พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
บทความนี้ไม่มีการอ้างอิงจากแหล่งที่มาใด |
หัวข้อของบทความนี้อาจไม่ผ่านแนวปฏิบัติความโดดเด่นทั่วไป (กุมภาเก 2021) |
พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว | |
---|---|
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสรงน้ำมุรธาภิเษก ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก วันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2468 (นับตามปฏิทินปัจจุบันคือ พ.ศ. 2469) | |
อำนวยการสร้าง | กองภาพยนตร์เผยแผ่ข่าว กรมรถไฟหลวง |
ผู้จัดจำหน่าย | กองภาพยนตร์เผยแผ่ข่าว กรมรถไฟหลวง |
วันฉาย | พ.ศ. 2469 (98 ปี) |
ความยาว | 11 นาที 8 วินาที |
ประเทศ | สยาม |
ภาษา | ภาษาไทย, ภาษาอังกฤษ |
"พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว" เป็นภาพยนตร์ข่าวซึ่งผลิตโดยกองภาพยนตร์เผยแผ่ข่าว กรมรถไฟหลวง จัดทำขึ้นโดยได้รับพระบรมราชานุญาตเพื่อจำหน่ายแก่ผู้สนใจเก็บไว้เป็นที่ระลึก รายละเอียดของภาพยนตร์ชุดนี้เป็นการบันทึกเหตุการณ์ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อปลายปี พ.ศ. 2468 (นับตามปฏิทินปัจจุบันคือต้นปี พ.ศ. 2469) นับเป็นครั้งแรกที่มีการบันทึกภาพยนตร์พระราชพิธีสำคัญตามโบราณราชประเพณีของไทย
ทั้งนี้ วันที่มีการบันทึกภาพยนตร์ข่าวพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในครั้งนั้นมีทั้งหมด 4 วัน ได้แก่
- วันพฤหัสบดีที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2468 (นับตามปฏิทินปัจจุบันคือ พ.ศ. 2469) วันประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก, การเสด็จออกมหาสมาคมครั้งแรกในรัชกาล ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย และพระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณ
- วันเสาร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2468 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี เสด็จออก ณ มุขเด็จพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประชาชนเข้าเฝ้าถวายพระพรชัยมงคล
- วันจันทร์ที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2468 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครด้วยกระบวนพยุหยาตราทางสถลมารค
- วันพุธที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2468 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครด้วยกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค
ภาพยนตร์ข่าวเรื่องนี้เป็นภาพยนตร์เงียบ ระบบภาพขาว-ดำ แทรกคำบรรยายระหว่างภาพ (intertitle) เพื่อบรรยายเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่ปรากฏในภาพยนตร์ข่าว โดยจัดทำเป็นคำบรรยายภาษาไทยและภาษาอังกฤษ มีความยาวในการฉาย 11 นาที 8 วินาที ปัจจุบันฟิล์มต้นฉบับของภาพยนตร์ข่าวเรื่องนี้ได้รับการอนุรักษ์โดยหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน)
หอภาพยนตร์ได้จัดให้ภาพยนตร์ข่าวเรื่องนี้เป็น 100 ภาพยนตร์ไทยที่คนไทยควรดู เมื่อปี พ.ศ. 2548 และขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภาพยนตร์ของชาติในโครงการขึ้นทะเบียนมรดกภาพยนตร์ของชาติ ครั้งที่ 1 เมื่อปี พ.ศ. 2554