จองอี้
จองอี้ (จง ยฺวี่) | |
---|---|
宗預 | |
มหาขุนพลพิทักษ์ทัพ (鎮軍大將軍 เจิ้นจฺวินต้าเจียงจฺวิน) | |
ดำรงตำแหน่ง ค.ศ. 258 – ค.ศ. 263 | |
กษัตริย์ | เล่าเสี้ยน |
ข้าหลวงมณฑลกุนจิ๋ว (兗州刺史 เหยี่ยนโจวชื่อฉื่อ) (ในนาม) | |
ดำรงตำแหน่ง ค.ศ. 258 – ค.ศ. 263 | |
กษัตริย์ | เล่าเสี้ยน |
มหาขุนพลโจมตีตะวันตก (征西大將軍 เจิงซีต้าเจียงจฺวิน) | |
ดำรงตำแหน่ง ค.ศ. ? – ค.ศ. 258 | |
กษัตริย์ | เล่าเสี้ยน |
ขุนพลทัพหลัง (後將軍 โฮ่วเจียงจฺวิน) | |
ดำรงตำแหน่ง ค.ศ. ? – ค.ศ. 258 | |
กษัตริย์ | เล่าเสี้ยน |
นายพันทหารม้าประจำการ (屯騎校尉 ถุนฉีเซี่ยวเว่ย์) | |
ดำรงตำแหน่ง ค.ศ. 247 – ค.ศ. ? | |
กษัตริย์ | เล่าเสี้ยน |
ราชเลขาธิการ (尚書 ช่างชู) | |
ดำรงตำแหน่ง ค.ศ. ? – ค.ศ. 247 | |
กษัตริย์ | เล่าเสี้ยน |
ขุนนางมหาดเล็ก (侍中 ชื่อจง) | |
ดำรงตำแหน่ง ค.ศ. ? – ค.ศ. ? | |
กษัตริย์ | เล่าเสี้ยน |
ข้อมูลส่วนบุคคล | |
เกิด | ไม่ทราบ นครเติ้งโจว มณฑลเหอหนาน |
เสียชีวิต | ค.ศ. 264 |
อาชีพ | ขุนพล, นักการทูต |
ชื่อรอง | เต๋อเยี่ยน (德豔) |
บรรดาศักดิ์ | กวนไล่เฮา (關內侯 กวานเน่ย์โหว) |
จองอี้ (ป. ค.ศ. 187 - 264[a]) มีชื่อในภาษาจีนกลางว่า จง ยฺวี่ (จีน: 宗預; พินอิน: Zōng Yù) ชื่อรอง เต๋อเยี่ยน (จีน: 德豔; พินอิน: Déyàn) เป็นขุนพลและนักการทูตของรัฐจ๊กก๊กในยุคสามก๊กของจีน จองอี้ร่วมกับเลียวฮัวและเตียวเอ๊กเป็นขุนนางเพียงไม่กี่คนที่รับราชการกับรัฐจ๊กก๊กตั้งแต่เริ่มก่อตั้งจนล่มสลาย[1]
การรับราชการช่วงต้น
[แก้]จองอี้เกิดในช่วงปลายยุคราชวงศ์ฮั่นตะวันออก เป็นชาวอำเภออันจงก๋วน (安眾縣 อานจ้งเซี่ยน) เมืองลำหยง (南陽郡 หนานหยางจฺวิ้น) ซึ่งอยู่บริเวณนครเติ้งโจว มณฑลเหอหนานในปัจจุบัน[2]
ในปี ค.ศ. 214 จองอี้ติดตามขุนพลเตียวหุยไปยังมณฑลเอ๊กจิ๋ว (ครอบคลุมพื้นที่ของมณฑลเสฉวนและนครฉงชิ่งในปัจจุบัน)[3] เพื่อนำกำลังเสริมไปช่วยขุนศึกเล่าปี่ผู้กำลังทำศึกเพื่อยึดครองมณฑลเอ๊กจิ๋วที่มีเล่าเจี้ยงเป็นเจ้ามณฑล[4]
ภายหลังจากราชวงศ์ฮั่นตะวันออกล่มสลาย จองอี้ได้รับราชการในรัฐจ๊กก๊กซึ่งเล่าปี่ก่อตั้งในปี ค.ศ. 221 เพื่อต่อต้านรัฐวุยก๊กที่ขึ้นแทนที่ราชวงศ์ฮั่นตะวันออกในปี ค.ศ. 220[5] ช่วงต้นศักราชเจี้ยนซิง (ค.ศ. 223–237) ในรัชสมัยของเล่าเสี้ยน จูกัดเหลียงผู้เป็นอัครมหาเสนาบดีแห่งจ๊กก๊กแต่งตั้งให้จองอี้เป็นนายทะเบียน (主簿 จู่ปู้) ของตน และภายหลังตั้งให้จองอี้เป็นเสนาธิการทัพ (參軍 ชานจฺวิน) และขุนพลองครักษ์ฝ่ายขวา (右中郎將 โย่วจงหลางเจี้ยง)[6]
การเดินทางไปง่อก๊กเพื่อการทูต
[แก้]ภายหลังการเสียชีวิตของจูกัดเหลียงในปี ค.ศ. 234[7] ง่อก๊กซึ่งเป็นรัฐพันธมิตรของจ๊กก๊กกังวลว่าวุยก๊กจะฉวยโอกาสของสถานการณ์นี้เข้าโจมตีจ๊กก๊ก จึงส่งกองกำลังเพิ่มเติม 10,000 นายไปประจำการอยู่ที่ปากิ๋ว (巴丘 ปาชิว; ปัจจุบันคือนครเยฺว่หยาง มณฑลหูหนาน) โดยมีจุดมุ่งหมายอยู่ 2 ประการคือ 1. เพื่อเสริมกำลังให้จ๊กก๊กหากวุยก๊กบุกมา และ 2. เพื่อเข้ายึดครองอาณาเขตของจ๊กก๊กหากจ๊กก๊กไม่สามารถป้องกันตนเองจากวุยก๊กได้ เมื่อราชสำนักจ๊กก๊กได้รับข่าวกรองว่าง่อก๊กเสริมกำลังเพิ่มเติมที่ปากิ๋ว จ๊กก๊กจึงเร่งเสริมการป้องกันที่เองอั๋น (永安 หย่งอาน; ปัจจุบันคืออำเภอเฟิ่งเจี๋ย นครฉงชิ่ง) ใกล้กับชายแดนง่อก๊ก-จ๊กก๊กทันทีเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับเหตุไม่คาดฝัน[8]
ต่อมาจ๊กก๊กส่งจองอี้เป็นทูตไปเข้าเฝ้าซุนกวนจักรพรรดิง่อก๊ก ซุนกวนตรัสถามจองอี้ว่า "ตะวันออก (ง่อก๊ก) และตะวันตก (จ๊ก) ก็เหมือนครอบครัวเดียวกัน ข้าได้ยินมาว่าทางตะวันตกเสริมการป้องกันที่เป๊กเต้เสีย เหตุใดจึงทำเช่นนั้น"[9] จองอี้ทูลตอบว่า "กระหม่อมเห็นว่าเป็นเรื่องธรรมดาที่ตะวันตกต้องเสริมการป้องกันที่เป๊กเต้เสีย เช่นเดียวกับที่เป็นเรื่องธรรมดาที่ตะวันออกส่งกำลังเพิ่มเติมมาที่ปากิ๋ว กระหม่อมจึงเห็นว่านี่ไม่ใช่เหตุให้ต้องเป็นกังวล"[10] ซุนกวนทรงพระสรวลและทรงยกย่องจองอี้ที่ทูลตอบอย่างกล้าหาญและตรงไปตรงมา ในหมู่ทูตของจ๊กก๊กที่เดินทางมายังง่อก๊ก จองอี้ได้รับความชื่นชมและนับถือจากซุนกวนมากที่สุดคนหนึ่ง เป็นรองเพียงเตงจี๋และบิฮุย[11]
ต่อมาจองอี้ได้รับการแต่งตั้งเป็นขุนนางมหาดเล็ก (侍中 ชื่อจง) และเลื่อนขั้นเป็นราชเลขาธิการ (尚書 ช่างชู) ในสำนักเลขาธิการหลวง ในปี ค.ศ. 247 จองอี้ได้รับการแต่งตั้งเป็นนายพันทหารม้าประจำการ (屯騎校尉 ถุนฉีเซี่ยวเว่ย์)[12]
ต่อมาจองอี้ได้เดินทางไปง่อก๊กและเข้าเฝ้าจักรพรรดิซุนกวนเพื่อเจรจาการทูตอีกครั้ง ก่อนที่จองอี้จะกลับไป ซุนกวนจับมือจองอี้ไว้และพูดทั้งน้ำตาว่า "ท่านได้รับมอบหมายให้กระชับความสัมพันธ์ะหว่างสองรัฐเราเป็นเวลาหลายปีแล้ว บัดนี้เราทั้งคู่ต่างก็ชราและอ่อนแอลงแล้ว ข้าเกรงว่าเราอาจจะไม่ได้พบกันอีกเลย!"[13] จองอี้จึงทูลซุนกวนว่า "จ๊กเล็กและโดดเดี่ยว แม้ว่าเราจะเป็นบ้านใกล้เรือนเคืองกันแต่ในนาม แต่ตะวันออกและตะวันตกก็ต้องพึ่งพากันและกันอย่างแท้จริง ง่อก็ไม่อาจทำอะไรได้หากปราศจากจ๊ก จ๊กก็ไม่อาจทำอะไรได้หากปราศจากง่อ กระหม่อมหวังว่าฝ่าบาทจะตระหนักอยู่ในภายพระทัยว่าผู้ปกครองและราษฎรต้องการกันและกัน" จากนั้นก็ระบุตนเองว่า "ชราและขี้โรค" และแสดงออกซึ่งความกังวลของตนว่าอาจไม่ได้กลับมาเข้าเฝ้าซุนกวนอีก[14] ซุนกวนพระราชทานไข่มุกขนาดใหญ่ปริมาณ 1 หู (斛) เป็นของขวัญอำลา[15]
คัดง้างกับเตงจี๋
[แก้]ในปี ค.ศ. 247 เมื่อเตงจี๋ขุนพลจ๊กก๊กกลับมาที่นครหลวงเซงโต๋เพื่อรับตำแหน่งใหม่เป็นขุนพลทหารม้าและรถรบ (車騎將軍 เชอฉีเจียงจฺวิน)[16] เตงจี๋ได้เจอกับจองอี้ระหว่างทางไปราชสำนัก เตงจี๋จึงถามจองอี้ว่า "ตามจารีตแล้ว บุรุษพึงไม่รับราชการทหารต่อไปเมื่ออายุถึง 60 ปี เหตุใดท่านยังต้องการรับหน้าที่บัญชาการกองกำลังในวัยปูนนี้อีกเล่า" จองอี้ตอบว่า "ท่านก็อายุ 70 ปีแล้ว แต่ท่านยังไม่สละอำนาจบัญชาการกองกำลังอยู่อีก แล้วเหตุใดข้าที่อายุเพียง 60 ปีจึงไม่สามารถรับมอบหมายให้บัญชาการกองกำลังได้เล่า"[17]
เพื่อนขุนนางของเตงจี๋ รวมไปถึงมหาขุนพลบิฮุยที่เป็นผู้บังคับบัญชาของเตงจี๋ มักจะยอมโอนอ่อนให้กับท่าทางเย่อหยิ่งและมองคนอื่นว่าด้อยกว่าของเตงจี๋ มีเพียงจองอี้เพียงคนเดียวที่กล้าคัดง้างกับเตงจี๋[18]
การรับราชการช่วงปลายและเสียชีวิต
[แก้]ภายหลังจากจองอี้กลับมาจากการเดินทางไปง่อก๊กเพื่อเจรจาการทูตครั้งสุดท้าย จองอี้ก็ได้เลื่อนยศเป็นขุนพลทัพหลัง (後將軍 โฮ่วเจียงจฺวิน) และได้รับมอบหมายให้รักษาเตงอั๋น (永安 หย่งอาน; ปัจจุบันคืออำเภอเฟิ่งเจี๋ย นครฉงชิ่ง) ใกล้กับชายแดนง่อก๊ก-จ๊กก๊ก ภายหลังยังได้เลื่อนยศเป็นมหาขุนพลโจมตีตะวันตก (征西大將軍 เจิงซีต้าเจียงจฺวิน) และได้รับบรรดาศักดิ์กวนไล่เหา (關內侯 กวานเน่ย์โหว)[19]
ในปี ค.ศ. 258 จองอี้ถูกเรียกตัวกลับเซงโต๋เนื่องจากปัญหาสุขภาพ[20] ภายหลังได้รับการแต่งตั้งให้เป็นมหาขุนพลพิทักษ์ทัพ (鎮軍大將軍 เจิ้นจฺวินต้าเจียงจฺวิน) และได้รับแต่งตั้งให้เป็นข้าหลวงมณฑลกุนจิ๋ว (兖州刺史 เหยี่ยนโจวชื่อฉื่อ) แต่ในนาม[21]
ราวปี ค.ศ. 261[b] เมื่อจูกัดเจี๋ยมบุตรชายของจูกัดเหลียงรับหน้าที่ดูแลราชสำนักจ๊กก๊ก เลียวฮัวชวนจองอี้ให้ร่วมกันไปเยี่ยมจูกัดเจี๋ยม[23] จองอี้ปฏิเสธและบอกเลียวฮัวว่า "เราทั้งคู่ต่างก็อายุเกิน 70 ปีกันแล้ว สิ่งที่เราปรารถนาได้ผ่านพ้นไปแล้ว ไม่มีอะไรนอกจากความตายที่ยังอยู่กับเรา เหตุใดต้องไปขอความช่วยเหลือจากคนรุ่นหนุ่มด้วยเรื่องเล็กน้อยด้วยเล่า"[24]
จ๊กก๊กล่มสลายในปี ค.ศ. 263 เมื่อเล่าเสี้ยนจักรพรรดิจ๊กก๊กยอมจำนนต่อรัฐวุยก๊กที่เป็นรัฐอริของจ๊กก๊ก ภายหลังจากวุยก๊กยกทัพบุกจ๊กก๊ก[25] ในปีถัดมา จองอี้และเลียวฮัวได้รับคำสั่งให้ย้ายไปอยู่ที่ลกเอี๋ยงนครหลวงของวุยก๊ก แต่ทั้งคู่เสียชีวิตด้วยอาการป่วยระหว่างเดินทาง[26]
ดูเพิ่ม
[แก้]หมายเหตุ
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- ↑ de Crespigny (2007), p. 1178.
- ↑ (宗預字德豔,南陽安衆人也。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 45.
- ↑ (建安中,隨張飛入蜀。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 45.
- ↑ Sima (1084), vol. 67.
- ↑ Sima (1084), vol. 69.
- ↑ (建興初,丞相亮以為主簿,遷參軍右中郎將。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 45.
- ↑ Sima (1084), vol. 72.
- ↑ (及亮卒,吳慮魏或承衰取蜀,增巴丘守兵萬人,一欲以為救援,二欲以事分割也。蜀聞之,亦益永安之守,以防非常。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 45.
- ↑ (預將命使吳,孫權問預曰:「東之與西,譬猶一家,而聞西更增白帝之守,何也?」) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 45.
- ↑ (預對曰:「臣以為東益巴丘之戍,西增白帝之守,皆事勢宜然,俱不足以相問也。」) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 45.
- ↑ (權大笑,嘉其抗直,甚愛待之,見敬亞於鄧芝、費禕。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 45.
- ↑ (遷為侍中,徙尚書。延熈十年,為屯騎校尉。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 45.
- ↑ (預復東聘吳,孫權捉預手,涕泣而別曰:「君每銜命結二國之好。今君年長,孤亦衰老,恐不復相見!」) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 45.
- ↑ (吳歷曰:預臨別,謂孫權曰:「蜀土僻小,雖云鄰國,東西相賴,吳不可無蜀,蜀不可無吳,君臣憑恃,唯陛下重垂神慮。」又自說「年老多病,恐不復得奉聖顏」。) อรรถาธิบายจากอู๋ลี่ในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 45.
- ↑ (遺預大珠一斛,乃還。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 45.
- ↑ (延熈六年,就遷為車騎將軍,後假節。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 45.
- ↑ (時車騎將軍鄧芝自江州還,來朝,謂預曰:「禮,六十不服戎,而卿甫受兵,何也?」預荅曰:「卿七十不還兵,我六十何為不受邪?」) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 45. ใน ฉือไห่ ระบุว่าเตงจี๋อายุประมาณ 65 ปีขณะเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น
- ↑ (芝性驕慠,自大將軍費禕等皆避下之,而預獨不為屈。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 45.
- ↑ (遷後將軍,督永安,就拜征西大將軍,賜爵關內侯。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 45.
- ↑ (景耀元年,以疾徵還成都。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 45.
- ↑ (後為鎮軍大將軍,領兖州刺史。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 45.
- ↑ (景耀四年,为行都护卫将军,...) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 35
- ↑ (時都護諸葛瞻初統朝事,廖化過預,欲與預共詣瞻許。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 45.
- ↑ (預曰:「吾等年踰七十,所竊已過,但少一死耳,何求於年少輩而屑屑造門邪?」遂不往。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 45.
- ↑ Sima (1084), vol. 78.
- ↑ (咸熈元年春,化、預俱內徙洛陽,道病卒。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 45.
บรรณานุกรม
[แก้]- ตันซิ่ว (ศตวรรษที่ 3). จดหมายเหตุสามก๊ก (ซานกั๋วจื้อ).
- เผย์ ซงจือ (ศตวรรษที่ 5). อรรถาธิบายจดหมายเหตุสามก๊ก (ซานกั๋วจื้อจู้).
- ซือหม่า กวาง (1084). จือจื้อทงเจี้ยน.
- de Crespigny, Rafe (2007). A Biographical Dictionary of Later Han to the Three Kingdoms 23-220 AD. Leiden: Brill. ISBN 9789004156050.