พระพุทธชินราช (จำลอง)
บทความนี้ไม่มีการอ้างอิงจากแหล่งที่มาใด |
พระพุทธชินราช เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย นั่งสมาธิราบ จำลองแบบจากพระพุทธชินราช วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดพิษณุโลก ปัจจุบันประดิษฐานเป็นพระประธานในพระอุโบสถวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร
พระพุทธชินราช มีขนาดหน้าตัก 5 ศอก คืบ 5 นิ้ว ใช้ทองคำแท้ในการหล่อ มีน้ำหนักทองคำที่ใช้หล่อหนัก 3,940 ชั่ง (นับเป็นพระพุทธรูปทองคำ องค์ที่หนักมากเป็นอันดับสองของประเทศไทย รองจากพระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร หรือ หลวงพ่อทองคำ วัดไตรมิตร ) ตามตำนานเล่าว่า เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวสถาปนาวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม พุทธศักราช 2442 โปรดให้ออกแบบพระอุโบสถตกแต่งไว้ด้วยหินอ่อนงดงามวิจิตร จำเป็นต้องแสวงหาพระประธานที่มีความทัดเทียมกัน และทรงระลึกได้ว่า เมื่อ พ.ศ. 2409 ทรงบรรพชาเป็นสามเณรได้ตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวไปนมัสการพระพุทธชินราช เป็นพระพุทธรูปที่งดงามไม่มีที่เปรียบ แต่การจะอัญเชิญลงมา ย่อมไม่สมควร ด้วยเป็นสิริของชาวพิษณุโลก จึงมีดำริให้หล่อขึ้นใหม่
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้าฯ ให้พระประสิทธิปฏิมา (เหมาะ ดวงจักร) จางวางช่างหล่อขวา ซึ่งเป็นช่างหล่อฝีมือดีที่สุด ขึ้นไปปั้นหุ่นถ่ายแบบจากพระพุทธชินราชองค์เดิม ที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดพิษณุโลก
แล้วเสด็จพระราชดำเนินทรงเททองหล่อเป็นส่วนๆ เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2444 อัญเชิญล่องเรือมาคุมองค์และแต่งที่กรมทหารเรือ โดยพระยาชลยุทธโยธิน (Andre du Plessis de Richelieu) ชาวเดนมาร์ก เข้ามารับราชการเป็นทหารเรือ มียศเป็นพลเรือโท ตำแหน่งผู้บัญชาการกรมทหารเรือ เป็นผู้ควบคุมการแต่งองค์พระ เสร็จแล้วเชิญลงเรือมณฑปแห่ไปประดิษฐานเป็นพระประธานในพระอุโบสถวัดเบญจมบพิตร เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม ปีเดียวกัน
เมื่ออัญเชิญพระพุทธชินราชขึ้นประดิษฐานแล้ว ต่อมาถึงปลายปี พ.ศ. 2452 จึงโปรดเกล้าฯให้จ้าง นายซึรุฮารา (Mr.Tsuruhara) ครูช่างในโรงเรียนวิชาช่างกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เข้ามาทำการปิดทองจนแล้วเสร็จ และโปรดเกล้าฯ ให้จัดงานสมโภช ในวันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2453
พระพุทธชินราช เป็นพระพุทธรูปสมัยสุโขทัย มีเรือนแก้ว ประทับนั่งเหนือรัตนบัลลังก์หินอ่อน เรือนแก้วนี้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้ทำถวาย เมื่อ พ.ศ. 2455 แต่ช่างทำไม่งาม พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้าฯ ให้แก้ไขใหม่สวยงามตามที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน ทำจากไม้สักทองปิดด้วยแผ่นทองคำแท้