ฌ็อง ลาน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
จอมพลแห่งจักรวรรดิ

ฌ็อง ลาน

ดยุกแห่งมอนเตเบลโล เจ้าชายแห่งซีเวียร์ซ
เกิด10 เมษายน ค.ศ. 1769(1769-04-10)
เล็กตูร์ ราชอาณาจักรฝรั่งเศส
เสียชีวิต31 พฤษภาคม ค.ศ. 1809(1809-05-31) (40 ปี)
เอเบิสดอร์ฟ จักรวรรดิออสเตรีย
รับใช้ ราชอาณาจักรฝรั่งเศส
สาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ 1
จักรวรรดิฝรั่งเศสที่ 1
แผนก/สังกัดกองทัพบก
ประจำการ1792–1809
ชั้นยศจอมพลแห่งจักรวรรดิ
การยุทธ์
บำเหน็จมหากางเขนแห่งเลฌียงดอเนอร์
คู่สมรสPaulette Méric
Louise Antoinette
ลายมือชื่อ

ฌ็อง ลาน (ฝรั่งเศส: Jean Lannes) เป็นผู้บัญชาการทหารชาวฝรั่งเศสในช่วงสงครามปฏิวัติฝรั่งเศส ต่อมาได้รับยศจอมพลแห่งจักรวรรดิในช่วงสงครามนโปเลียน เขาเป็นหนึ่งในแม่ทัพที่มีฝีมือที่สุดของนโปเลียน และได้รับการยกย่องโดยหลายคนว่าเขาเป็นหนึ่งในแม่ทัพที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ ครั้งหนึ่งนโปเลียนเคยเอ่ยเกี่ยวกับลานว่า "ฉันเจอเขาตอนเป็นคนแคระ แล้วจากเขาตอนเป็นยักษ์"[1] ลานถือเป็นหนึ่งในสามจอมพลผู้ยอดเยี่ยมที่สุดของนโปเลียน ร่วมกับหลุยส์-นีกอลา ดาวู และอ็องเดร มาเซนา

จอมพลฌ็อง ลาน ได้รับฉายามากมาย ได้แก่ รอล็องแห่งกองทัพอิตาลี (Le Roland de l'armée d'Italie), อาแจ็กซ์ชาวฝรั่งเศส (l'Ajax français), อคิลลีสแห่งกองทัพใหญ่ (l'Achille de la Grande Armée) และ จอมสุรโยธิน (Le Brave des Braves)

ประวัติ[แก้]

ลานในสมัยเป็นช่างย้อมผ้า

ฌ็อง ลาน เกิดในเมืองชนบทที่ชื่อว่าเล็กตูร์ จังหวัดกัสกอญ ในภาคใต้ของฝรั่งเศส เขาเป็นบุตรชายของพ่อค้าและเจ้าของที่ดินรายย่อมนามว่า ฌ็องแน ลาน (Jeannet Lannes) ในช่วงวัยรุ่น ฌ็องได้รับการศึกษาเพียงเล็กน้อย และประกอบอาชีพเป็นช่างย้อมผ้า[1][2] แต่ด้วยความที่เขาเป็นเด็กแข็งแรงและเก่งในการกีฬาหลายอย่าง ส่งผลให้ในปี 1792 เขาได้รับคัดเลือกเป็นนายร้อยของกองพันอาสาประจำแฌร์

สงครามปฏิวัติฝรั่งเศส[แก้]

ในช่วงนั้นเกิดสงครามระหว่างฝรั่งเศสกับสเปน ลานได้ปฏิบัติหน้าที่ภายใต้นายพลฌ็อง-อ็องตวน มาร์โบ ระหว่างการทัพพิเรนีสในปี 1793 ซึ่งในศึกนี้ เขาได้แสดงความกล้าหาญ จนสามารถพลิกจากฝ่ายรับเป็นฝ่ายรุก ทำให้กำลังทหารสเปนต้องออกจากที่ตั้ง ลานสู้รบอีกครั้งในเปย์เรสโตเตส (Peyrestortes) จนได้เลื่อนเป็นร้อยโทในเดือนกันยายน และสู้รบอีกครั้งในบันยุลส์ (Banyuls) จนได้เลื่อนเป็นร้อยเอกในเดือนตุลาคม และได้บังคับบัญชาส่วนหน้าของกองพลน้อยของนายพลลาเตอร์ราดในปฏิบัติการที่ค่ายวีลลง (Villelongue) และได้รับการเลื่อนยศเป็นพันโท (ไม่มีชั้นยศพันตรี) ในที่สุด สเปนก็ลงนามในสนธิสัญญาสันติภาพกับฝรั่งเศสในปี 1795 ลานถือโอกาสนี้แต่งงานกับนางสาวโปเล็ต เมริค และโอนย้ายไปประจำกองทัพอิตาลี

ในปี 1796 ในการทัพอิตาลี ลานแสดงความเก่งอีกหลายครั้ง นายพลนโปเลียน โบนาปาร์ต เริ่มสังเกตเห็นความสามารถของลาน ทั้งสองจึงกลายมาเป็นเพื่อนกัน ลานทำผลงานเรื่อยมา และได้เลื่อนยศเป็นพลโทในปีนั้น (ไม่มีชั้นยศพลตรี) และต่อมา ลานในตำแหน่งผู้บัญชาการกองพลได้ติดตามนโปเลียนในการทัพอียิปต์และซีเรียระหว่างปี 1798 ถึง 1799 ลานได้รับบาดเจ็บหนักในยุทธการที่แอบูฆี ซึ่งนโปเลียนมีชัยเหนือกองทัพออตโตมัน

สมัยคณะกงสุลฝรั่งเศส[แก้]

เมื่อนโปเลียนตัดสินใจกลับฝรั่งเศสในปี 1799 ลานเป็นหนึ่งในไม่กี่คนซึ่งถูกเลือกให้ตามกลับมาด้วย ลานได้บัญชาการกองพลที่ 9 และที่ 10 และมีส่วนร่วมรักษาความสงบในปารีสในช่วงที่นโปเลียนก่อรัฐประหาร 18 บรูว์แมร์ ซึ่งทำให้นโปเลียนขึ้นเป็นกงสุลเอก และแม้ว่านโปเลียนมีตำแหน่งเป็นถึงผู้นำสูงสุด นโปเลียนก็ยังให้ลานเรียกเขาอย่างเป็นกันเองว่า "นาย" แทนที่จะเรียกว่า "ท่าน" แสดงถึงมิตรภาพที่ไม่มียศตำแหน่งเกี่ยวข้อง เมื่อลานมีความคิดเห็นอะไรที่ขัดแย้งกับนโปเลียน เขาเลือกที่จะบอกนโปเลียนตามตรง ผิดกับนายพลหลายคนที่มักเลือกเงียบ

ในปี 1800 ลานได้รับความไว้ใจให้เป็นกองระวังหน้าขณะที่นโปเลียนยกทัพข้ามเทือกเขาแอลป์เข้าสู่อิตาลี ลานคุมกำลังแปดพันนาย สามารถเอาชนะกองทัพออสเตรียหนึ่งหมื่นแปดพันนายในยุทธการที่มอนเตเบลโล (Montebello) ชัยชนะครั้งนี้มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่ทำให้นโปเลียนได้รับชัยชนะในยุทธการที่มาเร็งโก (Marengo) ในอีกห้าวันให้หลัง ซึ่งทำให้ออสเตรียยุติปฏิบัติการทางทหารทั้งหมดในอิตาลี ลานกลับปารีสแล้วแต่งงานใหม่กับหลุยส์ อ็องตัวแนต ลูกสาวของอดีตสมาชิกวุฒิสภา

ลานได้รับแต่งตั้งเป็นผู้บังคับหน่วยคุ้มกันกงสุล (Garde des consuls) และได้รับคำสั่งให้ปรับปรุงอาวุธและค่ายของหน่วยให้ดียิ่งขึ้น ให้สมกับเป็นหน่วยที่ทรงเกียรติภูมิที่สุดในกองทัพ ลานทำตามคำสั่งอย่างดี แต่ไม่ได้ใส่ใจงบประมาณ และเมื่อนโปเลียนเห็นตัวเลขค่าใช้จ่ายก็โกรธจัด บอกให้ลานหาเงินมาชดใช้ แม้ว่าลานเป็นถึงนายพล แต่ก็ไม่เคยปล้นสดมหรือหาเงินเข้ากระเป๋าในช่วงการศึก เขาจึงไม่มีเงินพอจะชดใช้ โชคดี ลานได้รับความช่วยเหลือจากเพื่อนอย่างนายพลโอเฌอโรผู้ร่ำรวย ซึ่งให้ยืมเงินจำนวนดังกล่าว ลานก็พยายามชดใช้เมื่อมี เหตุการณ์นี้ทำให้นโปเลียนเริ่มวางตัวเหินห่างกับลาน

ในปี 1802 นโปเลียนแต่งตั้งให้ลานเป็นทูตประจำโปรตุเกส หลายคนมองว่านโปเลียนคงไม่ต้องการงานอีกแล้ว ลานประท้วงเพราะอยากอยูในฝรั่งเศสมากกว่า แต่ในที่สุดก็ยอมรับตำแหน่ง ลานเป็นทูตที่แหวกแนว เขาคาดดาบที่ใช้รบจริงเข้าราชสำนักโปรตุเกส แทนที่จะคาดดาบพิธีการ ลานเพิกเฉยต่อธรรมเนียมการทูตมากมาย แต่ถึงกระนั้นเขาก็มีเสน่ห์ดึงดูดผู้มีอิทธิพลได้มากมาย

จักรวรรดิฝรั่งเศส[แก้]

ฌ็อง ลาน ดยุกแห่งมอนเตเบลโล ในเครื่องแบบทหารม้าฮุสซาร์

ในปี 1804 เมื่อนโปเลียนขึ้นเป็นจักรพรรดิแห่งฝรั่งเศส ลานเป็นหนึ่งในนายพลสิบแปดคนแรกที่ได้รับยศจอมพลแห่งจักรวรรดิ

ในปี 1805 ลานคุมปีกซ้ายของกองทัพใหญ่ในยุทธการที่เอาสเทอร์ลิทซ์ เขาช่วยตรึงทหารรัสเซียกลุ่มใหญ่ในบัญชาของนายพลปิออตร์ บากราตีออน เอาไว้ทางทิศเหนือ นโปเลียนจึงทำศึกทางทิศใต้อย่างหายห่วง แต่หลังจากได้รับชัยชนะ นโปเลียนกลับดูแคลนกองพลน้อยที่ 5 ของลานในบันทึกราชการศึก ว่ามีส่วนช่วยเพียงเล็กน้อยในยุทธการครั้งนี้ ทั้งที่หน่วยของลานมีบทบาทสำคัญอย่างมาก ลานโกรธจัดจึงอนุญาตให้คณะนายทหารของตนลาราชการ ทางด้านลานก็ขาดราชการโดยไม่ลา กว่าที่นโปเลียนจะรู้ตัวก็ผ่านไปหลายวัน นโปเลียนรับสั่งให้จอมพลมูว์ราไปหาลานเพื่อรั้งตัวและพูดคุยให้ใจเย็น แต่ลานไม่อยู่เสียแล้ว เขาชิงกลับปารีสเพื่ออยู่กับครอบครัว นโปเลียนไม่เคยเอาโทษลานจากเหตุการณ์นี้เลย

ในปี 1806 ลานบังคับบัญชากองพลน้อยที่ 5 ในการทัพต่อต้านพวกปรัสเซีย ลานได้รับชัยชนะในยุทธการที่ซาลเฟ็ลท์ (Saalfeld) และไล่ตามพวกปรัสเซียจนถึงเมืองเยนา ซึ่งภายหลังยุทธการเยนา ลานได้รับข้อความจากปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่อย่างโยฮัน ว็อล์ฟกัง ฟ็อน เกอเทอ ซึ่งทำจดหมายร้องขอต่อจอมพลฝรั่งเศสคนใดก็ได้ ให้ส่งทหารมาคุ้มกันห้องสมุดของเขาจากการปล้น ลานเป็นจอมพลคนเดียวที่ตอบรับคำขอ เขากับเกอเทอจึงกลายเป็นเพื่อนกัน

ปลายปี 1806 ลานรบที่พูลตุสก์ (Pułtusk) ในปรัสเซียตะวันออกและได้รับบาดเจ็บปานกลาง จึงฝากหน่วยของตนให้อยู่ในบัญชาของจอมพลซูว์แช เขาใช้เวลาหลายเดือนกว่าจะหายดี จากนั้น ลานได้บังคับบัญชากองพลน้อยสำรองที่ตั้งขึ้นเป็นกองหนุนในการยึดเมืองดันท์ซิช ในช่วงการล้อมเมือง เขากับจอมพลจอมพลอูดีโนอยู่บนหลังม้า กระสุนปืนใหญ่ข้าศึกยิงโดนม้าของอูดีโน และกระเด็นโดนม้าของลานจนล้มลงทั้งคู่แต่ไม่ได้รับบาดเจ็บ หลังจากดันท์ซิชถูกยึด ลานถือโอกาสบ่นต่อนโปเลียน ซึ่งทรงตอบกลับว่า "ถ้าไม่ชอบใจก็กลับบ้านไป" ลานอึ้งชั่วครู่แต่แล้วก็ตอบกลับว่า "ข้าทำไม่ได้ ท่านต้องการข้าที่นี่"[3]

มิถุนายน 1807 ลานนำกำลังเข้าต่อสู้ในยุทธการที่ไฮลส์แบร์ค (Heilsberg) และจับกุมทหารรัสเซียที่กำลังร่นถอยได้ที่ฟรีดลันท์ (Friedland) เขาใช้กองพลน้อยของตนเองเป็นเหยื่อล่อ ล่อลวงให้แม่ทัพรัสเซียทำการรบ และสามารถตรึงแนวรบไว้ได้จนกระทั่งกองทัพใหญ่ที่เหลือมาเสริมและทำลายกองทัพรัสเซีย

เสียชีวิต[แก้]

ลานบาดเจ็บหนัก และเสียชีวิตภายหลัง

22 พฤษภาคม 1809 ในวันที่สองของยุทธการที่อัสแพร์น-เอ็สลิง ขณะที่ลานกำลังยืนสนทนากับนายพลปีแยร์ ปูเซ ก็มีลูกกระสุนปืนใหญ่พุ่งใส่ร่างของปูเซเสียชีวิตคาที่ ร่างของลานเต็มไปด้วยคราบเลือดของปูเซ ลานเดินไปจุดอื่นเพื่อหาที่สงบสติอารมณ์ ขณะที่ลานกำลังนั่งก้มหน้าโดยเอามือทั้งสองข้างปิดใบหน้าอยู่นั้น ก็มีลูกกระสุนปืนใหญ่พุ่งเข้าบริเวณเข่าขวาของลาน ลานถูกนำตัวส่งหน่วยแพทย์และถูกตัดขาขวา นโปเลียนรีบมาเยี่ยมเขาและคุกเข่าน้ำตาไหลอยู่ข้างเปลสนาม ลานถูกส่งตัวทางเรือไปยังบ้านพักใหญ่นอกกรุงเวียนนา และเสียชีวิตในอีกแปดวันถัดมาในวันที่ 31 พฤษภาคม

ในช่วงที่นโปเลียนถูกกักบริเวณอยู่ที่เกาะเซนต์เฮเลนา นโปเลียนเคยคร่ำครวญคิดว่าเหตุการณ์จะเป็นอย่างไรถ้าลานไม่ตาย ทรงเขียนบันทึกว่า "ข้าไม่นึกไม่ฝันว่าเขาจะออกนอกทางแห่งหน้าที่และเกียรติยศ ถ้าเขายังอยู่ดี เขาคงจะเป็นคนที่สามารถเปลี่ยนทิศทางของเหตุการณ์ทั้งหมดด้วยตัวตนและอิทธิพลของเขา"[4]

ครอบครัว[แก้]

สุสานจอมพลลาน ที่อนุสรณ์สถานป็องเตอง กรุงปารีส

ลานแต่งงานครั้งแรกกับโปเล็ต เมริค ในวันที่ 19 มีนาคม 1795 ต่อมาลานขอหย่า เพราะนางท้องขณะที่ลานยังติดพันการศึกอยู่ในอียิปต์ ลานแต่งงานครั้งสองกับหลุยส์ อองตัวแนต ในวันที่ 16 กันยายน 1800 มีบุตรด้วยกันห้าคน

  • หลุยส์ นโปเลียน ลาน (Louis Napoléon Lannes)
  • อัลเฟรด-ฌ็อง ลาน (Alfred-Jean Lannes)
  • ฌ็อง-เอินสท์ ลาน (Jean-Ernest Lannes)
  • กุสตาฟ-ออลีวีเย ลาน (Gustave-Olivier Lannes)
  • โฌเซฟีน-หลุยส์ ลาน (Josephine-Louise Lannes)

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 "Jean Lannes, duc de Montebello, French general". Encyclopedia Britannica (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2019-10-14.
  2. Dunn-Pattison, p. 117.
  3. Margaret S. Chrisawn. The Emperor's Friend: Marshal Jean Lannes (Contributions in Military Studies)
  4. Chrisawn, Emperor's Friend, 247.