เจียวปิน
เจียวปิน (เจี่ยง ปิน) | |
---|---|
蔣斌 | |
ผู้พิทักษ์ทัพ (護軍 ฮู่จฺวิน) | |
ดำรงตำแหน่ง ค.ศ. ? – ค.ศ. 263 | |
กษัตริย์ | เล่าเสี้ยน |
ขุนพลสงบยุทธ (綏武將軍 ซุยอู่เจียงจฺวิน) | |
ดำรงตำแหน่ง ค.ศ. ? – ค.ศ. 263 | |
กษัตริย์ | เล่าเสี้ยน |
ข้อมูลส่วนบุคคล | |
เกิด | ไม่ทราบ |
เสียชีวิต | ค.ศ. 264 นครเฉิงตู มณฑลเสฉวน |
บุพการี |
|
ญาติ | เจียวเอี๋ยน (น้องชาย) |
อาชีพ | ขุนพล |
บรรดาศักดิ์ | อานหยางถิงโหฺว (安陽亭侯) |
เจียวปิน[a] หรือ เจียวปีน[b] (เสียชีวิต ค.ศ. 264) มีชื่อในภาษาจีนกลางว่า เจี่ยง ปิน (จีน: 蔣斌; พินอิน: Jiǎng Bīn) เป็นขุนพลของรัฐจ๊กก๊กในยุคสามก๊กของจีน
ประวัติ
[แก้]เจียวปินเป็นชาวอำเภอเซียงเซียง (湘鄉縣 เซียงเซียงเซี่ยน) เมืองเลงเหลง (零陵郡 หลิงหลิงจฺวิ้น) ซึ่งปัจจุบันคือนครเซียงเซียง มณฑลหูหนาน[6] เป็นบุตรชายคนโตของเจียวอ้วนผู้เป็นขุนพล ขุนนาง และผู้สำเร็จราชการของรัฐจ๊กก๊ก
ในปี ค.ศ. 246 เจียวอ้วนเสียชีวิต เจียวปินสืบทอดบรรดาศักดิ์อานหยางถิงโหว (安陽亭侯) ของบิดา เจียวปินรับราชการเป็นขุนพลในจ๊กก๊กเช่นเดียวกับบิดา และมียศเป็นขุนพลสงบยุทธ (綏武將軍 ซุยอู่เจียงจฺวิน) และดำรงตำแหน่งเป็นผู้พิทักษ์ทัพ (護軍 ฮู่จฺวิน) ในอำเภอฮั่นเสีย (漢城縣 ฮั่นเฉิงเซี่ยน; ปัจจุบันคืออำเภอเหมี่ยน มณฑลฉ่านซี)[7]
ในปี ค.ศ. 263 จงโฮยขุนพลของรัฐวุยก๊กยกทัพบุกจ๊กก๊ก จงโฮยให้ซุนไคผู้เป็นผู้พิทักษ์ทัพ (護軍 ฮู่จฺวิน) นำกำลังทหารไปล้อมเจียวปินที่ฮันเสีย จงโฮยเขียนจดหมายถึงเจียวปินว่า "มีผู้มีความสามารถและคุณธรรมมากมายในจ๊ก คนเช่นท่านและจูเก่อ ซือยฺเหวี่ยน (จูกัดเจี๋ยม) ก็เฉกเช่นข้าพเจ้า และยังมีคนอื่นอีกมากที่เฉกเช่นท่านเช่นกัน เป็นธรรมเนียมปฏิบัติของบรรพชนที่ต้องสักการะมหาปราชญ์ในอดีต บัดนี้เมื่อข้าพเจ้ามาถึงจ๊ก ข้าพเจ้าต้องการไปเยือนหลุมศพของบิดาท่าน ข้าพเจ้าหวังว่าท่านจะบอกข้าพเจ้าว่าหลุมศพนั้นอยู่ที่ใด"[8]
เจียวปินตอบว่า "ข้าพเจ้ารู้ว่าท่านเป็นผู้ที่เข้าใจข้าพเจ้าและข้าพเจ้าอยากจะเป็นมิตรกับท่าน บัดนี้เมื่อท่านร้องขออย่างสุภาพ ก็คงจะเป็นการเสียมารยาทหากปฏิเสธท่าน บิดาผู้ล่วงลับของข้าพเจ้าล้มป่วยเสียชีวิตที่อำเภอโปยเสีย (涪縣 ฝูเซี่ยน; ปัจจุบันคือนครเหมี่ยนหยาง มณฑลเสฉวน) หลังจากที่อาจารย์ด้านฮวงจุ้ยบอกว่าอำเภอโปยเสียเป็นสถานที่ดี เราจึงฝังศพของบิดาที่นั่น ท่านมาตามทางไปจ๊กเพื่อเยี่ยมและคำนับหลุมศพของบิดา งันเอี๋ยน (顏回 เหยียน หุย) ก็แสดงความเป็นผู้มีคุณธรรมเมื่อปฏิบัติต่อขงจื๊อเหมือนเป็นบิดาของตน บัดนี้หลังได้รับจดหมายของท่าน ข้าพเจ้ารู้สึกเสียใจอย่างมากและคิดถึงบิดาของข้าพเจ้ามากยิ่งขึ้น"[9]
จงโฮยรู้สึกประทับใจกับลักษณะนิสัยอันน่านับถือของเจียวปินหลังได้รับการตอบกลับของเจียวปิน จงโฮยจึงมุ่งหน้าไปยังอำเภอโปยเสีย หาสุสานของเจียวอ้วนจนพบและคำนับหลุมศพ[10]
หลังการล่มสลายของจ๊กก๊กเมื่อปลายปี ค.ศ. 263 เจียวปินเดินทางไปยังอำเภอโปยเสียเพื่อพบกับจงโฮยแล้วกลายเป็นมิตรกับจงโฮย เจียวปินถูกสังหารโดยทหารที่ก่อการกำเริบในเดือนมีนาคม ค.ศ. 264[11] เมื่อจงโฮยเริ่มก่อกบฏในเซงโต๋ต่อต้านสุมาเจียวผู้สำเร็จราชการแห่งวุยก๊ก[12]
ดูเพิ่ม
[แก้]หมายเหตุ
[แก้]- ↑ ชื่อที่ปรากฏในสามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ตอนที่ 83[1][2][3][4]
- ↑ ชื่อที่ปรากฏในสามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ตอนที่ 85[5]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ ("เกียงอุยก็จัดแจงกองทัพให้เลียวฮัวกับเตียวเอ๊กเปนกองหน้า ให้อองหำกับเจียวปินเปนปีกขวา ให้เจียวฉีกับปอเฉียมเปนปีกซ้าย ให้ออเจ๊กกับหัวสิบเปนกองหลัง ตัวเกียงอุยกับแฮหัวป๋าคุมทหารยี่สิบหมื่นเปนทัพหลวง") "สามก๊ก ตอนที่ ๘๓". วัชรญาณ. สืบค้นเมื่อ September 26, 2024.
- ↑ ("ครั้นขุดไปจะใกล้ทะลุออกหลังค่ายอองหำกับเจียวปิน เตงงายจึงให้เตงต๋งผู้บุตรกับสูกี๋คุมทหารหมื่นหนึ่งไปรบหน้าค่าย") "สามก๊ก ตอนที่ ๘๓". วัชรญาณ. สืบค้นเมื่อ September 26, 2024.
- ↑ ("ฝ่ายอองหำกับเจียวปินอยู่ในค่าย เห็นเตงต๋งกับสูกี๋ยกทหารมาตั้งอยู่หน้าค่ายก็ระวังตัวนัก ให้ทหารทั้งปวงใส่เกราะนอน ครั้นเวลาสองยามเตงหลุนก็คุมทหารขุดทะลุเข้าในค่ายไล่ฆ่าฟันอื้ออึงขึ้น อองหำกับเจียวปินเห็นดังนั้นก็ตกใจให้ทหารถืออาวุธขึ้นม้า เตงต๋งกับสูกี๋ก็ยกทหารรบเข้าไป อองหำกับเจียวปินเห็นเหลือกำลังก็พาทหารหนีออกจากค่าย") "สามก๊ก ตอนที่ ๘๓". วัชรญาณ. สืบค้นเมื่อ September 26, 2024.
- ↑ ("ฝ่ายอองหำกับเจียวปิน ครั้นเวลาเช้าพาทหารเข้ามาหาเกียงอุยณค่าย คำนับกราบลงแล้วก็อ้อนวอนขอโทษ เกียงอุยจึงว่าท่านอย่าวิตกเลย ซึ่งเสียการทั้งนี้เราคิดผิดเอง แล้วจัดแจงทหารให้อองหำเจียวปินยกไปตั้งอยู่ค่ายเก่า") "สามก๊ก ตอนที่ ๘๓". วัชรญาณ. สืบค้นเมื่อ September 26, 2024.
- ↑ ("ครั้นบอกทหารทั้งปวงแล้ว จึงให้เอาเจ้ไปอยู่รักษาเมืองเซียวเส ให้องเสียไปอยู่รักษาเมืองก๊กเสีย เจียวปีนไปอยู่รักษาเมืองฮั่นเสีย แล้วให้เอียวสีกับอุเยียมคุมทหารไปเปนกองตะเวนด่านทางทุกตำบล ส่วนตัวเกียงอุยนั้นก็พาทหารแปดหมื่นยกไปตำบลหลงเส") "สามก๊ก ตอนที่ ๘๕". วัชรญาณ. สืบค้นเมื่อ August 26, 2024.
- ↑ (蔣琬字公琰、零陵湘鄉人也。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 44.
- ↑ (子斌嗣,為綏武將軍、漢城護軍。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 44.
- ↑ (魏大將軍鍾會至漢城,與斌書曰:「巴蜀賢智文武之士多矣。至於足下、諸葛思遠,譬諸草木,吾氣類也。桑梓之敬,古今所敦。西到,欲奉瞻尊大君公侯墓,當洒埽墳塋,奉祠致敬。願告其所在!」) สามก๊กจี่ เล่มที่ 44.
- ↑ (斌荅書曰:「知惟臭味意眷之隆,雅託通流,未拒來謂也。亡考昔遭疾疢,亡於涪縣,卜云其吉,遂安厝之。知君西邁,乃欲屈駕脩敬墳墓。視予猶父,顏子之仁也,聞命感愴,以增情思。」) สามก๊กจี่ เล่มที่ 44.
- ↑ (會得斌書報,嘉歎意義,及至涪,如其書云。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 44.
- ↑ Sima (1084), vol. 78.
- ↑ (後主旣降鄧艾,斌詣會於涪,待以交友之禮。隨會至成都,為亂兵所殺。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 44.
บรรณานุกรม
[แก้]- ตันซิ่ว (คริสต์ศตวรรษที่ 3). สามก๊กจี่ (ซานกั๋วจื้อ).
- ซือหม่า กวาง (1084). จือจื้อทงเจี้ยน.