ข้ามไปเนื้อหา

โยเซฟ (บุตรยาโคบ)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก โยเซฟ (พระธรรมปฐมกาล))
โยเซฟ
יוֹסֵף
โยเซฟได้รับการยอมรับจากพี่น้องของเขา (ภาพโดยLéon Pierre Urbain Bourgeois ปีค.ศ.1863)
การออกเสียงYosef
เกิด1 หรือ 27 ตัมมุซ
เสียชีวิต1445 หรือ 1444 ปีก่อนคริสตกาล (AM 2317 หรือ AM 2318) (110 ปี)
สุสานสุสานของโยเซฟ, นับลุส
32°12′47″N 35°16′58″E / 32.2130268°N 35.2829153°E / 32.2130268; 35.2829153
คู่สมรสอะเซนาธ
บุตร
บิดามารดา
ญาติ

โยเซฟ (อังกฤษ: Joseph, /ˈzəf, -səf/; ฮีบรู: יוֹסֵף, แปลตรงตัว'เพิ่มขึ้น';[2] มาตรฐาน: Yōsef, ทิเบเรียน: Yōsēp̄; อาหรับ: يوسف, อักษรโรมัน: Yūsuf, Yūsef; กรีกโบราณ: Ἰωσήφ, อักษรโรมัน: Iōsēph) เป็นบุคคลสำคัญที่ปรากฏในคำภีร์ไบเบิลบทปฐมกาล

ในการบรรยายพระคัมภีร์ โยเซฟ เป็นบุตรชายคนที่ 11 ของยาโคบ กับนางราเชล ซึ่งต่อมาเขาถูกขายเป็นทาสโดยบรรดาพี่ชายที่อิจฉา และได้ก้าวขึ้นกลายเป็นวิเซียร์(อัครมหาเสนาบดี) ซึ่งเป็นตำแหน่งลำดับที่สองที่ทรงอำนาจมากในอียิปต์ต่อจากฟาโรห์ เมื่อการปรากฏตัวและรับรู้ถึงที่ทำงานของเขาทำให้บรรดาชาวอิสราเอลออกจากดินแดนคะนาอันและตั้งถิ่นฐานที่อียิปต์ ฟาโรห์ก็ได้ตั้งชิ่อให้เขาใหม่ นามว่า "Zaphnath-Paaneah" (Hebrew צָפְנַת פַּעְנֵחַ Ṣāfnaṯ Paʿnēaḫ, LXX Ψονθομφανήχ (p)sontʰ-(ŏm)pʰanêkʰ; Genesis 41:45) องค์ประกอบของเรื่องราวสามารถระบุถึงวันเวลาได้ ซึ่งอยู่ในช่วงระหว่างศตวรรษที่ 7 ก่อนคริสตกาล และช่วงเวลาสามเดือนของศตวรรษที่ 5 ก่อนคริสตกาล ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่นักวิชาการคาดประมาณวันช่วงเวลาในคำภีร์ไบเบิลบทปฐมกาล[3]

ในธรรมเนียมของศาสนา โยเซฟได้รับการนับถือว่าเป็นบรรพบุรุษของเมสสิยาห์อีกคนที่ถูกเรียกว่า "Mashiach ben Yosef", ตามที่ได้กล่าวไว้ว่า เขาจะทำสงครามกับกองทัพชั่วร้ายเคียงข้างกับ Mashiach ben David และตายในการรบกับศัตรูของพระเจ้าและอิสราเอล[4]

ชีวิตวัยเด็ก

[แก้]

โยเซฟ เป็นบุตรคนที่ 11 ของยาโคบ และนางราเชล เดิมทีนางราเชลเป็นหมัน จนกระทั่งเมื่อพระเจ้าทรงสดับฟังเสียงของนาง ภายหลังจากยาโคบมีบุตรกับภรรยาอื่น ไปแล้วถึง 10 คน นางราเชลจึงได้รับพระพรจากพระเจ้าให้ตั้งครรภ์ นางจึงตั้งชื่อลูกชายคนแรกของนางว่า โยเซฟ[5] เพราะพระเจ้าโปรดเพิ่มบุตรชายให้แก่นาง[6] ครั้นเมื่อยาโคบย้ายไปอยู่ในแผ่นดินคานาอันแล้ว ยาโคบรักโยเซฟมาก เนื่องจากโยเซฟเกิดมาเมื่อท่านมีอายุมากแล้ว โยเซฟมักนำความผิดของพี่ ๆ ไปบอกแก่บิดา จึงถูกชัง ถูกอิจฉา และพูดดีกับเขาไม่ได้

เมื่ออายุ 17 ปี โยเซฟตามพวกพี่ ๆ ไปเลี้ยงแกะที่เมืองเชเคม พวกพี่ชายคิดจะฆ่าเขา แต่รูเบนได้ช่วยพูดไว้ โยเซฟจึงถูกขายให้เป็นทาสในประเทศอียิปต์ ฝ่ายพี่ ๆ นำเสื้อผ้าของโยเซฟไปจุ่มเลือดแกะ และบอกบิดาว่า พบเสื้อของโยเซฟระหว่างทาง ทำให้ยาโคบเข้าใจว่าโยเซฟตายแล้ว[7]

โยเซฟกับโปทิฟาร์

[แก้]
โยเซฟพยายามหลบหนีภรรยาของโปทิพาร์
วาดโดย ฟิลลิป เวียต ปี พ.ศ. 2160-2161

เมื่อโยเซฟถูกขายไปยังอียิปต์นั้น โปทิฟาร์ ผู้บัญชาการทหารรักษาพระองค์ของฟาโรห์ ได้ซื้อโยเซฟไว้ โยเซฟรับใช้ถูกใจโปทิฟาร์ จึงได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ดูแลการงานในบ้าน และมอบทรัพย์สิ่งของทั้งปวงไว้ในความดูแลทั้งหมด และโยเซฟมิเคยแตะต้องทรัพย์สมบัติของโปทิฟาร์เลย

ด้วยความเป็นคนหน้าตาดี ภรรยาของโปทิฟาร์จึงมองด้วยความปฏิพัทธ์ เมื่อสบโอกาสที่ไม่มีใครอยู่ในบ้าน นางจึงชวนโยเซฟให้ร่วมหลับนอนกับนาง แต่โยเซฟสามารถหลบเลี่ยงได้ทุกครั้ง จนกระทั่งวันหนึ่งนางคว้าเสื้อผ้าของโยเซฟไว้ได้ จึงแจ้งแก่โปทิฟาร์ว่าโยเซฟปลุกปล้ำตนเอง จึงนำโยเซฟไปจำไว้ที่คุกหลวงโดยมิได้ไต่สวนแต่อย่างใด

โยเซฟแก้ความฝันนักโทษ

[แก้]
โยเซฟแก้ฝันให้แก่พนักงานขนม และพนักงานน้ำองุ่นในคุกหลวง

เมื่อโยเซฟไปอยู่ในคุกหลวง พระเจ้าก็ยังทรงอยู่กับเขา เป็นเหตุให้พัศดีเมตตา และมอบนักโทษทั้งปวงที่ในเรือนจำให้อยู่ในความดูแลของเขา ต่อมาหัวหน้าพนักงานน้ำองุ่น และหัวหน้าพนักงานขนมขององค์ฟาโรห์ทำผิด และถูกส่งมาอยู่ในคุกหลวงนี้ โยเซฟจึงได้รับคำสั่งให้ปรนนิบัติทั้งสองคน คืนหนึ่งทั้งสองคนฝันกันคนละเรื่อง คนละความหมาย แต่ไม่มีผู้ใดแก้ความฝันให้ได้ โยเซฟจึงขอแก้ฝันให้

ความฝันของหัวหน้าพนักงานน้ำองุ่นมีว่า เขาฝันเห็นเถาองุ่นตรงหน้า เถาองุ่นนั้นมี 3 กิ่ง พองอกใบอ่อนดอกตูม ก็มีดอกบานออกมา และช่อองุ่นก็สุก พนักงานคนดังกล่าวก็นำจอกของฟาโรห์มาและบีบลูกองุ่นนั้นลงในจอก และวางจอกองุ่นนั้นในพระหัตถ์ของฟาโรห์ ซึ่งโยเซฟก็แก้ความฝันได้ว่า ฟาโรห์จะยกตำแหน่งคืนให้แก่หัวหน้าพนักงานน้ำองุ่นภายใน 3 วัน ก็เป็นดังนั้น

ความฝันของพนักงานขนมมีว่า เขาเห็นกระจาด 3 ใบตั้งอยู่บนศีรษะของตน ใบกระจาดมีขนมสารพัดสำหรับฟาโรห์ แล้วมีนกมาจิกกินขนมในกระจาดนั้น โยเซฟก็แก้ความฝันว่าภายใน 3 วัน หัวหน้าพนักงานขนมจะถูกประหาร และนำร่างไปแขวนไว้ที่ต้นไม้ให้นกกากิน ก็เป็นดังนั้น

พอครบสามวันก็ปรากฏว่า หัวหน้าพนักงานน้ำองุ่นได้รับการอภัยโทษและรับตำแหน่งกลับคืน ส่วนหัวหน้าพนักงานขนมก็ถูกประหารชีวิต ในขณะที่ทั้งสองนักโทษกำลังจะถูกพาออกจากคุก โยเซฟได้อ้อนวอนต่อหัวหน้าพนักงานน้ำองุ่นให้ทูลฟาโรห์แทนเขาด้วยซึ่งได้รับการตกลง

โยเซฟแก้พระสุบินฟาโรห์

[แก้]
โยเซฟแก้พระสุบินให้แก่ฟาโรห์

หลังจากเหตุการณ์ที่โยเซฟทำนายฝันในคุกผ่านไป 2 ปี ฟาโรห์มีพระสุบิน 2 เรื่องที่แตกต่างกัน และเมื่อทรงเรียกโหร และปราชญ์ทั้งปวงมาเฝ้า ก็ไม่มีผู้ใดสามารถแก้พระสุบินได้เลย พระสุบินของฟาโรห์ทั้งสองเรื่องเป็นดังนี้

เรื่องที่ 1 ฟาโรห์ทรงประทับยืนริมฝั่งแม่น้ำไนล์ ก็มีโคอ้วนพีเจ็ดตัวขึ้นมาจากแม่น้ำ ยืนกินใบอ้ออยู่ แล้วก็มีโคอีกเจ็ดตัวตามขึ้นมาจากแม่น้ำ แต่เป็นวัวที่ไม่งาม ซูบผอมมาก วัวทั้งเจ็ดตัวหลังนี้ก็กินวัวอ้วนพีทั้งหมด และเมื่อกินเข้าไปแล้ววัวทั้งเจ็ดตัวก็ไม่ได้อ้วนขึ้นแต่อย่างใด

เรื่องที่ 2 ฟาโรห์ทรงเห็นต้นข้าว 1 ต้น มีรวงข้าวงอกออกมา 7 รวง แต่ละเมล็ดเต่ง และงามดี ต่อมามีรวงข้าวงอกออกมาอีก 7 รวง เป็นข้าวเหี่ยวลีบ และเกรียมเพราะลมตะวันออก รวงข้างลีบก็กลืนกินรวงข้าวดีทั้งหมดไปเสียสิ้น

ต่อมาฟาโรห์ได้รับฟังจากหัวหน้าน้ำองุ่นว่า นักโทษที่ชื่อโยเซฟสามารถทำนายฝันได้ และปรากฏจริงดั่งทุกประการ ดังนั้นฟาโรห์จึงรับสั่งให้โยเซฟมาเข้าเฝ้า

เมื่อโยเซฟได้ฟัง ก็ทำนายฝันว่า ทั้งสองเป็นเรื่องเดียวกัน นั่นคือ ประเทศอียิปต์จะมีอาหารบริบูรณ์ทั่วประเทศ เป็นเวลา 7 ปี หลังจากนั้นจะเกิดการกันดารอาหารใหญ่เป็นเวลา 7 ปี จนประชาชนจะลืมความบริบูรณ์ใน 7 ปีแรกเสียสิ้น และเหตุการณ์ดังกล่าวจะเกิดขึ้นในเวลาอันใกล้นี้ โยเซฟยังได้เสนอแนะให้ฟาโรห์แต่งตั้งบุคคลที่มีปัญญา และเป็นคนดีมาเป็นผู้ปกครองอียิปต์ และเก็บผลผลิตในตลอด 7 ปีที่อุดมสมบูรณ์นี้ไว้เพื่อใช้ใน 7 ปีที่ทุรกันดาร ฟาโรห์จึงทรงแต่งตั้งโยเซฟให้เป็นวิเซียร์(อัครเสนาบดี)ในการสำเร็จราชการแทนฟาโรห์ในการปกครองอียิปต์ตั้งแต่นั้นมา[8]

โยเซฟพบกับพี่ชาย

[แก้]

เมื่อเกิดการกันดารอาหารอย่างหนักตามอย่างที่โยเซฟทำนายฝันให้องค์ฟาโรห์นั้น แต่อียิปต์มีอาหารอุดมสมบูรณ์เนื่องจากโยเซฟได้เก็บอาหารไว้มากมายตามหัวเมืองต่าง ๆ[9] เช่นเดียวกันในคานาอัน ก็เกิดการกันดารอาหารขึ้น เมื่อยาโคบทราบว่า มีข้าวในอียิปต์จึงให้ลูก ๆ ไปซื้อข้าวจากที่นั่น แต่ไม่ให้เบนยามินไปด้วย[10]

เมื่อบรรดาบุตรชายของยาโคบเดินทางไปซื้อข้าว โยเซฟ เป็นผู้ขายข้าวและจำพี่ ๆ ได้ แต่แกล้งทำเป็นไม่รู้จัก และจับพวกพี่ ๆ ขังคุกไว้โดยให้ข้อหาว่าเป็นพวกสอดแนม เมื่อผ่านไป 3 วัน จึงได้จับสิเมโอนไว้ และให้พี่ ๆ ที่เหลือไปนำน้องคนสุดท้องมาเพื่อยืนยันว่ามิได้เป็นพวกสอดแนมจริง แล้วปล่อยพวกพี่ ๆ ที่เหลือกลับไปพร้อมข้าวและเงินค่าข้าวที่ได้รับมา[11]

ครั้นกลับมาถึงคานาอัน บรรดาลูก ๆ ก็แจ้งต่อยาโคบถึงเรื่องที่ได้เจอในอียิปต์ และเรื่องของสิเมโอนที่ถูกจับกุมไว้ ทั้งเรื่องที่ต้องนำตัวเบนยามินด้วย แต่ยาโคบรักเบนยามิน จึงไม่ยอมให้เขาไป พวกลูก ๆ จึงรั้งอยู่ที่คานาอัน จนกระทั่งข้าวที่ซื้อมาใกล้หมดลง ยาโคบจึงใช้ให้ลูก ๆ ไปซื้อข้าวจากอียิปต์อีกครั้ง แต่ลูก ๆ แจ้งว่าต้องนำตัวเบนยามิน ไปด้วย สุดท้ายยาโคบจึงยอมให้เบนยามินไปกับพวกพี่ ๆ พร้อมทั้งได้จัดผลผลิตอย่างดีที่สุดของคานาอัน พร้อมด้วยเงินมากกว่าครั้งก่อนไปด้วย เพื่อมอบให้แก่เจ้านายอียิปต์[12]

ครั้นเมื่อพวกพี่ ๆ เดินทางไปถึงอียิปต์ โยเซฟจึงให้เชิญไปร่วมรับประทานอาหารที่บ้าน พร้อมทั้งได้ปล่อยตัวสิเมโอนออกมา และจัดข้าวบรรจุกระสอบให้พวกพี่ แต่สั่งให้คนรับใช้นำจอกเงินของตนใส่ในปากกระสอบของเบนยามินด้วย ครั้นเมื่อพวกลูก ๆ ของยาโคบเดินทางกลับ โยเซฟจึงให้คนตามไปและแจ้งว่ามีผู้ขโมยจอกเงินมา เมื่อค้นจึงเจอในกระสอบของเบนยามิน ทั้งหมดจึงกลับไปยังบ้านโยเซฟอีกครั้ง และในครั้งนี้เองโยเซฟจึงได้เผยตัวให้พี่ ๆ ได้รู้ และข่าวญาติ ๆ ของโยเซฟมาก็ไปถึงพระกรรณฟาโรห์ จึงรับสั่งให้จัดรถไปรับครอบครัวของโยเซฟมาอยู่ ณ เมืองโกเชน ประเทศอียิปต์ด้วยกัน[13]

ยาโคบเดินทางไปอียิปต์

[แก้]
โยเซฟพบกับครอบครัวในประเทศอียิปต์

เมื่อยาโคบเดินทางไปอียิปต์นั้น ฟาโรห์ทรงให้คนในครอบครัวของยาโคบเป็นหัวหน้ากองเลี้ยงสัตว์ของอียิปต์ และให้อยู่ในเมืองที่ดีที่สุดในประเทศอียิปต์ โยเซฟจึงมอบให้บรรดาอิสราเอลอยู่ในเมืองราเมเสส เมื่อเดินทางมายังอียิปต์นั้น ครอบครัวของยาโคบ ไม่นับรวมภรรยาของลูก ๆ เป็นจำนวน 66 คน และเมื่อนับรวมกับโยเซฟที่อยู่ในอียิปต์แล้ว อิสราเอลเดินทางเข้าอียิปต์ในเวลานั้นเพียง 70 คน[14]

ยาโคบได้อาศัยอยู่ในอียิปต์ จนวาระสุดท้ายของท่าน แต่เมื่อท่านเสียชีวิตนั้น ท่านให้นำร่างของท่านไปฝังในอุโมงค์ ในดินแดนคานาอันรวมกับบรรพบุรุษของท่าน ฝ่ายโยเซฟนั้นอยู่ได้ถึงอายุ 110 ปี และก่อนท่านสิ้นใจนั้น ได้บอกแก่บรรดาพี่น้องของท่านว่า "...พระเจ้าคงจะทรงเยี่ยมเยียนพวกท่านและพาออกไปจากประเทศนี้...แล้วท่านต้องนำกระดูกของเราไปจากที่นี่"[15]

คำพยากรณ์ของยาโคบมีต่อโยเซฟ

[แก้]

ก่อนยาโคบจะเสียชีวิต ได้กล่าวคำพยากรณ์ที่มีต่อบุตรชายทั้ง 12 คนของเขา ซึ่งจะกล่าวถึงลักษณะของเผ่าทั้ง 12 เผ่าของอิสราเอลในอนาคต ดังนี้

  • โยเซฟเป็นกิ่งที่เกิดผล เป็นกิ่งที่เกิดผลอยู่ริมน้ำพุ มีกิ่งพาดข้ามกำแพง
    พวกทหารธนูโจมตีเขาอย่างโหดร้าย ทั้งยิงและข่มขู่เขา
  • แต่ธนูของเขาเองยืนหยัดต่อสู้ ลำแขนของเขามีกำลังขึ้น
  • โดยพระหัตถ์ของพระผู้ทรงเดชานุภาพของยาโคบ (โดยพระนามของผู้เลี้ยงแกะคือศิลาแห่งอิสราเอล)
  • โดยพระเจ้าของบิดาเจ้าผู้ทรงช่วยเจ้า โดยพระเจ้าองค์ทรงศักดานุภาพใหญ่ยิ่ง ผู้ทรงอวยพระพรแก่เจ้า
  • ด้วยพระที่มาจากฟ้าเบื้องบน พรที่มาจากใต้ทะเลเบื้องล่าง พรที่มาจากนมและครรภ์
  • ส่วนพรที่มาจากบิดาของเจ้า ศักดิ์สิทธิ์มากกว่าพรที่มาจากภูเขาถาวร คือจากความสมบูรณ์แห่งเนินเขาเนืองนิตย์
  • ขอพรเหล่านั้นอยู่บนศีรษะของโยเซฟ และอยู่เบื้องบนหน้าผากของผู้ที่ต้องพรากจากพี่น้อง[16]

พงศ์พันธุ์ของโยเซฟ

[แก้]

โยเซฟ แต่งงานกับนางอาเสนัท บุตรีของโปทิเฟรา ปุโรหิตเมืองโอน มีบุตรชาย 2 คน ได้แก่ มนัสเสห์[17] และเอฟราอิม[18] ในพระคริสตธรรมคัมภีร์มักจะไม่เรียกลูกหลานของโยเซฟ ว่า เป็นเผ่าโยเซฟ แต่จะแบ่งลูกหลานของโยเซฟออกเป็น 2 เผ่า ตามชื่อบุตรชายของท่าน โดยเฉพาะในช่วงการแบ่งการปกครองในพระธรรมอพยพ และการแบ่งดินแดนคานาอันในสมัยของโยชูวา

คำอวยพรของยาโคบต่อมนัสเสห์ และเอฟราอิม

[แก้]

ก่อนยาโคบจะเสียชีวิต โยเซฟได้นำมนัสเสห์ และเอฟราอิม ไปหาบิดา ยาโคบได้อวยพรแก่บุตรทั้งสองของโยเซฟ โดยบอกว่า "...บุตรทั้งสองของโยเซฟที่เกิดในประเทศอียิปต์ก่อนยาโคบจะมาพบ ก็เสมือนเป็นบุตรของยาโคบ เช่นเดียวกับบุตรคนอื่น ๆ ของยาโคบ ส่วนบุตรคนอื่น ๆ ของโยเซฟ จะได้ชื่อตามมนัสเสห์ และเอฟราอิม..."[19] และยังบอกอีกว่า "...อย่างไรก็ดี น้องชายจะใหญ่โตกว่าพี่ชาย และพงศ์พันธุ์ของน้องนั้นจะได้เป็นคนหลายประชาชาติด้วยกัน..." ด้วยเหตุนี้ อิสราเอลจึงยกให้มนัสเสห์ และเอฟราอิม เป็นเผ่าเทียบเท่าบุตรคนอื่น ๆ ของยาโคบนั่นเอง

เสียชีวิต

[แก้]

เมื่อโยเซฟได้เสียชีวิตลง เมื่อมีอายุได้เพียง 110 ปี ร่างของโยเซฟได้ถูกทำพิธีตามประเพณีของอียิปต์ด้วยการอาบยาศพแล้วก็บรรจุศพไว้ในโลง(ปฐมกาล 50:22-26) กาลเวลาต่อมาหลายปี ฟาโรห์แห่งอียิปต์ก็ไม่ได้รู้จักโยเซฟและเล็งเห็นว่า ชาวฮีบรูที่มาอาศัยในแผ่นดินอียิปต์มีจำนวนมากขึ้นและเกรงกลัวว่าจะเป็นภัยต่อประเทศ จึงได้แยกฮีบรูให้ไปอยู่อีกอาณาเขตหนึ่งห่างจากพวกตน และลดฐานะให้เป็นทาส แล้วเกณฑ์แรงงานไปใช้ในการก่อสร้างพีระมิด อีกทั้งปริมาณประชากรของชาวฮีบรูได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ฟาโรห์ต้องมีคำสั่งให้ประหารชีวิตเด็กเกิดใหม่เป็นจำนวนมาก การกดขี่ข่มเหงของอียิปต์ได้สร้างความทุกข์ใจต่อชาวฮีบรูเป็นอย่างมากและได้อ้อนวอนต่อพระเจ้าให้มาปลดปล่อยพวกตนกลับไปยังแผ่นดินคานาอันที่จากมาหลายปี จนกระทั่งพระเจ้าได้ส่งโมเสสมาปลดปล่อยเหล่าฮีบรูให้พ้นจากการเป็นทาสและเดินทางกลับสู่แผ่นดินคานาอันได้ในที่สุด

ในช่วงระหว่างการอพยพของชนชาติอิสราเอล พวกเขาได้รำลึกถึงคำสั่งเสียก่อนตายของโยเซฟว่า ถ้าออกจากอียิปต์ได้แล้ว ให้นำกระดูกของเขากลับไปด้วย ดังนั้นโมเสสจึงได้นำกระดูกของโยเซฟติดตัวมาด้วย(อพยพ 13:19) กระดูกของโยเซฟได้ถูกฝังไว้ที่เชเคม(Shechem) ในผืนแผ่นดินที่ซึ่งยาโคปสืบเชื้อสายมาจากบุตรแห่งฮาโมร์(โยชูวา 24:32) ซึ่งสืบเนื่องกันมาว่าเป็นที่ตั้งหลุมฝังศพของโยเซฟก่อนที่ยาโคปและครอบครัวทั้งหมดจะย้ายไปยังอียิปต์ เชเคมอยู่ในดินแดนที่โยชูวาจัดสรรให้แก่เผ่าเอฟราอิม ซึ่งเป็นหนึ่งในเผ่าวงศ์ตระกูลโยเซฟ ภายหลังจากการพิชิตแผ่นดินคานาอัน

มุมมองในศาสนายูดาย

[แก้]

การขายโยเซฟ

[แก้]
โยเซฟขณะถูกจับไปขายเป็นทาส วาดโดย คอนสแตนติน ฟลาวิสกี้

ในคำภีร์มิดราช การขายโยเซฟเป็นแผนการของพระเจ้าเพื่อที่จะปกป้องเผ่าของเขา[20] ไมโมนิเดสได้กล่าวว่า แม้แต่ชาวบ้านในเชเช็ม เกี่ยงกับคำถามที่โยเซฟถามพวกพี่ชายของเขา เป็น "ผู้ส่งสารศักดิ์สิทธิ์" ที่ทำงานเป็นเบื้องหลัง[21]

ภรรยาของโพทิฟาร์

[แก้]

โยเซฟประสงค์ดีที่จะไม่มีเรื่องกับภรรยาของโพทิฟาร์: เขาไม่ต้องการทำลายความเชื่อมันของผู้เป็นนาย, เชื่อในกฎของการแต่งงาน และอาจจะมีปัญหากับความเชื่อ การศรัทธา และคำสอนที่มาจากพ่อของเขา รายงานจากมิดราช โยเซฟอาจจะถูกประหารชีวิตในข้อหาล่วงละเมิดทางเพศโดยภรรยาของโพทิฟาร์[22]

ถ้วยเงิน

[แก้]

ในธรรมเนียมของศาสนายูดายได้อธิบายว่าโยเซฟแอบใส่ถ้วยเงินลงในถุงของเบนยามินเพื่อทดสอบพี่ชายของเขา เขาต้องการทดสอบว่าพวกพี่ชายจะทำอย่างไรเพื่อที่จะช่วยเบนยามิน เพราะโยเซฟกับเบนยามินเกิดจากนางราเชล บททดสอบนี้ได้พิสูจน์ว่าพวกเขาเลือกที่จะทรยศต่อเบนยามิน เหมือนกับตอนที่ทำกับโยเซฟเมื่อเขาอายุ 17 ปี เพราะ โยเซฟนักทำนายฝัน ได้ทำนายอนาคตตามความฝัน[23] และตามที่โยเซฟยืนยันใน Genesis 44:15.[24]

มุมมองในศาสนาอิสลาม

[แก้]
ยูซุฟ (โยเซฟ) ยะอ์กูบ (ยาโคบ) และพี่น้องในอียิปต์ ภาพจาก Zubdat-al Tawarikh ในTurkish and Islamic Arts Museum ที่อิสตันบลู วาดในสมัยสุลต่านมุราดที่ 3 เมื่อปีค.ศ.1583

ยูซุฟ (อาหรับ: يوسُف, Yūsuf) เป็นที่รู้จักจากชาวมุสลิมว่าเป็นหนึ่งในศาสดา (Qur'an, suras vi. 84, xl. 34) และทั้งบทของซูเราะฮ์ยูซุฟ ได้กล่าวถึงเขา โดยกล่าวถึงซูเราะฮ์นี้ว่าเป็น 'เรื่องที่ดีที่สุด'.[25] ยูซุฟเป็นที่กล่าวขานว่ามีใบหน้าที่หล่อเหลามาก จนทำให้ภรรยาของฟาโรห์เย้ายวนใจเขา ศาสดามุฮัมมัดได้กล่าวว่า "ครึ่งหนึ่งจากความงามทั้งหมดที่อัลลอฮ์ให้กับมวลมนุษย์อยู่ที่ยูซุฟกับแม่ของเขา; ส่วนอีกครึ่งหนึ่งได้อยู่ในมวลมนุษยชาติ"[26] เรื่องราวมีส่วนคล้ายกับพระคำภีร์ แต่มีข้อแตกต่างบ้าง[27] ในอัลกุรอาน พวกพี่น้องได้บอกให้ยะอ์กูบ ให้พายูซุฟไปพร้อมกับพวกเขา[28] หลุมที่ยูซุฟถูกโยนนั้น คือบ่อน้ำ และเขาถูกนำไปเป็นทาสโดยกองคาราวานที่เดินทางมา เมื่อพวกพี่น้องได้บอกพ่อว่ายูซุฟถูกหมาป่ากินไปแล้วนั้น เขาก็ร้องไห้จนตาบอด(กุรอาน 12:19).[29]

ในพระคำภีร์นั้น โยเซฟได้ปิดบังตนเองก่อนที่พวกเขาจะกลับไปหาพ่อพร้อมกับถุงบรรทุกข้าวเป็นรอบที่สอง[30] ซึ่งเหมือนกับของอิสลาม แต่ต่างกันที่พวกเขากลับไปโดยไม่พาเบนยามินไปด้วย และพ่อก็ร้องไห้อีกครั้ง[30] เขายังคงปิดความลับนั้นจนกระทั่งพวกพี่น้องได้มาอียิปต์อีกรอบ และให้กลับไปพร้อมนำเสื้อผ้าของยูซุฟไปแตะที่ตาของพ่อของเขาซึ่งทำให้ตาของเขาไม่บอดอีกต่อไป (กุรอาน 12:96).[30]

ดูเพิ่ม

[แก้]

เชิงอรรถ

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. Genesis 46:20
  2. Gesenius & Robinson 1882, p. 391.
  3. Redford 1970, p. 242: "several episodes in the narrative, and the plot motifs themselves, find some parallel in Saite, Persian, or Ptolemaic Egypt. It is the sheer weight of evidence, and not the argument from silence, that leads to the conclusion that the seventh century B.C. is the terminus a quo for the Egyptian background to the Joseph Story. If we assign the third quarter of the fifth century B.C.E. as the terminus ante quem, we are left with a span of two and one half centuries, comprising in terms of Egyptian history the Saite and early Persian periods."
  4. Blidstein, Gerald J. (2007). Skolnik, Fred; Berenbaum, Michael; Thomson Gale (Firm) (บ.ก.). Encyclopaedia Judaica. Vol. 14. pp. 112–113. ISBN 978-0-02-866097-4. OCLC 123527471. สืบค้นเมื่อ 7 November 2019.
  5. แปลว่า พระองค์ทรงเพิ่ม
  6. พระธรรมปฐมกาล บทที่ 30 ข้อ 22-24
  7. พระธรรมปฐมกาลบทที่ 37
  8. พระธรรมปฐมกาล บทที่ 41
  9. พระธรรมปฐมกาล บทที่ 41 ข้อที่ 46-47
  10. พระธรรมปฐมกาล บทที่ 42 ข้อที่ 1-5
  11. พระธรรมปฐมกาลบทที่ 42
  12. พระธรรมปฐมกาล บทที่ 43
  13. พระธรรมปฐมกาล บทที่ 44-47
  14. พระธรรมปฐมกาลบทที่ 47
  15. พระธรรมปฐมกาล บทที่ 50
  16. พระธรรมปฐมกาล บทที่ 49 ข้อ 22-26
  17. แปลว่าการทำให้ลืม
  18. แปลว่ามีลูกดก
  19. พระธรรมปฐมกาล บทที่ 48
  20. Scharfstein, S. Torah and Commentary: The Five Books of Moses (ISBN 1602800200, ISBN 978-1-60280-020-5), 2008, p.124
  21. Scharfstein, 2008, p. 120
  22. Scharfstein, 2008, pp. 125–26
  23. Genesis 44:15
  24. Scharfstein, 2008, pp. 138–39
  25. อัลกุรอาน 12:3
  26. Tottli 2002, p. 120
  27. อัลกุรอาน 12:1
  28. อัลกุรอาน 12:12
  29. อัลกุรอาน 12:19
  30. 30.0 30.1 30.2 Differences of Tradition

สารานุกรม

[แก้]

ดูเพิ่ม

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]
บุตรของยาโคบ ตามชื่อภรรยา (ญ = บุตรสาว)
(ตัวเลขในวงเล็บคือลำดับของการเกิด)
เลอาห์ รูเบน (Reuben) (1) สิเมโอน (Simeon) (2) เลวี (Levi) (3) ดีนาห์ (Dinah) (ญ)
ยูดาห์ (Judah) (4) อิสสาคาร์ (Issachar) (9) เศบูลุน (Zebulun) (10)
ราเชล โยเซฟ (Joseph) (11) เบนยามิน (Benjamin) (12)
เอฟราอิม บุตรโยเซฟ (11.1) มนัสเสห์ บุตรโยเซฟ (11.2)
บิลลาห์
(สาวใช้นางราเชล)
ดาน (Dan) (5) นัฟทาลี (Naphtali) (6)
ศิลปาห์
(สาวใช้นางเลอาห์)
กาด (Gad) (7) อาเชอร์ (Asher) (8)