อาณาจักรลังกาสุกะ
ลังกาสุกะ | |||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|
พุทธศตวรรษที่ 7–พุทธศตวรรษที่ 23 | |||||||
เมืองหลวง | กรุงโกตามหลิฆัย (อ.ยะรัง จ.ปัตตานี ในปัจจุบัน) | ||||||
ภาษาทั่วไป | มลายูโบราณ | ||||||
ศาสนา | ศาสนาฮินดู-ศาสนาพุทธ | ||||||
การปกครอง | ราชาธิปไตย | ||||||
รายา | |||||||
ประวัติศาสตร์ | |||||||
• ก่อตั้ง | พุทธศตวรรษที่ 7 | ||||||
• สิ้นสุด | พุทธศตวรรษที่ 23 | ||||||
| |||||||
ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของ | มาเลเซีย ไทย |
ประวัติศาสตร์ไทย |
---|
ตัวเลขในวงเล็บ หมายถึง ปีพุทธศักราช |
ลังกาสุกะ เป็นอาณาจักรมลายูโบราณ (ฮินดู-พุทธ) ที่ตั้งอยู่ในคาบสมุทรมลายู[1] ชื่อมีที่มาจากภาษาสันสกฤต กล่าวกันว่าเป็นคำสมาสของคำว่า ลังกะ แปลว่า "แดนสุกสกาว" กับ -สุกะ แปลว่า "ความสุขอันล้นพ้น" ตัวอาณาจักรเป็นหนึ่งในอาณาจักรที่เก่าแก่ที่สุดในคาบสมุทรมลายู แต่ยังคงขัดแย้งในที่ตั้งของอาณาจักร สถานที่ที่เป็นไปได้ตามการค้นพบของนักโบราณคดีอยู่ที่อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี โดยก่อตั้งในศตวรรษที่ 2
รายงานจากตำนาน พงศาวดารเกอดะฮ์ อาณาจักรนี้ก่อตั้งและตั้งชื่อโดยมะโรง มหาวงศ์ อีกข้อเสนอหนึ่งกล่าวว่า ชื่ออาณาจักรอาจมาจากการสมาสระหว่าง ลังกา กับ อโศก กษัตริย์นักรบชาวฮินดูราชวงศ์โมริยะในตำนาน และนักล่าอาณานิคมชาวอินเดียยุคแรกของคอคอดมลายูได้ตั้งชื่ออาณาจักรลังกาสุกะ เพื่อยกย่องเกียรติของพระองค์[2]
อาณาจักรลังกาสุกะในยุคโบราณ
[แก้]ลังกาสุกะเป็นนครรัฐตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 7 รุ่งเรืองยาวนานถึง 1,400 ปี จึงเสื่อมสลายไป[3] ไม่ใช่เพราะถูกอำนาจใดเข้าตี หากแต่ทะเลถอยห่างตัวเมืองออกไปทุกที จนผู้คนพากันทิ้งเมือง ซ้ำโดนน้ำท่วมโคลนถมทับตัวเมืองแทบหมด เพิ่งขุดเจอซากไม่นานมานี้ เชื่อกันว่าคนในหมู่บ้านกาแลจิน อ.เมืองปัตตานีปัจจุบันคือผู้สืบเชื้อสายชาวเมืองลังกาสุกะ ที่เป็นลูกครึ่งชาวจีนกับคนพื้นเมืองที่ต้องทิ้งเมืองเก่ามาอยู่ในปัตตานีเมื่อ 1,000 กว่าปีที่แล้ว
อาณาจักรโบราณยิ่งใหญ่ที่เชื่อว่ามีพื้นที่คลุมไปถึงตอนเหนือมาเลเซีย เพราะพบสิ่ง ก่อสร้างโบราณ แบบเดียวกับที่พบในปัตตานีแถวริมฝั่งแม่น้ำบูจังและปาดังลาวาส (ปากแม่น้ำลาวาส) ในรัฐเคดาห์ หนังสือเหล่านั้นเรียกอย่างจืดชืดไม่ดึงดูดใจสักนิดว่า "เมืองโบราณยะรัง" เพราะซากเมืองเก่าพบที่ อ.ยะรัง ทั้งที่มีความเก่าแก่รุ่งเรืองมาก่อน อาณาจักรศรีวิชัยและอาณาจักรทวาราวดีตั้ง 500 ปี ศรีวิชัยและทวาราวดีตั้งในพุทธศตวรรษที่ 12 ลังกาสุกะเป็นนครรัฐที่โลกตะวันตกตะวันออก รู้จักกันแล้ว ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 7 เมืองโบราณยะรังจึงไม่ใช่เมืองเก่าธรรมดา หากแต่เป็นเมืองท่านครรัฐยิ่งใหญ่ สมัยโบราณเก๋ากึ๊กในภูมิภาคนี้โดยแท้
เมืองโบราณที่ กรมศิลปากร กำลังขุดแต่งอยู่ที่ อำเภอยะรัง ในขณะนี้คือ ศูนย์การปกครอง อาณาจักรลังกาสุกะ ในเมื่อบันทึก ชาวอินเดียและ ชาวอาหรับ ที่เรียกเมืองนี้ว่า "ลังกาสุกะ" กับบันทึก ของชาวจีนที่เรียก "หลาง หย่า ซุ่ย" ล้วนระบุทิศทางและ ที่ตั้งตรงกันหมด น.ส.พรทิพย์ พันธุโกวิท หัวหน้ากลุ่มงานวิชาการ โบราณคดี ผู้ควบคุมการขุดแต่งและ บูรณะมาตั้งแต่แรกถึง 16 ปี อธิบายว่า ปัตตานีวันนี้คือ ดินแดนเกิดใหม่ เมื่อทะเลถอย ห่างฝั่งออกไปทุกที ลังกาสุกะเลยกลายเป็น เมืองภายในแผ่นดิน อยู่ห่างชายฝั่งทะเล ในวันนี้เกือบ 25 กม. ชายฝั่งบริเวณท่าเรือใหญ่ครั้งโน้น ปัจจุบันนี้คือ คลองปาเละหมู่บ้านกาแลบูซา (ท่าเรือใหญ่) หมู่บ้านเทียระยา (หมู่บ้านเสากระโดงเรือ) ต.ตันหยงลูโละ อ.เมือง ปัตตานี
ร่องรอยทางโบราณคดี ชี้ให้เห็นว่ามีลักษณะเป็นเมืองเรียงกันถึง 3 เมืองด้วยกัน ได้แก่ เมืองที่กำลังขุดอยู่ที่บ้านวัด บ้านจาเละ และบ้านปราแว (พระราชวัง) อำเภอยะรัง บ้านปราแวอยู่ริมทะเล มีลักษณะ ค่ายคูประตูหอรบตามมุมเมือง คาดว่าน่าจะเป็นประชาคม 3 แห่ง ที่อยู่ร่วมกันมากกว่าเมือง โดยรวมแล้วพื้นที่ดังกล่าวนี้ พบร่องรอยทางโบราณคดีถึงกว่า 40 แห่ง ลงมือขุดไปเพียงไม่กี่แห่งเท่านั้น ชิ้นใหญ่ ๆ ที่กำลังขุดอยู่เป็นศาสนสถานใน ศาสนาพราหมณ์และ พุทธศาสนา ทั้งพบคำจารึกภาษาปัลลวะอินเดียโบราณและภาษาสันสกฤตด้วย บ่งบอกอย่างเด่นชัด แรกเริ่มนั้นชาวลังกาสุกะนับถือศาสนาพราหมณ์ เปลี่ยนมาถือพุทธ แล้วเปลี่ยนมาเป็นอิสลามตามลำดับ
ลังกาสุกะเฟื่องเนื่องมาจากที่ตั้งเป็นกึ่งกลางเส้นทางค้าขายโลกตะวันตกและตะวันออก เป็นศูนย์กลางการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าและศูนย์ค้าเครื่องเทศสินค้าสำคัญของภูมิภาคนี้ ที่ดังที่สุด ได้แก่ไม้หอม และกำยาน ซึ่งอินเดีย อาหรับยันยุโรปต่างต้องการอย่างมาก น่าเชื่อว่ากำยานชั้นดีที่สุดเป็นกำยานลังกาสุกะ เพราะเครื่องหอมทำจากกำยานที่โลกอาหรับ และชาติมุสลิมใช้อย่างกว้างขวาง เนื่องจากเป็นเครื่องหอม ที่ไม่มีแอลกอฮอล์เจือปนไม่ผิด หลักทางศาสนาที่ชื่อว่า "ไซมีส เบนโซอีน" ที่ยังใช้กันมาจนทุกวันนี้ ลังกาสุกะเป็นท่าเรือ ส่งออกที่ใหญ่มาก
ลังกาสุกะอาจเป็นอาณาจักรเดียวในโลกที่ล่มสลายไปไม่ใช่เพราะการสงครามหรือโรคระบาด หากเกิดจากทะเลถอยห่างออกไปเรื่อย ๆ เมื่อไม่สามารถทำมาหากินได้เหมือนเดิม ผู้คนก็อพยพทิ้งบ้านทิ้งเมืองไปอยู่ที่อื่นกันหมด พร้อม ๆ กับอาณาจักรอื่นใกล้เคียงเจริญรุ่งเรืองขึ้นมาแทนที่
ศูนย์กลางอาณาจักรลังกาสุกะ
[แก้]อาณาจักรลังกาสุกะเป็นอาณาจักรโบราณ มีศูนย์กลางตั้งอยู่บริเวณ อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี[4] มีอาณาเขตปกครองกว้างขวางครอบคลุมคาบสมุทรมลายูตอนล่างทั้งหมดโดยพัฒนามาจากเมืองท่าเล็กๆ ของชาวพื้นเมืองจนเติบโตเป็นรัฐและมีฐานะเป็นอาณาจักรมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 7 เป็นศูนย์กลางการค้าและศาสนา จนได้ล่มสลายไปในต้นพุทธศตวรรษที่ 21 ปัจจุบันปรากฏร่องรอยศาสนสถานประเภทสถูปเจดีย์ขนาดใหญ่ จำนวน 33 แห่ง ในพื้นที่ประมาณ 9 ตารางกิโลเมตร
จากตำนานและจดหมายเหตุ
[แก้]จากตำนาน ไทรบุรี ปัตตานี กล่าวถึงเมืองลังกาสุกะ ของพระเจ้ามะโรงมหาวงศ์หรือราชามารงมหาวังสา ต่อมาคำว่าลังกาสุกะค่อย ๆ เลือนหายไป กลายเป็นคำว่าปัตตานีดารุสสาลามเข้ามาแทนที
จดหมายเหตุราชวงศ์เหลียง (พ.ศ. 1045-1099) บันทึกไว้ว่าอาณาจักรลังกาสุกะ สถาปนาขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 7 มีอำนาจปกครองระหว่างสองฝั่งทะเล คือด้านตะวันตกจรดไทรบุรี และด้านตะวันออกที่ปัตตานีข้อความในจดหมายเหตุนี้สอดคล้องกับตำนานไทรบุรี ปัตตานี
ปอล วิดลีย์ (Paul Wheatly) ผู้เชี่ยวชาญเรื่องแหลมมาลายู มีความเห็นว่าตำนานไทรบุรี ฯมีลักษณะเหมือนเทพนิยาย แต่งขึ้นเมื่อชาวอินเดียเดินทางมาถึงหัวเมืองมาลายูราวพุทธศตวรรษที่ 6 และเขาแสดงความคิดเห็นไว้ว่า ลังกาสุกะ ไม่ควรไปซ้ำซ้อนกับไทรบุรีน่าจะอยู่ทางปัตตานีทั้งหมด
ดี.จี.อี. ฮอลล์ (D.G.E. Hall) ได้กล่าวถึงรัฐเก่าแก่สามรัฐในแหลมมาลายู คือรัฐหลังสยิว (ลังกาสุกะ) ตันหม่าหลิง (ตามพรลิงก์ หรือนครศรีธรรมราช) ตักโกลา (ตะกั่วป่า) ต่อมารัฐทั้งสามนี้ตกอยู่ใต้อำนาจของอาณาจักรฟูนันซึ่งเป็นอาณาจักรที่มีกองเรือยิ่งใหญ่ อยู่ในทะเลจีนตอนใต้ เมื่อตกอยู่ใต้อำนาจแล้วก็รับเอาวัฒนธรรมต่างๆ มาจากอินเดีย
ต่อมาพุทธศตวรรษที่ 11 อาณาจักรฟูนันเสื่อมสลายลง รัฐต่าง ๆ ที่ตกอยู่ใต้อิทธิพลก็แยกตัวเป็นอิสระ ลังกาสุกะภายใต้การนำของพระเจ้าภคทัตก็ฟื้นฟูอำนาจของตนเองได้อย่างรวดเร็ว
พุทธศตวรรษที่ 14-15 ลังกาสุกะกลับตกอยู่ใต้อำนาจของอาณาจักรศรีวิชัย พระเจ้าราเชนทร์โจระที่ 1 แห่งอินเดีย ยกทัพเรือข้ามมายึดรัฐต่าง ๆของศรีวิชัย ลังกาสุกะก็พลอยถูกยึดไปด้วย ต่อมาอีกอาณาจักรมัชปาหิตแห่งชวากลับเข้ามามีอำนาจ และชื่อลังกาสุกะค่อยเลือนจางหายไป แสดงว่าอาณาจักรลังกาสุกะตะวันออกนั้นอยู่ที่ปัตตานีนี่เอง เนื่องจากยุคลังกาสุกะ เมืองปัตตานียังไม่เกิดขึ้น และต้องนับถือพุทธศาสนาด้วยเพราะเมื่อเกิดการขุดค้นขึ้นพบทั้งศาสนาฮินดูและพุทธศาสนา เช่น สถูปสำคัญในพระพุทธศาสนาที่อำเภอยะรัง ที่ได้บูรณะตกแต่งแล้วก็แสดงถึงดินแดนในพระพุทธศาสนา และลังกาสุกะต้องมีอายุประมาณ 1,500 ปีมาแล้ว นับว่าเก่าแก่มาก แต่พึ่งรู้จักกันจริงไม่กี่ปีมานี้
การเข้ามาของศาสนาอิสลาม
[แก้]กล่าวคือ ประมาณคริสต์ศตวรรษที่ 15 (ประมาณ พ.ศ. 2000 เศษ ในยุคพญาอินทิรา) ศาสนาอิสลามได้เผยแพร่เข้าสู่ปัตตานีและปาหัง ก่อนที่จะเข้าสู่มาละกา ในช่วงนั้นกษัตริย์หรือสุลต่านเมืองปัตตานีล้มป่วย ไม่มีหมอในปัตตานีรักษาได้ เกิดการตีฆ้องร้องป่าวหาผู้รักษามีแขกปาซายจากสุมาตราชื่อเช็กสะอิ หรือ เช็กซาฟียิดดิน ได้ขันอาสามารักษาสุลต่านแต่ขอคำมั่นสัญญาว่าถ้ารักษาหายแล้ว พระองค์จะต้องเข้ารีตนับถือศาสนาอิสลาม เมื่อได้รักษาจนหายแต่เมื่อหายแล้วสุลต่านไม่ยอมเปลี่ยนศาสนาเลยป่วยหนักอีก กลับมารักษากันใหม่ขอคำสัญญากันอีกกลับไปกลับมาเช่นนี้ถึง 3 ครั้ง สุลต่านเลยต้องยอมเปลี่ยนศาสนามานับถือศาสนาอิสลามหมอผู้รักษาได้รับการแต่งตั้งเป็น ดาโต๊ะ สะรี ยารา ฟาเก้าฮ์ (ผู้รู้ทางศาสนายอดเยี่ยม)เมื่อเจ้าเมืองเปลี่ยนศาสนาใหม่ โอรส ธิดา ขุนนาง และชาวเมืองก็เริ่มเปลี่ยนศาสนาตามเป็นศาสนาอิสลามต่อจากนั้นก็เริ่มมีการทำลาย พระพุทธรูป พุทธสถาน เทวรูป และเทวาลัย อาณาจักรที่เคยนับถือพระพุทธศาสนาอยู่หลายปีจึงมีโบราณวัตถุทางพุทธศาสนาน้อยเต็มที หรือแทบจะไม่มีเลย ก็มีพบบ้างกันที่ยะรังเมืองโบราณ [ต้องการอ้างอิง]
ราชทูตลังกาสุกะ
[แก้]พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์จีนที่จตุรัสเทียนอันเหมิน กรุงปักกิ่ง มีภาพปรากฏอยู่ในจดหมายเหตุราชวงศ์เหลียง หรือเหลียงชู ของจีน (พ.ศ. 1045-1106) บุคคลในภาพชื่อ อชิตะ (จีนออกเสียงเป็น อาเซ่อตัว) เป็นราชทูตจากประเทศลังกาสุกะ (จีนออกเสียงเป็น หลังหยาสิ้ว บางแหล่งเรียก หลาง หย่า ซุ่ย) มีคำบรรยายภาพว่า "เป็นคนหัวหยิกหยอง น่ากลัว นุ่งผ้า โจงกระเบน ห่มสไบเฉียง สวมกำไลที่ข้อเท้าทั้งสอง ผิวค่อนข้างดำ" โดยเดินทางไปเยือนราชสำนักจีนในปี พ.ศ. 1058 สมัยพระเจ้าอู่ตี้ฮ่องเต้แห่งราชวงศ์เหลียง ทางการจีนได้เขียนภาพ อาเซ่อตัว ไว้เป็นที่ระลึกพระเจ้าแผ่นดินแห่งลังกาสุกะในเวลานั้น ทรงพระนามว่า ผอเจี่ยต้าตัว หรือ ภัคทัตตเหลียงชู ซึ่งตรงกับรัชสมัย พระเจ้าภัคทัต (ประมาณ พ.ศ. 1060)
อ้างอิง
[แก้]- ↑ Guy, John (2014). Lost Kingdoms: Hindu-Buddhist Sculpture of Early Southeast Asia. Yale University Press. pp. 28–29. ISBN 978-0300204377.
- ↑ W. Linehan (April 1948). "Langkasuka The Island of Asoka". Journal of the Malayan Branch of the Royal Asiatic Society. 21 (1 (144)): 119–123. JSTOR 41560480.
- ↑ ประวัติศาสตร์อาณาจักรลังกาสุกะ (นครปัตตานี)http://blog.eduzones.com/tambralinga/3310 เก็บถาวร 2010-01-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ↑ ปัตตานี คือ ลังกาสุกะ http://nikrakib.blogspot.com/2007/08/blog-post_27.html