ข้ามไปเนื้อหา

การประหารทารกผู้วิมล

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
จิตรกรรม “ทารกผู้วิมล” (the Holy Innocents) โดยแมตเทโอ ดี จีโอวานนี (Matteo di Giovanni) ค.ศ. 1482 (พ.ศ. 2024)

การประหารทารกผู้วิมล (อังกฤษ: Massacre of the Innocents) เป็นประหารทารกครั้งใหญ่ หรือ มหาทารกฆาต โดยกษัตริย์เฮโรด เจ้าผู้ครองกรุงเยรูซาเลม ได้สั่งการให้ค้นหาและประหารทารกเพศชายผู้ไร้มลทินทั้งนครเบธเลเฮม ในช่วงเวลาที่มีการทำนายว่า กษัตริย์ของชาวยิว หรือ พระเยซู จะประสูติในนครแห่งนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้เขาเสียบัลลังก์ให้กับพระเยซูตามที่ประชาชนชาวยิวเชื่อในขณะนั้น

เหตุการณ์นี้มีบันทึกในพระวรสารนักบุญมัทธิว (อังกฤษ: Gospel of Matthew) บทที่ 2 ข้อ 13-16 ซึ่งเชื่อว่าเป็นผลงานการประพันธ์ของนักบุญมัทธิว ผู้ประกาศข่าวประเสริฐ (อังกฤษ: Matthew the Evangelist) และพระวรสารนักบุญเจมส์เมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 2[1] แต่เนื่องจากไม่ปรากฏในบันทึกทางประวัติศาสตร์ คัมภีร์ไบเบิล และพระวรสารหรือพระกิตติคุณอื่นเลย พระอัตชีวประวัติส่วนใหญ่ของกษัตริย์เฮโรดจึงไม่นับเหตุการณ์ประหารทารกผู้วิมลว่าเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงตามประวัติศาสตร์[2] แต่ถือเป็นตำนานอภินิหารเฉกเช่นบรรดาชีวประวัตินักบุญมากกว่า[3]

สำหรับทารกที่ถูกประหารนั้น เชื่อกันว่ามีจำนวนมากกว่าหนึ่งหมื่นราย กระนั้น ฝ่ายหัวอนุรักษนิยมเชื่อว่าไม่ได้มากมายถึงเพียงนี้ อย่างไรก็ดี คริสตจักรคาทอลิกและออร์ทอดอกซ์ถือว่าทารกผู้ถูกประหารเหล่านี้เป็นนักบุญ จึงทำการฉลองทุกปีในวันที่ 28 ธันวาคมสำหรับชาวคาทอลิก และวันที่ 29 ธันวาคมสำหรับชาวออร์ทอดอกซ์ ในโอกาสดังกล่าวจะมีการอวยพรและการอธิษฐานให้ทารกตั้งแต่เจ็ดขวบลงมาเป็นพิเศษ ให้ได้รับความดูแลคุ้มครองจากเหล่านักบุญทารกผู้วิมล[4]

ตามพระวรสารนักบุญมัทธิว

[แก้]
จิตรกรรมบนเอกสารโบราณสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 10

พระวรสารนักบุญมัทธิว (อังกฤษ: Gospel of Matthew) เป็นเอกสารที่คริสต์ศาสนิกชนนิรนามรายหนึ่งเขียนขึ้นระหว่าง ค.ศ. 80-85 เพื่อใช้เล่าพระธรรมให้ชาวยิวฟัง[5] สองบทแรกของพระวรสารว่าด้วยพระประสูติกาลและช่วงทรงพระเยาว์ของพระเยซู แต่กลับเป็นเรื่องราวที่ไม่ปรากฏในพระคริสต์ธรรมใหม่เลย[6]

ตามพระวรสารนักบุญมัทธิว ความว่า[7] มีโหราจารย์ (อังกฤษ: Magi) กลุ่มหนึ่ง ได้รอนแรมตามดวงดาวจากทางตะวันออกมาถึงกรุงเยรูซาเลม เพื่อสืบหาผู้มีบุญซึ่งมาเกิดเป็น “กษัตริย์ของชาวยิว” ที่จะครองโลกชั่วนิรันดร พวกเขาคอยไต่ถามหาผู้มีบุญดังกล่าวไปทั่ว ข่าวนี้สร้างความประหวั่นพรั่นพรึงให้แก่กษัตริย์เฮโรดพระเจ้ากรุงเยรูซาเลมอย่างยิ่ง เพราะเวลานั้นไม่มีราชโอรสเกิดใหม่ในราชวงศ์ เช่นนั้นจะเป็นผู้ใดเล่า กษัตริย์เฮโรดก็ทรงเรียกประชุมบรรดาธรรมาจารย์และปุโรหิตเพื่อค้นดูว่า บุคคลที่ได้ชื่อว่าเป็น “กษัตริย์ของชาวยิว” ผู้นั้นบังเกิดที่แห่งหนตำบลใด ได้ความว่า เกิด ณ หมู่บ้านแห่งหนึ่งในนครเบธเลเฮ็ม แคว้นยูเดีย ด้วยความที่ทรงเกรงว่า “กษัตริย์ของชาวยิว” นี้จะเป็นภยันตรายคุกคามความมั่นคงแห่งพระราชบัลลังก์ในภายภาคหน้า ก็มีพระราชประสงค์จะประหารทารกนั้นเสีย จึงทรงออกอุบายชี้แนะให้คณะโหราจารย์ไปสืบดูที่นครเบธเลเฮ็มแล้วขอให้กลับมาบอก เพื่อที่พระองค์จะได้เสด็จไปนมัสการทารกนั้นด้วยพระองค์เอง ฝ่ายคณะโหราจารย์ เมื่อพบและถวายเครื่องนมัสการที่เตรียมมาแด่ทารกน้อยเยซูแล้ว เทวทูตองค์หนึ่งได้มาปรากฏในความฝันและเตือนมิให้กลับไปเฝ้ากษัตริย์เฮโรดอีกเป็นอันขาด พวกเขาจึงใช้เส้นทางอื่นกลับสู่มาตุภูมิ

เมื่อคณะโหราจารย์กลับไปแล้ว เทวทูตองค์หนึ่งมาปรากฏแก่โยเซฟในความฝัน แจ้งให้โยเซฟพาพระเยซูกุมารพร้อมมารดาหนีไปยังประเทศอียิปต์โดยไม่ชักช้า และให้คอยอยู่ที่นั่นจนกว่าพระเจ้าจะแจ้งให้ทราบว่าควรทำอย่างไรต่อไป เพราะว่ากษัตริย์เฮโรดกำลังแสวงหาพระกุมารเพื่อประหารเสีย ดังนั้น โยเซฟจึงนำพาพระกุมารและมารดาหลบหนีไปในเวลากลางคืนโดยรอดปลอดภัย

ฝ่ายกษัตริย์เฮโรดทรงรอโหราจารย์อยู่นาน ก็ไม่กลับมาหาพระองค์สักที ก็ทรงพระพิโรธนัก มีพระราชโองการให้เจ้าหน้าที่ไปจับเด็กชายทุกคนในนครเบธเลเฮ็มและปริมณฑลที่มีอายุตั้งแต่สองปีลงมาประหารเสียให้สิ้น กษัตริย์เฮโรดทรงธำรงอยู่ในพระราชบัลลังก์ต่อมาอีกไม่นานก็เสด็จสวรรคต อาร์เคลาอัส (อังกฤษ: Archelaus) พระราชโอรสก็ครองราชย์สืบต่อมา

พระวรสารนักบุญมัทธิว บทที่ 2 ข้อ 13-16 บันทึกเหตุการณ์ช่วงนี้ว่า[4]

เมื่อพวกโหราจารย์กลับไปแล้ว ทูตองค์หนึ่งขององค์พระผู้เป็นเจ้ามาปรากฏแก่โยเซฟในความฝันและสั่งว่า “จงลุกขึ้น พาพระกุมารและมารดาหนีไปยังอียิปต์และอยู่ที่นั่นจนกว่าเราจะบอกให้กลับมา เพราะเฮโรดกำลังจะค้นหาพระกุมารเพื่อประหาร” 14 ในคืนนั้นโยเซฟจึงลุกขึ้นพามารีย์กับพระกุมารเดินทางไปยังอียิปต์ 15 และอยู่ที่นั่นจนเฮโรดสิ้นพระชนม์ ทั้งนี้เป็นไปตามที่องค์พระผู้เป็นเจ้าตรัสไว้ผ่านทางผู้เผยพระวจนะว่า “เราเรียกบุตรของเราออกจากอียิปต์”

พระวรสารนักบุญมัทธิว บทที่ 2 ข้อ 16 บันทึกเหตุการณ์ช่วงนี้ว่า[8]

เมื่อเฮโรดตระหนักว่าพวกโหราจารย์หลอกพระองค์ พระองค์ก็กริ้วนัก จึงบัญชาให้ประหารเด็กผู้ชายทั้งปวงในเบธเลเฮมและละแวกใกล้เคียงที่มีอายุตั้งแต่สองขวบลงมา คะเนตามระยะเวลาที่ทราบจากพวกโหราจารย์

เชิงอรรถ

[แก้]
  1. Protoevangelium of James : Online.
  2. Paul L. Maier, 1998 : 170.
  3. Geza Vermes, The Nativity: History and Legend, London, Penguin, 2006, p22; E. P. Sanders, The Historical Figure of Jesus, Penguin, 1993, p.85
  4. 4.0 4.1 "Bible Gateway passage: มัทธิว 2 - Thai New Contemporary Bible". Bible Gateway (ภาษาอังกฤษ).
  5. Stephen L Harris|Harris, Stephen L., Understanding the Bible. Palo Alto: Mayfield. 1985. "Matthew" p. 272-285
  6. Funk, Robert W. and the Jesus Seminar. The acts of Jesus: the search for the authentic deeds of Jesus. HarperSanFrancisco. 1998. "Birth & Infancy Stories" p. 497-526.
  7. ราชบัณฑิตยสถาน, 2548 : 150-151.
  8. "Bible Gateway passage: มัทธิว 2 - Thai New Contemporary Bible". Bible Gateway (ภาษาอังกฤษ).

อ้างอิง

[แก้]

ภาษาไทย

[แก้]
  • ราชบัณฑิตยสถาน. (2548). พจนานุกรมศัพท์ศาสนาสากล อังกฤษ-ไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน. (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ : ราชบัณฑิตยสถาน. ISBN 974-9588-33-9.

ภาษาต่างประเทศ

[แก้]
  • Paul L. Maier. (1998). “Most recent biographies of Herod the Great deny it entirely”. Chronos, Kairos, Christos II. Mercer University Press.
  • Protoevangelium of James. (n.d.). [Online]. Available: <http://www.newadvent.org/fathers/0847.htm] at newadvent.org>. (Accessed: 6 April 2009).
  • Albright, W.F. and C.S. Mann. "Matthew." The Anchor Bible Series. New York: Doubleday & Company, 1971.
  • Clarke, Howard W. The Gospel of Matthew and its Readers: A Historical Introduction to the First Gospel. Bloomington: Indiana University Press, 2003.
  • Robert Eisenman, 1997. James the Brother of Jesus: The Key to Unlocking the Secrets of Early Christianity and the Dead Sea Scrolls (Viking/Penguin)
  • Goulder, M.D. Midrash and Lection in Matthew. London: SPCK, 1974.
  • Jones, Alexander. The Gospel According to St. Matthew. London: Geoffrey Chapman, 1965.
  • Schweizer, Eduard. The Good News According to Matthew. Atlanta: John Knox Press, 1975.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]