วัดเส้าหลิน
34°30′01″N 112°54′56″E / 34.50028°N 112.91556°E
วัดเส้าหลิน | |
---|---|
บริเวณด้านหน้าอาราม "ต้าฉงเป่าเทียน" | |
ชื่อสามัญ | เส้าหลินซื่อ |
ที่ตั้ง | นครเติงเฟิง จังหวัดเจิ้งโจว มณฑลเหอหนาน ประเทศจีน |
ประเภท | พระอารามหลวง |
นิกาย | นิกายมหายาน |
พระประธาน | พระเมตไตรยโพธิสัตว์ |
พระพุทธรูปสำคัญ | พระโพธิสัตว์มัญชุศรี พระโพธิสัตว์โลเกศวร |
เจ้าอาวาส | หลวงจีน ซือ หย่งซิน |
จุดสนใจ | ป่าเจดีย์ เทือกเขาซงซาน โรงเรียนฝึกสอนกังฟู |
กิจกรรม | การแสดงโชว์กังฟูเส้าหลิน |
เว็บไซต์ | http://www.shaolin.com |
สถานีย่อยพระพุทธศาสนา |
วัดเส้าหลิน | |||||||||||||||||||||||||||
"วัดเส้าหลิน" เขียนด้วยอักษรจีน | |||||||||||||||||||||||||||
ภาษาจีน | 少林寺 | ||||||||||||||||||||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
ความหมายตามตัวอักษร | "วัดป่าบนเขาเช่าชื่อ" | ||||||||||||||||||||||||||
|
วัดเส้าหลินหรือสำนักเส้าหลิน (จีน: 少林寺; พินอิน: Shàolínsì เช่าหลินซื่อ; แต้จิ๋ว: เสี้ยวลิ้มยี่; ฮกเกี้ยน: เชี้ยวหลิมซี; คำแปล: วัดป่าบนเขาเส้าซื่อ) เป็นวัดทางพระพุทธศาสนานิกายมหายานที่มีความเก่าแก่อายุมากกว่า 1,500 ปี[1][2][3] ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของเทือกเขาซงซาน หนึ่งในจำนวนห้ายอดเขาอันศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อของชาวจีน[4] เป็นเทือกเขาที่มีชื่อเสียงมากที่สุดทั้งในด้านของประวัติศาสตร์และในแวดวงยุทธภพ ประกอบด้วยยอดเขาน้อยใหญ่จำนวน 72 ยอด แบ่งเป็นสองกลุ่มคือในกลุ่มของเขาไท่ซื่อ (จีน: 太室山) จำนวน 36 ยอด และกลุ่มของเขาเส้าซื่อ (จีน: 少室山) จำนวน 36 ยอด ในนครเติงเฟิง จังหวัดเจิ้งโจว มณฑลเหอหนาน ประเทศจีน อยู่กึ่งกลางระหว่างเมืองเจิ้งโจวและเมืองลั่วหยาง[5] [6] บริเวณรอบ ๆ วัดเส้าหลินเป็นพื้นที่โล่งกว้าง ใช้สำหรับฝึกวิทยายุทธของหลวงจีน รายล้อมด้วยป่าเจดีย์หรือถ่าหลิน ซึ่งเป็นสุสานของอดีตเจ้าอาวาสและหลวงจีน ซึ่งมีมาตั้งแต่ในยุคสมัยของราชวงศ์ถัง
วัดเส้าหลินมีชื่อเสียงโด่งดังมากที่สุดในประเทศจีนและในต่างประเทศ ได้รับการกล่าวขานในเรื่องของกระบวนท่าวิทยายุทธ เพลงหมัดมวย พลังลมปราณและกังฟูเส้าหลินเป็นอย่างมาก เป็นแหล่งวิชาการต่อสู้และศิลปะการป้องกันตัวที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของจีน ปรากฏชื่อในนิยายกำลังภายในหลายต่อหลายเรื่อง ซึ่งล้วนแต่กล่าวถึงวิชาเพลงหมัดมวย พลังลมปราณและกังฟูเส้าหลินอยู่เสมอ[7] โดยเฉพาะนิยายกำลังภายในของกิมย้งเช่น มังกรหยก, จอมใจจอมยุทธ์, จิ้งจอกภูเขาหิมะ เป็นต้น ปัจจุบันมีหลวงจีนที่บวชเพื่อศึกษาธรรมะและกังฟูจำนวน 180 รูป[8] มีหลวงจีน ซือ หย่งซิน (จีน: 釋永信) ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสองค์ปัจจุบัน[9] เป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญทางประวัติศาสตร์แห่งหนึ่งในประเทศจีน ที่ทางรัฐบาลจีนได้ร้องขอต่อองค์กรยูเนสโกให้เป็นแหล่งมรดกโลก[10] และได้รับการพิจารณาให้เป็นแหล่งมรดกโลกเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2553 ร่วมกับโบราณสถานอีก 5 แห่ง[11][12]
ประวัติ
[แก้]วัดเส้าหลิน สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 1038 ในสมัยของไท่เหอเจ้าผู้ครองรัฐวุ่ยเหนือ ในปี พ.ศ. 929 - พ.ศ. 1077[13] เนื่องจากตั้งอยู่บนยอดเขาเส้าซื่อ (จีน: 少室) ทางด้านทิศตะวันตกของเทือกเขาซงซาน (จีน: 松山) ครอบคลุมอาณาเขตพื้นที่เกือบทั้งหมดด้วยป่าหรือ "หลิน" (จีน: 林) ในภาษาจีนกลาง จึงกลายเป็นที่มาของชื่อ วัดเส้าหลิน ในยุคสมัยบุกเบิกยังไม่เป็นที่รู้จักกันในวงกว้าง ภายหลังจากสร้างขึ้นมาได้ประมาณ 32 ปี ในปี พ.ศ. 1070 พระโพธิธรรมเถระหรือตั๊กม้อ (สำเนียงแต้จิ๋ว หรือ ต๋าหมอในสำเนียงจีนกลาง คำเรียกในภาษาจีนทั้งสองสำเนียงมาจากคำว่า (โพธิ)"ธรรมะ" ในภาษาสันสกฤต) พระภิกษุจากประเทศอินเดีย ได้เดินทางเข้ามาเผยแผ่พุทธศาสนานิกายเซนที่วัดเส้าหลินเป็นครั้งแรก[14] อีกทั้งแลเห็นว่าวัดเส้าหลินอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ มีความสงบร่มรื่น เหมาะแก่การบำเพ็ญเพียรปฏิบัติธรรมจนบรรลุธรรมตามนัยของพุทธศาสนานิกายเซน (เซน เป็นสำเนียงญี่ปุ่น ตรงกับคำว่า ฉาน ในสำเนียงจีนกลาง หรือ เซี้ยง ในสำเนียงแต้จิ๋ว รากศัพท์มาจากคำว่า ธยานะ ในภาษาสันสกฤต หรือ ฌาน ในภาษาบาลีนั่นเอง) ปรมาจารย์ตั๊กม้อจึงเข้าพำนักและดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสองค์แรก ทำให้ชื่อเสียงของวัดเส้าหลิน อยู่ในฐานะเป็นต้นกำเนิดของศาสนาพุทธนิกายเซนในประเทศจีน กลายเป็นที่รู้จักมากขึ้น[15]
ตั๊กม้อสร้างความเลื่อมใสศรัทธาแก่ชาวจีนเป็นอันมาก โดยเฉพาะการพัฒนาวิทยายุทธเส้าหลินให้ลึกล้ำขึ้นกว่าเดิม ถ่ายทอดธรรมะและวิชากังฟูให้แก่หลวงจีนได้ฝึกฝนเพื่อออกกำลังกายและฝึกสมาธิ เนื่องจากเห็นว่าหลวงจีนส่วนใหญ่มีสุขภาพร่างกายอ่อนแอ ไม่สามารถนั่งสมาธิวิปัสสนาและเจริญกรรมฐานอย่างเคร่งครัด จึงหัดให้หลวงจีนเริ่มฝึกฝนร่างกายให้แข็งแกร่งควบคู่กับการปฏิบัติธรรม การฝึกสอนวิทยายุทธและกังฟูของตั๊กม้อ ได้รับการพัฒนาจนกลายเป็นที่มาของวิทยายุทธเส้าหลินที่สง่างามและทรงพลังเช่น หมัดเส้าหลิน (อังกฤษ: Shaolin Chuan) หรือเพลงหมัดเส้าหลิน (อังกฤษ: Shaolin Ch'uan Fa) รวมทั้งหมด 18 กระบวนท่า อีกทั้งเป็นการปฏิรูปวิทยายุทธครั้งสำคัญเช่น การขยายท่าฝ่ามืออรหันต์จาก 18 ท่า เป็น 72 ท่า[16] โดยเล็งเห็นว่าวิชากังฟูเส้าหลิน ควรได้รับการถ่ายทอดให้ขยายออกไป เช่นเดียวกับนิกายเซนที่ตั๊กม้อได้เดินทางมาเผยแผ่
เจตนารมณ์ของตั๊กม้อประสบความสำเร็จอย่างใหญ่หลวง ศิษย์ของตั๊กม้อเมื่อลาสิกขาออกไปจากวัดเส้าหลินแล้ว ส่วนใหญ่กลายเป็นวีรบุรุษของชาวจีนที่รู้จักกันเป็นอย่างดีเช่น งักฮุยหรือแม้กระทั่งจางซานฟง แม้ในประเทศจีนจะมีวัดนิกายต่าง ๆ อยู่เป็นจำนวนมาก แต่เนื่องจากความเก่าแก่ประกอบกับชื่อเสียงอันโด่งดัง เลื่องลือกล่าวขานในด้านวิชากังฟูของเส้าหลิน เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้หลวงจีนหลาย ๆ องค์ นิยมเดินทางมาบวชเรียนเพื่อศึกษาธรรมะ กระบวนท่าวิทยายุทธและกังฟู ทำให้ชาวจีนจำนวนมากเริ่มเดินทางมาวัดเส้าหลินเพื่อฝึกฝนวิชากังฟูของตั๊กม้อ จนได้รับความนิยมอย่างมากในเวลาอันรวดเร็ว และกลายเป็นมหาอำนาจกำลังภายในของจีนมากว่าพันปี รวมทั้งยังเกิดสาขาของวัดเส้าหลินอีกนับสิบแห่งทั่วทุกมุมของโลก[17]
ตามตำนานจีนโบราณ ศิลปะการต่อสู้และกังฟูเส้าหลิน มีต้นกำเนิดจากการที่หลวงจีนใช้วิชากังฟู ฝึกฝนร่างกายและออกกำลังกาย เพื่อเป็นการขจัดความเมื่อยล้าจากการนั่งสมาธิวิปัสนากรรมฐานเป็นเวลานาน ต่อมาได้มีการพัฒนาจนกลายเป็นรูปแบบที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของวัดเส้าหลิน ชาวจีนเชื่อกันว่าผู้ที่คิดค้นสุดยอดวิชากังฟูคือตั๊กม้อ จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ตามบันทึกบน "ถังไท่จงชื่อเส้าหลินซื่อจู่เจี้ยวเปย" แท่นหินสลักคำสอนหลักของวัดเส้าหลินระบุว่า หลวงจีน 13 องค์ ได้เข้าช่วยเหลือจักรพรรดิถังไท่จงหรือหลี่ซื่อหมินแห่งราชวงศ์ถัง ในระหว่างปี พ.ศ. 1161 - พ.ศ. 1450 ฝ่าวงล้อมในระหว่างการสู้รบกับทหารของราชวงศ์สุยตอนปลายจนได้รับชัยชนะ[18]
ต่อมาถังไท่จงได้ทรงแต่งตั้งให้เฟิงถันจง หนึ่งในหลวงจีนที่ร่วมในการสู้รบให้ดำรงตำแหน่งเป็นแม่ทัพ พร้อมกับพระราชทานแท่นปักธงคู่และสิงโตหิน ซึ่งตั้งอยู่บริเวณอารามหน้าวัดเส้าหลินจนกระทั่งถึงปัจจุบัน รวมทั้งได้ทรงอนุญาตให้หลวงจีนเข้าร่วมฝึกซ้อมแบบทหารร่วมกับกองกำลังทหารในราชสำนัก[19] รวมทั้งให้หลวงจีนสามารถฆ่าสัตว์ตัดชีวิต และสามารถฉันเนื้อสัตว์ได้[20] จากการสนับสนุนในด้านต่าง ๆ จากทางราชสำนัก ทำให้วัดเส้าหลินได้รับการพัฒนาอย่างรวดเร็ว จนเป็นที่รู้จักทั้งในประเทศจีนและต่างประเทศในสมัยซ่งหรือซ้อง
ในปี พ.ศ. 1503 - พ.ศ. 1822 วิชากังฟูเส้าหลินได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องจนถึงขีดสุด จนถึงสมัยราชวงศ์ชิง ในปี พ.ศ. 2159 - พ.ศ. 2454 และในปี พ.ศ. 2270 หลังการขึ้นครองราชย์ของจักรพรรดิหย่งเจิ้งแห่งราชวงศ์ชิงได้ประมาณ 5 ปี จากเหตุผลทางด้านการเมือง ราชสำนักได้เข้ามามีส่วนสำคัญในการลดบทบาทของวัดเส้าหลินลง แม้ว่าหลวงจีนจะถูกห้ามไม่ให้ฝึกกังฟู แต่ยังคงมีการลักลอบแอบฝึกกังฟูกันอย่างลับ ๆ ทั้งในบริเวณวัดและตามสถานที่ต่าง ๆ ทำให้วิชากังฟูเส้าหลินไม่สูญหายไปตามกาลเวลา และได้รับการสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน
วัดเส้าหลินดั้งเดิมนั้นถูกจักรพรรดิหยงเจิ้ง ส่งกองทัพมากวาดล้างและเผาทำลาย แต่ถึงอย่างไรก็ตามกังฟูที่มีรากฐานมาจากวัดเส้าหลินแห่งแรกในเทือกเขาซงซาน มณฑลเหอหนาน ได้แพร่กระจายไปทั่วประเทศจีนและทั่วทุกแห่งในโลก ในส่วนที่ถูกเผาทำลาย ปัจจุบันมีการทำนุบำรุงบูรณะหลายต่อหลายครั้ง ตลอดระยะเวลา 1,500 ปี วัดเส้าหลินการถูกเผาครั้งยิ่งใหญ่จำนวน 3 ครั้งด้วยกัน และตั้งแต่ใน ปี พ.ศ. 2000 มีการปรับปรุงครั้งยิ่งใหญ่ รื้อบริเวณรอบ ๆ ที่ถูกไฟเผาไหม้ ปลูกต้นไม้ มีการสร้างอารามต่าง ๆ ขึ้นใหม่อีกครั้งอย่างสวยงามในปี พ.ศ. 2400
ปัจจุบันในประเทศจีนมีวัดเส้าหลินทั้งหมดสามแห่ง แห่งแรกตั้งอยู่บนเทือกเขาซงซาน มณฑลเหอนาน ซึ่งเป็นต้นกำเนิดพุทธศาสนานิกายเซนและกังฟูเส้าหลิน แห่งที่สองตั้งอยู่ที่เทือกเขาผานซาน สร้างขึ้นในสมัยราชวงศ์หงวน และแห่งที่สามตั้งอยู่ที่เทือกเขาจิ่วเหลียนซาน มณฑลฮกเกี้ยน เรียก "สำนักเสี้ยวลิ้มใต้"[21] คู่กับ "สำนักเสี้ยวลิ้มเหนือ" ที่เทือกเขาซงซาน สำนักใหญ่ของวัดเส้าหลิน[22] แบ่งออกเป็น 2 สายหลัก ๆ คือสายพระบู๊ซึ่งเป็นสายของการการสืบทอดศิลปะการต่อสู้และกังฟูเส้าหลินของตั๊กม้อ และสายพระวินัยซึ่งเป็นสายที่เน้นการปฏิบัติธรรมตามคำสอนของพุทธศาสนาเป็นสำคัญ[23]
สถาปัตยกรรม
[แก้]สถาปัตยกรรมต่าง ๆ ภายในวัดเส้าหลินมีเป็นจำนวนมาก บริเวณด้านหน้าของอารามต้าฉงเป่าเทียน ประกอบด้วยอารามและวิหารหลวงหลายหลัง ซึ่งล้วนแต่เป็นสถาปัตยกรรมแบบจีนโบราณ ที่มีความงดงามเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวเช่น อารามตั๊กม้อ, อารามไป๋อี, อารามพระพุทธ, อารามเจ้าอาวาส โดยเฉพาะอารามเจ้าอาวาส เคยใช้เป็นสถานที่สำคัญสำหรับต้อนรับวลาดิมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีแห่งรัสเซียซึ่งเป็นผู้มีความสนใจส่วนตัวและความเชี่ยวชาญในศิลปะป้องกันตัวหลายแขนง [24] ที่เยือนวัดเส้าหลินอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2549 [25][26]
ภายในอารามหลวงหรืออารามตั๊กม้อ เป็นสถานที่สำหรับประดิษฐานพระพุทธรูปปางต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก ซึ่งชาวจีนและนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ นิยมเดินทางมากราบไว้สักการบูชา ขอพรจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต เจริญรุ่งเรืองและประสบความสำเร็จในด้านต่าง ๆ ภายรอบนอกบริเวณอารามหลวง มีรูปสลักวิชากังฟูเส้าหลินทั้งชายและหญิงในกระบวนท่าต่าง ๆ จำนวน 24 กระบวนท่า โดยแบ่งออกเป็นแต่ละโซนเช่น โซนกระบวนท่าการฝึกขั้นพื้นฐาน ที่แสดงพื้นฐานของกระบวนการฝึกวิชากังฟู โซนกระบวนท่านั่งสมาธิวิปัสสนากรรมฐาน ที่แสดงความสงบของสมาธิ รวมทั้งศึกษาพระพุทธศาสนา ฯลฯ และรูปปั้นพระโพธิธรรมหรือปรมาจารย์ตั๊กม้อ ผู้ให้กำเนิดวิชากังฟูเส้าหลิน[27]
พื้นที่รอบ ๆ วัดเส้าหลินรายล้อมด้วยป่าเจดีย์จำนวนมากกว่า 200 องค์ ซึ่งใช้สำหรับเป็นสุสานฝังศพของอดีตเจ้าอาวาสและหลวงจีนภายหลังจากมรณภาพ[27] ป่าเจดีย์จำนวนมากนั้น มีรูปแบบและลักษณะที่งดงามแตกต่างลดหลั่นกันไปตามแต่ตำแหน่งและฐานะของผู้ที่เสียชีวิต จัดเป็นแหล่งโบราณสถานที่มีวัตถุก่อสร้างทางด้านสถาปัตยกรรมและประติมากรรมอันมีคุณค่า ควรค่าแก่การศึกษาค้นคว้าของประเทศจีน บริเวณด้านหน้าวัดมีพระพุทธรูปขนาดใหญ่ และรูปปั้นสัตว์มงคลตามตำนานเทพเจ้าจีนเช่น "ปี่ซี" ซึ่งเป็นหนึ่งในสัตว์ศักดิ์สิทธิ์และเคารพบูชาของชาวจีน
ปีซีนั้น มีร่างกายเป็นเต่าแต่มีส่วนหัวเป็นมังกร มีความแข็งแรง ซุกซน และดื้อดึง จึงสร้างความเดือดร้อนให้แก่ราษฏรชาวจีนเป็นอย่างมาก จนเรื่องทราบถึงเจ้าแม่กวนอิม จึงเสด็จลงมาจากสวรรค์เพื่อปราบปรามความซุกซนของปี่ซี ด้วยการใช้แผ่นหินขนาดใหญ่ทับไว้บนหลัง เพื่อให้ฟังพระสวดมนต์และคำสอนของพุทธศาสนา รูปสลักปี่ซีในบริเวณวัดเส้าหลินจึงมักปรากฏอยู่ใกล้ ๆ กับกระถางธูปสำริด ตามความเชื่อแต่โบราณเพื่อให้ปีซีได้กลิ่นธูปและฟังเสียงพระสวดมนต์
ชาวจีนนิยมเดินทางมาวัดเส้าหลิน และขอพรจากปีซีด้วยการใช้มือลูบคลำไปตามส่วนต่างๆ ของร่างกายเช่น ถ้าลูบบริเวณส่วนหัวของปีซีเชื่อว่าจะโชคดี ถ้าลูบบริเวณลำคอเชื่อว่าจะปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ สุขภาพร่างกายแข็งแรง สมบูรณ์และอายุยืนยาว ถ้าลูบไปตามซี่ฟันแหลมคมเชื่อว่าจะมีโชคลาภ อำนาจวาสนาและทรัพย์สิน แต่สำหรับผู้ที่มีบุตรยากหรือต้องการจะมีบุตร ให้ลูบบริเวณทางด้านส่วนหลังของปีซี ซึ่งเชื่อกันว่าจะได้บุตรสมตามความปรารถนา
ปัจจุบันวัดเส้าหลินบนเทือกเขาซงซาน กลายเป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงของจีน ไม่แพ้สถานที่ท่องเที่ยวสำคัญในปักกิ่งเช่น พระราชวังต้องห้าม กำแพงเมืองจีน พระราชวังฤดูร้อนอี๋เหอหยวน ฯลฯ ซึ่งนอกจากจะได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวต่างชาติแล้ว ชาวจีนเองก็นิยมเดินทางมาเที่ยวชมและสักการบูชาพระพุทธรูปทีวัดเส้าหลินเช่นกัน เนื่องจากตั้งอยู่บนยอดเขาสูง จึงมีอากาศบริสุทธิ์และค่อนข้างหนาวเย็น[27]
วิทยายุทธวัดเส้าหลิน
[แก้]วิทยายุทธวัดเส้าหลิน เป็นการฝึกฝนและเสริมสร้างสมรรถภาพของร่างกายที่ดีที่สุดทางหนึ่งของหลวงจีน เป็นการฝึกฝนเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของร่างกาย เสริมสร้างสมาธิ สติปัญญา ความมีระเบียบวินัยและคุณธรรม มีความรุนแรงในการปะทะเป็นอย่างมาก เกิดจากลมปราณภายในร่างกายที่ผ่านการฝึกมาเป็นเวลานาน สามารถเจาะทะลวงพื้นอิฐให้เป็นรอยยุบได้อย่างง่ายดาย สามารถเพิ่มความรุนแรงในการต่อสู้ด้วยกำลังภายในหรือลมปราณที่หมั่นฝึกฝนอยู่ตลอดเวลา
จุดเริ่มต้นจากรากฐานของวิทยายุทธ มีความแตกต่างจากสำนักอื่น โดยเฉพาะศิลปะการต่อด้วยสู้มือเปล่า เป็นที่เลื่องลือมากที่สุดในกระบวนท่าทั้งหมด เกิดจากการประยุกต์ขึ้นจากธรรมชาติแวดล้อมผนวกกับวิทยายุทธลมปราณที่เกิดจากการนั่งสมาธิวิปัสสนา กลายเป็นกำลังภายในที่มีองค์ประกอบพื้นฐานอยู่หลายอย่างอันเป็นเอกลักษณ์ได้แก่[28] [29]
- เพลงหมัดอรุโณทัย (อังกฤษ: First Strike) เป็นการต่อสู้ด้วยมือเปล่าที่มีความรวดเร็วในการโจมตี ซึ่งเร็วกว่าศัตรูเมื่อปล่อยหมัดออกพร้อมกัน
- วิทยายุทธตัวเบาเส้าหลิน (อังกฤษ: Flying) เป็นพื้นฐานเพื่อใช้สำหรับหลบหนีสัตว์ร้ายในป่าเช่น เสือ หมาป่า ที่วิ่งได้เร็วกว่า เมื่อใช้วิทยายุทธตัวเบา ทำให้สามารถลอยตัวกลางอากาศได้ในระยะหนึ่ง
- วิทยายุทธคงกระพันเส้าหลิน (อังกฤษ: Protection) หลวงจีนวัดเส้าหลินมักใช้ว่านชนิดหนึ่งผสมน้ำอาบชำระล้างร่างกายทุกวัน ซึ่งว่านที่ใช้ผสมน้ำอาบนั้นมีสรรพคุณทางป้องกันร่างกายจากอาวุธทุกประเภทได้เป็นอย่างดี
- วิทยายุทธลมปราณ (อังกฤษ: Trample) เกิดจากการกำหนดจิตและกายรวมเป็นหนึ่ง ลมปราณจากการกำหนดพลังแฝงภายในร่างกายจะแสดงออกมาในรูปของเพลงหมัดและเพลงเตะที่มีความหนักแน่นและดุดัน
รากฐานกังฟูเส้าหลิน
[แก้]รากฐานกังฟูเส้าหลินได้แก่ พลังลมปราณและวิทยายุทธ ให้กำเนิดโดยตั๊กม้อ สาเหตุสำคัญของการฝึกกังฟูนอกเหนือจากการเสริมสร้างสมรรถภาพร่างกายให้แข็งแรงแล้ว เหตุผลสำคัญอีกประการในการฝึกกังฟู มาจากสถานที่ตั้งของวัดเส้าหลินซึ่งตั้งอยู่บนเทือกเขาซงซาน รายล้อมด้วยป่าไม้จำนวนมาก รวมทั้งในป่ารอบ ๆ วัดเส้าหลินมีสัตว์ร้ายนานาชนิด หลวงจีนวัดเส้าหลินจึงจำเป็นที่จะต้องมีการฝึกวิทยายุทธไว้สำหรับต่อสู้ป้องกันตัว และได้รับการพัฒนาต่อเนื่องมาโดยตลอด ซึ่งรากฐานกังฟูวัดเส้าหลินแต่โบราณ มีที่มาจากท่วงท่าการเคลื่อนไหวและพฤติกรรมของสัตว์เช่น หงเฉวี๋ยน หรือเพลงหมัดตระกูลหงส์ เป็นการเลียนแบบท่าทางของหงส์ เป็นต้น[30]
เพลงมวยหมัดเมา เป็นหนึ่งในเพลงหมัดมวยและกังฟูที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันดีทั่วโลก โดยกฎของทางวัดเส้าหลิน การดื่มสุราและของมึนเมาทุกชนิดเป็นเรื่องต้องห้าม แต่ท่วงท่าและลีลาของเพลงมวยหมัดเมาที่เดินไม่ตรงทาง เอียงซ้าย เอียงขวา ตัวโก่งงอ บิดเอวและแขนขาไปมา ในขณะที่มือทำท่าราวกับจับไหเหล้าเอาไว้ตลอดเวลา นาน ๆ ครั้งจึงทำท่ายกขึ้นมาด้วยท่าทางราวกับกำลังดื่มกิน พร้อมกับเดินไม่ตรงทาง เซหน้าเซหลังไปมา ตีลังกาหน้าและหลัง ซึ่งลักษณะของคนที่เมาสุราทั้งหมดนี้ รวมทั้งกระบวนท่าต่าง ๆ ที่หลวงจีนทำการฝึกฝน แทบจะไม่ต่างจากบุคลิกและลักษณะท่าทางของคนเมาแม้แต่น้อย เป็นการใช้จินตนาการในการเลียนแบบท่าทางและความรู้สึกของคนเมา ซึ่งแท้จริงแล้วเพลงมวยหมัดเมาเป็นการฝึกกำลังช่วงขาและเอวให้มีความแข็งแรง[28]
พลังเคลื่อนย้ายลมปราณ
[แก้]พลังเคลื่อนย้ายลมปราณ เป็นสิ่งสำคัญที่สุดของการฝึกกังฟูเส้าหลิน กำลังภายในเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง ต้องกำหนดจิตลมหายใจและประสาท เพื่อรวบรวมพลังลมปราณและเคลื่อนย้ายไปยังจุดที่ต้องการตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกายให้ได้มากที่สุด ลมปราณเป็นพลังงานที่ถูกปลดปล่อยออกมาในขณะที่กำลังออกกำลังกายหรือต่อสู้กับศัตรู เป็นสิ่งที่ไม่สามารถมองเห็นไม่ได้ด้วยตาเปล่า แต่เป็นพลังแผงที่มีอยู่จริงในร่างกายของมนุษย์ทุกคน[31] สามารถสัมผัสหรือรู้สึกได้ด้วยการเพ่งพิจารณาโดยจิตที่เป็นสมาธิ
คำว่า "กำลังภายใน" หมายถึงแรงที่เกิดจากภายในโดยผ่านการฝึกฝนร่างกายและจิตใจ ในระหว่างการฝึกจุดสำคัญที่สุดคือต้องระวังให้จิตใจนำการเคลื่อนไหว ใช้จิตไม่ใช้แรง ให้จิตใจเป็นตัวชักนำ ฝึกแปลงลมปราณให้เป็นพลังจิตประสาท การเคลื่อนไหวต้องช้า นุ่มนวลแต่แฝงไว้ด้วยความแข็งแรง ให้ทุกส่วนของกล้ามเนื้อและข้อต่อของร่างกายเคลื่อนไหวไปด้วยกัน ภายนอกเกิดการเคลื่อนไหว ภายในก็เคลื่อนไหวตามไปด้วย การเคลื่อนไหวต้องต่อเนื่องไม่หยุดชะงัก ผ่อนคลาย สงบและเป็นธรรมชาติ ใช้จิตใจจินตนาการถึงความงดงามของท่วงท่าในการร่ายรำ ควบคุมการหายใจเข้าออกแบบลึกยาว เป็นต้น
การฝึกกำลังภายในไม่ใช่การฝึกเพื่อแสดงถึงพละกำลังภายนอก แต่เป็นการฝึกเพื่อให้แสดงออกถึงกำลังภายในที่อยู่ใน ชาวจีนโบราณมีความเชื่อว่า บนท้องฟ้ามีสิ่งวิเศษสามสิ่งคือพระอาทิตย์ พระจันทร์และดวงดาว ในร่างกายจึงมีของวิเศษสามสิ่งเช่นกันคือ "จิง ชี่ เสิน" หรือพลังชีวิต พลังภายใน พลังจิตประสาท ชีวิตที่สามารถเคลื่อนไหวได้นั้น ขึ้นอยู่กับการเปลี่ยนแปลงของจิง ชี่ เสิน ถ้าหากต้องการจะมีอายุยืนยาว สุขภาพแข็งแรง จึงจำเป็นที่จะต้องทำตนให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับฟ้าให้ได้ โดยผ่านการหายใจที่ถูกต้อง[32] การเกิด โต แก่ เจ็บและตาย ล้วนเป็นผลที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของลมปราณทั้งสิ้น และเป็นตัวกำหนดวิถีชีวิตการเคลื่อนไหวของคน[33]
ลมปราณเป็นพลังที่ดำรงอยู่ในจักรวาลประกอบจากพลังงาน 6 ชนิด ตามความเชื่อของวิชาการแพทย์โบราณของจีน เป็นสิ่งที่ทำให้สามารถเคลื่อนไหวและมีชีวิตอยู่ได้[34] ดังคำพังเพยของจีนที่กล่าวว่า "ชีวิตขึ้นอยู่กับการเคลื่อนไหว" การฝึกเคลื่อนย้ายพลังลมปราณ จะเป็นการฝึกฝนร่างกาย จิตใจและลมหายใจให้ประสานกันเป็นหนึ่งเดียว[35] เพื่อเค้นเอาพลังแฝงในร่างกายออกมาปรับปรุงเลือดให้สมดุลกลมกลืนกันอย่างสูงสุด รูปแบบการฝึกเป็นแบบเคลื่อนไหวและแบบสงบ ในความสงบมีการเคลื่อนไหว
การฝึกเป็นการนำเอาความสงบเข้ามาควบคุมการเคลื่อนไหว ประสานจิตและลมหายใจเพื่อเค้นลมปราณในร่างกายให้เกิดการไหลเวียน ทำให้เกิดความร้อน ส่งผลให้ร่างกายได้รับการนวดคลึง ปริมาณเลือดที่ไหลเวียนในหลอดเลือดมีการขยายตัว เกิดกระแสไฟฟ้าบนผิวหนัง ต่อมน้ำลายจะซึมออกมามากขึ้น การเคลื่อนไหวของแขนและขาจะแข็งแรงขึ้นกว่าปกติ 3-4 เท่า อวัยวะภายในช่องท้องเช่นกระเพาะอาหารและลำไส้ถูกกระตุ้นให้มีการบีบตัว หยินและหยางมีดุลยภาพ เส้นเอ็นและกระดูกแข็งแรง[36]
หลักทฤษฎีพื้นฐานของกังฟูคือ "จิตใจชักนำพลัง จิตใจและพลังเคลื่อนตามกัน" หมายความถึงเมื่อร่างกายเคลื่อนไหว จิตใจจะเป็นตัวชักนำพลังลมปราณให้เคลื่อนย้ายไหลเวียนไปทั่ว บนล่างสอดคล้องกัน นอกในประสานกัน รากอยู่ที่ขา เกิดที่น่อง บงการไปที่เอว ลักษณะเหมือนกับการร่ายรำ จิตใจก็จะเคลื่อนไหวขึ้นลงตามไปด้วย ดั่งคำกล่าวที่ว่าจิตประสาทเป็นแม่ทัพ ร่างกายอยู่ใต้บังคับบัญชา การเคลื่อนไหวและจิตใจต้องหล่อหลอมเป็นหนึ่งเดียว ทำให้สามารถรวบรวมลมปราณไว้ยังจุดที่ต้องการตามส่วนต่าง ๆ ได้ตามต้องการ[37]
การฝึกฝนร่างกายของหลวงจีน เพื่อให้สามารถใช้ลมปราณได้นั้น มีวิธีการฝึกฝนอยู่สองแบบคือการฝึกกำลังภายในและการฝึกกำลังภายนอก การฝึกกำลังภายในการคือการฝึกหัดกระบวนท่าวิชาหมัดมวยและพลังลมปราณในการร่ายรำท่วงท่าต่าง ๆ ตามคำสอนของตั๊กม้อ การฝึกกำลังภายนอกคือการฝึกหัดกังฟู ฝึกเส้นเอ็น กระดูกและผิวหนัง รวมทั้งศิลปะการต่อสู้และอาวุธทุกชนิด ซึ่งการฝึกกำลังภายในทั้งสองประเภท ทางการแพทย์โบราณของจีนถือว่า พลังลมปราณคือวัตถุธาตุมูลฐานที่ทำให้ร่างกายของมนุษย์สามารถเคลื่อนไหวได้ การที่หลวงจีนผ่านการฝึกพลังชีวิตแปลงธาตุเป็นพลังภายใน ฝึกพลังภายในแปลงธาตุให้เป็นพลังจิตประสาท ฝึกพลังจิตประสาทให้แข็งแกร่ง เน้นการฝึกจิตประสาทและร่างกายให้เป็นหนึ่งเดียวจนกลายเป็นพลังเคลื่อนย้ายลมปราณ ส่งผลให้ร่างกายแข็งแรงเกินกว่าที่มนุษย์ปกติจะทำได้[38]
กังฟูเส้าหลิน
[แก้]กังฟู หมายถึงวิชาที่ว่าด้วยการใช้เทคนิคในการเข้าปะทะต่อสู้เป็นสำคัญ มีรูปแบบการร่ายรำ วิทยายุทธและชั้นเชิงในการต่อสู้เป็นหลัก ในการฝึกกังฟูเส้าหลินจะมีหลักศิลปะกายบริหารที่สืบทอดกันมาแต่โบราณ โดยมุ่งเน้นการประสานพลังภายในและภายนอกซึ่งเป็นจุดเด่นโดยเฉพาะ เป็นการถ่ายทอดวิชาแบบโบราณจากรุ่นสู่รุ่นมานานกว่าพันปี การฝึกกังฟูควบคู่กับการศึกษาพระธรรมของหลวงจีนวัดเส้าหลิน ไม่ได้เป็นการฝึกฝนไว้เพื่อต่อสู้หรือทำร้ายผู้อื่น แต่เป็นการฝึกเพื่อให้เข้าถึงธรรมะและเป็นอีกทางที่เข้าสู่พระธรรม ทำให้มีสมาธิเพิ่มมากขึ้น มีความรู้กว้างขวาง ทำสมาธิเพื่อให้จิตใจโล่งและสงบทำให้เข้าถึงแก่นธรรมได้มากขึ้น[28]
ภายหลังจากที่ตั๊กม้อได้เดินทางมาเผยแผ่พุทธศาสนานิกายเซนในจีนและพำนักที่วัดเส้าหลิน ได้สังเกตเห็นว่าการที่หลวงจีนแต่ละองค์มีร่างกายอ่อนแอ ไม่แข็งแรง เมื่อนั่งสมาธิวิปัสสนากรรมฐานนาน ๆ มักเกิดอาการปวดเมื่อย อาจทำให้สุขภาพร่างกายเกิดการเสื่อมถอยเนื่องจากไม่ได้ออกกำลังกาย จึงคิดค้นวิชากังฟูและเพลงหมัดมวยขึ้น โดยพิจารณารากฐานจากท่วงท่าและกิริยาของสรรพสัตว์น้อยใหญ่ในป่าบนเทือกเขาซงซาน นำมาดัดแปลงเป็นกระบวนท่าต่าง ๆ ที่เหมาะสมเพื่อให้หลวงจีนได้ฝึกฝน ภายใต้การเคลื่อนไหวร่างกายและความสงบนิ่ง เพาะบ่มจิตใจให้บริสุทธิ์เพื่อเข้าถึงแก่นของธรรมะ และนำไปใช้ในการป้องกันตัว[39]
วิชากังฟูในยุคแรกเริ่มจากกระบวนท่าพื้น ๆ จากเหล่าสรรพสัตว์ที่สามารถพบเห็นได้เช่น เสือที่ดึงเอาลักษณะเฉพาะในการล่าเหยื่อ กวางที่ดึงเอาลักษณะเฉพาะในการเดิน ลิงที่ดึงเอาลักษณะเฉพาะในการเคลื่อนที่ไปมาอย่างรวดเร็ว นกที่ดึงเอาลักษณะเฉพาะในการลอยตัวอยู่กลางอากาศ และหมีที่ดึงเอาลักษณะเฉพาะของความแข็งแรง บึกบึนในการต่อสู้[28] และได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องสู่กระบวนท่าอื่น ๆ เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้นหลังจากตั๊กม้อถ่ายทอดวิชากังฟูให้แก่หลวงจีนควบคู่กับการปฏิบัติธรรม กิจวัตรประจำวันหลังจากทำวัตรเช้า ทำสมาธิสวดมนต์เสร็จสิ้น หลวงจีนวัดเส้าหลินทุกองค์ ต่างฝึกฝนร่างกายให้แข็งแรงด้วยการรำเพลงมวย และฝึกกังฟูมาเป็นเวลานานกว่าพันปีจนถึงปัจจุบัน[28]
การฝึกของหลวงจีนจะเริ่มฝึกในช่วงเช้าตรู่ของแต่ละวัน ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงในการศึกษาและท่องพระธรรม และในขณะเดียวกันใช้ช่วงเวลาเช้า 2 ชั่วโมง และช่วงบ่ายอีก 2 ชั่วโมงในการฝึกกังฟู โดยคงรูปแบบกระบวนท่าต่าง ๆ จากวัฒนธรรมการฝึกดั้งเดิมของกังฟูเส้าหลิน จากประวัติที่บันทึกกระบวนท่าทั้งหมด 708 ชุด โดยที่หลวงจีนสามารถที่จะเลือกฝึกเพียงบางกระบวนท่าเท่านั้น ยกเว้นการฝึกขั้นพื้นฐานคือเพลงหมัดวัดเส้าหลิน ในส่วนของเพลงหมัดมวย ยังคงเอกลักษณ์สำคัญที่การดัดแปลงท่วงท่ามาจากสัตว์นานาชนิดหลากหลายรูปแบบ โดยกระบวนท่าที่ได้รับความนิยมคือ เพลงหมัดพยัคฆ์ เพลงมวยเหยี่ยว เพลงหมัดตั๊กแตนสวดมนต์ เพลงหมัดกระเรียนขาว เพลงหมัดเสือดาว เพลงหมัดราชสีห์ เพลงมวยนาคี เพลงมวยมังกร[28] ฯลฯ ซึ่งในการฝึกเพลงหมัดมวยนั้นจะได้ทั้งพละกำลังภายนอกภายในและการสงบจิตใจตามมาด้วย
การฝึกกังฟูในสภาพอากาศที่หนาวเหน็บท่ามกลางหิมะ เป็นหนึ่งในกิจกรรมปกติของหลวงจีน ความยากลำบากในการฝึกฝน ถือเป็นการเพาะบ่มจิตใจและร่างกายให้แข็งแกร่ง การนั่งทำสมาธิท่ามกลางหิมะ ถือเป็นการฝึกบำเพ็ญตบะอย่างหนึ่ง ตามวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมของวัดเส้าหลิน ถ้าหลวงจีนองค์ไหนนั่งทำสมาธิสาย หรือไม่สามารถทำสมาธิได้ จะถูกลงโทษด้วยการให้นั่งคุกเข่าบนพื้นที่เต็มไปด้วยหิมะ จนกว่าจะหมดธูปหนึ่งก้าน[40] ในประเทศจีนกังฟูเส้าหลินมีชื่อเสียงเป็นอย่างมาก กังฟูหลายอย่างในจีนล้วนแต่มีต้นกำเนิดมาจากวัดเส้าหลินแทบทั้งสิ้น รวมถึงเพลงหมัดมวยที่ปรากฏในภาพยนตร์จีนกำลังภายในหลายต่อหลายเรื่อง ซึ่งมักปรากฏภาพหมัดนกกระเรียนขาว หมัดมังกรเส้าหลินเหนือ กระบวนท่าเพลงหมัดมวยของเส้าหลินเหนือมักเน้นการเตะต่อยเป็นหลัก ในขณะที่เส้าหลินใต้เน้นกระบวนท่าที่ใช้ฝ่ามือจู่โจม เพลงหมัดมวยเด่น ๆ เช่นหมัดเสือดำ หมัดนกกระเรียนของวัดเส้าหลิน แท้จริงแล้ววิชากังฟูไม่มีการแบ่งแยกเป็นฝ่ามือและเท้า กังฟูของตั๊กม้อเป็นวิชาที่ใช้ในการต่อสู้จู่โจมพร้อมกันด้วยหมัด มือและฝ่าเท้า
กระบวนท่าและเพลงหมัดมวย
[แก้]กระบวนท่าและเพลงหมัดมวยเส้าหลิน เป็นกระบวนท่าที่ช่วยทำให้กล้ามเนื้อและข้อต่อตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกายเกิดความแข็งแรง ลักษณะและท่วงท่าในการร่ายรำกังฟูของตั๊กม้อ จะมุ่งเน้นไปที่ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อและกระดูกเป็นหลัก เคลื่อนที่อย่างรวดเร็ว มีจุดเด่นอยู่ที่รูปแบบการร่ายรำที่เหยียดกว้าง แกร่งกร้าว เต็มเปี่ยมไปด้วยพละกำลังและความดุดัน เคลื่อนไหวด้วยท่วงท่าที่เรียบง่าย มีกระบวนท่าการรุกและรับได้ทั้งแปดทิศ สามารถใช้ในการต่อสู้ได้เป็นอย่างดี เป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางในแวดวงยุทธจักร ปรากฏให้เห็นในนิยายกำลังภายในและภาพยนตร์เช่น
- กระบวนท่าการจี้สกัดจุด เป็นการฝึกการใช้นิ้วจี้ตามจุดสำคัญที่เป็นศูนย์กลางของระบบประสาทภายในร่างกาย ทำให้คู่ต่อสู้เกิดเป็นอัมพาตชั่วขณะ ไม่สามารถขยับร่างกายได้ การจี้สกัดจุดจะทำให้เลือดภายในร่างกายถูกปิดกั้นการไหลเวียนชั่วขณะ ทำให้เกิดอาการชาเป็นลำดับและถึงแก่ความตายในเวลาต่อมา[41]
- กระบวนท่าวิชาตัวเบา เป็นการฝึกที่ทำให้ร่างกายเบาและว่องไวราวกับปุยนุ่น กระบวนท่านี้เป็นเทคนิคการฝึกฝนร่างกายเพื่อให้สามารถกระโดดหรือปีนไต่กำแพงได้อย่างคล่องแคล่ว
- กระบวนท่าพลังดัชนี เป็นการฝึกฝนให้นิ้วมีความแข็งแรงด้วยการฝึกทิ่มแทงทะลวงต้นกล้วย ต้นไม้ อิฐตลอดจนถึงกำแพงและก้อนหินขนาดใหญ่
- กระบวนท่ากำลังภายใน เป็นกระบวนท่าพื้นฐานที่สำคัญที่สุดในการฝึกกังฟูโบราณ ทุกกระบวนท่าของตั๊กม้อมีจุดสำคัญคือพลังลมปราณหรือกำลังภายใน ทักษะในการต่อสู้หรือการฝึกกังฟูต้องมีจุดเริ่มต้นจากสมาธิและจิตใจที่สงบนิ่งตลอดเวลา มีการควบคุมและฝึกฝนกำหนดลมหายใจให้แผ่วเบาอยู่เสมอ ซึ่งเมื่อสามารถควบคุมลมหายใจและสมาธิได้สำเร็จ ก็สามารถรวบรวมพลังให้เป็นหนึ่งเดียวในการต่อสู้หรือฝึกฝนกังฟูได้อย่างง่ายดาย
สำหรับเพลงหมัดมวย จากหลักฐานตามตำนานจีนโบราณที่ปรากฏเป็นภาพแกะสลักไม้ของกระบวนท่าวิทยายุทธเส้าหลิน มีการกล่าวถึงถึงเพลงหมัดมวยหรือกระบวนท่ามือเปล่าอยู่ถึง 72 กระบวนท่า[42] เช่น เพลงหมัดยาวเส้าหลิน เพลงหมัดอรหันต์ เพลงหมัดพลังกรงเล็บมังกร เพลงมวยหมัดเมา ซึ่งมีลักษณะพิเศษและรูปแบบเฉพาะตัว เป็นวิทยายุทธที่ใช้หลักการเคลื่อนไหวเป็นรูปวงกลม
แต่ละกระบวนท่าเป็นการประสานร่างกายอย่างต่อเนื่องและกลมกลืน ลำตัวคล่องแคล่ว ฝ่ามือและเท้าว่องไวด้วยวิธีก้าวพลางเปลี่ยนแปลงไปพลางอยู่เสมอเช่น การคว้า การจับกด การปล้ำและคลุกวงในคู่ต่อสู้ รวมแล้วทั้งหมด 255 กระบวนท่าเพลงหมัดมวยและกระบวนท่าอาวุธที่ใช้ฝึกในปัจจุบัน[43] นอกจากการฝึกกระบวนท่ากังฟูโบราณและเพลงหมัดมวยแล้ว หลวงจีนยังต้องศึกษาและเรียนรู้ที่จะใช้อาวุธต่าง ๆ ในการต่อสู้และป้องกันตัวเองอีกด้วย อาวุธที่ใช้สำหรับในการฝึกกังฟูของวัดเส้าหลินมีมากมายหลากหลายชนิดเช่น ดาบ ธนู ง้าว หอก ทวน เป็นต้น
อาวุธ
[แก้]หลวงจีนวัดเส้าหลิน นอกจากศึกษาปฏิบัติธรรมควบคู่ไปการฝึกวิทยายุทธ กังฟูและเพลงหมัดมวยเป็นกิจวัตรประจำวันแล้ว จะต้องศึกษาและเรียนรู้ที่จะใช้อาวุธต่าง ๆ ในการต่อสู้ทุกชนิดได้อย่างเชี่ยวชาญ อาวุธแบบจีนโบราณที่ใช้ในการต่อสู้และป้องกันตัวมีเป็นจำนวนมาก แบ่งออกเป็น 2 ประเภทได้แก่อาวุธประเภทสั้นแบบการโจมตีประชิดตัวเช่น กระบี่ ดาบ กระบองสองท่อน ตุ้มเหล็ก สนับมือ อาวุธซัด โล่ ฯลฯ และอาวุธประเภทยาวแบบการโจมตีระยะไกลเช่น กระบอง หอก ง้าว ทวน พลอง เป็นต้น[44]
การศึกษาวิชาอาวุธมีจุดเริ่มต้นมาจากในสมัยโบราณ ในการเดินทางระหว่างเมืองต่าง ๆ ในประเทศจีน จะต้องอาศัยกระบองเพื่อใช้ในการค้ำยันตัว หรือใช้สำหรับเป็นคานหาบของ รวมทั้งใช้เป็นอาวุธป้องกันตัวจากสัตว์ร้ายและโจรผู้ร้ายที่ชุกชุม ต่อมาภายหลังจากที่ตั๊กม้อได้เริ่มนำคำสอนของพุทธศาสนาและวิชากังฟูเข้ามาเผยแพร่ การใช้กระบองของวัดเส้าหลินจึงถือกำเนิดขึ้นและได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง จนกลายเป็นหนึ่งในวิชาอาวุธเส้าหลินอันโด่งดัง
ความหมายของคำว่าอาวุธ ตามพจนานุกรมราชบัณฑิตยสถานระบุไว้ว่า "อาวุธ คือเครื่องมือที่ใช้สำหรับทำร้ายร่างกาย ใช้สำหรับป้องกันตัวหรือต่อสู้ ซึ่งในการต่อสู้จำเป็นที่จะต้องมีอาวุธ เพราะอาวุธคือสิ่งจำเป็นสำหรับการต่อสู้"[45] อาวุธที่ใช้ในการฝึกควบคู่กับกังฟู เป็นส่วนหนึ่งของการฝึกฝนร่างกายและจิตใจ มีลักษณะท่าต่อสู้เป็นส่วนประกอบหลักและมีรูปแบบยุทธลีลาเป็นแม่แบบในการต่อสู้ป้องกันตัว
หลวงจีนจะต้องฝึกรากฐานของการเรียนเพลงหมัดมวยหลายประเภท โดยเฉพาะวิชาที่เกี่ยวข้องกับการใช้อาวุธเป็นหลัก ซึ่งต้องใช้ฉางเฉวี๋ยนหรือเพลงหมัดยาว เพื่อเป็นบทเรียนขั้นพื้นฐานของการฝึก ประกอบขึ้นจากกระบวนท่ากังฟูและวิทยายุทธจำนวน 5 สกุล คือ "ฉา, หวา, เผ้า, หง, และเส้าหลิน" คุณสมบัติของฉางเฉวี๋ยน ประกอบด้วยลักษณะเฉพาะสามรูปลักษณ์ของกระบวนท่ามือคือ
- กระบวนท่าหมัด
- กระบวนท่าฝ่ามือ
- กระบวนท่ามือตะขอ
และห้ารูปลักษณ์ของกระบวนท่าเท้าคือ
- กระบวนท่ากงปู้ หรือ กระบวนท่าก้าวเท้าคันธนู
- กระบวนท่าหม่าปู้ หรือ กระบวนท่าก้าวเท้าขี่ม้า
- กระบวนท่าพูปู้ หรือ กระบวนท่าก้าวเท้าหมอบ
- กระบวนท่าซีปู้ หรือ กระบวนท่าก้าวเท้าว่างเปล่า
- กระบวนท่าเซียปู้ หรือ กระบวนท่าก้าวเท้านั่งไขว้
โดยเฉพาะกระบวนท่าหม่าปู้ ซึ่งเป็นการฝึกกระบวนท่าพื้นฐานของการต่อสู้ ที่ช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงของสะโพกขา จุดเด่นของฉางเฉวี่ยนคือเป็นกระบวนท่าที่งามสง่า วิทยายุทธว่องไว กระฉับกระเฉง ในแต่ละกระบวนท่าเป็นการพลิกแพลงรวดเร็วและทรงพลัง มีความชัดเจนในจังหวะวิชาอาวุธ มีลักษณะเด่นคือโลดโผนโจนทะยาน รวมทั้งการเคลื่อนไหวไปมาด้วยรูปแบบของการรุกและรับด้วยชั้นเชิงของการต่อสู้ มีกระบวนท่าขี้นลงในทิศทางต่าง ๆ คือ เมื่อเป็นฝ่ายรุกขึ้นรูปลักษณ์สูงตระหง่าน เมื่อเป็นฝ่ายรับลงราบเรียบระดับแนวพื้น มีเคล็ดลับวิธีการในการทิ้งตัวม้วนหมุนเมื่อร่างกายสัมผัสกับพื้น วิชาอาวุธเส้าหลินนั้นมีลักษณะพิเศษเฉพาะตัว ซึ่งมีจุดเด่นและรูปแบบกระบวนท่าที่แตกต่างกันไปตามแต่ประเภทของอาวุธเช่น
- ดาบจีน
ดาบจีน (อังกฤษ: Chinese Swords) จัดเป็นอาวุธประเภทยาวปลายแหลมชนิดหนึ่ง ลักษณะตรงหรือโค้งงอ สันแอ่นปลายงอนเล็กน้อย มักนิยมใช้สำหรับเป็นอาวุธฟันแทงแบบประชิดตัว มีรัศมีการโจมตีในระดับกลาง มีการพลิกแพลงรูปแบบและกระบวนท่าในการโจมตีได้ตลอดเวลา สร้างขึ้นครั้งแรกในสมัยราชวงศ์ซาง เมื่อประมาณ 4,000 ปีมาแล้ว[46] การโจมตีคู่ต่อสู้หรือศัตรูด้วยดาบ จะใช้รูปแบบในการโจมตีทั้งหมด 9 รูปแบบคือ การฟันผ่าลง การฟันทวนขึ้น การฟันตัดซ้าย การฟันตัดขวา การฟันเฉียงลงซ้าย การฟันเฉียงลงขวา การฟันเฉียงขึ้นซ้าย การฟันเฉียงลงขวา และการแทง ซึ่งผลของการโจมตีขึ้นอยู่กับขนาดของดาบ
โดยมาตรฐานทั่วไปดาบแบบจีนโบราณจะมีขนาดความยาวประมาณหนึ่งเมตรและไม่เกินเมตรครึ่ง มีสันขนาดใหญ่ ใบมีดคมสองด้านเรียกว่า "เจี้ยน" (อังกฤษ: Jian; จีนตัวย่อ: 剑; จีนตัวเต็ม: 劍) และใบมีดคมด้านเดียวเรียกว่า "เตา" (อังกฤษ: Dao; จีน: 刀; พินอิน: dāo) ยาวเท่ากับช่วงแขนของผู้ถือ น้ำหนักมาก สามารถสร้างบาดแผลฉกรรจ์ได้เป็นอย่างดี[47] โลหะที่สำหรับนำมาใช้ตีเป็นดาบ ต้องมีคุณสมบัติพิเศษในด้านความแข็งแกร่ง หนา ไม่หักง่าย ตีขึ้นรูปเป็นดาบด้วยช่างที่ชำนาญและมีฝีมือ[48]
- หอกจีน
หอกจีน (อังกฤษ: Spear, Pike) จัดเป็นอาวุธประเภทยาว สำหรับใช้แทงคู่ต่อสู้หรือศัตรูในระยะหวังผลใกล้และไกล ลักษณะด้ามจับตรง ยาวประมาณสองเมตรถึงสองเมตรครึ่ง ส่วนปลายจะเป็นส่วนที่มีความคมทั้งสองด้านยึดติดอยู่ ทำจากสำริดและเหล็ก หอกจีนโบราณจะมีใบขอติดอยู่สองชิ้น เป็นอาวุธที่นิยมใช้ในการต่อสู้บนหลังม้าและบนพื้นดินแบบประชิดตัว สร้างขึ้นครั้งแรกในสมัยราชวงศ์ซางเมื่อประมาณ 4,000 ปีมาแล้วเช่นเดียวกับดาบจีน จนถึงสมัยราชวงศ์ฮั่นเมื่อประมาณ 2,000 ปีมาแล้ว[49]
หอกจีนแบบมีใบขอ เป็นอาวุธที่มีความแข็งแรงเป็นอย่างมาก สามารถสับ ตัด ฟัน เกี่ยว กระชากและคว้าร่างกายได้เป็นอย่างดี นิยมใช้ในกองทัพและสูญหายไปในสมัยราชวงศ์ถัง คงเหลือแต่เพียงหอกด้ามยาวในปัจจุบัน ที่มีความแตกต่างจากดาบและกระบี่ตรงที่จะไม่สามารถใช้ฟันได้ ประสิทธิภาพและผลของการใช้หอกในการต่อสู้ จะได้ผลเป็นอย่างดีในด้านของการแทงเท่านั้น เนื่องจากส่วนที่เป็นคมทั้งสองด้านของหอก ที่สามารถสร้างบาดแผลฉกรรจ์ได้มีอยู่เพียงส่วนปลายเท่านั้น การใช้หอกด้ามยาวในการฝึกกังฟูและวรยุทธของหลวงจีนวัดเส้าหลิน จะเน้นฝีกในส่วนของกระบวนท่าแทงและฟาดด้วยด้ามหอกเป็นหลัก รวมทั้งใช้สำหรับปัดป้องอาวุธชนิดอื่น ๆ
- ทวน
ทวน (อังกฤษ: Lance) จัดเป็นอาวุธประเภทยาว สำหรับใช้แทงคู่ต่อสู้หรือศัตรูในระยะหวังผลใกล้และไกล ยาวประมาณสามเมตร ส่วนปลายยาวและคม ใช้สำหรับแทงและฟันเช่นเดียวกับดาบ มีลักษณะและรูปร่างคล้ายคลึงกับหอก เพียงแต่ทวนนั้นยาวกว่าหอกมาก นิยมใช้ในการต่อสู้บนหลังม้ามากกว่าพื้นดินเพื่อให้เกิดแรงปะทะและประสิทธิภาพอย่างสูงสุด แม่ทัพในสมัยโบราณมักใช้ทวนในการต่อสู้แบบประชิดตัวบนหลังม้า โดยใช้วามเร็วของม้าเป็นตัวเร่งและเพิ่มความเร็วในการแทง
- กระบี่
- พลอง
- กระบอง
- ตุ้มเหล็ก
- ง้าว
- มีดสั้น
- โล่
- อาวุธซัด
18 อรหันต์
[แก้]18 อรหันต์ (จีน: 十八罗汉的来历) ในวัดเส้าหลินโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อกล่าวถึงด่าน 18 อรหันต์, ค่ายกล 18 อรหันต์, 18 ด่านมนุษย์ทองคำและการฝึกเพลงหมัดมวยในสมัยโบราณ เมื่อหลวงจีนสำเร็จวิชาถึงขั้นสูงสุด จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องฝ่าด่าน 18 อรหันต์ให้ได้เสียก่อน จึงจะถือว่าสำเร็จวิชากังฟูจากวัดเส้าหลินอย่างแท้จริง และสามารถเดินทางลงจากเทือกเขาซงซานได้ แท้จริงแล้วคำว่า "18 อรหันต์" ที่ปรากฏในภาพยนตร์จีนและนวนิยายกำลังภายในในวัดเส้าหลินคือพระพุทธรูปจำนวน 18 องค์ที่ประดิษฐานล้อมองค์พระประธานในอารามหลวง
ในอารามหลวงต้าโสวงเป่าเตี้ยนหรือพระอุโบสถใหญ่ในพระพุทธศาสนานิกายอาจริยวาท หรือมหายาน บริเวณกึ่งกลางของอุโบสถ จะประดิษฐานพระประธานสามองค์คือ พระเมตไตรยโพธิสัตว์ พระโพธิสัตว์มัญชุศรี และพระโพธิสัตว์โลเกศวร บริเวณด้านขวามือของพระประธานทั้งสามองค์ จะเรียงรายด้วยรูปสลักของพระจำนวน 18 องค์ ซึ่งคือ 18 อรหันต์ โดยคำว่าอรหันต์หมายถึงสาวกจำนวน 16 รูปของพระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นพระอรหันต์ในประวัติศาสตร์ของพระพุทธศาสนาสายมหายาน
คำว่า "อรหันต์" อ่าน "อะ-ระ-หัน" เป็นคำที่มาจากภาษาสันสกฤต ในทางพระพุทธศาสนา การบำเพ็ญตนเพื่อสำเร็จมรรคผลนั้นไม่เหมือนกัน จึงมีการแบ่งความสำเร็จในการเข้าถึงมรรคผลที่แตกต่างกัน การสำเร็จขั้นอรหันต์นั้นถือเป็นการสำเร็จขั้นสูงสุดของการบำเพ็ญตนเองในพระพุทธศาสนาฝ่ายหินยาน สำหรับพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน การสำเร็จขั้นอรหันต์แบ่งออกเป็นขั้นพุทธโพธิสัตว์และขั้นอรหันต์ ซึ่งการสำเร็จมรรคผลในขั้นอรหันต์คือ จะต้องสามารถละกิเลสต่าง ๆ และสิ่งเศร้าหมองทั้งหลาย ซึ่งล้วนแต่เป็นเหตุแห่งความทุกข์ทั้งปวงด้วยคุณธรรมและพระพุทธศาสนา หลุดพ้นจากวงจรชีวิตการเวียนว่ายตายเกิด จึงเรียกว่าสำเร็จขั้นอรหันต์
เดิมทีพระอรหันต์มีทั้งหมด 16 องค์ ซึ่งยังไม่สำเร็จขั้นปรินิพพาน คงอยู่ในโลกมนุษย์เพื่อเผยแพร่พระพุทธศาสนาและธรรมะแก่มนุษย์โลก ได้แก่
|
|
|
|
พระอรหันต์ทั้ง 16 องค์นี้ มีพระปิณโฑดำรงตำแหน่งหัวหน้าพระอรหันต์ และพระปันถกหนึ่งใน 16 อรหันต์คือพระเมตไตรย ซึ่งพระอรหันต์ทั้ง 16 องค์ในอารามหลวงวัดเส้าหลินตรงกับพระอรหันต์ที่พระราชวังปักกิ่ง และต่อมาได้มีการเพิ่มพระนนทมิตรและพระปินโทลขึ้น ทำให้จากเดิมพระอรหันต์มีเพียง 16 องค์กลายเป็น 18 องค์ จากหลักฐานทางพระพุทธศานาระบุไว้ไม่เหมือนกัน บ้างเรียกพระอรหันต์ทั้งหมดรวมกันว่า 18 อรหันต์ บ้างว่าเป็นศากกะและพระสงฆ์ถุงผ้า
ต่อมาจักรพรรดิเฉียนหลง (จีน: 乾隆) ในปี พ.ศ. 2278 - พ.ศ. 2339 ถือพระอรหันต์องค์ที่ 17 เป็นอรหันต์สยบมังกร องค์ที่ 18 เป็นองค์ปราบเสือคือองค์พระสังกัจจายน์ การถือกำเนิดของ 18 อรหันต์ ยังไม่มีคัมภีร์เล่มใดกล่าวยืนยันหลักฐานได้แน่นอน เนื่องจากในสมัยนั้นจิตกรชาวจีนได้วาดภาพพระอรหันต์เพิ่มขึ้นอีกสององค์ จึงกลายเป็น 18 อรหันต์ ทำให้ภาพของ 18 อรหันต์กลายเป็นที่สามารถพบเห็นอย่างแพร่หลายต่อมา และมักประดิษฐานพระอรหันต์ 18 องค์ไว้สองข้างของพระอุโบสถใหญ่โดยเฉพาะวัดจีนนิกายมหายาน[50]
คัมภีร์เปลี่ยนเส้นเอ็น
[แก้]คัมภีร์ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดของวัดเส้าหลินคือ "คัมภีร์เปลี่ยนเส้นเอ็น" (จีน: 易筋經; พินอิน: Yì Jīn Jīng) ซึ่งเป็นคัมภีร์โบราณที่ตั๊กม้อใช้สำหรับฝึกสอนกังฟูและกระบวนท่าวิทยายุทธต่าง ๆ ให้แก่หลวงจีนวัดเส้าหลิน มีอายุกว่า 1,400 ปี[51] มีต้นกำเนิดจากประเทศอินเดีย แปลจากภาษาบาลีเป็นภาษาจีนในสมัยของพระเจ้าถังไท่จง ใช้สำหรับยืดหยุ่นและผ่อนคลายกล้ามเนื้อและเส้นเอ็น รวมทั้งล้างพิษไขกระดูกของร่างกาย โดยคำว่าเปลี่ยนเส้นเอ็นนั้น ไม่ได้หมายความถึงการผ่าตัดเพื่อเปลี่ยนเส้นเอ็นดังชื่อของคัมภีร์ แต่เป็นการปรับเปลี่ยนและแก้ไขสภาพของเส้นเอ็น ด้วยการแกว่งแขวนและเคลื่อนไหวไปมา เพื่อให้เลือดลมภายในร่างกายไหลเวียนได้อย่างสะดวก[52]
รายละเอียดของคัมภีร์เปลี่ยนเส้นเอ็น แบ่งออกเป็น 2 กระบวนท่าคือ "กระบวนท่ายืน" และ "กระบวนท่านั่ง" กระบวนท่าละ 12 กระบวนท่า[53] เป็นการฝึกร่างกายโดยใช้สติเป็นจุดควบคุมร่างกาย เพื่อให้เคลื่อนไหวร่างกายอย่างช้า ๆ นุ่มนวล แต่แฝงไว้ด้วยความแข็งแรง ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการบริการร่างกาย ควบคุมลมหายใจอย่างช้า ๆ และแผ่วเบา โดยท่ายืนจะเป็นการบริหารจากภายนอกร่างกาย เพื่อช่วยรักษาให้อวัยวะต่าง ๆ ภายในร่างกายแข็งแรง และท่านั่งจะเป็นการบริหารโดยเน้นการใช้ลมปราณในการสูบฉีดเลือดให้ไหลเวียนทั่วทั้งร่างกาย สามารถรักษาอวัยวะภายในให้แข็งแรงได้เช่นกัน
การเดินทางของพลังในการเคลื่อนไหวร่างกาย ฝ่ามือและฝ่าเท้า จะช่วยให้เกิดการไหลเวียนของพลังลมปราณไปสู่อวัยวะภายในอย่างเป็นระบบ ผู้ที่ฝึกฝนพลังลมปราณจะสามารถใช้จิตในการฝึกเป็นสมาธิในการควบคุมร่างกาย กระตุ้นให้เลือดไหลเวียนไปหล่อเลี้ยงตามจุดต่าง ๆ ตามแต่ต้องการได้อย่างน่าประหลาด การฝึกคัมภีร์เปลี่ยนเส้นเอ็นของตั๊กม้อ จึงเป็นการฝึกให้ร่างกายแข็งแรงไปพร้อมกับการฝึกจิต เพื่อให้ร่างกายได้รับพลังลมปราณได้อย่างเต็มที่ ชะลอการเสื่อมโทรมของร่างกาย ซึ่งผลของการฝึกคัมภีร์เปลี่ยนเส้นเอ็นขึ้นอยู่กับความสามารถของผู้ฝึกเป็นหลัก
ปัจจุบันคัมภีร์เปลี่ยนเส้นเอ็นที่เก่าแก่และมีค่าของวัดเส้าหลิน ได้ถูกนำมาตีพิมพ์ในรูปแบบของหนังสือและวีซีดี วางจำหน่ายในเมืองปักกิ่งและเมืองเซี่ยงไฮ้ เพื่อเป็นการแนะนำให้ชาวจีนที่นิยมรักและดูแลเอาใจใส่ในเรื่องของสุขภาพ ได้ศึกษาการควบคุมลมหายใจ การเคลื่อนไหวร่างกายและพลังลมปราณ ซึ่งเป็นการออกกำลังกายชนิดหนึ่งคล้ายกับการฝึกกระบวนท่ากังฟูของหลวงจีนวัดเส้าหลิน เพื่อช่วยให้สุขภาพร่างกายแข็งแรง ไม่เป็นโรคภัยไข้เจ็บ เลือดลมไหลเวียนได้สะดวก ไม่ติดขัด อายุยืนยาวตามความเชื่อของชาวจีนโบราณ[54] [55]
โรงเรียนสอนกังฟูเส้าหลิน
[แก้]รอบบริเวณ ๆ วัดเส้าหลิน ตรงเชิงเขาของเทือกเขาซงซาน มีโรงเรียนสอนกังฟูและศิลปะการต่อสู้เป็นจำนวนมาก[56] สำหรับฝึกสอนกังฟู กายกรรม การฝึกพลังลมปราณและการใช้อาวุธเช่น ดาบ หอก กระบี่ พลอง ง้าว ทวน กระบองสองท่อน ฯลฯ ตลอดเส้นทางจากเมืองเติงเฟิงจนถึงหน้าประตูของวัดเส้าหลิน มีโรงเรียนสอนกังฟูมากถึง 83 แห่ง มีนักเรียนประมาณ 40,000 คน ซึ่งนักเรียนเหล่านี้สามารถเรียกได้ว่าหลังจากจบหลักสูตรการเรียนการสอนแล้ว อาจมีอนาคตและโอกาสได้ก้าวเข้าสู่อาชีพบอดี้การ์ดหรือนักแสดงบทบู๊เช่น เฉินหลง, เจ็ท ลี เป็นต้น[57]
ในการฝึกกังฟูไม่เฉพาะเจาะจงฝึกสอนแต่ชาวจีนเท่านั้น ชาวต่างชาติทั้งชายและหญิงที่สนใจศึกษาและคลั่งไคล้ในศิลปะการต่อสู้แบบจีนโบราณ ต่างเดินทางมาเพื่อศึกษาวิทยายุทธและกังฟูเป็นจำนวนมากกว่า 10,000 คน กลายเป็นธุรกิจในด้านของศิลปะการป้องกันตัวและการต่อสู้ภายใต้ชื่อของ "เส้าหลิน" จนกระทั่งเจ้าอาวาสวัดเส้าหลินองค์ปัจจุบัน ต้องจัดตั้งบริษัทพัฒนาอุตสาหกรรมวัดเส้าหลินแห่งเหอหนานขึ้น เพื่อเป็นการปกป้องสิทธิทางปัญญาที่สืบทอดมานานกว่า 1,500 ปี[58]
ปัจจุบันโรงเรียนสอนกังฟูในประเทศจีน มีนักเรียนให้ความสนใจศึกษาเล่าเรียนเรียนเป็นจำนวนมาก เป็นลักษณะการเรียนการสอนแบบโรงเรียนประจำ นักเรียนที่เข้ารับการฝึกสอนกังฟูจะต้องเรียนหนังสือตามหลักสูตรภาคบังคับเหมือนกับโรงเรียนทั่วไปในประเทศจีนในช่วงเช้า และฝึกวิทยายุทธ์กังฟูในช่วงบ่าย โกนศีรษะและแต่งกายแบบหลวงจีน ซึ่งนอกจากให้การเรียนการสอนตามหลักสูตรแบบบังคับแล้ว โรงเรียนสอนกังฟูในประเทศจีนเหล่านี้ ได้นำความสามารถในด้านศิลปะการต่อสู้ของนักเรียน เปิดการแสดงโชว์ให้แก่นักท่องเที่ยวที่เยี่ยมชมโรงเรียนสอนกังฟู เพื่อเป็นการสร้างรายได้ให้แก่โรงเรียนอีกด้วย
การแสดงการต่อสู้ป้องกันตัวในโรงเรียนสอนกังฟู มีมากมายหลากหลายรูปแบบเช่น การแสดงการต่อสู้ด้วยกระบวนท่ามือเปล่าหรือกระบวนท่าเพลงหมัดมวย การใช้อาวุธชนิดต่าง ๆ ผสมผสานกับท่วงท่าการร่ายรำที่แข็งแกร่ง อ่อนไหว สะบัดพลิ้ว การแสดงโชว์เพลงหมัดมวย เพลงดาบ เพลงกระบี่ เพลงทวน เพลงกระบอง ฯลฯ โรงเรียนสอนกังฟูบางแห่งมีนักเรียนจำนวนหลายร้อยคน ในขณะที่โรงเรียนบางแห่งมีมากมายนับพันคน เนื่องจากจีนมีจำนวนประชากรเป็นจำนวนมากที่สนใจศึกษากังฟู เพื่อต้องการให้ตนเองเป็นผู้ที่มีความสามารถโดนเด่นแตกต่างจากผู้อื่น รวมทั้งเป็นเส้นทางในการเข้าสู่วงการภาพยนตร์ในประเทศจีนอีกด้วย
สำหรับในประเทศไทยมีโรงเรียนสอนกังฟูหลายแห่งเช่น โรงเรียนไทย-จีนเส้าหลินกังฟู ตั้งอยู่บริเวณด้านหลังของสวนลุมพินี เป็นโรงเรียนสอนกังฟูและศิลปะการป้องกันตัว โดยหลวงจีนจากโรงเรียนสอนกังฟูเส้าหลินเป็นอาจารย์ผู้ฝึกสอน[59] โรงเรียนเส้าหลิน วูซู ไทยแลนด์ ตั้งอยู่บริเวณถนนศรีนครินทร์ บริเวณด้านหลังเสรีเซ็นเตอร์ เป็นโรงเรียนสอนกังฟูที่อาจารย์ผู้ฝึกสอนเป็นหลวงจีนจากโรงเรียนสอนกังฟูและศิลปะการป้องกันตัววัดเส้าหลิน รุ่นที่ 34 จำนวน 3 คน ในการฝึกสอนกังฟูให้แก่ผู้ที่สนใจศิลปะการต่อสู้และเป็นการสืบสานมรดกทางวัฒนธรรมอันล้ำค่าของชาวจีน
การเรียนการสอนของโรงเรียนเส้าหลิน วูซู ไทยแลนด์ จะเน้นการนั่งสมาธิและการอบอุ่นร่างกาย การกระโดดตีลังกา การใช้กระบองผสมผสานท่วงท่าร่ายรำตามแบบจีนโบราณ มีนักเรียนที่สนใจฝึกกังฟูเกือบ 200 คน ซึ่งมีเหตุผลแตกต่างกันไปตามแต่ละบุคคล[60] ในการเรียนการสอนนักเรียนทุกคนต้องฝึกฝนในท่าพื้นฐานการยืน 5 ท่าคือ หม่าปู้หรือท่าขี่ม้า, กงปู้หรือท่าธนู, พู่ปู้หรือท่าทอดขา, ตู๋ลี่ปู้หรือท่ายืนขาเดียว และชูปู้หรือท่าลวง ซึ่งถือว่าเป็นท่ามวยจีนพื้นฐาน และท่ามือพื้นฐานหรือจีเปิ่นโส่วฝ่าคือท่าหมัดตรง ซึ่งถือเป็นพื้นฐานการต่อยมวยจีนเกือบทุกสายวิชา โดยหมัดสองข้างจะเก็บไว้ที่สีข้างหรือเหนือกระดูกสะโพก หนีบศอกชี้ไปด้านหลังและหงายหมัดขึ้น รวมทั้งการฝึกท่าผลักฝ่ามือคือการใช้ฝ่ามือกระแทกเข้าที่เป้าหมายแทนหมัด นิ้วทั้งสี่ตั้งตรง พับเก็บนิ้งโป้งเพื่อป้องกันนิ้วหัก เมื่อฝึกฝนจนชำนาญแล้ว จะฝึกฝนการใช้อาวุธและฝึกเพลงมวยตามลำดับ
นอกจากนั้นวิชากังฟูของเส้าหลินยังได้พัฒนาไปเป็นกีฬาวูซู ซึ่งกีฬาชนิดนี้เป็นหนึ่งในกีฬาในการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ และ เอเชียนเกมส์อีกด้วย [61]
ธุรกิจและการขยายสาขา
[แก้]ภายหลังจากมีปรับเปลี่ยนรูปแบบและขยายสาขาของวัดเส้าหลิน ที่มีการควบคุมการจัดการของวัดต่าง ๆ ในจีนจำนวน 4 แห่งในภาคตะวันตกเฉียงใต้ โดยแต่งตั้งหลวงจีนจำนวน 10 องค์ เพื่อเข้าดูแลความเรียบร้อยภายในวัด[62] ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์และประณามของชาวจีนในอินเทอร์เน็ตเป็นจำนวนมาก ที่กล่าวหาว่าเตรียมนำเอาระบอบทุนนิยมเข้าไปปะปนกับพุทธศาสนาจนกลายเป็นพุทธพาณิชย์ โดยใช้การขยายสาขาไปในด้านธุรกิจแฟรนไชส์ เพื่อเป็นการดึงดูดให้มีนักท่องเที่ยวจำนวนมากที่มาเที่ยวชม นอกจากนี้ทางวัดยังมีรายได้จากการจำหน่ายตั๋วเข้าชมวัด การแสดงโชว์กังฟูและการสร้างภาพยนตร์ที่เกี่ยวข้องกับวัดเส้าหลินอีกเป็นจำนวนมาก[63] รวมทั้งมีสินค้าเช่น รองเท้า ใบชา ชุดหลวงจีน อาวุธและคู่มือในการฝึกกังฟู[64][65]
การเปิดเว็บไซต์ที่เกี่ยวข้องกับทางวัดเพื่อขายสินค้า[66][67] ตลอดจนการก่อตั้งบริษัทและจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์[68] ในปี พ.ศ. 2551 ในชื่อ "บริษัทเส้าหลิน"[69] การเริ่มนำสิ่งอำนวยความสะดวกและเทคโนโลยีต่าง ๆ เข้ามาใช้ โดยเฉพาะการเริ่มดำเนินกิจการของวัดในรูปแบบของธุรกิจ มีการจดลิขสิทธิ์เครื่องหมายการค้าภายใต้ชื่อ "Shaolin" และ "Shaolin Temple"[70][71] ทำให้ถูกสื่อต่าง ๆ เพ่งเล็งว่าวัดเส้าหลินเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน จากเดิมเป็นวัดพุทธ นิกายเซน ที่ได้รับการยกย่องอย่างแพร่หลายจากชาวจีนและชาวต่างประเทศ ให้เป็นสถานปฏิบัติธรรมชั้นสูง เป็นแหล่งเรียนรู้วิชาการต่อสู้ป้องกันตัวโดยเฉพาะกังฟูที่โด่งดังไปทั่วโลก ปัจจุบันกลายเป็นวัดในแง่ของธุรกิจและการค้าเชิงพาณิชย์ ทำให้ ซือ หย่งซิน เจ้าอาวาสองค์ปัจจุบัน ถูกชาวจีนจำนวนมากที่เริ่มเสื่อมศรัทธาต่อวัดเส้าหลิน ตั้งฉายาล้อเลียนว่า "นักธุรกิจในคราบพระ" และ "พระซีอีโอ" (CEO Monk) [72]
นอกจากประสบความสำเร็จในธุรกิจการค้าภายใต้แบรนด์ "Shaolin" แล้ว ศิลปะการป้องกันตัวและกังฟูยังเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งขยายสาขาไปทั่วประเทศถึงสิบกว่าแห่ง และได้เตรียมวางแผนขยายสาขาเพิ่มเติมในฮ่องกง เพื่อเป็นการส่งเสริมวิทยายุทธและกังฟูอันโด่งดังของเส้าหลิน ให้เป็นที่รู้จักแก่ชาวต่างชาติและคนทั่วโลก ซือ หย่งซิน ได้วางงบประมาณในการก่อสร้างเพื่อขยายสาขาในฮ่องกงเป็นจำนวนเงินถึง 420 ล้านหยวน ใช้ระยะเวลาในการก่อสร้างประมาณ 4 ปี โดยมีสถาปัตยกรรมป่าเจดีย์ แผ่นศิลาจารึกเช่นเดียวกับวัดเส้าหลินที่เทือกเขาซงซานซึ่งเป็นสาขาใหญ่ที่จีน และให้สัมภาษณ์ถึงเหตุผลในการขยายสาขาในครั้งนี้ว่า "ที่ผ่านมาวัฒนธรรมของเส้าหลินเป็นที่รู้จักและได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายจากชาวต่างชาติ อีกอย่างฮ่องกงก็เป็นศูนย์รวมวัฒนธรรมของชาติตะวันตก ขณะที่คนก็มีรูปแบบการใช้ชีวิตที่เร่งรีบ ดังนั้นการจัดตั้งสาขาวัดเส้าหลินในครั้งนี้ เชื่อว่าจะช่วยให้ประชาชนในฮ่องกงสามารถเข้าถึงพุทธศาสนา และมีโอกาสเรียนรู้ศิลปะกังฟู"[73]
ศึกชิงเจ้ายุทธจักร
[แก้]ศึกชิงเจ้ายุทธจักร เป็นความร่วมมือระหว่างวัดเส้าหลินและสถานีโทรทัศน์ดาวเทียมเซินเจิ้น ในการจัดมหกรรมการแข่งขัน "ดาวดังกังฟู" หรือ "K-STAR" ขึ้นเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ เพื่อเป็นการค้นหาสุดยอดเจ้ายุทธจักรกังฟูแห่งเส้าหลิน เปิดรับสมัครผู้ที่สนใจเข้าร่วมแข่งขันทั้งชายและหญิง โดยห้ามหลวงจีนวัดเส้าหลินเข้าร่วมในการแข่งขันโดยเด็ดขาด แบ่งการแข่งขันออกเป็น 11 โซน เพื่อเป็นการครอบคลุมพื้นที่การแข่งขันในทวีปต่าง ๆ ทั่วทุกแห่งในโลก ได้แก่ 6 เขตในประเทศจีน ดังนี้[74]
การแข่งขันในต่างประเทศ แบ่งเป็นโซนทวีปอเมริกาที่สหรัฐอเมริกา ทวีปยุโรปที่เยอรมนี ทวีปโอเชียเนียที่ออสเตรเลีย ทวีปแอฟริกาจัดที่อียิปต์ ส่วนทวีปเอเชียจัดขึ้น 2 ประเทศที่เกาหลีใต้และไทย เปิดรับสมัครในวันที่ 16 มีนาคม – 15 เมษายน พ.ศ. 2549 ใช้ระยะเวลาประมาณสองเดือนครึ่ง เพื่อทำการคัดเลือกผู้เข้าร่วมการแข่งขันในรอบแรกและรอบรองชนะเลิศ ระหว่างวันที่ 16 เมษายน – 30 มิถุนายน และรอบชิงชนะเลิศตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม – 15 สิงหาคม พ.ศ. 2549 โดยศึกชิงเจ้ายุทธจักรในประเทศจีน จะเริ่มจากคัดเลือกผู้มีฝีมือเขตการแข่งขันละ 18 คน ก่อนเข้าไปปะทะหมัดมวยกันในรอบรองชนะเลิศ จนได้จอมยุทธ์ "18 อรหันต์" จาก 6 เขตในจีน ส่วน 5 ทวีปที่เหลือจะคัดเลือกให้ได้ "สุดยอดจองหงวนฝ่ายบู๊" เขตละเพียง 1 คนเท่านั้น
หลังจากนั้นผู้เข้าร่วมการแข่งขัน "18 อรหันต์" และ "จองหงวนฝ่ายบู๊" ซึ่งจะเป็นตัวแทนในแต่ละทวีปรวม 23 คน จะร่วมเก็บตัวเพื่อฝึกวิทยายุทธที่วัดเส้าหลินเป็นเวลา 2 สัปดาห์ รวมทั้งเข้าร่วมรับฟังคำแนะนำเกี่ยวกับการแสดงหมัดมวยก่อนจะเข้าต่อสู้ชิงชัยในรอบชิงชนะเลิศ จนในที่สุดจะได้ "ดาวดังกังฟู" จำนวน 3 รางวัล ตามรูปแบบการสอบคัดเลือกบัณฑิตจีนในสมัยโบราณ ซึ่งแบ่งเป็นจอหงวนหรือจ้วงหยวน รองลงมาเป็นปั้งเหยี่ยนและทั่นฮวา โดยผู้เข้าร่วมการแข่งขัน 108 คนที่ผ่านรอบแรก จะมีโอกาสร่วมแสดงในละครโทรทัศน์เรื่อง "ตำนานพระนักรบแห่งวัดเส้าหลิน" ส่วนผู้ชนะเลิศอาจได้ร่วมแสดงหนังฮอลิวูด ซึ่งอาจจะกลายเป็นผู้สืบทอดตำแหน่งดาวดังกังฟูเหมือนกับ เฉิงหลง และเจ็ท ลี ในอนาคต
การแสดงศิลปะการต่อสู้และกังฟู
[แก้]ส่วนนี้รอเพิ่มเติมข้อมูล คุณสามารถช่วยเพิ่มข้อมูลส่วนนี้ได้ |
วัดเส้าหลินในรูปแบบอื่น
[แก้]นิยายกำลังภายใน
[แก้]ส่วนนี้รอเพิ่มเติมข้อมูล คุณสามารถช่วยเพิ่มข้อมูลส่วนนี้ได้ |
ภาพยนตร์
[แก้]สิ่งสืบเนื่องจากอิทธิพลของวัดเส้าหลินในแง่ของวัฒนธรรมภาพยนตร์มีผลอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภาพยนตร์ที่นำเสนอเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับวัดเส้าหลินทั้งโดยตรงและโดยอ้อม อาทิ ภาพยนตร์เรื่องเสี่ยวลิ้มยี่ ที่นำแสดงโดยเจท ลี[75], นักเตะเสี้ยวลิ้มยี่ ที่นำแสดงโดยโจว ซิงฉือ รวมถึงเส้าหลิน สองใหญ่ ซึ่งนำแสดงโดยเฉินหลง และหลิว เต๋อหัว[75]
การ์ตูน
[แก้]ส่วนนี้รอเพิ่มเติมข้อมูล คุณสามารถช่วยเพิ่มข้อมูลส่วนนี้ได้ |
เกม
[แก้]ส่วนนี้รอเพิ่มเติมข้อมูล คุณสามารถช่วยเพิ่มข้อมูลส่วนนี้ได้ |
ดูเพิ่ม
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- ↑ "การก่อตั้งวัดเส้าหลิน". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-02-14. สืบค้นเมื่อ 2008-12-25.
- ↑ สุดยอดวิชา วัดเส้าหลิน เรียกข้อมูลจากคอลัมน์ "กระบี่พลิ้ว" ผู้จัดการออนไลน์ 25 เมษายน 2548[ลิงก์เสีย]
- ↑ Shaolin Temple Quanfa
- ↑ "Shaolin Temples-Most Famous Temple in China". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-12-23. สืบค้นเมื่อ 2008-12-29.
- ↑ "สถานที่ตั้งวัดเส้าหลิน". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2006-01-13. สืบค้นเมื่อ 2008-12-24.
- ↑ "เหอหนาน เมืองแห่งเจ้ายุทธจักร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-05. สืบค้นเมื่อ 2010-07-29.
- ↑ "เส้าหลินซื่อ แหล่งกำเนิดของวิชาเพลงหมัดมวย". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2006-01-13. สืบค้นเมื่อ 2008-12-24.
- ↑ จำนวนหลวงจีนที่บวชเพื่อศึกษาธรรมะและกังฟูในวัดเส้าหลิน
- ↑ ซือ หย่งซิน เจ้าอาวาสองค์ปัจจุบันของเส้าหลิน
- ↑ วัดเส้าหลิน ถิ่นยอดกังฟูแดนมังกร การร้องขอให้เป็นมรดกโลก
- ↑ วัดเส้าหลินจีนได้รับรองจากองศ์การยูเนสโกให้เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม
- ↑ วังโบราณเวียดนาม-วัดเส้าหลินเป็นมรดกโลก[ลิงก์เสีย]
- ↑ "ต้นกำเนิดวัดเส้าหลิน". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-05. สืบค้นเมื่อ 2010-07-29.
- ↑ ปรมาจารย์ตั๊กม้อ ภิกษุอินเดียผู้เหยียบกิ่งอ้อข้ามแม่น้ำ
- ↑ "พระโพธิธรรม เจ้าอาวาสองค์แรกของวัดเส้าหลิน". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 2009-01-05.
- ↑ "คัมภีร์เก้าอิมจินเก็ง 72 กระบวนท่ากังฟูเส้าหลิน". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-11-26. สืบค้นเมื่อ 2010-07-30.
- ↑ "ความนิยมในการฝึกกังฟูเส้าหลิน". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2005-03-24. สืบค้นเมื่อ 2009-01-06.
- ↑ "13 หลวงจีนเส้าหลิน ผู้ช่วยเหลือจักรพรรดิเพื่อปราบกบฏ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-06. สืบค้นเมื่อ 2010-07-30.
- ↑ ถังไท่จงชื่อเส้าหลินซื่อจู่เจี้ยวเปย แท่นหินสลักคำสอนหลักของวัดเส้าหลิน
- ↑ การอนุญาตให้หลวงจีนสามารถฆ่าสัตว์และฉันเนื้อสัตว์
- ↑ เส้าหลินใต้ สำนักกังฟูแห่งราชวงศ์หมิง
- ↑ สกัดจุดยุทธจักรมังกรหยก, ถาวร สิกขโกศล, สำนักพิมพ์สร้างสรรค์บุ๊คส์ (ตีพิมพ์ครั้งที่ 3) , พ.ศ. 2543, หน้า 23
- ↑ สายพระวัดเส้าหลิน
- ↑ อารามเจ้าอาวาสวัดเส้าหลิน สถานที่สำหรับต้อนรับ วลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย
- ↑ อดีตสายลับ KGB 'บุก' เส้าหลิน พิชิตคัมภีร์วรยุทธ[ลิงก์เสีย]
- ↑ ประธานาธิบดีหมีขาว เยือนดินแดนศักดิ์สิทธิ์ถิ่นกังฟู[ลิงก์เสีย]
- ↑ 27.0 27.1 27.2 DVD National Geographic:History of China, สารคดี National Geographic เรื่องย้อนรอยประวัติศาสตร์จีน, บริษัทป่องทรัพย์ จำกัด (มหาชน) , DVD Subtitle:English/Thai, 2550
- ↑ 28.0 28.1 28.2 28.3 28.4 28.5 DVD National Geographic : Kung Fu Dragons of Wudang, สารคดี National Geographic เรื่องหุบเขาปรมาจารย์กังฟู, บริษัทป่องทรัพย์ จำกัด (มหาชน) , DVD Subtitle:English/Thai, 2550
- ↑ "สุดยอดเพลงหมัดกังฟูแดนมังกร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-07-25. สืบค้นเมื่อ 2010-07-29.
- ↑ กังฟู กระบวนท่าจากสรรพสัตว์[ลิงก์เสีย]
- ↑ การฝึกพลังภายใน, มวยจีนเพื่อชีวิตที่ดีกว่า, ดร.สุวินัย ภรณวลัย, สำนักพิมพ์สุขภาพใจ, พ.ศ. 2550, หน้า 75
- ↑ "พลังลมปราณ สิ่งที่มองไม่เห็นในร่างกายมนุษย์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2005-03-24. สืบค้นเมื่อ 2009-01-06.
- ↑ ไท่จี๋ชี่กง 18 ท่า, ศิริ ทรวงแสวง, สำนักพิมพ์เดลินิวส์, พ.ศ. 2547, หน้า 2-4
- ↑ มวยจีนเพื่อชีวิตที่ดีกว่า, ดร.สุวินัย ภรณวลัย, สำนักพิมพ์สุขภาพใจ, พ.ศ. 2550, หน้า 49
- ↑ การฝึกพลังลมปราณ
- ↑ ไท่จี๋ชี่กง 18 ท่า กระบวนท่าการเคลื่อนไหว, ศิริ ทรวงแสวง, สำนักพิมพ์เดลินิวส์, พ.ศ. 2547, หน้า 9
- ↑ ไท่จี๋ชี่กง 18 ท่า จิตประสาทและร่างกายเป็นหนึ่งเดียว, ศิริ ทรวงแสวง, สำนักพิมพ์เดลินิวส์, พ.ศ. 2547, หน้า 12
- ↑ ไท่จี๋ชี่กง 18 ท่า การฝึกฝนจิน ชี่ เสิน, ศิริ ทรวงแสวง, สำนักพิมพ์เดลินิวส์, พ.ศ. 2547, หน้า 10
- ↑ "การฝึกเพลงมวย กังฟูเส้าหลินของหลวงจีนวัดเส้าหลิน". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 2009-01-05.
- ↑ การนั่งสมาธิบำเพ็ญตบะท่ามกลางหิมะ หนึ่งในการฝึกฝนสมาธิของหลวงจีนวัดเส้าหลิน
- ↑ "จุดสำคัญในร่างกายในศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัว". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-08-08. สืบค้นเมื่อ 2010-08-06.
- ↑ 72 กระบวนท่าวิชาหมัดมวย
- ↑ 255 กระบวนท่าอาวุธและกังฟูโบราณวัดเส้าหลิน
- ↑ DVD 10 อันดับอาวุธโบราณของจีน, สารคดีประวัติศาสตร์ 10 อันดับอาวุธโบราณของจีน, บริษัทป่องทรัพย์ จำกัด (มหาชน) , DVD Subtitle:English/Thai, 2550
- ↑ "ความหมายของอาวุธตามราชบัณฑิตยสถาน". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-03-03. สืบค้นเมื่อ 2010-08-04.
- ↑ สำริดและทองแดง ยุคเริ่มแรกของอาวุธจีนโบราณ, อาวุธโบราณในประวัติศาสตร์จีนสามยุค, ศาสตราจารย์ดอกเตอร์ลูเซี่ยน ดับเบิลยู พาย ผู้เขียน, คณิน บุญสุวรรณ ผู้แปล, สำนักพิมพ์สุขภาพใจ, กรุงเทพมหานคร, 2547, หน้า 270
- ↑ Chinese Swords
- ↑ อาวุธโบราณในประวัติศาสตร์จีนสามยุค, ศาสตราจารย์ดอกเตอร์ลูเซี่ยน ดับเบิลยู พาย ผู้เขียน, คณิน บุญสุวรรณ ผู้แปล, สำนักพิมพ์สุขภาพใจ, กรุงเทพมหานคร, 2547, หน้า 272
- ↑ อาวุธโบราณในประวัติศาสตร์จีนสามยุค, ศาสตราจารย์ดอกเตอร์ลูเซี่ยน ดับเบิลยู พาย ผู้เขียน, คณิน บุญสุวรรณ ผู้แปล, สำนักพิมพ์สุขภาพใจ, กรุงเทพมหานคร, 2547, หน้า 275
- ↑ ความเป็นมาของ 18 อรหันต์
- ↑ "คัมภีร์เปลี่ยนเส้นเอ็น มรดกทางวัฒนธรรมของชาติจีน". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-05-14. สืบค้นเมื่อ 2010-07-30.
- ↑ ความหมายของคัมภีร์เปลี่ยนเส้นเอ็น
- ↑ 12 กระบวนท่าคัมภีร์เปลี่ยนเส้นเอ็น[ลิงก์เสีย]
- ↑ เส้าหลิน เจาะตลาด CEO คัมภีร์เปลี่ยนเส้นเอ็น[ลิงก์เสีย]
- ↑ "สุดยอดคัมภีร์เส้าหลิน ต๋า โม๋ อี้ จิน จิง". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-06-20. สืบค้นเมื่อ 2010-07-30.
- ↑ กังฟูหนูน้อย เรียกข้อมูลจากผู้จัดการออนไลน์ วันจันทร์ ที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2552 เวลา 8:03:02 น.[ลิงก์เสีย]
- ↑ โรงเรียนสอนกังฟูวัดเส้าหลิน ถิ่นกำเนิดนักแสดงบู๊แห่งจีน
- ↑ การจดสิทธิทางปัญญา วิทยายุทธวัดเส้าหลิน
- ↑ เส้าหลินไทยแลนด์
- ↑ โรงเรียนเส้าหลิน วูซู ไทยแลนด์
- ↑ Wushu Thailand
- ↑ "ทุนนิยมเส้าหลิน การปะปนระหว่างเศรษฐกิจและพุทธศาสนา". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-05-25. สืบค้นเมื่อ 2010-07-30.
- ↑ "ค่าตั๋วเข้าชมวัดเส้าหลิน ปีละ 60 ล้านหยวน (266 ล้านบาท)". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-07-17. สืบค้นเมื่อ 2010-07-30.
- ↑ "ข่าวสารผ่านโลก เส้าหลินเตรียมเข้าสู่วงการธุรกิจ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-06-14. สืบค้นเมื่อ 2010-07-30.
- ↑ เส้าหลินเปิดเว็บไซต์เอาใจจอมยุทธ เรียกข้อมูลจากเว็บไทยสามก๊ก โดย ผู้จัดการออนไลน์ 30 มิถุนายน 2551 13:57 น.[ลิงก์เสีย]
- ↑ shop.shaolingongfu สินค้าแบนรด์วัดเส้าหลิน
- ↑ Shaolin The Stage of Joy เว็บไซต์วัดเส้าหลิน
- ↑ "หลวงจีนหนีทุนนิยมไม่พ้น "วัดเส้าหลิน" เตรียมลงทุนในตลาดหุ้นเพื่อขยายธุรกิจท่องเที่ยว เรียกข้อมูลจากมติชนออนไลน์ วันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2552 เวลา 13:30:02 น." คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-07. สืบค้นเมื่อ 2010-07-31.
- ↑ "การจดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์ ธุรกิจ CEO ของเส้าหลิน". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-06-24. สืบค้นเมื่อ 2010-07-30.
- ↑ หลวงจีนเส้าหลินหนีทุนนิยมไม่พ้น เตรียมเข้าสู่ตลาดหุ้น[ลิงก์เสีย]
- ↑ "เส้าหลินรวยแล้ว จากสุดยอดกังฟูสู่ธุรกิจ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-07-17. สืบค้นเมื่อ 2010-07-30.
- ↑ นักธุรกิจในคราบพระ ซีอีโอวัดเส้าหลิน
- ↑ เส้าหลิน เจรจาเสนอรัฐบาลฮ่องกงเพื่อขยายสาขา[ลิงก์เสีย]
- ↑ วัดเส้าหลินจัดศึกชิงจ้าวยุทธจักร เฟ้นหายอดฝีมือหนึ่งในใต้หล้า! เรียกข้อมูลจากผู้จัดการออนไลน์ 23 พฤศจิกายน 2548[ลิงก์เสีย]
- ↑ 75.0 75.1 "Jackie Chan, Andy Lau to star in new Shaolin movie". China Daily. 2009-10-22. สืบค้นเมื่อ 2009-12-21.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- เว็บไซต์วัดเส้าหลิน เก็บถาวร 2008-12-18 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน