ข้ามไปเนื้อหา

เกรซ เคลลี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เจ้าหญิงเกรซ
เจ้าหญิงพระชายาแห่งโมนาโก
ดำรงพระยศ18 เมษายน 1956 – 14 กันยายน 1982
(26 ปี 149 วัน)
ก่อนหน้ากีแลน ดอม็องแฌ
ถัดไปชาร์ลีน วิตต์สท็อก
ประสูติ12 พฤศจิกายน ค.ศ. 1929(1929-11-12)
โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยแฮเนอมันน์ ฟิลาเดลเฟีย รัฐเพนซิลเวเนีย สหรัฐ
สิ้นพระชนม์14 กันยายน ค.ศ. 1982(1982-09-14) (52 ปี)
โรงพยาบาลโมนาโก ประเทศโมนาโก
ฝังพระศพ18 กันยายน ค.ศ. 1982
อาสนวิหารแม่พระปฏิสนธินิรมล มอนาโก-วีล ประเทศโมนาโก
พระสวามีเจ้าชายแรนีเยที่ 3 องค์อธิปัตย์แห่งโมนาโก (1956–1982)
พระบุตร
ราชวงศ์กรีมัลดี (เสกสมรส)
พระบิดาจอห์น บี. เคลลี ซีเนียร์
พระมารดามาร์กาเรต แคเทอริน เมเจอร์
ศาสนาโรมันคาทอลิก
อาชีพนักแสดง (1950–1956)
ลายพระอภิไธย

เจ้าหญิงเกรซแห่งโมนาโก หรือ เกรซ แพทริเซีย เคลลี (อังกฤษ: Grace Patricia Kelly; 12 พฤศจิกายน ค.ศ. 1929 – 14 กันยายน ค.ศ. 1982) เป็นนักแสดงภาพยนตร์ชาวอเมริกันผู้ได้รับรางวัลอะแคเดมี ได้เสกสมรสกับเจ้าชายเรนิเยที่ 3 องค์อธิปัตย์แห่งโมนาโก เมื่อวันที่ 19 เมษายน ค.ศ. 1956 เจ้าหญิงเกรซเป็นพระมารดาของเจ้าชายอัลแบร์ที่ 2 องค์อธิปัตย์แห่งโมนาโก

หลังการอภิเษกสมรสแล้ว เจ้าหญิงเกรซถือสัญชาติพร้อมกันสองสัญชาติ คือทั้งอเมริกันและโมนาโก ชีวิตที่เป็นดัง “เทพนิยาย” ทำให้พระองค์เป็นชาวอเมริกันผู้เลื่องลือและเป็นที่รักมากที่สุดในคริสต์ศตวรรษที่ 20[ต้องการอ้างอิง]

ครอบครัว

[แก้]

เกรซ เคลลีเกิดที่ย่านอีสฟอลล์ในเมืองฟิลาเดลเฟีย รัฐเพนซิลเวเนีย เป็นบุตรคนที่ 3 ในจำนวน 4 คนของนายแจ็คและนางมากาเร็ต เคลลี บิดาของเกรซเป็นบุตร 1 ใน 10 คนของครอบครัวชาวอเมริกันคาทอลิกที่อพยพมาจากสาธารณรัฐไอร์แลนด์ แจ็คผู้เป็นบิดาเคยเป็นวีรบุรุษของชาวอเมริกันมาแล้วจากการได้เหรียญทองโอลิมปิกมากถึง 3 เหรียญในแข่งขันเรือกรรเชียงคู่ในขณะที่กีฬาชนิดนี้กำลังเป็นที่นิยมสูงสุด แจ็คทำธุรกิจการค้าอิฐที่ใหญ่ที่สุดในฝั่งตะวันออกของสหรัฐฯ และประสบความสำเร็จในระดับมหาเศรษฐีคนหนึ่ง พี่น้องของแจ็คหลายคนประสบความสำเร็จในชีวิตด้านศิลปะ คนหนึ่งเป็นนักเขียนบทละครย่อยที่โด่งดัง อีกคนหนึ่งได้รับรางวัลพูลิตเซอร์

เมื่อ ค.ศ. 1935 แจ็ก หรือที่เรียกกันอย่างว่า จอห์น เคลลี ได้ลงสมัครรับการเลือกตั้งเป็นนายกเทศมนตรีในนามของพรรคเดโมแครตแต่ก็แพ้อย่างหวุดหวิด ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ประธานาธิบดีแฟรงกลิน ดี. รูสเวลต์ได้แต่งตั้งแจ็กเป็นประธานกรรมการพลศึกษาแห่งชาติซึ่งเป็นตำแหน่งทางประชาสัมพันธ์ที่ใช้ความมีชื่อเสียงด้านกีฬาของเขามาช่วยโน้มน้าวให้ชาวอเมริกันหันมาออกกำลังกายเพื่อสุขภาพมากขึ้น

มากาเร็ต มารดาของเกรซมีเชื้อสายเยอรมันที่เข้ารีตเป็นคาทอลิก เธอเองก็เก่งด้านกีฬา จบสาขาพลศึกษาจากมหาวิทยาลัยเทมเพิลซึ่งต่อมาได้เป็นหัวหน้าภาควิชาพลศึกษาคนแรกของมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย

จอห์น บี เคลลี จูเนียร์พี่ชายของเกรซก็มีเชื้อไม่ทิ้งแถวของครอบครัว โดยเป็นนักกีฬาที่ชนะเลิศรางวัล “เจมส์ อี ซุลลิแวน” ซึ่งเป็นรางวัลสูงสุดสำหรับกีฬาสมัครเล่นของสหรัฐฯ เมื่อ ค.ศ. 1947 ในปี 1956 จอห์น จูเนียร์ยังได้รางวัลเหรียญทองแดงโอลิมปิกฤดูร้อนจากการแข่งขันเรือกรรเชียง และได้มอบเหรียญนี้เป็นของขวัญแต่งงานของน้องสาว

ชีวิตการแสดง

[แก้]
เกรซ เคลลีในการแสดงแบบชุดกลางคืนในภาพยนตร์เรื่อง Rear Window.

ตั้งแต่เด็ก เกรซก็มีเค้าลางว่าจะได้ทำงานในสายอาชีพการแสดง เกรซได้เป็นนางแบบเดินแฟชั่นในงานสังคมสาธารณะกุศลร่วมกับแม่และพี่สาว การแสดงครั้งแรกของเกรซมีขึ้นเมื่อเธอมีอายุเพียง 12 ขวบโดยการแสดงละครเรื่องหนึ่ง ในระหว่างการเรียนชั้นมัธยมปลาย เกรซได้แสดงทั้งละครและระบำ ในหนังสือรุ่น เพื่อน ๆ เธอเขียนทำนายไว้ว่าเธอจะได้เป็น “ดาราที่มีชื่อเสียงทั้งในจอเงินและทางวิทยุ”

เมื่อจบชั้นมัธยมปลาย เกรซตัดสินใจมุ่งสู่อาชีพการแสดง และได้เข้าศึกษาใน สถาบันศิลปะการแสดงอเมริกันในนิวยอร์ก ซึ่งเป็นสถานศึกษาที่ได้ผลิตดาราที่มีชื่อเสียงในวงการมาแล้วหลายคน เช่น แคทารีน เฮปเบิร์นและสเปนเซอร์ เทรซีเป็นต้น เกรซหารายได้มาจุนเจือค่าเล่าเรียนจากเป็นนางแบบ ระหว่างการศึกษา เกรซเป็นนักศึกษาที่ขยันมาก ใช้เครื่องอัดเสียงมาช่วยในการฝึกพูดจนได้ถึงขั้นสมบูรณ์แบบ เธอได้เริ่มงานแสดงละครบรอดเวย์เป็นครั้งปฐมฤกษ์ และเมื่ออายุ 19 ปี เกรซจบการศึกษาด้วยการแสดงละครเรื่อง “เดอะฟิลาเดลเฟียสตอรี” ซึ่งเป็นเรื่องเดียวกับภาพยนตร์เรื่องสุดท้ายในชีวิตการแสดงภาพยนตร์ของเธอ

ต่อมาเกรซได้เข้าสู่วงการโทรทัศน์และประสบความสำเร็จซึ่งนำไปสู่วงการจอเงินเป็นครั้งแรกโดยการเป็นตัวแสดงประกอบในภาพยนตร์เรื่อง “14 ชั่วโมง” (ค.ศ. 1951) เมื่ออายุ 22 ปี ภาพยนตร์เรื่องนี้เองที่ทำให้เกรซได้รับข้อเสนอมากหลายรายแต่เธอก็ปฏิเสธด้วยเกรงว่าจะขาดอิสรภาพในวงการละคร

แต่อย่างไรก็ดี เมื่อเกรซได้รับโทรเลขจากผู้กำกับภาพยนตร์ฮอลลีวูดให้มาแสดงนำคู่กับแกรี คูเปอร์ ในเรื่อง “ไฮนูน” ซึ่งได้แม้จะได้รับรางวัลออสการ์ 2 ถึงรางวัล แต่เกรซก็ยังไม่พอใจและสมัครเข้ารับการฝึกจากครูฝึกสอนการแสดง ซึ่งมีผลให้ได้รับบทบาทเป็นผู้แสดงประกอบในภาพยนตร์ที่แสดงโดยคล๊าก เกเบิลและเอวา การ์ดเนอร์ในเรื่อง “โมแกมโบ” (ค.ศ. 1953) ที่ถ่ายทำในป่าประเทศเคนยา การฝึกฝนต่อดังกล่าว มีผลให้เกรซได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ส่งให้เกรซขึ้นชั้นในระดับดารา

ผู้กำกับชื่อดังคือ อัลเฟรด ฮิชค็อก ได้ให้เกรซสวมบทบาทนางเอกในภาพยนตร์ประเภทลึกลับตื่นเต้นหลายเรื่อง รวมทั้งเรื่อง “เรียร์ วินโดว์” คู่กับเจมส์ สจ๊วตซึ่งทำให้เกรซเป็นที่เลื่องลือไปทั่วประเทศ ฮิชค็อกได้ให้เกรซแสดงอีกหลายเรื่องจนที่เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก ใน ค.ศ. 1955 เคลลีได้รับรางวัลอะแคเดมีในฐานะนักแสดงยอดเยี่ยมในเรื่อง “เด็กบ้านนอก” (The Country Girl)

เรื่องสุดท้ายที่เกรซนำแสดงได้แก่เรื่อง “สังคมชั้นสูง” (High Society – ค.ศ. 1956) ภาพยนตร์เพลงที่ดัดแปลงจากเรื่อง “เดอะฟิลาเดลเฟียสตอรี” ซึ่งเป็นเรื่องเดียวกับเรื่องที่เกรซใช้แสดงเพื่อจบการศึกษาดังกล่าวในตอนต้น

แม้ชีวิตการเป็นนักแสดงภาพยนตร์ของเกรซ เคลลีจะมีช่วงเวลาเพียง 5 ปี และแสดงไปเพียง 11 เรื่อง ความสวยและเสน่ห์ของเกรซได้ประทับลงไปในความทรงจำของคนอมเริกันและนักชมภาพยนตร์ในยุคนั้นอย่างไม่มีวันลืมเลือน

การแต่งงานและชีวิตเจ้าหญิง

[แก้]

ในเดือนเมษายน ค.ศ. 1955 เกรซ เคลลีได้รับการขอร้องให้เป็นตัวแทนของสหรัฐฯ ในเทศกาลภาพยนตร์กาน ขณะที่อยู่ที่นั่น เธอได้รับเชิญไปร่วมงานถ่ายภาพในวังโมนาโกกับเจ้าชายเรนีเย เจ้าผู้ครองประเทศโมนาโก หลังจากผลัดผ่อนหลายครั้งจากความไม่สะดวกหลายอย่าง ในที่สุด เกรซก็ได้ไปถึงโมนาโก ที่ซึ่งทำให้เกรซได้พบกับเจ้าชาย[1]

หลังจากกลับสหรัฐฯ และเริ่มแสดงภาพยนตร์เรื่องใหม่เรื่อง “หงส์” (The Swan - ค.ศ. 1956) ซึ่งบังเอิญสวมบทบาทเป็นเจ้าหญิง ไม่นานจากนั้น เกรซ เคลลีเริ่มมีการติดต่อสัมพันธ์กับเจ้าชายเรนีเยเป็นการส่วนตัว ในเดือนธันวาคมปีนั้น เจ้าชายก็ได้เสด็จมาอเมริกาเป็นทางการ ซึ่งมีการโจษจันว่าเสด็จเพื่อแสวงหาพระชายาเนื่องจากสนธิสัญญากับฝรั่งเศสซึ่งทำไว้เมื่อปี 1917 บ่งไว้ว่า เมื่อใดที่เจ้าชายแห่งโมนาโกไม่มีรัชทายาท โมนาโกจะต้องรวมกับฝรั่งเศส

เจ้าชายได้ถูกถามในการให้สัมภาษณ์ว่าพระองค์กำลังแสวงหาพระชายาใช่หรือไม่ ซึ่งพระองค์ทรงตอบปฏิเสธ และในคำถามถัดมาถามว่าสมมุติว่าใช่ พระองค์จะโปรดพระชายาแบบไหน? พระองค์ทรงพระสรวลแล้วตอบว่า “ไม่ทราบ... แต่คงจะดีที่สุดกระมัง” เจ้าชายได้ทรงพบเกรซ เคลลีกับครอบครัวของเธอ และในอีกเพียง 3 วันต่อมาเจ้าชายเรนีเยก็ขอแต่งงานกับเกรซ ซึ่งเธอตอบรับ จากนั้นพระองค์และครอบครัวของเกรซก็ได้เตรียมการแต่งงานที่โด่งดังที่สุดแห่งศตวรรษ

ข่าวการหมั้นเป็นที่ตื่นเต้นเลื่องลือ แม้จะหมายความถึงการสิ้นสุดชีวิตการแสดงของเกรซก็ตาม วงการภาพยนตร์ก็รู้ดีว่าคงเป็นไปไม่ได้ที่จะให้เกรซอยู่ในวงการแสดงต่อไป จึงได้แต่อวยพรให้เธอมีความสุข

การเตรียมพระราชพิธีมงคลสมรสเต็มไปด้วยความพิถีพิถัน มีการทาสีพระราชวัง ตบแต่งใหม่ทั้งหมด รวมทั้งพิธีการเดินทางข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกสู่โมนาโก ในวันที่ 4 เมษายน ค.ศ. 1956 เกรซ เคลลีได้ลงเรือที่ท่าในนครนิวยอร์กพร้อมกับเพื่อนเจ้าสาวและครอบครัวของเธอ สุนัขพูเดิลและสัมภาระ 400 ชิ้นออกจากท่าสู่ริเวียรา มีนักข่าวมากกว่า 400 คนขอร่วมเดินทางไปด้วย แต่ก็ถูกปฏิเสธเกือบทั้งหมด ใช้เวลาเดินทาง 8 วัน มีผู้คอยต้อนรับมากกว่าสองหมื่นคนเรียงรายโห่ร้องต้อนรับเจ้าหญิงในอนาคตตามถนน

พระราชพิธีสมรสได้รับการถ่ายทอดไปทั่วยุโรป เกรซต้องจดจำชื่อตำแหน่งทางการให้ได้มากถึง 142 ชื่อ ในงานพระราชพิธีมีแขกผู้มีเกียรติและชนชั้นสูงได้รับเชิญจากประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก 600 คน และคาดว่ามีผู้ชมการถ่ายทอดทางโทรทัศน์รวม 30 ล้านคน เจ้าชายเรนีเยและเจ้าหญิงเกรซพระชายาได้ลงเรือยอชต์ดื่มน้ำผึ้งพระจันทร์ท่องทะเลเมดิเตอร์เรเนียนเป็นเวลา 7 วันในคืนวันนั้นเอง

ทั้งสองพระองค์ได้พระราชธิดาพระองค์แรกหลังพระราชพิธีสมรส 9 เดือนกับ 4 วัน มีการยิงสลุต 21 นัดและประกาศเป็นวันหยุดราชการ หยุดการพนัน แจกแชมเปญฟรี และในปีเศษต่อมามีการยิงสลุต 101 นัดเพื่อต้อนรับโอรส คือเจ้าชายอัลแบร์

เจ้าชายเรนีเยและเจ้าหญิงเกรซมีพระโอรสและพระธิดา 3 พระองค์ดังนี้

เจ้าหญิงเกรซไม่ได้หวนกลับสู่วงการจอเงินอีก พระองค์ทรงเลือกที่จะเป็นผู้นำประเทศฝ่ายสตรี ใน ค.ศ. 1962 ฮิตช์ค็อกได้ทูลชวนพระองค์ให้มาแสดงภาพยนตร์อีก พระองค์อยากจะลองแต่ไม่มีผู้ใดเห็นด้วยรวมทั้งเจ้าชายเรนีเย เจ้าหญิงจึงตอบปฏิเสธไป แต่อย่างไรก็ตาม เจ้าหญิงเกรซก็ได้เข้าสู่วงการศิลปินในรูปแบบพิเศษโดยการอ่านบทกลอนในภาพยนตร์ชุดสารคดีเมื่อปี 1977 พระองค์ในฐานะเจ้าหญิงได้มีบทบาทในการยกระดับสถาบันศิลปะของโมนาโก มีการจัดตั้งมูลนิธิเจ้าหญิงเกรซ ขึ้นเพื่ออุปถัมภ์ศิลปินของประเทศ

เจ้าหญิงเกรซเป็นบุคคลชั้นสูงคนแรกที่สนับสนุนการเลี้ยงทารกด้วยนมมารดา ทรงจัดงานคริสต์มาสประจำปีสำหรับเด็กกำพร้าและทรงจัดตั้งสโมสรสวนดอกไม้ขึ้นเนื่องจากที่พระองค์โปรดปรานดอกไม้มาก

เจ้าชายเรนีเยและเจ้าหญิงเกรซได้จัดงานเฉลิมฉลองวาระที่ได้ทรงอภิเษกสมรสครบ 25 ปี เมื่อ ค.ศ. 1981

การสิ้นพระชนม์

[แก้]

เจ้าหญิงเกรซสิ้นพระชนม์ในวันที่ 14 กันยายน ค.ศ. 1982 ด้วยพระชนมายุ 52 พรรษา เจ้าหญิงเกรซและเจ้าหญิงสเตฟานีพระราชธิดาได้ขับรถมุ่งสู่โมนาโกจากที่ประทับในชนบท พระองค์ประชวรกะทันหันด้วยโรคเส้นพระโลหิตแตกในพระมัตถลุงค์ ทำให้รถโรเวอร์ที่ทรงขับอยู่พลิกคว่ำตกจากไหล่เนินที่สูงหลายตลบ และสิ้นพระชนม์ในวันรุ่งขึ้น[2] มีการโจษจันกันว่าจุดเกิดเป็นถนนช่วงโค้งที่เดียวกันกับที่ใช้เป็นฉากภาพยนตร์ แต่พระโอรสทรงปฏิเสธ เจ้าหญิงสเตฟานีได้รับบาดเจ็บเพียงเล็กน้อย

หลุมพระศพของเกรซ เคลลี ที่โบสถ์เซนต์นิโคลาส

พระศพของเจ้าหญิงเกรซได้รับการฝังไว้ในโบสถ์เซนต์นิโคลาส ประเทศโมนาโก และต่อมาพระศพเจ้าชายเรนีเยก็ถูกฝังไว้เคียงของเจ้าหญิงเกรซหลังจากสิ้นพระชนม์ใน ค.ศ. 2005 มีประชาชนมากกว่า 100 ล้านคนที่ชมการถ่ายทอดพิธีฝังพระศพเจ้าหญิงเคลลี

หลังการสิ้นพระชนม์

[แก้]

ชีวิตในราชวงศ์เริ่มเปลี่ยนไป สิ่งที่ทุกคนเป็นห่วงคือพระพลานามัยของเจ้าชายเรนิเย นับตั้งแต่การจากไปของเจ้าหญิงเกรซ เคลลี่ อีกทั้งความประพฤติของพระราชธิดาทั้งสองพระองค์ ที่ไม่เคยนำความชื่นใจมาเลย โดยเฉพาะเจ้าหญิงสเตฟานีที่มีความประพฤติ ไปในทางลบด้านชู้สาวเสียมากกว่า ส่วนเจ้าชายอัลแบร์ก็คงตำแหน่งเจ้าชายเพลย์บอยไม่เสื่อมคลาย

ทั้งนี้เจ้าชายเรนิเยทรงรับการรักษาในโรงพยาบาลเมื่อวันที่ 7 มีนาคม ค.ศ. 2005 หลังจากทรงพระประชวรจากพระอาการของพระปัปผาสะติดเชื้อ เมื่อวันที่ 22 มีนาคม อาการทรุดลง เมื่อวันที่ 1 เมษายน สำนักพระราชวังโมนาโกก็แถลงว่า เจ้าชายอัลแบร์จะทรงขึ้นสำเร็จราชการแทนพระองค์ สำนักพระราชวังโมนาโกแถลงว่าเจ้าชายเรนิเยสิ้นพระชนม์แล้วเมื่อเวลา 04.35 น. ด้วยพระชันษา 81 ปี โดยมีเจ้าชายอัลแบร์ประทับอยู่เคียงข้าง

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]
ก่อนหน้า เกรซ เคลลี ถัดไป
กีแลน มารี ฟร็องซัว ดอม็องแฌ เจ้าหญิงพระชายาแห่งโมนาโก
(19 เมษายน พ.ศ. 2499 – 14 กันยายน พ.ศ. 2525)
ชาร์ลีน ไลเน็ตต์ วิตต์สท็อก
  1. "The Philadelphia Inquirer from Philadelphia, Pennsylvania on May 7, 1955 · Page 1". Newspapers.com (ภาษาอังกฤษ).
  2. "1982: Hollywood princess dead" (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). 1982-09-14. สืบค้นเมื่อ 2021-07-06.