตติกาลที่พระองค์สวมใส่ไปร่วมงานเลี้ยงพระกระยาหารค่ำที่ทำเนียบขาว และทรงได้ร่วมเต้นรำกับนักแสดงฮอลลีวู้ด จอห์น ทราโวลตา (ต่อมาชุดราตรีนี้มีชื่อเรียกอีกอย่างว่า ทราโวลตาเดรส) ถูกนำออกประมูลได้เงินจำนวน 800,000 ปอนด์[201]
เดือนมกราคม ค.ศ. 2017 จดหมายของไดอานาและสมาชิกพระราชวงศ์วินด์เซอร์ที่ทรงเขียนถึงมหาดเล็กพระราชวังบักกิงแฮม ถูกนำออกจำหน่ายในคอลเลกชัน “จดหมายส่วนตัวของมหาดเล็กผู้ซื่อสัตย์กับพระบรมศานุวงศ์” [202][203]จดหมายทั้ง 6 ฉบับของไดอานาส่วนใหญ่มีใจความกล่าวถึงพระจริยวัตรประจำวันของพระโอรสสองพระองค์ และสามารถขายได้เงินจำนวน 15,100 ปอนด์[202][203]
นิทรรศการ “Diana: Her Fashion Story” ซึ่งจัดแสดงฉลองพระองค์ชุดราตรีและชุดสูทที่เจ้าหญิงทรงสวมใส่จำนวน 25 ชุด และได้เปิดให้เข้าชมอย่างเป็นทางการที่พระราชวังเคนซิงตัน ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2017 เพื่อรำลึกการครบรอบ 20 ปีแห่งการสิ้นพระชนม์ เสื้อผ้าอาภรณ์ที่ทรงโปรดปรานเป็นผลงานออกแบบและตัดเย็บของแฟชันดีไซเนอร์ชื่อดังหลายคน เช่น แคทเธอรีน วอล์กเกอร์ และวิกเตอร์ เอเดลสไตน์[204][205] โดยนิทรรศการจะมีไปจนถึง ค.ศ. 2018[206][207]
พระอนุชา ชาลส์ สเปนเซอร์ เอิร์ลสเปนเซอร์ที่ 9 ได้จัดพิธีรำลึกครบรอบการสิ้นพระชนม์เป็นประจำทุกปีและมีการจัดแสดงสิ่งของเครื่องใช้และภาพถ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับไดอานา ณ คฤหาสน์อัลธอร์พ บ้านประจำตระกูลสเปนเซอร์[208] นอกจากนี้แล้วยังมีการงานกิจกรรมต่าง ๆ โดยมูลนิธิรางวัลไดอานาเมโมเรียลอวอร์ด[209] เช่น การปรับปรุงออกแบบสวนเคนซิงตันการ์เดนส์ให้เป็นนัยสอดคล้องกับพระบุคลิกภาพและพระชนม์ชีพของไดอานา[204][205]
มรดกตกทอด
[แก้]ภาพลักษณ์ของพระองค์
[แก้]ไดอานาทรงเป็นหนึ่งในสมาชิกราชวงศ์อังกฤษที่ได้รับความนิยมมากที่สุดเท่าที่เคยมีมาในประวัติศาสตร์ และพระองค์ทรงมีอิทธิพลต่อราชสำนักและพระราชวงศ์รุ่นหลัง[210][211] ตั้งแต่การประกาศหมั้นกับเจ้าชายแห่งเวลส์ใน ค.ศ. 1981 จนกระทั่งสิ้นพระชนม์ใน ค.ศ. 1997 ไดอานาคือบุคคลสำคัญของโลก และถือได้ว่าพระองค์เป็นสตรีที่ถูกถ่ายภาพมากที่สุดในโลก[17][212] พระองค์มีชื่อเสียงจากความเห็นอกเห็นใจผู้ตกทุกข์ได้ยาก[213] สไตล์การแต่งกาย บุคลิกทรงเสน่ห์ของพระองค์ พระราชกิจด้านกาารกุศลระดับโลกของพระองค์ และชีวิตสมรสอันขมขื่นกับเจ้าชายแห่งเวลส์ อดีตราชเลขานุการส่วนพระองค์กล่าวถึงพระองค์ว่า ทรงบริหารจัดการเรื่องต่าง ๆ ได้ดีเยี่ยมและมุ่งมั่นในการทรงงาน เจ้าชายชาลส์พระสวามีทรงไม่สามารถยอมรับความจริงได้ว่า ไดอานานั้นได้รับความนิยมจากประชาชนอย่างล้นหลาม[214] แต่ความมุมานะของพระองค์สามารถแปรเปลี่ยนเป็นความเกรี้ยวกราว หากว่าทรงรู้สึกว่าได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม[214]
พอล เบอร์เรล อดีตมหาดเล็กที่เคยถวายงานรับใช้พระองค์จนกระทั่งสิ้นพระชนม์ กล่าวว่าพระองค์ทรงเป็นนักคิดที่สุขุมและลึกซึ้ง[215] ภาพลักษณ์ของไดอานาต่อสาธารณชนคือการเป็นพระมารดาที่ทุ่มเทอุทิศพระองค์ให้แก่พระโอรส[17][216] และพระบุคลิกภาพของพระโอรสทั้งสองได้รับอิทธิพลมาจากพระบุคลิกภาพและพระจริยวัตรของเจ้าหญิงอย่างไม่ต้องสงสัย ในช่วงปีแรก ๆ ของการเป็นเจ้าหญิงแห่งเวลส์ ทรงถูกจดจำจากพระบุคลิกภาพที่เขินอายและสนุกสนานร่าเริง[210][217] พระปฏิภาณไหวพริบ ตลอดจนการแต่งกายโก้หรูของพระองค์[211] ผู้คนที่ได้มีโอกาสติดต่อปฏิสัมพันธ์กับพระองค์ต่างให้ความเห็นว่าทรงปฏิบัติพระองค์ตามความต้องการจากพระทัย[17] พระองค์ทรงเข้มแข็งอดทน ซึ่งเห็นได้จากการที่ทรงปฏิบัติหน้าที่ได้เหมาะสมตามความคาดหวังของพระราชวงศ์ และทรงเอาชนะอุปสรรคและความทุกข์ยากต่าง ๆ ที่ถาโถมเข้ามาในระหว่างชีวิตสมรส ทั้ง ๆ ที่ทรงเข้ามาสู่ราชสำนักในขณะที่ยังเป็นเด็กสาวที่มีการศึกษาไม่มาก[113]
การเสด็จออกไปเยี่ยมเยียนให้กำลังใจผู้ป่วย ผู้ป่วยระยะสุดท้าย ผู้ยากไร้ และผู้ที่ถูกทอดทิ้ง ทำให้ไดอานาเป็นที่รู้จักและได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย[218][217] พระองค์ทรงรับรู้ถึงปัญหาและความรู้สึกของผู้คนที่ทรงออกไปเยี่ยมเยือน ในรายการ Panorama ทรงให้สัมภาษณ์ถึงความปรารถนาที่ทรงอยากเป็นที่รักของประชาชน เมื่อ ค.ศ. 1995 ว่า “ฉันปรารถนาที่จะเป็นราชินีในใจประชาชน”[217] นักชีวประวัติ ทินา บราวน์ ระบุว่า "เพียงแค่พระองค์สบตา ก็ทรงสามารถดึงดูดใจผู้คนที่มาเข้าเฝ้าได้ราวกับว่าต้องมนต์สะกด” [219] ชื่อเสียงของพระองค์แผ่กระจายไปทั่วโลกจนนายโทนี แบลร์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ถึงกับกล่าวว่า “เจ้าหญิงทรงแสดงถึงความเป็นอังกฤษสมัยใหม่”[215] ตลอดพระชนม์ชีพไดอานาทรงได้สานความผูกพันระหว่างพระองค์กับประชาชนทั่วโลก และเมื่อพระองค์สิ้นพระชนม์ ทั่วทุกมุมโลกต่างแสดงความอาลัย บางคนตกอยู่ในอาการโศกเศร้าและร้องไห้คร่ำครวญเมื่อทราบข่าวการสิ้นพระชนม์[220]
พระองค์ทรงเป็นผู้ปูทางให้แก่สมาชิกพระราชวงศ์พระองค์อื่น ๆ ได้ประกอบพระกรณียกิจด้านการกุศลที่หลากหลายและเหมาะสมกับยุคสมัยใหม่มากขึ้น[113] และยังส่งผลกระทบให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบหลายอย่างภายในราชสำนัก[221]
ยูจีน โรบินสัน เขียนไว้ในคอลัมน์หนังสือพิมพ์เดอะวอชิงตันโพสต์ ว่า “ไดอานาทรงผสมผสานบทบาทหน้าที่เจ้าหญิงเข้ากับความมีชีวิตชีวา ความกระตือรือร้น และสำคัญที่สุดคือ ความมีเสน่ห์ดึงดูดใจ”[17] อลิเซีย แคร์รอล แห่งหนังสือพิมพ์เดอะนิวยอร์กไทมส์ เปรียบเทียบพระองค์ว่าเหมือนกับ “สายลมอันสดชื่น”[222] และพระองค์เป็นส่วนช่วยให้ราชวงศ์อังกฤษเป็นที่รู้จักมากขึ้นในสหรัฐอเมริกา
แม้ว่าจะทรงตกเป็นข่าวอื้อฉาวและมีปัญหามากมายในชีวิตสมรส แต่ความนิยมในตัวพระองค์ก็ยังอยู่ในระดับสูงสุดไม่เคยเสื่อมคลายจากผลการสำรวจต่าง ๆ[17] ทว่าเจ้าชายชาลส์ พระสวามีกลับมีคะแนนความนิยมตกตำเป็นอย่างมาก โดยคะแนนความนิยมของไดอานาในระหว่าง ค.ศ. 1981-2012 อยู่ที่ร้อยละ 47[223]
พระองค์ทรงได้รับการเคารพรักราวกับปูชนียบุคคลจากชาวอังกฤษ หลังจากนายกรัฐมนตรีโทนี แบลร์ เรียกพระองค์ว่า “เจ้าหญิงของประชาชน” ในระหว่างการแถลงข่าวการสิ้นพระชนม์ การสิ้นพระชนม์จากอุบัติเหตุอย่างกะทันหันและไม่คาดฝันนำไปสู่ความโศกเศร้าของประชาชนทั่วเกาะอังกฤษและทั่วโลก[224] และตามมาด้วยวิกฤติการณ์ร้ายแรงภายในประเทศที่สั่นคลอนราชสำนัก[225][226][227] แอนดรูว์ มาร์ กล่าวถึงการสิ้นพระชนม์ของพระองค์ว่า พระองค์ทรงนำพา “อารมณ์ความรู้สึก” กลับคืนสู่สังคมอังกฤษอีกครั้ง[113]
เอิร์ล สเปนเซอร์ พระอนุชา ได้ขึ้นกล่าวคำอาลัยในพระราชพิธีพระศพ ดังนี้ว่า
"ไดอานาเป็นเนื้อแท้ของความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น ภาระหน้าที่ สไตล์ และความงาม เธอเป็นสัญลักษณ์ของมนุษย์ทั่วโลกที่ไม่แก่ตัว เป็นผู้แบกรับระบบอำนาจเบ็ดเสร็จ และเป็นหญิงชาวอังกฤษแท้ ๆ ที่โดดเด่นเหนือเกินความเป็นชาติ เป็นเพียงคนธรรมดาไร้ยศฐาบรรดาศักดิ์แต่มีคุณธรรมสูงส่ง และได้แสดงให้เห็นแล้วว่าในปีสุดท้ายของชีวิต เธอไม่จำเป็นต้องใช้ยศฐาบรรดาศักดิ์ใด ๆ มาสร้างมนต์เสน่ห์แสนพิเศษให้กับตัวเธอ”[228]
ใน ค.ศ. 1997 พระองค์เป็นหนึ่งในผู้ได้รับการเสนอชื่อเพื่อเข้าชิงในตำแหน่ง “บุคคลแห่งปีของนิตยสารไทม์”[229] และปี พ.ศ. 2542 นิตยสารไทม์คัดเลือกพระองค์ให้อยู่ในรายชื่อ “100 บุคคลผู้ทรงอิทธิพลแห่งศตวรรษที่ 20”[230] ผลการสำรวจใน ค.ศ. 2002 ของสถานีโทรทัศน์บีบีซี ไดอานา เจ้าหญิงแห่งเวลส์ ได้รับการโหวตให้อยู่อันดับที่ 3 ของชาวสหราชอาณาจักรผู้ยิ่งใหญ่ นำหน้าความนิยมสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 และสมาชิกราชวงศ์พระองค์อื่น ๆ[231] ใน พ.ศ. 2548 ไดอานาอยู่ในอันดับที่ 12 ของผลการสำรวจ “100 บุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น”[232]
ถึงพระองค์จะเป็นบุคคลสาธารณะและสมาชิกพระราชวงศ์ที่ได้รับความนิยมชมชอบจากประชาชน แต่ตลอดพระชนม์ชีพไดอานาทรงตกเป็นประเด็นให้สื่อรุมวิพากย์วิจารณ์อยู่บ่อยครั้ง แพทริก เจฟสัน เลขานุการส่วนพระองค์ซึ่งปฏิบัติหน้าที่รับใช้เจ้าหญิงมานาน 8 ปีเต็ม ได้เขียนบทความลงในหนังสือพิมพ์ เดอะเดลีเทเลกราฟ ว่า “ทรงมีความสุ่มเสี่ยงอย่างมากที่จะถูกนักวิจารณ์จิกสับตลอดพระชนม์ชีพ และแม้ว่าจะทรงสิ้นพระชนม์ไปแล้ว คำครหาเหล่านั้นก็ไม่ได้มีทีท่าว่าจะเบาบางลง”[210]
ผู้สังเกตการณ์หลายคนให้ความเห็นว่า ไดอานาทรงปล่อยให้นักข่าวและช่างภาพปาปารัสซีเข้ามาในชีวิตของพระองค์ เพราะทรงรู้ว่าจะใช้สื่อมวลชนเป็นฐานอำนาจของพระองค์ได้อย่างไร[215] เช่นนั้นจึงทรงออกปฏิบัติพระราชกรณียกิจมากมายเกินความจำเป็น และทรงทำลายเส้นแบ่งขอบเขตระหว่างชีวิตส่วนพระองค์และชีวิตสาธารณะ[113][233] พระองค์ถูกวิจารณ์จากศาสตราจารย์ปรัชญา แอนโทนี โอเฮียร์ ว่า "พระองค์ไม่สามารถปฏิบัติพระราชกิจได้อย่างสมบูรณ์แบบ พฤติกรรมบุ่มบ่ามขาดความยั้งคิดของพระองค์กำลังบ่อนทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ และทรงงานการกุศลเพียงเพื่อ “ตอบสนองความต้องการส่วนพระองค์” เท่านั้น[164] ภายหลังคำวิจารณ์ของศาสตราจารย์โอเฮียร์ถูกเผยแพร่ออกไป องค์กรการกุศลต่าง ๆ ที่เจ้าหญิงทรงให้การอุปถัมภ์ได้ออกมาโต้แย้งคำวิจารณ์นี้ว่าน่ารังเกียจและไม่เป็นการมิบังควร[164] กระแสต่อต้านพระองค์ยิ่งรุนแรงขึ้นไปอีกเมื่อมีการกล่าวหาเจ้าหญิงว่า "ทรงใช้สถานะพิเศษทางสังคมเพื่อกอบโกยประโยชน์ส่วนพระองค์[79] และเกิดผลเสียร้ายแรงต่อภาพลักษณ์กองงานในพระองค์"[210] การทรงงานการกุศลของพระองค์ที่บางครั้งเจ้าหญิงมักทรงสัมผัสร่างกายผู้ป่วยโรคร้ายแรงและเป็นเรื่องแปลกใหม่ในสมัยนั้น ก่อให้เกิดกระแสตีกลับในทางลบจากสื่อมวลชน[210]
แซลลี บีเดล สมิธ บรรยาถึงพระบุคลิกภาพของไดอานาว่า “คาดเดาไม่ได้ เห็นแก่ตัว และหึงหวง”[79]สมิธยังได้โต้แย้งในความปรารถนาของพระองค์ในการทรงงานการกุศลว่า “ได้แรงจูงใจจากความต้องการส่วนพระองค์ มากกว่าความตั้งใจจริงเพื่อเยียวยาปัญหาสังคม”[79]แต่อย่างไรก็ดี ยูจีน โรบินสัน ออกมาแก้ต่างว่า พระองค์จริงจังในพระราชกิจการกุศลนี้"[17]
อย่างไรก็ตาม ซาราห์ แบรดฟอร์ด เปิดเผยว่า ไดอานานั้นมีความชิงชังต่อราชวงศ์วินด์เซอร์อยู่ไม่น้อยตามคำให้สัมภาษณ์ของผู้ใกล้ชิด ทรงให้ความเห็นว่าราชวงศ์ปัจจุบันเสวยราชสมบัติในฐานะ “เจ้าต่างเมือง” และยังทรงเรียกสมาชิกราชวงศ์พระองค์อื่นว่า “พวกเยอรมัน” [215] แบรดฟอร์ดเชื่อว่า ไดอานาทรงตกเป็นเหยื่อของการตัดสินใจที่ผิดพลาดและลงเอยด้วยการที่ทรงสูญเสียอภิสิทธิ์ทางสังคมหลังการให้สัมภาษณ์ในรายการพาโนรามา[215] นักประวัติศาสตร์หลายคนมองว่าพระองค์มีเล่ห์เหลี่ยมและมารยา[225][211] และอ้างว่าเจ้าหญิงทรงมีความสัมพันธ์ไม่สู้ดีนักกับพระสสุระ เจ้าชายฟิลิป ดยุกแห่งเอดินบะระ[175][128] แต่บ้างก็มีแย้งว่าเนื้อหาในจดหมายที่สองพระองค์ทรงเขียนติดต่อกันไม่ได้ชี้ชัดว่าทรงมีความบาดหมางใจระหว่างกัน[226]
แอนน์ แอปเปิลบาม เชื่อว่า ภายหลังการสิ้นพระชนม์ของไดอานา ไม่ได้ทำให้เกิดผลต่อการเปลี่ยนแปลงของมติมหาชนแต่อย่างใด [113]แนวคิดดังกล่าวนี้ได้ถูกรับรองโดยโจนาทาน ฟรีดแลนด์ เขาเคยเขียนในบทความไว้ตอนหนึ่งในหนังสือพิมพ์เดอะการ์เดียนว่า “ความทรงจำและอิทธิพลของไดอานาแทบจะถูกกลืนหายไปภายในเวลาเพียงไม่กี่ปีหลังการสิ้นพระชนม์”[221] แต่ ปีเตอร์ คอนราด นักข่าวอีกคนแห่งเดอะการ์เดียน โต้แย้งว่า "แม้จะสิ้นพระชนม์ไปนานแล้วกว่าหนึ่งทศวรรษ แต่พระองค์ก็ยังไม่เคยเงียบหายไปจากสื่อ”[215] และอัลลัน มาสซี จากหนังสือพิมพ์ เดอะเทเลกราฟ ให้คำนิยามว่า ไดอานาคือ “คนดังของคนดัง” และทัศนคติของพระองค์ “จะยังคงกำหนดทิศทางในสังคมต่อไป”[233]
ความเป็นผู้นำแฟชัน
[แก้]ไดอานาทรงเป็นผู้นำแฟชันและหญิงสาวมากมายทั่วโลกเลียนแบบสไตล์การแต่งกายของพระองค์ เอียน ฮอลลิงเชด แห่งหนังสือพิมพ์เทเลกราฟ เคยเขียนว่า “ไดอานาสามารถทำให้เครื่องแต่งกายขายดิบดี เพียงแค่สินค้าชิ้นนั้นปรากฏบนรูปถ่ายพระองค์” [241][242]ซึ่งคำอ้างดังกล่าวอิงจากปรากฏการณ์รองเท้าบู๊ตยางซึ่งทำยอดขายในอังกฤษพุ่งกระฉูดในคริสต์ทศวรรษ 1980 มาแล้ว เมื่อช่างภาพถ่ายภาพพระองค์ทรงสวมรองเท้าบู๊ตยางรุ่นดังกล่าวไปร่วมล่าสัตว์กับเจ้าชายชาลส์ ณ ปราสาทบัลมอรัล[241][243]
ดีไซเนอร์และผู้ที่มีโอกาสได้ถวายงานรับใช้พระองค์ ระบุว่า ไดอานาทรงใช้แฟชันและสไตล์การแต่งกายมาเพื่อส่งเสริมงานการกุศลของพระองค์ และแสดงความรู้สึกและสื่อสารผ่านการแต่งกาย[244][245][246] นอกจากนี้พระองค์ยังคงเป็นต้นแบบและแรงบันดาลใจให้กับสไตลิสต์ บุคคลผู้ชื่อเสียง และหญิงสาวผู้รักแฟชันทั่วโลก[246][247][248][204] [249][250]รวมทั้งนักร้อง ริอานนา ที่ยอมรับว่าเธอได้อิทธิพลทางแฟชันจากพระองค์ เธอยังบอกว่าชื่นชอบการแต่งกายในลุคต่าง ๆ ของพระองค์ โดยเฉพาะเสื้อแจ็คเก็ตแบบโอเวอร์ไซส์ของพระองค์ และพระมาลาหลากหลายสไตล์[251][252]
เจ้าหญิงทรงเลือกสไตล์การแต่งตัวตามแบบอย่างราชสำนักและสไตล์ที่เป็นนิยมในอังกฤษ[253] และทรงสร้างสรรค์แฟชันหลายแบบเพื่อพระองค์เอง[254] ในการเสด็จฯ เยือนต่างประเทศเพื่อการเจริญสัมพันธไมตรีอย่างเป็นทางการ เสื้อผ้าเครื่องแต่งกายหลายชิ้นของพระองค์ถูกคัดเลือกเพื่อให้เหมาะสมกับประเทศที่จะเสด็จไป และโปรดการสวมแต่งกายอย่างลำลองด้วยเสื้อแจ็คเก็ตทรงหลวมกับกางเกงจัมเปอร์ในเวลาส่วนพระองค์[248][255] แอนนา ฮาร์วีย์ อดีตบรรณาธิการนิตยสาร โว้ก และที่ปรึกษาด้านแฟชันของเจ้าหญิง กล่าวว่า "พระองค์ทรงคิดคำนึงอยู่ตลอดเวลาว่าการแต่งกายของพระองค์จะสื่อความหมายได้อย่างไรบ้าง และนี่เป็นสิ่งสำคัญต่อพระองค์อย่างมาก”[248][256]
เดวิน แซสซูน หนึ่งในแฟชันดีไซเนอร์ที่เคยร่วมงานกับพระองค์ เชื่อว่าเจ้าหญิงทรง “ฉีกกฎ” ระเบียบราชสำนักระหว่างทรงทดลองสไตล์ใหม่ ๆ[239] ไดอานาทรงเลิกสวมถุงมือตามอย่างพระราชวงศ์ฝ่ายใน เนื่องจากทรงเห็นว่าการสวมถุงมือนั้นเป็นอุปสรรคอย่างหนึ่งในการสร้างปฏิสัมพันธ์กับบุคคลที่พระองค์เสด็จฯ ไปเยี่ยมเยียน โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคร้าย อย่างเช่น โรคเอดส์[246][255] ในการเสด็จฯ ไปร่วมงานการกุศล เจ้าหญิงทรงเลือกใช้เครื่องแต่งกายที่มีรูปแบบหรือสีสันที่เข้ากันกับสภาพจิตใจของผู้ที่มาเข้าเฝ้าฯ ตัวอย่างเช่น ทรงเลือกเดรสสีสดและเครื่องประดับที่มีเสียงดังกรุ๊งกริ๊งสำหรับการเสด็จฯ ไปเยี่ยมและสามารถร่วมเล่นกับผู้ป่วยเด็กที่โรงพยาบาลได้[246][255]
ดอนนาเทลลา เวอร์ซาเช แฟชันดีไซเนอร์แห่งเวอร์ซาเช ซึ่งครั้งหนึ่งเคยร่วมออกแบบแฟชันกับเจ้าหญิง และจานนี เวอร์ซาเช พี่ชายผู้ล่วงลับของเธอ[244] ระบุว่า ความสนใจด้านแฟชันของพระองค์เริ่มต้นขึ้นหลังที่ทรงแยกกันอยู่กับเจ้าชายชาลส์ และไม่เคยมีใครมีความทุ่มเทเพื่อแฟชันอย่างเช่นพระองค์มาก่อน[244]
แคเธอริน วอล์กเกอร์ ซึ่งเป็นดีไซเนอร์คนโปรดของไดอานา[254] และทั้งสองได้ร่วมกันออกแบบและตัดเย็บ “ชุดยูนิฟอร์มของราชสำนัก”[239] เมื่อเจ้าหญิงจะเสด็จฯ ไปต่างประเทศอย่างเป็นทางการ แคเธอรินและสามีจะทำการค้นคว้าข้อมูลสำหรับใช้เป็นแนวทางในการออกแบบ และยึดกฎเกณฑ์ว่าเครื่องแต่งกายนั้นต้องไม่โดดเด่นเกินพระองค์โดยเด็ดขาด[244] และข้อมูลนี้สอดคล้องกับ ตากิ เธโอโดราโคปูโลส นักเขียน ได้เขียนถึงสไตล์การแต่งกายของไดอานาว่า “ทรงไม่ต้องการให้เสื้อผ้าสวมใส่พระองค์”[244]
อีเลรี ลินน์ ภัณฑรักษ์นิทรรศการ Diana: Her Fashion Story ให้ความเห็นว่า พระองค์ทรงไม่ต้องการเป็น “ไม้แขวนเสื้อ”[246] สไตล์เครื่องแต่งกายที่พระองค์และแคเธอรินร่วมกันออกแบบมีความเพรียวระหงและคล่องแคล่ว ซึ่งตัดส่วนประกอบที่ไม่จำเป็นออกไป เช่น ชิ้นผ้าจับจีบกรุยกราย ซึ่งเป็นที่นิยมในคริสตทศวรรษ 1980 แต่ยังคงรักษาความโก้หรูที่ช่วยเสริมรูปร่างของพระองค์และด้วยลุคเช่นนี้เองทำให้พระองค์กลายเป็นที่ตรึงตาตรึงใจไปทั่วโลก[257]
ไดอานาเปิดตัวในแวดวงหญิงสาวสังคมชั้นสูงเป็นครั้งแรก โดยการไปร่วมงานบอลล์แห่งหนึ่งเมื่อ พ.ศ. 2522 เธอสวมชุดเดรสเกาะอกสีฟ้าจับจีบลูกไม้ตาข่ายจากห้องเสื้อเรกามุส ซึ่งเป็นหนึ่งในห้องเสื้อยอดนิยมของชนชั้นสูงในอังกฤษ[248]
ตลอดระยะเวลา 16 ปีที่อยู่ในราชสำนัก พระองค์เลือกใช้เครื่องแต่งกายที่ออกแบบและตัดเย็บโดยดีไซเนอร์หลายราย อาทิเช่น แคเธอริน วอล์กเกอร์ วิกเตอร์ เอเดลสไตน์ จานนี เวอร์ซาเช จอร์โจ อาร์มานี คริสตินา สแตมโบเลียน แจสเปอร์ คอนแรน เดวิด และเอลิซาเบธ เอมานูแอล ฮาชิ จอห์น กาลลิอาโน[258] ราล์ฟ ลอเรน[259] คริสติย็อง ลาครัวซ์[256] บรูซ โอลด์ฟิลด์[260] ฌัก อาซากูรี[261] เดวิด แซสซูน[239] เมอร์เรย์ อาร์เบด[254] จิมมี ชู[262] นอกจากนี้พระองค์ยังโปรดเครื่องแต่งกายจากบริษัทแฟชันชั้นนำ ได้แก่ เวอร์ซาเช อาร์มานี ชาแนล ดิออร์ และ คลาร์กส์[248][251][259][260]
ในบรรดาฉลองพระองค์ชุดราตรีที่ทรงสวมใส่ มีชุดที่โด่งดังของพระองค์ คือ 1. ชุดราตรีเกาะอกสีดำที่ทรงสวมไปร่วมงานคอนเสิร์ตการกุศลใน พ.ศ. 2524 ขณะยังเป็นพระคู่หมั้น[256] 2. ชุดค็อกเทลของคริสตินา สแตมโบเลียน มีฉายาว่า “เดรสแก้แค้น” ซึ่งทรงสวมใส่ไปร่วมงานการกุศลในวันเดียวกับที่รายการโทรทัศน์แพร่เทปสัมภาษณ์คำสารภาพสัมพันธ์รักเจ้าชายชาลส์และคามิลลา ปาร์เกอร์ โบลส์[263] 3. ชุดราตรีกำมะหยี่สีน้ำเงินรัตติกาลของวิกเตอร์ เอเดลสไตน์ ซึ่งพระองค์สวมไปร่วมงานเลี้ยงรับรองที่ทำเนียบขาว และได้ร่วมเต้นรำกับนักแสดงฮอลลีวูด จอห์น ทราโวลตา และต่อมาชุดนี้ถูกเรียกว่า "ทราโวลตาเดรส"[239][254][248] และ 4. ชุดราตรีเกาะอกปักมุกพร้อมเสื้อแจ็กเก็ตปักมุก หรือเป็นที่รู้จักในนาม “เอลวิสเดรส”[260][254] โดยแคเธอริน วอล์กเกอร์ ซึ่งพระองค์ทรงสวมใส่เป็นครั้งแรกระหว่างการเสด็จเยือนอาณานิคมฮ่องกง พ.ศ. 2532[246][264]
ในปีแรก ๆ ของคริสต์ทศวรรษ 1980 พระองค์โปรดฉลองพระองค์เสื้อคอปกลายดอกไม้ เสื้อคอจีบ และใช้สร้อยไข่มุกเป็นเครื่องประดับ[248][254][265] และทำให้เสื้อผ้าแบบดังกล่าวและไข่มุกกลายเป็นเทรนด์แฟชันของยุคนั้น[248] ภายหลังการประกาศหมั้นของพระองค์ นิตยสารโว้กตีพิมพ์ภาพระฉายาลักษณ์ไดอานาในชุดเสื้อชีฟองสีชมพูอ่อนและคอริบบินผ้าซาติน และเสื้อชีฟองตัวนี้ถูกลอกเลียนแบบและผลิตซ้ำอย่างรวดเร็ว และยังขายหมดเกลี้ยงภายในเวลาเพียงไม่กี่วัน[254] การปรากฏพระองค์ด้วยฉลองพระองค์ไหล่กว้างและเนื้อผ้าหรูหรา ทำให้สื่อมวลชนเรียกพระองค์ว่า “Dynasty Di”[266][239][246]
ในเวลาต่อมาหลังทรงแยกกันอยู่และหย่าร้าง ไดอานาทรงมีความมั่นใจในด้านแฟชันเพิ่มมากขึ้น[239][250][256][267] และทรงเปลี่ยนสไตล์การแต่งกายของพระองค์ ในการเสด็จฯ ไปประกอบพระกรณียกิจที่เป็นทางการ ทรงเลือกสวมใส่เสื้อเบลเซอร์ ชุดราตรีเปิดไหล่ข้างเดียว ชุดราตรีเกาะอก ชุดสูทสองสี ชุดสูทแบบทหาร และชุดเครื่องแต่งกายสีนู้ด[250] นอกจากนี้ทรงทดลองแฟชันด้วยการแต่งกายหลายแบบ เช่น ทรงสวมเสื้อเชิ้ตขาวและกางเกงยีนส์ เดรสลายสกอต จัมพ์สูท และเดรสเข้ารูป[268][269][250]
หลังจากที่ทรงแยกกันอยู่และหย่าร้างในเวลาต่อมา ไดอานาทรงได้รับอิทธิพลการแฟชันการแต่งกายจากดารานางแบบผู้มีชื่อเสียงหลายคน เช่น ซินดี ครอว์ฟอร์ด, มาดอนนา, เอลิซาเบธ เทย์เลอร์[254] หลังจากที่สิ้นพระชนม์ ชุดเดรสจำนวนหนึ่งของพระองค์ถูกนำออกประมูลและจำหน่ายให้บรรดาผู้สะสมและพิพิธภัณฑ์มากมาย และเดรสเหล่านี้มักจะทำเงินได้มากถึงหลักแสนปอนด์เมื่อนำออกประมูล[259][270]
ทรงพระเกศาที่สั้นเป็นเอกลักษณ์ของพระองค์ ออกแบบโดย แซม แม็คไนท์ ภายหลังทรงเสร็จสิ้นการถ่ายภาพแฟชันนิตยสารโว้กเมื่อ พ.ศ. 2533 ซึ่งแม็คไนท์และเวอร์ซาเชลงความเห็นว่า พระเกศาสั้นสื่อถึงอิสรภาพของพระองค์[244] ก่อนเสด็จฯ ไปปฏิบัติพระกรณียกิจ ไดอานามักจะทรงแต่งพระพักตร์ด้วยพระองค์เองและมีช่างพระเกศามาประจำทุกครั้ง และพระองค์ทรงเคยตรัสกับแม็คไนท์ว่า “สิ่งเหล่านี้ (การแต่งพระพักตร์และแต่งพระเกศา) ไม่ได้ทำเพื่อตัวฉันเลยนะ แซม, ฉันทำเพื่อประชาชนที่ฉันไปหาหรือเพื่อคนที่เดินทางมาหา, พวกเขาไม่ต้องการพบฉันในแบบสบาย ๆ นอกเวลาทำงานหรอกนะ, เขาต้องการเจ้าหญิง, มาแปลงโฉมเป็นเจ้าหญิงตามที่พวกเขาต้องการเถอะ”[244]
พ.ศ. 2532 ไดอานาได้รับการเสนอชื่อให้เป็นหนึ่งในสตรีผู้แต่งกายดีที่สุดในโลก[271] พ.ศ. 2547 นิตยสารพีเพิล ยกย่องให้พระองค์เป็นหนึ่งในสตรีที่งดงามที่สุดตลอดกาล[272] และ พ.ศ. 2555 นิตยสารไทม์จัดลำดับให้ไดอานาอยู่ในรายชื่อ 100 แฟชันไอคอนตลอดกาล[273]
พ.ศ. 2559 ชาร์มาดีน รีด แฟชันดีไซเนอร์ ออกแบบคอลเลกชันเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายเพื่อจำหน่ายบนเว็บไซต์ ASOS.com[274] โดยได้รับแรงบันดาลใจจากสไตล์การแต่งกายของไดอานา ชาร์มาดีนแถลงผ่านสื่อว่า “พระองค์ทรงมีความผูกพันอย่างไม่น่าเชื่อกับชุดกีฬาธรรมดา ๆ กับเสื้อผ้าแฟชันสุดหรู และนี่จึงเป็นที่มาของคอลเลคชันนี้ และให้ความทันสมัยกว่าที่เคยมีมา”[265]
เดือนกุมภาพันธ์ มีการเปิดนิทรรศการแสดงฉลองพระองค์ของไดอานาที่พระราชวังเคนซิงตัน แคเธอริน เบนเน็ต แห่งหนังสือพิมพ์เดอะการ์เดียน วิจารณ์ว่า นิทรรศการแสดงเครื่องแต่งกายเช่นนี้เป็นหนึ่งในวิธีการเหมาะสมกับการระลึกถึงบุคคลสาธารณะที่ประสบความสำเร็จในด้านใดด้านหนึ่ง ผ่านมุมมองด้านแฟชันและการแต่งกาย แต่คุณงามความดีที่ไดอานาได้มอบให้แก่สังคมนั้นยังคง “น่ากังขา”[275]
อนุสรณ์รำลึก
[แก้]เมื่อสำนักพระราชวังบักกิงแฮมออกประกาศไดอานาสิ้นพระชนม์ ประชาชนหลายเชื้อชาตินำดอกไม้และจุดเทียนเพื่อไว้อาลัยหน้าประตูพระราชวังเคนซิงตันอย่างเนืองแน่น ในเวลาต่อมาได้มีการก่อสร้างอนุสาวรีย์หลายแห่ง ดังนี้
- สวนอนุสรณ์ไดอานา เจ้าหญิงแห่งเวลส์ ตั้งอยู่ภายในในรีเจนท์เซ็นเตอร์การ์เดนส์ เมืองเคอร์คินทิลล็อก ประเทศสกอตแลนด์
- น้ำพุอนุสรณ์ไดอานา เจ้าหญิงแห่งเวลส์ ตั้งอยู่ภายในไฮด์พาร์ก กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ โดยสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เสด็จฯ มาเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดอย่างเป็นทางการ
- สนามเด็กเล่นอนุสรณ์ไดอานา เจ้าหญิงแห่งเวลส์ ตั้งอยู่ภายในเคนซิงตันการ์เดนส์ กรุงลอนดอน
- เส้นทางเดินอนุสรณ์ไดอานา เจ้าหญิงแห่งเวลส์ ทางเดินวงแหวนเชื่อมระหว่างเคนซิงตันการ์เดนส์ กรีนพาร์ก ไฮด์พาร์ก และเซนต์เจมส์พาร์ก กรุงลอนดอน
- ประติมากรรมรูปปั้นครึ่งพระองค์ ไดอานา เจ้าหญิงแห่งเวลส์ ตั้งอยู่ภายในสวนชลอสโคเบนเซิล กรุงเวียนนา[276]
ประติมากรรม "ฟลามม์เดอลาลิเบอร์เต" ซึ่งตั้งอยู่บริเวณเหนือถนนลอดอุโมงค์สะพานปองต์เดอลัลมา กรุงปารีส ซึ่งอยู่ใกล้กับบริเวณที่พระองค์ประสบอุบัติเหตุ กลายเป็นอนุสรณ์อย่างไม่ทางการภายหลังการสิ้นพระชนม์[277][278] และนายโมฮัมเหม็ด อัลฟาเยด ได้จัดให้มีการแสดงสิ่งของที่ระลึกตั้งอยู่ภายในห้างสรรพสินค้าแฮร์รอดส์ ซึ่งครอบครัวอัลฟาเยดเป็นเจ้าของกิจการระหว่าง พ.ศ. 2528–2553 ได้แก่ รูปถ่ายของไดอานาและโดดี พร้อมรูปทรงปิรามิดบรรจุแก้วไวน์ที่ใช้ในพระกระยาหารเย็นมื้อสุดท้าย และแหวนหนึ่งวงที่โดดีเพิ่งมอบให้แก่พระองค์ก่อนสิ้นพระชนม์ และใน พ.ศ. 2548 ประติมากรรมรูปหล่อทองแดง "อินโนเซนต์วิกทิม" ถูกนำมาจัดตั้งภายในห้างสรรพสินค้า ซึ่งเป็นรูปเหมือนไดอานาและโดดีเต้นรำใต้ปีกนกอัลบาทรอส[279]
บริษัทฮาร์กเนส ประเทศอังกฤษ ทำการปรับปรุงสายพันธ์กุหลาบ “Hardinkum”[280] ให้ดอกสีขาวนวลทรงกลีบดอก 2 ชั้น มีกลิ่นหอมกลางถึงหอมแรง ในเวลาต่อมาได้รับการตั้งชื่อว่า Rosa ‘Princess of Wales’ เพื่อเป็นการรำลึกพระภารกิจที่ทรงรับอุปถัมภ์สมาคมโรคปอดแห่งสหราชอาณาจักรเป็นเวลายาวนานกว่าสิบปี[281][282] และดอกกุหลาบขาวนี้เป็นดอกไม้ที่ไดอานาทรงโปรดปราน[282]
ฤดูร้อน พ.ศ. 2541 กุหลาบสายพันธุ์ Rosa ‘Diana, Princess of Wales’ ถูกนำเข้าไปปลูกครั้งแรก ณ สถานเอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักร กรุงวอชิงตัน ดี.ซี.[283]
พ.ศ. 2541 บริษัทไปรษณีย์อาเซอร์มาร์กาแห่งประเทศอาเซอร์ไบจาน จำหน่ายแผ่นตราไปรษณียากรที่ระลึกไดอานา เจ้าหญิงแห่งเวลส์ โดยมีคำบรรยายภาษาอังกฤษว่า "DIANA, PRINCESS OF WALES The Princess that captured people's hearts (1961–1997)" “ไดอานา เจ้าหญิงแห่งเวลส์ เจ้าหญิงผู้ครองหัวใจประชาชน (1961–1997) ”[284] และในปีเดียวกันนั้นหลายประเทศ เช่น สหราชอาณาจักร โซมาเลีย คองโก และอาร์เมเนีย ได้จัดสร้างดวงไปรษณียากรที่ระลึกเจ้าหญิงแห่งเวลส์เช่นเดียวกัน[285][286]
พระนามต้นของพระองค์ “ไดอานา” ถูกนำมาใช้ในสร้อยพระนามของพระนัดดา เจ้าหญิงชาร์ลอตต์ เอลิซาเบธ ไดอานา (ประสูติเมื่อ พ.ศ. 2558)[287][288][289] และใช้ในสร้อยพระนามของพระภาติยะ[290] เลดี้ชาร์ลอตต์ ไดอานา (กำเนิดเมื่อ พ.ศ. 2555) ธิดาของชาลส์ สเปนเซอร์[291]
พ.ศ. 2560 เจ้าชายวิลเลียม และเจ้าชายแฮร์รี ทรงมอบหมายให้สร้างพระรูปปั้นเจ้าหญิงไดอานา พระมารดา เพื่อที่ระลึกในวาระครบ 20 ปีแห่งการสิ้นพระชนม์[208] และจะนำไปตั้งอยู่ภายในสวนเคนซิงตัน ทั้งสองพระองค์ทรงระบุว่า พระมารดาทรงเข้าถึงชีวิตจิตใจผู้คนมากมาย และทรงหวังว่า พระรูปปั้นนี้จะช่วยย้ำเตือนไปเยี่ยมชมพระราชวังเคนซิงตันให้รำลึกถึงชีวิตและผลงานของพระมารดา[208] โดยจะใช้ทุนทรัพย์ในการก่อสร้างผ่านการบริจาค และมีคณะกรรมการดำเนินการควบคุมการก่อสร้าง ประกอบด้วยเป็นพระสหายและที่ปรึกษาผู้ใกล้ชิดของเจ้าหญิง รวมทั้งพระเชษฐภคินี เลดี้ซาราห์ แมคคอร์เคอเดล[292]
พระอิสริยยศ เครื่องราชอิสริยาภรณ์ และตราอาร์มประจำพระองค์
[แก้]พระอิสริยยศ
[แก้]- 1 กรกฎาคม ค.ศ. 1961 – 9 มิถุนายน ค.ศ. 1975: เดอะออเนเรเบิลไดอานา ฟรานเซส สเปนเซอร์ (The Honourable Diana Frances Spencer)
- 9 มิถุนายน ค.ศ. 1975 – 29 กรกฎาคม ค.ศ. 1981: เลดีไดอานา ฟรานเซส สเปนเซอร์ (Lady Diana Frances Spencer)
- 29 กรกฎาคม ค.ศ. 1981 – 28 สิงหาคม ค.ศ. 1996: เฮอร์รอยัลไฮเนส เจ้าหญิงแห่งเวลส์ (Her Royal Highness The Princess of Wales)
- เฉพาะในประเทศสกอตแลนด์: 29 กรกฎาคม ค.ศ. 1981 – 28 สิงหาคม ค.ศ. 1996: เฮอร์รอยัลไฮเนส ดัชเชสแห่งรอธเซย์ (Her Royal Highness The Duchess of Rothesay)
- เฉพาะเมืองเชสเตอร์: 29 กรกฎาคม ค.ศ. 1981 – 28 สิงหาคม ค.ศ. 1996: เคานท์เตสแห่งเชสเตอร์ (Her Royal Highness The Countess of Chester)[119]
- 28 สิงหาคม ค.ศ. 1996 – 31 สิงหาคม ค.ศ. 1997: ไดอานา เจ้าหญิงแห่งเวลส์ (Diana, Princess of Wales)
พระนามและพระอิสริยยศเต็มของพระองค์นับตั้งแต่พระราชพิธีอภิเษกสมรสจนถึงการหย่าร้าง คือ
Her Royal Highness The Princess Charles Philip Arthur George, Princess of the United Kingdom of Great Britain and Northern Ireland, Princess of Wales and Countess of Chester, Duchess of Cornwall, Duchess of Rothesay, Countess of Carrick, Baroness of Renfrew, Lady of the Isles, and Princess and Great Stewardess of Scotland.[293]
สมเด็จพระราชสุณิสา เจ้าฟ้าหญิงชาร์ลส์ ฟิลิป อาร์เธอร์ จอร์จ เจ้าหญิงแห่งสหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์เหนือ เจ้าหญิงแห่งเวลส์ และเคาน์เตสแห่งเชสเตอร์ ดัชเชสแห่งคอร์นวอลล์ ดัชเชสแห่งรอธซี เคาน์เตสแห่งคาร์ริก บารอเนสแห่งเรนฟรูว์ เลดีแห่งดิไอลส์ และเจ้าหญิงและจอมทัพหญิงแห่งสกอตแลนด์
หลังจากทรงหย่าร้างและสิ้นพระชนม์ ประชาชนทั่วไปยังคงนิยมเรียกพระองค์ต่อไปว่า เจ้าหญิงไดอานา ซึ่งเป็นอิสริยศที่พระองค์ไม่ได้รับพระราชทานจากการหย่าร้างและทรงมิได้มีชาติกำเนิดเป็นเจ้าหญิง[294] แต่เป็นเพียงบุตรีของขุนนางชั้นเอิร์ล และได้รับฐานันดรศักดิ์ เลดี้ แต่กระนั้นสื่อมวลชนนิยมเรียกพระองคว่า เลดี้ไดอานา สเปนเซอร์ หรือ เลดี้ได และทรงมีสมญานามที่ไม่เป็นทางการว่า "เจ้าหญิงของประชาชน" ซึ่งนายกรัฐมนตรีอังกฤษ โทนี แบลร์ อ้างอิงถึงพระองค์เช่นนี้ระหว่างกล่าวคำไว้อาลัยในพิธีพระศพของไดอานา[295]
ตราอาร์มประจำพระองค์
[แก้]-
ตราอาร์มประจำตัวเลดี้ไดอานา สเปนเซอร์
(ค.ศ. 1975 – 1981) -
ตราอาร์มประจำพระองค์เจ้าหญิงแห่งเวลส์
(ค.ศ. 1981 – 1996) -
ตราอาร์มประจำพระองค์หลังทรงหย่าร้าง
(ค.ศ. 1996 – 1997)
นิยามของตรา[แก้] | |
---|---|
ตราอาร์มประจำตัวเลดี้ไดอานา สเปนเซอร์ (ประกาศใช้ใน ค.ศ. 1975 – 1981) เครื่องยอด: ไม่มี โล่รูปข้าวหลามตัด ในโล่เป็นตราแบ่งสี่กลับสี พี้นตราสีเงินในช่องที่ 1 หรือช่องบนซ้ายและช่องที่ 4 หรือล่างขวา พื้นตราสีแดงพร้อมลายแถบสานสีทองในช่องที่ 2 หรือช่องบนขวาและช่องที่ 3 หรือล่างซ้าย มีแถบทแยงสีดำประดับหอยพัดสีเงิน 3 ตัว อันเป็นตราแห่งตระกูลสเปนเซอร์ และริบบินสีฟ้าขมวดเป็นปมเหนือโล่บ่งบอกสถานะผู้ถือตราอาร์มว่ายังมิได้สมรส อนึ่ง พระเชษฐภคินีทั้งสองพระองค์ของไดอานาต่างก็เคยได้รับตราอาร์มประจำตัวรูปแบบเดียวกันนี้ก่อนเข้าพิธีสมรส | |
ตราอาร์มประจำพระองค์เจ้าหญิงแห่งเวลส์ (ประกาศใช้ใน ค.ศ. 1981 – 1996) เครื่องยอด: จุลมงกุฎเจ้าชายแห่งเวลส์ ครึ่งซ้ายของโล่ คือ ตราแผ่นดินสหราชอาณาจักร ในตราแบ่งสี่บนพื้นตราแดงในช่องที่ 1 หรือช่องบนซ้ายและช่องที่ 4 หรือล่างขวา สิงห์ทอง 3 ตัวยุรยาตรยกเท้าหน้าบนพี้นตราทอง ในช่องที่ 2 หรือบนขวาสิงห์แดงยืนในกรอบแดงล้อมด้วยเฟลอร์เดอลี และบนพื้นตราน้ำเงินช่องที่ 3 มีฮาร์ปทองแห่งเกลลิกขึงสายสีเงิน 6 สาย กลางโล่ครึ่งซ้ายมีโล่เล็กภายในตรา สิงห์ทั้ง 4 ตัวยุรยาตรยกเท้าหน้าหันหน้าบนพื้นกลับสีแบ่งสี่ สิงห์แดงบนพื้นทองในช่องที่ 1 หรือช่องบนซ้ายและช่องที่ 4 หรือล่างขวา สิงห์ทองบนพื้นแดงในช่องที่ 2 หรือขวาบนและช่องที่ 3 หรือซ้ายล่าง เหนือโล่เล็กนี้ประดับด้วยจุลมงกุฎแห่งมกุฎราชกุมาร (เจ้าชายแห่งเวลส์) และบังเหียนสามพู่สีเงิน ครึ่งขวาของโล่ คือ ตราอาร์มแห่งตระกูลสเปนเซอร์ ในตราแบ่งสี่ พื้นตราสีเงินในช่องที่ 1 หรือช่องบนซ้ายและช่องที่ 4 หรือล่างขวา พื้นตราสีแดงพร้อมลายแถบสานสีทองในช่องที่ 2 หรือช่องบนขวาและช่องที่ 3 หรือช่องล่างขวา มีแถบทแยงสีดำประดับหอยพัดสีเงิน 3 ตัว ประครองข้างด้านซ้าย: สิงห์ทองหันหน้ายืดผงาดสวมจุลมงกุฎเจ้าชายแห่งเวลส์ ประครองข้างด้านขวา: กริฟฟินขาวกางปีกผงาด สวมปลอกคอมงกุฎทอง ฐานมงกุฎประกอบด้วยกางเขนปลายบานสลับเฟลอร์เดอลี มีโซ่ทองล่ามล้อมลอดลงสู่ขาหลัง แถบคำขวัญ: ภาษาฝรั่งเศส Dieu Defend Le Droit แปลว่า "พระเจ้าทรงพิทักษ์สิทธิ" | |
ตราอาร์มประจำพระองค์ไดอานา เจ้าหญิงแห่งเวลส์ (ประกาศใช้ใน ค.ศ. 1996 – 1997) เครื่องยอด: จุลมงกุฎแห่งราชวงศ์ ภายหลังทรงหย่าร้าง ไดอานาทรงใช้แต่เพียงโล่รูปข้าวหลามตัด ในโล่มีเพียงตราแห่งตระกูลสเปนเซอร์ และใช้จุลมงกุฎแห่งราชวงศ์เป็นเครื่องยอดเท่านั้น[296] ประครองข้างด้านซ้ายและด้านขวา: กริฟฟินขาวกางปีกผงาด ถูกล่ามด้วยมงกุฎทองและโซ่ทองล้อมลอดลงสู่ขาหลัง แถบคำขวัญ: ภาษาฝรั่งเศส Dieu Defend Le Droit แปลว่า "พระเจ้าทรงพิทักษ์สิทธิ" |
พระบุตร
[แก้]พระนาม | วันประสูติ | อภิเษกสมรส | พระบุตร | |
---|---|---|---|---|
วันอภิเษกสมรส | คู่สมรส | |||
เจ้าชายวิลเลียม เจ้าชายแห่งเวลส์ | 21 มิถุนายน 2525 | 29 เมษายน 2554 | แคเธอริน มิดเดิลตัน | เจ้าชายจอร์จแห่งเวลส์ เจ้าหญิงชาร์ลอตต์แห่งเวลส์ เจ้าชายหลุยส์แห่งเวลส์ |
เจ้าชายแฮร์รี ดยุกแห่งซัสเซกซ์ | 15 กันยายน 2527 | 19 พฤษภาคม 2561 | เมแกน มาร์เกิล | เจ้าชายอาร์ชีแห่งซัสเซกซ์ เจ้าหญิงลิลีเบ็ตแห่งซัสเซกซ์ |
พงศาวลี
[แก้]พระปัยยิกา (ย่าทวด) ของไดอานา คือ มาร์กาเร็ต บาริง ซึ่งมาจากตระกูลคหบดีนายธนาคารเชื้อสายอังกฤษ-เยอรมัน และเป็นบุตรีของ เอ็ดวาร์ด บาริง บารอนเรเวลสโตกที่ 1[300][301]
ไดอานามีพระญาติห่าง ๆ ในสาขาตระกูลสเปนเซอร์เป็นขุนนางคือ จอห์น เชอร์ชิลล์ ดยุกแห่งมาร์ลบะระที่ 1 และเจ้าชายแห่งมินเดลไฮม์[302]
ไดอานาและเจ้าชายชาลส์มีบรรพบุรษร่วมกัน เนื่องจากทั้งสองพระองค์สืบเชื้อสายจากราชวงศ์ทิวดอร์ ผ่านสายพระโลหิตพระเจ้าเฮนรีที่ 7 แห่งอังกฤษ[303] ไดอานามีเชื้อสายสกอตจากราชวงศ์สจวต ผ่านสายพระโลหิตพระเจ้าชาลส์ที่ 2 แห่งอังกฤษ โดย ชาลส์ เลนนิกซ์ ดยุกแห่งริชมันด์ที่ 1 และเฮนรี ฟิทซ์รอย ดยุกแห่งแกรฟตันที่ 1 และสืบสายพระโลหิตของพระเจ้าเจมส์ที่ 2 แห่งอังกฤษ ผ่านเฮนเรียตตา ฟิทซ์เจมส์ บุตรีนอกสมรสของพระองค์ [20][17][304]
นอกจากนี้ ไดอานามีพระปัยยิกา (ยายทวด) ฟรานเซส เอลเลน เวิร์ก เป็นชาวอเมริกัน ซึ่งเป็นบุตรีของ แฟรงคลิน เอช. เวิร์ก นายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ผู้มั่งคั่งจากไอไฮโอ[305] และฟรานเซสได้สมรสกับเจมส์ โรช บารอนแห่งเฟอร์มอยที่ 3
มีการค้นพบหลักฐานคำบรรยายเกี่ยวกับลักษณะของ เอลิซา เควาร์ก ผู้เป็นยายเทียดของไดอานาว่าเป็นหญิงสาวรับใช้ชาวพื้นเมืองอาร์เมเนียผิวสี อาศัยในเมืองบอมเบย์ ประเทศอินเดีย และต่อมาได้ตั้งครรภ์กับธีโอดอร์ ฟอร์บส์ ชาวอังกฤษ และมีบุตรีด้วยกันหนึ่งคน ชื่อว่า แคเธอริน สกอตต์ ฟอร์บส์[306][307] ทั้งนี้วิลเลียม แอดดัมส์ ไรท์วีสเนอร์ นักวงศาวิทยา ตั้งข้อสันนิษฐานว่าเอลิซาอาจเป็นชาวอาร์เมเนีย[308]
ในเดือน มิถุนายน พ.ศ. 2556 กลุ่ม BritainsDNA ประกาศว่า ผลการทดสอบทางพันธุกรรมจากพระญาติห่าง ๆ ของไดอานา ซึ่งเป็นทายาทสายตรงฝั่งพระมารดา ยืนยันผลว่า เอลิซา เควาร์ก มีเชื้อสายอินเดีย เนื่องจากตรวจพบหน่วยเกลียวดีเอ็นเอไมโทคอนเดรียชนิดพิเศษในตัวอย่างดีเอ็นเอของพระญาติที่พบได้เฉพาะในชาวอินเดียและส่งผ่านได้เฉพาะจากแม่สู่ลูกเท่านั้น[309][310][311][312][313]
พงศาวลีของไดอานา เจ้าหญิงแห่งเวลส์ | ||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
|
อ้างอิง
[แก้]- ↑ Morton 1997, หน้า 70.
- ↑ Morton 1997, หน้า 70-71.
- ↑ Brown 2007, หน้า 32–33.
- ↑ Bradford 2006, หน้า 2.
- ↑ Chua-Eoan, Howard (16 August 2007). "The Saddest Fairy Tale". Time. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 3 February 2017. สืบค้นเมื่อ 3 February 2017.
...she died, suddenly, the day after the 36th anniversary of her christening...
- ↑ 6.0 6.1 6.2 Morton 1997, หน้า 71.
- ↑ 7.0 7.1 Brown 2007, หน้า 37–38.
- ↑ Brown 2007, หน้า 37.
- ↑ Brown 2007, หน้า 41.
- ↑ Bradford 2006, หน้า 2, 20.
- ↑ Brown 2007, หน้า 42.
- ↑ Bradford 2006, หน้า 40, 42.
- ↑ Bradford 2006, หน้า 25.
- ↑ Bradford 2006, หน้า 34.
- ↑ Bradford 2006, หน้า 29.
- ↑ "Mohamed Al Fayed buys Diana's former school". 21 May 1998. Archived from the original on 3 March 2008. Retrieved 5 November 2010.
- ↑ 17.00 17.01 17.02 17.03 17.04 17.05 17.06 17.07 17.08 17.09 17.10 17.11 17.12 17.13 17.14 17.15 17.16 17.17 17.18 "International Special Report: Princess Diana, 1961–1997".The Washington Post. 30 January 1999. Archived from the original on 19 August 2000. Retrieved 13 October 2008.
- ↑ Bradford 2006, หน้า 21–22.
- ↑ Bradford 2006, หน้า 23.
- ↑ 20.00 20.01 20.02 20.03 20.04 20.05 20.06 20.07 20.08 20.09 20.10 20.11 20.12 20.13 20.14 20.15 20.16 20.17 20.18 20.19 20.20 20.21 20.22 Diana, Princess of Wales". The British Monarchy. The Royal Household. Archived from the original on 24 January 2017. Retrieved 17 February 2017.
- ↑ Bradford 2006, หน้า 35.
- ↑ Bradford 2006, หน้า 35.
- ↑ Bradford 2006, หน้า 40–41.
- ↑ Brown 2007, หน้า 55.
- ↑ Brown 2007, หน้า 55.
- ↑ Brown 2007, หน้า 68.
- ↑ Morton 1997, หน้า 103.
- ↑ Bradford 2006, หน้า 45.
- ↑ Bradford 2006, หน้า 46.
- ↑ 30.0 30.1 Morton 1997, หน้า 118.
- ↑ Bradford 2006, p. 40.
- ↑ Glass, Robert (24 July 1981). "Descendant of 4 Kings Charms Her Prince". Daily Times. London. Retrieved 24 April 2016.
- ↑ "Royal weekend fuels rumours". The Age. London. 17 November 1980. Retrieved 22 July 2013.
- ↑ Dimbleby 1994, p. 279.
- ↑ Richard, Kay (17 November 2010). "Haunted by Diana's shadow". Mail Online. UK.
- ↑ "Queen Mother on 'abhorrent' Diana, Princess of Wales". The Telegraph. London. 17 September 2009. Retrieved 24 April 2015.
- ↑ "Princess Diana's engagement ring" เก็บถาวร 2013-02-25 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. Ringenvy. September 2009. Retrieved 12 November 2010.
- ↑ 38.0 38.1 38.2 "It was love at first sight between British people and Lady Diana". The Leader Post. London. AP. 15 July 1981. Retrieved 23 July 2013.
- ↑ "The day a young Diana fretted about her dress before Princess Grace told her, 'Don't worry, it'll only get worse': Craig Brown on the most extraordinary encounters of the last century". Daily Mail. London. 19 September 2011. Retrieved 19 January 2014.
- ↑ 40.0 40.1 "1981: Charles and Diana marry". BBC News. 29 July 1981. Retrieved 27 November 2008.
- ↑ Frum, David (2000). How We Got bare: The '70s. New York: Basic Books. p. 98. ISBN 0-465-04195-7.
- ↑ Denney, Colleen (April 2005). Representing Diana, Princess of Wales: cultural memory and fairy tales revisited. Fairleigh Dickinson University Press. p. 57.
- ↑ Royal Wedding, The Times 29 July 1981, p. 15
- ↑ Field, Leslie (2002). The Queen's Jewels: The Personal Collection of Elizabeth II. London: Harry N. Abrams. pp. 113–115. ISBN 0-8109-8172-6.
- ↑ Lucy Clarke-Billings (9 December 2015). "Duchess of Cambridge wears Princess Diana's favourite tiara to diplomatic reception at Buckingham Palace". The Telegraph. Retrieved 29 December 2015.
- ↑ "Duchess Kate 'to receive special honour from the Queen' to celebrate Her Majesty's record reign". Hello Magazine. Retrieved 25 February 2016.
- ↑ Brown 2007, p. 195.
- ↑ 48.0 48.1 "Obituary: Sir George Pinker". Daily Telegraph. London. 1 May 2007. Retrieved 22 December 2012.
- ↑ Morton 1997, p. 138.
- ↑ Morton 1997, pp. 142–143.
- ↑ Morton 1997, p. 147.
- ↑ "New controversial Princess Diana play asks 'Is James Hewitt Prince Harry's real father?'". Mirror Group. 28 December 2014. Retrieved 9 February 2017.
- ↑ Holder, Margaret (24 August 2011). "Who Does Prince Harry Look Like? James Hewitt Myth Debunked" เก็บถาวร 2012-05-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. The Morton Report.
- ↑ "Hewitt denies Prince Harry link". BBC News. 21 September 2002. Retrieved 23 April 2016.
- ↑ "Prince William Biography". People. Retrieved 15 October 2008.
- ↑ "Prince Harry". People. Retrieved 15 October 2008.
- ↑ Morton 1997, p. 184.
- ↑ Brown 2007, p. 174.
- ↑ 59.0 59.1 Smith 2000, p. 561.
- ↑ "Timeline: Long road to the altar". CNN. 25 March 2005. Retrieved 31 January 2016.
- ↑ "Interview: Andrew Morton: He couldn't shout: `Diana was in on this.' `She trusted me. It would have been a betrayal'". The Independent. 1 December 1997. Retrieved 7 January 2017.
- ↑ "Princess Di breaks down after making appearance". Eugene Register Guard. 12 June 1992. Retrieved 14 August 2013.
- ↑ "Princess Diana's 'admirer' named by Press". New Straits Times. London. 27 August 1992. Retrieved 14 August 2013.
- ↑ Brown 2007, pp. 304, 309.
- ↑ Brandreth, Gyles (2007). Charles and Camilla: Portrait of a Love Affair. Random House. pp. 257–264. ISBN 0-09-949087-0.
- ↑ Dimbleby 1994, p. 489.
- ↑ 67.0 67.1 67.2 67.3 67.4 67.5 "1993: Diana sues over gym photos". BBC. Retrieved 5 February 2017.
- ↑ 68.0 68.1 "Gym owner defends Princess pictures: Bryce Taylor says 98 per cent of people would also have tried his 'legal scam' to make money". The Independent. 17 November 1993. Retrieved 5 February 2017.
- ↑ Rayner, Gordon (17 September 2009). "Princess Margaret destroyed letters from Diana to Queen Mother". The Daily Telegraph. Retrieved 7 January 2017.
- ↑ Rosalind Ryan (7 January 2008). "Diana affair over before crash, inquest told". The Guardian. London. Retrieved 13 October 2008.
- ↑ "Tiggy Legge-Bourke". The Guardian. 12 October 1999. Retrieved 7 January 2017.
- ↑ 72.0 72.1 "Timeline: Diana, Princess of Wales". BBC News. 5 July 2004. Retrieved 13 October 2008.
- ↑ James, Caryn (15 May 1996). "TELEVISION REVIEW;Love-Starved Royalty, Partial to Babushkas". The New York Times. Retrieved 4 February 2017.
- ↑ "The Princess and the Press". PBS. Retrieved 7 January 2017.
- ↑ "Timeline: Charles and Camilla's romance". BBC. 6 April 2005. Retrieved 7 January 2017.
- ↑ Dimbleby 1994, p. 395.
- ↑ 77.0 77.1 77.2 "The Panorama Interview with the Princess of Wales". BBC News. 20 November 1995. Retrieved 8 January 2010.
- ↑ Cohen, David (2005). "Diana: Death of a Goddess". Random House. p. 18. Retrieved 13 June 2016. Jonathan Dimbleby and ...Penny Junor...said that there were several people who had mentioned Borderline Personality Disorder. Psychiatrists had provided learned opinions that sadly (Diana) had suffered form Borderline Personality Disorder as well as eating disorders...
- ↑ 79.0 79.1 79.2 79.3 Kermode, Frank (22 August 1999). "Shrinking the Princess". The New York Times. Retrieved 5 February 2017.
- ↑ Montalbano, D. (21 December 1995). "Queen Orders Charles, Diana to Divorce". Los Angeles Times. London. Retrieved 23 July 2013.
- ↑ "Charles and Diana to divorce". Associated Press. 21 December 1995. Retrieved 23 July 2013.
- ↑ "'Divorce': Queen to Charles and Diana". BBC. 20 December 1995. Retrieved 2 November 2010.
- ↑ "Princess Diana agrees to divorce". Gadsden Times. London. AP. 28 February 1996. Retrieved 23 July 2013.
- ↑ 84.0 84.1 84.2 84.3 84.4 Lyall, Sarah (13 July 1996). "Charles and Diana Agree on Divorce Terms". The New York Times. Retrieved 23 April 2016.
- ↑ แม้ว่าจะมีการชี้แจงจากสำนักพระราชวังบักกิงแฮมว่า หลังการหย่าร้าง ไดอานาควรใช้พระนามใหม่ว่า เลดี้ไดอานา เจ้าหญิงแห่งเวลส์ เก็บถาวร 2015-11-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน แต่ต่อมาเว็บไซต์ของสำนักพระราชวังรายงานการสิ้นพระชนม์พระองค์และกล่าวถึงพระองค์ด้วยพระนาม ไดอานา เจ้าหญิงแห่งเวลส์ เท่านั้น
- ↑ Bradford 2006, p. 306.
- ↑ 87.0 87.1 "Special: Princess Diana, 1961–1997". Time. 12 February 1996. Archived from the original on 6 April 2010. Retrieved 24 April 2016.
- ↑ 88.0 88.1 "Diana 'wept as she read brother's cruel words'". The Telegraph. Retrieved 10 April 2015.
- ↑ Jephson, P.D. (2001). Shadows of a Princess: An Intimate Account by Her Private Secretary. HarperCollins. ISBN 0-380-82046-3. Retrieved 2 November 2010. extract published in The Sunday Times newspaper on 24 September 2000
- ↑ "Dark side of Diana described by ex-aide". The Guardian. 24 September 2000. Retrieved 7 January 2017.
- ↑ Milmo, Cahal (25 October 2002). "Diana did not talk to me in final months, admits her mother". The Independent. Retrieved 24 October 2016.
- ↑ "Inquests into the deaths of Diana, Princess of Wales and Mr Dodi Al Fayed: Decisions of 8 January 2007". Butler Sloss Inquests. Archived from the original on 30 October 2007. Retrieved 2 November 2010.
- ↑ "High Court Judgment Template" (PDF). Archived from the original (PDF) on 25 June 2008. Retrieved 13 October 2008.
- ↑ "Statement regarding the State Opening of Parliament in May 2013". The British Monarchy. 1 April 2013. Retrieved 16 October 2016.
- ↑ "The celebrities who have turned on the Christmas lights on Regent Street". The Telegraph. 16 November 2015. Retrieved 20 February 2017.
- ↑ Mosley, Charles, ed. (2003). Burke's Peerage, Baronetage and Knightage. III (107th ed.). Wilmington, Delaware: Burke's Peerage and Gentry LLC. p. 3696. ISBN 0-9711966-2-1.
- ↑ 97.0 97.1 "Royal Tours of Canada". Canadian Crown. Government of Canada. Archived from the original on 5 June 2012. Retrieved 29 January 2016.
- ↑ English, Rebecca. "24 years on, Charles takes another veiled lady to see the pope". Daily Mail. London. Retrieved 30 January 2016.
- ↑ Holden, Anthony; Lamanna, Dean (1 February 1989). "Charles and Diana: portrait of a marriage" เก็บถาวร 2013-01-16 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. Ladies Home Journal. Retrieved 19 December 2012 – via Highbeam.
- ↑ Roth-Hass, Richard (3 February 1988). "Charles, Diana visit Thailand". UPI. Retrieved 24 June 2017
- ↑ 101.00 101.01 101.02 101.03 101.04 101.05 101.06 101.07 101.08 101.09 101.10 101.11 101.12 101.13 101.14 101.15 101.16 101.17 "Diana, Princess of Wales". 31 August 1997. Archived from the original on 4 October 2015. Retrieved 25 February 2016.
- ↑ 102.0 102.1 "Elizabeth Blunt Remembers Diana". BBC. Retrieved 30 January 2016.
- ↑ 103.0 103.1 "Prince Charles, Princess Diana visit Hungary". Associated Press. Retrieved 27 December 2012.
- ↑ 104.0 104.1 "Distinguished guests from overseas such as State Guests, official guests (1989–1998)". The Imperial Household Agency. Retrieved 19 December 2012.
- ↑ 105.0 105.1 "Prince Charles, Princess Diana leave Brazil after issue-oriented visit". Deseret News. 28 April 1991. Archived from the original on 17 November 2015. Retrieved 16 October 2016
- ↑ 106.0 106.1 "Diana, Princess of Wales was a global humanitarian figure who dedicated her life to helping improve the lives of disadvantaged people" เก็บถาวร 2017-08-22 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. The Diana, Princess of Wales Memorial Fund. Retrieved 30 January 2016.
- ↑ "Fall of the Pharaoh: How Mubarak survived 30 years to crisis to be ousted by the people". Daily Mail. London. 12 February 2011. Retrieved 5 January 2012.
- ↑ "Princess Diana visits the British Pavilion". British Council - British Pavilion in Venice. Archived from the original on 17 November 2015. Retrieved 16 October 2016.
- ↑ "Diana Visits Argentina as 'Ambassador'". Los Angeles Times. 24 November 1995. Retrieved 7 January 2012.
- ↑ MacLeod, Alexander (28 June 1983). "The Princess of Wales: life as a star". The Christian Science Monitor. Retrieved 10 April 2015.
- ↑ "The Royal Watch". Philadelphia Daily News. Retrieved 11 October 2014.
- ↑ "Royal Watch". People. Retrieved 11 October 2014.
- ↑ 113.0 113.1 113.2 113.3 113.4 113.5 Ali, Monica (30 March 2011). "Royal rebel: the legacy of Diana". The Guardian. Retrieved 2 February 2017.
- ↑ 114.0 114.1 Sayenko, Sergei (1 July 2011). "The bitter aftertaste of Princess Diana's 50th birthday" เก็บถาวร 2014-10-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. The Voice of Russia. Retrieved 30 January 2016.
- ↑ 115.0 115.1 115.2 "Diana's groups of charities". BBC. Retrieved 17 February 2017.
- ↑ Furness, Hannah (12 April 2013). "Prince Harry to follow in his mother's footsteps in support of Headway charity". The Telegraph. Retrieved 30 January 2016.
- ↑ Rayner, Gordon (21 April 2013). "Duchess of Cambridge walks in Diana's footsteps by becoming Patron of Natural History Museum". The Telegraph. London. Retrieved 21 April 2013.
- ↑ "Diana memorial service in detail". The Telegraph. 31 August 2007. Retrieved 30 January 2016.
- ↑ 119.0 119.1 119.2 "About the Chester Childbirth Appeal". Archived from the original on 6 January 2016. Retrieved 25 February 2016.
- ↑ "Harry honours his mother's legacy on the anniversary of her death". Hello!. 31 August 2011. Retrieved 24 April 2016.
- ↑ Clayton, Tim (2001). Diana: Story of a Princess. New York: Simon and Schuster. p. 288. ISBN 978-1-43911-803-0.
- ↑ [1]"Diana receives Humanitarian Award". The Standard. 13 December 1995. Retrieved 24 April 2016.
- ↑ "Diana appeals for the elderly after dropping their charity". The Herald Scotland. 14 October 1996. Retrieved 24 April 2016.
- ↑ 124.0 124.1 Charities devastated after Diana quits as patron เก็บถาวร 2017-12-02 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, The Independent, 17 July 1996. (Retrieved 5 September 2011.)
- ↑ "Diana Memorial Charity Fund Set Up". BBC. Retrieved 17 February 2017.
- ↑ Pieler, George (Winter 1998). "The philanthropic legacy of Princess Diana". Philanthropy. Retrieved 30 January 2016.
- ↑ "Diana, Princess of Wales, to open Richard Attenborough Centre" เก็บถาวร 2017-01-10 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (PDF). University of Leicester. Retrieved 24 April 2016.
- ↑ 128.0 128.1 128.2 128.3 128.4 Allen, Nick; Rayner, Gordon (10 January 2008). "Queen 'was against' Diana's Aids work". The Telegraph. Retrieved 30 January 2016
- ↑ "HIV/Aids: a timeline of the disease and its mutations".The Telegraph. Retrieved 24 April 2015.
- ↑ "1989: Diana opens Landmark Aids Centre". BBC. Archived from the original on 4 March 2016. Retrieved 21 May2016.
- ↑ "Princess Diana" เก็บถาวร 2015-05-02 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. HIV Aware. Retrieved 24 April 2015.
- ↑ "Princess Diana: Charities" เก็บถาวร 2015-04-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. British Royals. Retrieved 24 April 2015.
- ↑ "Princess Diana Charity Work". Biography Online. Retrieved 24 April 2015.
- ↑ "Diana, Princess of Wales". Learning to Give. Retrieved 24 April 2015.
- ↑ "Princess Diana's charity work and causes (image 8)".The Telegraph. Retrieved 30 January 2016.
- ↑ "Princess Diana's charity work and causes (image 8)".The Telegraph. Retrieved 30 January 2016.
- ↑ "Diana 'Thrilled' To Meet Mandela In South Africa" เก็บถาวร 2016-03-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. Sun-Sentinel. 18 March 1997. Retrieved 30 January 2016.
- ↑ Holt, William (18 July 2013). "Prince Harry posts photo of mother and Nelson Mandela". Yahoo. Retrieved 30 January2016.
- ↑ 139.0 139.1 "Mandela and Diana charities join forces". BBC. Archived from the original on 17 November 2015. Retrieved 23 May2016.
- ↑ "Mandela tells world to learn from Diana". The Telegraph. 3 November 2002. Archived from the original on 29 February 2016. Retrieved 23 May 2016.
- ↑ 141.0 141.1 141.2 "Prince Harry becomes patron of the HALO Trust's 25th Anniversary Appeal" เก็บถาวร 2015-10-15 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. The HALO Trust. 6 March 2013. Retrieved 30 January 2016.
- ↑ 142.0 142.1 142.2 "Prince Harry continues Diana's charitywork in Africa".Today. 12 August 2013. Retrieved 21 May 2015.
- ↑ "Princess Diana sparks landmines row". BBC News. 15 January 1997. Retrieved 13 October 2008.
- ↑ "Diana Meets Landmine Victim in Bosnia". BBC. Retrieved 10 April 2015.
- ↑ "Diana takes anti-land mine crusade to Bosnia". CNN. 8 August 1997. Retrieved 23 July 2013.
- ↑ "Diana refuels rumours of a Fayed romance". New Straits Times. 9 August 1997. Retrieved 16 October 2016.
- ↑ Maslen, Stuart; Herby, Peter (31 December 1998). "The background to the Ottawa process". International Review of the Red Cross (325) : 693–713. Archived from the original on 13 May 2008. Retrieved 31 January 2016.
- ↑ "Landmines pose gravest risk for children". UNICEF. Retrieved 13 October 2008.
- ↑ "CNN – The 1997 Nobel Prizes". CNN. Retrieved 12 March 2010.
- ↑ 150.0 150.1 150.2 "Diana's Charities". BBC. Retrieved 24 May 2015.
- ↑ 151.0 151.1 "President of The Royal Marsden". The Royal Marsden Cancer Charity. Archived from the original on 12 January 2016. Retrieved 16 October 2016.
- ↑ "Our President". The Royal Marsden. Archived from the original on 4 March 2016. Retrieved 16 October 2016.
- ↑ "Prince William becomes President of the Royal Marsden Hospital". Official website of the Prince of Wales. 4 May 2007. Archived from the original on 16 February 2016. Retrieved 16 October 2016.
- ↑ "Diana Photo Gallery (13)". The Washington Post. Retrieved 17 February 2017.
- ↑ "Diana Photo Gallery (15)". The Washington Post. Retrieved 17 February 2017.
- ↑ 156.0 156.1 156.2 "Our history". Children with Cancer UK. Archived from the original on 5 March 2016. Retrieved 16 October 2016.
- ↑ 157.0 157.1 157.2 "27 years of saving young lives". Children with Cancer UK. 16 November 2015. Archived from the original on 5 March 2016. Retrieved 16 October 2016.
- ↑ 158.0 158.1 158.2 158.3 "Diana, Princess of Wales". Children with Cancer UK. Archived from the original on 5 March 2016. Retrieved 16 October 2016.
- ↑ 159.0 159.1 "The Life of Diana, Princess of Wales 1961–1997". BBC. Retrieved 10 May 2015.
- ↑ 160.0 160.1 160.2 "Diana, Princess of Wales (1961–1997)". The Leprosy Mission. UK. Retrieved 30 January 2016.
- ↑ 161.0 161.1 "Our Patron Prince William" เก็บถาวร 2016-05-06 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. Centrepoint. Retrieved 21 May 2015.
- ↑ "William becomes patron of the homeless". The Telegraph. 14 September 2005. Retrieved 21 May 2015.
- ↑ 163.0 163.1 163.2 "People Princess Diana speaks out for homeless young".Sarasota Herald-Tribune. 8 December 1995. Retrieved 31 January 2016.
- ↑ 164.0 164.1 164.2 "Author defends Diana criticism". BBC. 17 April 1998. Retrieved 2 February 2017.
- ↑ "Royal Split". The Deseret News. London. AP. 28 February 1996. Retrieved 23 July 2013.
- ↑ 166.0 166.1 Ansari, Massoud; Alderson, Andrew (16 January 2008). "Dr Hasnat Khan: Princess Diana and me". Sunday Telegraph. London. Retrieved 25 August 2008.
- ↑ "Princess Diana's 'Mr Wonderful' Hasnat Khan Still Haunted by her Death" เก็บถาวร 2009-02-08 ที่ archive.today. Sky News. 13 January 2008. Retrieved 25 August 2008.
- ↑ Truscott, Claire (14 January 2008). "Background to Dr Hasnat Khan and Diana, Princess of Wales". The Guardian. Retrieved 5 August 2013.
- ↑ Khoshaba, Christy (31 July 2013). "Princess Diana: Mag details 'secret romance' with Pakistani doctor". Los Angeles Times. Retrieved 5 August 2013.
- ↑ "Princess Diana's ex-lover Hasnat Khan to give evidence" เก็บถาวร 2009-02-08 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. Herald Sun. Victoria, Australia. 9 January 2008. Retrieved 24 August 2008.
- ↑ "Imran and Jemima Khan Welcomed Princess Diana In Pakistan". Huffington Post. 25 May 2011. Retrieved 31 May2013.
- ↑ 172.0 172.1 "Princess Diana was 'madly in love' with heart surgeon Hasnat Khan". The Telegraph. 31 July 2013. Retrieved 10 April2015.
- ↑ "The doctor and Diana". The Guardian. 14 January 2008. Retrieved 10 April 2015.
- ↑ "Hasnat Khan Tells Diana Inquest They Enjoyed "Normal" Sex Life, Says She Ended Affair". Huffington Post. 25 May 2011. Retrieved 28 May 2013.
- ↑ 175.0 175.1 Rayner, Gordon (16 January 2008). "Diana 'planned secret wedding to Hasnat Khan'". Telegraph. London. Archived fromthe original เก็บถาวร 2008-06-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน on 19 June 2008. Retrieved 24 August 2008.
- ↑ "The Life of Diana, Princess of Wales 1961–1997: Separation And Divorce". BBC. สืบค้นเมื่อ 18 มิถุนายน 2560.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ "Diana's funeral watched by millions on television". BBC News. 6 September 1997. Retrieved 13 October 2008.
- ↑ "Tracking 30 years of TV's most watched programmes". BBC. Retrieved 21 June 2015
- ↑ Oborne, Peter (4 September 1999). "Diana crash caused by chauffeur, says report". The Daily Telegraph (1562). London. Archived from the original on 22 May 2008.
- ↑ "Diana crash caused by chauffeur, says report". The Daily Telegraph. No. 1562. London. 4 September 1999. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-05-22. สืบค้นเมื่อ 2017-07-04.
- ↑ "Diana crash was a conspiracy - Al Fayed". BBC. 12 February 1998. สืบค้นเมื่อ 13 October 2008.
- ↑ "Inquests into the deaths of Diana, Princess of Wales and Mr Dodi Al Fayed". Judicial Communications Office. Archived from the original on 22 March 2009. Retrieved 7 December2011.
- ↑ "Princess Diana unlawfully killed". BBC News. 7 April 2008. Retrieved 13 October 2008.
- ↑ "Inquests into the deaths of Diana, Princess of Wales and Mr Dodi Al Fayed: FAQs". Scottbaker-inquests.gov.uk. สืบค้นเมื่อ 13 October 2008.
- ↑ "Al Fayed abandons Diana campaign". BBC News. 8 April 2008. Retrieved 16 January 2012.
- ↑ "World Reaction to Diana's Death". BBC. Retrieved 26 May 2015.
- ↑ 187.0 187.1 "Princess Diana's body comes home". CNN. 31 August 1997. Retrieved 23 July 2013.
- ↑ "Prince Charles Arrives in Paris to Take Diana's Body Home". The New York Times. 31 August 1997. Retrieved 5 May 2014.
- ↑ 189.0 189.1 Spencer, Earl (4 May 2007). "The most hunted person of the modern age". The Guardian. London. Retrieved 27 June 2011.
- ↑ Ibrahim, Youssef M. (9 September 1997). "Millions of Dollars Pouring In To Diana's Favorite Charities". The New York Times. Retrieved 4 January 2017.
- ↑ "Elton John delivers proceeds to Diana charity". CNN. 19 November 1997. Retrieved 4 January 2017.
- ↑ 192.0 192.1 "Diana Returns Home". BBC. Retrieved 29 June 2015
- ↑ Rajan Datar (13 May 2005). "Diana's lost millions". BBC News. Retrieved 13 October 2008.
- ↑ 194.0 194.1 "Diana Memorial Fund faces £15m legal bill as sister of Princess is sued by US company" เก็บถาวร 2017-12-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. The Independent. Retrieved 10 April 2015.
- ↑ 195.0 195.1 "Federal Court Orders Princess Diana Memorial Fund to Pay $2.3 Million in Attorneys' Fees to Franklin Mint" (Press release). The Franklin Mint. 14 September 2000. Retrieved 10 April 2015 – via PR Newswire.
- ↑ 196.0 196.1 "Factfile: history of Diana memorial fund". Daily Mail. Retrieved 10 April 2015.
- ↑ Datar, Rajan (11 November 2004). "BBC NEWS | Business | Diana's lost millions". BBC News. Retrieved 2 April 2009.
- ↑ "Photos Of Dying Diana Outrage Britain, Italian Magazine Printed Photos Of Princess At Crash Site In 1997 – CBS News" เก็บถาวร 2008-10-17 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. CBS News. 14 July 2006. Retrieved 13 October 2008.
- ↑ 199.0 199.1 "Princes' 'sadness' at Diana photo". BBC News. 14 July 2006. Retrieved 13 October 2008.
- ↑ "'Do-not-publish' Diana photo up for auction in US".Inquirer. 3 January 2013. Retrieved 31 January 2017.
- ↑ White, Belinda (19 March 2013). "Princess Diana's dresses raise over £800,000 at auction". The Telegraph. London. Retrieved 20 March 2013.
- ↑ 202.0 202.1 "Handwritten Diana letters sell for £15,100 at auction". BBC News. 5 January 2017. Retrieved 31 January 2017.
- ↑ 203.0 203.1 "Princess Diana's letters about Prince Harry getting into trouble at school sell for five times more than expected". The Telegraph. 6 January 2017. Retrieved 31 January 2017.
- ↑ 204.0 204.1 204.2 "Princess Diana fashion exhibition to feature classic outfits from 80s and 90s". The Guardian. 16 November 2016. Retrieved 31 January 2017.
- ↑ 205.0 205.1 Rayner, Gordon (15 November 2016). "Princess Diana's most iconic dresses being brought back to Kensington Palace to mark 20 years since her death". The Telegraph. Retrieved31 January 2017.
- ↑ "Diana: Her Fashion Story" เก็บถาวร 2017-06-06 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. www.hrp.org.uk. Historic Royal Palaces. Retrieved 16 May 2017.
- ↑ Smout, Alistair; Addiso, Stephen (22 February 2017)."Princess Diana's dresses go on display in London, 20 years after her death". Reuters. Retrieved 10 March 2017.
- ↑ 208.0 208.1 208.2 "Princess Diana: Princes commission statue 20 years after her death". BBC News. 29 January 2017. Retrieved 29 January 2017.
- ↑ "Princes William and Harry plan statue of their mother, Diana". The Guardian. 28 January 2017. Retrieved 31 January2017.
- ↑ 210.0 210.1 210.2 210.3 210.4 Jephson, Patrick (25 June 2011). "We will never forget how Princess Diana made us feel". The Telegraph. Retrieved 2 February 201
- ↑ 211.0 211.1 211.2 White, Michael (31 August 2012). "Princess Diana's influence on the royal family lives on". The Guardian. Retrieved 2 February 2017.
- ↑ Faulkner, Larissa J. (1997). "Shades of Discipline: Princess Diana, The U.S. Media, and Whiteness" เก็บถาวร 2013-12-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. Iowa Journal of Cultural Studies. 16 (31). Retrieved 16 August 2013.
- ↑ Bradford 2006, pp. 307–308.
- ↑ 214.0 214.1 "Patrick Jephson: Prince Charles Was Unable to Reconcile with Princess Diana's Extraordinary Popularity" เก็บถาวร 2017-02-21 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. The Independent. 31 August 2016. Retrieved 2 February 2017.
- ↑ 215.0 215.1 215.2 215.3 215.4 215.5 Conrad, Peter (16 June 2007). "Diana: the myth, 10 years on". The Guardian. Retrieved 2 February 2017.
- ↑ Wallace, Rob (26 May 2013). "'Rebel Royal Mum': Diana's Legacy as Parent". NBC News. Retrieved 2 February 2017.
- ↑ 217.0 217.1 217.2 Hampson, Chris (28 August 2007). "Why Princess Diana still fascinates us". NBC News. Retrieved 2 February 2017.
- ↑ Gray, Paul (15 September 1997). "Farewell, Diana" เก็บถาวร 2017-02-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. Time. Retrieved 2 February 2017.
- ↑ McFadden, Cynthia; Arons, Melinda (29 August 2007)."Princess Diana's Life and Legacy". ABC News. Retrieved 2 February 2017.
- ↑ "Your Thoughts". BBC. Retrieved 2 February 2017.
- ↑ 221.0 221.1 Freedland, Jonathan (12 August 2007). "A moment of madness?". The Guardian. Retrieved 2 February 2017.
- ↑ Carroll, Alicia (31 May 2012). "America’s Obsession With Royalty Started With Princess Diana". The New York Times. Retrieved 2 February 2017.
- ↑ Lydall, Ross (19 November 2012). "Prince William now the most popular royal as monarchy rides high in national poll".London Evening Standard. Retrieved 23 April 2016.
- ↑ Richard Weight, Patriots: National Identity in Britain 1940-2000 (2002) pp 659, 681
- ↑ 225.0 225.1 "Tony Blair: Diana was a manipulator like me". The Telegraph. 31 August 2010. Retrieved 2 February 2017.
- ↑ 226.0 226.1 Alderson, Andrew (26 September 2009). "Criticism of Queen after death of Diana 'hugely upset' Queen Mother". The Telegraph. Retrieved 2 February 2017.
- ↑ Hoge, Warren (4 September 1997). "Royal Family, Stung by Critics, Responds to a Grieving Nation". The New York Times. Retrieved 2 February 2017.
- ↑ Earl Spencer, "A brother remembers his sister: Full text of Earl Spencer's Funeral Oration" online
- ↑ "Man of the Year 1997". Time. Retrieved 16 February2017.
- ↑ Quittner, Joshua (14 June 1999). "Princess Diana—Time 100 People of the Century" เก็บถาวร 2013-03-08 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. Time Magazine.
- ↑ "Great Britons 1–10". BBC via Wayback Machine. Archived from the original on 4 February 2004. Retrieved 22 December 2012.
- ↑ "Japanese rank their favorite 100 historical figures" เก็บถาวร 2017-04-15 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. Japan Probe. 8 May 2006. Retrieved 2 April 2017.
- ↑ 233.0 233.1 Massie, Allan (12 April 2008). "Why Diana is still the spirit of the age". The Telegraph. Retrieved 2 February 2017.
- ↑ Jackson Gee, Tabi (23 May 2016). "What was the secret behind Bella Hadid's sensational Cannes dress?". The Telegraph. Retrieved 19 February 2017.
- ↑ "Best Cannes Film Festival dresses of all time". Marie Claire. 11 May 2016. Retrieved 19 February 2017.
- ↑ "Cannes Film Festival Most Memorable Dresses Of All Time (Slide 12)". Marie Claire. May 2016. Retrieved 19 February 2017.
- ↑ "See Over 50 Years of Glamour on the Cannes Red Carpet". Elle magazine. Retrieved 19 February 2017.
- ↑ Chung, Madelyn (12 May 2016). "The Most Iconic Cannes Film Festival Dresses Of All-Time". The Huffington Post. Retrieved 19 February 2017.
- ↑ 239.0 239.1 239.2 239.3 239.4 239.5 239.6 "Princess Diana's changing fashion style explored in exhibition". BBC News. 19 February 2017. Retrieved 10 March 2017.
- ↑ "Princess Diana’s 1987 Cannes Film Festival dress auctions for £81k!". InStyle UK. 11 May 2011. Retrieved 19 February 2017.
- ↑ 241.0 241.1 "Will Kate kick off a war of the Welles?". The Telegraph. 17 June 2015.
- ↑ "The Woman We Loved". Newsweek. 17 June 2015.
- ↑ "These were the boots that shaped the world" เก็บถาวร 2015-11-17 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. The Telegraph. 17 June 2015.
- ↑ 244.0 244.1 244.2 244.3 244.4 244.5 244.6 Paton, Elizabeth (22 February 2017). "Why Are We Still Obsessed With Princess Diana’s Style?". The New York Times. Retrieved 13 March 2017.
- ↑ Katz, Gregory (22 February 2017). "Dresses that tell a story: Princess Diana fashion exhibit to open at Kensington Palace". Chicago Tribune. Retrieved 2 April 2017.
- ↑ 246.0 246.1 246.2 246.3 246.4 246.5 246.6 Holt, Bethan (24 February 2017). "No gloves and high split skirts: How Princess Diana rewrote the rules of royal dressing". The Telegraph. Retrieved 3 April 2017.
- ↑ "The Princess Diana looks that could be from today". The Telegraph. 25 February 2017. Retrieved 10 March 2017.
- ↑ 248.0 248.1 248.2 248.3 248.4 248.5 248.6 248.7 Holt, Bethan (19 November 2016). "Why Princess Diana remains an enduring style icon for all generations". The Telegraph. Retrieved 1 February 2017.
- ↑ "Princess Diana fashion exhibition to feature classic outfits from 80s and 90s". The Guardian. 16 November 2016. Retrieved 31 January 2017.
- ↑ 250.0 250.1 250.2 250.3 Elbaum, Rachel (30 August 2012). "Forever fashionable: Princess Diana’s style legacy lives on". NBC News. Retrieved1 February 2017.
- ↑ 251.0 251.1 Ferrier, Morwenna (4 April 2016). "Why Rihanna’s obsessed with Princess Diana". The Guardian. Retrieved 1 February2017.
- ↑ Lyons Powell, Hannah (2 October 2013). "Rihanna: Princess Diana was a fashion "gangsta"". Glamour. Retrieved 1 February 2017.
- ↑ "Diana, Style Icon". CBS News. Retrieved 1 February2017.
- ↑ 254.0 254.1 254.2 254.3 254.4 254.5 254.6 254.7 Hudson, Mark (22 February 2017). "Diana: Her Fashion Story, review: this riveting show of Diana's dresses shows just how magnificent she was". The Telegraph. Retrieved 10 March2017.
- ↑ 255.0 255.1 255.2 Tashjian, Rachel (23 February 2017). "How Princess Diana Became a Fashion Icon". Vanity Fair. Retrieved 3 April 2017.
- ↑ 256.0 256.1 256.2 256.3 Mower, Sarah (1 November 2013). "Princess Diana’s Iconic Style: Why We’re Still Fascinated by Her Fashion Today" เก็บถาวร 2016-11-25 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. Vogue. Retrieved 1 February 2017.
- ↑ Perry, Simon (19 February 2017). "See the Dress Princess Diana Wore for Her Last Public Appearance in America". People. Retrieved 2 April 2017.
- ↑ Talarico, Brittany (1 July 2015). "In Honor of Princess Diana's Birthday, We're Looking Back at Some of Her Most Memorable Style Moments". People. Retrieved 1 February2017.
- ↑ 259.0 259.1 259.2 Morgan, Philippa (31 August 2016). "Princess Diana’s most iconic outfits". Glamour. Retrieved 1 February 2017.
- ↑ 260.0 260.1 260.2 Neel, Julia (15 April 2011). "Style File - Diana, Princess Of Wales". Vogue. Retrieved 1 February 2017.
- ↑ Sneed, Tierney (30 October 2013). "Dressing 'Diana' With a Little Help From Her Friends". US News. Retrieved 1 February2017.
- ↑ Leaper, Caroline (19 April 2016). "The story of Jimmy Choo’s 20th anniversary, by numbers". Marie Claire. Retrieved1 February 2017.
- ↑ Adams, Rebecca (1 July 2013). "Princess Diana’s Black Dress Was The Best ‘Revenge’ After Separation". The Huffington Post. Retrieved 1 February 2017.
- ↑ Durand, Carolyn; Hasan, Lama (23 February 2017)."Princess Diana's fashion style on display at Kensington Palace". ABC News. Retrieved 2 April 2017.
- ↑ 265.0 265.1 Holt, Bethan (13 October 2016). "The modern way to dress like Princess Diana". The Telegraph. Retrieved 1 February2017.
- ↑ "Princess Diana's Most Iconic Style Moments". InStyle. Retrieved 1 February 2017.
- ↑ Ramsdale, Suzannah (16 July 2013). "Princess Diana’s dresses: The truth behind her most famous fashion moments" เก็บถาวร 2017-02-02 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. Marie Claire. Retrieved 1 February 2017.
- ↑ "Princess Diana's Most Iconic Style Moments". InStyle. Retrieved 1 February 2017.
- ↑ Crimmens, Tamsin (17 November 2016). "Princess Diana's Iconic Fashion Moments". Elle UK. Retrieved 1 February 2017.
- ↑ Donnelly, Sophie; Della-Ragione, Joanna (10 June 2010)."Whatever happened to Princess Diana's dresses?". Daily Express. Retrieved 1 February 2017.
- ↑ "The International Hall of Fame: Women". Vanity Fair. 3 August 2009. Retrieved 31 January 2017.
- ↑ Maher, Lucy (3 April 2004). "All-Time Most Beautiful Women" เก็บถาวร 2016-04-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. People. Retrieved 23 April 2016.
- ↑ Lee Adams, William (2 April 2012). "All-TIME 100 Fashion Icons: Princess Diana". Time Magazine. Retrieved 1 February2017.
- ↑ Cochrane, Lauren (11 October 2016). "Asos launch Princess Diana-themed collection". The Guardian. Retrieved31 January 2017.
- ↑ Bennett, Catherine (25 February 2017). "Diana shook up the royals but they have their poise back now". The Guardian. Retrieved 2 April 2017.
- ↑ "Austrians unveil memorial to Princess Diana". BBC News. 2 September 2013. Retrieved 31 January 2017.
- ↑ Bennhold, Katrin (31 August 2007). "In Paris, 'pilgrims of the flame' remember Diana". International Herald Tribune. Archived from the original on 14 February 2008. Retrieved 23 April 2016.
- ↑ Silverman, Stephen M. (28 August 2002). "Paris Honors Diana with Two Memorials" เก็บถาวร 2016-02-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. People. Retrieved 30 January2016.
- ↑ "Harrods unveils Diana, Dodi statue". CNN. 1 September 2005. Retrieved 30 January 2016.
- ↑ "Rosa Princess of Wales = 'Hardinkum'". Royal Horticultural Society. Retrieved 4 February 2017.
- ↑ "'Princess of Wales' rose Description". Help Me Find. Retrieved 4 February 2017.
- ↑ 282.0 282.1 "Princess of Wales" เก็บถาวร 2017-02-20 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. Harkness. Retrieved 4 February2017.
- ↑ "'Diana, Princess of Wales' rose Description". Help Me Find. Retrieved 4 February 2017.
- ↑ "1998, February, 4. Princess Diana." เก็บถาวร 2017-02-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. Azermarka. Retrieved 23 August 2013.
- ↑ "Princess Diana Honored on Postage Stamps: Online Sales from The Collectible Stamps Gallery" เก็บถาวร 2016-01-23 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. The Collectible Stamps Gallery. Retrieved 1 February 2016.
- ↑ "1998 – (140) To the Memory of Princess Diana". HayPost. Archived from the original on 21 January 2014. Retrieved 23 April 2016.
- ↑ "Royal princess named Charlotte Elizabeth Diana". BBC. London. 4 May 2015. Retrieved 16 May 2015.
- ↑ "Princess Charlotte Elizabeth Diana: why William and Kate made their name choices for royal baby". The Daily Telegraph. London. 4 May 2015. Retrieved 16 May 2015.
- ↑ "Princess Charlotte: Prince William pays tribute to late mother Diana with baby's middle name". Daily Mirror. London. 4 May 2015. Retrieved 16 May 2015.
- ↑ พระภาติยะ คือ หลานซึ่งเป็นลูกของน้องชายหรือพี่ชาย
- ↑ "Earl Spencer names baby daughter after Diana, Princess of Wales". The Telegraph. UK. 6 August 2012. Retrieved 5 February 2017.
- ↑ Rayner, Gordon; Sawer, Patrick (29 January 2017). "Diana's Princes announce lasting memorial to their mother, "who touched so many lives"". The Telegraph. Retrieved 31 January2017.
- ↑ Robert III. "The Prince of Wales - Titles". Princeofwales.gov.uk. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-08-26. สืบค้นเมื่อ 13 October 2008.
- ↑ การที่ประชาชนและสื่อมวลชนเรียกพระองค์ต่อไปว่า "เจ้าหญิงไดอานา" หลังทรงหย่าขาดแล้วนั้นถือว่าไม่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ เนื่องจากพระองค์ทรงสูญเสียฐานันดรศักดิ์ Her Royal Highness (HRH) เมื่อทรงหย่ากับเจ้าชายชาลส์ในทันที ผู้มีสิทธิได้พระยศ "เจ้าหญิง" นำหน้าชื่อได้ ต้องเป็นผู้ที่มีชาติกำเนิดเป็นเจ้าหญิงเท่านั้น เช่น เจ้าหญิงแอนน์ พระราชกุมารี หรือเจ้าหญิงมาร์กาเร็ต พระขนิษฐาในสมเด็จพระราชินีนาถ ในรัชกาลปัจจุบันของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 มีหญิงสามัญชนเพียงผู้เดียวเท่านั้นที่ได้รับพระราชทานพระยศ "เจ้าหญิง" นำหน้าพระนามคือ เลดี้อลิซ คริสตาเบล มอนเตกู-ดักลาส-สกอต ซึ่งในเวลาต่อมา ได้อภิเษกสมรสกับเจ้าชายเฮนรี ดยุกแห่งกลอสเตอร์ เมื่อ ค.ศ. 1935 และได้รับการสถาปนาเป็น อลิซ ดัชเชสแห่งกลอสเตอร์ แต่ต่อมาใน ค.ศ. 1974 เจ้าชายเฮนรีสิ้นพระชนม์และตำแหน่งดยุกแห่งกลอสเตอร์ได้ตกทอดแก่เจ้าชายริชาร์ด พระโอรส แต่ดัชเชสอลิซไม่ทรงโปรดที่จะดำรงอิสริยศ เจ้าหญิงดัชเชสหม้ายแห่งกลอสเตอร์ ดังนั้นเพื่อป้องกันการสับสนกับ บริจิตต์ ดัชเชสแห่งกลอสเตอร์ พระชายาของพระโอรส สมเด็จพระราชินีนาถจึงทรงแต่งตั้งให้ดัชเชสอลิซเป็น เจ้าหญิงอลิซ ดัชเชสแห่งกลอสเตอร์
- ↑ "Tony coined the 'people's princess'". The Daily Telegraph. London. 9 July 2007. Retrieved 23 June 2015.
- ↑ "The Coat of Arms of HRH Prince William and HRH Prince Harry of Wales". College of Arms. Retrieved 2 November2014.
- ↑ "A Modern Monarchy – The Royal Family appears to have overcome its troubles and the new generation has adapted skilfully to a changing Britain". The Times. 25 July 2013. Leading articles.
Prince George of Cambridge, born on Monday, now has in his relatively recent line miners and labourers; something hard to contemplate a generation ago.
- ↑ David White, Somerset Herald, College of Arms (23 July 2013). "The Windsors & the Middletons – A family tree". The Times. Pull-out supplement.
- ↑ Lowe, Mark Anthony (1860). Patronymica Britannica, A Dictionary of Family Names of the United Kingdom. London. p. 325.
- ↑ Ziegler, Philip (1988). The Sixth Great Power: Barings 1762–1929. London: Collins. ISBN 0-00-217508-8.
- ↑ "A Brief History of Barings"[ลิงก์เสีย]. Baring Archive. Retrieved 11 April 2013.
- ↑ Bradford 2006, p. 31.
- ↑ "Charles 'amazed' by Lady Di's yes". 25 February 1981. Archived from the original on 17 November 2015. Retrieved 25 February 2015.
- ↑ Moncreiffe of that Ilk, Sir Iain (1982).Royal Highness. London: Hamish Hamilton. p. 38.
- ↑ Evans, Richard K. (2007). The Ancestry of Diana, Princess of Wales. Boston: New England Historic Genealogical Society.ISBN 9780880822084. Archived from the original on 10 December 2010. Retrieved 12 January 2017.
- ↑ Williamson 1981a.
- ↑ Williamson 1981b.
- ↑ Reitwiesner, William Addams (2006). "The Ethnic ancestry of Prince William". Retrieved 24 December 2012.
- ↑ "New genetic evidence that Prince William, Duke of Cambridge, is the direct descendant of an Indian woman and that he carries her mitochondrial DNA." (PDF). BritainsDNA. Retrieved 10 April 2015.
- ↑ "DNA tests reveal Prince William's Indian ancestry"[ลิงก์เสีย]. CNN. Retrieved 10 April 2015.
- ↑ Brown, David (14 June 2013). "Revealed: the Indian ancestry of William". The Times. p. 1. (Subscription required (help)).
- ↑ Sinha, Kounteya (16 June 2013). "Hunt on for Prince William's distant cousins in Surat". The Times of India. Retrieved 11 August 2013.
- ↑ Hern, Alex (14 June 2013). "Are there ethical lapses in the Times' story on William's 'Indian ancestry'?". New Statesman. Retrieved 11 August 2013.
Although Eliza Kewark was indeed thought of as Armenian, it's not particularly surprising that she would have had Indian ancestors; the Armenian diaspora had been in India for centuries at the time of her birth, and even the most insular communities tend to experience genetic mixing over in that timescale.
บรรณานุกรม
[แก้]- Bradford, Sarah (2006). Diana. New York; Toronto; London: Viking. ISBN 978-0-670-03807-7.
- Brandreth, Gyles (2004). Philip and Elizabeth: Portrait of a Marriage. London: Century. ISBN 0-7126-6103-4.
- Brown, Tina (2007). The Diana Chronicles. London; New York: Doubleday. ISBN 978-0-385-51708-9.
- Dimbleby, Jonathan (1994). The Prince of Wales: A Biography. New York: William Morrow and Company. ISBN 0-688-12996-X.
- Morton, Andrew (1997) [1992]. Diana: Her True Story – In Her Own Words. New York: Simon & Schuster. ISBN 0-684-85080-X.
- Smith, Sally Bedell (2000) [1999]. Diana in Search of Herself: Portrait of a Troubled Princess. Signet. ISBN 978-0-451-20108-9.
- Williamson, D. (1981a). "The Ancestry of Lady Diana Spencer". Genealogist's Magazine. 20 (6): 192–199.
- Williamson, D. (1981b). "The Ancestry of Lady Diana Spencer". Genealogist's Magazine. 20 (8): 281–282.
อ่านเพิ่มเติม
[แก้]- Anderson, Christopher (2001). Diana's Boys: William and Harry and the Mother they Loved (1st ed.). United States: William Morrow. ISBN 978-0-688-17204-6.
- Bedell Smith, Sally (1999). Diana in Search of Herself: Portrait of a Troubled Princess. Times Books. ISBN 0-8129-3030-4.
- Brennan, Kristine (1998). Diana, Princess of Wales. Philadelphia: Chelsea House. ISBN 0-7910-4714-8.
- Burrell, Paul (2003). A Royal Duty. United States: HarperCollins Entertainment. ISBN 978-0-00-725263-3.
- Burrell, Paul (2007). The Way We Were: Remembering Diana. United States: HarperCollins Entertainment. ISBN 978-0-06-113895-9.
- Campbell, Lady Colin (1992). Diana in Private: The Princess Nobody Knows. London: St Martins Pr. ISBN 978-0-3120-8180-5.
- Caradec'h, Jean-Michel (2006). Diana. L'enquête criminelle (ภาษาฝรั่งเศส). Neuilly-sur-Seine: Michel Lafon. ISBN 978-2-7499-0479-5.
- Corby, Tom (1997). Diana, Princess of Wales: A Tribute. United States: Benford Books. ISBN 978-1-56649-599-8.
- Coward, Rosalind (2004). Diana: The Portrait. United Kingdom (other publishers worldwide): HarperCollins. ISBN 0-00-718203-1.
- Davies, Jude (2001). Diana, A Cultural History: Gender, Race, Nation, and the People's Princess. Houndmills, Hampshire; New York: Palgrave. ISBN 0-333-73688-5. OCLC 46565010.
- Denney, Colleen (2005). Representing Diana, Princess of Wales: Cultural Memory and Fairy Tales Revisited. Madison, New Jersey: Fairleigh Dickinson University Press. ISBN 0-8386-4023-0. OCLC 56490960.
- Edwards, Anne (2001). Ever After: Diana and the Life She Led. New York: St. Martin's Press. ISBN 978-0-312-25314-1. OCLC 43867312.
- Frum, David (2000). How We Got bare: The '70s. New York: Basic Books. ISBN 0-465-04195-7.
- Mattern, Joanne (2006). Princess Diana. DK Biography. New York: DK Publishing. ISBN 978-0-756-61614-4.
- Morton, Andrew (2004). Diana: In Pursuit of Love. United States: Michael O'Mara Books. ISBN 978-1-84317-084-6.
- Rees-Jones, Trevor (2000). The Bodyguard's Story: Diana, the Crash, and the Sole Survivor. United States: Little, Brown. ISBN 978-0-316-85508-2.
- Steinberg, Deborah Lynn (1999). Mourning Diana: Nation, Culture and the Performance of Grief. London: Routledge. ISBN 0-415-19393-1.
- Taylor, John A. (2000). Diana, Self-Interest, and British National Identity. Westport, CN: Praeger. ISBN 0-275-96826-X. OCLC 42935749.
- Thomas, James (2002). Diana's Mourning: A People's History. Cardiff: University of Wales Press. ISBN 0-7083-1753-7. OCLC 50099981.
- Turnock, Robert (2000). Interpreting Diana: Television Audiences and the Death of a Princess. London: British Film Institute. ISBN 0-85170-788-2. OCLC 43819614.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- Diana, Princess of Wales at the official website of the Royal Family
- ภาพเหมือนของ Diana, Princess of Wales ที่หอศิลป์ภาพเหมือนแห่งชาติ, ลอนดอน
- Coroner's Inquests into the deaths of Diana, Princess of Wales and Mr Dodi Al Fayed at National Archives
- BBC mini-site Diana One Year On pictures of Diana, Panorama interview video extracts, coverage of the funeral, how the UK newspapers reported her death
- Diana, Princess of Wales ที่อินเทอร์เน็ตมูวีเดตาเบส
- FBI Records: The Vault – Diana, Princess of Wales at fbi.gov
- ข้อมูลการออกสื่อ บน ซี-สแปน
ก่อนหน้า | ไดอานา เจ้าหญิงแห่งเวลส์ | ถัดไป | ||
---|---|---|---|---|
มาเรียแห่งเท็ค | เจ้าหญิงแห่งเวลส์ |
คามิลลา (ทรงใช้พระอิสริยยศหลักเป็น ดัชเชสแห่งคอร์นวอลล์) | ||
มาเรียแห่งเท็ค | ดัชเชสแห่งคอร์นวอลล์ |
คามิลลา | ||
มาเรียแห่งเท็ค | ดัชเชสแห่งรอธเซย์ |
คามิลลา |
ไดอานา เจ้าหญิงแห่งเวลส์ (แก้ไข | คุย | ประวัติ | ลิงก์ | เฝ้าดู | ปูม) — ลงคะแนนและเสนอแนะ เสนอวันที่ วันที่พิจารณา