การรุกรานรัสเซียโดยฝรั่งเศส

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
การรุกรานรัสเซียโดยฝรั่งเศส
ส่วนหนึ่งของ สงครามนโปเลียน

ตามเข็มฯจากบนซ้าย: 1) ยุทธการที่โบโรดีโน, 2) เพลิงไหม้ในมอสโก, 3) จอมพลมีแชล แน ในยุทธการเคานัส, 4) การถอนกำลัง
วันที่24 มิถุนายน – 14 ธันวาคม ค.ศ. 1812
(5 เดือน 2 สัปดาห์ 6 วัน)
สถานที่
ผล ชัยชนะของรัสเซีย[1]
กองทัพใหญ่ของนโปเลียนล่มสลาย
เริ่มสงครามสหสัมพันธมิตรครั้งที่หก
คู่สงคราม

จักรวรรดิฝรั่งเศส

พันธมิตร:
จักรวรรดิออสเตรีย จักรวรรดิออสเตรีย
ราชอาณาจักรปรัสเซีย ราชอาณาจักรปรัสเซีย
เดนมาร์ก เดนมาร์ก–นอร์เวย์
จักรวรรดิรัสเซีย จักรวรรดิรัสเซีย
ผู้บังคับบัญชาและผู้นำ
นโปเลียนที่ 1
อาแล็กซ็องดร์ แบร์ตีเย
หลุยส์-นีกอลา ดาวู
มีแชล แน
เอเตียน แม็กโดนัลด์
นีกอลา อูดีโน
เฌโรม โบนาปาร์ต
ยูแซฟ ปอญาตอฟสกี
ฌออากีม มูว์รา
ราชอาณาจักรอิตาลี (นโปเลียน) เออแฌน เดอ โบอาร์แน
จักรวรรดิออสเตรีย เจ้าชายคาร์ล ฟิลิป
ราชอาณาจักรปรัสเซีย ลุดวิจ ฟอน ยอร์ก
ราชอาณาจักรปรัสเซีย ยูลิอุส ฟอน กราเวือร์ท
เดนมาร์ก โยฮันน์ เอวัลด์[2][3]
จักรวรรดิรัสเซีย อเล็กซานเดอร์ที่ 1
จักรวรรดิรัสเซีย มีฮาอิล คูตูซอฟ
จักรวรรดิรัสเซีย ไมเคิล บาร์เคลย์
จักรวรรดิรัสเซีย ปิออตร์ บากราตีออน 
จักรวรรดิรัสเซีย ปีเตอร์ วิตเก็นสไตน์
จักรวรรดิรัสเซีย อะเลคซันดร์ ตอร์มาซอฟ
จักรวรรดิรัสเซีย ปาเวล ชีชากอฟ
กำลัง
กองทัพใหญ่:
~685,000 นาย[4]
กองทัพจักรวรรดิรัสเซีย:
มากที่สุด ~900,000 นาย[4]
ความสูญเสีย
เสียชีวิต: ~400,000 นาย[5][6]
เหลือรอด: 120,000 นาย (ในจำนวนนี้เป็นทหารฝรั่งเศส 35,000 นาย)
เสียชีวิต: 210,000 นาย[7]

การรุกรานรัสเซียโดยฝรั่งเศส (อังกฤษ: French invasion of Russia) หรือในรัสเซียรู้จักกันในชื่อ สงครามของผู้รักชาติปี 1812 (รัสเซีย: Отечественная война 1812 года) หรือในฝรั่งเศสรู้จักกันในชื่อ การทัพรัสเซีย (ฝรั่งเศส: Campagne de Russie) เป็นความพยายามของจักรวรรดิฝรั่งเศสภายใต้จักรพรรดินโปเลียนที่ 1 ในการกดดันให้รัสเซียล้มเลิกทำการค้าขายกับอังกฤษ รวมถึงเพื่อชิงดินแดนโปแลนด์มาจากรัสเซีย ปฏิบัติการครั้งนี้สิ้นสุดลงด้วยความพ่ายแพ้ยับเยินของฝรั่งเศส

เบื้องหลัง[แก้]

ภายหลังความพ่ายแพ้ในยุทธนาวีที่ตราฟัลการ์เมื่อปี 1805 จักรพรรดินโปเลียนก็ล้มเลิกแผนการบุกครองเกาะบริเตนใหญ่ และหันไปทำสงครามสหสัมพันธมิตรครั้งที่สี่ภายในยุโรปตอนกลาง ฝรั่งเศสได้รับชัยชนะในสงครามดังกล่าวในปี 1807 และได้ดินแดนราวครึ่งหนึ่งมาจากราชอาณาจักรปรัสเซีย หลังจากนั้น จักรวรรดิออสเตรียก็ก่อสงครามสงครามสหสัมพันธมิตรครั้งที่ห้าในปี 1809 เพื่อพยายามโค่นล้มนโปเลียน แต่ก็กลับพ่ายแพ้ต่อกองทัพนโปเลียน และเกิดเป็นสนธิสัญญาเชินบรุน

ด้วยผลของสนธิสัญญาเชินบรุนซึ่งยุติสงครามดังกล่าว ทำให้มณฑลกาลิเซียตะวันตก (ปัจจุบันคือภาคตะวันออกเฉียงใต้ของโปแลนด์) ซึ่งเดิมเป็นของราชวงศ์ออสเตรีย ถูกผนวกเป็นส่วนหนึ่งของแคว้นวอร์ซออันเป็นมิตรของฝรั่งเศส รัสเซียมองว่าเหตุการนี้เป็นภัยคุกคามต่อผลประโยชน์ของรัสเซีย และมองว่าเป็นเค้าลางที่ฝรั่งเศสจะยกทัพบุกรัสเซีย[8]

นโปเลียนพยายามเจรจาสันติภาพกับอังกฤษ แต่ถูกอังกฤษปฏิเสธอย่างไร้เยื่อใย เช่นนั้นแล้วนโปเลียนจึงพยายามบังคับอังกฤษทางอ้อม โดยการบังคับให้พระเจ้าซาร์อเล็กซานเดอร์ที่ 1 แห่งรัสเซีย ยุติการติดต่อค้าขายกับอังกฤษ เพื่อกดดันทางอ้อมให้อังกฤษสูญเสียรายได้จนต้องยอมเซ็นสัญญาสันติภาพกับฝรั่งเศส[9] และปฏิบัติการนี้ก็ยังมีเป้าหมายเพื่อแย่งชิงโปแลนด์มาจากรัสเซีย อย่างไรก็ตาม จักรพรรดินโปเลียนในช่วงนี้มีสภาพจิตใจและร่างกายต่างไปจากอดีต พระองค์เริ่มลงพุงและมีโรคภัยไข้เจ็บ[10]

เหตุการณ์[แก้]

การบุกรัสเซีย[แก้]

ปฏิบัติการเริ่มต้นอย่างเป็นทางการในวันที่ 24 มิถุนายน ค.ศ. 1812 เมื่อกองทัพใหญ่ (Grande Armée) ของจักรพรรดินโปเลียนที่ 1 ทำการข้ามแม่น้ำเนมันเข้าสู่แผ่นดินรัสเซีย กองทัพใหญ่มีกำลังพลมากถึง 680,000 นาย ในจำนวนนี้เป็นทหารฝรั่งเศสประมาณ 400,000 นาย

จอมพลไมเคิล บาร์เคลย์ ผู้บัญชาการกองทัพรัสเซียเชื้อชาติสกอต กำชับไม่ให้กองทัพรัสเซียเข้าปะทะกับกองทัพฝรั่งเศส แม้ว่ารองผู้บัญชาการอย่างพลเอกบากราตีออนจะเรียกร้องให้ออกโจมตีก็ตาม บาร์เคลย์พยายามสร้างแนวรับที่เหนียวแน่นอยู่หลายครั้ง แต่การรุกของฝรั่งเศสมีความรวดเร็วเกินกว่าจะเตรียมแนวรับสำเร็จ ท้ายที่สุด รัสเซียต้องร่นถอยในทุกครั้ง

การปะทะเล็กหลายครั้งรวมถึงศึกใหญ่ที่สโมเลนสค์ในสิงหาคมปีนั้น ฝรั่งเศสเอาชนะได้เสมอ แต่ถึงแม้ฝรั่งเศสสามารถรุกคืบต่อเนื่อง นโปเลียนก็ไม่พอใจที่กองทัพรัสเซียมีท่าทีหลีกเลี่ยงการปะทะ และเอาแต่ถอยลึกเข้าในแผ่นดิน ทิ้งเมืองสโมเลนสค์ไว้ในกองเพลิง ทำให้แผนการบดขยี้กองทัพรัสเซียที่สโมเลนสค์ถูกล้มเลิก ฝรั่งเศสจำเป็นต้องไล่ตามกองทัพรัสเซียลึกเข้าในแผ่นดิน[11]

ในระหว่างที่กองทัพรัสเซียถอยลึกเข้าในแผ่นดิน พลเอกบากราตีออนสั่งการให้พวกคอสแซคเผาหมู่บ้าน, เมือง และทุ่งข้าวระหว่างทาง[9] เพื่อทำลายสิ่งที่จะเอื้อประโยชน์ต่อฝรั่งเศส กลยุทธ์ผลาญภพของรัสเซียสร้างความยุ่งยากและความตกตะลึงแก่นายทหารฝรั่งเศส พวกเขาไม่อยากเชื่อว่ารัสเซียจะยอมทำร้ายราษฎรและแผ่นดินของตนเองเพื่อสกัดกั้นข้าศึก ซึ่งยากที่แม่ทัพชาวฝรั่งเศสจะเอาอย่าง[12] ด้วยเหตุฉะนี้ ความเป็นอยู่กองทัพนโปเลียนจึงต้องพึ่งการส่งกำลังบำรุงเพียงอย่างเดียว ซึ่งเสบียงที่ถูกขนส่งก็ไม่พอเลี้ยงกองทัพขนาดมหึมา ความขาดแคลนเสบียงบังคับให้กำลังพลฝรั่งเศสออกจากค่ายทหารในเวลากลางคืนเพื่อหาอาหาร ซึ่งบ่อยครั้งที่กำลังพลกลุ่มนี้ถูกจับหรือถูกฆ่าโดยพวกคอสแซค

กองทัพรัสเซียร่นถอนเข้าในแผ่นดินต่อเนื่องเป็นระยะเวลากว่าสามเดือน การสูญเสียดินแดนอันไพศาลเริ่มทำให้ขุนนางรัสเซียกลัดกลุ้ม พวกขุนนางจึงรวมตัวกดดันซาร์อเล็กซานเดอร์ที่ 1 ให้ปลดจอมพลไมเคิล บาร์เคลย์ ลงจากตำแหน่ง ในที่สุดพระองค์ก็ยินยอมแต่งตั้งทหารเก่าอย่างจอมพลมีฮาอิล คูตูซอฟ วีรบุรุษในสงครามรัสเซีย-ตุรกี ขึ้นมาเป็นผู้บัญชาการกองทัพแทนอย่างไม่ค่อยยินดีพระทัยนัก กระบวนการถ่ายโอนตำแหน่งนี้กินเวลากว่าสองสัปดาห์

7 กันยายน บรรดากองพลฝรั่งเศสจำนวน 135,000 นาย เผชิญหน้ากองทัพรัสเซียราว 111,000 นายในบัญชาของจอมพลคูตูซอฟ ซึ่งขุดสนามเพลาะอยู่เชิงเขาก่อนถึงหมู่บ้านขนาดเล็กชื่อโบโรดีโน ประมาณ 110 กิโลเมตรทางตะวันตกของมอสโก ยุทธการที่โบโรดีโนถือเป็นการปะทะที่นองเลือดที่สุดในวันเดียวของสงครามนโปเลียน ซึ่งมีทหารเสียชีวิตกว่าเจ็ดหมื่นนาย แม้ว่านโปเลียนได้รับชัยชนะในทางเทคนิค แต่ก็เสียนายทหารสัญญาบัตรถึง 49 นายและกำลังพลอีกหลายหมื่น กองทัพรัสเซียที่เหลือรอดสามารถหลบหนีได้ในวันต่อมา[13]

การยึดมอสโก[แก้]

นโปเลียนในมอสโกที่มอดไหม้

หนึ่งสัปดาห์ต่อมาในวันที่ 14 กันยายน นโปเลียนกรีฑาทัพถึงมอสโก ซึ่งสร้างความงุนงงแก่ทุกคนอย่างมากที่มอสโกเป็นเมืองร้างที่มีพลเรือนอยู่เพียงน้อยนิด เนื่องจากจอมพลคูตูชอฟมีคำสั่งให้ถอนสรรพกำลังและประชาชนออกจากมอสโกแล้วตั้งแต่ต้นเดือน อย่างไรก็ตาม ฝ่ายรัสเซียยังทิ้งคนส่วนหนึ่งไว้ในมอสโก คนกลุ่มนี้อาศัยจังหวะที่ฝ่ายฝรั่งเศสเผลอทำการวางเพลิงทั่วมอสโก กองทัพฝรั่งเศสใช้เวลาหกวันในการดับไฟอย่างทุลักทุเล มีการจับกุมและประหารผู้ลอบวางเพลิงจำนวนหลายคน

นโปเลียนยังคงตัดสินใจปักหลักในมอสโกเพื่อรอให้รัสเซียประกาศยอมแพ้ตามธรรมเนียมการเสียเมืองหลวง แต่การเสียมอสโกซึ่งเป็นเมืองหลวงแห่งที่สองก็ไม่ทำให้พระเจ้าซาร์ยอมจำนน อย่างไรก็ตาม ทั้งสองฝ่ายตระหนักดีถึงความโหดร้ายของฤดูหนาวในรัสเซีย ดังนั้น นโปเลียนจึงต้องพิชิตรัสเซียก่อนเข้าสู่ฤดูหนาวอย่างเต็มรูปแบบ นโปเลียนปักหลักอยู่ในมอสโกหนึ่งเดือนเศษก็ดำริว่ารอไม่ได้อีกแล้ว จึงยกทัพออกจากมอสโกไปยังเมืองคาลูกาทางตะวันตกเฉียงใต้ อันเป็นที่ตั้งทัพของจอมพลคูตูซอฟ

นโปเลียนถอนทัพ[แก้]

นโปเลียนถอนทัพออกจากรัสเซีย

การเคลื่อนพลของนโปเลียนไปยังคาลูกาถูกจับตาโดยหน่วยสอดแนมของรัสเซีย นโปเลียนปะทะกับกองทัพรัสเซียอีกครั้งที่มาโลยาโรสลาเวตในวันที่ 24 ตุลาคม แม้ว่าจะได้รับชัยชนะ แต่นโปเลียนก็เลิกล้มที่จะไปยังคาลูกาเนื่องจากเริ่มเข้าฤดูหนาวและตัดสินใจถอนสรรพกำลังออกจากรัสเซีย ซึ่งระหว่างที่ถอนกำลัง กองทัพนโปเลียนก็ต้องเผชิญกับความหฤโหดของหน้าหนาวในรัสเซีย ทั้งการขาดที่พักและเสบียงทั้งของทหารและม้า (ผลจากกลยุทธ์ผลาญภพของรัสเซีย), ความขาดแคลนเสื้อกันหนาว, ภาวะตัวเย็นเกิน, ภาวะเหน็ดเหนื่อย ทำให้กองทัพนโปเลียนด้อยศักยภาพลง นี่จึงเป็นโอกาสทองของรัสเซีย รัสเซียได้ทีจึงยกทัพคอยตามตีอยู่เนือง ๆ ในวันที่กองทัพนโปเลียนข้ามแม่น้ำเบเรซีนาในเดือนพฤศจิกายน มีทหารที่พร้อมรบเหลือเพียง 27,000 นาย กองทัพใหญ่ได้สูญเสียกำลังพลในปฏิบัติการนี้ถึง 380,000 นายและตกเป็นเชลยอีกกว่า 100,000 นาย[14] ปฏิบัติการครั้งนี้สิ้นสุดลงเมื่อข้าศึกนายสุดท้ายออกจากแผ่นดินรัสเซียในวันที่ 12 ธันวาคม ค.ศ. 1812

อ้างอิง[แก้]

  1. von Clausewitz, Carl (1996). The Russian campaign of 1812. Transaction Publishers. Introduction by Gérard Chaliand, VII. ISBN 1-4128-0599-6
  2. Christian Wilhelm von Faber du Faur, Campagne de Russie 1812: d'après le journal illustré d'un témoin oculaire, éditions Flammarion, 1812, 319 pages, p.313.
  3. Eugène Labaume, Relation circonstanciée de la Campagne de Russie en 1812, éditions Panckoucke-Magimel, 1815, p.453-454.
  4. 4.0 4.1 Riehn 1991, p. 50.
  5. Zamoyski 2005, p. 536 — note this includes deaths of prisoners during captivity.
  6. The Wordsworth Pocket Encyclopedia, p. 17, Hertfordshire 1993.
  7. Bogdanovich, "History of Patriotic War 1812", Spt., 1859–1860, Appendix, pp. 492–503.
  8. Riehn 1990, p. 25.
  9. 9.0 9.1 Caulaincourt 2005, p. 9.
  10. McLynn 2011, pp. 490–520.
  11. Caulaincourt 2005, p. 77, "Before a month is out we shall be in Moscow. In six weeks we shall have peace.".
  12. Caulaincourt 2005, p. 85, "Everyone was taken aback, the Emperor as well as his men – though he affected to turn the novel method of warfare into a matter of ridicule.".
  13. Riehn 1991, p. 236.
  14. The Wordsworth Pocket Encyclopedia, page 17, Hertfordshire 1993