กุยเตียว

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
กุยเตียว
ชื่ออื่นกเตียว
หูเตี๊ยวนามวาง
มื้ออาหารจานเดียว
แหล่งกำเนิดประเทศกัมพูชา
ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ส่วนผสมหลักเส้นก๋วยเตี๋ยว, น้ำซุป

กุยเตียว (เขมร: គុយទាវ, คุยทาว) หรือประเทศเวียดนามเรียก หูเตี๊ยวนามวาง (เวียดนาม: Hủ tiếu Nam Vang; แปลว่า ก๋วยเตี๋ยวพนมเปญ)[1] คือก๋วยเตี๋ยวน้ำชนิดหนึ่งของประเทศกัมพูชา ซึ่งได้รับอิทธิพลจากอาหารจีน[2] ประกอบด้วยเส้นก๋วยเตี๋ยว น้ำซุปกระดูกหมูมีลักษณะคล้ายก๋วยเตี๋ยวน้ำใสของประเทศไทย และมีเครื่องโรยหน้าใกล้เคียงกัน ถือเป็นอาหารยอดนิยม สามารถพบได้ทั่วไปตามตลาด ร้านค้าริมถนน และตามห้องแถวทั่วประเทศ ถือเป็นอาหารที่ชาวเขมรนิยมรับประทานในยามเช้า[3] หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช อดีตนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย ได้กล่าวถึงความนิยมของกุยเตียวในหนังสือ ถกเขมร ไว้ว่า "...ที่เมืองเขมรนั้นเขากินก๋วยเตี๋ยวกันเป็นกอบเป็นกำเป็นล่ำเป็นสันจริง ๆ อาหารเช้าของชาวเขมรทั้งประเทศ ก็คือก๋วยเตี๋ยว ขาดเสียมิได้เป็นอันขาด [...] ก๋วยเตี๋ยวนั้นได้กลายเป็นอาหารประจำชาติของเขมรไปแล้วแน่แท้..."[4] แต่อย่างไรก็ตามในเว็บไซต์ ศูนย์อาชีพและธุรกิจมติชน (มมป.) ให้ข้อมูลว่า ชาวกัมพูชารับประทานอาหารประเภทเส้นหรือกุยเตียวน้อยที่สุดเมื่อเทียบกับชาติอื่น ๆ[5]

พจนานุกรมเขมร ฉบับชวน ณาต ระบุว่า กุยเตียว เป็นคำยืมจากภาษาแต้จิ๋วว่า ก๋วยเตี๊ยว (粿條)[6] มีความหมายว่า เส้นก๋วยเตี๋ยวที่ทำจากแป้งข้าวเจ้า หรือแปลว่า ก๋วยเตี๋ยวน้ำที่ประกอบไปด้วยเนื้อสัตว์สับ เครื่องโรยหน้า และเครื่องปรุงรสอื่น ๆ[6]

กุยเตียวมีลักษณะคล้ายกับก๋วยเตี๋ยวน้ำใสของไทย ประกอบด้วยน้ำซุปกระดูกหมู ส่วนเครื่องโรยหน้าได้แก่ เนื้อวัว ลูกชิ้น หมูยอ หรืออาหารทะเล อย่างกุ้ง และปลาหมึก ปรุงรสด้วยพริกไทยดำ ซอสกระเทียมรสเผ็ดหวาน และมะนาวสดฝาน[3][7] กินแนมกับผักกาดหอม ถั่วงอก ต้นหอม[2] บนโต๊ะอาหารจะมีผงชูรส และพริกดองน้ำส้มสายชูทั้งเม็ด ตั้งไว้แก่ลูกค้าที่อยากปรุงรส[3] หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช กล่าวถึงรสชาติและเครื่องเคราของกุยเตียวในยุคก่อนไว้ว่า "...ว่ากันว่าโดยทั่วไปเขาใส่เครื่องน้อยกว่าเรามาก และรสนั้นก็มีแต่เค็ม เติมเผ็ดเอาตามใจชอบ ไม่มีเปรี้ยวมีหวาน และไม่ใส่ถั่วงอก ถั่วลิสง ใบหอม ฯลฯ อย่างของไทย..."[4] ส่วนบรรจบ พันธุเมธา ก็ได้อธิบายถึงก๋วยเตี๋ยวพนมเปญไว้ว่า "...เส้นก๋วยเตี๋ยวที่โดยมากใช้เส้นเล็กนั้น มีลักษณะคล้ายเส้นก๋วยเตี๋ยวจันทบุรี คือเส้นนิ่มแต่ไม่เปื่อย ก๋วยเตี๋ยวในพนมเป็ญเท่าที่ข้าพเจ้าเคยได้ลองมาออกจะมีรสชวนอร่อยอยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว ส่วนเนื้อสัตว์ที่ใส่ประกอบนั้น บางวันเป็นกุ้ง บางวันเป็นปลาหมึก บางวันเป็นเครื่องในหมู ที่ข้าพเจ้ารู้ได้ดังนี้ก็เพราะกินแทบทุกวัน แต่ต้องไม่เกิน ๑๐.๓๐ น. จึงจะได้กิน ทั้งนี้เพราะเข้าขายกันเป็นอาหารเช้าดังกล่าวแล้ว คนจีนที่นี่คงไม่สันทัดในการทำหมี่ เพราะฉะนั้นเส้นบะหมี่จึงมีรสชาติแปลก รูปร่างก็ประหลาด..."[8]

อ้างอิง[แก้]

  1. Pham, Khoi (24 July 2016). "From Kuy Teav to Hủ Tiếu: A Street Food History". Saigoneer. สืบค้นเมื่อ 15 January 2021.
  2. 2.0 2.1 องค์ บรรจุน, ดร. (สิงหาคม 2564). "ข้างสำรับกัมพูชา : คำพื้นบ้านเขมรยังเป็นราชาศัพท์ไทย ประสาอะไรกับอาหาร". ศิลปวัฒนธรรม 42:(10), หน้า 44
  3. 3.0 3.1 3.2 ชัยวัฒน์ เสาทอง (26 พฤษภาคม 2562). "มจู, ม็วน ด๊ด, ก็องแก๊บ บ๊ก ฯลฯ เมนูอร่อยในสำรับกับข้าวเขมร". ศิลปวัฒนธรรม. สืบค้นเมื่อ 22 ธันวาคม 2565. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  4. 4.0 4.1 คึกฤทธิ์ ปราโมช, หม่อมราชวงศ์. ถกเขมร. นนทบุรี : ดอกหญ้า. 2556, หน้า 104-105
  5. "หลากเส้น-หลายชาติ ความอร่อยที่แตกต่าง". ศูนย์อาชีพและธุรกิจมติชน. สืบค้นเมื่อ 13 มิถุนายน 2566. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  6. 6.0 6.1 Nath, Chuon. Khmer-Khmer Dictionary. Buddhist Institute of Cambodia, 1967
  7. Muzika (31 มกราคม 2566). "กินอะไรดีที่กัมพูชา เที่ยวเขมรต้องกิน 10 อาหารถิ่นกัมพูชา เมนูน่าลอง". True ID. สืบค้นเมื่อ 13 มิถุนายน 2566. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  8. บรรจบ พันธุเมธา, ศาสตราจารย์ ดร. คุณ. ไมตรีทางภาษาเขมร-ไทย (PDF). p. 26.