บก-ลฮง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
บก-ลฮง
ชื่ออื่นส้มตำเขมร
มื้ออาหารจานเดียว
แหล่งกำเนิดประเทศกัมพูชา
ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ส่วนผสมหลักมะละกอ, ปรอฮก, กะปิ

บก-ลฮง (เขมร: បុកល្ហុង, บุกลฺหุง; แปลว่า ตำมะละกอ) ภาษาเขมรถิ่นไทยเรียก โบะลฮ็อง หรือ เบาะลฮ็อง บ้างเรียก ส้มตำเขมร เป็นอาหารเป็นยำหรือสลัดรูปแบบหนึ่งของประเทศกัมพูชา มีลักษณะคล้ายกับส้มตำของประเทศไทย และตำหมากหุ่งของประเทศลาว แต่บก-ลฮงมีรสชาติอ่อนเผ็ด ออกรสหวานกว่าส้มตำ แต่หวานน้อยกว่าส้มตำแบบเวียดนาม[1][2] ชาวเขมรโดยมากใช้ตะเกียบในการรับประทานบก-ลฮง[1]

ดินแดนกัมพูชาเป็นชาติที่ได้รับมะละกอ หรือ ลฮง จากชาวสเปนบนหมู่เกาะฟิลิปปินส์ ก่อนเข้าสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 21 ผ่านอาณาจักรล้านช้างจัมปาศักดิ์ซึ่งมีความเกี่ยวดองกับราชวงศ์เขมรผ่านการเสกสมรส และเป็นที่มาของคำว่า บักหุ่ง หรือ หมากหุ่ง ในภาษาลาวและภาษาอีสาน[3] แต่กระนั้น บก-ลฮง กลับเป็นอาหารเขมรได้รับอิทธิพลมาจากส้มตำของประเทศไทย[1][4] บ้างก็ว่าได้รับอิทธิพลจากตำหมากหุ่งของประเทศลาว[5]

ส่วนประกอบของบก-ลฮง ประกอบด้วย มะละกอดิบสับ กระเทียม พริกขี้หนู กุ้งแห้ง ปูเค็ม ถั่วเขียว มะเขือเทศ โขลกลงในครกด้วยไม้ตีพริก แล้วใส่ด้วยใบโหระพา ผักชีใบยาว ใบมะกรูด ปรุงรสด้วยน้ำมะนาว น้ำปลา โรยหน้าด้วยถั่วลิสง[6] ใส่ปลากรอบเพื่อเพิ่มความหอม[7] บ้างนิยมใส่ใบแมงลักแทนโหระพา[5] บางสูตรอาจใส่กะปิต่างน้ำปลา[4][7] หรือนำเข้าปลาร้าแบบไทยไปใช้[1] ปัจจุบันบก-ลฮง ได้รับอิทธิพลด้านรสชาติจากส้มตำในประเทศไทยมากขึ้น โดยเฉพาะการใช้พริกที่มากขึ้น ซึ่งต่างออกไปจากขนบการทำอาหารเขมรดั้งเดิม[4] มีชาวเขมรเปิดร้านบก-ลฮง และยำแบบไทย ซึ่งมีรสชาติจัดจ้านและเป็นที่นิยมกว่าแบบเขมรแต่เดิม[1][7] ส่วนชาวไทยเชื้อสายเขมร ในแถบอีสานใต้ จะเรียกว่า โบ๊ะลฮอง ซึ่งมีรสชาติเผ็ดจัดจ้าน[8]

ในประเทศไทย มีส้มตำเขมรอยู่ในสำรับอาหารของสกุลอภัยวงศ์ ซึ่งเป็นผู้สืบสันดานของขุนนางเขมรในเมืองพระตะบอง เรียกว่า ส้มตำมะระขี้นก ใส่ปลากรอบ มะระขี้นกฝานบาง มะเขือขื่น มะสัง ใบกะออม[9] โดยจะใส่ปลาร้าเขมรที่ย่างไฟอ่อน ๆ จนหอม และต้องตำมะระขี้นกให้นุ่ม เพื่อทำให้ความขมของมะระลดลง[10] รวมทั้งใส่มะสังเพื่อให้รสเปรี้ยวแทนมะนาว[11]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 "ส้มตำไทยบุกกัมพูชา รสชาติถึงใจกว่าสูตรเขมร". โพสต์ทูเดย์. 7 กรกฎาคม 2562. สืบค้นเมื่อ 19 มิถุนายน 2566. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  2. Dunston, Lara. "Green Papaya Salad Recipe – How to Make Cambodian Bok Lahong". Grantourismo Travels. สืบค้นเมื่อ 7 January 2021.
  3. ""ตำบักฮุ่ง" ในมุมภาษา วัฒนธรรมการกิน และความเป็นชายขอบ". The Isan Record. 15 มิถุนายน 2563. สืบค้นเมื่อ 19 มิถุนายน 2566. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  4. 4.0 4.1 4.2 ชัยวัฒน์ เสาทอง (26 พฤษภาคม 2562). "มจู, ม็วน ด๊ด, ก็องแก๊บ บ๊ก ฯลฯ เมนูอร่อยในสำรับกับข้าวเขมร". ศิลปวัฒนธรรม. สืบค้นเมื่อ 22 ธันวาคม 2565. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  5. 5.0 5.1 องค์ บรรจุน, ดร. (สิงหาคม 2564). "ข้างสำรับกัมพูชา : คำพื้นบ้านเขมรยังเป็นราชาศัพท์ไทย ประสาอะไรกับอาหาร". ศิลปวัฒนธรรม 42:(10), หน้า 43
  6. Rivière, Joannès (2008). Cambodian Cooking: A humanitarian project in collaboration with Act for Cambodia. Periplus Editions. p. 29. ISBN 978-0-794-65039-1.
  7. 7.0 7.1 7.2 ""โตง เฮง" แรงงานที่ลับฝีมือตำส้มตำในไทย 4 ปี ก่อนกลับมาเปิดร้านส้มตำที่พนมเปญจนขายดี". The People. 25 กุมภาพันธ์ 2562. สืบค้นเมื่อ 19 มิถุนายน 2566. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  8. "ประเพณี-ศิลปวัฒนธรรม และโบราณสถานจังหวัดสุรินทร์ ตอนที่ 2". ทรูปลูกปัญญา. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-06-19. สืบค้นเมื่อ 19 มิถุนายน 2566. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  9. แม่ช้อยนางรำ (21 ธันวาคม 2552). "ร้าน "ป้าแมว" อาหารไทย "พระยาอภัยภูเบศร"". ผู้จัดการออนไลน์. สืบค้นเมื่อ 22 ธันวาคม 2565. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  10. "อาหารตำรับเจ้าพระยาอภัยภูเบศร". เส้นทางเศรษฐี. 26 สิงหาคม 2560. สืบค้นเมื่อ 19 มิถุนายน 2566. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  11. "เปิดตำรับอาหารเป็นยา "เจ้าพระยาอภัยภูเบศร"". ผู้จัดการออนไลน์. 3 ธันวาคม 2552. สืบค้นเมื่อ 19 มิถุนายน 2566. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)