นพรัตน์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก แหวนนพรัตน)
สิรินพรัตนมหาราชินี จัดประดับอย่างถูกหลักสุริยจักรวาล

นพรัตน์ ความหมายตามภาษาสันสกฤตหมายถึง "9 รัตนแห่งสิริมงคล"

ที่มา[แก้]

นพรัตน หรือ นวรัตน และ เนาวรัตน จากภาษาสันกฤต ซึ่งพ้องเสียงกับอีกหลาย ๆ ประเทศในดินแดนเอเชีย [1] สืบทอดต่อกันมาแต่ครั้งบุรพกาล ความสำคัญทั่วแดนสุวรรณภูมินับถือตรงกันว่า เป็นรัตนศักดิ์สิทธิ์ชั้นสูง ซึ่งนอกเหนือจากศาสนาและวัฒนธรรมที่แตกต่างกันออกไป เข้าใจว่าชนเอเชียทั้งหลายให้การยอมรับและนับถือในสิริมงคลแห่งนพรัตน์

กำเนิดของรัตน 9 ประการ[แก้]

ในภาษาสันสกฤต เรียกขนานนามว่า "เนาวรัตน" รวมถึงภาษาฮินดี,พม่า,อินโดนีเซีย และเนปาล ส่วนในภาษาสิงหลเรียก "นวรัตเน" และในภาษาไทยเรียก "นพรัตน์" เป็นธรรมเนียมของรัตนโบราณที่อยู่คู่ดินแดนสุวรรณภูมิ แต่ดั้งเดิมจึงไม่ปรากฏที่มา

เกือบทุกประเทศในแถบเอเชียนับถือว่าเป็นรัตนสูงส่งของเทพ ซึ่งตกทอดสืบต่อกันมา ทั้งในประเทศอินเดีย เนปาล ศรีลังกา สิงคโปร์ พม่า กัมพูชา เวียดนาม อินโดนีเซีย ไทย และมาเลเซีย (โดยไม่คำนึงถึงความแตกต่างทางวัฒนธรรมและศาสนา) [2]

การประดับของราชสำนัก[แก้]

ประเทศไทยเป็นประเทศเดียวที่ให้ความสำคัญอย่างเป็นทางการ ครั้งหนึ่งพระพุทธชินราชเคยมีนพรัตน์สังวาลย์ทองคำแท้ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานให้ไว้ประดับ [3] และยกย่องให้นพรัตนเป็นรัตนมงคลโบราณ ตามพระราชบัญญัติ เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นโบราณมงคลนพรัตนราชวราภรณ์ บัญญัติว่าเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องประดับสำหรับยศแห่งพระมหากษัตริย์ ตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างดวงตรามหานพรัตน สำหรับห้อยสายสะพายขึ้นเป็นครั้งแรกของเครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทย[4]

เครื่องราชอิสริยาภรณ์[แก้]

เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นโบราณมงคลนพรัตนราชวราภรณ์ (ฝ่ายหน้า)

เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นโบราณมงคลนพรัตนราชวราภรณ์ (น.ร.) องค์ประกอบสายสะพายชั้นเดียวของเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นโบราณมงคลนพรัตน์ฯ

  • มหานพรัตน์ ด้านหน้าเป็นดอกประจำยามประดับ 9 รัตน ใช้ห้อยกับแพรแถบ สะพายบ่าขวาเฉียงลงทางซ้าย (สำหรับบุรุษ) ส่วนสำหรับสตรี ใช้ห้อยกับแพรแถบผูกเป็นรูปแมลงปอ ประดับเสื้อที่หน้าบ่าซ้าย
  • ดารานพรัตน์ เป็นรูปดาราประดับ 9 รัตน เหมือนมหานพรัตน
  • แหวนนพรัตน์ ทำด้วยทองคำเนื้อสูงและฝังพลอยมงคล 9 ชนิด (การพระราชทานแหวนนพรัตน์มายกเลิกในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยทรงเปลี่ยนเป็นการพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์แทน แต่ยังคงพระราชทานแก่พระบรมวงศ์ษานุวงศ์ระดับสูงอยู่) ใช้สวมใส่ในงานมงคลเท่านั้น ให้สวมที่น้วชี้มือขวา

และนพรัตนยังเป็นส่วนหนึ่งของนามกรุงเทพฯ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชพระราชทานนาม โดยทรงเปรียบเทียบเมืองหลวงของไทยนี้ดั่งเมืองในสรวงสวรรค์แห่งเทพ อันเป็นที่มาของรัตนชาติทั้ง 9 ประการว่า "กรุงเทพมหานคร อมรรัตรโกสินทร์ มหินทรายุธยา มหาดิลกภพ นพรัตนราชธานีบูรีรมย์ อุดมราชนิเวศน์มหาสถาน อมรพิมานอวตารสถิต สักกะทัตติยวิษณุกรรมประสิทธิ์" [5]

ซึ่งจากเอกสารในหอสมุดของสยามสมาคมฯระบุว่าครูมนตรี ตราโมท เป็นผู้นำกลอนนพรัตน์มาแต่งท่วงทำนองใช้ร้องเป็นระบำนพรัตน์กล่าวคือ "เพชรดี มณีแดง เขียวใสแสงมรกต เหลืองสวยสดบุษราคัม แดงแก่ก่ำโกเมนเอก สีหมอกเมฆนิลกาฬ มุกดาหารหมอกมัว แดงสลัวเพทาย สังวาลย์สายไพฑูรย์ฯ"

รัตนชาติกับดวงดาว[แก้]

การให้ความหมายของรัตนชาติทั้ง 9 ประการนี้ท่านพันเอก (พิเศษ) ประจวบ วัชรปาณ และท่านเทพย์ สาริกบุตรได้ระบุไว้ใน"คัมภีร์ปาริชาตชาดก" (บทที่ 2 โศลก 21 หน้า 36-37)

"ทับทิมบริสุทธิ์ เป็นรัตนของอาทิตย์ ไข่มุกที่ขาวบริสุทธิ์โดยแท้ธรรมชาติ เป็นรัตนของจันทร์ ปะการังแก้วประวาล เป็นรัตนของอังคาร มรกต เป็นรัตนของพุธ บุษราคัม เป็นรัตนของพฤหัสบดี เพชร เป็นรัตนของศุกร์ ไพลิน เป็นรัตนของเสาร์ โกเมนเอก เป็นรัตนของราหู และไพฑูรย์ เป็นรัตนของเกตุฯ" กล่าวคือ

  • เพชรดี - คือเพชรขาวรัตนของดาวพระศุกร์
  • มณีแดง - คือทับทิมแดงของดาวพระอาทิตย์
  • เขียวใสแสงมรกต - คือมรกตเขียวรัตนของดาวพระพุธ
  • เหลืองสวยสดบุษราคัม - คือแซพไฟร์เหลืองทองรัตนของดาวพระพฤหัสบดี
  • แดงแก่ก่ำโกเมนเอก - คือโกเมนเลือดหมูรัตนของดาวพระราหู
  • สีหมอกเมฆนิลกาฬ - คือไพลินน้ำเงินรัตนของดาวพระเสาร์
  • มุกดาหารหมอกมัว - คือมูนสโตนรัตนของดาวพระจันทร์
  • แดงสลัวเพทาย - คือเพทายส้มรัตนของดาวพระอังคาร
  • สังวาลย์สายไพฑูรย์ - คือพลอยตาแมวรัตนของดาวพระเกตุ

ตารางความสัมพันธ์ของดวงดาวกับจักรราศี[แก้]

ดวงดาว รัตน จักรราศี
พระอาทิตย์ ทับทิม สิงห์
พระจันทร์ มุกดา กรกฎ
พระอังคาร เพทาย เมษ/พิจิก
พระพุธ มรกต เมถุน/กันย์
พระพฤหัสบดี บุษราคัม ธนู/มีน
พระศุกร์ เพชร พฤษภ/ตุลย์
พระเสาร์ ไพลิน มังกร/กุมภ์
พระราหู โกเมนเอก -
พระเกตุ ไพฑูรย์ -

[6]

หลักฐานอ้างอิงจากแหล่งอื่น นอกจากใน"คัมภีร์ปาริชาตชาดก" บทที่ 2 โศลก 21 หน้า 36-37 ซึ่งท่านพันเอก (พิเศษ) ประจวบ วัชรปาณ และเทพย์ สาริกบุตร เรียบเรียงเป็นสยามพากย์จากต้นฉบับภาษาสันสกฤตโดยปราชญ์ไวทยะนาถ บุตรแห่งโยคีเวงกฎาทริ แล้ว โศลกเดียวกันนั้นบัญญัติไว้เช่นกันโดย เอส.เอ็ม ฐากูร (พ.ศ. 2422) ในพระคัมภีร์ "มณีมาลา" หน้า 575 โศลก 79 กล่าวคือ

มาณิคยัม ทาระเนฮ สุจัทยะมะมาลัม มุคตาภาลัม ษิตาโกฮ
มาเฮยัสยะ ชะ วิทรุโม นิกาดิทาฮ โสมยัสยะ-การุทมะทัม/
เดเวสยัสยะ ชะ พุษพาระกัม อสุระ-อัจฉริยัสยะ วัชรัม ษาเนร
นิลัม นิรมะลัมอันยะโยษชะ กาดิเต โกเมธะ-ไวฑูรยะเค//

คำแปล

  • 1) ทับทิม เพื่อ พระอาทิตย์
  • 2) มุกดา เพื่อ พระจันทร์
  • 3) เพทาย เพื่อ พระอังคาร
  • 4) มรกต เพื่อ พระพุธ
  • 5) บุษราคัม เพื่อ พระพฤหัสบดี
  • 6) เพชร เพื่อ พระศุกร์
  • 7) ไพลิน เพื่อ พระเสาร์
  • 8) โกเมน เพื่อ พระราหู (ระนาบเหนือของพระจันทร์)
  • 9) ไพฑูรย์ เพื่อ พระเกตุ (ระนาบใต้ของพระจันทร์)

...รัตนชาติ ดังกล่าวนี้ ต้องคุณภาพสูงและปราศจากตำหนิ[7]

นพรัตนธรรมจักร เก้ารัตนพิสุทธิ์ประดับตามตำแหน่งยันต์นพเคราะห์

หลักการจัดเรียงประดับ[แก้]

ธรรมเนียมของหลักการจัดเรียงประดับรัตนชาติทั้ง 9 ตามระบุในภาพนี้ กล่าวคือ ทับทิมเพื่อพระอาทิตย์ จะอยู่ที่ศูนย์กลางเสมอ และล้อมรอบ (ตามเข็มนาฬิกา) บนสุดคือ เพชร ไข่มุกแท้ธรรมชาติ ปะการังแดง โกเมนเอก ไพลิน ตาแมว บุษราคัม และ มรกต เป็นตำแหน่งในหลักการเดียวกันของยันต์นพเคราะห์ ตามหลักของกฎธรรมชาติ โดยมีพระอาทิตย์เป็นศูนย์กลางของการไหลเวียนพลังงานในระบบสุริยจักรวาล[8] และโปรดดูภาพตัวอย่างการประดับเรียง ในลักษณะสร้อยอย่างถูกต้องของ "สิรินพรัตนมหาราชินี" [9].

อัญมณีพิสุทธิ์แห่งนพรัตน[แก้]

โศลกจาก "มณีมาลา" ที่กล่าวไว้ข้างต้นมีนัยสำคัญคือ คำว่า"สุจัทยัม-อมาลัม" (สุชาติ = ชาติกำเนิดดี, และอมลา=บริสุทธิ์ ไร้มลทิน) อันเป็นความสำคัญบ่งบอกไว้ให้ทราบว่า ตามระบบความเชื่อถือของชาวเอเชียล้วนนับถือว่า อัญมณีที่มีสิริมงคลต้องคุณภาพดีปราศจากซึ่งตำหนิ

คำสอนสั่งที่ถูกมองข้ามไปนี้ยังมีข้อสนับสนุนจาก "พระครุฑโบราณ"บทที่ 68 โศลก 17 บัญญัติโดยพระสูตต์ โคสวามี ดังนี้ "รัตนชาติบริสุทธิ์ ปราศจากตำหนิ กอปรพลานุภาพที่มีสิริมงคล สามารถปกป้องคุ้มครองจากภยันตราย,อวิชา,งู,ยาพิษ,ความหายนะ และผลกรรมสนอง ในขณะชิ้นที่มีตำหนิจะส่งผลตรงข้าม"[7]

และใน "พระอัคนีโบราณ" บทที่ 246 โศลก 7-8 ได้บัญญัติไว้แต่ครั้งบุรพกาล คือ "รัตนชาติปราศจากราคินและเปล่งประกายที่สะท้อนถึงความแวววาวรุ่งเรือง ควรถือเป็นสื่อนำซึ่งความโชคดี ส่วนชิ้นที่เกิดตำหนิข้างใน,แตกร้าว และไร้ความสุกใสแวววาวหรือขุ่นมัว ขรุขระ หยาบด้าน ไม่ควรใช้อย่างเด็ดขาด"[10]

รัตนชาติในโหราศาสตร์โบราณ[แก้]

จากหลักโหราศาสตร์โบราณของเอเชีย ชีวิตบนโลกล้วนขึ้นอยู่กับนพเคราะห์ หรือ 9 อิทธิพล ซึ่งตำแหน่งที่สถิตของนพเคราะห์ในแผนภูมิดวงชะตาของแต่ละบุคคล ล้วนส่งอิทธิพล ต่อดวงชีวิตของคนๆนั้น กล่าวกันว่าการสวมใส่ 9 รัตนชาติ จะช่วยให้ดวงดาวตามโหราศาสตร์สมดุล และมีสิริมงคลต่อผู้สวมใส่ ทางโหราศาสตร์เอเชียโบราณยังกล่าวว่าพลังรัตนชาติเหล่านี้ยังผลดีและผลลบต่อชีวิตมนุษย์เช่นกัน ดังนั้น ก่อนการสวมใส่ดารารัตนชาติ จึงควรจำเป็นต้องปรึกษาโหรโบราณ ระบบพระเวท ควรเป็นผู้ที่ศึกษาและเชี่ยวชาญทางดารารัตนชาติเพื่อให้ต้องโฉลกต่อพื้นฐานดวงชะตาของแต่ละบุคคล แม้ว่าจะเป็นเพียงรัตนเดี่ยวๆหรือการแนะนำให้ประดับรัตนที่สมพงษ์ร่วมในเรือนเดียวกัน [11][12]

อ้างอิง[แก้]

  1. Feature Story  : Thai Gem & Jewelry Traders Association the ancient nine-gem talisman เก็บถาวร 2011-05-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  2. Richard Brown (2007). Mangala Navaratna (page 1). Hrisikesh Ltd. ISBN 974-07-1853-1.
  3. "Palungjit". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-06-15. สืบค้นเมื่อ 2005-05-31.
  4. "Reference Thai Government". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-10-05. สืบค้นเมื่อ 2009-08-28.
  5. จดหมายข่าวราชบัณฑิตยสถาน ปีที่ ๓ ฉบับที่ ๓๑, ธันวาคม ๒๕๓๖ [1]
  6. ริชาร์ด เอส. บราวน์. ดาราอัญมณี หน้า 27-28 พิมพ์ครั้งที่ 2 .กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มติชน. 2546. ISBN 974-322-538-2
  7. 7.0 7.1 ริชาร์ด เอส.บราวน์.ดาราอัญมณีหน้า 92.พิมพ์ครั้งที่ 2.กรุงเทพฯ:สำนักพิมพ์มติชน.2546.ISBN 974-322-538-2 อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่สมเหตุสมผล มีนิยามชื่อ "Ancient Astrological Gemstones & Talismans" หลายครั้งด้วยเนื้อหาต่างกัน
  8. Richard Brown (2007). Mangala Navaratna (page 2). Hrisikesh Ltd. ISBN 974-07-1853-1.
  9. Bangkok Gems & Jewellery Magazine (1993). A New Addition to the Crown Jewels of Thailand. BGJ Bangkok.
  10. Richard S. Brown (2008). Ancient Astrological Gemstones & Talismans - 2nd Edition - pages 33 and 51. Hrisikesh Ltd. ISBN 978-974-8102-29-0.
  11. Harish Johari (1982). The Healing Power of Gemstones, Page 35. Destiny Books. ISBN 089281-215-X.
  12. Howard Beckman (2000). Vibrational Healing With Gems. Balaji Publisher. ISBN 8121207045.

ดูเพิ่ม[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]