พระเจ้าฮันส์แห่งเดนมาร์ก

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ฮันส์
พระมหากษัตริย์แห่งเดนมาร์ก, สวีเดนและนอร์เวย์
พระมหากษัตริย์แห่งเดนมาร์ก
ครองราชย์21 พฤษภาคม ค.ศ. 1481 - 20 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1513
(31 ปี 275 วัน)
ราชาภิเษก18 พฤษภาคม ค.ศ. 1483
โบสถ์พระนางมารี, โคเปนเฮเกน
ก่อนหน้าคริสเตียนที่ 1
ถัดไปคริสเตียนที่ 2
พระมหากษัตริย์แห่งนอร์เวย์
ครองราชย์ค.ศ. 1483 - 20 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1513
(30 ปี 50 วัน)
ราชาภิเษก20 กรกฎาคม ค.ศ. 1483
มหาวิหารนีดารอส
ก่อนหน้าคริสเตียนที่ 1
ถัดไปคริสเตียนที่ 2
พระมหากษัตริย์แห่งสวีเดน
ครองราชย์6 ตุลาคม ค.ศ. 1497 - สิงหาคม ค.ศ. 1501
(3 ปี 87 วัน)
ราชาภิเษก26 พฤศจิกายน ค.ศ. 1497
สต็อกโฮล์ม
ก่อนหน้าคาร์ลที่ 8
ถัดไปคริสเตียนที่ 2
พระราชสมภพ2 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1455
ปราสาทออลบอร์ฮุส, ออลบอร์
สวรรคต20 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1513 20 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1513(1513-02-20) (58 ปี)
ปราสาทออลบอร์ฮุส, ออลบอร์
ฝังพระศพมหาวิหารนักบุญคนุต โอเดนเซ
ชายาคริสตินาแห่งซัคเซิน
พระราชบุตร
พระนามเต็ม
ฮันส์ อัฟ อ็อลเดินบวร์ค
ราชวงศ์อ็อลเดินบวร์ค
พระราชบิดาพระเจ้าคริสเตียนที่ 1 แห่งเดนมาร์ก
พระราชมารดาโดโรเธียแห่งบรันเดินบวร์ค
ศาสนาโรมันคาทอลิก

พระเจ้าฮันส์แห่งเดนมาร์ก (เดนมาร์ก, นอร์เวย์ and สวีเดน: Hans; né Johannes[1]) หรือ พระเจ้าจอห์นแห่งเดนมาร์ก (John) (2 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1455 - 20 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1513) ทรงเป็นพระมหากษัตริย์สแกนดิเนเวียภายใต้สหภาพคาลมาร์ พระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์เดนมาร์ก (1481-1513) นอร์เวย์ (1483-1513) และในฐานะ พระเจ้าโยฮันที่ 2 (สวีเดน: Johan II[2][3][4][5]) แห่งสวีเดน (1496-1501) ตั้งแต่ค.ศ. 1482 ถึง 1513 พระองค์ทรงเป็นดยุคแห่งชเลชวิชและฮ็อลชไตน์ร่วมกับเจ้าชายเฟรเดอริก พระราชอนุชา

เป้าหมายทางการเมืองทั้งสามของพระเจ้าฮันส์คือ การฟื้นฟูสหภาพคาลมาร์ การลดอำนาจการปกครองของสันนิบาตฮันเซอ และการสร้างพระราชอำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์เดนมาร์กให้เข้มแข็ง

พระราชประวัติ[แก้]

ช่วงต้นพระชนม์ชีพ[แก้]

ตราพระราชลัญจกรกษัตริย์ฮันส์แห่งเดนมาร์ก, สวีเดนและนอร์เวย์

พระเจ้าฮันส์ประสูติเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1455 ณ ปราสาทออลบอร์ฮุส เมืองออลบอร์ในจัตแลนด์เหนือ พระองค์เป็นพระราชบุตรพระองค์ที่สามแต่ทรงรอดพระชนม์จนเจริญพระชันษาได้ ทรงเป็นพระราชโอรสในพระเจ้าคริสเตียนที่ 1 แห่งเดนมาร์กกับโดโรเธียแห่งบรันเดินบวร์ค ธิดาในโยฮัน มาร์คกราฟแห่งบรันเดินบวร์ค-คูล์มบาค ในปีค.ศ. 1478 เจ้าชายฮันส์ได้อภิเษกสมรสกับคริสตินาแห่งซัคเซิน หลานสาวในฟรีดริชที่ 2 ผู้คัดเลือกแห่งซัคเซิน ผู้ปกครองรัฐผู้คัดเลือกซัคเซิน ทำให้พระองค์ทรงมีทายาทได้แก่ พระเจ้าคริสเตียนที่ 2 แห่งเดนมาร์ก เจ้าชายจาค็อบ เจ้าหญิงเอลิซาเบธและเจ้าชายฟรันซ์ เจ้าหญิงเอลิซาเบธต่อมาได้เสกสมรสและได้เป็นอีเล็กเตรส หรือ ชายาในผู้คัดเลือกแห่งบรันเดินบวร์ค ในช่วงค.ศ. 1496 ถึง 1512 เมื่อเจ้าชายฮันส์ได้เป็นพระมหากษัตริย์แล้ว พระองค์ยังมีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับเอเดล ยานสเคก

รัชกาล[แก้]

ในปีค.ศ. 1458 พระเจ้าคริสเตียนที่ 1 พระราชบิดาของเจ้าชายฮันส์ทรงให้สภาราชอาณาจักรนอร์เวย์ หรือ ริคสรัด ถวายคำสัตย์สัญญาต่อพระองค์ว่า สภาจะเลือกเจ้าชายฮันส์ พระราชโอรสของพระองค์เป็นพระมหากษัตริย์องค์ต่อไป หลังจากพระองค์เสด็จสวรรคต มีการประกาศลักษณะคล้ายกันในสวีเดนด้วย ในปีค.ศ. 1467 เจ้าชายฮันส์ได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้สืบราชบัลลังก์เดนมาร์ก เจ้าชายฮันส์ยังทรงใช้พระอิสริยยศเป็นรัชทายาทแห่งราชอาณาจักรนอร์เวย์ ซึ่งสอดคล้องกับสถานะการสืบบัลลังก์ดั้งเดิมของนอร์เวย์ ที่เป็นการสืบราชสันตติวงศ์ทางสายโลหิต แต่ข้ออ้างสิทธิ์นี้สภาราชอาณาจักรนอร์เวย์ไม่สามารถยอมรับได้ในทันที ด้วยเหตุนี้เมื่อกษัตริย์คริสเตียนที่ 1 เสด็จสวรรคตในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1481 สถานะของกษัตริย์ฮันส์นั้นไม่ถูกท้าทายในเดนมาร์ก แต่ในนอร์เวย์ สภาราชอาณาจักรกลับอุปโลกน์ว่าสภาสามารถเข้ารับพระราชอำนาจของกษัตริย์แทนทำให้เกิดสมัยไร้กษัตริย์ขึ้นในนอร์เวย์ ไม่มีคู่แข่งคนสำคัญที่จะอ้างสิทธิ์ในราชบัลลังก์นอร์เวย์ แต่สภาราชอาณาจักรกลับมุ่งมั่นที่จะแสดงอำนาจสถานะของนอร์เวย์ในฐานะราชอาณาจักรที่มีอำนาจอธิปไตยเป็นของตนเอง มีการประชุมสภาราชอาณาจักรเดนมาร์ก สวีเดนและนอร์เวย์ในวันที่ 13 มกราคม ค.ศ. 1483 ที่เมืองฮัล์มสตา เพื่อกำหนดเงื่อนไขในการเลือกตั้งกษัตริย์ฮันส์แห่งเดนมาร์กขึ้นเป็นกษัตริย์ของอีกสองอาณาจักร ซึ่งก็คือการออกสนธิสัญญาฮานด์เฟรสเนงของกษัตริย์ สภาราชอาณาจักรสวีเดนไม่เดินทางมาร่วมการประชุม แต่สภาของนอร์เวย์และเดนมาร์กได้ดำเนินการจัดทำปฏิญญาร่วมอยู่ภายใต้การปกครองของกษัตริย์ฮันส์ และเลือกตั้งพระองค์ขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ โดยหวังว่าสวีเดนจะยอมรับข้อตกลงนี้ในภายหลังและยอมรับกษัตริย์ฮันส์แห่งเดนมาร์กเป็นพระมหากษัตริย์สวีเดนเช่นกัน ต่อจากนั้น กษัตริย์ฮันส์ทรงประกอบพิธีราชาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์เดนมาร์กในโคเปนเฮเกนวันที่ 18 พฤษภาคม และราชาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์นอร์เวย์ในวันที่ 20 กรกฎาคม ที่เมืองทร็อนไฮม์

ในช่วงปีแรกๆ ของรัชกาล กษัตริย์ฮันส์ทรงดำเนินนโยบายที่สมดุล ทรงใช้วิธีทางการทูตลดสถานะของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ สเตียน สตูเร ผู้อาวุโสแห่งสวีเดน ด้วยการแสวงหาพันธมิตรใหม่ พระองค์เป็นพระมหากษัตริย์เดนมาร์กพระองค์แรกที่เริ่มสถาปนาความร่วมมือทางการเมืองกับรัสเซีย หลังจากสนธิสัญญาค.ศ. 1493 อีวานที่ 3 แห่งรัสเซีย เจ้าชายแห่งมอสโกทรงสั่งจับกุมพ่อค้าฮันซาที่ทำการค้าในนอฟโกรอดและทรงยุยงให้เกิดสงครามรัสเซีย-สวีเดน (1495-1497) เมืองท่าของฮันซาก็ประสบปัญหาสงครามลับที่ก่อโดยสลัดหลวงจากเดนมาร์ก ในตอนนั้นสถานะของสันนิบาตฮันซากำลังลดลงอย่างช้าๆ เนื่องจากเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการค้าและการต่อต้านสันนิบาตฮันซามากขึ้นโดยรัฐนาวีทางยุโรปเหนือ

นโยบายภายในประเทศของกษัตริย์ฮันส์ถูกกำหนดโดยการสนับสนุนทางเศรษฐกิจของพ่อค้าเดนมาร์ก และมีการแต่งตั้งสามัญชนเป็นข้าราชการอย่างกว้างขวางหรือแม้แต่เป็นสมาชิกสภา ซึ่งสร้างความไม่พอใจแก่ขุนนาง พระราโชบายที่สำคัญซึ่งริเริ่มโดยพระองค์คือ การก่อตั้งกองทัพเรือของเดนมาร์กอย่างถาวร ซึ่งจะมีบทบาทสำคัญในหลายปีต่อมา

ตามสิทธิพิเศษแห่งรีเบ สภาขุนนางของดัชชีชเลสวิชและฮ็อลชไตน์จะต้องเลือกตั้งดยุคมากจากบุตรชายของดยุคคนก่อน ขุนนางจำนวนมากในชเลสวิชและฮ็อลชไตน์นิยมขมชอบในเจ้าชายเฟรเดอริก พระราชอนุชาของกษัตริย์ฮันส์มากกว่า แต่กษัตริย์ฮันส์ทรงประสบความสำเร็จในการโต้แย้งให้มีการเลือกพระโอรสของกษัตริย์พระองค์ก่อนผู้ล่วงลับให้ดำรงเป็นดยุคร่วมกัน ถึงแม้ว่าจะมีการตกลงในตอนแรกว่า ทั้งสองพระองค์ควรปกครองดัชชีร่วมกัน แม้ว่าดัชชีส่วนใหญ่จะเป็นของเจ้าชายเฟรเดอริก (ในค.ศ. 1490) แต่ถึงกระนั้นดัชชียังคงถูกแบ่งแยกปกครอง

ในเวลาเดียวกัน กษัตริย์ฮันส์ทรงอนุมัติในขั้นต้นในการเข้าร่วมสงครามครูเสดที่ถูกเสนอแผนการในกรุงโรมเมื่อวันที่ 25 มีนาคม ค.ศ. 1490 ซึ่งทหารนอร์ดิกจะเป็นส่วนหนึ่งของแนวร่วมกองทัพที่จะต่อสู้กับชาวเติร์กของจักรวรรดิออตโตมัน แต่อย่างไรก็ตาม พระองค์ส่งพระราชสาส์นพร้อมผู้แทนถึงสมเด็จพระสันตะปาปายูลิอุสที่ 2 เพื่ออธิบายว่าพระองค์มีปัญหาความขัดแย้งมากมายในประเทศซึ่งทำให้พระองค์ไม่สามารถดำเนินตามแผนการดังกล่าวได้

ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1495 กษัตริย์ฮันส์เสด็จพร้อมกองทัพเรือไปยังคัลมาร์ สวีเดน ร่วมกับสภาเดนมาร์กและสภานอร์เวย์ พระองค์คาดหวังว่าจะได้ร่วมประชุมกับสภาสวีเดน เป้าหมายหลักของพระองค์คือ การรวบรวมภูมิภาคนอร์ดิกอีกครั้ง คือการสร้างสหภาพคาลมาร์ขึ้นใหม่อีกครั้ง[6][7] ระหว่างทางจากโคเปนเฮเกนไปยังคัลมาร์ เรือธงของกษัตริย์ฮันส์ คือ กริบส์ชุนเดน ประสบเหตุระเบิดและล่มลงใกล้เมืองรอนเนอบี กษัตริย์ฮันส์ไม่ได้ทรงประทับบนเรือดังกล่าวในขณะนั้น พระองค์รอดพระชนม์และเสด็จต่อไปยังคัลมาร์ แต่สเตียน สตูเร ถ่วงเวลาเดินทางอย่างช้าซ้ำแล้วซ้ำเล่า และในที่สุดกษัตริย์ฮันส์ทรงยกเลิกการประชุมในเดือนสิงหาคม และเสด็จกลับโคเปนเฮเกนอย่างเหนื่อยล้า[8][9] ด้วยการทูตทางตรงที่ล้มเหลว กษัตริย์ฮันส์ทรงหันไปใช้วิธีการอื่นเพื่อบรรลุความทะเยอทะยานของพระองค์

เหรียญทองของกษัตริย์ฮันส์ซึ่งถูกทำขึ้นที่กรุงสตอกโฮล์มในปี ค.ศ. 1497

ในวันที่ 6 ตุลาคม ค.ศ. 1497 กษัตริย์ฮันส์ทรงยกทัพพิชิตสวีเดนในระหว่างการรณรงค์ทางทหารเวลาสั้นๆ และมีประสิทธิภาพ โดยทรงเอาชนะสเตียน สตูเรที่สมรภูมิรอเตอโบร หลังจากทรงบ่อนทำลายสถานะของเขาโดยทรงได้รับความนิยมจากขุนนางสวีเดนส่วนใหญ่ สเตียนยอมจำนนต่อกษัตริย์ฮันส์ในสตอกโฮล์มและประนีประนอมกับพระองค์ กษัตริย์ฮันส์ทรงได้รับการราชาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์สวีเดน และสเตียนได้รับอำนาจสูงสุดในสวีเดนเป็นรองแค่เพียงกษัตริย์

ในปีค.ศ. 1500 กษัตริย์ฮันส์ทรงพยายามพิชิตแคว้นดิธมาร์เชิน (ปัจจุบันอยู่ในรัฐชเลสวิช-ฮ็อลชไตน์) ซึ่งเป็นพื้นที่ที่พระมหากษัตริย์เดนมาร์กเห็นว่าอยู่ภายในราชอาณาจักร แต่ในความจริงแล้วดินแดนนี้เป็นสาธารณรัฐชาวนาที่เป็นอิสระภายใต้การปกครองหลวมๆ ของเจ้าอัครสังฆมณฑลเบรเมิน[10] ภายในเดือนมกราคม ค.ศ. 1500 กษัตริย์ฮันส์ทรงว่าจ้างหน่วยทหารดำที่ประกอบด้วยทหารรับจ้างชาวดัตช์และฟรีเซียตะวันออกที่มีความโหดเหี้ยม ภายใต้การบังคับบัญชาของโทมัส สเลนซ์ ก่อนที่จะรับใช้มักนุสที่ 1 ดยุคแห่งซัคเซิน-เลาเอนบวร์กซึ่งเป็นผู้มีอำนาจสั่งการในแลนด์ฮาเดิล[11][12]

กษัตริย์ฮันส์ทรงรับประกันความปลอดภัยในทางตะวันออกเฉียงใต้ผ่านเลาเอนบวร์ก-เซลเลียน วินเซิน (ลูเฮอ)และฮุปเต ข้ามแม่น้ำเอ็ลเบอโดยเรือข้ามฟากโซเลนสปีเกอร์ไปยังฮัมบูวร์ค-ลือเบ็คที่เบอร์เกดอร์ฟและเวียร์ลันด์[13] จากนั้นกองทหารดำได้มุ่งหน้าไปยังทิศตะวันออกเฉียงเหนืออีกครั้ง ผ่านฮ็อลชไตน์ไปยังดิธมาร์ จากนั้นกษัตริย์ฮันส์ทรงร่วมกับเจ้าชายเฟรเดอริก พระราชอนุชาได้รณรงค์ทางทหารขนานใหญ่ร่วมกับกองทหารดำ แต่ชาวดิธมาร์ภายใต้วูล์ฟ อีเซแบรนด์ได้ล่อกองทหารดำมาติดกับดัก ในสมรภูมิเฮมมิงสเต็ดท์โดยมีการเปิดเขื่อนกั้นน้ำให้ไหลทะลักลงที่ต่ำ และให้ท่วมถนนสายหลักที่แคบ ดังนั้นความพยายามของกษัตริย์ฮันส์ในการบังคับให้ชาวนาเสรีดิธมาร์ให้เข้าไปสู่ระบอบศักดินาต้องสิ้นสุดลงในตอนนั้น

ความพ่ายแพ้ในสมรภูมิเฮมมิงสเต็ดท์วันที่ 17 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1500 ทำลายเกียรติยศของกษัตริย์ฮันส์ และในปีค.ศ. 1501 สวีเดนก็ประกาศปลดพระองค์ออกจากตำแหน่งกษัตริย์ กษัตริย์ฮันส์ทรงก่อสงครามที่ขมขื่นกับสเตียน สตูเร และผู้สืบทอดตำแหน่งเขาอย่าง สวันเต นีลส์สัน และความขัดแย้งนี้ก่อให้เกิดกระแสต่อต้านทั้งจากขุนนางเดนมาร์กและเมืองสันนิบาตฮันซาอย่างลือเบ็ค ในปีค.ศ. 1509 เนเธอร์แลนด์ได้เข้ามาเป็นผู้ตัดสินชี้ขาด สวีเดนตกลงที่จะยอมรับกษัตริย์ฮันส์แห่งเดนมาร์กเป็นพระมหากษัตริย์สวีเดนเพียงในหลักการ แต่พระองค์ไม่ทรงได้รับอนุญาตให้ย่างพระบาทเข้าไปในสตอกโฮล์มตราบเท่าที่ยังทรงมีพระชนม์ชีพอยู่ และพระองค์ไม่ทรงได้ประกอบพิธีราชาภิเษกอีกครั้ง

ในขณะเดียวกัน ความพยายามของชาวนอร์เวย์ในการต่อต้านกลับถูกขัดขวางโดยเจ้าชายคริสเตียน พระราชโอรสของกษัตริย์ฮันส์ (ต่อมาคือ พระเจ้าคริสเตียนที่ 2 แห่งเดนมาร์ก) ผู้ทรงดำรงเป็นอุปราชแห่งนอร์เวย์ตั้งแต่ค.ศ. 1506 จนกระทั่งพระองค์เป็นพระมหากษัตริย์ในค.ศ. 1513 โดยในช่วงระหว่างค.ศ. 1510 ถึง 1512 กษัตริย์ทรงทำสงครมครั้งสุดท้ายกับสวีเดนและลือเบ็ค ซึ่งในช่วงแรกเดนมาร์กถูกต้านทานอย่างมาก แต่ด้วยความช่วยเหลือจากพี่น้องบาร์ตัน ชาวสกอต[14] ทำให้การรบทางทะเลสามารถพลิกกลับมาชนะในบางสมรภูมิได้ เป็นผลให้นำสู่การกลับสู่สถานะเดิมกับสวีเดน แต่ลือเบ็คประสบความพ่ายแพ้ทางการเมืองและเศรษฐกิจจึงขอสงบศึก

ในชั่วพระชนม์ชีพของพระองค์และชนรุ่นหลังบางส่วน กษัตริย์ฮันส์มักจะทรงปรากฏพระองค์ในฐานะ "กษัตริย์ของสามัญชน" ด้วยทรงเป็นบุรุษที่ร่าเริงและเรียบง่าย ทรงมีกิริยามารยาทแบบชาวบ้าน อย่างไรก็ตามมองเพียงผิวเผินดูเหมือนว่า พระองค์เป็นนักสัจนิยมที่จริงแท้และเป็นผู้วิเคราะห์การเมืองอย่างกระตือรือร้น พระองค์เป็นกษัตริย์สแกนดิเนเวียที่เทียบเคียงคู่กับพระเจ้าหลุยส์ที่ 11 แห่งฝรั่งเศสและพระเจ้าเฮนรีที่ 7 แห่งอังกฤษในหลายๆ ด้าน

สวรรคตและพระราชพิธีพระบรมศพ[แก้]

ฉากประดับแท่นบูชาของเคลาส์ เบิร์ก ปัจจุบันตั้งอยู่ที่มหาวิหารนักบุญคนุต โอเดนเซ

ในปีค.ศ. 1513 กษัตริย์ฮันส์เสด็จสวรรคตที่ปราสาทออลบอร์ฮุส ทรงถูกเหวี่ยงตกจากหลังม้าทรงและสวรรคตหลังจากนั้นไม่นาน พระบรมศพของพระองค์ถูกฝังที่อาราม คณะฟรันซิสกันในโอเดนเซ สมเด็จพระราชินีคริสตินาซึ่งทรงใช้พระชนม์ชีพในบั้นปลายในคอนแวนต์ที่โอเดนเซ ทรงมอบหมายให้เคลาส์ เบิร์กประติมากรชื่อดังชาวเยอรมันสร้างโบสถ์ฝังพระศพที่งดงาม ซึ่งไว้สำหรับฝังพระบรมศพของพระราชสวามีและของพระนางเองเคียงข้างกันหลังจากพระนางสิ้นพระชนม์ในปีค.ศ. 1521 ศิลปะกอทิกสมัยหลังของฉากประดับแท่นบูชาได้ถูกแกะสลักโดยเบิร์กในช่วงค.ศ. 1515 ถึง 1525 กลายเป็นหนึ่งในสมบัติประจำชาติของเดนมาร์ก แต่ละส่วนทั้งสามส่วนได้รับการแกะสลักและปิดทองอย่างประณีต ศิลปะเหล่านี้อยู่รอดจากลัทธิทำลายรูปเคารพของการปฏิรูปศาสนาฝ่ายโปรเตสแตนต์ บางทีอาจเป็นเพราะศิลปะดังกล่าวเกี่ยวข้องกับการฝังพระศพพระบรมวงศานุวงศ์จึงทำให้ไม่ถูกแตะต้อง พระบรมศพของพระราชโอรสของกษัตริย์ฮันส์และพระราชินีคริสตินา คือ พระเจ้าคริสเตียนที่ 2 และอิซาเบลลาแห่งออสเตรีย พระมเหสีของพระองค์ ก็ได้ถูกนำมาฝังในโบสถ์ของพระราชวงศ์ด้วย ในปีค.ศ. 1807 อดีตโบสถ์คณะฟรันซิสกันได้ถูกทำลายลง และผลงานฉากประดับแท่นบูชาของเบิร์ก รวมถึงพระบรมศพของพระราชวงศ์หกพระองค์ได้ถูกเคลื่อนย้ายไปยังมหาวิหารนักบุญคนุต ซึ่งอยู่ในเมืองโอเดนเซเช่นเดิม

การสืบราชบัลลังก์[แก้]

พระราชโอรสวัย 32 พรรษา คือ พระเจ้าคริสเตียนที่ 2 แห่งเดนมาร์กได้ครองราชสมบัติสืบต่อ แต่พระองค์ถูกปลดจากราชบัลลังก์ในปีค.ศ. 1523 พระราชสันตติวงศ์ของกษัตริย์ฮันส์ได้กลับคืนมาสู่ราชบัลลังก์เดนมาร์กและนอร์เวย์อีกครั้งในรัชสมัยพระเจ้าคริสเตียนที่ 4 แห่งเดนมาร์ก โดยพระองค์ทรงเป็นลื่อของเอลิซาเบธแห่งเดนมาร์ก อีเล็กเตรสแห่งบรันเดินบวร์ค พระราชธิดาในกษัตริย์ฮันส์

พระอิสริยยศเต็ม[แก้]

กษัตริย์ฮันส์ทรงมีพระอิสริยยศเต็มในฐานะพระมหากษัตริย์แห่งเดนมาร์ก, สวีเดน และนอร์เวย์ คือ พระมหากษัตริย์แห่งเดนมาร์ก, สวีเดน, นอร์เวย์, ชาวเวนด์และชาวกอต ดยุคแห่งชเลสวิช, ฮ็อลชไตน์, สตอร์มาร์นและดิธมาร์เชน เคานท์แห่งออลเดนบวร์คและเดลมาร์โฮสท์[15]

พระราชโอรสธิดา[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. Caspar Paludan-Müller De første Konger af den Oldenburgske slægt Reitzels, Köpenhamn 1874 s. 131; also Danish WP here
  2. Adolf Schück: Sveriges Konungar och drottningar genom tiderna, AB Svensk litteratur, Stockholm, 1952, LIBRIS 8081452 p. 197
  3. Ohlmarks, Bernadotte & Wieselgren: Sveriges hundra konungar, Biblioteksböcker, Stockholm, 1956, LIBRIS 893472 p 204
  4. Lars O. Lagerqvist: Sverige och dess regenter under 1000 år, Bonniers, Stockholm, 1976, ISBN 91-0-075007-7 p. 119
  5. Lagerqvist & Åberg: Kings and Rulers of Sweden ISBN 9187064-35-9 p. 30
  6. Gustafsson, Harald (2006-12-06). "A STATE THAT FAILED?: On the Union of Kalmar, Especially its Dissolution". Scandinavian Journal of History (ภาษาอังกฤษ). 31 (3–4): 205–220. doi:10.1080/03468750600930720. ISSN 0346-8755.
  7. Ingvardson, Gitte T.; Müter, Dirk; Foley, Brendan P. (2022-06-01). "Purse of medieval silver coins from royal shipwreck revealed by X-ray microscale Computed Tomography (µCT) scanning". Journal of Archaeological Science: Reports. 43: 103468. doi:10.1016/j.jasrep.2022.103468. ISSN 2352-409X.
  8. Foley, Brendan (2024-01-31). "Interim Report on Gribshunden (1495) Excavations: 2019–2021". Acta Archaeologica. 94 (1): 132–145. doi:10.1163/16000390-09401052. ISSN 0065-101X.
  9. Christensen, William (1912). Missiver fra Kongerne Christiern I's og Hansʹs tid (ภาษาเดนมาร์ก). Gad: Selskabet for Udgivelse af Kilder til Dansk Historie.{{cite book}}: CS1 maint: date and year (ลิงก์)
  10. Elke Freifrau von Boeselager, "Das Land Hadeln bis zum Beginn der frühen Neuzeit", in: Geschichte des Landes zwischen Elbe und Weser: 3 vols., Hans-Eckhard Dannenberg and Heinz-Joachim Schulze (eds.), Stade: Landschaftsverband der ehem. Herzogtümer Bremen und Verden, 1995 and 2008, vol. I 'Vor- und Frühgeschichte' (1995; ISBN 978-3-9801919-7-5), vol. II 'Mittelalter (einschl. Kunstgeschichte)' (1995; 978-3-9801919-8-2), vol. III 'Neuzeit (2008; ISBN 978-3-9801919-9-9)', (=Schriftenreihe des Landschaftsverbandes der ehem. Herzogtümer Bremen und Verden; vols. 7–9), vol. II: pp. 321–388, here p. 332.
  11. แม่แบบ:Cite ADB, here p. 184.
  12. Michael Schütz, "Die Konsolidierung des Erzstiftes unter Johann Rode", in: Geschichte des Landes zwischen Elbe und Weser: 3 vols., Hans-Eckhard Dannenberg and Heinz-Joachim Schulze (eds.), Stade: Landschaftsverband der ehem. Herzogtümer Bremen und Verden, 1995 and 2008, vol. I 'Vor- und Frühgeschichte' (1995; ISBN 978-3-9801919-7-5), vol. II 'Mittelalter (einschl. Kunstgeschichte)' (1995; 978-3-9801919-8-2), vol. III 'Neuzeit (2008; ISBN 978-3-9801919-9-9)', (=Schriftenreihe des Landschaftsverbandes der ehem. Herzogtümer Bremen und Verden; vols. 7–9), vol. II: pp. 263–278, here p. 267.
  13. แม่แบบ:Cite ADB, here p. 185.
  14. Hannay, Mackie, Spilman, ed., Letters of James IV, SHS (1953), p.xlii
  15. Kong Hans (Diplomatarium Norvegicum)
ก่อนหน้า พระเจ้าฮันส์แห่งเดนมาร์ก ถัดไป
คริสเตียนที่ 1
พระมหากษัตริย์แห่งเดนมาร์ก
(ค.ศ. 1481 - ค.ศ. 1513)
คริสเตียนที่ 2

พระมหากษัตริย์แห่งนอร์เวย์
(ค.ศ. 1483 - ค.ศ. 1513)



ดยุคแห่งชเลสวิช
ร่วมกับ
ดยุคฟรีดริชที่ 1

(ค.ศ. 1482 - ค.ศ. 1513)
ฟรีดริชที่ 1และคริสเตียนที่ 2

ดยุคแห่งฮ็อลชไตน์
ร่วมกับ
ดยุคฟรีดริชที่ 1 (1482-1513)

(ค.ศ. 1482 - ค.ศ. 1513)


คาร์ลที่ 8
พระมหากษัตริย์แห่งสวีเดน
(ค.ศ. 1497 - ค.ศ. 1501)
ว่าง
ลำดับถัดไปคือ
คริสเตียนที่ 2