ข้ามไปเนื้อหา

เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นโบราณมงคลนพรัตนราชวราภรณ์

นี่คือบทความคุณภาพ คลิกเพื่อดูรายละเอียดเพิ่มเติม
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

เครื่องราชอิสริยาภรณ์
อันเป็นโบราณมงคล
นพรัตนราชวราภรณ์

เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นโบราณมงคลนพรัตนราชวราภรณ์ (ฝ่ายหน้า)
มอบโดย

พระมหากษัตริย์ไทย
อักษรย่อน.ร.
ประเภทสายสะพายและดารา (ชั้นเดียว)
วันสถาปนาพ.ศ. 2404
ประเทศไทย ราชอาณาจักรไทย
ศาสนาพุทธ
จำนวนสำรับ27 สำรับ
แพรแถบ
ผู้สมควรได้รับพระบรมวงศ์ผู้ใหญ่และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ซึ่งเป็นพุทธมามกะเท่านั้น
มอบเพื่อเป็นเครื่องหมายแสดงเกียรติยศอย่างสูง
สถานะยังพระราชทานอยู่
ผู้สถาปนาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ประธานพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว
สถิติการมอบ
รายแรกพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว
รายล่าสุดสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา
28 กรกฎาคม พ.ศ. 2562
ทั้งหมด74 ราย
ลำดับเกียรติ
สูงกว่าเครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์‎
รองมาเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นปฐมจุลจอมเกล้าวิเศษ
หมายเหตุสามารถถวายแต่พระพุทธรูปสำคัญ เพื่อเป็นพุทธบูชาได้

เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นโบราณมงคลนพรัตนราชวราภรณ์ (อังกฤษ: The Ancient and Auspicious Order of the Nine Gems) มีอักษรย่อว่า น.ร. เป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่มีความเป็นมาสืบแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา ต่อมา พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างดารานพรัตนขึ้นสำหรับใช้ประดับที่เสื้อ ซึ่งทรงเรียกว่า "เครื่องประดับสำหรับยศ" นอกจากนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างแหวนนพรัตนสำหรับพระราชทานแก่พระราชวงศ์ฝ่ายหน้า และฝ่ายใน ตลอดจนข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ซึ่งเป็นพุทธมามกะ ต่อมา ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างดวงตรามหานพรัตน สำหรับห้อยสายสะพายขึ้นเป็นครั้งแรกของเครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทย[1]

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ตระกูลนี้ มีเฉพาะชั้นสายสะพายชั้นเดียว ทั้งนี้ ผู้รับพระราชทานต้องเป็นพุทธมามกะ และจะประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์นี้ในงานมงคล หรืองานที่มีหมายกำหนดการระบุไว้เท่านั้น[2]

เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นโบราณมงคลนพรัตนราชวราภรณ์ จัดเป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่มีลำดับเกียรติเป็นลำดับที่ 3 รองจากเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นมงคลยิ่งราชมิตราภรณ์และเครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์[3] และเป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงสุดที่สามัญชนจะได้รับพระราชทาน

ประวัติ

[แก้]

เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นโบราณมงคลนพรัตนราชวราภรณ์นั้นมีความเป็นมาสืบเนื่องมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ไม่ทราบว่าใครเป็นผู้สร้างและตั้งเครื่องราชอิสริยาภรณ์นี้ โดยมีลักษณะเป็นสายสร้อยพระสังวาลย์ประดับเนาวรัตน์ ใช้เป็นเครื่องสำหรับพิชัยสงครามและสำหรับพระมหากษัตริย์ทรงเมื่อพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชได้ปราบดาภิเษกขึ้นเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี ก็ทรงได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์นี้มา และทรงสร้าง "พระสังวาลย์นพรัตน์ราชวราภรณ์" ขึ้นใหม่ เป็นสังวาลย์แฝดประดับเนาวรัตน์ ประกอบด้วย เพชร ทับทิม มรกต บุษราคัม โกเมน นิลกาฬ(ไพลิน) มุกดา เพทาย ไพฑูรย์ มีลักษณะเป็นดอก ๆ วางสลับกันตลอดสาย[1]

ต่อมา พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระบรมราชกระแสว่า ตามธรรมเนียมเดิมของสยามนั้น จะมี "แหวนนพเก้า" สำหรับพระเจ้าแผ่นดินทรงและพระราชทานแก่เสนาบดี ซึ่งโดยปกติจะสอดไว้ในประคดที่คาดกับเอว และเมื่อมีงานพิธีที่เป็นมงคลก็จะนำมาสวมที่นิ้วชี้ทางขวาเพื่อประกอบกิจในงานมงคลนั้น ๆ เช่น เจิมให้แก่คู่บ่าวสาว วางศิลาฤกษ์ เป็นต้น และเมื่อพระองค์เสด็จขึ้นครองราชสมบัติก็ได้พระราชทานแหวนดังกล่าวแก่พระบรมวงศานุวงศ์และเสนาบดีผู้ใหญ่รวม 20 วง รวมทั้ง ทรงสร้าง "ดวงตรานพรัตน์ดารา" เป็นดอกประจำยามประดับพลอยทั้ง 9 อย่าง ประดับบริเวณหน้าเสื้อ เพื่อพระราชทานแก่พระบรมวงศานุวงศ์[1]

ครั้นถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงพระราชดำริว่า พระบรมวงศานุวงศ์ได้รับดวงตรานพรัตนราชวราภรณ์นั้น ไม่มีสายสังวาล เนื่องจาก สายสังวาลนั้นสำหรับพระมหากษัตริย์ทรงเท่านั้น พระองค์จึงทรงสร้าง "ดวงตรามหานพรัตน์" เป็นดวงตราขนาดเล็กลักษณะเช่นเดียวกับดอกประจำยามใช้สำหรับห้อยกับแพรแถบสีเหลืองขอบเขียวริ้วแดงริ้วน้ำเงิน สำหรับสะพายบ่าจากขวาลงมาซ้ายแทนสังวาล พร้อมทั้ง ตราพระราชบัญญัติเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นโบราณมงคลนพรัตนราชวราภรณ์ขึ้น กำหนดให้มีเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตระกูลนี้ 20 สำรับ ตามจำนวนแหวนที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าทรงสร้างขึ้น แบ่งเป็น สำหรับพระมหากษัตริย์ 1 สำรับ และพระราชทานแก่พระบรมวงศานุวงศ์อีก 19 สำรับ โดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประธานแห่งเครื่องราชอิสริยาภรณ์นี้ และให้มีตำแหน่งมหาสวามิศราธิบดี ซึ่งพระองค์ทรงดำรงตำแหน่งนี้หรือทรงแต่งตั้งพระบรมวงศานุวงศ์ดำรงตำแหน่งนี้ได้ รวมทั้ง พระราชทานแก่พระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายในที่มีพระเกียรติยศใหญ่ โดยไม่นับรวมใน 20 สำรับข้างต้น[1]

เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2456 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาฯ ให้เพิ่มจำนวนเครื่องราชอิสริยาภรณ์นี้อีก 7 สำรับ รวมเป็น 27 สำรับ เนื่องจากพระองค์ทรงดำริว่า พระสังวาลนพรัตน์ราชวราภรณ์ที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงสร้างขึ้นนั้น มีจำนวนเนาวรัตน์ดอกพระสังวาลสลับกัน 27 ดอก จึงสมควรกำหนดจำนวนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ให้เท่ากับจำนวนดอกพระสังวาลนั้น[4] ซึ่งนับเป็นจำนวนของเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นโบราณมงคลนพรัตนราชวราภรณ์ที่สืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน[5]

องค์ประกอบของ น.ร.

[แก้]
พระสังวาลย์นพรัตน สำหรับเครื่องต้นองค์พระมหากษัตริย์
ดารานพรัตน
มหานพรัตน ห้อยแพรแถบผูกเป็นรูปแมลงปอ สำหรับฝ่ายใน
แพรแถบย่อ

เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นโบราณมงคลนพรัตนราชวราภรณ์ จัดเป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่มีลำดับเกียรติเป็นลำดับที่ 3 รองจากเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นมงคลยิ่งราชมิตราภรณ์และเครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์[6] มีเฉพาะชั้นสายสะพายชั้นเดียว แบ่งออกเป็นฝ่ายหน้า (บุรุษ) และฝ่ายใน (สตรี) แบ่งออกเป็น[5]

สำหรับพระมหากษัตริย์

[แก้]

มีลักษณะเช่นเดียวกับสำหรับพระราชทานฝ่ายหน้า แต่มีพระสังวาลย์นพรัตนเป็นพระสังวาลย์แฝด มีดอกประจำยามประดับเพชร 1 ทับทิม 1 มรกต 1 บุษราคัม 1 โกเมน 1 นิลกาฬ(ไพลิน) 1 มุกดา 1 เพทาย 1 ไพฑูรย์ 1 คั่นสลับกันไปอย่างละดอก มีจำนวนเนาวรัตน์ดอกพระสังวาลสลับกัน 36 ดอก ทรงเหนือพระอังษาขวา เฉียงลงทางซ้าย และดารานพรัตนจะประดับเพชร

สำหรับฝ่ายหน้า

[แก้]
  1. มหานพรัตน ด้านหน้าเป็นดอกประจำยาม 8 ดอก ประดับ ทับทิม 1 มรกต 1 บุษราคัม 1 โกเมน 1 นิล 1 มุกดา 1 เพทาย 1 ไพฑูรย์ 1 ใจกลางเป็นเพชรรวมพลอย 9 อย่างด้านหลังลงยาสีแดง สีเขียว สีน้ำเงิน และอุณาโลมอยู่กลาง มีจุลมงกุฏประดับเพชรอยู่เบื้องบน ใช้ห้อยกับแพรแถบกว้าง 10 เซนติเมตร สีเหลืองขอบเขียว มีริ้วแดงและน้ำเงินคั่นระหว่างสีเหลืองและขอบสีเขียวนั้น สะพายบ่าขวาเฉียงลงทางซ้าย
  2. ดารานพรัตน เป็นรูปดารา 8 แฉก ทำด้วยเงินจำหลักเป็นเพชรสร่ง กลางเป็นดอกประจำยามฝังพลอย 8 อย่าง ใจกลางเป็นเพชรเหมือนมหานพรัตน ใช้ประดับที่อกเสื้อด้านซ้าย
  3. แหวนนพรัตน ทำด้วยทองคำเนื้อสูง

สำหรับฝ่ายใน

[แก้]
  1. มหานพรัตน มีลักษณะเช่นเดียวกับสำหรับพระราชทานฝ่ายหน้า ใช้ห้อยกับแพรแถบกว้าง 7.5 เซนติเมตร สะพายบ่าขวาเฉียงลงทางซ้าย หรือห้อยกับแพรแถบสีเดียวกัน กว้าง 3 เซนติเมตร ผูกเป็นรูปแมลงปอ ประดับเสื้อที่หน้าบ่าซ้าย
  2. ดารานพรัตน มีลักษณะเช่นเดียวกับสำหรับพระราชทานฝ่ายหน้า ใช้ประดับที่อกเสื้อด้านซ้าย

นอกจากนี้ ยังมี เครื่องหมายสำหรับประดับแพรแถบ ของเครื่องราชอิสริยาภรณ์ โดยมีลักษณะเป็นรูปดอกประจำยามลงยาสีทับทิม 1 มรกต 1 บุษราคัม 1 โกเมน 1 นิลกาฬ (ไพลิน) 1 มุกดา 1 เพทาย 1 ไพฑูรย์ 1 ใจกลางเป็นเพชรสร่งเงิน และ เครื่องหมายที่ใช้เป็นดุมเสื้อ เป็นรูปดอกไม้จีบด้วยแพรแถบของเครื่องราชอิสริยาภรณ์ มีสิทธิใช้ประดับเป็นดุมเสื้อเวลาแต่งเครื่องสากลโดยให้ประดับที่รังดุมคอพับของเสื้อชั้นนอกเบื้องซ้าย[7] และสามารถใช้ประดับเมื่อสวมชุดไทย โดยบุรุษ มีสิทธิใช้ประดับเป็นดุมเสื้อเวลาแต่งเสื้อชุดไทยสีสุภาพ โดยประดับที่อกเสื้อเบื้องซ้าย บริเวณปากระเป๋าเสื้อ ส่วนสตรีนั้น มีสิทธิใช้ประดับเป็นดุมเสื้อเวลาแต่งเสื้อชุดไทยเรือนต้น ชุดไทยจิตรลดา ชุดไทยอมรินทร์ และชุดไทยบรมพิมาน โดยประดับที่อกเสื้อเบื้องซ้าย[8]

พระราชลัญจกรประจำเครื่องราชอิสริยาภรณ์

[แก้]
พระราชลัญจกรประจำเครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์อันเป็นโบราณมงคลนพรัตนราชวราภรณ์

พระราชลัญจกรประจำเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นโบราณมงคลนพรัตนราชวราภรณ์ ลักษณะเป็นตรางารูปกลม ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 7.3 เซนติเมตร สูง 10.1 เซนติเมตร ลายภายในเป็นรูปพระสังวาลนพรัตนราชวราภรณ์ อยู่ภายในวงกลม เบื้องบนมีดารานพรัตน์ เบื้องล่างมีสายสะพายนพรัตน ที่วงขอบมีอักษรว่า "พระราชลัญจกร นพรัตน์ราชวราภรณ์ สำหรับเครื่องราชอิศริยาภรณ์ อันเป็นโบราณราชมงคล" พระราชลัญจกรประจำเครื่องราชอิสริยาภรณ์นี้ ใช้สำหรับประทับประกาศนียบัตรกำกับเครื่องราชอิสริยาภรณ์นพรัตนราชวราภรณ์ ปัจจุบัน พระราชลัญจกรนี้พ้นสมัย และเก็บรักษาอยู่ที่กองประกาศิต สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ส่วนการประทับพระราชลัญจกรลงในใบประกาศนียบัตรสำหรับผู้ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์นี้ จะประทับพระราชลัญจกรพระครุฑพ่าห์กำกับพระปรมาภิไธยแทน[9]

การพระราชทาน

[แก้]

เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นโบราณมงคลนพรัตนราชวราภรณ์ มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประธานเครื่องราชอิสริยาภรณ์และทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจที่จะพระราชทานและเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์นี้ได้ ปัจจุบัน เครื่องราชอิสริยาภรณ์ชุดนี้มีจำนวน 29 สำรับ สำหรับพระมหากษัตริย์ 1 สำรับ และอีก 28 สำรับ สำหรับพระราชทานพระบรมวงศ์ผู้ใหญ่และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ โดยผู้ที่จะได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์นี้ต้องเป็นพุทธมามกะเท่านั้น[5] รวมทั้ง จะประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์นี้ในงานมงคล หรืองานที่มีหมายกำหนดการระบุไว้[2]

ผู้ได้รับพระราชทาน น.ร.จะได้รับใบประกาศนียบัตรทรงลงพระปรมาภิไธยและประทับพระราชลัญจกร อย่างไรก็ตาม เมื่อผู้ได้รับ น.ร. วายชนม์ ผู้รับมรดกจะต้องส่งเครื่องราชอิสริยาภรณ์คืนภายใน 30 วัน ถ้าส่งคืนไม่ได้กองมรดกจะต้องรับผิดชอบ หรือในกรณีที่ทรงเรียก น.ร. คืนจากผู้ได้รับพระราชทานนั้น ถ้าผู้รับพระราชทานไม่สามารถส่งคืนได้ ต้องใช้ราคาเครื่องราชอิสริยาภรณ์นั้น[5]

นอกจากนี้ ยังมีการพระราชทานจัดเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นโบราณมงคลนพรัตนราชวราภรณ์เพื่อถวายเป็นพุทธบูชาด้วย เช่น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทาน น.ร. แด่พระพุทธชินราช พระประธาน ณ พระอุโบสถ วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม[10] พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทาน น.ร. แด่พระพุทธสิหิงค์ ซึ่งเป็นพระประธาน ณ พระอุโบสถ วัดพระศรีมหาธาตุวรวิหาร[11] และพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ถวายแด่พระพุทธอังคีรส พระประธาน ณ พระอุโบสถ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม

รายพระนามและรายนามผู้ได้รับพระราชทาน น.ร.

[แก้]

นอกจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวซึ่งเป็นองค์ประธานของเครื่องราชอิสริยาภรณ์ มีผู้ที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นโบราณมงคลนพรัตนราชวราภรณ์นั้น มีพระบรมวงศานุวงศ์หลายพระองค์และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่หลายคนด้วยกัน

พระพุทธรูปที่ได้รับถวาย น.ร.

[แก้]

พระมหากษัตริย์ถวายเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นโบราณมงคลนพรัตนราชวราภรณ์แก่พระพุทธรูปสำคัญเพื่อเป็นพุทธบูชา เช่น

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นโบราณมงคลนพรัตนราชวราภรณ์, เล่ม ๑๐, ตอน ๔๒, ๑๔ มกราคม พ.ศ. ๒๔๓๖, หน้า ๔๕๙
  2. 2.0 2.1 ราชกิจจานุเบกษา, ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทย พ.ศ. ๒๕๔๑, เล่ม ๑๑๕, ตอนพิเศษ ๑๑๘ ง เล่มที่ ๒, ๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๑, หน้า ๑
  3. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ลำดับเกียรติเครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทย เก็บถาวร 2011-11-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๑๐, ตอน ๒๙ง ฉบับพิเศษ, ๑๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๓๖, หน้า ๑
  4. ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศ แก้ไขเพิ่มจำนวนอัตราเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นโบราณมงคลนพรัตนราชวราภรณ์, เล่ม ๓๐, ตอน ๐ก, ๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๖, หน้า ๓๒๗
  5. 5.0 5.1 5.2 5.3 ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นโบราณมงคลนพรัตนราชวราภรณ์ พุทธศักราช ๒๔๘๔, เล่ม ๕๘, ตอน ๐ก, ๑๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๔, หน้า ๑๕๔๗
  6. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ลำดับเกียรติเครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทย เก็บถาวร 2011-11-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๑๐, ตอน ๒๙ง ฉบับพิเศษ, ๑๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๓๖, หน้า ๑
  7. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชกฤษฎีกากำหนดเครื่องหมายสำหรับประดับแพรแถบเครื่องราชอิสริยาภรณ์และที่ใช้เป็นดุมเสื้อ พ.ศ. ๒๔๙๘, เล่ม ๗๒, ตอน ๙๐ ก, ๒๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๘, หน้า ๑๕๗๑
  8. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชกฤษฎีกากำหนดเครื่องหมายสำหรับประดับแพรแถบเครื่องราชอิสริยาภรณ์และที่ใช้เป็นดุมเสื้อ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๒๘, เล่ม ๑๐๒, ตอน ๙๖ ก ฉบับพิเศษ, ๒๖ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๒๘, หน้า ๑
  9. สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี. พระราชลัญจกร. กรุงเทพ : อมรินทร์พริ้นติ้ง,, พ.ศ. 2538. 200 หน้า. หน้า หน้าที่. ISBN 974-7771-63-2
  10. พระพุทธชินราช[ลิงก์เสีย] จาก เว็บไซต์ วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม
  11. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ถวายเครื่องราชอิสริยาภรณ์เป็นพุทธบูชาแด่พระพุทธสิหิงค์, เล่ม ๕๙, ตอน ๔๔ ง, ๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๕, หน้า ๑๖๙๒

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]