ชาวไทดำ
บทความนี้ยังต้องการเพิ่มแหล่งอ้างอิงเพื่อพิสูจน์ความถูกต้อง |
ꪼꪕ ꪒꪾ | |
---|---|
ประชากรทั้งหมด | |
1,040,549 คน (ค.ศ.1999). [ต้องการอ้างอิง] | |
ภูมิภาคที่มีประชากรอย่างมีนัยสำคัญ | |
จีน, ลาว, ไทย, เวียดนาม | |
ภาษา | |
ไทดำ, เวียดนาม, ลาว, อีสาน, ไทย, จีน | |
ศาสนา | |
ศาสนาผี, ศาสนาคริสต์, พุทธเถรวาท |
ไทดำ หรือ ไทยทรงดำ เป็นกลุ่มชาวไทกลุ่มหนึ่ง ที่มีถิ่นฐานดั้งเดิมอยู่ในเขตสิบสองจุไทเดิม หรือบริเวณลุ่มแม่น้ำดำและแม่น้ำแดงในเวียดนามตอนเหนือ ซึ่งเป็นถิ่นที่อยู่ดั้งเดิมของชาวไทดำและ ชาวไทขาว ปัจจุบันสิบสองจุไทคือจังหวัดเดี่ยนเบียนของเวียดนาม มีเขตติดต่อกับประเทศลาวคือแขวงพงสาลี
ปัจจุบันชื่อที่ชาวพื้นเมืองใช้เรียกตนเองที่จังหวัดเดี่ยนเบียนคือ "ไตดำ" (ꪼꪕꪒꪾ)
ในสมัยที่ฝรั่งเศสเข้ามาปกครองเวียดนามและลาว พวกเขาได้เรียกชนเผ่าที่อยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำดำว่า ไทดำ ที่เรียกว่าไทดำไม่ใช่ว่าพวกเขาอาศัยอยู่ในบริเวณลุ่มน้ำดำ แต่เพราะว่ากลุ่มชนเผ่าไทดังกล่าว นิยมสวมเสื้อผ้าสีดำอันเป็นเอกลักษณ์ ซึ่งย้อมด้วยต้นห้อมหรือต้นคราม การที่เรียกว่า "ลาวโซ่ง" จริง ๆ แล้วชนชาติพันธุ์ไม่ได้เป็นลาว เหตุที่เรียกเช่นนี้เป็นเพราะว่ามีการอพยพผ่านดินแดนลาวลงมายังสยาม การเรียกว่า "ชาวโซ่ง" หรือ "ชาวไทยทรงดำ" จะถูกต้องกว่า เหมือนที่มีการเรียกคนกลุ่มนี้ในจังหวัดเพชรบุรีว่า "โซ่ง" หรือ "ไทยทรงดำ"[1]
ประวัติการอพยพ
[แก้]ระหว่าง พ.ศ. 2438 ถึง พ.ศ. 2439 ได้เกิดการอพยพครั้งใหญ่ของชาวไทขึ้น สาเหตุก็มาจากศึกสงครามแย่งชิงอำนาจกัน ระหว่างบรรดาหัวหน้าของไทดำกลุ่มต่าง ๆ ในแคว้นสิบสองจุไท จึงได้อพยพเข้ามาในประเทศลาว และในภาคอีสานของประเทศไทย
- ในประเทศลาว ชาวไทดำส่วนมากได้ตั้งถิ่นฐานในแขวงหลวงน้ำทา แขวงบ่อแก้ว แขวงอุดมไซ และส่วนน้อยในทุกแขวงของประเทศลาว ปัจจุบันยังคงเรียกตนเองว่าคนไทดำเหมือนเดิม
- ในประเทศไทย จะอพยพเข้ามาอยู่ที่อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย ซึ่งมีการอพยพเข้าออกย้ายกลับไปกลับมาระหว่างในลาวกับฝั่งไทยหลายครั้ง สุดท้ายก็ตั้งถิ่นฐานถาวรที่อำเภอเชียงคาน
ในช่วงระหว่าง พ.ศ. 2496 ถึง พ.ศ. 2497 ได้เกิดสงครามในเมืองเดียนเบียนฟู ซึ่งเป็นหนึ่งในเมืองของแคว้นสิบสองจุไทเดิม ชาวไทดำจึงได้อพยพหลบหนีการเกณฑ์ทหารของฝรั่งเศสเข้ามาในประเทศลาวและไทยอีกระลอกหนึ่ง
ชาวไทดำในประเทศไทย
[แก้]ในประเทศไทยนอกจากภาคอีสานและภาคเหนือที่มีชาวไทดำได้อพยพเข้าไปแล้ว ชาวไทดำได้อพยพเข้ามาในภาคกลางด้วย โดยคนไทยเรียกชาวไทดำว่า ลาวโซ่ง โซ่งนั้นมีการสันนิษฐานว่า น่าจะมาจากคำว่า ซ่วง หรือ ซ่ง ซึ่งเป็นภาษาไทดำแปลว่า กางเกง และที่เรียกว่า ทรงดำ หรือ ซ่งดำ เพราะชาวไทดำสวมกางเกงสีดำเป็นเอกลักษณ์
- ในสมัยกรุงธนบุรี สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ครั้นพระองค์ทรงไปตีกรุงเวียงจันทน์ ในปี พ.ศ. 2322 พระองค์ทรงได้กวาดต้อนชาวไทดำที่อพยพมาจากสิบสองจุไท ส่งไปตั้งถิ่นฐานที่เมืองเพชรบุรี ดังได้กล่าวไว้ในประวัติชาติไทยว่า "แล้วปีรุ่งขึ้นโปรดเกล้าฯ ให้ยกกองทัพไปตีเมืองหลวงพระบาง ไปตีเมืองทัน เมืองม่วย เมืองทั้ง 2 นี้เป็นเมืองของไทซ่งดำ ตั้งอยู่ในเขตแดนญวนเหนือ แล้วพาครัวลาวเวียง ไทดำ ลงมากรุงธนบุรีในเดือนยี่ ไทซ่งดำให้ไปอยู่เพชรบุรี"
- ในสมัยรัชกาลที่ 1 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ปี พ.ศ. 2335 ได้รวบรวมครอบครัวไทดำ ลาวพวน ลาวเวียง มายังประเทศไทยอีกครั้งหนึ่ง สาเหตุที่เมืองแถง เมืองพวน แข็งข้อต่อเมืองเวียงจันทน์ เจ้าเมืองเวียงจันทน์ยกกองทัพไปตีได้ ลาวโซ่ง, ลาวพวน, ลาวเวียง ลงมาถวายพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ที่กรุงเทพฯ ราว 4,000 ครอบครัวเศษ หลังจากนั้นรัชกาลที่ 1 ทรงโปรดเกล้าให้ชาวลาวเวียงไปอยู่ที่จังหวัดสระบุรี ลาวพวนไปอยู่ที่จังหวัดสุพรรณบุรี และไทดำมาอยู่ที่หมู่บ้านหนองเลา หรือ หนองลาว (หนองปรง) ตำบลหนองปรง อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี
- ในสมัยรัชกาลที่ 3 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
- เจ้าอนุวงศ์แห่งลาวเวียงจันทน์ ทรงไปตีเมืองของชาวไทดำแล้วกวาดต้อนลงมายังกรุงเทพฯ แล้วทูลขอแลกชาวไทดำกับชาวลาวเวียงจันทน์ที่ถูกกวาดต้อนลงมาในสมัยกรุงธนบุรี ให้กลับขึ้นไปนครเวียงจันททน์ และทูลขอให้อาณาจักรลาวเวียงจันทน์เป็นเอกราชไม่ขึ้นตรงกับกรุงเทพฯ แต่รัชกาลที่ 3 ทรงไม่อนุญาต เพราะหากทรงยอมก็จะมีคนกลุ่มอื่นที่ไทยกวาดต้อนมพากันกำเริบเอาอย่างบ้าง เมื่อไม่พระราชทานตามประสงค์เจ้าอนุวงศ์รู้สึกอัปยศจึงกลับขึ้นไปเวียงจันทน์ก็ตั้งต้นคิดกบฏ
- ปี พ.ศ. 2369 - พ.ศ. 2371 เจ้าอนุวงศ์ได้ก่อกบฏกับสยาม กองทัพสยามได้ขึ้นไปปราบกบฏที่เวียงจันทน์ และได้นำครอบครัวชาวไทดำเข้ามาอยู่ในสยามอีก ดังบันทึกของจอมพลเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีกล่าวไว้เมื่อคราวเป็นแม่ทัพไปปราบฮ่อในสมัยรัชกาลที่ 5 พ.ศ. 2430 ไว้ว่า “พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาธรรมาฯ ยกกองทัพขึ้นมาเมืองถึงเมืองแถง จัดราชการเรียบร้อยแล้วได้เอาครัวเมืองแถงและสิบสองจุไทซึ่งเป็นไทดำลงมากรุงเทพฯ เป็นอันมาก เพราะขืนไว้จะเกิดการยุ่งยากแก่ทางราชการขึ้นอีกครั้ง แล้วพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้โปรดเกล้าฯ ให้พวกไทดำเหล่านั้น ไปตั้งภูมิลำเนาอยู่ ณ เมืองเพชรบุรี จนได้ชื่อว่าลาวซ่ง" จากหลักฐานการอพยพเข้ามาในไทยทั้งสองครั้ง แสดงให้เห็นว่าไทดำหรือไทยทรงดำ มาตั้งถิ่นฐานที่จังหวัดเพชรบุรี เป็นแห่งแรกและจากคำบอกเล่าจากชาวไทยทรงดำเอง ก็บรรยายว่า เดินอพยพมาจากถิ่นฐานเดิมโดยทางเรือ มาตั้งถิ่นฐานที่ตำบลท่าแร้ง อำเภอบ้านแหลม ซึ่งเป็นบ้านชายทะเล ชาวไทยทรงดำไม่ชอบภูมิประเทศแถบนั้น จึงได้ย้ายถิ่นฐานมาเรื่อย ๆ จนถึงแถบอำเภอเขาย้อย ซึ่งมีภูมิประเทศเป็นป่าเขาเหมือนกับถิ่นฐานเดิมจึงได้ตั้งบ้านเรือนอยู่อย่างหนาแน่น ต่อมาชาวไทยทรงดำก็ได้ย้ายถิ่นฐานไปทำมาหากินในที่อื่นๆ เช่น นครปฐม ราชบุรี สุพรรณบุรี พิจิตร พิษณุโลก ชุมพร และสุราษฎร์ธานี แต่ชาวไทยทรงดำในจังหวัดต่าง ๆ เหล่านั้นจะบอกที่มาเป็นแหล่งเดียวกันว่า มาจากจังหวัดเพชรบุรี
- ปี พ.ศ. 2376 - พ.ศ. 2378 เกิดศึกกับญวน คือหัวพันห้าทั้งหก เมืองพวน เมื่อกองทัพสยามชนะจึงเทครัวชาวพวนและชาวไทดำลงมายังกรุงเทพฯ
- ปี พ.ศ. 2379 - พ.ศ. 2381 จากเอกสารพงศาวดารเมืองหลวงพระบาง หลังเจ้าอนุวงศ์สวรรคต ราชวงศ์ลาวเวียงจันทน์ล่มสลาย หัวเมืองลาวหลวงพระบางจึงขึ้นตรงต่อสยาม อุปราชเมืองหลวงพระบางยกทัพไปตีเมืองของชาวไทดำ แล้วกวาดต้อนชาวไทดำเป็นเครื่องบรรณาการลงมาถวายยังกรุงเทพฯ
- ในสมัยรัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว การปราบพวกจีนฮ่อในดินแดนลาว ทรงโปรดให้เทครัวชาวไทดำลงมายังสยาม เนื่องจากเกิดกบฏฮ่อรุนรานหลายครั้ง พวกฮ่อได้เผาบ้านเมืองชาวไทดำในสิบสองจุไท เมืองแถง และหัวเมืองลาวหลายเมืองเพื่อปล้นทรัพย์ ชาวไทดำได้อพยพหนีมายังหลวงพระบางและเวียงจันทน์ ครั้งยกทัพไปปรากบฏจีนฮ่อจึงทรงโปรดให้ชาวไทดำตามลงมาสร้างบ้านเรือนในสยามได้ นับเป็นรุ่นสุดท้ายที่ชาวไทดำเทครัวลงมายังสยาม
วัฒนธรรม
[แก้]การแต่งกายของสตรี ผู้หญิงที่แต่งงานแล้วจะมวยผมปั้นเกล้ายกสูงขึ้นไว้บนกลางศีรษะ เสื้อใส่แขนทรงกระบอกสีดำ คอเสื้อมนกลม และนุ่งซิ่นสีดำยาว หรือไม่ก็ลายซิ่นแบบลายแตงโม จะมีผ้าเปียวโพกคลุมไว้ที่ศีรษะกรณีที่ออกไปทำไร่ทำนาหรือออกไปข้างนอก
ภาษาที่ใช้คือภาษาไทดำ ซึ่งมีตัวอักษรเป็นของตัวเอง
พิธีกรรมของชาวไทดำ
- เสนเฮือน (ꪹꪎꪸꪙꪹꪭꪙ) คือ พิธีกรรมการทำบุญบ้าน
- เสนบ้าน (ꪹꪎꪸꪙꪚ꫁ꪱꪙ) คือ พิธีกรรมการทำบุญประจำปีของหมู่บ้าน
- เสนเมือง (ꪹꪎꪸꪙꪹꪣꪉ) คือ พิธีกรรมการทำบุญประจำปีของเมือง
- เสนเคาะ (ꪹꪎꪸꪙꪅꪮꪀ) คือ พิธีกรรมสะเดาะห์เคราะห์
- เสนมด (ꪹꪎꪸꪙꪶꪣꪒ) คือ พิธีกรรมการเลี้ยงผีมดผีมนต์
- เสนขึ้นเสื้อ (ꪹꪎꪸꪙꪄꪳ꫁ꪙꪹꪎ꫁) คือ พิธีกรรมบูชาเจ้ากรรมนายเวร
- เสนฆ่าเกือด (ꪹꪎꪸꪙꪄ꫁ꪱꪹꪀꪒ) คือ พิธีกรรมการตัดขาดระหว่างผีกับคนหรือพ่อแม่เก่าของเด็กที่เกิดใหม่
- เสนเตง คือ พิธีกรรมไถ่ถอนขวัญจากที่แถนจับไว้หรือแถนลงโทษ
ชาวไทดำเป็นคนละกลุ่มกับชาวผู้ไทที่อยู่ทางภาคอีสานของไทย มีภาษาเขียนและมี " สิง " หรือนามสกุลประจำตระกูล
นอกจากนี้คนไทดำยังบูชาเทพเจ้า
- พิดินดอน (ꪠꪲꪒꪲꪙ ꪒꪮꪙ) หรือ พิดินพิดอน (ꪠꪲꪒꪲꪙꪠꪲꪒꪮꪙ): เทพแห่งดิน
- พิฟ้า (ꪠꪲ ꪡ꫁ꪱ): เทพแห่งท้องฟ้า
- พิบ้าน (ꪠꪲ ꪚ꫁ꪱꪙ): เทพเจ้าแห่งบ้าน
- พิเมือง (ꪠꪲ ꪹꪣꪉ): เทพเจ้าแห่งเมือง
อ้างอิง
[แก้]