พระเจ้ามักนุสที่ 1 แห่งสวีเดน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระเจ้ามักนุสที่ 1 แห่งสวีเดน
พระมหากษัตริย์แห่งเกิตทาลันด์ (สวีเดน)
ดยุกแห่งจัตแลนด์ใต้ (ชเลสวิช)
เจ้าชายแห่งเดนมาร์ก
พระมหากษัตริย์สวีเดนแห่งเกิตทาลันด์
ครองราชย์ราว 1120-1132
ก่อนหน้าอิงเงอที่ 2
ถัดไปสแวร์เกอร์ที่ 1
ประสูติราว ค.ศ. 1106
สวรรคต4 มิถุนายน ค.ศ. 1134 (28 ปี)
ยุทธการฟอเตอวิค, แคว้นสคาเนีย
คู่อภิเษกริเชซาแห่งโปแลนด์
พระราชบุตร
พระนามเต็ม
มักนุส นีลส์สัน แอสตริดเซน; สวีเดน: Magnus Nilsson
มักนุส นีลส์เซน แอสตริดเซน; เดนมาร์ก: Magnus Nielsen
ราชวงศ์แอสตริดเซน
พระราชบิดาพระเจ้านีลส์แห่งเดนมาร์ก
พระราชมารดามาร์กาเรียตา เฟรียดกุลลาแห่งสวีเดน
ศาสนาโรมันคาทอลิก

พระเจ้ามักนุสที่ 1 แห่งสวีเดน หรือ พระเจ้ามักนุส ผู้แข็งแกร่ง (สวีเดน: Magnus Nilsson; เดนมาร์ก: Magnus Nielsen[1]) (ราว ค.ศ. 1106 – 4 มิถุนายน ค.ศ. 1134 ในยุทธการฟอเตอวิค) ทรงเป็นเจ้าชายและดยุกเดนมาร์กที่ปกครองเกิตทาลันด์ในทางตอนใต้ของสวีเดนตั้งแต่ทศวรรษที่ 1120 ถึงราวค.ศ. 1132 ยังเป็นที่ถกเถียงว่าพระองค์ได้รับเลือกเป็นพระมหากษัตริย์โดยชาวสวีเดนหรือไม่ แต่บางครั้งพระองค์ก็ปรากฏพระนามในรายพระนามพระมหากษัตริย์สวีเดนในการรวบรวมรายชื่อยุคสมัยใหม่ ในฐานะ กษัตริย์มักนุสที่ 1[2][3] สตอร์รี สตูร์ลาสันได้ตั้งพระสมัญญานามของพระองค์ว่า "มักนุส ผู้แข็งแกร่ง"

พระองค์เป็นพระมหากษัตริย์ร่วมในเดนมาร์กในช่วงเวลาสั้นๆ ตั้งแต่วันที่ 15 เมษายน ค.ศ. 1134[4] จนกระทั่งพระองค์สวรรคต

ทรงพระเยาว์และรูปโฉม[แก้]

เจ้าชายมักนุสแห่งเดนมาร์กเป็นพระราชโอรสในพระเจ้านีลส์แห่งเดนมาร์กกับพระราชินีมาร์กาเรียตา เฟรียดกุลลา ซึ่งเป็นพระราชธิดาในพระเจ้าอิงเงอที่ 1 แห่งสวีเดน เมื่อเจ้าชายอิงเงอ นีลส์เซน พระเชษฐาของพระองค์สิ้นพระชนม์ด้วยอุบัติเหตุจากการทรงม้า ส่งผลให้เจ้าชายมักนุสเป็นรัชทายาทหนึ่งเดียวของกษัตริย์นีลส์[5] พระองค์เจริญพระชันษารูปร่างสูงโปร่งและทรงมีพระวรกายแข็งแรง และทรงมีพระเศียรสูงกว่าใคร พงศาวดารให้ภาพลักษณ์ที่แตกต่างกันในเรื่องรูปโฉมของพระองค์ ขึ้นอยู่กับความชื่นชอบทางการเมืองของนักพงศาวดารแต่ละคน พงศาวดารรอสคิลด์ ซึ่งใกล้เคียงยุคร่วมสมัย บรรยายว่าพระองค์เป็นคนสนุกสนาน พระทัยกว้าง และมี "ความแน่วแน่ในอุปนิสัย" ส่วนแซ็กโซ แกรมมาติคัสบรรยายว่าพระองค์มีความเป็นธรรมชาติแต่ก็มีความป่าเถื่อนดุร้าย[6]

เส้นทางสู่การเป็นกษัตริย์[แก้]

เมื่อพระญาติของพระราชินีมาร์กาเรียตา คือ พระเจ้าอิงเงอที่ 2 แห่งสวีเดนสวรรคตโดยในเวลาช่วงทศวรรษที่ 1120 เจ้าชายมักนุสทรงอ้างสิทธิในราชบัลลังก์สวีเดนในฐานะเป็นพระราชนัดดาองค์ใหญ่ในพระเจ้าอิงเงอที่ 1 แห่งสวีเดน ตามพงศาวดารของแซ็กโซ แกรมมาติคัส กษัตริย์มักนุสได้รับการยอมรับจากชาวกีต (เกิตทาร์นา) ในเกิตทาลันด์ แต่อภิสิทธิ์ในการเลือกตั้งกษัตริย์นั้นอยู่ในมือของชาวสวีเดน (สวีด) ซึ่งเป็นชนเผ่าหนึ่งทางตอนเหนือของชาวกีต

ในพงศาวดารโดยรวมตามกฎหมายเวสโตรเกิตทิก ไม่ได้กล่าวถึงกษัตริย์มักนุส แต่บันทึกว่า หลังจากการสวรรคตของกษัตริย์อิงเงอ ชาวสวีดได้เลือกรังน์วัลด์ นัปฮอเดอขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ กษัตริย์รังน์วัลด์นั้นไม่ทรงให้ความเคารพต่อชาวกีตโดยทรงไม่มอบตัวประกันให้ตามธรรมเนียมในระหว่างทรงม้าประกอบพิธีอีริคสกาตา (พิธีการเสด็จเยือนเพื่อรับตำแหน่ง)[7] เพื่อการแก้แค้น กษัตริย์รังน์วัลด์ถูกลอบปลงพระชนม์โดยชาวกีต เหตุการณ์เกิดขึ้นราวค.ศ. 1129 หลังจากเหตุการณ์นี้ ผู้ดูแลกฎหมายของเวสเตร์เกิตลันด์ ชื่อ คาร์ลแห่งอัดสวือรา ได้เข้าปกครองแคว้นของเขาในช่วงเวลานี้ โดยเขาถูกเรียกในบางครั้งว่าเป็น "ยาร์ล" หรือ "กษัตริย์"[8]

แซ็กโซไม่ได้เอ่ยพระนามของรังน์วัลด์ แต่ระบุว่าได้มีการเลือกชาวสวีดเป็นกษัตริย์เพื่อตอบสนองต่อต้านการเลือกตั้งกษัตริย์มักนุส และอ้างอีกว่าชาวสวีดพระองค์นั้นถูกสังหารโดยชาวกีต และ "เมื่อพระองค์สวรรคต อำนาจก็ถูกถ่ายโอนไปยังมักนุส"[9] มักนุสไม่ได้ถูกกล่าวถึงในฐานะพระมหากษัตริย์ในรายพระนามกษัตริย์สวีเดน จึงทำให้มีการตั้งคำถามถึงขอบเขตอำนาจที่แท้จริงของพระองค์[10]

รัชกาล[แก้]

มีแหล่งข้อมูลไม่กี่แหล่งระบุว่าศาสนาคริสต์ยังไม่ได้มีการเผยแพร่ไปทั่วทุกพื้นที่ ซิวาร์ดัส บิชอปแห่งอุปซอลาได้รับการแต่งตั้งจากอร์กบิชอปแห่งฮัมบูร์ก-เบรเมินใน ค.ศ. 1123 แต่เขาถูกขับไล่โดย "พวกเพแกน" ใน ค.ศ. 1130 บิชอปคนอื่นๆ อย่างเฮนริก ได้รับการแต่งตั้งให้ประจำซิกตูนา โดยอาร์กบิชอกเดนมาร์ก คือ อัสเชอร์ ทอร์คิลสัน และเขาจะกลายเป็นผู้สนับสนุนกษัตริย์มักนุสอย่างแข็งขัน การเปลี่ยนแปลงนี้บ่งบอกถึงการขับเคี่ยวกันระหว่างฮัมบูร์ก-เบรเมินและอาร์กบิชอปแห่งลุนด์ของเดนมาร์ก[11] มีเรื่องราวตามพงศาวดารของแซ็กโซ ระบุว่า กษัตริย์มักนุสทรงออกสำรวจแบบไวกิงตามพื้นที่ต่างๆ ของสวีเดนอย่างล่าช้าและทรงนำค้อนธอร์กลับมาหลังจากที่พระองค์เข้าปล้นเกาะศักดิ์สิทธิ์แห่งหนึ่ง ด้วยเหตุนี้ชาวสวีเดนที่ยังไม่นับถือศาสนาคริสต์เต็มที่ มองว่าพระองค์เป็นผู้ก่อกวนวิหารที่ทำการปล้นเหล่าทวยเทพ[12]

ราว ค.ศ. 1127 กษัตริย์มักนุสอภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงริเชซาแห่งโปแลนด์ พระราชธิดาในดยุกโบเรสเลาสที่ 3 แห่งโปแลนด์ ทั้งสองพระองค์มีพระราชโอรส ได้แก่ เจ้าชายคนุตแห่งสวีเดน (ประสูติ ค.ศ. 1129 ต่อมาเป็นพระมหากษัตริย์เดนมาร์ก) และเจ้าชายนีลส์แห่งสวีเดน (ประสูติ ค.ศ. 1130) ใน ค.ศ. 1130 กษัตริย์มักนุสทรงสนับสนุนดยุกโบเรสเลาที่ 3 ในการยึดเกาะรือเงิน กองทัพโปแลนด์และกองเรือเดนมาร์กสามารถขับไล่ชาว รานี (ชนเผ่าสลาวิก) เพื่อสถาปนาอำนาจของชาวโปแลนด์เหนือเกาะนี้[13]

สงครามกลางเมืองในเดนมาร์ก[แก้]

ในค.ศ. 1131 กษัตริย์มักนุสทรงมีพระญาติผู้พี่พระองค์หนึ่ง ซึ่งเป็นคู่แข่งในการสืบราชบัลลังก์เดนมาร์ก คือ เจ้าชายคนุต ลาวาร์ด และพระองค์ก็วางแผนปลงพระชนม์เจ้าชายพระองค์นี้[1] หลังจากทรงก่อการครั้งนี้ พระองค์ต้องเสด็จกลับไปยังเกิตเทินลันด์ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ยังทรงเป็นพระมหากษัตริย์อยู่ แม้ว่าพระองค์จะได้รับการสนับสนุนจากกษัตริย์นีลส์แห่งเดนมาร์ก พระราชบิดา แต่กษัตริย์มักนุสต้องทำสงครามกลางเมืองกับพระเชษฐาต่างมารดาของเจ้าชายคนุต ลาวาร์ด คือ เจ้าชายอีริค[1] สงครามกลางเมืองเดนมาร์กทำให้สถานะของกษัตริย์มักนุสในสวีเดนอ่อนแอลง ชาวสวีดได้รวมตัวกันเลือกเจ้าที่ดินจากเอิสเตร์เยิตลันด์ขึ้นเป็นกษัตริย์ของพวกเขาในฐานะ พระเจ้าสแวร์เกอร์ที่ 1 แห่งสวีเดน[14] ตามพงศาวดารของแซ็กโซ แกรมมาติคัสระบุว่าเหตุการณ์นี้เกิดราว ค.ศ. 1132[8]

อดีตกษัตริย์มักนุสและกษัตริย์นีลส์แห่งเดนมาร์ก พระราชบิดาได้สู้รบกับศัตรูในวันที่ 4 มิถุนายน ค.ศ. 1134 ณ ยุทธการฟอเตอวิค แคว้นสคาเนีย ตามบันทึกของแซ็กโซ กษัตริย์ชรานีลส์ทรงตื่นตระหนกและเสด็จหนีออกไปเมื่อกองทัพของเจ้าชายอีริคเข้ามาใกล้ แต่อดีตกษัตริย์มักนุสทรงเผชิญหน้ากับศัตรูพร้อมผู้ติดตามที่มุ่งมั่น "พระองค์ทรงยอมตายแทนที่จะหลบหนีเพื่อไม่ให้ชื่อเสียงด้านความกล้าหาญของพระองค์ต้องมัวหมอง สุดท้าย พระองค์ทรงต่อสู้อย่างมุทะลุและสังหารศัตรูจำนวนมาก แล้วพระองค์ก็ล้มลงนอนสิ้นใจทับซากศพที่กองอยู่รอบตัวพระองค์"[15] หลังจากความพ่ายแพ้อย่างเด็ดขาด กษัตริย์นีลส์ทรงหลบหนีไปทางเรือ แต่พระองค์ก็ถูกปลงพระชนม์ในปีเดียวกัน

พระราชมรดก[แก้]

หลังจากอดีตกษัตริย์มักนุสสวรรคต สมเด็จพระพันปีหลวงริเชซา พระราชินีม่ายของพระองค์เสด็จกลับไปยังอีกฟากของทะเลบอลติก พระนางอภิเษกสมรสกับโวโลดาร์ เกลโบวิช เจ้าชาบแห่งมินสก์ ผู้นำเชื้อสายไวกิงจากราชวงศ์รูลิค หลังจากนั้นพระนางเสด็จกลับสวีเดนและอภิเษกสมรสกับพระเจ้าสแวร์เกอร์ที่ 1 แห่งสวีเดน ศัตรูผู้โค่นอำนาจกษัตริย์มักนุส อดีตพระราชสวามี

พระราชโอรสของกษัตริย์มักนุส คือ พระเจ้าคนุตที่ 5 แห่งเดนมาร์ก ได้แข่งขันในการสืบราชบัลลังก์เดนมาร์กกับพระญาติ คือ พระเจ้าสเวนที่ 3 แห่งเดนมาร์ก เมื่อกษัตริย์คนุตที่ 5 สวรรคตในค.ศ. 1157 เชื้อสายสันตติวงศ์ตามกฎหมายของพระองค์ได้สูญสิ้น พระโอรสองค์โตของกษัตริย์คนุต คือ นักบุญนีลส์ มรณภาพในค.ศ. 1180 มีโอรสนอกสมรสที่ประสูติหลังจากกษัตริย์คนุตสวรรคต ได้แก่ บิชอปวัลเดมาร์แห่งชเลสวิชและเป็นมุขนายกแห่งเบรเมิน มรณภาพในค.ศ. 1236 เขาเป็นเชื้อสายของกษัตริย์มักนุสคนสุดท้าย

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 Bricka, Carl Frederik, Dansk Biografisk Lexikon, vol. XI [Maar – Müllner], 1897, pp.45. Available online
  2. Kings and Rulers of Sweden ISBN 91-87064-35-9 pp. 3 & 15
  3. Swedish Royal Court เก็บถาวร 2011-05-17 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน official list of monarchs
  4. Reference (direct link not possible): Regesta Imperii. Akademie der Wissenschaften und der Literatur, Mainz: "RI IV Lothar III. und ältere Staufer (1125-1197) - RI IV,1,1 - 1134 April 15, Halberstadt" (www.regesta-imperii.de/regesten/4-1-1-lothar-iii/nr/1134-04-15_1_0_4_1_1_392_392.html?tx_hisodat_sources[action]=show&tx_hisodat_sources[controller]=Sources&cHash=8719127f4b33fc041a031693357e7cd7#rinav)
  5. Saxo Grammaticus, Danmarks kronike, II, p. 55-6.
  6. Gillingstam, "Magnus Nilsson".
  7. Västgötalagen, http://project2.sol.lu.se/fornsvenska/01_Bitar/A.L5.D-Vidhem.html
  8. 8.0 8.1 Sawyer, När Sverige blev Sverige, pp. 38-39.
  9. Saxo Grammaticus, Danmarks kronike, II, p. 64.
  10. Tunberg, Sveriges historia till våra dagar, II, p. 39.
  11. Sawyer, När Sverige blev Sverige, pp. 39.
  12. Saxo Grammaticus, Danmarks kronike, II, p. 66.
  13. Edmund Kosiarz, Wojny na Bałtyku X–XIX w., Gdańsk 1978, p. 38.
  14. Saxo Grammaticus, Danmarks kronike, II, p. 81.
  15. Saxo Grammaticus, Danmarks kronike, II, p. 84.

วรรณกรรม[แก้]

ก่อนหน้า พระเจ้ามักนุสที่ 1 แห่งสวีเดน ถัดไป
พระเจ้าอิงเงอที่ 2
พระมหากษัตริย์สวีเดนแห่งเกิตทาลันด์
แย่งชิงราชบัลลังก์กับ
รังน์วัลด์ นัปฮอเดอ

(ทศวรรษที่ 1120 - ราวค.ศ. 1132)
พระเจ้าสแวร์เกอร์ที่ 1
คนุต ลาวาร์ด
เอิร์ล/ดยุกแห่งจัตแลนด์ใต้
(ค.ศ. 1130 - ค.ศ. 1134)
ว่าง
ตำแหน่งถัดไป
พระเจ้าวัลเดมาร์ที่ 1