ข้ามไปเนื้อหา

พระเจ้าคาร์ลที่ 14 โยฮัน แห่งสวีเดน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระเจ้าคาร์ลที่ 14 และที่ 3 โยฮัน
พระเจ้าคาร์ลที่ 14 ขณะเป็นนายร้อยฝรั่งเศส
พระมหากษัตริย์แห่งสวีเดนและนอร์เวย์
ครองราชย์5 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1818 – 8 มีนาคม ค.ศ. 1844
ราชาภิเษก11 พฤษภาคม 1818 (สวีเดน)
7 กันยายน 1818 (นอร์เวย์)
ก่อนหน้าคาร์ลที่ 13 และ 2
ถัดไปออสการ์ที่ 1
พระราชสมภพ26 มกราคม ค.ศ. 1763(1763-01-26)
โป ประเทศฝรั่งเศส
ณ็อง-ปาติสต์ แบร์นาด็อต
สวรรคต8 มีนาคม ค.ศ. 1844(1844-03-08) (81 ปี)
สตอกโฮล์ม สวีเดนและนอร์เวย์
ฝังพระศพ26 เมษายน ค.ศ. 1844
โบสถ์ริดดาร์โฮล์ม, สต็อกโฮล์ม, สวีเดนและนอร์เวย์
คู่อภิเษก เดซีเร คลารี (สมรส 1798)
พระราชบุตรออสการ์ที่ 1
พระรัชกาลนาม
ฝรั่งเศส: Jean-Baptiste Jules
สวีเดน: Karl Johan Baptist Julius
ราชวงศ์แบร์นาด็อต
พระบิดาอ็องรี แบร์นาด็อต
พระมารดาแฌน เดอ แซ็ง-ฌ็อง
ศาสนาลูเทอแรน
ก่อนหน้า. โรมันคาทอลิก
ลายพระอภิไธย

พระเจ้าคาร์ลที่ 14 โยฮันแห่งสวีเดน (สวีเดน: Karl XIV Johan) หรือ พระเจ้าคาร์ลที่ 3 โยฮันแห่งนอร์เวย์ (นอร์เวย์: Karl III Johan) หรือนามเดิมคือ ฌ็อง-บาติสต์ แบร์นาด็อต (ฝรั่งเศส: Jean-Baptiste Bernadotte) เป็นนายพลในช่วงการปฏิวัติฝรั่งเศส ต่อมาได้เป็นจอมพลแห่งจักรวรรดิฝรั่งเศสภายใต้จักรพรรดินโปเลียนที่ 1 และต่อมาได้สละสัญชาติฝรั่งเศสเพื่อขึ้นเป็นมกุฎราชกุมารสวีเดนผ่านการรับโอรสบุญธรรม เมื่อพระองค์ถูกนโปเลียนผู้เป็นนายเก่าแทงข้างหลัง ก็ทรงนำสวีเดนเข้าเป็นพันธมิตรกับฝ่ายต่อต้านนโปเลียน เมื่อปราบนโปเลียนได้แล้วก็ทรงได้ยึดนอร์เวย์มาจากเดนมาร์ก และได้ขึ้นสืบราชสมบัติเป็นกษัตริย์แห่งสวีเดนและนอร์เวย์ ถือเป็นองค์ปฐมวงศ์ของราชวงศ์แบร์นาด็อต ราชวงศ์ที่ปกครองสวีเดนในปัจจุบัน

พระประวัติ

[แก้]

ฌ็อง-บาติสต์ แบร์นาด็อต เกิดในครอบครัวสามัญชนที่เมืองโป (Pau) ทางภาคใต้ของประเทศฝรั่งเศส เป็นบุตรชายคนที่สองของนายฌ็อง อ็องรี แบร์นาด็อต (Jean Henri Bernadotte) อัยการเมือง กับนางแฌน เดอ แซ็ง-ฌ็อง (Jeanne de Saint-Jean) ในวัยเด็กเขาฝันจะเป็นอัยการตามรอยบิดา ขณะอายุ 14 เขาได้เป็นอัยการท้องถิ่นฝึกหัด แต่การเสียชีวิตของบิดาเมื่อเขาอายุ 17 ปีได้หยุดความฝันทั้งหมดลง[1]

ราชการทหารฝรั่งเศส

[แก้]
แบร์นาด็อตในเครื่องแบบจอมพลแห่งจักรวรรดิฝรั่งเศส

เขาเข้ารับราชการในกองทัพหลวงฝรั่งเศสใน ค.ศ. 1780[2] ต่อมาเมื่อการปฏิวัติฝรั่งเศสปะทุขึ้น เขามีโอกาสแสดงฝีมีด้านการทหารที่ยอดเยี่ยม และได้เลื่อนยศอย่างรวดเร็วจนขึ้นเป็นพลจัตวาในปี 1794[1][1] เขาประจำการในอิตาลีและเยอรมนี และดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีการสงครามช่วงสั้นๆ เขาเป็นผู้มีความใกล้ชิดนโปเลียนอย่างมาก แม้เขาจะมีส่วนช่วยนโปเลียนในการทำรัฐประหาร 18 บรูว์แมร์ในปี 1799 แต่เขากลับปฏิเสธตำแหน่งในคณะกงสุล[3] โดยยังคงทำหน้าที่ฝ่ายทหารต่อไป จนกระทั่งเมื่อนโปเลียนปราบดาตนขึ้นเป็นจักรพรรดิฝรั่งเศสในปี 1804 นโปเลียนได้ประกาศตั้งเขาเป็นจอมพลแห่งจักรวรรดิฝรั่งเศส จอมพลแบร์นาด็อตเป็นบุคคลสำคัญที่คว้าชัยชนะให้แก่ฝรั่งเศสในยุทธการที่เอาสเทอร์ลิทซ์ และได้รับอวยยศเป็นเจ้าชายแห่งปงเตคอร์โวเป็นบำเหน็จความชอบ[4][3]

มกุฎราชกุมารและผู้สำเร็จราชการสวีเดน

[แก้]

ในปี 1810 จอมพลแบร์นาด็อตกำลังจะเดินทางไปรับตำแหน่งข้าหลวงประจำกรุงโรม แต่แล้วก็ได้รับเลือกอย่างไม่คาดคิดให้เป็นโอรสบุญธรรมของพระเจ้าคาร์ลที่ 13 แห่งสวีเดน ผู้ไร้พระบุตร เขาจึงสละสัญชาติฝรั่งเศสเพื่อขึ้นเป็นทายาทโดยสันนิษฐานแห่งราชบัลลังก์สวีเดน การแต่งตั้งแบร์นาด็อตเป็นมกุฎราชกุมารนี้หมายความว่าสายเลือดของราชวงศ์ฮ็อลชไตน์-ก็อททรอพ (Holstein-Gottorp) แห่งสวีเดนจะสิ้นสุดลงที่พระเจ้าคาร์ลที่ 13 วัย 61 ปีซึ่งมีพระพลามัยย่ำแย่ ก่อนนี้เจ้าชายคาร์ลและพระชายาเคยให้กำเนิดพระโอรสสองพระองค์แต่ล้วนสิ้นพระชนม์ขณะเป็นทารก ด้วยไม่เห็นโอกาสให้กำเนิดพระบุตรอีก หลังขึ้นครองราชย์ได้ไม่นาน ทั้งคู่จึงรับเจ้าชายเดนมาร์กองค์หนึ่งไว้เป็นโอรสบุญธรรม แต่เจ้าชายก็สิ้นพระชนม์ไปอีกเพียงไม่กี่เดือนหลังเดินทางถึงสวีเดน[5]

ราชสำนักสวีเดนจึงทำจดหมายถามจักรพรรดินโปเลียนว่ามีผู้ใดเหมาะสมบ้าง ในตอนแรกนโปเลียนตั้งใจเสนอชื่อเออแฌน เดอ โบอาร์แน ลูกติดภรรยาคนแรก อย่างไรก็ตาม เออแฌนซึ่งมีตำแหน่งเป็นอุปราชแห่งอิตาลีไม่ต้องการหันมานับถือนิกายลูเทอแรน ญาติพี่น้องคนอื่นๆของนโปเลียนก็ไม่มีใครอยากไปสวีเดนเช่นกัน องคมนตรีคาร์ล อ็อทโท เมอร์เนอร์ (Karl Otto Mörner) บุตรชายของบารอนกุสตาฟ เมอร์เนอร์ (Gustav Mörner) แม่ทัพสวีเดนที่ถูกจอมพลแบร์นาด็อตกุมตัวที่นครลือเบ็ค ได้ยื่นข้อเสนอนี้ให้แก่จอมพลแบร์นาด็อต แบร์นาด็อตนำข้อเสนอนี้ไปถามนโปเลียน ในตอนแรกนโปเลียนคิดว่าเป็นเรื่องตลก แต่แล้วก็ตัดสินใจสนับสนุนแบร์นาด็อตให้เป็นรัชทายาทสวีเดน[6]

แบร์นาด็อตสละสัญชาติฝรั่งเศส และเลือกใช้พระนาม คาร์ล โยฮัน[4] และเปลี่ยนจากนับถือนิกายโรมันคาทอลิกมาเป็นลูเทอแรน กฎหมายสวีเดนบัญญัติว่าสถาบันกษัตริย์จะต้องนับถือลูเทอแรนเท่านั้น[7] พระองค์กลายเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินสวีเดน มกุฎราชกุมารองค์ใหม่เป็นที่นิยมชมชอบในหมู่ราษฎรและเป็นบุคคลทรงอำนาจที่สุดในประเทศอย่างรวดเร็ว พระองค์สร้างความประทับใจแก่พระราชบิดาบุญธรรมเป็นอย่างมาก อาการประชวรของกษัตริย์และความไม่ลงรอยกันในคณะองคมนตรีทำให้อำนาจแทบทั้งหมดในรัฐบาลตกอยู่ในมือพระองค์ ประชาชนสวีเดนส่วนใหญ่ต้องการให้องค์มกุฎราชกุมารยึดฟินแลนด์คืนมาจากรัสเซีย แต่ทรงมองว่าชาวฟินแลนด์ไม่อยากกลับคืนสู่สวีเดน ต่อให้สวีเดนได้ฟินแลนด์คืนมาก็จะสร้างวัฎจักรความขัดแย้งใหม่กับมหาอำนาจเพื่อนบ้านและการต้านทานรัสเซียก็เป็นเรื่องลำบาก[8] พระองค์จึงหมายตาคาบสมุทรสแกนดิเนเวียแทนซึ่งสามารถป้องกันได้ง่ายกว่า โดยหวังจะยึดนอร์เวย์มาจากประเทศเดนมาร์กและผนวกรวมเข้ากับประเทศสวีเดน

สงครามนโปเลียน

[แก้]

ในปี 1810 นั้นเอง จักรพรรดินโปเลียนกดดันพระองค์ให้เข้าร่วมกับฝรั่งเศสและประกาศสงครามต่อบริเตนใหญ่ หาไม่แล้ว สวีเดนจะต้องรับมือกับพันธมิตรฝรั่งเศส-เดนมาร์ก-รัสเซีย พระองค์จำใจต้องทำตามข้อเรียกร้องดังกล่าวโดยทรงประกาศสงครามกับบริเตนใหญ่ อย่างไรก็ตาม การเข้าร่วมสงครามในครั้งนี้เป็นสร้างความเสียหายคิดเป็นตัวเงินต่อระบบเศรษฐกิจของบริเตนใหญ่และสวีเดนอย่างมหาศาล มูลค่านำเข้าสินค้าจากบริเตนลดลงเกือบร้อยละเก้าสิบในเวลาเพียงหนึ่งปี[9][10] อย่างไรก็ตาม แม้สวีเดนจะเข้าร่วมกับฝรั่งเศสแล้วแต่นโปเลียนกลับไม่ไว้ใจสวีเดนภายใต้อดีตลูกน้องเก่า ต้นปี 1812 ก่อนที่นโปเลียนจะยกทัพไปกรุงมอสโก นโปเลียนสั่งการให้กองทหารฝรั่งเศสเข้ายึดดินแดนพอเมอเรเนียและเกาะรือเกินของสวีเดน[11] และส่งสารว่า "เป็นของขวัญวันประสูติองค์มกุฎราชกุมารแห่งสวีเดน"[12]

มกุฎราชกุมารคาร์ล โยฮัน ในยุทธการที่ไลพ์ซิช ค.ศ. 1813

การกระทำครั้งนี้ของนโปเลียนเป็นการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศและเป็นเหตุแห่งสงครามอย่างชัดแจ้ง มันได้ทำลายมิตรภาพเก่าแก่ระหว่างทั้งคู่ลงอย่างไม่มีชิ้นดี ชาวสวีเดนต่างพากันโกรธแค้นฝรั่งเศส แม้กระทั่งกลุ่มนิยมฝรั่งเศสในราชสำนักสวีเดนก็ต่างหันมาต้านฝรั่งเศส[13] ด้วยเหตุฉะนี้ มกุฎราชกุมารคาร์ลโยฮันจึงประกาศสถานะเป็นกลางและเปิดเจรจากับบริเตนใหญ่และรัสเซีย[14] ต่อมาในปี 1813 สวีเดนก็ประกาศเป็นพันธมิตรกับบริเตนใหญ่-รัสเซีย-ปรัสเซียในสงครามสหสัมพันธมิตรครั้งที่หก พระองค์เป็นแม่ทัพฝ่ายเหนือและสามารถป้องกันกรุงเบอร์ลินและได้รับชัยชนะเหนือกองพลของจอมพลอูดีโนในเดือนสิงหาคม และได้ชัยชนะเหนือกองพลของจอมพลแนในเดือนกันยายน จนสามารถโค่นล้มนโปเลียนได้สำเร็จ กองทัพของพระองค์ข้ามแม่น้ำเอ็ลเบอในวันที่ 19 ตุลาคม และเข้าสมทบกับพันธมิตรอื่นในยุทธการที่ไลพ์ซิช และสามารถมีชัยเหนือกองทัพผสมฝรั่งเศส-โปแลนด์-อิตาลี และโค่นล้มนโปเลียนได้สำเร็จ

การผนวกนอร์เวย์

[แก้]

ไม่ถึงสองเดือนหลังโค่นนโปเลียนลงได้ พระองค์นำทัพเข้าต่อสู้กับกองทหารเดนมาร์กเกิดเป็นยุทธการที่บอร์นเฮอเวิดและได้รับชัยชนะ ผลลัพธ์เกิดเป็นสนธิสัญญาคีลซึ่งเดนมาร์กตกลงมอบอำนาจเหนือนอร์เวย์แก่สวีเดน อย่างไรก็ตาม ชาวพื้นเมืองนอร์เวย์กลับไม่ยอมรับการปกครองของประเทศสวีเดน พวกเขาประกาศเอกราชพร้อมประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับเสรี และประกาศเลือกมกุฎราชกุมารคริสเตียนแห่งเดนมาร์กเป็นกษัตริย์นอร์เวย์ และเกิดเป็นสงครามชิงราชบัลลังก์นอร์เวย์ในกลางปี 1814 พระอัจฉริยภาพด้านการทหารของมกุฎราชกุมารคาร์ลโยฮันทำให้ประเทศสวีเดนได้รับชัยชนะ ซึ่งสงครามครั้งนี้เป็นสงครามสุดท้ายของประเทศสวีเดนจวบจนถึงปัจจุบัน[15] แม้ชัยชนะจะทำให้พระองค์สามารถทำการบังคับใดๆต่อนอร์เวย์ได้ แต่พระองค์กลับยอมรับรัฐธรรมนูญใหม่และอำนาจปกครองตนเองของนอร์เวย์ ซึ่งทำให้นอร์เวย์ตัดสินใจเข้าเป็นสหภาพกับสวีเดนในปลายปีนั้น[4]

สวรรคต

[แก้]

วันคล้ายวันประสูติครบรอบ 81 ปีในวันที่ 26 มกราคม ค.ศ. 1844[4] พระองค์มีอาการโรคหลอดเลือดสมองและทรงหมดสติอยู่ในห้อง แม้ต่อมาจะทรงฟื้นองค์แต่อาการก็ไม่ดีขึ้น พระองค์สวรรคตยามบ่ายของวันที่ 8 มีนาคม[16] ขณะทรงครองสิริราชสมบัติ 26 ปี 32 วันทรงตรัสบนเตียงก่อนสวรรคตว่า:

ไม่มีใครชีวิตนี้ได้ทำงานแบบฉันอีกแล้ว ฉันตกลงผูกมิตรกับนโปเลียนก็จริง แต่เมื่อเขาโจมตีประเทศที่มีชะตากรรมอยู่ในมือฉัน ฉันก็มิอาจทำอย่างอื่นนอกจากต้องต่อต้าน ทั้งเหตุการณ์ที่สั่นสะเทือนยุโรป และเหตุการณ์ที่นำพาเสรีภาพคืนมาสู่ยุโรป เห็นชัดว่าฉันมีส่วนร่วมทั้งสิ้น [17]

พิธีฝังพระศพจัดขึ้นที่โบสถ์ริดดาร์ฮ็อล์มในกรุงสตอกโฮล์ม พระโอรสองค์เดียวได้ขึ้นสืบราชสมบัติต่อเป็นพระเจ้าออสการ์ที่ 1

พระเกียรติยศ

[แก้]

ฐานันดรศักดิ์

[แก้]
  • 1763 — 1794: นายฌ็อง-บาติสต์ แบร์นาด็อต
  • 1794 — 1804: นายพลฌ็อง-บาติสต์ แบร์นาด็อต
  • 1804 – 1806: ฌ็อง-บาติสต์ ฌูลส์ แบร์นาด็อต จอมพลแห่งฝรั่งเศส
  • 1806 – 1810: ฌ็อง-บาติสต์ ฌูลส์ แบร์นาด็อต เจ้าชายแห่งปงเตคอร์โว
  • 26 กันยายน 1810 – 5 พฤศจิกายน 1810: เจ้าชายโยฮัน บัพทิสต์ ยูลิอุส แห่งปงเตคอร์โว เจ้าชายแห่งสวีเดน[18]
  • 1810[4] – 1814: เจ้าชายคาร์ล โยฮัน มกุฎราชกุมารแห่งสวีเดน
  • 1814[4] – 1818: เจ้าชายคาร์ล โยฮัน มกุฎราชกุมารแห่งสวีเดนและนอร์เวย์
  • 1818 – 1844: กษัตริย์แห่งสวีเดนและนอร์เวย์
ธรรมเนียมพระยศของ
พระเจ้าคาร์ลที่ 14 โยฮัน แห่งสวีเดน
ธงประจำพระอิสริยยศ
ตราประจำพระองค์
การทูลHis Majesty
การขานรับYour Majesry

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 1.2 Bain 1911, p. 931.
  2. Barton, Dunbar Plunket (1930). P.5
  3. 3.0 3.1 The American Cyclopædia 1879, p. 571.
  4. 4.0 4.1 4.2 4.3 4.4 4.5 Bain 1911, p. 932.
  5. "Charles XIII - king of Sweden".
  6. Ibid. Pp. 268-278.
  7. "Charles XIV John - king of Sweden and Norway".
  8. Palmer, Alan(1990). P.181
  9. Berdah, Jean-Francois (2009).P.40-41
  10. Barton, Sir Dunbar Plunket (1930). P.259
  11. Barton, Sir Dunbar Plunket (1930). P.265
  12. Palmer, Alan(1990). P.185-186
  13. Griffiths, Tony (2004). P.19
  14. Berdah, Jean-Francois (2009). P.45
  15. Hårdstedt, Martin 2016, p. 222.
  16. Palmer 1990, p. 248.
  17. Alm, Mikael;Johansson, Brittinger(Eds) (2008).p.12
  18. "Succession au trône de Suède: Acte d'élection du 21 août 1810, Loi de succession au trône du 26 septembre 1810 (in French)".
ก่อนหน้า พระเจ้าคาร์ลที่ 14 โยฮัน แห่งสวีเดน ถัดไป
พระเจ้าคาร์ลที่ 13 แห่งสวีเดน กษัตริย์แห่งสวีเดนและนอร์เวย์
(5 กุมภาพันธ์ 1818 – 8 มีนาคม 1844)
พระเจ้าออสการ์ที่ 1