ข้ามไปเนื้อหา

พระบรมราชวังจตุมุขสิริมงคล

พิกัด: 11°33′49″N 104°55′52″E / 11.56368°N 104.93112°E / 11.56368; 104.93112
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระบรมราชวังจตุมุขสิริมงคล
พระที่นั่งในพระบรมราชวัง
แผนที่
ข้อมูลทั่วไป
ประเภทพระราชวัง
เมืองพนมเปญ
ประเทศ ประเทศกัมพูชา
เริ่มสร้างค.ศ. 1866
การออกแบบและการก่อสร้าง
สถาปนิกนักออกญาเทพนิมิต (มัก)
(Neak Okhna Tep Nimith Mak)
พระบรมราชวังจตุมุขสิริมงคลตั้งอยู่ในประเทศกัมพูชา
พระบรมราชวังจตุมุขสิริมงคล
พระบรมราชวังจตุมุขสิริมงคล
ตำแหน่งของพระบรมราชวังจตุมุขสิริมงคล

พระบรมราชวังในราชอาณาจักรกัมพูชา (เขมร: ព្រះបរមរាជវាំងនៃព្រះរាជាណាចក្រកម្ពុជា พฺระบรมราชวำงไนพฺระราชาณาจกฺรกมฺพุชา) หรือ พระบรมราชวังจตุมุขสิริมงคล (เขมร: ព្រះបរមរាជវាំងចតុមុខសិរីមង្គល พฺระบรมราชวำงจตุมุขสิรีมงฺคล) เป็นพระราชวังที่ตั้งอยู่ในกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา เป็นกลุ่มอาคารพระราชมนเทียรของพระมหากษัตริย์กัมพูชา พระเจ้าแผ่นดินกัมพูชาเสด็จประทับที่นี้นับแต่แรกสร้างใน ค.ศ. 1866 และเสด็จไปประทับที่อื่นเมื่อบ้านเมืองวุ่นวายเพราะเขมรแดงเรืองอำนาจ

ชาวไทยมักเรียกพระราชวังแห่งนี้ว่า "พระราชวังเขมรินทร์" ทั้ง ๆ ที่ชื่อ "เขมรินทร์" (เขมร: ខេមរិន្រ្ត เขมรินฺตรฺ) เป็นเพียงพระที่นั่งองค์หนึ่งในพระบรมราชวังจตุมุขเท่านั้น[1]

พระบรมราชวังนี้สร้างขึ้นหลังจากที่พระบาทสมเด็จพระนโรดม พรหมบริรักษ์ ทรงย้ายเมืองหลวงจากกรุงอุดง มายังกรุงพนมเปญ ในช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 พระราชวังแห่งนี้ตั้งอยู่บนฝั่งตะวันตกของลำน้ำของแม่น้ำ 4 สายที่ไหลมาบรรจบกัน อันได้แก่ แม่น้ำที่ไหลจากโตนเลสาบและโตนเลบาสัก ไหลรวมกับแม่น้ำโขงที่แบ่งเป็น แม่น้ำโขงเหนือและแม่น้ำโขงใต้ จึงเรียกว่า “จตุมุข” (ចតុមុខ) ที่สื่อถึง พระพรหม ผู้มี 4 หน้า พระราชวังยังหันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีอาคารที่แตกต่างกัน และเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่นิยมในปัจจุบัน สถานที่ส่วนใหญ่ภายในเขตพระราชวังเปิดให้เข้าชมได้ ยกเว้นเขตหวงห้ามบางเขต เช่น เขตพระราชฐานที่ประทับ เป็นต้น

ประวัติ

[แก้]
พระที่นั่งเทวาวินิจฉัยในช่วงเริ่มก่อสร้างพระบรมราชวัง
พระที่นั่งจันทฉายา ในปี ค.ศ.1885 ต่อมาภายหลังถูกรื้อป้อมหอคอยออก

หลังจากสมัยอุดง กัมพูชากลายเป็นรัฐในอารักขาของฝรั่งเศส เมื่อ พ.ศ. 2406 จึงได้มีการย้ายเมืองหลวงจากอุดงมีชัยกลับมายังพนมเปญและสร้างพระราชวังหลวงขึ้นในช่วงนี้

ในช่วงเวลาที่พระบาทสมเด็จพระนโรดม พรหมบริรักษ์ทรงทำสนธิสัญญาให้กัมพูชาอยู่ในความคุ้มครองของฝรั่งเศส พ.ศ. 2406 เมืองหลวงของกัมพูชา คือ เมืองอุดงมีชัย อยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของพนมเปญราว 45 กิโลเมตร ช่วงต้นปีนี้ พระราชวังชั่วคราวที่สร้างจากไม้ได้สร้างขึ้นที่ทางเหนือของพนมเปญ ส่วนพระราชวังหลวงในช่วงแรกที่สร้างขึ้นออกแบบโดยสถาปนิกชาวเขมร คือ นักออกญาเทพนิมิต (มัก) และก่อสร้างโดยฝรั่งเศสแล้วเสร็จใน พ.ศ. 2409 สมเด็จพระนโรดมจึงทรงย้ายราชสำนักจากอุดงมีชัย มายังพระราชวังหลวงแห่งใหม่ที่พนมเปญ

ในช่วงแรกของการก่อสร้างพระบรมราชวังจตุมุขสิริมงคล สมเด็จพระนโรดมทรงประทับในพระตำหนักไม้แบบเขมรชั่วคราวทางเหนือของวัดอุณาโลมเล็กน้อย ขณะกำลังสร้างพระบรมราชวังถาวร พระบรมราชวังเป็นบริเวณที่ประกอบด้วยอาคารหลายแห่งแยกจากกัน โดยอาคารที่สำคัญที่สุดคือ พระที่นั่ง พระที่นั่งส่วนตัวขององค์พระมหากษัตริย์ (มี 2 หลัง แห่งหนึ่งอยู่ทางทิศเหนือของพระที่นั่ง และอีกแห่งอยู่ทางใต้) ชุดของ ศาลาแบบดั้งเดิมหรือศาลาเปิดโล่ง (ใช้เป็นที่เต้นรำและที่จัดเลี้ยง) และศาลานโปเลียน ทั้งหมดนี้อยู่ทางทิศตะวันออกหรือลานสาธารณะ ลานด้านตะวันตกมีไว้สำหรับสตรีของกษัตริย์ ซึ่งชาวฝรั่งเศสเรียกว่าพระสนมในพระมหากษัตริย์

ในเวลาต่อมา ได้มีการก่อสร้างหรือรื้อถอนสิ่งก่อสร้างต่างๆเพิ่มเติมในพระราชวังนี้ รวมถึงพระที่นั่งจันทฉายา และพระที่นั่งเทวาวินิจฉัย (ท้องพระโรง) องค์เดิม กำแพงพระราชวังถูกสร้างขึ้นใน พ.ศ. 2416 สิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ที่สร้างในช่วงนี้ มีสถาปัตยกรรมแบบสยามเป็นหลัก และได้รับอิทธิพลจากยุโรป (สถาปัตยกรรมเขมรช่วงนี้ได้รับอิทธิพลจากสยาม) หนึ่งในอาคารที่เป็นเอกลักษณ์และยังอยู่มาถึงปัจจุบัน คือ พลับพลานโปเลียน ซึ่งเป็นของขวัญจากฝรั่งเศส ในปี พ.ศ. 2419

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระสีสุวัตถิ์ โปรดฯ ให้สร้างอาคารสำคัญบางแห่งในพระราชวังหลวงปัจจุบัน ได้แก่ ศาลาโพคณี ใน พ.ศ. 2450 ช่วง พ.ศ. 2456-2462 ได้มีการรื้อถอนอาคารเก่า ปรับปรุงและขยายพระที่นั่งจันทฉายา กับพระที่นั่งเทวาวินิจฉัย อาคารที่ก่อสร้างหรือปรับปรุงในสมัยนี้ ได้มีการนำสถาปัตยกรรมขอมสมัยนครวัดมาประยุกต์ด้วย ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระสีสุวัตถิ์ มุนีวงศ์ (สมเด็จพระมณีวงศ์) ได้มีการสร้างวัดหลวง และปรับปรุงพระราชวังหลวงเดิมให้เป็นพระราชวังเขมรินทร์ (พ.ศ. 2474) ซึ่งเป็นพระราชวังหลวงในปัจจุบัน อาคารที่ก่อสร้างในสมัยหลัง ๆ ได้แก่ บ้านพักรับรองอาคันตุกะต่างชาติ และตำหนักจันทร์ซึ่งเป็นศาลาว่าการกระทรวงพระบรมราชวัง(สำนักพระราชวังของราชสำนักกัมพูชา)

สิ่งก่อสร้างในพระบรมราชวัง

[แก้]
ด้านหน้าพระบรมราชวังจตุมุขสิริมงคล

กลุ่มอาคารสิ่งปลูกสร้างแบ่งออกเป็นกำแพงวังหลักเป็นสี่บริเวณหลัก ทางด้านทิศใต้มีพระเจดีย์เงินอยู่ทางด้านทิศเหนือคือ พระราชวังเขมรินทร์ เป็นคำที่ใช้เรียกถึง ปราสาทเขมรินทร์ แปลว่า “ปราสาทของพระอินทร์” หรืออีกความหมายหนึ่งคือ “พระราชวังของกษัตริย์กัมพูชา” ใช้เป็นที่ประทับของกษัตริย์กัมพูชา สถานที่แห่งนี้แยกจากสถานที่อื่น ๆ ของพระราชวังด้วยกำแพง และตั้งอยู่ใกล้ ๆ กับ ท้องพระโรง หรือเรียกได้อีกชื่อว่า “พระที่นั่งเทวาวินิจฉัย” อาคารหลักของปราสาทเขมรินทร์ นี้มียอดเป็นพระปรางค์ยอดเดียวและทางตะวันตกคือเขตพระราชฐานหรือ พระตำหนักฝ่ายใน อาคารของพระราชวังถูกสร้างขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปเมื่อเวลาผ่านไปและบางส่วนถูกรื้อถอนและสร้างขึ้นใหม่ในช่วงปลายทศวรรษ 1960 อาคารเก่าแก่บางหลังสร้างขึ้นในศตวรรษที่ 19

ในพระนิพนธ์ นิราศนครวัด ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ระบุว่าพระบาทสมเด็จพระนโรดมเคยเข้าไปทำราชการอยู่ในกรุงเทพมหานคร จึงสร้างพระราชวังตามอย่างพระบรมมหาราชวังช่วงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทั้งโครงสร้างและชื่อของพระที่นั่ง (ปัจจุบันบางแห่งถูกรื้อลงไปแล้ว) มีดังนี้[2]

  1. พระที่นั่งมหามนเทียรราชฐาน
  2. พระที่นั่งพิมานจักรพรรดิ์
  3. พระที่นั่งนารีรัตนโสภา
  4. พระที่นั่งสุธามรินทร์
  5. พระที่นั่งทักษิณทิศา
  6. พระที่นั่งเทวาวินิจฉัย
  7. พระที่นั่งโอภาสนารี (อำไพนารี ?)
  8. พระที่นั่งมณีเมขลา
  9. พระที่นั่งนงคราญภิรมย์ (สภานงคราญ ?)
  10. พระที่นั่งวิมานดุษฎี
  11. พระที่นั่งโภชนีโสภา
  1. พระที่นั่งกัลยาณโสภณ (กัลยาสคราญ หรือกัลยาสถาน ?)
  2. พระที่นั่งพิมานอากาศ
  3. พระที่นั่งประพาสทิพยวัน
  4. พระที่นั่งจันทรฉายา
  5. พระที่นั่งบรรยงก์รัตนามหาปราสาท
  6. พระที่นั่งโอภาสโสภณ
  7. พระที่นั่งมนเทียรดนตรี
  8. พระที่นั่งเบญจเกษตร (ที่ไว้ราชกกุธภัณฑ์)
  9. พระที่นั่งมนเทียรดำกลพระรูป
  10. พระราชโรงหัด (โรงละคร)

สถาปัตยกรรมและพื้นที่

[แก้]

พระบรมราชวังแห่งกัมพูชาเป็นตัวอย่างที่ดีของสถาปัตยกรรมเขมรที่มีอิทธิพลของฝรั่งเศสเล็กน้อยที่มีต่อรูปแบบของกำแพงป้องกันพระราชวัง (เขมร: កំផែង, กํแผง), ท้องพระโรง (เขมร: ព្រះទីនាំង, เปรี๊ยะตีเนียง), วัดพระแก้วมรกต (เขมร: វត្តព្រះកែវមរកត), สถูป (เจดีย์), หอคอยยอดแหลมสูงตระหง่าน (ปรางค์ปราสาท) และภาพจิตรกรรมฝาผนัง พระบรมราชวังแห่งกรุงพนมเปญครอบคลุมพื้นที่ 174,870 ตารางเมตร

ท้องพระโรง

[แก้]
พระที่นั่งเทวาวินิจฉัยมหัยมหาปราสาท
ท้องพระโรง พระราชบัลลังก์แห่งพระมหากษัตริย์กัมพูชาและนพปฎลมหาเศวตฉัตร

พระที่นั่งเทวาวินิจฉัยมหัยมหาปราสาท หรือ "ท้องพระโรง" (เขมร: ព្រះទីនាំងទេវាវិនិច្ឆ័យមហ័យមហាប្រាសាទ) แปลว่า "ที่นั่งแห่งการตัดสินที่ศักดิ์สิทธิ์"

พระที่นั่งเทวาวินิจฉัยเป็นสถานที่ที่กษัตริย์กัมพูชา แม่ทัพ เหล่าพระบรมวงศานุวงศ์หรือขุนนางข้าราชบริพารมาปรึกษาการบริหารแผ่นดินและออกว่าราชการ ในปัจจุบัน สถานที่แห่งนี้ ใช้สำหรับงานพระราชพิธีต่าง ๆ เช่น พระราชพิธีขึ้นครองราชย์[3] หรือพระราชพิธีอภิเษกสมรส รวมไปถึงใช้เป็นสถานที่รับแขกบ้านแขกเมืองด้วย พระที่นั่งแห่งนี้มีผังเป็นรูปกากบาทและมียอดปราสาท 3 ยอด ยอดปราสาทตรงกลางสูงราว 59 เมตร ประดับด้วยพรหมพักตร์ 4 หน้า ภายในท้องพระโรงเป็นที่ตั้งของพระราชบัลลังก์ซึ่งประกอบไปด้วย 3 บัลลังก์ (บัลลังก์หนึ่งเป็นแบบตะวันตกและอีกสองบัลลังก์เป็นแบบดั้งเดิม) และมีรูปปั้นครึ่งตัวสีทองของพระมหากษัตริย์และพระราชินีกัมพูชาในอดีตนับตั้งแต่สมัยสมเด็จพระหริรักษ์รามมหาอิศราธิบดีเป็นต้นมา ท้องพระโรงแห่งนี้ถูกสร้างขึ้นเป็นครั้งที่สอง โดยครั้งแรกท้องพระโรงสร้างด้วยไม้ ใน พ.ศ. 2412-2413 รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนโรดม บรมรามเทวาวตารแล้วถูกรื้อถอนใน พ.ศ. 2458 ท้องพระโรงองค์ปัจจุบันสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2460 แล้วเริ่มใช้ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระสีสุวัตถิ์เมื่อปี พ.ศ. 2462 ท้องพระโรงมีขนาด 30x60 เมตร โดยมียอดสูง 59 เมตร ท้องพระโรงหันหน้าไปทางทิศตะวันออกเช่นเดียวกับสิ่งก่อสร้างอื่น ๆ ในพระราชวัง

เมื่อเข้าเยี่ยมชมท้องพระโรง (พระราชบัลลังก์ในด้านหน้าและพระที่นั่งบุศบกที่ที่อยู่สูงกว่าในด้านหลัง) และจิตรกรรมฝาผนังเพดานที่สวยงามของเรียมเกร์ ไปทางทิศด้านเหนือของพระราชบัลลังก์จะมีพระบรมรูปของพระบาทสมเด็จพระสีสุวัตถิ์ มุนีวงศ์ถือพระแสงขรรค์ชัยศรีตั้งอยู่ พระบรมรูปทำด้วยทองคำและฉลองพระองค์ตามแบบพระราชอัธยาศัย ขณะที่ทางทิซด้านใต้ของพระราชบัลลังก์มีพระบรมรูปของพระบาทสมเด็จพระสีสุวัตถิ์ทรงประทับที่ พระที่นั่งบุษบก ทรงฉลองพระองค์และปกคลุมด้วยเครื่องราชกกุธภัณฑ์ของกัมพูชา (พระองค์สวมพระมหาพิชัยมงกุฎ, ฉลองพระบาทเชิงงอนและในพระหัตถ์ขวาถือพระแสงขรรค์ชัยศรีของพระมหากษัตริย์ พระองค์ประทับบนพระที่นั่งบุษบก ซึ่งถูกสร้างขึ้นให้ดูเหมือนของจริงทางด้านขวา)

พระที่นั่งบุษบก

[แก้]

พระราชบัลลังก์ตามแบบดั้งเดิมตามโบราณราชประเพณี หรือ พระที่นั่งบุษบก (เขมร: ព្រះទីនាំងបុស្បុក) เป็นบัลลังก์รูปแบบเขมรคลาสสิกโบราณเก้าระดับ พระมหากษัตริย์เขมรแต่ละพระองค์จะต้องทรงประทับอยู่ในวันราชาภิเษกขณะสวมใส่เครื่องราชกกุธภัณฑ์ มันถูกปกคลุมไปด้วยงานแกะสลักดอกไม้ที่ซับซ้อนและมีรูปปั้นขนาดเล็กสองรูปของครุฑ ยกส่วนบนของบุษบก บัลลังก์สามในเก้าระดับเป็นตัวแทนของระดับนรก โลกอยู่ตรงกลางและสวรรค์ รอบ ๆ บุษบก เป็นร่มทองคำสี่ชั้นจากเก้าชั้น (ฉัตร 9 ชั้น) เรียกว่าอภิรมย์ (เขมร: អភិរម្យ) ในท้ายที่สุดบุษบกนั้นได้รับการประดับประดาด้วยร่มสีขาวของ หรือ (เขมร: ព្រះមហាស្វេតឆ័ត្រ) (พระมหาเศวตฉัตร คล้ายกับ "นพปฎลมหาเศวตฉัตร" ในประเทศไทย) หมายถึงพลังอำนาจสากลที่กษัตริย์มี ด้านหน้าของบุษบกเป็นพระราชบัลลังก์ โต๊ะที่ตั้งอยู่ติดกับบัลลังก์หลวงบรรจุชุดน้ำชาทองและพลูทองและหมากภาชนะบรรจุหมากซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องราชกกุธภัณฑ์และอยู่บนโต๊ะเสมอ หรือมักเรียกว่า "พานพระศรี" (เขมร:ពានព្រះស្រី) ถือเป็นหนึ่งในเครื่องราชูปโภค ด้านหลังของพระที่นั่งบุษบกเป็นอีกบุษบกหนึ่งคือ พระที่นั่งนิรยโสภา (เขมร: ព្រះទីនាំងនារីរ័ត្នសោភា), พระที่นั่งบุษบกเป็นพระที่นั่งสำหรับพระมหากษัตริย์และพระที่นั่งนิรยโสภาที่ด้านหลังสำหรับพระราชินี

พระที่นั่งจันทรฉายา

[แก้]
พระที่นั่งจันทฉายา
คณะละครหลวงพระราชสำนัก (ระบำพระราชทรัพย์) บนพระที่นั่งจันทรฉายาในช่วงพระราชอาณาจักรกัมพูชา (สมัยสังคมราษฎรนิยม) รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนโรดม สีหนุ ค.ศ. 1963

พระที่นั่งจันทรฉายา (เขมร: ព្រះទីន័ងច័ន្ទឆាយា) หรือ "ศาลาแสงจันทร์", เป็นศาลารูปแบบเปิดโล่งรับอากาศ ใช้เป็นสถานที่แสดงนาฏศิลป์เขมรโบราณ ในนิราศนครวัดโดยสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพบรรยายว่า สมเด็จพระนโรดมได้เคยเข้ามารับราชการในกรุงเทพฯ จึงนิยมแบบแผนพระราชวังอย่างในกรุงเทพนำไปสร้างเท่าที่จะทำได้หมดโดยริมกำแพงหน้าวังมีปราสาทพลับพลาสูงอย่างพระที่นั่งสุทไธสวรรย์ เรียกว่า “พระที่นั่งจันทรฉายา” คาดว่ายึดต้นแบบมาจากพระที่นั่งสุทไธสวรรยปราสาท ในพระบรมมหาราชวังของประเทศไทย

พระที่นั่งจันทรฉายาแต่เดิมนั้นสร้างแบบเครื่องไม้อย่างโบราณก่อนที่จะรื้อออกสร้างเป็นปูนคอนกรีตในภายหลัง ส่วนโครงสร้างนั้นเดิมเป็นพลับพลาสูงไว้เป็นที่เสด็จออกสนามอย่างในกรุงเทพ พอในชั้นหลังเมื่อฝรั่งเศสบูรณะวังใหม่แล้วได้นำพระที่นั่งจันทรฉายาแห่งนี้แก้ไขสร้างใหม่เป็นปูนคอนกรีตทำเป็นโรงละครหลวงอย่างโรงโอเปรา ตัวปราสาทเป็นโถงยาว มีมุขหน้าหลังอยู่ตรงกลาง พื้นที่ชั้นล่างเป็นช่องสำหรับจอดรถ บันไดขึ้นพระที่นั่งทางด้านข้างมีเวทีมีการจัดที่ประทับและเก้าอี้ไว้โดยรอบ

พระที่นั่งจันทรฉายาเป็นอาคารที่โดดเด่นที่สุดแห่งหนึ่งของพระราชวังเนื่องจากมองเห็นได้ง่ายจากภายนอก เนื่องจากสร้างขึ้นควบคู่ไปกับส่วนของกำแพงพระราชวัง ศาลาจันทรฉายา มีระเบียงที่ใช้เป็นเวทีสำหรับชมขบวนพาเหรดที่เดินขบวนไปตามถนนโสธีรส กรุงพนมเปญ ศาลาจันทรฉายาหลังปัจจุบันเป็นหลังที่ 2 ซึ่งสร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าสีสุวัตถิ์ เมื่อปี พ.ศ. 2456-2457 เพื่อทดแทนศาลาหลังเดิมที่สร้างในสมัยพระเจ้านโรดม ในปัจจุบันพลับพลาใช้สำหรับงานเลี้ยงและถวายเครื่องราชสักการะสำหรับพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ในพิธีบรมราชาภิเษกของพระบาทสมเด็จพระบรมนาถนโรดม สีหมุนี เมื่อปี พ.ศ. 2547

วัดพระแก้วมรกต (เจดีย์เงิน)

[แก้]
วัดพระแก้วมรกต
วัดพระแก้วมรกตในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนโรดม พรหมบริรักษ์

วัดพระแก้วมรกตเป็นบริเวณที่ตั้งอยู่ทางด้านทิศใต้ของบริเวณพระราชวัง มีพระอารามหลวงอย่างเป็นทางการเรียกว่า ปราสาทพระแก้วมรกต (เขมร: ព្រះវិហារព្រះកែវមរកត) แต่โดยทั่วไปจะเรียกว่าวัดพระแก้ว (เขมร: វត្តព្រះកែវ)) อาคารหลักเป็นที่เก็บรักษาสมบัติประจำชาติมากมาย เช่น พระพุทธรูปทองคำและอัญมณี สิ่งที่น่าสังเกตมากที่สุดคือพระแก้วขนาดเล็ก ("พระแก้วมรกต" ของกัมพูชา) ไม่ทราบแน่ชัดว่าทำจากคริสตัล Baccarat ในศตวรรษที่ 19 หรือคริสตัลชนิดอื่นในศตวรรษที่ 17 และพระศรีอริยเมตไตรยขนาดใกล้เคียงกันที่หุ้มด้วยเพชร 9,584 เม็ด ทรงเครื่องราชกกุธภัณฑ์ตามพระราชประสงค์ของสมเด็จพระสีสุวัตถิ์ ในช่วงก่อนรัชสมัยของพระนโรดม สีหนุก่อนยุคเขมรแดง เจดีย์เงินถูกฝังด้วยกระเบื้องเงินมากกว่า 5,000 แผ่น และส่วนหน้าด้านนอกบางส่วนได้รับการออกแบบใหม่ด้วยหินอ่อนอิตาลี

พระตำหนักฝ่ายใน

[แก้]
สมเด็จพระมหากษัตริยานีสีสุวัตถิ์มุนีวงศ์ กุสุมะนารีรัตน์สิรีวัฒนา พร้อมด้วยข้าราชบริพาร ณ ตำหนักฝ่ายใน พระบรมราชวังจตุมุขสิริมงคล

พระตำหนักฝ่ายในพระราชวังมีสวนต่างๆ ที่เต็มไปด้วยดอกไม้และพืชเมืองร้อน ดอกไม้พื้นเมืองในกัมพูชา เช่น ลำดวน (ดอกไม้ประจำชาติกัมพูชา), ดอกไม้และพืชไม้จากตะวันตกและญี่ปุ่น

อ้างอิง

[แก้]
  1. ศานติ ภักดีคำ ผศ. ดร. เขมรสมัยหลังพระนคร. กรุงเทพฯ:มติชน. 2556, หน้า 118
  2. สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ. นิราศนครวัด. พระนคร : บรรณาคาร. 2515, หน้า 40-41
  3. http://www.frommers.com/destinations/phnom-penh/attractions/213907
  • Jeldres, Julio A (1999). The Royal Palace of Phnom Penh and Cambodian royal life. Post Books. p. 132 pages. ISBN 978-974-202-047-7.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]

วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ Royal Palace, Phnom Penh

11°33′49″N 104°55′52″E / 11.56368°N 104.93112°E / 11.56368; 104.93112