ข้ามไปเนื้อหา

ประเทศนาอูรู

พิกัด: 0°32′S 166°55′E / 0.533°S 166.917°E / -0.533; 166.917 (Nauru)
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สาธารณรัฐนาอูรู

Repubrikin Naoero (นาอูรู)
ตราแผ่นดินของนาอูรู
ตราแผ่นดิน
คำขวัญ"God's will first"
(พระประสงค์ของพระเจ้ามาก่อน)
เพลงชาตินาอูรูเบียมา
(นาอูรูถิ่นฐานของเรา)
ที่ตั้งของนาอูรู
เมืองหลวงยาเรน (โดยพฤตินัย)[a]
0°32′S 166°55′E / 0.533°S 166.917°E / -0.533; 166.917 (Nauru)
เมืองใหญ่สุดเดนิโกโมดู
ภาษาราชการนาอูรู
ภาษาพูดทั่วไปอังกฤษ[b]
การปกครองรัฐเดี่ยว สาธารณรัฐระบบรัฐสภาภายใต้ประชาธิปไตยแบบไม่ระบุพรรค
David Adeang
มาร์คัส สตีเฟน
สภานิติบัญญัติรัฐสภา
เป็นเอกราช
31 มกราคม ค.ศ. 1968
พื้นที่
• รวม
21 ตารางกิโลเมตร (8.1 ตารางไมล์) (อันดับที่ 192)
0.57
ประชากร
• ค.ศ. 2017 ประมาณ
11,347[4] (อันดับที่ 228)
• สำมะโนประชากร 2011
10,084[5]
480 ต่อตารางกิโลเมตร (1,243.2 ต่อตารางไมล์) (อันดับที่ 12)
จีดีพี (อำนาจซื้อ) 2021 (ประมาณ)
• รวม
132 ล้านดอลลาร์สหรัฐ[6] (อันดับที่ 192)
9,995 ดอลลาร์สหรัฐ[6] (อันดับที่ 94)
จีดีพี (ราคาตลาด) 2021 (ประมาณ)
• รวม
133 ล้านดอลลาร์สหรัฐ[6]
10,125 ดอลลาร์สหรัฐ [6]
สกุลเงินดอลลาร์ออสเตรเลีย (AUD)
เขตเวลาUTC+12[7]
• ฤดูร้อน (เวลาออมแสง)
ไม่ใช้
ขับรถด้านซ้ายมือ
รหัสโทรศัพท์+674
โดเมนบนสุด.nr

นาอูรู (อังกฤษ: Nauru, ออกเสียง: /nɑːˈu:ruː/; นาอูรู: Naoero)[8] หรือชื่ออย่างเป็นทางการ สาธารณรัฐนาอูรู (อังกฤษ: Republic of Nauru; นาอูรู: Repubrikin Naoero) เป็นประเทศเกาะและจุลรัฐในภูมิภาคไมโครนีเซีย ทวีปโอเชียเนีย ตอนกลางของมหาสมุทรแปซิฟิก เกาะบานาบาของประเทศคิริบาสเป็นพื้นที่ที่อยู่ใกล้เคียงที่สุด โดยอยู่ห่างกัน 300 กิโลเมตร ไปทางตะวันออก นาอูรูตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของตูวาลู ทิศตะวันออกเฉียงเหนือของหมู่เกาะโซโลมอน โดยอยู่ห่างกัน 1,300 กิโลเมตร[9] ทิศตะวันออกเฉียงเหนือของปาปัวนิวกินี ทิศตะวันออกเฉียงใต้ของสหพันธรัฐไมโครนีเซียและทิศใต้ของหมู่เกาะมาร์แชลล์ ด้วยพื้นที่เพียง 21 ตารางกิโลเมตร ทำให้นาอูรูเป็นประเทศที่มีขนาดเล็กที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลกรองจากประเทศโมนาโกและนครรัฐวาติกันและเป็นสาธารณรัฐที่มีขนาดเล็กที่สุด มากไปกว่านั้นด้วยจำนวนประชากรเพียง 10,670 คน จึงทำให้ประเทศนาอูรูเป็นประเทศที่มีจำนวนประชากรน้อยที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากนครรัฐวาติกัน

ชาวไมโครนีเซียและพอลินีเซียเข้ามาตั้งถิ่นฐานเมื่อ 1,000 ปีก่อนคริสตกาล ปลายศตวรรษที่ 19 จักรวรรดิเยอรมนีได้ผนวกดินแดนนาอูรูเป็นอาณานิคม หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 สิ้นสุดลง นาอูรูกลายเป็นดินแดนในอาณัติของสันนิบาตชาติโดยมีออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และสหราชอาณาจักรเป็นผู้จัดการปกครอง ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 กองกำลังของจักรวรรดิญี่ปุ่นได้เข้ายึดครองนาอูรู ในการรุกคืบของฝ่ายสัมพันธมิตรในแปซิฟิก ได้ข้ามการยึดครองนาอูรู ตามยุทธวิธีกบกระโดด หลังจบสงคราม นาอูรูกลายเป็นดินแดนในภาวะทรัสตีของสหประชาชาติ และได้รับเอกราชในปี 1968 ต่อมาได้เข้าร่วมประชาคมแปซิฟิกในปี 1969

นาอูรูเป็นเกาะหินฟอสเฟตที่มี่ปริมาณเก็บไว้เป็นจำนวนมากใกล้ผิวดิน ซึ่งช่วยให้ง่ายต่อการทำเหมืองผิวดิน ส่วนทรัพยากรฟอสเฟตที่เหลือไม่คุ้มค่าในการสกัด[10] เมื่อปริมาณสำรองฟอสเฟตหมดลง ประกอบกับความเสียหายอย่างรุนแรงของระบบนิเวศจากการทำเหมือง ทรัสต์ซึ่งก่อตั้งขึ้นเพื่อจัดการความมั่งคั่งของเกาะมีมูลค่าลดน้อยลง นาอูรูจึงกลายเป็นที่หลบภาษี (tax haven) และศูนย์กลางของการฟอกเงินในช่วงสั้น ๆ เพื่อหารายได้[11] จากปี 2001 ถึง 2008 และอีกครั้งตั้งแต่ปี 2012 รัฐบาลนาอูรูได้อนุญาตให้ออสเตรเลียตั้งศูนย์ประมวลผลภูมิภาคนาอูรู (Nauru Regional Processing Centre) ซึ่งเป็นสถานกักกันคนเข้าเมืองนอกชายฝั่ง แลกกับเงินช่วยเหลือ ด้วยการพึ่งพาออสเตรเลียเป็นอย่างมาก แหล่งข้อมูลบางแห่งระบุว่านาอูรูเป็นรัฐบริวารของออสเตรเลีย[12][13][14] นาอูรูในฐานะรัฐเอกราชเป็นสมาชิกของสหประชาชาติ กรอบการประชุมหมู่เกาะแปซิฟิก เครือจักรภพแห่งชาติ และองค์การรัฐแอฟริกา แคริบเบียน และแปซิฟิก

ประวัติศาสตร์

[แก้]
นักรบชาวนาอูรูระหว่างสงครามกลางเมืองนาอูรูประมาณปี 1880

ชาวไมโครนีเซียและชาวพอลินีเซียเป็นชนกลุ่มแรกที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานในนาอูรูเมื่อประมาณ 3,000 ปีก่อน[15] ตามธรรมเนียมแล้ว สามารถแบ่งผู้คนในนาอูรูได้เป็น 12 เผ่า ซึ่งแทนด้วยดาว 12 แฉกที่ปรากฏบนธงชาตินาอูรู[16] ประเพณีเดิมของชาวนาอูรูจะสืบตระกูลผ่านทางมารดา มีความชำนาญในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ โดยพวกเขาจับปลาอีบีจามาปรับตัวให้ชินกับสภาพแวดล้อมในน้ำจืดและเลี้ยงปลาเหล่านี้ในลากูนบัวดา เพื่อเป็นแหล่งอาหารที่มั่นคง ซึ่งมีเพียงผู้ชายเท่านั้นที่สามารถตกปลาตามแนวปะการังจากเรือแคนูหรือใช้นกเรือปืนใหญ่ที่ได้รับการฝึกฝนมา นอกจากนี้ยังมีพืชท้องถิ่นที่เป็นส่วนประกอบอาหารของพวกเขา เช่น มะพร้าวและเตยทะเล เป็นต้น[17][18] ชื่อ "นาอูรู" อาจมีที่มาจากศัพท์คำว่า Anáoero ในภาษานาอูรู อันมีความหมายว่าฉันไปชายหาด[19]

ในปี 1798 จอห์น เฟิร์น นักล่าวาฬชาวอังกฤษเป็นชาวยุโรปคนแรกที่เดินทางมาถึงเกาะนาอูรู โดยเขาได้ตั้งชื่อเกาะแห่งนี้ว่า "เกาะพลีแซนต์" โดยชื่อนี้ถูกใช้จนกระทั่งเยอรมนีผนวกเกาะแห่งนี้เป็นอาณานิคมในอีก 90 ปีต่อมา

ตั้งแต่ปี 1830 ชาวนาอูรูได้ติดต่อกับเรือล่าวาฬของชาวตะวันตก ซึ่งเรือล่าวาฬเหล่านี้จะแสวงหาน้ำจืดจากนาอูรูเพื่อเก็บไว้ใช้ในเรือ[18] ในช่วงเวลานี้กะลาสีเรือที่เลิกทำงานให้กับเรือล่าวาฬเริ่มเข้ามาอยู่อาศัยในนาอูรู ทำให้ชาวเกาะเริ่มมีการแลกเปลี่ยนค้าขายกับชาวตะวันตกมากยิ่งขึ้น โดยชาวเกาะจะนำอาหารไปแลกเปลี่ยนกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และอาวุธสงคราม[20] ซึ่งอาวุธสงครามที่ได้มาจากชาวตะวันตกเหล่านี้ได้ถูกนำมาใช้ในสงครามระหว่างชนเผ่าของนาอูรูในระหว่างปี 1878 จนถึงปี 1888[21]

ในปี 1888 หลังจากทำข้อตกลงกับอังกฤษ เยอรมนีได้ผนวกเกาะนาอูรูเข้าเป็นส่วนหนึ่งของหมู่เกาะมาร์แชลล์ในอารักขาเพื่อง่ายต่อการปกครอง[22][23] การเข้ามาของเยอรมนีในครั้งนี้ช่วยให้สงครามกลางเมืองระหว่างชนเผ่าต่าง ๆ สิ้นสุดลง และมีการสถาปนาสถาบันพระมหากษัตริย์ขึ้นมาปกครองเกาะแห่งนี้ โดยพระเจ้าโอเวอีดาเป็นพระมหากษัตริย์นาอูรูที่เป็นที่รู้จักกันมากที่สุด[24][25] ซึ่งชาวเยอรมันที่เข้ามาอาศัยอยู่ในนาอูรูจะเรียกนาอูรูว่า Nawodo หรือ Onawero[26]

ในปี 1888 คณะมิชชันนารีเริ่มเข้ามาเผยแพร่ศาสนาบนเกาะแห่งนี้ โดยเป็นกลุ่มมิชชันนารีที่เดินทางมาจากหมู่เกาะกิลเบิร์ต[24][27]

ในปี 1890 โรแบร์ต รัสช์ พ่อค้าชาวเยอรมันที่แต่งงานกับหญิงชาวนาอูรูเป็นผู้บริหารคนแรกของนาอูรู หลังจากจักรวรรดิเยอรมันเข้ามาปกครองนาอูรูราว ๆ 3 ทศวรรษ[24]

ในปี 1900 อัลเบิร์ต ฟูลเลอร์ เอลลิส นักสำรวจแร่ได้ค้นพบแหล่งแร่ฟอสเฟตในนาอูรู[23] จนกระทั่งในปี 1906 บริษัทแปซิฟิกฟอสเฟตได้ทำข้อตกลงกับรัฐบาลของเยอรมนีในการเริ่มทำกิจกรรมเหมืองแร่ฟอสเฟตในนาอูรู โดยเริ่มมีการส่งออกแร่ฟอสเฟตไปขายให้กับต่างประเทศในปี 1907[28]

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ในปี 1914 กองทัพออสเตรเลียได้ส่งกองกำลังเข้ายึดครองนาอูรู จนกระทั่งในปี 1919 ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และสหราชอาณาจักรได้ลงนามในข้อตกลงนาอูรู ซึ่งมีผลให้เกิดการสถาปนาคณะกรรมาธิการฟอสเฟตของอังกฤษ โดยคณะกรรมาธิการชุดนี้มีสิทธิ์ในการประกอบกิจการเหมืองฟอสเฟตในนาอูรู[29]

ในปี 1920 เกิดการระบาดของไวรัสไข้หวัดใหญ่ ส่งผลให้ชาวนาอูรูร้อยละ 18 เสียชีวิตจากการระบาดในครั้งนี้[30] หลังจากการระบาดของไข้หวัดใหญ่ 3 ปี สันนิบาตชาติได้ให้อำนาจออสเตรเลีย สหราชอาณาจักร และนิวซีแลนด์เป็นผู้ดูแลนาอูรูในฐานะดินแดนในอาณัติ[31] ต่อมาในวันที่ 6 และ 7 ธันวาคม ค.ศ. 1940 เรือของเยอรมนีสองลำได้ทำการจมเรือของฝ่ายสัมพันธมิตร 5 ลำบริเวณใกล้ ๆ กับนาอูรู นอกจากการจมเรือแล้ว เรือของเยอรมนีทั้งสองลำได้สร้างความเสียหายให้กับบริเวณเหมืองแร่และสายพานลำเลียงฟอสเฟตอีกด้วย[32][33]

การยอมแพ้ของจักรวรรดิญี่ปุ่นบนเรือรบเดียมันตินา

จักรวรรดิญี่ปุ่นได้ส่งกองกำลังเข้ายึดครองนาอูรู ในวันที่ 25 สิงหาคม ค.ศ. 1942[33] หลังจากนั้นได้เกณฑ์แรงงานชาวญี่ปุ่น ชาวเกาหลี ชาวนาอูรู และชาวกิลเบิร์ตให้สร้างสนามบิน โดยในระยะเวลาต่อมา กองทัพอากาศของสหรัฐอเมริกาได้ทิ้งระเบิดใส่สนามบินนี้ครั้งแรกในวันที่ 25 มีนาคม ค.ศ. 1943 เพื่อตัดการสนับสนุนเสบียงอาหารที่จะส่งไปยังนาอูรู จากการที่เสบียงอาหารที่มีน้อยลงเป็นผลให้กองทัพญี่ปุ่นต้องนำชาวนาอูรูราว ๆ 1,200 คนออกจากเกาะโดยส่งไปอยู่ที่เกาะชุกในหมู่เกาะแคโรไลน์[34] การที่นาอูรูโดนกองกำลังอเมริกาปิดล้อมมาอย่างยาวนาน นำไปสู่การยอมจำนนต่อกองทัพออสเตรเลียของฮิซะฮะชิ โซะเอะดะผู้นำกองกำลังญี่ปุ่นบนเกาะนาอูรู ในวันที่ 13 กันยายน ค.ศ. 1945[35] การยอมจำนนของญี่ปุ่นในครั้งนี้ได้รับการยอมรับโดยพลจัตวาสตีเวนสัน ซึ่งเป็นผู้แทนของพลโทเวอร์นอน สตูร์ดี ผู้บัญชาการกองทัพออสเตรเลียที่ 1 บนเรือรบเดียมันตินา[36][37] หลังจากการยอมแพ้ของกองกำลังญี่ปุ่น ได้มีการส่งชาวนาอูรู 737 คนที่รอดชีวิตจากเกาะชุกกลับไปยังนาอูรู โดยเรือของคณะกรรมาธิการฟอสเฟตของอังกฤษที่ชื่อว่า Trienza ในเดือนมกราคม ค.ศ. 1946[38] ซึ่งในปีต่อมา สหประชาชาติได้มอบหมายให้สหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์เป็นผู้ดูแลเกาะนาอูรูในฐานะดินแดนในภาวะทรัสตี[39]

ในปี 1964 มีการเสนอให้โยกย้ายประชากรบนเกาะนาอูรูไปยังเกาะเคอร์ติสนอกชายฝั่งรัฐควีนส์แลนด์ ประเทศออสเตรเลีย หลังจากนั้นบริษัทของออสเตรเลีย อังกฤษ และนิวซีแลนด์ได้ทำการขุดแร่ฟอสเฟตในนาอูรูกันอย่างกว้างขวาง ซึ่งสร้างความเสียหายให้กับภูมิทัศน์ จนถูกมองว่าเกาะแห่งนี้แทบจะไม่สามารถอยู่อาศัยได้ภายในทศวรรษ 1990 และการฟื้นฟูเกาะถูกมองว่าเป็นไปไม่ได้ทางการเงิน ในปี 1962 นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย โรเบิร์ต เมนซีส์ กล่าวว่าทั้งสามประเทศที่เกี่ยวข้องกับการขุดมีหน้าที่ต้องจัดหาวิธีแก้ปัญหาให้กับชาวนาอูรูและเสนอให้หาเกาะใหม่ให้กับพวกเขา ในปี 1963 รัฐบาลออสเตรเลียเสนอให้ซื้อที่ดินทั้งหมดบนเกาะเคอร์ติส (ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่านาอูรู) จากนั้นจึงเสนอให้มีการมอบกรรมสิทธิ์เหนือเกาะแก่ชาวนาอูรูและให้ชาวนาอูรูกลายเป็นพลเมืองของออสเตรเลีย[40][41] โดยในปี 2018 ค่าใช้จ่ายในการตั้งถิ่นฐานใหม่ของชาวนาอูรูบนเกาะเคอร์ติสถูกประเมินไว้ที่ 288 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย ซึ่งรวมไปถึงการก่อสร้างที่อยู่อาศัย โครงสร้างพื้นฐาน อุตสาหกรรม อภิบาล เกษตรกรรม และการประมง[42] อย่างไรก็ตามชาวนาอูรูไม่ปรารถนาที่จะเป็นพลเมืองของออสเตรเลียและต้องการได้รับอำนาจอธิปไตยเหนือเกาะเคอร์ติสเพื่อสถาปนาตนเองเป็นรัฐเอกราช ซึ่งออสเตรเลียไม่เห็นด้วย[43] ทำให้ชาวนาอูรูปฏิเสธข้อเสนอที่จะย้ายไปเกาะเคอร์ติสและเลือกที่จะเป็นรัฐเอกราชที่ดำเนินกิจการเหมืองบนเกาะนาอูรูแทน[44]

นาอูรูได้สิทธิ์ในการปกครองตนเองในเดือนมกราคม ค.ศ. 1966 และได้มีการประชุมร่างรัฐธรรมนูญขึ้น หลังจากนั้นผ่านไป 2 ปี นาอูรูจึงได้ประกาศเอกราชในปี 1968 โดยมีประธานาธิบดีแฮมเมอร์ ดีโรเบิร์ตเป็นประธานาธิบดีคนแรกของประเทศ[45]

ในปี 1967 ประชาชนชาวนาอูรูได้ร่วมกันซื้อทรัพย์สินของคณะกรรมาธิการฟอสเฟตของอังกฤษ ซึ่งนาอูรูได้สิทธิ์ในการบริหารจัดการกิจการเหมืองแร่ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1970 ภายใต้การบริหารของบริษัทนาอูรูฟอสเฟต[28] รายได้ของนาอูรูที่ได้จากการทำเหมืองแร่ส่งผลให้ประชาชนชาวนาอูรูมีมาตรฐานการครองชีพสูงที่สุดในกลุ่มประเทศแถบแปซิฟิก[46]

ในปี 1989 นาอูรูได้ฟ้องออสเตรเลียต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศจากความล้มเหลวของออสเตรเลียในการฟื้นฟูความเสียหายด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการทำเหมืองแร่ฟอสเฟตเมื่อครั้งที่ออสเตรเลียมีอำนาจบริหารกิจการต่าง ๆ ในนาอูรู[39][47]

เพื่อตอบสนองต่อการระบาดคครั้งใหญ่ของโควิด-19 ได้มีการประกาศภาวะฉุกเฉินในประเทศนาอูรูเมื่อวันที่ 17 มีนาคม ค.ศ. 2020 ประธานาธิบดี Lionel Aingimea ลงนามในคำประกาศเพื่อลดการระบาดให้น้อยที่สุดในช่วงระยะเวลา 30 วัน[48]

การเมือง

[แก้]
รัฐสภานาอูรู

นาอูรูเป็นสาธารณรัฐ มีประธานาธิบดีเป็นประมุขแห่งรัฐและหัวหน้ารัฐบาล รัฐสภานาอูรูเป็นระบบสภาเดียวประกอบด้วยสมาชิก 19 คน มาจากการเลือกตั้งทุก 3 ปี[49] รัฐสภาจะเลือกประธานาธิบดีจากสมาชิกรัฐสภา และประธานาธิบดีจะเป็นผู้แต่งตั้งคณะรัฐมนตรีซึ่งมีสมาชิก 5 ถึง 6 คน[50] นาอูรูไม่มีโครงสร้างพรรคการเมืองอย่างเข้มแข็งเท่าใดนัก โดยตัวแทนส่วนใหญ่เป็นผู้สมัครอิสระ ซึ่งเห็นได้จากสมาชิกรัฐสภาในสมัยปัจจุบันมีสมาชิกที่มาจากผู้แทนอิสระถึง 15 คนจากสมาชิกรัฐสภาทั้งหมด 19 คน สำหรับพรรคการเมืองที่มีการเคลื่อนไหวอยู่ในปัจจุบันมี 4 พรรค ได้แก่ พรรคนาอูรู พรรคประชาธิปไตยแห่งนาอูรู พรรคนาอูรูเฟิร์ส และพรรคกลาง แม้จะมีพรรคการเมือง แต่การร่วมรัฐบาลในนาอูรูนั้นมักขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ทางครอบครัวมากกว่าพรรคการเมืองที่สังกัด[51]

ในช่วงระหว่างปี 1992 ถึง 1999 ได้มีการนำระบบการปกครองส่วนท้องถิ่นที่เรียกว่า สภาเกาะนาอูรู (Nauru Island Council - NIC) เข้ามาใช้ โดยสภานี้จะมีสมาชิกสภาทั้งสิ้น 9 คน มีหน้าที่ให้บริการในท้องถิ่น อย่างไรก็ตามในปี 1999 รัฐบาลตัดสินใจยกเลิกสภาเกาะนาอูรูและให้ทรัพย์สินและหนี้สินของสภาทั้งหมดอยู่ในความรับผิดชอบของรัฐบาลแห่งชาติ[52] การครอบครองที่ดินในประเทศนาอูรูเป็นสิ่งที่แปลก เนื่องจากประชาชนชาวนาอูรูทุกคนมีสิทธิบางประการเหนือที่ดินทั้งหมดของเกาะ ซึ่งที่ดินเหล่านั้นมีเจ้าของเป็นบุคคลหรือกลุ่มครอบครัว รัฐบาลหรือองค์กรต่าง ๆ ไม่มีที่ดินเป็นของตนเอง หากมีความประสงค์จะใช้ที่ดินจะต้องทำสัญญากับเจ้าของที่ดินในบริเวณนั้นก่อน สำหรับประชาชนที่ไม่ใช่ชาวนาอูรูไม่มีสิทธิ์ครอบครองที่ดินบนเกาะ[15]

ศาลฎีกานาอูรูซึ่งนำโดยหัวหน้าผู้พิพากษา มีความสำคัญยิ่งในประเด็นทางรัฐธรรมนูญ คดีอื่น ๆ สามารถอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ผู้พิพากษาสองคนได้ รัฐสภาไม่สามารถพลิกคำตัดสินของศาลได้ ในอดีตคำตัดสินของศาลอุทธรณ์สามารถยื่นอุทธรณ์ต่อศาลสูงแห่งออสเตรเลียได้[53][54] แม้ว่าสิ่งนี้จะเกิดขึ้นไม่บ่อยนัก เขตอำนาจศาลอุทธรณ์ของศาลออสเตรเลียสิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 12 มีนาคม ค.ศ. 2018 หลังจากที่รัฐบาลนาอูรูยุติข้อตกลง[55][56][57] ศาลชั้นต้นประกอบด้วยศาลเขตและศาลครอบครัว ทั้งสองศาลมีผู้พิพากษาประจำถิ่นเป็นหัวหน้า ซึ่งเป็นนายทะเบียนของศาลฎีกาด้วย มีศาลกึ่งอีกสองศาล คือ คณะกรรมการอุทธรณ์บริการสาธารณะและคณะกรรมการอุทธรณ์ของตำรวจ ซึ่งทั้งสองมีหัวหน้าผู้พิพากษาเป็นประธาน[3]

การแบ่งเขตการปกครอง

[แก้]
แผนที่นาอูรูแสดงเขต

นาอูรูแบ่งเขตการปกครองออกเป็น 14 เขต ซึ่งแบ่งออกเป็นเขตเลือกตั้ง 8 เขต และแบ่งออกเป็นหมู่บ้าน[3][2]เขตที่มีประชากรมากที่สุดคือเขตเดนีโกโมดู ซึ่งมีประชากร 1,804 คน โดย 1,497 คนอาศัยอยู่ในนิคมของ Nauru Phosphate Corporation ตารางต่อไปนี้แสดงรายชื่อเขต และจำนวนประชากรตามการสำรวจสำมะโนประชากร ค.ศ. 2011[58]

ลำดับ (ตามตัวอักษรไทย) รายชื่อเขต ชื่อเดิม พื้นที่ (เฮกตาร์) ประชากร (2011) จำนวนหมู่บ้าน ความหนาแน่น (คน/เฮกตาร์)
1 เดนีโกโมดู Denikomotu 118 1,804 17 15.3
2 นีบ็อก Ennibeck 160 484 11 3.0
3 บูดาอา Arenibok 260 739 14 2.8
4 โบเอ Boi 50 851 4 17.0
5 บาอีตี Beidi, Baiti 120 513 15 4.3
6 เมเนง Meneñ 310 1,380 18 4.5
7 ยาเรน Moqua 150 747 7 4.0
8 อานาบาร์ Anebwor 150 452 15 3.0
9 อานีบาเร Anybody 310 226 17 0.7
10 อาเนตัน Añetañ 100 587 12 5.9
11 อูอาโบเอ Ueboi 80 318 6 3.0
12 อีจูว์ Ijub 110 178 13 1.6
13 เอวา Eoa 120 446 12 3.7
14 อาอีโว Aiue 110 1,220 8 11.1
นาอูรู Naoero 2,120 10,084 169 4.8

ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

[แก้]

นาอูรูได้เข้าร่วมเครือจักรภพแห่งชาติหลังจากที่ได้เอกราชในปี ค.ศ. 1968 ในฐานะสมาชิกพิเศษ และได้รับสถานะสมาชิกภาพโดยสมบูรณ์เมื่อปี ค.ศ. 2000[59] นาอูรูได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกของธนาคารพัฒนาเอเชียในปี ค.ศ. 1999 และเข้าร่วมเป็นสมาชิกของสหประชาชาติในปี ค.ศ. 1999[60] นอกจากนี้แล้วในระดับภูมิภาคนาอูรูเป็นสมาชิกของ Pacific Islands Forum และองค์กรในระดับภูมิภาคอื่น ๆ[61] นาอูรูได้อนุญาตให้ Atmospheric Radiation Measurement Program ของสหรัฐอเมริกาเข้ามาใช้ระบบการตรวจสอบอากาศบนเกาะได้ [62]

นาอูรูไม่มีกองทหารเป็นของตนเอง การป้องกันประเทศเป็นหน้าที่ของรัฐบาลออสเตรเลียภายใต้ข้อตกลงอย่างไม่เป็นทางการของทั้งสองประเทศ ส่วนการรักษาความสงบเรียบร้อยจะใช้กองกำลังตำรวจขนาดเล็กซึ่งอยู่ภายใต้การควบคุมของฝ่ายพลเรือนเป็นผู้ดูแล[2] นอกจากการป้องกันประเทศแล้ว นาอูรูและออสเตรเลียได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจเดือนกันยายน ค.ศ. 2005 โดยในบันทึกความเข้าใจนี้ออสเตรเลียจะให้เงินช่วยเหลือแก่นาอูรู รวมไปถึงการส่งผู้เชี่ยวชาญทางด้านการเงิน การสาธารณสุขและการศึกษาเพื่อเป็นที่ปรึกษาให้แก่รัฐบาลนาอูรู ทั้งนี้ผลประโยชน์ที่นาอูรูได้รับจะต้องแลกเปลี่ยนกับการที่นาอูรูจะให้ที่อยู่อาศัยกับกลุ่มผู้ขอลี้ภัยเข้าออสเตรเลียในระหว่งที่กระบวนการพิจารณากำลังดำเนินการอยู่[63] ในปัจจุบันประเทศนาอูรูใช้สกุลเงินดอลลาร์ออสเตรเลีย[3]

ภูมิศาสตร์

[แก้]
เกาะนาอูรู

ประเทศนาอูรูมีพื้นที่ 21 ตารางกิโลเมตร (8 ตารางไมล์)[2] โดยเป็นเกาะรูปรีตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของมหาสมุทรแปซิฟิก เกาะนาอูรูอยู่ห่างจากเส้นศูนย์สูตร 42 กิโลเมตร (26 ไมล์) ไปทางทิศใต้ มีแนวปะการังล้อมรอบซึ่งแนวปะการังเหล่านี้จะปรากฏยอดแหลมให้เห็นเมื่อเวลาน้ำลง[3] การเข้าถึงเกาะนาอูรูทางน้ำเป็นไปด้วยความยากลำบาก เนื่องจากการมีแนวปะการังที่ล้อมรอบเกาะมีผลทำให้ไม่สามารถสร้างท่าเรือได้ อย่างไรก็ตามมีการขุดคลองตามแนวปะการังเพื่อช่วยให้เรือเล็กสามารถเข้าถึงเกาะได้[64]

แนวหน้าผาปะการังล้อมรอบที่ราบสูงตอนกลางของเกาะ จุดที่อยู่สูงสุดในบริเวณที่ราบสูงเรียกว่าคอมมานด์ริดจ์ ซึ่งมีความสูง 71 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง[65] บริเวณที่มีความอุดมสมบุรณ์เพียงแห่งเดียวของประเทศนาอูรูอยู่ในบริเวณพื้นที่แคบ ๆ ของแถบชายฝั่งทะเล ซึ่งต้นมะพร้าวเจริญเติบโตได้ดี นอกจากนี้ดินบริเวณโดยรอบของลากูนบูอาดาสามารถปลูกกล้วย สับปะรด ผักชนิดต่าง ๆ เตยทะเล และพืชไม้เนื้อแข็งท้องถิ่นคือต้นกระทิง[3]

นาอูรูเป็นหนึ่งในสามเกาะหินฟอสเฟตใหญ่ในมหาสมุทรแปซิฟิก โดยอีกสองแห่งคือเกาะบานาบาของประเทศคิริบาส และมากาเทียของเฟรนช์โปลินีเซีย อย่างไรก็ตามฟอสเฟตของประเทศนั้นถูกนำมาใช้เกือบหมดแล้ว การทำเหมืองฟอสเฟตในที่ราบสูงตอนกลาง ทำให้พื้นที่กลายเป็นที่ไร้พืช เต็มไปด้วยหินปูนขรุขระที่มียอดสูงสุด 15 เมตร การทำเหมืองแร่เป็นเวลาหนึ่งศตวรรษ ได้สร้างความเสียหายให้กับพื้นที่ถึงสี่ในห้า นอกจากนี้ยังสร้างความเสียหายพื้นที่เขตเศรษฐกิจจำเพาะโดยรอบ โดยประมาณการว่า 40% ของสัตว์น้ำตายจากของเหลวที่ปล่อยออกมา ซึ่งเต็มไปด้วยฟอสเฟต[3][66]

ปริมาณน้ำจืดในนาอูรูมีอยู่อย่างจำกัด โดยชาวนาอูรูจะใช้ถังเพื่อกักเก็บน้ำฝน อย่างไรก็ตามชาวนาอูรูโดยส่วนมากจะพึ่งพาน้ำจืดจากโรงงานผลิตน้ำจืดจากทะเลทั้งสิ้น 3 แห่ง ซึ่งตั้งอยู่ที่สำนักงานสาธารณูปโภคนาอูรู (Nauru's Utilities Agency) ลักษณะภูมิอากาศของนาอูรูเป็นเขตร้อนชื้น เนื่องจากการตั้งอยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตรและมหาสมุทร นาอูรูได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมในช่วงระหว่างเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนกุมภาพันธ์ แต่มักไม่พบพายุหมุนเขตร้อนเท่าไหร่นัก ปริมาณหยาดน้ำฟ้าของนาอูรูมีความผันแปรสูงมากและมักได้รับอิทธิพลจากเอลนิลโญ ด้วยเหตุนี้ส่งผลให้บางครั้งนาอูรูประสบกับภาวะความแห้งแล้ง[15][67] ในส่วนของอุณหภูมิในนาอูรูนั้น ช่วงเวลากลางวันอุณหภูมิจะอยู่ระหว่าง 26 องศาเซลเซียส (79 องศาฟาเรนไฮต์) ถึง 35 องศาเซลเซียส (95 องศาฟาเรนไฮต์) ส่วนตอนกลางคืนจะมีอุณหภูมิระหว่าง 22 องศาเซลเซียส (72 องศาฟาเรนไฮต์) ถึง 34 องศาเซลเซียส (93 องศาฟาเรนไฮต์)[68]

ในปัจจุบัน นาอูรูประสบปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น นาอูรูได้รับการจัดให้เป็นหนึ่งในเจ็ดเกาะที่ประสบปัญหาภาวะโลกร้อนซึ่งอาจก่อให้เกิดน้ำท่วมเกาะได้[69] ถึงแม้ว่าร้อยละ 80 ของพื้นที่ในนาอูรูจะเป็นที่สูง แต่พื้นที่เหล่านั้นไม่สามารถอาศัยอยู่ได้ จนกว่าโครงการการฟื้นฟูแหล่งแร่ฟอสเฟตจะเริ่มดำเนินการ[66][70]

ข้อมูลภูมิอากาศของเขตยาเรน
เดือน ม.ค. ก.พ. มี.ค. เม.ย. พ.ค. มิ.ย. ก.ค. ส.ค. ก.ย. ต.ค. พ.ย. ธ.ค. ทั้งปี
อุณหภูมิสูงสุดที่เคยบันทึก °C (°F) 34
(93)
37
(99)
35
(95)
35
(95)
32
(90)
32
(90)
35
(95)
33
(91)
35
(95)
34
(93)
36
(97)
35
(95)
37
(99)
อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ย °C (°F) 30
(86)
30
(86)
30
(86)
30
(86)
30
(86)
30
(86)
30
(86)
30
(86)
30
(86)
31
(88)
31
(88)
31
(88)
30.3
(86.5)
อุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ย °C (°F) 25
(77)
25
(77)
25
(77)
25
(77)
25
(77)
25
(77)
25
(77)
25
(77)
25
(77)
25
(77)
25
(77)
25
(77)
25
(77)
อุณหภูมิต่ำสุดที่เคยบันทึก °C (°F) 21
(70)
21
(70)
21
(70)
21
(70)
20
(68)
21
(70)
20
(68)
21
(70)
20
(68)
21
(70)
21
(70)
21
(70)
20
(68)
หยาดน้ำฟ้า มม (นิ้ว) 280
(11.02)
250
(9.84)
190
(7.48)
190
(7.48)
120
(4.72)
110
(4.33)
150
(5.91)
130
(5.12)
120
(4.72)
100
(3.94)
120
(4.72)
280
(11.02)
2,080
(81.89)
วันที่มีหยาดน้ำฟ้าโดยเฉลี่ย 16 14 13 11 9 9 12 14 11 10 13 15 152
แหล่งที่มา: Weatherbase[71]

เศรษฐกิจ

[แก้]

นาอูรูมีแร่ฟอสเฟตอยู่มาก และรายได้แทบทั้งหมดของประเทศมาจากอุตสาหกรรมการขุดและส่งออกแร่ฟอสเฟต ซึ่งมีรายได้ดีจนทำให้ชาวนาอูรู มีรายได้เฉลี่ยต่อหัวสูงเป็นอันดับต้นในหมู่ประเทศหมู่เกาะแปซิฟิกด้วยกัน

ประชากร

[แก้]
มิชชันนารีที่เข้ามาเผยแผ่ศาสนาคริสต์แก่ชาวนาอูรูจนกลายป็นศาสนาที่มีผู้นับถือมากที่สุดในประเทศ

ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2011 นาอูรูมีประชากร 9,378 คน ซึ่งแต่เดิมมีประชากรมากกว่านี้ โดยในปี ค.ศ. 2006 ชาวนาอูรูราว 1,500 คน ออกจากเกาะไปพร้อมกับแรงงานอพยพชาวคิริบาสและตูวาลูที่ถูกส่งกลับ[2] ภาษาราชการของที่นี่คือ ภาษานาอูรู ร้อยละ 96 ของประชากรเชื้อสายนาอูรูนิยมใช้สนทนากันในบ้าน[72] ส่วนภาษาอังกฤษถูกใช้สื่อสารกันอย่างแพร่หลายทั้งในรัฐบาลและการพาณิชย์ แม้ว่าชาวนาอูรูจะไม่ค่อยออกไปนอกประเทศก็ตาม[2][3]

ประชากรส่วนใหญ่ของนาอูรูมีเชื้อสายนาอูรู ร้อยละ 58, บุคคลที่มาจากหมู่เกาะแปซิฟิกอื่น ๆ ร้อยละ 26, ชาวยุโรป ร้อยละ 8 และชาวจีนอีกร้อยละ 8 จากการสำรวจในปี ค.ศ. 2010 ประชากรนาอูรูส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์นิกายโปรเตสแตนต์ราวสองในสาม ส่วนที่เหลือนับถือนิกายโรมันคาทอลิก[3] รวมทั้งหมดร้อยละ 75, ศาสนาของชาวจีนและศาสนาพุทธ ร้อยละ 11.9, ศาสนาบาไฮ ร้อยละ 9.6 และอไญยนิยม ร้อยละ 3.5[73] อย่างไรก็ตามรัฐบาลได้จำกัดสิทธิของกลุ่มมอรมอนและพยานพระยะโฮวาที่เป็นลูกจ้างต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในบริษัทฟอสเฟตซึ่งรัฐเป็นเจ้าของกิจการ[74]

อัตราการรู้หนังสือของชาวนาอูรูอยู่ที่ร้อยละ 96 มีการศึกษาภาคบังคับสำหรับเด็กอายุตั้งแต่ 6-16 ปี และไม่บังคับอีกสองปี[75] ที่นาอูรูนี้มีวิทยาเขตของมหาวิทยาลัยเซาท์แปซิฟิกเปิดให้บริการ ก่อนการก่อตั้งวิทยาเขตดังกล่าวในปี ค.ศ. 1987 ผู้ศึกษาต่อจะต้องออกไปศึกษาต่อยังต่างประเทศ[76]

ชาวนาอูรูมีปัญหาเกี่ยวกับโรคอ้วนหรือมีน้ำหนักเกินเกณฑ์มาตรฐาน มีสัดส่วนเป็นเพศชายร้อยละ 97 และเพศหญิงร้อยละ 93[77] ส่งผลให้ประเทศนาอูรูอยู่ในอันดับสูงสุดของโลกที่ประชากรมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวานชนิดที่สอง มีประชากรมากกว่าร้อยละ 40 ได้รับผลกระทบจากโรคดังกล่าวด้วย[78] ส่วนปัญหาอื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการบริโภคของชาวนาอูรูคือ โรคไตและโรคหัวใจ อายุขัยโดยเฉลี่ยของชาวนาอูรูคือ 60.6 ปี สำหรับเพศชาย และ 68.0 ปี สำหรับเพศหญิง[79]

วัฒนธรรม

[แก้]

สัตว์ป่าและพันธุ์พืช

[แก้]

หมายเหตุ

[แก้]
  1. นาอูรูไม่มีเมืองหลวงอย่างเป็นทางการ แต่ที่ทำการรัฐบาลและรัฐสภาแห่งชาติตั้งอยู่ในเขตยาเรนซึ่งเป็นหน่วยการบริหารระดับล่างสุด จึงอาจถือว่ายาเรนเป็นชื่อเมืองหลวงโดยอนุโลม[1]
  2. ประชากรส่วนใหญ่และรัฐบาล กฎหมาย และการค้าในประเทศนาอูรู ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลัก เนื่องจากประวัติศาสตร์และความสัมพันธ์ระหว่างนาอูรูกับออสเตรเลีย ทำให้ภาษาอังกฤษออสเตรเลียกลายเป็นสำเนียงที่มีผู้พูดมากที่สุด[2][3]

อ้างอิง

[แก้]
  1. Worldwide Government Directory with Intergovernmental Organizations. CQ Press. 2013. p. 1131.
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 2.5 Central Intelligence Agency (2011). "Nauru". The World Factbook. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-09-17. สืบค้นเมื่อ 12 February 2011.
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 3.4 3.5 3.6 3.7 3.8 "Background Note: Nauru". State Department Bureau of East Asian and Pacific Affairs. 13 March 2012. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 17 October 2012. อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่สมเหตุสมผล มีนิยามชื่อ "state" หลายครั้งด้วยเนื้อหาต่างกัน
  4. "การประเมินประชากรโลก พ.ศ. 2560". ESA.UN.org (custom data acquired via website). United Nations Department of Economic and Social Affairs, Population Division. สืบค้นเมื่อ 10 September 2017.
  5. "National Report on Population ad Housing" (PDF). Nauru Bureau of Statistics. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 24 September 2015. สืบค้นเมื่อ 9 June 2015.
  6. 6.0 6.1 6.2 6.3 "Report for Selected Countries and Subjects". www.imf.org.
  7. Department of Justice and Border Control (21 December 1978). "Nauru Standard Time Act 1978" (PDF). สืบค้นเมื่อ 11 September 2020. Because of the peculiar way the legislation is worded the legal time is not GMT+12.
  8. "Nauru Pronunciation in English". Cambridge English Dictionary. Cambridge University Press. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 17 February 2015. สืบค้นเมื่อ 16 February 2015.
  9. "Yaren | district, Nauru". Encyclopedia Britannica (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2 September 2019.
  10. Hogan, C Michael (2011). "Phosphate". Encyclopedia of Earth. National Council for Science and the Environment. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 25 October 2012. สืบค้นเมื่อ 17 June 2012.
  11. Hitt, Jack (10 December 2000). "The Billion-Dollar Shack". The New York Times. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 16 January 2018. สืบค้นเมื่อ 29 January 2018.
  12. "Pacific correspondent Mike Field". Radio New Zealand. 18 June 2015. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 10 December 2015. สืบค้นเมื่อ 8 December 2015.
  13. "Nauru's former chief justice predicts legal break down". Special Broadcasting Service. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 10 December 2015. สืบค้นเมื่อ 8 December 2015.
  14. Ben Doherty. "This is Abyan's story, and it is Australia's story". The Guardian. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 26 February 2017. สืบค้นเมื่อ 12 December 2016.
  15. 15.0 15.1 15.2 Nauru Department of Economic Development and Environment (2003). "First National Report to the United Nations Convention to Combat Desertification" (PDF). United Nations. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 22 July 2011. สืบค้นเมื่อ 25 June 2012.
  16. Whyte, Brendan (2007). "On Cartographic Vexillology". Cartographica. 42 (3): 251–262. doi:10.3138/carto.42.3.251. ISSN 0317-7173.
  17. Pollock, Nancy J (1995). "5: Social Fattening Patterns in the Pacific—the Positive Side of Obesity. A Nauru Case Study". ใน De Garine, I (บ.ก.). Social Aspects of Obesity. Routledge. pp. 87–111.
  18. 18.0 18.1 Spennemann, Dirk HR (January 2002). "Traditional milkfish aquaculture in Nauru". Aquaculture International. 10 (6): 551–562. doi:10.1023/A:1023900601000.
  19. West, Barbara A (2010). "Nauruans: nationality". Encyclopedia of the Peoples of Asia and Oceania. Infobase Publishing. pp. 578–580. ISBN 978-1-4381-1913-7.
  20. Marshall, Mac; Marshall, Leslie B (January 1976). "Holy and unholy spirits: The Effects of Missionization on Alcohol Use in Eastern Micronesia". Journal of Pacific History. 11 (3): 135–166. doi:10.1080/00223347608572299.
  21. Reyes, Ramon; E, Jr (1996). "Nauru v. Australia". New York Law School Journal of International and Comparative Law. 16 (1–2).
  22. "Commonwealth and Colonial Law" by Kenneth Roberts-Wray, London, Stevens, 1966. p. 884
  23. 23.0 23.1 Firth, Stewart (January 1978). "German Labour Policy in Nauru and Angaur, 1906–1914". The Journal of Pacific History. 13 (1): 36–52. doi:10.1080/00223347808572337.
  24. 24.0 24.1 24.2 Hill, Robert A, บ.ก. (1986). "2: Progress Comes to Nauru". The Marcus Garvey and Universal Negro Improvement Association Papers. Vol. 5. University of California Press. ISBN 978-0-520-05817-0.
  25. Ellis, AF (1935). Ocean Island and Nauru – their story. Angus and Robertson Limited. pp. 29–39.
  26. Hartleben, A (1895). Deutsche Rundschau für Geographie und Statistik. p. 429.
  27. Ellis, AF (1935). Ocean Island and Nauru – their story. Angus and Robertson Limited. pp. 29–39.
  28. 28.0 28.1 Manner, HI; Thaman RR; Hassall DC (May 1985). "Plant succession after phosphate mining on Nauru". Australian Geographer. 16 (3): 185–195. doi:10.1080/00049188508702872.
  29. Gowdy John M; McDaniel Carl N (May 1999). "The Physical Destruction of Nauru". Land Economics. 75 (2): 333–338.
  30. Shlomowitz, R (November 1990). "Differential mortality of Asians and Pacific Islanders in the Pacific labour trade". Journal of the Australian Population Association. 7 (2): 116–127. PMID 12343016.
  31. Hudson, WJ (April 1965). "Australia's experience as a mandatory power". Australian Outlook. 19 (1): 35–46. doi:10.1080/10357716508444191.
  32. Waters, SD (2008). German raiders in the Pacific (3rd ed.). Merriam Press. p. 39. ISBN 978-1-4357-5760-8.
  33. 33.0 33.1 Bogart, Charles H (November 2008). "Death off Nauru" (PDF). CDSG Newsletter: 8–9. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2013-10-12. สืบค้นเมื่อ 16 June 2012.
  34. Haden, JD (2000). "Nauru: a middle ground in World War II". Pacific Magazine. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-02-08. สืบค้นเมื่อ 16 June 2012.
  35. Takizawa, Akira; Alsleben, Allan (1999–2000). "Japanese garrisons on the by-passed Pacific Islands 1944–1945". Forgotten Campaign: The Dutch East Indies Campaign 1941–1942. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-01-06. สืบค้นเมื่อ 2014-04-04.
  36. The Times, 14 September 1945
  37. "Nauru Occupied by Australians; Jap Garrison and Natives Starving". The Argus. 15 September 1945. สืบค้นเมื่อ 30 December 2010.
  38. Garrett, J (1996). Island Exiles. ABC. pp. 176–181. ISBN 0-7333-0485-0.
  39. 39.0 39.1 Highet K; Kahale H (1993). "Certain Phosphate Lands in Nauru". American Journal of International Law. 87: 282–288. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-05-11. สืบค้นเมื่อ 2014-04-04.
  40. "Island Purchase For Nauruans". The Canberra Times. Vol. 38 no. 10, 840. Australian Capital Territory, Australia. 6 May 1964. p. 5. สืบค้นเมื่อ 1 April 2019 – โดยทาง National Library of Australia.
  41. "Nauruans Likely To Settle Curtis Island". The Canberra Times. Vol. 37 no. 10, 549. Australian Capital Territory, Australia. 30 May 1963. p. 9. สืบค้นเมื่อ 1 April 2019 – โดยทาง National Library of Australia.
  42. McAdam, Jane (15 August 2016). "How the entire nation of Nauru almost moved to Queensland". The Conversation. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 1 April 2019. สืบค้นเมื่อ 1 April 2019.
  43. "Lack of Sovereignty 'Disappoints' Nauruans". The Canberra Times. Vol. 37 no. 10, 554. Australian Capital Territory, Australia. 5 June 1963. p. 45. สืบค้นเมื่อ 1 April 2019 – โดยทาง National Library of Australia.
  44. "Nauru not to take Curtis Is". The Canberra Times. Vol. 38 no. 10, 930. Australian Capital Territory, Australia. 21 August 1964. p. 3. สืบค้นเมื่อ 1 April 2019 – โดยทาง National Library of Australia.
  45. Davidson, JW (January 1968). "The republic of Nauru". The Journal of Pacific History. 3 (1): 145–150. doi:10.1080/00223346808572131.
  46. Squires, Nick (15 March 2008). "Nauru seeks to regain lost fortunes". BBC News Online. สืบค้นเมื่อ 16 March 2008.
  47. Case Concerning Certain Phosphate Lands in Nauru (Nauru v. Australia) Application: Memorial of Nauru. ICJ Pleadings, Oral Arguments, Documents. United Nations, International Court of Justice. January 2004. ISBN 978-92-1-070936-1.
  48. "Nauru declares 'state of emergency' to manage coronavirus pandemic". SBS News (ภาษาอังกฤษ). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 20 January 2023. สืบค้นเมื่อ 23 February 2024.
  49. Matau, Robert (6 June 2013) "President Dabwido gives it another go" เก็บถาวร 2013-09-26 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. Islands Business.
  50. Levine, Stephen; Roberts Nigel S (November 2005). "The constitutional structures and electoral systems of Pacific Island States". Commonwealth & Comparative Politics. 43 (3): 276–295. doi:10.1080/14662040500304866.
  51. Anckar, D; Anckar C (2000). "Democracies without Parties". Comparative Political Studies. 33 (2): 225–247. doi:10.1177/0010414000033002003.
  52. Hassell Graham; Tipu Feue (May 2008). "Local Government in the South Pacific Islands". Commonwealth Journal of Local Governance. 1 (1): 6–30.
  53. "Nauru (High Court Appeals) Act (Australia) 1976". Australian Legal Information Institute. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 1 October 2006. สืบค้นเมื่อ 7 August 2006.
  54. Dale, Gregory (2007). "Appealing to Whom? Australia's 'Appellate Jurisdiction' Over Nauru". International & Comparative Law Quarterly. 56 (3): 641–658. doi:10.1093/iclq/lei186.
  55. Gans, Jeremy (20 February 2018). "News: Court may lose Nauru appellate role". Opinions on High. Melbourne Law School, The University of Melbourne. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2 April 2018. สืบค้นเมื่อ 2 April 2018.
  56. Clarke, Melissa (2 April 2018). "Justice in Nauru curtailed as Government abolishes appeal system". ABC News. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2 April 2018. สืบค้นเมื่อ 2 April 2018.
  57. Wahlquist, Calla (2 April 2018). "Fears for asylum seekers as Nauru moves to cut ties to Australia's high court". The Guardian. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 1 April 2018. สืบค้นเมื่อ 2 April 2018.
  58. "Nauru—The population of the districts of the Republic of Nauru". City Population. 2011. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 23 September 2015. สืบค้นเมื่อ 10 June 2015.
  59. "Republic of Nauru Permanent Mission to the United Nations". United Nations. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2006-08-18. สืบค้นเมื่อ 10 May 2006.
  60. "Nauru in the Commonwealth". Commonwealth of Nations. สืบค้นเมื่อ 18 June 2012.
  61. "Nauru (04/08)". US State Department. 2008. สืบค้นเมื่อ 17 June 2012.
  62. Long, Charles N; McFarlane Sally A (March 2012). "Quantification of the Impact of Nauru Island on ARM Measurements". Journal of Applied Meteorology and Climatology. 51 (3): 628–636. doi:10.1175/JAMC-D-11-0174.1.
  63. "Republic of Nauru Country Brief". Australian Department of Foreign Affairs and Trade. November 2005. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-10-06. สืบค้นเมื่อ 2 May 2006.
  64. Thaman RR; Hassall DC. "Nauru: National Environmental Management Strategy and National Environmental Action Plan" (PDF). South Pacific Regional Environment Programme. p. 234. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2012-05-11. สืบค้นเมื่อ 2014-04-06.
  65. Jacobson Gerry; Hill Peter J; Ghassemi Fereidoun (1997). "24: Geology and Hydrogeology of Nauru Island". ใน Vacher H Leonard; Quinn Terrence M (บ.ก.). Geology and hydrogeology of carbonate islands. Elsevier. p. 716. ISBN 978-0-444-81520-0.
  66. 66.0 66.1 Republic of Nauru (1999). "Climate Change – Response" (PDF). First National Communication. United Nations Framework Convention on Climate Change. สืบค้นเมื่อ 9 September 2009.
  67. Affaire de certaines terres à phosphates à Nauru. International Court of Justice. 2003. pp. 107–109. ISBN 978-92-1-070936-1.
  68. "Pacific Climate Change Science Program" (PDF). Government of Australia. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2012-02-27. สืบค้นเมื่อ 10 June 2012.
  69. Stephen, Marcus (November 2011). "A Sinking Feeling; Why is the president of the tiny Pacific island nation of Nauru so concerned about climate change?". The New York Times Upfront. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-01-10. สืบค้นเมื่อ 18 June 2012.
  70. "Current and future climate of Nauru" (PDF). Centre for Australian Weather and Climate Research. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2013-05-12. สืบค้นเมื่อ 18 June 2012.
  71. http://www.weatherbase.com/weather/weather.php3?s=542049&refer=&cityname=Yaren-District-Yaren-Nauru&units=metric weatherbase]
  72. "Country Economic Report: Nauru" (PDF). Asian Development Bank. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2011-06-07. สืบค้นเมื่อ 20 June 2012.
  73. "Religious Adherents, 2010 – Nauru". World Christian Database. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-04-28. สืบค้นเมื่อ 10 เมษายน 2557. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  74. "International Religious Freedom Report 2003 – Nauru". US Department of State. 2003. สืบค้นเมื่อ 2 May 2005.
  75. Waqa, B (1999). "UNESCO Education for all Assessment Country report 1999 Country: Nauru". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2006-05-25. สืบค้นเมื่อ 2 May 2006.
  76. "USP Nauru Campus". University of the South Pacific. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-06-20. สืบค้นเมื่อ 19 June 2012.
  77. "Fat of the land: Nauru tops obesity league". Independent. 26 December 2010. สืบค้นเมื่อ 19 June 2012.
  78. King H; Rewers M (1993). "Diabetes in adults is now a Third World problem". Ethnicity & Disease. 3: S67–74.
  79. "Nauru". World health report 2005. World Health Organization. สืบค้นเมื่อ 2 May 2006.

ข้อมูล

[แก้]

ดูเพิ่ม

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]