ธรรมสักขี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ธรรมสักขี[1] (อังกฤษ: confessor) ในศาสนาคริสต์ใช้หมายถึง ผู้ยืนยันความเชื่อ หรือบาทหลวงผู้อภัยบาป

ผู้ยืนยันความเชื่อ[แก้]

ผู้ยืนยันความเชื่อ[2] (confessor of the Faith) หรือวีรสักขี หมายถึง นักบุญที่เคยได้รับการเบียดเบียนเพราะนับถือศาสนาคริสต์แต่ยังไม่ถึงแก่ความตายและยืนยันความศรัทธาของตน คริสตจักรโรมันคาทอลิกจารีตละตินใช้คำนี้เป็นสมญานามของนักบุญและบุญราศีใด ๆ ที่ไม่ใช่มรณสักขี อัครทูต ผู้นิพนธ์พระวรสารสี่ท่าน หรือพรหมจารี เมื่อคริสต์ศาสนากลายเป็นศาสนาที่เป็นที่ยอมรับการเบียดเบียนคริสต์ศาสนิกชนก็ลดลง คำว่าธรรมสักขีจึงเปลี่ยนมามอบให้กับนักบุญที่มีชีวิตบริสุทธิ์ศักดิ์สิทธิ์และถึงแก่มรณกรรมอย่างสงบ เช่น พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดธรรมสักขี พระมหากษัตริย์แห่งอังกฤษ

ผู้อภัยบาป[แก้]

ผู้อภัยบาป (confessor of sins) มาจากในช่วงการเบียดเบียนคริสต์ศาสนิกชนในจักรวรรดิโรมัน ชาวคริสต์บางส่วนละทิ้งความเชื่อเพื่อให้ตัวเองมีชีวิตรอด เมื่อการเบียดเบียนสิ้นสุดลงในรัชสมัยจักรพรรดิคอนสแตนตินที่ 1 คนเหล่านั้นอยากจะกลับมาร่วมกับคริสตจักรอีกครั้ง จึงไปหาเหล่าธรรมสักขีแล้วขอให้ตนเองเข้าร่วมศีลมหาสนิทได้ดังเดิม คำว่าธรรมสักขีจึงกลายเป็นบาทหลวงที่มีหน้าที่ฟังการสารภาพบาป ธรรมสักขีประเภทนี้เรียกอีกอย่างว่า “บิดาฝ่ายจิตวิญญาณ”

อ้างอิง[แก้]

  1. กีรติ บุญเจือ, แก่นปรัชญายุคกลาง, พิมพ์ครั้งที่ 2, กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2550, หน้า 463
  2. สมชัย พิทยาพงษ์พร, บาทหลวง, พัฒนาการวิถีชีวิตจิตคริสตชน, นครปฐม: ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนางานวิชาการ วิทยาลัยแสงธรรม, 2551, หน้า 29

ดูเพิ่ม[แก้]