ห้อม
ห้อม | |
---|---|
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
อาณาจักร: | Plantae |
ไม่ได้จัดลำดับ: | Angiosperms |
ไม่ได้จัดลำดับ: | Eudicots |
ไม่ได้จัดลำดับ: | Asterids |
อันดับ: | Lamiales |
วงศ์: | Acanthaceae |
สกุล: | Strobilanthes |
สปีชีส์: | S. cusia |
ชื่อทวินาม | |
Strobilanthes cusia (Nees) Bremek. |
ห้อม หรือ ฮ่อม มีชื่ออื่นๆคือ ฮ่อมเมือง ครามหลอย ครามเหล็กขูด ครามย่าน ใบเบิก[1] อยู่ในวงศ์ Acanthaceae สกุล Strobilanthes เป็นพืชล้มลุกอายุหลายปี มีโครโมโซม 2n = 16 และ 32 ลำต้นความสูง 0.5-1.5 เมตร ลำต้นตั้งตรง ลำต้นเกลี้ยง เป็นข้อปล้องคล้ายขาไก่แตกกิ่งก้านตามข้อ ลำต้นกลม ห้อม สามารถแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ ชนิดใบใหญ่ จะมีลักษณะใบเป็นใบเลี้ยงเดี่ยว การจัดระเบียบของใบที่ติดอยู่ตามลำต้นเป็นแบบตรงกันข้ามตั้งฉากกัน โดยแต่ละคู่ของใบในข้อหนึ่งอยู่ในแนวตั้งฉากกับคู่ของใบอีกข้อหนึ่ง ก้านใบยาว ประมาณ 0.5-1.5 เซนติเมตร แผ่นใบมีลักษณะเป็นรูปไข่กลับ ขนาดใบกว้าง ประมาณ 6.2-8.3 เซนติเมตร ยาว 18.2-24 เซนติเมตร การจัดเรียงเส้นใบเป็นแบบร่างแหรูปขนนก รูปร่างของใบเป็นแบบใบหอกกลับ ปลายใบแหลม โคนใบเรียวแหลม ขอบใบเป็นหยักฟันเลื่อยละเอียด ส่วนห้อมชนิดใบเล็ก มีลักษณะของใบคล้ายกับชนิดใบใหญ่ แต่ขนาดจะเล็กกว่า ใบด้านบนสีเขียวมัน ใบแก่หรืออ่อนเมื่อถูกกด หรือทุบทิ้งไว้กลายเป็นสีดำเส้นแขนงใบเป็นร่างแหมีจำนวนเส้นใบ 7-9 คู่ดอก ดอก สีม่วง ออกเป็นช่อออกตามซอกใบและปลายกิ่งเป็นช่อแยกแขนง ช่อดอกยาว 1-6 ซม. ก้านช่อดอกยาว 1-12 ซม. มีใบประดับรองรับกลีบเลี้ยง ปลายแยก 5 แฉก แต่ละแฉกยาว 0.8-1.5 มม. มีขนนุ่มปกคลุม กลีบดอกเชื่อมติดกันรูปทรงกระบอกยาว 3.5-5 ซม.ปากกว้าง 3 มม. ปลายกลีบดอกแยก 4 แฉก แต่ละแฉกมีขนาด 9 X 9 มม.สีม่วง ขนาดแตกต่างกันเล็กน้อย ปลายกลีบโค้งเล็กน้อยด้านนอกเกลี้ยง เกสรเพศผู้ 4 อัน ก้านชูอับเรณูยาว ประมาณ 7 มม. ผลแห้งแบบแคปซูลขนาด 1.5-2.2 ซม. เกลี้ยง 4 เมล็ด เมื่อแก่จะเป็นสีน้ำตาลแตกง่าย ออกดอกในช่วงเดือน กรฎาคม-กุมภาพันธ์ติดผลในช่วงเดือน ธันวาคม – กุมภาพันธ์ [2 1]
ห้อมสามารถเจริญเติบโตได้ดีในป่าดิบชื้นพื้นที่ที่มีแสงรำไร และไม่ชื้นแฉะ ซึ่งอยู่เหนือความสูงจากระดับน้ำทะเล 100 – 2,000 เมตร สามารถพบได้ในประเทศจีน ( ฝูเจี้ยน, กวางตุ้ง, กวางสี, กุ้ยโจว, ไหหนาน, มณฑลหูหนาน เสฉวน, ไต้หวัน, ตะวันออกเฉียงใต้ของเจ้อเจียง ) ยูนาน ทิเบต บังกลาเทศ ภูฏาน อินเดีย ลาว พม่า ไทย และเวียดนาม )[3 1] จากการสำรวจแหล่งกระจายพันธุ์ของต้นฮ่อมในภาคเหนือทั้งที่เป็นแหล่งขึ้นเองตามธรรมชาติ และแหล่งปลูกตามชุมชน พบว่าในแหล่งขึ้นเองตามธรรมชาติเป็นป่าดิบเขาระดับต่ำ ณ ระดับความสูง 900–1,200 เมตร จากระดับทะเล ในสภาพดินร่วนจนถึงดินร่วนปนทรายและอินทรียวัตถุมากบนชั้นหน้าดิน ส่วนใหญ่พบอยู่เขตพื้นที่ป่าอนุรักษ์เช่น เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดอยเชียงดาว อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า ทุ่งแสลงหลวง ดอยภูคา พบตามที่ชุ่มน้ำในป่าดงดิบ เช่น ป่าแม่คำมี จ.แพร่ ป่าแม่จางฝั่งซ้าย จ.ลำปาง ป่าวังใหญ่และป่าแม่น้ำน้อย จ.กาญจนบุรี ป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่อิงฝั่งขวา และป่าแม่งาว จ.เชียงราย และป่าสงวนแห่งชาติน้ำเปื่อย น้ำหย่วน และป่าน้ำลาว จ.พะเยา เป็นต้น [4,5 1] นอกจากนี้ผ้าหม้อห้อมที่ย้อมสีธรรมชาติ ยังมีจุดเด่นสำคัญคือช่วยดูดซับแสงยูวีได้ ทำให้ผู้สวมใส่ไม่ร้อน และไม่เป็นอันตรายต่อผู้ที่เป็นโรคภูมิแพ้ จึงเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศอย่างกว้างขวาง[ุ6 1] มีการปลูกเป็นการค้าในประเทศจีน ญี่ปุ่น และบังคลาเทศ [7 1] สำหรับประเทศไทยมีแหล่งเพาะปลูกที่สำคัญได้แก่ บ้านนาตอง บ้านน้ำจ้อม บ้านน้ำก๋าย ตำบลช่อแฮ บ้านนาคูหา ตำบลสวนเขื่อน บ้านแม่ลัว ตำบลป่าแดง และบ้านห้วยม้า ตำบลห้วยม้า อำเภอเมือง จังหวัดแพร่ มีพื้นที่เพาะปลูกประมาณ 100 ไร่ ส่วนที่นำมาใช้ประโยชน์ในการผลิตเนื้อห้อมคือ ใบ และยอด ราคากิโลกรัมละ 5-7 บาท โดยที่ห้อมสด 10-12 กิโลกรัม หมักได้เนื้อห้อม 2.5 กิโลกรัม ราคาเนื้อห้อมกิโลกรัมละ 80-100 บาท แต่การผลิตห้อมยังประสบกับปัญหาหลาย ๆ อย่าง เช่น มีข้อจำกัดด้านพื้นที่ปลูก ที่มีอากาศร้อนชื้น มีสภาพแสงรำไร และวัตถุดิบต้นห้อม ไม่เพียงพอกับความต้องการของผู้ผลิต [8 1]
การขยายพันธุ์
สามารถขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด ปักชำกิ่ง และการชำราก
การปลูกและการดูแลรักษา
สามารถทำได้โดยการไถเตรียมดิน 2 ครั้ง ครั้งแรก ไถตากดินทิ้งไว้ประมาณ 2 สัปดาห์ ครั้งที่สอง ไถผสมปุ๋ยคอกมูลวัวผสมกับดินในอัตราส่วน 1 ตัน ต่อไร่ พร้อมกับขึ้นแปลงภายใต้โรงเรือนที่พรางแสง ประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ โดยแต่ละแปลงมีความกว้าง 2 เมตร ยาว 3 เมตร นำกิ่งห้อม ความยาวประมาณ 10-15 เซนติเมตร ที่มีข้อปล้องด้านล่าง ประมาณ 1 ข้อ ไปชำไว้ในกระบะปูนที่มีส่วนผสมของวัสดุปลูก คือ ดินและแกลบดำ อัตราส่วน 1 ต่อ 1 ใช้เวลาประมาณ 14 วัน รากจะเริ่มออกมาตามข้อกิ่ง จากนั้นนำกิ่งชำที่มีรากสมบูรณ์ลงแปลงปลูก โดยใช้ระยะปลูกระหว่างแถว 60 เซนติเมตร ระหว่างต้น 50 เซนติเมตร (ระยะที่เหมาะสม ให้ผลผลิตสูง) ภายในโรงเรือนต้องให้มีความชุ่มชื้นอยู่ตลอด แต่ไม่ถึงขนาดน้ำขังในแปลง ซึ่งการให้น้ำจะใช้ระบบมินิสปริงเกลอร์ เปิดสัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง (เช้า-เย็น) ครั้งละประมาณ 1 ชั่วโมง แต่หากในช่วงต้นเล็ก ให้วันเว้นวัน ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมและฤดูกาล เสริมปุ๋ยเคมี สูตร 15-15-15 และ 46-0-0 เดือนละ 1 ครั้ง ต้นห้อมอายุครบ 6 เดือน จะพร้อมให้เก็บผลผลิต ซึ่งน้ำหนักเฉลี่ยต่อไร่ที่เกษตรกรจะได้ประมาณ 1,254.4 กิโลกรัม ซึ่งการเก็บเกี่ยวผลผลิตจะใช้วิธีตัดกิ่ง ก้าน ใบ และยอด ความยาวประมาณ 30-50 เซนติเมตร จากยอดลงมา [8 1]
ความสำคัญทางเศรษฐกิจ
ห้อม เป็นไม้พุ่มที่พบในป่าธรรมชาติของภาคเหนือตอนบน ชาวบ้านนำมาผลิตเป็นวัตถุดิบสำหรับย้อมผ้าหม้อห้อมเป็นเอกลักษณ์ ต้นห้อมเป็นไม้พุ่มที่พบในป่าธรรมชาติที่ชุ่มชื้นของภาคเหนือตอนบน เดิมชาวบ้านจะเก็บลำต้นและใบห้อมจากป่ามาใช้ประโยชน์แต่ในปัจจุบันพื้นที่ป่าลดลงทำให้ห้อมที่ขึ้นในธรรมชาติเหลือน้อยลงและอาจสูญพันธุ์ในอนาคตได้ในขณะที่การผลิตเสื้อผ้าหม้อห้อมเพิ่มมากขึ้น ชาวบ้านจึงขาด วัตถุดิบสำหรับย้อมผ้า จึงต้องนำเข้าห้อมสดจากแหล่งอื่น อาทิเช่น สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว หรือพืชชนิดอื่นแทน เช่น คราม ด้วยเหตุนี้การปลูกต้นฮ่อมยังมีข้อจำกัดในสภาพพื้นที่ปลูก จำเป็นที่ต้องปลูกในพื้นที่สูงตามภูเขาที่มีอากาศเย็นตลอดทั้งปีอีกทั้งผู้ปลูกขาดความเข้าใจต่อการพัฒนาหาแหล่งปลูกที่เหมาะสมจนทำให้การเก็บเกี่ยวผลผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการในอุตสาหกรรมการผลิตผ้าหม้อห้อม จากความต้องการผ้าหม้อห้อมที่มีเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่ปริมาณต้นห้อมในธรรมชาติลดน้อยลง ทำให้ไม่สอดคล้องกับการค้าขายเสื้อผ้าหม้อห้อม โดยเฉพาะวัตถุดิบจากต้นห้อมที่นำมาใช้ย้อมผ้า ทำให้มีการนำครามหรือสารเคมีมาใช้ย้อมผ้าทดแทนห้อม ส่งผลกระทบต่อผู้สวมใส่ที่แพ้สารเคมี ส่วนน้ำย้อมที่เหลือจากการย้อมผ้าปล่อยทิ้งไปในธรรมชาติ ทำให้สภาพแวดล้อม ดิน น้ำใต้ดิน เสื่อมคุณภาพ [8 1]
ปัจจุบันยอดและใบห้อมสดราคาจำหน่ายกิโลกรัมละ 10-15 บาท ห้อมสด 10 กิโลกรัมใช้ผลิตเป็นเนื้อห้อมได้ 2.5 กิโลกรัมหรือสัดส่วน 4:1 โดยน้ำหนัก ราคาจำหน่ายเนื้อห้อมคือกิโลกรัมละ 100-180 บาท ในแต่ละปีผู้ประกอบการต้องการห้อมสด 146-219 ตัน มูลค่า 1.46-2.19 ล้านบาท และเนื้อห้อม 29.2-36.5 ตัน มูลค่า 2.92-3.65 ล้านบาท ทำให้มีกลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตผ้าหม้อห้อมสนใจที่จะปลูกห้อมในพื้นที่การเกษตร เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตผ้าหม้อห้อม แต่ยังมีข้อจำกัดบางประการ เช่น ขาดพันธุ์และเทคโนโลยีการผลิตที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่จังหวัดแพร่ [9 1] และจากการศึกษาพบว่าในหมักใบฮ่อมเพื่อทำโคลน (ก้อน) สีฮ่อมนั้นในการหมักใช้ใบสดในปริมาณน้ำหนักเท่ากันกับต้นคราม (Indigofera tinctoria L.) หรือ ครามใหญ่ (I. suffruticosa Mill.) ต้นฮ่อมสามารถให้ปริมาณก้อนสีมากกว่าครามถึง 3-4 เท่า [10 1]
ผ้าหม้อห้อมเนื้อฝ้ายที่สามารถระบายอากาศได้ดีช่วยให้สวมใส่สบายไม่อับชื้น นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาให้มีผลิตภัณฑ์หลายรูปแบบ คือ ผ้ายย้อมลายฟ้าผืน ผ้าย้อมลายมัดย้อม ผ้าห่มย้อมลายมัดย้อม เสื้อผ้าซาฟารีแขนสูท เสื้อสตรีสำเร็จรูป หมอนอิงฉลุ และของใช้ของที่ระลึก จากการรายงานพบว่าช่วงเดือนมกราคม ถึง สิงหาคม ปี 2561 ประเทศไทยส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มซึ่งมีมูลค่ามากถึง 643.65 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แบ่งออกเป็นสิ่งทอมูลค่าการส่งออก 415.37 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และเครื่องนุ่งห่มมูลค่าการส่งออก 228.28 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ตลาดส่งออกที่สำคัญได้แก่ ภูมิภาคอาเซียน ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และสาธารณรัฐประชาชนจีน ตามลำดับ และประเทศส่งออกที่สำคัญ 5 อันดับแรก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น จีน เวียดนาม และอินโดนีเชีย ตามลำดับ [11 1]
ประโยชน์
[แก้]ใบห้อม นิยมนำมาใช้ย้อมผ้า เรียกว่า ผ้าหม้อห้อม ทั้งต้นสับเป็นท่อนเคี่ยวเพื่อทำสีย้อมผ้า ได้สีน้ำเงินเข้มเกือบดำ[2] ฮ่อมที่สกัดด้วยเอทานอลมีประสิทธิภาพดีที่สุดในการยับยั้งการเจริญของ Pseudomonas aeruginosa,Staphylococcus aureus และ Staphylococcus epidermidis[3]
นอกจากนี้ยังพบว่ามีการนำไปใช้ประโยชน์ได้หลายประการโดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
1. ยารักษาโรค
ในอดีตจนถึงปัจจุบันห้อมถูกนำมาใช้ประโยชน์ทั้งในด้านพืชสมุนไพรยารักษาโรค และการย้อมผ้า [12 1] รากและใบ ต้มน้ำดื่มแก้ไข้ เจ็บคอ หลอดลม อักเสบ ต่อมทอนซิลอักเสบ ทั้งต้นสดสับเป็นท่อนต้มเคี่ยว เพื่อทำสีย้อมผ้า ให้สีน้ำเงินเข้มเกือบดำ[2 1] และพบว่าชาวเมี่ยน ในจังหวัดน่าน ได้นำส่วนของใบและลำต้น นำไปต้มดื่มแก้อาการท้องร่วง และใช้ใบและยอดอ่อนตำใส่ข้าวสารใช้ประคบรักษาพิษไข้ของเด็กและผู้ใหญ่ ใช้ใบฮ่อมรักษาอาการเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ที่เกิดจากเชื้อไวรัส ปอดบวม คางทูม อาการเจ็บคอ และผิวหนังอักเสบ ชาวบ้านในพื้นที่จังหวัดแพร่ศึกษาใช้ใบฮ่อมตำฟอกเท้าดูดพิษไข้ ช่วยให้อาการไข้หายเร็วขึ้น รากและใบนำไปต้มดื่มรักษาอาการไข้หวัดใหญ่ เยื่อหุ้มไขสันหลังอักเสบจากไวรัสบี ปอดอักเสบ คางทูม และโรคที่เกี่ยวกับทางเดินหายใจเฉียบพลัน (SARS) [2 1][13 1] ในทางการแพทย์แผนโบราณของจีนนำมาเป็นสมุนไพรใช้ในการรักษาโรค ซึ่งมีคุณสมบัติรักษาโรคได้หลายประการ อาทิเช่น ไข้หวัดใหญ่ระบาด เยื่อหุ้มสมองอักเสบไวรัส B โรคปอดบวม โรคคางทูม โรคทางเดินหายใจเฉียบพลัน ป้องกันเชื้อรา ไวรัส และต้านทานต่อเชื้อแบคทีเรีย[14 1] ห้อมยังมีฤทธิ์ในการยับยั้งเชื้อไวรัส human immunodeficiency virus (HIV) ที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคเอดส์ในสภาพ in vitro และ in vivo [15 1] นอกจากนี้ยังพบสาร Indirubin-3′-oxime (IOX) ในส่วนของใบและรากที่สามารถยับยั้งการเกิดมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิด Chronic myelocytic leukemia (CML)[16 1] จากการศึกษาพบว่าเมื่อสกัดใบห้อมด้วยเมทานอลจะมีประสิทธิภาพสูงสุดในการยับยั้งเชื้อ Staphylococcus aureus, Bacillus subtilis, Enterobacter aerogenes, Escherichia coli และKlebsiella pneumonia เป็นต้น[15 1] นอกจากนี้ยังพบสารประกอบ Alkaloids, flavonoids, organic acid, glycosides, steroids, pentacyclic triterpanoids, anthraquinones, amino acid และ saccharide มีฤทธิ์ต้านทานสารชีวเคมีหลายประการ ได้แก่ ไวรัส แบคทีเรีย เชื้อรา และการอักเสบ
2 อุตสาหกรรม
2.1 อุตสาหกรรมสารอินดิโก
ห้อม เป็นพืชที่ให้สารสีน้ำเงินมีชื่อเรียกว่า “อินดิโก” ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักที่ใช้ในอุตสาหกรรมการย้อมผ้า สีครามธรรมชาติเป็นสีที่มนุษยชาติรู้จักการใช้มาอย่างยาวนานดังที่รายงานว่าในประเทศจีนได้รู้จักการใช้ย้อมผ้ามาไม่น้อยกว่า 6,000 ปี ในอินเดียมีปรากฏอยู่คัมภีร์พระเวทไม่น้อยกว่า 4,000 ปี [17 1] มีหลักฐานการใช้ราชสำนักกรีกโรมันยุคโบราณจนได้ขนานนามว่า เป็นราชาแห่งสีย้อม (King of Dye) ใบห้อมสามารถเก็บไปทำสารสีอินดิโกได้ต่อเมื่อเข้าสู่ปีที่ 2 ระยะของการเก็บไม่จำกัดแล้วแต่จะแตกแขนงช้าหรือเร็ว การเก็บถ้ามีมากก็หักทั้งกิ่ง ถ้ามีน้อยก็เก็บเป็นใบ ๆ ในการสกัดสารอินดิโกจากใบครามและใบห้อม คือ การตัดวัตถุดิบที่สดเป็นชิ้นเล็ก ๆ แล้วใส่ถุงผ้า หมักด้วยน้ำในถุงที่มีฝาปิดมิดชิด เป็นระยะเวลา 1 วัน ได้ตะกอนสีประมาณ 0.005 มก. ต่อน้ำหนักใบสด 1 กรัม วิธีนี้ยังสามารถกำจัดกากวัตถุดิบที่เหลือจากการหมักได้ง่าย ลดกลิ่นเหม็นที่เกิดจากการหมักได้ สารสีที่สกัดได้จากใบครามและใบห้อมเป็นสารอัลคาลอยด์ที่มีองค์ประกอบหลักเป็นสารสีน้ำเงินและแดง สารสีน้ำเงินคืออินดิโกและสารสีแดงคืออินดิรูบิน ซึ่งมีปริมาณเป็น 6.8 เท่าของอินดิโกและมีความคงทนในบรรยากาศมากกว่า นอกจากนี้สารอินดิโก้ยังสามารถพบได้ในพืชอีกหลายชนิด เช่น Woad (Isatis tinctoria) นิยมใช้มากในแถบยุโรป คราม (Indigofera tinctoria L.) นิยมใช้มากในแถบเอเชีย แอฟริกา และอเมริกา และ Japanese Indigo (Persicaria tinctorium) นิยมใช้มากในแถบยุโรป ญี่ปุ่น จีน และเกาหลี (Maier 1990, Maugard et al. 2001) ครามญี่ปุ่น (Polygonum tinctorum) ครามเถา (Marsdenia tinctoria) และต้นดาดตะกั่ว (Hemigraphis alternata) สำหรับประเทศไทยพืชที่นำมาใช้ในการย้อมผ้าที่ให้สีน้ำเงินมีอยู่เพียง 2 ชนิด คือ ห้อมและคราม จากการรายงานพบว่าแหล่งที่ใช้ครามมาเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตที่สำคัญ คือ จังหวัดสกลนคร เช่น ชาวผู้ไทในอำเภอพรรณานิคม ได้แก่ บ้านดอนกอย บ้านหนองครอง บ้านโนนเรือ-ต่อเรือบ้านนาดี ชาวกะเลิงในอำเภอกุดบาก ได้แก่ บ้านกุดแฮด อูนดง เชิงดอย หนองสะไน และชาวโย้ยในอำเภออากาศอำนวย ได้แก่ บ้านบะหว้า บ้านถ้าเต่า และกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ในอำเภอสว่างแดนดิน ได้แก่ บ้านพันนา เป็นต้น[19 1] สำหรับแหล่งผลิตที่ใช้ห้อมเป็นวัตถุดิบในการย้อมผ้าที่สำคัญคือ บ้านทุ่งโฮ้ง ตำบลทุ่งโฮ้ง อำเภอเมือง จังหวัดแพร่ ซึ่งเป็นแหล่งผลิตผ้าหม้อห้อมที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ[8 1] พื้นที่ที่ต้นห้อมขึ้นเจริญเติบโตได้ดีต้นฮ่อมยังเป็นพืชป่าที่ไม่มีการส่งเสริมปลูกในเชิงอุตสาหกรรมเป็นสาเหตุหลักของการขาดแคลนวัตถุดิบต้นห้อมถึงขั้นวิกฤต จนทำให้อุตสาหกรรมการย้อมสีผ้าด้วยห้อมได้มีการนำสีเคมีสังเคราะห์และสีจากต้นครามมาใช้แทน จากการรายงานพบว่ามีการใช้สีสังเคราะห์และสีย้อมจากต้นคราม 95.95% สีย้อมจากต้นห้อมเพียง 4.05 % และมีแนวโน้มที่จะใช้สีสังเคราะห์เพิ่มมากขึ้น ซึ่งจากการใช้สารเคมีดังกล่าวจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อความปลอดภัยทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค อีกทั้งยังส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในอนาคต[10 1]
จากการรายงานพบว่าสารอินดิโก้ในตลาดทั่วโลกมีประมาณ 800,000 ตัน ใช้ในอุตสาหกรรมย้อมผ้ายีนส์มากถึงประมาณ 200,000 ตัน การย้อมสีจากธรรมชาติมีสามารถสร้างมูลค่าทางการตลาดประมาณ 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ การแข่งขันทางการตลาดใช้สีสังเคราะห์ที่มีความบริสุทธิ์มากกว่า 90% และมีราคาถูกกว่า สำหรับสารอินดิโกที่มีผลผลิตไม่ดีอยู่ที่ (0.2% ถึง 0.5%) และความบริสุทธิ์ (20% ถึง 90%) อย่างไรก็ตามความกังวลเรื่องสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวกับการใช้สีสังเคราะห์ย้อมเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากตัวรีดิวซ์ที่ใช้ในอุตสาหกรรมการย้อมสี ซึ่งใช้โซเดียมไดไทนิไนท์เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม ในประเทศเยอรมันได้ยกเลิกการย้อมสีสังเคราะห์เอโซตั้งแต่ปี ค.ศ.1996 เนื่องจากได้รับผลกระทบจากโรคภูมิแพ้และสารก่อมะเร็งต่อสุขภาพของมนุษย์
2.2 อุตสาหกรรมสิ่งทักทอ และเครื่องนุ่งห่ม
ผ้าหม้อห้อม เป็นชื่อผ้าย้อมพื้นเมืองสีกรมท่าที่ย้อมด้วยน้ำห้อม ซึ่งได้มาจากการหมักของต้นห้อม เป็นเอกลักษณ์ของชาวเมืองแพร่ ในภาคเหนือตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันนิยมใช้เสื้อหม้อห้อมที่มาจากเมืองแพร่ เนื่องจากมีคุณภาพ ความคงทนของเนื้อผ้าและสีหม้อห้อมที่ใช้ในการย้อมผ้า ตลอดจนรูปแบบของเสื้อผ้าที่เรียบง่ายและยังสามารถสวมใส่ได้หลายหลายโอกาส สำหรับแหล่งผลิตผ้าหม้อห้อมที่สำคัญมี 3 แหล่งใหญ่ๆคือ บ้านพระหลวง ตำบลพระหลวง และบ้านเวียงทอง ตำบลเวียงทอง อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่ และบ้านทุ่งโฮ้ง ตำบลทุ่งโฮ้ง อำเภอเมือง จังหวัดแพร่ ซึ่งเป็นแหล่งผลิตผ้าหม้อห้อมที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ ซึ่งหมู่บ้านดังกล่าวเป็นชาวไทพวนที่ถูกกวาดต้อนและอพยพมาจากแขวงเมืองขวาง สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2340 – 2380 นอกจากผ้าหม้อห้อจะสามารถนำมาตัดเป็นเครื่องนุ่งห่มแล้ว ในปัจจุบันพบว่ายังสามารถตัดเย็บเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆอีกหลายชนิด อาทิเช่น ผ้าคาดโต๊ะ ผ้าคาดเตียง ผ้าคลุมโซฟา ภาพฝาผนัง ปลอกหมอนอิง ผ้าม่าน กล่องทิชชู โคมไฟ ผ้าอเนกประสงค์ และถังขยะ
2.3 ด้านอื่นๆ
นอกเหนือจากประโยชน์ที่กล่าวมาข้างต้นแล้วยังพบว่าห้อมยังสามารถนำมาใช้เป็นไม้ประดับ ส่วนผสมของสบู่ สีย้อมผม แชมพูสระผม[12 1]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ ยามหนึ่ง อนาคาริก, ห้อม ใบไม้มหัศจรรย์ "ถ้ามันตาย มันจะไม่เป็น" ตอนที่ 1, เนชั่นสุดสัปดาห์ ปีที่ 17 ฉบับที่ 857, 31 ตุลาคม 2551, หน้า 65[ลิงก์เสีย]
- ↑ ป่าแม่คำมี: ความหลากหลายทางชีวภาพจากอดีตถึงปัจจุบัน. กทม. สำนักวิจัยและพัฒนาป่าไม้. 2556
- ↑ อัฐญาพร ชัยชมภู และนฤมล ทองไว. 2554. การยับยั้งการเจริญของแบคทีเรียก่อโรคบางชนิดโดยใช้สารสกัดสมุนไพรพื้นบ้าน เก็บถาวร 2013-05-30 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. การประชุมวิชาการครั้งที่ 8 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำแพงแสน
- ฮ่อม เก็บถาวร 2008-12-10 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จาก โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช
- Baphicacanthus cusia
ดูเพิ่ม
[แก้]
อ้างอิงผิดพลาด: มีป้ายระบุ <ref>
สำหรับกลุ่มชื่อ "2" แต่ไม่พบป้ายระบุ <references group="2"/>
ที่สอดคล้องกัน
อ้างอิงผิดพลาด: มีป้ายระบุ <ref>
สำหรับกลุ่มชื่อ "3" แต่ไม่พบป้ายระบุ <references group="3"/>
ที่สอดคล้องกัน
อ้างอิงผิดพลาด: มีป้ายระบุ <ref>
สำหรับกลุ่มชื่อ "4,5" แต่ไม่พบป้ายระบุ <references group="4,5"/>
ที่สอดคล้องกัน
อ้างอิงผิดพลาด: มีป้ายระบุ <ref>
สำหรับกลุ่มชื่อ "ุ6" แต่ไม่พบป้ายระบุ <references group="ุ6"/>
ที่สอดคล้องกัน
อ้างอิงผิดพลาด: มีป้ายระบุ <ref>
สำหรับกลุ่มชื่อ "7" แต่ไม่พบป้ายระบุ <references group="7"/>
ที่สอดคล้องกัน
อ้างอิงผิดพลาด: มีป้ายระบุ <ref>
สำหรับกลุ่มชื่อ "8" แต่ไม่พบป้ายระบุ <references group="8"/>
ที่สอดคล้องกัน
อ้างอิงผิดพลาด: มีป้ายระบุ <ref>
สำหรับกลุ่มชื่อ "9" แต่ไม่พบป้ายระบุ <references group="9"/>
ที่สอดคล้องกัน
อ้างอิงผิดพลาด: มีป้ายระบุ <ref>
สำหรับกลุ่มชื่อ "10" แต่ไม่พบป้ายระบุ <references group="10"/>
ที่สอดคล้องกัน
อ้างอิงผิดพลาด: มีป้ายระบุ <ref>
สำหรับกลุ่มชื่อ "11" แต่ไม่พบป้ายระบุ <references group="11"/>
ที่สอดคล้องกัน
อ้างอิงผิดพลาด: มีป้ายระบุ <ref>
สำหรับกลุ่มชื่อ "12" แต่ไม่พบป้ายระบุ <references group="12"/>
ที่สอดคล้องกัน
อ้างอิงผิดพลาด: มีป้ายระบุ <ref>
สำหรับกลุ่มชื่อ "13" แต่ไม่พบป้ายระบุ <references group="13"/>
ที่สอดคล้องกัน
อ้างอิงผิดพลาด: มีป้ายระบุ <ref>
สำหรับกลุ่มชื่อ "14" แต่ไม่พบป้ายระบุ <references group="14"/>
ที่สอดคล้องกัน
อ้างอิงผิดพลาด: มีป้ายระบุ <ref>
สำหรับกลุ่มชื่อ "15" แต่ไม่พบป้ายระบุ <references group="15"/>
ที่สอดคล้องกัน
อ้างอิงผิดพลาด: มีป้ายระบุ <ref>
สำหรับกลุ่มชื่อ "16" แต่ไม่พบป้ายระบุ <references group="16"/>
ที่สอดคล้องกัน
อ้างอิงผิดพลาด: มีป้ายระบุ <ref>
สำหรับกลุ่มชื่อ "17" แต่ไม่พบป้ายระบุ <references group="17"/>
ที่สอดคล้องกัน
อ้างอิงผิดพลาด: มีป้ายระบุ <ref>
สำหรับกลุ่มชื่อ "19" แต่ไม่พบป้ายระบุ <references group="19"/>
ที่สอดคล้องกัน