ราชอาณาจักรนาโปลี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก ราชอาณาจักรเนเปิลส์)
ราชอาณาจักรนาโปลี

Regno di Napoli
ค.ศ. 1282–1799
ค.ศ. 1799–1816
ธงชาตินาโปลี
ธง (1442–1516)
ของนาโปลี
ตราแผ่นดิน
The Kingdom of naples with administrative divisions as they were in 1454.png
สถานะราชอาณาจักร
เมืองหลวงนาโปลี[1]
การปกครองสมบูรณาญาสิทธิราชย์แบบศักดินา
สมเด็จพระเจ้า 
ประวัติศาสตร์ 
• ก่อตั้ง
ค.ศ. 1282
• รวมเป็นอาณาจักรเดียวกับซิซิลีที่เรียกว่าราชอาณาจักรซิซิลีทั้งสอง
ค.ศ. 1816
ก่อนหน้า
ถัดไป
ราชอาณาจักรซิซิลี
ราชอาณาจักรซิซิลีทั้งสอง
ราชอาณาจักรนาโปลี (นโปเลียน)

ราชอาณาจักรนาโปลี (อิตาลี: Regno di Napoli; ละติน: Regnum Neapolitanum; นาโปลี: Regno 'e Napule) หรือ ราชอาณาจักรเนเปิลส์ (อังกฤษ: Kingdom of Naples) เป็นอาณาจักรทางตอนใต้ของคาบสมุทรอิตาลี บางครั้งถูกจำสับสนกับ “ราชอาณาจักรซิซิลี” ซึ่งเป็นอาณาจักรที่ก่อตั้งหลังจากการแยกตัวของซิซิลีจากราชอาณาจักรซิซิลีเดิมที่เป็นผลมาจากกบฏซิซิเลียนเวสเปิร์ส (Sicilian Vespers) ของปี ค.ศ. 1282 ระหว่างการเป็นราชอาณาจักร ราชอาณาจักรนาโปลีปกครองสลับกันปกครองโดยกษัตริย์ฝรั่งเศสหรือกษัตริย์สเปน ขึ้นอยู่กว่าผู้ใดจะมีอำนาจมากกว่า


ประวัติศาสตร์[แก้]


ราชวงศ์โฮเอินชเตาเฟิน[แก้]

ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 12 ชาวนอร์มันได้ครอบครองรัฐในอิตาลีตอนใต้และซิซิลีที่ในอดีตเคยเป็นของชาวไบเซนไทน์, ชาวลอมบาร์ด และชาวมุสลิม ปี ค.ศ. 1130 โรเจอร์ที่ 2 ผู้รวบรวมดินแดนทั้งหมดของชาวนอร์มันเข้าด้วยกันตั้งตนเป็นกษัตริย์แห่งซิซิลีและปุลยา การมีตัวตนของรัฐนอร์มันดังกล่าวนี้ในช่วงแรกถูกคัดค้านจากสมเด็จพระสันตะปาปาและจักรพรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ที่อ้างตนเป็นกษัตริย์ปกครองพื้นที่ทางตอนใต้ ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 12 ราชอาณาจักรถูกส่งต่อให้จักรพรรดิในราชวงศ์โฮเอินชเตาเฟิน (ที่โด่งดังที่สุดคือจักรพรรดิฟรีดริชที่ 2 กษัตริย์แห่งซิซิลีตั้งแต่ ค.ศ. 1198 ถึง ค.ศ. 1250) ภายใต้ผู้ปกครองกลุ่มแรกนี้ราชอาณาจักรเจริญรุ่งเรืองถึงขีดสุด ในทางการเมืองราชอาณาจักรเป็นรัฐที่รวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางมากที่สุดในยุโรป ในทางเศรษฐกิจราชอาณาจักรเป็นศูนย์กลางสำคัญทางการค้าและผู้ผลิตธัญพืช และในทางวัฒนธรรมราชอาณาจักรซึบซับเอาศาสตร์ของชาวกรีกและชาวอาหรับเข้ามาในยุโรปตะวันตก

ราชวงศ์อ็องฌู[แก้]

ธงอ็องฌูของนาโปลี ค.ศ. 1282–1442

หลังสิ้นเชื้อสายตามกฎหมายของราชวงศ์โฮเอินชเตาเฟิน ชาร์ลส์แห่งอ็องฌู พระอนุชาของพระเจ้าหลุยส์ที่ 9 แห่งฝรั่งเศสได้รับสิทธิ์ในการควบคุมราชอาณาจักรในปี ค.ศ. 1266 ตามคำเชื้อเชิญของสมเด็จพระสันตะปาปาที่กลัวว่าพื้นที่ทางใต้จะตกเป็นของกษัตริย์ที่เป็นปรปักษ์กับพระองค์ ชาร์ลส์ได้ย้ายเมืองหลวงจากปาแลร์โมบนเกาะซิซิลีมาอยู่ที่นาโปลีซึ่งตั้งอยู่บนแผ่นดินใหญ่ เป็นการแสดงให้เห็นถึงแนวคิดทางการเมืองของพระองค์ที่เอนเอียงไปทางอิตาลีตอนเหนือที่ทรงเป็นผู้นำของฝ่ายเกลฟ์ (ผู้นิยมสมเด็จพระสันตะปาปา) แต่การปกครองที่รุนแรงและการเรียกเก็บภาษีอย่างขูดเลือดขูดเนื้อก่อให้เกิดการปฏิวัติที่มีชื่อว่า "เวสปรี ซีซีลีอานี" ในปี ค.ศ. 1282 ส่งผลให้เกาะซิซิลีแยกตัวออกจากแผ่นดินใหญ่ไปอยู่ในการครอบครองของราชตระกูลอารากอนของชาวสเปน เหตุการณ์นี้ส่งผลอย่างมากต่อทั้งนาโปลีและซิซิลี ความขัดแย้งระหว่างชาวอ็องฌูกับชาวอารากอนดำเนินต่อไปเป็นเวลากว่าหนึ่งศตวรรษ ซึ่งผู้ชนะตัวจริงคือกลุ่มบารอนที่แผ่ขยายอำนาจที่ได้มาจากกษัตริย์ ภาวะอนาธิปไตยที่เกิดขึ้นทำให้ระบอบศักดินาของราชอาณาจักรทั้งสองแข็งแกร่งขึ้น

ราชวงศ์อารากอน[แก้]

ธงหลังพระเจ้าอัลฟอนโซที่ 1 (พระเจ้าอัลฟอนโซที่ 5 แห่งอารากอน) แห่งราชวงศ์ตรัสตามาราขึ้นเป็นกษัตริย์ ค.ศ. 1442–1516

นาโปลีเจริญรุ่งเรืองในช่วงสั้น ๆ ในรัชสมัยของพระเจ้ารอแบต์แห่งนาโปลี (ค.ศ. 1309–43) แต่ตั้งแต่กลางคริสต์ศตวรรษที่ 14 ไปจนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 15 ประวัติศาสตร์ของราชอาณาจักรมีเพียงเรื่องราวความขัดแย้งภายในราชวงศ์อ็องฌู สุดท้ายในปี ค.ศ. 1422 ราชอาณาจักรนาโปลีก็ตกเป็นของพระเจ้าอัลฟอนโซที่ 5 แห่งอารากอน ผู้ปกครองซิซิลีที่ในปี ค.ศ. 1443 ได้ตั้งตนเป็น "กษัตริย์แห่งนาโปลีและซิซิลี"

ราชวงศ์ฮาพส์บวร์คและราชวงศ์บูร์บงของสเปน[แก้]

ใช้ธงของจักรวรรดิสเปนหลังพระเจ้าการ์โลสที่ 5 แห่งราชวงศ์ฮาพส์บวร์คขึ้นเป็นกษัตริย์ในปี ค.ศ. 1516

ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 15 ราชอาณาจักรนาโปลียังคงพัวพันอยู่ในความขัดแย้งระหว่างกลุ่มอำนาจจากต่างแดนที่เข้ามาครอบงำอิตาลี ในปี ค.ศ. 1495 พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 8 แห่งฝรั่งเศสอ้างตนเป็นผู้ปกครองราชอาณาจักรในช่วงสั้น ๆ หลังตกเป็นของชาวสเปนในปี ค.ศ. 1504 นาโปลีและซิซิลีอยู่ภายใต้การปกครองของอุปราชเป็นเวลาสองศตวรรษ ภายใต้การปกครองของสเปนประเทศถูกมองเป็นเพียงแหล่งรายได้และประสบกับความเสื่อมถอยทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง การเรียกเก็บภาษีที่ขูดเลือดขูดเนื้อก่อให้เกิดการก่อกบฏของชนชั้นกลางและชนชั้นล่างในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1647 (การปฏิวัติของมาซานีเอโล) แต่ชาวสเปนกับกลุ่มบารอนร่วมมือกันปราบจราจลได้ในปี ค.ศ. 1648

เปลี่ยนธงหลังจักรพรรดิคาร์ลที่ 6 ขึ้นเป็นกษัตริย์ ค.ศ. 1714–1738

สงครามสืบราชบัลลังก์สเปนในปี ค.ศ. 1701–14 ส่ผลให้ราชอาณาจักรนาโปลีตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของราชวงศ์ฮาพส์บวร์คของออสเตรีย (ซิซิลีตกอยู่ภายในการปกครองของปีเยมอนเตในช่วงสั้น ๆ) ปี ค.ศ. 1734 ดอนการ์โลส เด บูร์บง เจ้าชายสเปนที่ต่อมากลายเป็นพระเจ้าการ์โลสที่ 3 ได้พิชิตนาโปลีและซิซิลีที่ขณะนั้นอยู่ภายใต้การบริหารราชการของราชวงศ์บูร์บงของสเปนในฐานะราชอาณาจักรแยก ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 18 กษัตริย์ราชวงศ์บูร์บงที่ปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์อันทรงภูมิธรรมได้สนับสนุนการปฏิรูปเพื่อเปลี่ยนจากความอยุติธรรมในทางสังคมและการเมืองมาเป็นรัฐสมัยใหม่

ราชอาณาจักรของนโปเลียน[แก้]

ค.ศ. 1738–1806 และ ค.ศ. 1815–1816 เปลี่ยนธงหลังพระเจ้าการ์โลสที่ 3 กลายเป็นกษัตริย์แห่งนาโปลี ธงถูกนำกลับมาใช้เป็นธงชาตินาโปลีอีกครั้งหลังสงครามนโปเลียน

พระเจ้าเฟร์นันโดที่ 4 แห่งราชวงศ์บูร์บงหยุดโครงการปฏิรูปชั่วคราวโดยมีการปฏิวัติฝรั่งเศสเป็นตัวอย่างให้เห็นว่าจะเกิดอะไรขึ้นหากปล่อยให้แนวคิดเรื่องสาธารณรัฐและระบอบประชาธิปไตยดำเนินต่อไป แนวคิดดังกล่าวเป็นที่เรียกร้องของกลุ่มเสรีชน อันได้แก่ กลุ่มปัญญาชนชั้นกลาง, กลุ่มขุนนาง และกลุ่มนักบวช ที่มองว่าการปฏิรูปของราชวงศ์บูร์บงเป็นการทำเพื่อเพิ่มอำนาจให้กษัตริย์มากกว่าเพื่อผลประโยชน์ของชาติ กลุ่มผู้รักชาติเริ่มวางแผนการสมคบคิดและถูกตอบโต้ด้วยความรุนแรง กองทัพของพระเจ้าเฟร์นันโดร่วมมือกับกองทัพพันธมิตรต่อต้านสาธารณรัฐฝรั่งเศสในสงครามสัมพันธมิตรครั้งที่สองซึ่งผลลัพธ์ที่ได้คือความหายนะ นาโปลีถูกชาวฝรั่งเศสแย่งชิงไป พระเจ้าเฟร์นันโดหนีไปซิซิลี วันที่ 24 มกราคม ค.ศ. 1799 มีการประกาศตั้งสาธารณรัฐปาเตโนเปอาแต่ถูกทอดทิ้งไม่ได้รับการคุ้มครอง นครนาโปลีที่ถูกชาวฝรั่งเศสทอดทิ้งถูกกองกำลังของพระเจ้าเฟร์นันโดตีแตกในวันที่ 13 มิถุนายน ค.ศ. 1799 กลุ่มคนรักชาติที่ต้านทานด้วยความสิ้นหวังได้รับการสัญญาว่าจะให้อิสรภาพในการตัดสินใจว่าจะอยู่ต่อหรือจะออกจากประเทศจึงยอมแพ้ แต่ในวันที่ 24 มิถุนายน กองเรือของโฮราชิโอ เนลสันมาถึง เนลสันที่ทำข้อตกลงกับกลุ่มอำนาจในซิซิลีได้ยกเลิกเงื่อนไขในข้อตกลงยอมแพ้ ชาวสาธารณรัฐหลายคนถูกจับตัวและถูกประหารชีวิต พระเจ้าเฟร์นันโดเสด็จกลับนาโปลี แต่การสมคบคิดวางแผนกับชาวออสเตรียและชาวบริเตนของพระองค์ทำให้นโปเลียนเดือดดาล

ค.ศ. 1806–1808 เปลี่ยนธงชาตินาโปลีใหม่หลังโฌแซ็ฟ โบนาปาร์ต ขึ้นเป็นกษัตริย์
ค.ศ. 1808–1811 ธงชาตินาโปลีเปลี่ยนหลังฌออากีม มูว์ราขึ้นเป็นกษัตริย์

หลังปราบชาวออสเตรียได้ที่เอาสเทอร์ลิทซ์ นโปเลียนส่งโฌแซ็ฟ น้องชายของตนไปพิชิตราชอาณาจักรของพระเจ้าเฟร์นันโดซึ่งตอนแรกนโปเลียนได้ผนวกเข้ากับราชอาณาจักรฝรั่งเศส แต่ต่อมาในวันที่ 30 มีนาคม ค.ศ. 1806 ได้ประกาศให้เป็นเอกราชโดยมีโฌแซ็ฟเป็นกษัตริย์ เมื่อโฌแซ็ฟถูกย้ายไปสเปนในปี ค.ศ. 1808 นโปเลียนยกนาโปลีให้ฌออากีม มูว์รา ซึ่งเป็นน้องเขย ภายใต้การปกครองของชาวฝรั่งเศสนาโปลีถูกทำให้เป็นสมัยใหม่มากขึ้นด้วยการล้มเลิกระบอบศักดินาและนำกฏข้อบัญญัติต่าง ๆ มาใช้ มูว์ราเป็นกษัตริย์ที่ได้รับความนิยมพอสมควร พระเจ้าเฟร์นันโดที่ 4 (ต่อมาคือพระเจ้าเฟร์นันโดที่ 1 แห่งซิซิลีทั้งสอง) ถูกบีบให้หนีไปซิซิลีสองครั้ง ที่นั่นทรงได้รับการช่วยเหลือจากชาวบริเตน

ค.ศ. 1811–1815 ธงชาตินาโปลีเปลี่ยน

การฟื้นฟูราชอาณาจักรที่ในตอนนี้ถูกเรียกว่าราชอาณาจักรซิซิลีทั้งสองทำให้สุดท้ายถูกจัดให้เป็นรัฐอนุรักษ์นิยมของยุโรป แม้มีหลายคนในราชอาณาจักรที่รับเอาแนวคิดแบบเสรีชนมา แต่กษัตริย์ยืนยันหลายครั้งว่าราชอาณาจักรปกครองด้วยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ทำให้เกิดการบดขยี้กันทางการเมืองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การปฏิวัติครั้งรุนแรงเกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1820 เมื่อพระเจ้าเฟร์นันโดที่ 1 ถูกบีบให้มอบรัฐธรรมนูญและเกิดขึ้นอีกครั้งในปี ค.ศ. 1848 ในรัชสมัยของพระเจ้าฟรานเชสโกที่ 2 เมื่อซิซิลีพยายามจะประกาศอิสรภาพ การเมืองและเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ของราชอาณาจักรนำไปถูกการแตกพ่ายอย่างง่ายดายเมื่อต้องรับมือกับการรุกรานของจูเซปเป การีบัลดีในปี ค.ศ. 1860 ในการลงประชามติในปีเดียวกันนั้นทั้งนาโปลีกับซิซิลีลงคะแนนเสียงขอรวมตัวกับอิตาลีเหนืออย่างท่วมท้น

การสืบบัลลังก์[แก้]


ราชวงศ์อ็องฌู[แก้]

  • ชาร์ลส์ที่ 1 แห่งอ็องฌู หรือ พระเจ้าคาร์โลที่ 1 แห่งนาโปลี ปฐมกษัตริย์แห่งนาโปลีซึ่งเป็นพระโอรสคนเล็กของพระเจ้าหลุยส์ที่ 8 แห่งฝรั่งเศสกับพระราชินีบลังกาแห่งกัสติยา ทรงอภิเษกสมรสสองครั้ง ครั้งแรกกับเบียทริซแห่งพรอว็องส์ ซึ่งนับว่าเป็นพระราชินีคู่สมรสคนแรกของนาโปลี หลังพระนางสิ้นพระชนม์ พระเจ้าชาร์ลส์อภิเษกสมรสใหม่กับมาร์เกอรีตแห่งบูร์กอญ
  • พระเจ้าคาร์โลที่ 2 แห่งนาโปลี สืบทอดตำแหน่งต่อจากพระราชบิดา กษัตริย์คนก่อนได้จับพระโอรสธิดาสองคนสมรสเพื่อเชื่อมสัมพันธไมตรี โดยพระเจ้าคาร์โลที่ 2 ถูกจับให้สมรสกับมาเรียแห่งฮังการี ขณะที่พระขนิษฐาของพระองค์อภิเษกสมรสกับพระเจ้าลาสโลที่ 4 แห่งฮังการี
  • พระเจ้าโรแบร์โตแห่งนาโปลี สืบทอดตำแหน่งต่อจากพระราชบิดา เนื่องจากพระโอรสคนโตของของกษัตริย์คนก่อนสิ้นพระชนม์ก่อนพระราชบิดา พระโอรสคนที่สองบวชเป็นบิชอป ส่วนคาร์โล พระราชนัดดาเป็นเพียงเด็กน้อย พระเจ้าโรแบร์โตซึ่งเป็นพระโอรสคนที่สามจึงได้ขึ้นครองราชย์ พระพระองค์สมรสสองครั้ง ครั้งแรกกับโยลันดาแห่งอารากอนซึ่งสิ้นพระชนม์ในปี ค.ศ. 1302 ทรงจึงสมรสใหม่กับซันชาแห่งมายอร์กา
  • สมเด็จพระราชินีนาถโจวานนาที่ 1 แห่งนาโปลี สืบทอดตำแหน่งต่อจากพระอัยกา เนื่องจากกษัตริย์คนก่อนมีพระโอรสเพียงคนเดียวซึ่งสิ้นพระชนม์ก่อนพระราชบิดา ธิดาคนโตของพระโอรสผู้ล่วงลับจึงได้ขึ้นครองราชย์ต่อจากพระอัยกา ซึ่งในตอนนั้นพระนางเป็นเด็กกำพร้าเนื่องจากทั้งพระบิดามารดาต่างสิ้นพระชนม์ไปแล้ว เพื่อให้สายเลือดของพระภาติยะของพระเจ้าโรแบร์โตได้กลับคืนสู่บัลลังก์ พระราชินีโจวานนาถูกจับสมรสกับแอนดรูว์แห่งฮังการีที่แม้จะได้รับยศเป็นกษัตริย์ แต่มีบทบาทน้อยมากในการบริหารปกครองและถูกฆาตกรรมในเวลาต่อมา พระราชินีนาถโจวานนาได้ให้กำเนิดพระราชโอรสที่ประสูติหลังการสิ้นพระชนม์ของพระบิดา แต่เด็กน้อยมีชีวิตอยู่ได้เพียงสองปี ต่อมาพระนางได้อภิเษกสมรสใหม่กับลุยจิ เจ้าชายแห่งตารันโต แต่การสมรสไม่เป็นที่นิยมอย่างมาก พระเชษฐาของแอนดรูว์ อดีตพระสวามี ซึ่งเป็นกษัตริย์แห่งฮังการีได้บุกนาโปลี พระราชินีนาถโจวานนาจึงต้องหนีไปจากราชอาณาจักร พระนางได้ให้กำเนิดพระธิดานามว่าแคทเธอรีน ทั้งคู่ได้กลับมานาโปลีอีกครั้งหลังกษัตริย์แห่งฮังการีทิ้งนาโปลีซึ่งกำลังเกิดโรคระบาดไป พระนางได้ให้กำเนิดพระธิดาอีกคนนามว่าฟร็องซัวส์ แต่พระธิดาทั้งสองสิ้นพระชนม์เร็ว จากนั้นพระราชินีนาถโจวานนาก็ไม่ได้ตั้งครรภ์อีกแม้จะทรงอภิเษกสมรสใหม่อีกสองครั้ง พระนางถูกฆาตกรรมอย่างทารุณที่ปราสาทมูโรในปี ค.ศ. 1382
  • พระเจ้าคาร์โลที่ 3 แห่งนาโปลี บุตรคนเดียวของลุยจิแห่งดูรัซโซ บุตรชายคนเล็กของจอห์น ดยุคแห่งดูรัซโซ พระโอรสคนเล็กของพระเจ้าคาร์โลที่ 2 แห่งนาโปลีกับมาเรียแห่งฮังการี พระเจ้าคาร์โลที่ 3 สมรสกับมาร์เกริตาแห่งดูรัซโซ บุตรสาวของมาเรีย พระขนิษฐาของพระราชินีนาถโจวานนาที่ 1 ลูกพี่ลูกน้องลำดับที่หนึ่งของตนเอง พระองค์ยังครองตำแหน่งเป็นกษัตริย์แห่งฮังการีในช่วงสั้น ๆ กระทั่งถูกลอบสังหารตามคำสั่งของเอลิซาเบธแห่งบอสเนีย พระราชินีม่ายของพระเจ้าลาโยสที่ 1 แห่งฮังการีที่คิดว่ามาเรีย พระธิดาของพระนางสมควรได้เป็นครองราชย์
  • พระเจ้าลาดิสเลา (ลาสซโล) แห่งนาโปลี สืบทอดตำแหน่งในนาโปลีต่อจากพระราชบิดา พระองค์สามครั้ง ครั้งแรกกับคอนสตันซา เคียรามอนเตซึ่งหย่ากันโดยไม่มีพระโอรสธิดา ทรงสมรสใหม่กับมารีแห่งลุยซินญ็องซึ่งสิ้นพระชนม์หลังสมรสได้เพียงหนึ่งปี พระเจ้าลาดิสเลาสมรสใหม่อีกครั้งกับมารีแห่งอ็องกิย็อง แต่ก็ไม่มีพระโอรสธิดาด้วยกัน
  • สมเด็จพระราชินีนาถโจวานนาที่ 2 แห่งนาโปลี พระเชษฐภคินีของกษัตริย์คนก่อน มีพระชนมายุ 41 พรรษาขณะขึ้นครองราชย์และเคยสมรสกับวิลเฮล์ม ดยุคแห่งออสเตรียซึ่งถึงแก่กรรมไปแล้ว พระนางอภิเษกสมรสกับฌาคส์ที่ 2 เคานต์แห่งลามาร์ช แต่ไม่มีพระโอรสธิดาด้วยกัน เนื่องจากไม่มีทายาทสายตรง พระนางได้ประกาศชื่อเรอเนแห่งอ็องฌูเป็นทายาทของตน
  • พระเจ้าเรนาโต (เรอเน) ที่ 1 แห่งนาโปลี สมรสสองครั้ง ครั้งแรกกับอีซาแบล ดัชเชสแห่งโลร์แรนซึ่งสิ้นพระชนม์ในเวลาต่อมา พระองค์สมรสใหม่กับฌาน เดอ ลาวาล มาร์เกอรีต พระธิดาซึ่งเกิดจากพระมเหสีคนแรกค์ต่อมาได้สมรสกับพระเจ้าเฮนรีที่ 6 แห่งอังกฤษ พระเจ้าเรนาโตถูกขับไล่ออกจากนาโปลีโดยพระเจ้าอัลฟอนโซที่ 5 แห่งอารากอน

ราชวงศ์อารากอน[แก้]

ราชวงศ์ฮาพส์บวร์คและราชวงศ์บูร์บงของสเปน[แก้]

ราชวงศ์ฮาพส์บวร์คปกครองนาโปลีไปจนถึงปี ค.ศ. 1734 เมื่อทั้งนาโปลีและซิซิลีต่างถูกกองทัพสเปนเข้ายึดครอง การ์โลส ดยุคแห่งปาร์มา พระราชโอรสคนเล็กของพระเจ้าเฟลีเปที่ 5 แห่งสเปนได้รับแต่งตั้งเป็นกษัตริย์แห่งนาโปลีและซิซิลีในปี ค.ศ. 1735 ทรงสมรสกับมาเรีย อามาเลียแห่งซัคเซิน การ์โลสไม่ถูกนับเป็นกษัตริย์ผู้ปกครอง แต่พระองค์กลับถูกเรียกว่าการ์โลสแห่งบูร์บง ต่อมาทรงขึ้นเป็นกษัตริย์แห่งสเปน

อ้างอิง[แก้]

  1. Catholic Encyclopedia: Naples [1]

แหล่งที่มา[แก้]

  • Colletta, Pietro (13 October 2009), The History of the Kingdom of Naples: From the Accession of Charles of Bourbon to the Death of Ferdinand I, I. B. Tauris, ISBN 978-1-84511-881-5, สืบค้นเมื่อ 20 February 2011
  • Musto, Ronald G. (2013). Medieval Naples: A Documentary History 400–1400. New York: Italica Press. ISBN 9781599102474. OCLC 810773043.
  • Porter, Jeanne Chenault (2000). Baroque Naples: A Documentary History 1600–1800. New York: Italica Press. ISBN 9780934977524. OCLC 43167960.
  • Santore, John (2001). Modern Naples: A Documentary History 1799–1999. New York: Italica Press. pp. 1–186. ISBN 9780934977531. OCLC 45087196.