ออกัสตินแห่งแคนเทอร์เบอรี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
นักบุญออกัสตินแห่งแคนเทอร์เบอรี
อัครมุขนายก
เกิดราวต้นคริสต์ศตวรรษที่ 6

กรุงโรม ประเทศอิตาลี
เสียชีวิต26 พฤษภาคม ค.ศ. 604

เมืองแคนเทอร์เบอรี เทศมณฑลเคนต์ ประเทศอังกฤษ
นิกายโรมันคาทอลิก
อีสเทิร์นออร์ทอดอกซ์
แองกลิคัน
วันฉลอง27 พฤษภาคม

นักบุญออกัสตินแห่งแคนเทอร์เบอรี (อังกฤษ: Augustine of Canterbury) (ราวต้นคริสต์ศตวรรษที่ 6–26 พฤษภาคม ค.ศ. 604) เป็นนักพรตโรมันคาทอลิกคณะเบเนดิกติน ต่อมาได้รับแต่งตั้งเป็นอาร์ชบิชอปแห่งแคนเทอร์เบอรีองค์แรกเมื่อปี ค.ศ. 598 และถือกันว่าเป็น “อัครทูตเพื่อชาวอังกฤษ” (Apostle to the English) และเป็นผู้วางรากฐานของศาสนาคริสต์ในอังกฤษ[1]

นักบุญออกัสตินเป็นรองอธิการอาราม (prior) ในกรุงโรม เมื่อสมเด็จพระสันตะปาปาเกรกอรีที่ 1 เลือกให้เป็นผู้นำในการไปเผยแพร่ศาสนาในปี ค.ศ. 595 ในบริเตนโดยมีจุดประสงค์ที่จะชักชวนให้เอเธลเบิร์ตแห่งเคนต์ (Æthelberht of Kent) เปลี่ยนมานับถือคริสต์ศาสนา การที่เลือกเคนต์คงเป็นเพราะตั้งอยู่ใกล้หลายราชอาณาจักรที่นับถือศาสนาคริสต์ในกอล และเอเธลเบิร์ตเสกสมรสกับเจ้าหญิงเบอร์ธา (Bertha of Kent) ซึ่งเป็นคริสต์ศาสนิกชนและหวังกันว่าจะมีอิทธิพลต่อพระสวามีบ้าง ก่อนที่จะเดินทางไปถึงเคนต์กลุ่มมิชชันนารีก็อยากจะหันหลังกลับแต่พระสันตะปาปาเกรกอรีก็ทรงยุให้เดินทางต่อ ในที่สุดในปี ค.ศ. 597 นักบุญออกัสตินก็ขึ้นฝั่งอังกฤษที่เทเนทและเดินทางไปเมืองหลักแคนเทอร์เบอรี

ในที่สุดเอเธลเบิร์ตแห่งเคนต์ก็ยอมรับคริสต์ศาสนาและทรงอนุญาตให้มิชชันนารีเผยแพร่คำสอนอย่างเสรีและพระราชทานที่ดินให้ก่อตั้งอารามนอกกำแพงเมือง ออกัสตินได้รับแต่งตั้งให้เป็นบิชอปแห่งอังกฤษและได้ทำการเปลี่ยนศาสนาให้แก่ข้าราชสำนักหลายคน และได้ทำการเปลี่ยนศาสนาให้กับผู้เข้าร่วมพิธีวันคริสต์มาสในปี ค.ศ. 597 เป็นจำนวนนับพัน ในปี ค.ศ. 601 สมเด็จพระสันตะปาปาเกรกอรีที่ 1 ก็ทรงส่งมิชชันนารีมาสมทบในการพยายามที่จะชักชวนให้บิชอปชาวเคลท์ยอมรับอำนาจของออกัสตินแต่ไม่สำเร็จ ในปี ค.ศ. 604 ก็มีการตั้งบิชอปคาทอลิกขึ้นทั้งที่ลอนดอนและโรเชสเตอร์ และมีการก่อตั้งสถานศึกษาเพื่อการฝึกหัดบาทหลวงและมิชชันนารีชาวแองโกล-แซกซัน หลังจากนั้นออกัสตินก็มีส่วนในการจัดการแต่งตั้งลอเรนซ์แห่งแคนเทอร์เบอรีให้สืบอำนาจต่อ ออกัสตินถึงแก่กรรมในปี ค.ศ. 604


อ้างอิง[แก้]

  1. Delaney Dictionary of Saints pp. 67–68

ดูเพิ่ม[แก้]