ภาษาอินโดนีเซีย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Indonesian language)
ภาษาอินโดนีเซีย
Bahasa Indonesia
ออกเสียง[baˈha.sa in.doˈne.sja]
ประเทศที่มีการพูดอินโดนีเซีย
ชาติพันธุ์ชาวอินโดนีเซีย
จำนวนผู้พูดภาษาแม่ - 43 ล้านคน  (2010 census)[1]
ภาษาที่สอง: 156 ล้านคน (2010 census)[1]
300 ล้านคน (2022)[2]
ตระกูลภาษา
รูปแบบก่อนหน้า
ภาษามลายูเก่า
รูปแบบมาตรฐาน
อินโดนีเซีย
ระบบการเขียนละติน (อักษรรูมี)
อักษรเบรลล์อินโดนีเซีย
สถานภาพทางการ
ภาษาทางการ อินโดนีเซีย
ภาษาชนกลุ่มน้อยที่รับรองใน ติมอร์-เลสเต (ภาษามลายูเป็นภาษาทำงานและภาษาทางการค้ากับประเทศอินโดนีเซีย)[3]
ผู้วางระเบียบสำนักงานพัฒนาและส่งเสริมภาษา
รหัสภาษา
ISO 639-1id
ISO 639-2ind
ISO 639-3ind
Linguasphere31-MFA-ac
  ประเทศที่ซึ่งภาษาอินโดนีเซียเป็นภาษาชนส่วนใหญ่
  ประเทศที่ซึ่งภาษาอินโดนีเซียเป็นภาษาชนส่วนน้อย
แผนที่ชุดภาษาใกล้สูญของโลกของยูเนสโกไม่จัดให้ภาษาอินโดนีเซียอยู่ในภาวะเสี่ยงใกล้สูญ
บทความนี้มีสัญลักษณ์สัทอักษรสากล หากระบบของคุณไม่รองรับการแสดงผลที่ถูกต้อง คุณอาจเห็นปรัศนี กล่อง หรือสัญลักษณ์อย่างอื่นแทนที่อักขระยูนิโคด
ผู้พูดภาษาอินโดนีเซีย

ภาษาอินโดนีเซีย (อินโดนีเซีย: Bahasa Indonesia) เป็นภาษาราชการและภาษาประจำชาติของประเทศอินโดนีเซีย[4] โดยเป็นหนึ่งในวิธภาษามาตรฐานของภาษามลายู[5] ซึ่งเป็นภาษาตระกูลออสโตรนีเซียนที่ใช้เป็นภาษากลางในกลุ่มเกาะพหุภาษาอย่างอินโดนีเซียมานานหลายศตวรรษ อินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีประชากรมากเป็นอันดับที่ 4 ของโลก โดยมีประชากรมากกว่า 270 ล้านคน[6] ส่วนใหญ่พูดภาษาอินโดนีเซีย ทำให้ภาษานี้เป็นหนึ่งในภาษาที่มีผู้พูดกันแพร่หลายที่สุดในโลก[7]

นอกจากภาษาประจำชาติแล้ว ชาวอินโดนีเซียส่วนใหญ่ยังสามารถพูดภาษาหนึ่งในบรรดาภาษาพื้นเมืองกว่า 700 ภาษาได้อย่างคล่องแคล่ว ตัวอย่างเช่นภาษาชวาและภาษาซุนดาซึ่งใช้กันทั่วไปที่บ้านและในชุมชนท้องถิ่น[8][9] อย่างไรก็ตาม ในการศึกษาทางการส่วนใหญ่และในสื่อมวลชน การปกครอง การบริหารแผ่นดิน ตุลาการ และการสื่อสารรูปแบบอื่น ๆ เกือบทั้งหมดจะใช้ภาษาอินโดนีเซีย[10]

ภาษาอินโดนีเซียเคยเป็นภาษาราชการของประเทศติมอร์-เลสเตในช่วงที่อินโดนีเซียปกครองระหว่าง พ.ศ. 2519–2542 ปัจจุบันภาษานี้มีสถานะเป็นภาษาทำงานร่วมกับภาษาอังกฤษตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน[11][12]: 3 [13]

ศัพท์ ภาษาอินโดนีเซีย มีความเกี่ยวข้องกับภาษาย่อยมาตรฐานประจำชาติ (bahasa baku) เป็นหลัก[14] อย่างไรก็ตาม ในความหมายที่กว้างกว่านั้น ศัพท์นี้ยังหมายรวมถึงวิธภาษาท้องถิ่นต่าง ๆ ที่ใช้พูดกันทั่วกลุ่มเกาะอินโดนีเซียอีกด้วย[5][15] ภาษาอินโดนีเซียมาตรฐานส่วนใหญ่มีที่ใช้จำกัดอยู่ในสถานการณ์ทางการ โดยปรากฏในความสัมพันธ์แบบทวิภาษณ์ร่วมกับวิธภาษามลายูท้องถิ่นที่ใช้สื่อสารกันในชีวิตประจำวัน[14][8]

ชื่อเรียกภาษาอินโดนีเซียในภาษาของตัวเอง (bahasa Indonesia) ยังมีที่ใช้ในภาษาอังกฤษและภาษาอื่นเป็นครั้งคราว บางครั้ง bahasa Indonesia ถูกเรียกย่อเป็น Bahasa (ซึ่งหมายถึงวิชาภาษาอินโดนีเซียที่สอนกันในโรงเรียน) โดยเข้าใจผิดว่านั่นคือชื่อของภาษา อย่างไรก็ตาม คำว่า bahasa นั้นหมายถึง "ภาษา" เพียงอย่างเดียว เช่น ภาษาไทย เรียกเป็นภาษาอินโดนีเซียว่า bahasa Thai เป็นต้น ดังนั้น หากใช้คำว่า Bahasa โดด ๆ แล้ว ชาวอินโดนีเซียโดยทั่วไปอาจไม่เข้าใจว่าผู้พูดกำลังหมายถึงภาษาประจำชาติของพวกเขา[16]

ประวัติ[แก้]

ภาษาอินโดนีเซียเป็นทำเนียบภาษามาตรฐานของภาษามลายูรีเยา[17][18] ซึ่งแม้จะมีชื่อเรียกเช่นนั้นแต่ก็ไม่ใช่ภาษามลายูที่เป็นสำเนียงท้องถิ่นของหมู่เกาะรีเยา แต่หมายถึงภาษามลายูคลาสสิกที่ใช้ในราชสำนักของรัฐสุลต่านมะละกา[19] จากเดิมที่มีผู้ใช้กันในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะสุมาตรา[20] ภาษามลายูได้กลายเป็นภาษากลางในบริเวณหมู่เกาะที่เป็นประเทศอินโดนีเซียในปัจจุบันมาหลายร้อยปี จารึกเกอดูกันบูกิตเป็นหลักฐานที่เก่าที่สุดที่ใช้ภาษามลายูโบราณซึ่งเป็นภาษาราชการในสมัยจักรวรรดิศรีวิชัย ตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ 12 เป็นต้นมา ภาษามลายูโบราณได้มีการใช้ในหมู่เกาะอินโดนีเซีย เห็นได้จากจารึกสมัยศรีวิชัย และจารึกอื่น ๆ ตามบริเวณชายฝั่ง เช่นที่เกาะชวา การติดต่อค้าขายโดยชาวพื้นเมืองในเวลานั้นเป็นสื่อกลางในการแพร่กระจายของภาษามลายูโบราณในฐานะภาษาทางการค้า และกลายเป็นภาษากลางที่มีผู้ใช้อย่างแพร่หลายในบริเวณหมู่เกาะ[21][22]

ภาษาอินโดนีเซียได้พัฒนามาสู่สถานะของภาษาราชการเมื่ออินโดนีเซียประกาศเอกราชใน พ.ศ. 2488 โดยเริ่มต้นจากการปฏิญาณซุมปะฮ์เปอมูดาเมื่อ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2471[23] ภาษาอินโดนีเซียในรูปแบบมาตรฐานจัดเป็นภาษาเดียวกับภาษามาเลเซีย (ภาษามลายูมาตรฐานในมาเลเซียและบรูไน) แต่มีความแตกต่างจากภาษามาเลเซียหลายประการเช่นการออกเสียงและคำศัพท์ ความแตกต่างนี้มาจากอิทธิพลของภาษาชวาและภาษาดัตช์ในภาษาอินโดนีเซีย ภาษาอินโดนีเซียยังได้รับอิทธิพลจากภาษามลายูปาซาร์ (ภาษามลายูตลาด) ที่เป็นภาษากลางในบริเวณหมู่เกาะในสมัยอาณานิคม มีการอ้างว่าภาษามลายูในมาเลเซียใกล้เคียงกับภาษามลายูคลาสสิกมากกว่า แต่ภาษามาเลเซียสมัยใหม่ก็ได้รับอิทธิพลทางด้านรากศัพท์และประโยคจากภาษาอังกฤษด้วย ประเด็นที่ว่าภาษาอินโดนีเซียมีต้นกำเนิดที่แท้จริงจากภาษามลายูระดับสูง (ภาษามลายูราชสำนัก) หรือจากภาษามลายูระดับล่าง (ภาษามลายูตลาด) กันแน่ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ ภาษามลายูระดับสูงเคยเป็นภาษาที่ใช้ในราชสำนักของรัฐสุลต่านยะโฮร์และในเขตบริหารของเนเธอร์แลนด์ในรัฐยะโฮร์ ส่วนภาษามลายูระดับล่างเป็นภาษาที่ใช้กันในสถานที่ซื้อขายและตามท่าเรือในกลุ่มเกาะอินโดนีเซีย นักภาษาศาสตร์บางกลุ่มกล่าวว่าภาษามลายูระดับล่างนี้เป็นพื้นฐานของภาษาอินโดนีเซีย[24]

ภาษาอินโดนีเซียมีผู้พูดเป็นภาษาแม่หรือภาษาที่หนึ่งเพียงส่วนน้อยของประชากรทั้งหมดของอินโดนีเซีย (ส่วนใหญ่อยู่ในเขตเมือง เช่น จาการ์ตา เมดัน บาลิกปาปัน) แต่มีคนถึง 200 ล้านคนที่ใช้ภาษานี้เป็นภาษาประจำชาติโดยมีระดับความชำนาญแตกต่างกันไป ในชาติที่มีภาษาพื้นเมืองมากกว่า 300 ภาษา และยังมีกลุ่มชาติพันธุ์ที่หลากหลายเช่นนี้ ภาษาประจำชาติมีบทบาทสำคัญมากในการสร้างความเป็นหนึ่งเดียวระหว่างผู้คนจากเกาะต่าง ๆ ทั่วประเทศ การใช้ภาษาอินโดนีเซียเป็นภาษาประจำชาติพบมากในสื่อ หน่วยงานราชการ โรงเรียน มหาวิทยาลัย ที่ทำงาน และในสถานการณ์ที่เป็นทางการ ภาษาอินโดนีเซียมาตรฐานและเป็นทางการมักใช้ในการเขียนหนังสือและหนังสือพิมพ์ รวมทั้งการประกาศข่าวทางโทรทัศน์และวิทยุ อย่างไรก็ตาม มีผู้พูดภาษาอินโดนีเซียเป็นภาษาแม่เพียงจำนวนน้อยที่ใช้ภาษาระดับทางการในการสนทนาในชีวิตประจำวัน

การกระจายตามเขตภูมิศาสตร์[แก้]

บริเวณที่ถือว่าภาษาอินโดนีเซียเป็นภาษาทางการค้าที่มีการสอนในโรงเรียน วิทยาลัย มหาวิทยาลัย สถาบันต่าง ๆ เป็นต้น

ใน พ.ศ. 2553 มีผู้พูดภาษาอินโดนีเซียเป็นภาษาแม่ 42.8 ล้านคน และผู้พูดเป็นภาษาที่สอง 154.9 ล้านคน[1] รวมแล้วมีผู้พูดภาษานี้ในประเทศอินโดนีเซียถึง 197.7 ล้านคน[1]

วิทยุเสียงอเมริกาและบรรษัทแพร่ภาพกระจายเสียงอังกฤษใช้ภาษาอินโดนีเซียเป็นมาตรฐานในการออกอากาศเป็นภาษามลายู[25][26] ในประเทศออสเตรเลีย ภาษาอินโดนีเซียเป็นหนึ่งในสามภาษาเอเชียเป้าหมาย (ร่วมกับภาษาญี่ปุ่นและภาษาจีนมาตรฐาน) ที่มีการสอนในแผนวิชาภาษาอื่นนอกเหนือจากภาษาอังกฤษในบางโรงเรียน[27] โรงเรียนและมหาวิทยาลัยในออสเตรเลียสอนภาษาอินโดนีเซียมาตั้งแต่คริสต์ทศวรรษ 1950[28]

สถานะการเป็นภาษาราชการ[แก้]

ภาษาอินโดนีเซียเป็นภาษาสำหรับสื่อในอินโดนีเซีย เช่น วารสาร หนังสือ

ภาษาอินโดนีเซียเป็นภาษาราชการในประเทศอินโดนีเซียและได้รับการส่งเสริมให้ใช้กันทั่วกลุ่มเกาะอินโดนีเซีย หมวด 15 ว่าด้วยสัญลักษณ์ประจำชาติ ในรัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐอินโดนีเซีย[4] และหมวด 3 ว่าด้วยภาษาประจำชาติ ในกฎหมายแห่งสาธารณรัฐอินโดนีเซียเลขที่ 24/ 2009 ระบุถึงสถานะภาษาอินโดนีเซียไว้อย่างชัดเจน[29]

ภาษาประจำชาติคือภาษาอินโดนีเซีย

— มาตรา 36 หมวด 15 รัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐอินโดนีเซีย[4]

ภาษานี้เป็นภาษาที่แสดงความเป็นหนึ่งเดียวของกลุ่มชาติพันธุ์ที่แตกต่างกันในอินโดนีเซียและเป็นสื่อกลางในการสื่อสาร ทั้งในด้านการศึกษา เอกสารทางราชการเขียนด้วยภาษาอินโดนีเซีย และเป็นภาษาในสื่อในอินโดนีเซีย เช่น วารสาร วิทยุ โทรทัศน์[29]

มีการใช้ภาษาอินโดนีเซียในโรงเรียน

ภาษานี้ได้ประกาศให้เป็นภาษาเดียวของชาติในปฏิญาณซุมปะฮ์เปอมูดาเมื่อ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2471 โดยกำหนดให้ภาษามีพื้นฐานจากภาษามลายูสำเนียงรีเยา แม้ว่านักภาษาศาสตร์จะกล่าวว่านี่ไม่ใช่สำเนียงท้องถิ่นของรีเยาแต่เป็นสำเนียงมะละกาที่ใช้ในราชสำนักของยะโฮร์-รีเยา ตั้งแต่การประกาศใน พ.ศ. 2471 และการกำหนดในรัฐธรรมนูญเมื่อ พ.ศ. 2488 ภาษานี้ได้ใช้ในอินโดนีเซียตลอดมา ภาษานี้ได้รับอิทธิพลจากภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ ในอินโดนีเซีย เช่น ภาษาชวา และภาษาดัตช์ในสมัยอาณานิคม ดังนั้น ภาษาอินโดนีเซียจึงมีคำยืมที่กว้างกว่าเมื่อเทียบกับภาษามลายู ในอีกมุมมองหนึ่ง ภาษาอินโดนีเซียจึงมีสถานะเหมือนเป็นภาษาประดิษฐ์ที่เป็นภาษาราชการใน พ.ศ. 2471 เนื่องจากเกิดขึ้นด้วยเหตุผลทางวิชาการมากกว่าเกิดขึ้นเองทางธรรมชาติ[30]

การพัฒนาแยกกันระหว่างภาษามาเลเซียในมาเลเซียกับภาษาอินโดนีเซียทำให้มีมาตรฐานที่แตกต่างกัน ซึ่งมีเหตุผลมาจากความละเอียดอ่อนทางการเมืองและประวัติการวางมาตรฐานภาษามากกว่าจะเป็นเหตุผลทางวัฒนธรรม ในมาเลเซียจะถือว่าภาษาทั้งสองเป็นสำเนียงที่ต่างกันของภาษาเดียวกัน แต่ในอินโดนีเซียมองว่าเป็นภาษาต่างหากจากกัน (แต่ก็มีความเกี่ยวข้องกัน) ทัศนคติเช่นนี้มีผลให้ชาวอินโดนีเซียไม่ค่อยต้องการให้ภาษาของตนไปกลมกลืนกับภาษาของมาเลเซียและบรูไน ในขณะที่ชาวมาเลเซียต้องการแสดงให้เห็นว่าตนเองมีส่วนเกี่ยวข้องในวิวัฒนาการของภาษาร่วมกับชาวอินโดนีเซีย[31] กระนั้นในปี พ.ศ. 2515 ก็ได้มีการปรับปรุงระบบการเขียนภาษาอินโดนีเซีย โดยเปลี่ยนการสะกดที่อิงแบบภาษาดัตช์มาเป็นแบบที่อิงภาษาอังกฤษอย่างภาษามาเลเซีย

สัทวิทยา[แก้]

สระ[แก้]

โดยทั่วไปกล่าวกันว่าภาษาอินโดนีเซียมีหน่วยเสียงสระ 6 หน่วยเสียง[32] หน่วยเสียงสระทั้งหกปรากฏอยู่ในตารางข้างล่าง อย่างไรก็ตาม นักภาษาศาสตร์คนอื่น ๆ วิเคราะห์ว่าระบบเสียงภาษาอินโดนีเซียยังมีหน่วยเสียงสระอื่นอีก โดยเฉพาะหน่วยเสียงสระกึ่งเปิด /ɛ/ และ /ɔ/[33]

หน่วยเสียงสระภาษาอินโดนีเซีย
ระดับลิ้น ตำแหน่งลิ้น
หน้า กลาง หลัง
ปิด [i]

i

[u]

u

กึ่งปิด [e]

é

[ə]

ê

[o]

o

กึ่งเปิด [ɛ]

è

[ɔ]

o

เปิด [a]

a

อักขรวิธีภาษาอินโดนีเซียมาตรฐานใช้อักษรละติน และมีรูปสระแตกต่างกัน 5 รูป ได้แก่ ⟨a⟩, ⟨i⟩, ⟨u⟩, ⟨e⟩ และ ⟨o⟩ ในตำราสำหรับผู้เรียนภาษา สระระดับกลาง–ลิ้นส่วนหน้า /e/ บางครั้งเขียนโดยใส่เครื่องหมายเสริมสัทอักษรกำกับเป็น ⟨é⟩ เพื่อแยกให้ต่างจากสระระดับกลาง–ลิ้นส่วนกลาง ⟨ê⟩ /ə/

ภาษาอินโดนีเซียแยกเสียงสระ ⟨é⟩ [e] กับ ⟨è⟩ [ɛ] ออกจากกันมาตั้งแต่ พ.ศ. 2558 ในขณะที่ภาษามลายูมาตรฐานยังคงใช้รูปสระเดียว (คือ ⟨é⟩) แทนเสียงทั้งสอง[34] ซูโปโม ปูโจซูดาร์โม นักภาษาศาสตร์ อ้างเหตุผลว่าการจำแนกสระระดับกลาง–ลิ้นส่วนหน้าทั้งสองออกจากกันนั้นเป็นอิทธิพลจากภาษาชวาซึ่งจำแนกความแตกต่างระหว่าง ⟨i⟩ [i], ⟨é⟩ [e] และ ⟨è⟩ [ɛ] อีกตัวอย่างหนึ่งของอิทธิพลภาษาชวาในภาษาอินโดนีเซียคือการแยกสระระดับกลาง–ลิ้นส่วนหลังออกเป็นสองหน่วยเสียงย่อย คือ [o] และ [ɔ] การแยกเสียงสระเหล่านี้ (รวมทั้งคำยืม) ส่งผลให้มีกรณีตัวอย่างของคำคู่ (doublet) เพิ่มขึ้นในภาษาอินโดนีเซีย เช่น ⟨satai⟩ ('สะเต๊ะ'; ภาษาทางการ) กับ ⟨saté⟩ ('สะเต๊ะ'; ภาษาปาก) คำชวาที่รับมาใช้ในภาษาอินโดนีเซียได้เพิ่มความถี่การปรากฏของสระ ⟨é⟩ และ ⟨o⟩ เป็นอย่างมาก[35] ในภาษามลายูแบบดั้งเดิม สระระดับสูง (⟨i⟩, ⟨u⟩) ไม่สามารถปรากฏในพยางค์สุดท้ายได้หากสระในพยางค์ข้างหน้าเป็นสระระดับกลาง (⟨e⟩, ⟨o⟩) และในทางกลับกัน สระระดับกลางก็ไม่สามารถปรากฏในพยางค์สุดท้ายได้หากสระในพยางค์รองสุดท้ายเป็นสระระดับสูง[7]

ในภาษามลายูแบบดั้งเดิม สระระดับกลาง–ลิ้นส่วนกลางไม่สามารถปรากฏในพยางค์สุดท้ายได้ ไม่ว่าจะเป็นพยางค์เปิดหรือพยางค์ปิดก็ตาม สระระดับกลาง–ลิ้นส่วนกลางเริ่มปรากฏในพยางค์ปิดด้วยอิทธิพลจากภาษาชวาและภาษามลายูจาการ์ตา แต่คำยืมจากภาษาดัตช์ทำให้ปรากฏการณ์ดังกล่าวเป็นที่ยอมรับมากขึ้น (เช่น tantê 'ป้า') ซูตัน ตักบีร์ อาลีชะฮ์บานา นักเขียนและนักไวยากรณ์ คัดค้านการเปลี่ยนแปลงทางเสียงเช่นนี้ (เนื่องจากขัดกับระบบเสียงภาษามลายูแบบดั้งเดิม) และยืนกรานให้ใช้รูปสระ ⟨a⟩ เขียนแทนเสียงสระดังกล่าวในพยางค์สุดท้าย เช่น koda (แทนที่จะเป็น kod[ə]; 'รหัส') และ nasionalisma (แทนที่จะเป็น nasionalism[ə]; 'ชาตินิยม') แต่ก็ไม่เป็นผล[7] อย่างไรก็ดี ธรรมเนียมการสะกดเช่นนั้นยังคงหลงเหลืออยู่ในอักขรวิธีภาษาบาหลี

สระประสม[แก้]

ภาษาอินโดนีเซียมีหน่วยเสียงสระประสมสองเสียง 4 หน่วยเสียง ซึ่งปรากฏเฉพาะในพยางค์เปิด[36] ได้แก่

  • /ai̯/: kedai ('ร้าน'), pandai ('ฉลาด')
  • /au̯/: kerbau ('ควาย'), limau ('มะนาว')
  • /oi̯/ (หรือ /ʊi̯/ ในภาษาอินโดนีเซีย): amboi ('ว้าว'), toilet ('สุขา')
  • /ei̯/: survei ('การสำรวจ'), geiser ('น้ำพุร้อน')

นักภาษาศาสตร์บางกลุ่มวิเคราะห์ว่าสระประสมเหล่านี้ที่จริงคือสระเดี่ยวที่ตามด้วยเสียงพยัญชนะเปิด ดังนั้น ⟨ai⟩, ⟨au⟩ และ ⟨oi⟩ จึงแทนเสียง /aj/, /aw/ และ /oj/ ตามลำดับ บนพื้นฐานนี้ จึงไม่มีหน่วยเสียงสระประสมในภาษาอินโดนีเซีย[37]

สระประสมสองเสียงมีความแตกต่างจากสระเรียงสองเสียงซึ่งอยู่คนละพยางค์กัน เช่น

  • /a.i/: lain [la.in] ('อื่น ๆ'), air [a.ir] ('น้ำ')
  • /a.u/: bau [ba.u] ('กลิ่น'), laut [la.ut] ('ทะเล')

พยัญชนะ[แก้]

หน่วยเสียงพยัญชนะภาษาอินโดนีเซีย
ลักษณะการออกเสียง ตำแหน่งเกิดเสียง
ริมฝีปาก ฟัน/
ปุ่มเหงือก
เพดาน
แข็ง
เพดาน
อ่อน
เส้นเสียง
เสียงนาสิก m n ɲ ŋ
เสียงหยุด/
เสียงกักเสียดแทรก
ไม่ก้อง p t͡ʃ k (ʔ)
ก้อง b d d͡ʒ ɡ
เสียงเสียดแทรก ไม่ก้อง (f) s (ʃ) (x) h
ก้อง (v) (z)
เสียงเปิด w l j
เสียงรัว r

เสียงพยัญชนะในภาษาอินโดนีเซียเป็นไปตามตารางข้างบน[32][38] เสียงพยัญชนะที่ปรากฏเฉพาะในคำยืม (โดยเฉพาะจากภาษาอาหรับและภาษาอังกฤษ) แสดงไว้ในวงเล็บ

หมายเหตุ:

เสียงพยัญชนะแต่ละเสียงเขียนแทนด้วยอักษรตัวเดียวกันกับสัทอักษรในตารางข้างบน ยกเว้นเสียงพยัญชนะต่อไปนี้

  • /ɲ/ เขียนแทนด้วย ⟨ny⟩ เมื่อนำหน้าสระ และเขียนแทนด้วย ⟨n⟩ เมื่อนำหน้า ⟨c⟩ และ ⟨j⟩
  • /ŋ/ เขียนแทนด้วย ⟨ng⟩
  • [ʔ] ในตำแหน่งท้ายพยางค์ เขียนแทนด้วย ⟨k⟩, อะพอสทรอฟี ⟨'⟩ หรืออาจไม่แสดงรูปเขียนเลย
  • /t͡ʃ/ เขียนแทนด้วย ⟨c⟩
  • /d͡ʒ/ เขียนแทนด้วย ⟨j⟩
  • /ʃ/ เขียนแทนด้วย ⟨sy⟩
  • /x/ เขียนแทนด้วย ⟨kh⟩
  • /j/ เขียนแทนด้วย ⟨y⟩

ไวยากรณ์[แก้]

คำคุณศัพท์[แก้]

คำคุณศัพท์ในภาษาอินโดนีเซียตามหลังคำนาม

ภาษาอินโดนีเซีย ความหมายเฉพาะคำ แปลเป็นภาษาไทย แปลเป็นภาษาอังกฤษ
Ini buku merah นี่ หนังสือ สีแดง นี่คือหนังสือสีแดง This is a red book.
Ia adalah orang terkenal เขา เป็น คน มีชื่อเสียง เขาเป็นคนมีชื่อเสียง He is a famous person.
Ini buku saya นี่ หนังสือ ฉัน นี่คือหนังสือของฉัน This is my book.

ปัจจัย[แก้]

ภาษาอินโดนีเซียมีระบบปัจจัยที่ซับซ้อน วิธีสร้างคำทำได้หลายแบบได้แก่

  • ปัจจัย Ber + ajar (สอน) = BeLajar (ลบ 'R' และเติม 'L')

= เรียน

  • ปัจจัย Me + ajar + -kan = meNGajarkan (เติม 'NG')

= สอน (สกรรมกริยา)

  • ปัจจัย Ber + judi (พนัน) = Berjudi (Ber- ไม่เปลี่ยนรูป)

= เล่นพนัน

  • ปัจจัย Me + judi + -kan = meNjudikan (เติม'N')

= เสียพนัน

คำแต่ละคำอาจมีความหมายทางไวยากรณ์ต่างไปขึ้นกับปัจจัยที่ใช้ เช่นme + makan (memakan) หมายถึงกิน (ในความหมายของการย่อยสลาย) ในขณะที่ di + makan (dimakan) หมายถึงถูกกิน ter + makan (termakan) หมายถึงถูกกินโดยทันที ปัจจัยที่ต่างกัน 2 คำอาจใช้เปล่ยนความหมายของคำ เช่น duduk หมายถึงนั่งลง mendudukkan หมายถึงให้บางคนนั่งลงหรือวางของบางอย่างลง menduduki หมายถึง นั่งบนบางอย่าง didudukkan หมายถึง ถูกทำให้นั่งลง diduduki หมายถึง ถูกทำให้นั่งบน

ปัจจัยในภาษาอินโดนีเซียมีที่ยืมมาจากภาษาอื่น เช่น ภาษาสันสกฤต ภาษาอาหรับ ภาษาอังกฤษ เช่น maha-, juru-, pasca-, eka-, anti-, pro-

ปัจจัยสร้างคำนาม[แก้]

ชนิดของปัจจัย Affix ตัวอย่างรากศัพท์ ตัวอย่างคำที่ได้
อุปสรรค pe (N) - duduk (นั่ง) penduduk (ที่อยู่)
ke- hendak (ต้องการ) kehendak (desire)
juru- acara (event) juruacara (event host)
อาคม -el- tunjuk (ชี้) telunjuk (ความต้องการ)
-em- kelut (dishevelled) kemelut (chaos, crisis)
-er- gigi (ฟัน) gerigi (toothed blade, serration)
ปัจจัย -an bangun (ตื่นขึ้น ยกขึ้น) bangunan (สร้าง)
Confix ke-...-an raja (กษัตริย์) kerajaan (ราชอาณาจักร)
pe-...-an kerja (ทำงาน) pekerjaan (อาชีพ)

ปัจจัยสร้างคำกริยา[แก้]

ชนิดของปัจจัย Affix ตัวอย่างรากศัพท์ ตัวอย่างคำที่ได้
อุปสรรค be (L) - ajar (สอน) belajar (เรียน) - Intransitive
me (N) - tolong (ช่วย) menolong (ช่วย) - Active transitive
me (NG) - gambar (ภาพ) menggambar (วาดภาพ) - Active transitive
di- ambil (take) diambil (is being taken) - Passive transitive
memper- dalam (ลึก) memperdalam (ทำให้ลึก)
dipe (R) - dalam (ลึก) diperdalam (กำลังลึกลงไป)
te (R) - makan (กิน) termakan (กินอย่างทันทีทันใด)
ปัจจัย -kan letak (เก็บ) letakkan (เก็บ) - Grammatical mood#Imperative mood transitive
-i jauh (ไกล) jauhi (avoid) - Imperative transitive
Confix be (R) -...-an pasang (ซ่อม) berpasangan (ถูกซ่อม)
be (R) -...-kan dasar (base) berdasarkan (based upon)
me (M) -...-kan pasti (แน่ใจ) memastikan (มั่นใจ)
me (N) -...-i teman (companion) menemani (to accompany)
mempe (R) -...-kan guna (ใช้) mempergunakan (to misuse, to utilise)
mempe (L) -...-i ajar (สอน) mempelajari (เรียน)
ke-...-an hilang (หายไป) kehilangan (สูญหาย)
di-...-i sakit (เจ็บปวด) disakiti (รู้สึกเจ็บปวด)
di-...-kan benar (right) dibenarkan (is allowed to)
dipe (R) -...-kan kenal (know, recognise) diperkenalkan (is being introduced)

ปัจจัยสร้างคำคุณศัพท์[แก้]

ชนิดของปัจจัย Affix ตัวอย่างรากศัพท์ ตัวอย่างคำที่ได้
อุปสรรค te (R) - kenal (know) terkenal (famous)
se- rupa (appearance) serupa (คล้าย)
ปัจจัย -em- cerlang (radiant bright) cemerlang (bright, excellent)
-er- sabut (husk) serabut (dishevelled)
Confix ke-...-an barat (west) kebaratan (westernized)

เพศทางไวยากรณ์[แก้]

ภาษาอินโดนีเซียมีการแบ่งเพศของคำน้อย คำจำนวนมากที่อ้างถึงบุคคลไม่มีการจำแนกเพศ ตัวอย่างเช่น adik หมายถึงน้องโดยไม่ระบุเพศ ไม่มีการแยกคำที่หมายถึง"คนรัก" ออกเป็นผู้ชายหรือผู้หญิง ถ้าต้องการระบุเพศจะเพิ่มคำคุณศัพท์เข้ามา เช่น adik laki-laki หมายถึงน้องชายที่สืบสายโลหิตเดียวกัน ไม่มีคำที่มีความหมายตรงกับภาษาอังกฤษ "man" ที่หมายถึงผู้ชายและความเป็นมนุษย์โดยทั่วไป

คำบางคำมีการแบ่งเพศบ้าง เช่น putri หมายถึงลูกสาว และ putra หมายถึงลูกชาย คำเหล่านี้มักเป็นคำยืมจากภาษาอื่น เช่นตัวอย่างข้างต้นเป็ยคำยืมจากภาษาสันสกฤตผ่านทางภาษาชวาโบราณ ในจาการ์ตาและบางพื้นที่ abang อาจใช้หมายถึงพี่ชาย kakak (พี่ที่สืบสายโลหิตเดียวกัน) หมายถึงพี่สาว

คำประสม[แก้]

ภาษาอินโดนีเซียมีการสร้างคำใหม่ด้วยการเชื่อมรากศัพท์ตั้งแต่สองคำขึ้นไปเข้าด้วยกัน ตัวอย่างเช่น rumah หมายถึงบ้าน makan หมายถึงกิน รวมกันเป็น rumah makan หมายถึงภัตตาคาร ส่วนอีกตัวอย่างคือ sepak แปลว่า แตะ bola แปลว่า บอล รวมกันเป็น sepak bola จะหมายถึง การแตะบอล หรือฟุตบอล นั่นเอง แต่ภาษามาเลยเซีย จะเปลี่ยนจาก sepak bola กลายเป็น bola sepak ส่วนความหมายก็ยังเปลี่ยนแปล เหมือนเดิม

ลักษณนาม[แก้]

ภาษาอินโดนีเซียมีการใช้ลักษณนามเช่นเดียวกับภาษาอื่น ๆ ในเอเชีย เช่น ภาษาเบงกอล ภาษาไทย ตัวอย่างคำลักษณนาม เช่น ekor ใช้กับสัตว์ buah ใช้กับนามไม่มีชีวิต lembar ใช้กับกระดาษ biji ใช้กับสิ่งที่เป็นก้อนกลม ในการสนทนาอย่างไม่เป็นทางการละคำลักษณนามได้

คำปฏิเสธ[แก้]

ภาษาอินโดนีเซียมีรูปคำปฏิเสธสามคำคือ tidak bukan และ belum

  • Tidak บางครั้งลดรูปเหลือ tak ใช้ปฏิเสธคำกริยาและคุณศัพท์ เช่น Saya tidak tahu (ฉันไม่รู้) หรือ Ibu saya tidak senang (แม่ของฉันไม่มีความสุข)
  • Bukan ใช้ปฏิเสธคำนาม เช่น Itu bukan seekor anjing (นั่นไม่ใช่หมา)
  • Belum ใช้ปฏิเสธประโยคหรือวลีที่บางอย่างยังไม่สมบูรณ์ และใช้ตอบปฏิเสธคำถาม เช่น Anda sudah pernah ke Indonesia (Belum?) = คุณเคยอยู่อินโดนีเซียมาก่อน (หรือไม่) Belum, saya masih belum pernah pergi ke Indonesia = ไม่, ฉันไม่เคยอยู่อินโดนีเซีย

คำปฏิเสธอีกคำหนึ่งในภาษาอินโดนีเซียคือ jangan ซึ่งตรงกับคำปฏิเสธ do not ในภาษาอังกฤษ jangan ใช้ปฏิเสธคำสั่งหรือแสดงการต่อต้านการกระทำ เช่น Jangan tingalkan saya = อย่าทิ้งฉัน

พหูพจน์[แก้]

การแสดงพหูพจน์ใช้การซ้ำคำ เช่น บุคคลใช้ว่า orang ประชาชนใช้ว่า orang-orang แต่ประชาชน 1,000 คนใช้ว่า seribu orang แต่คำโดยทั่วไปไม่จำเป็นต้องแสดงความเป็นพหูพจน์ แต่บางครั้งการซ้ำคำไม่ได้แสดงความเป็นพหูพจน์เสมอไป เช่น hati หมายถึง หัวใจหรือตับขึ้นกับบริบท ในขณะที่ hati-hati หมายถึง ระมัดระวัง นอกจากนั้นบางคำเช่น biri-biri (แกะ) และ kupu-kupu (ผีเสื้อ) อาจเป็นทั้งรูปพหูพจน์และเอกพจน์ขึ้นกับบริบทหรือตัวเลขในประโยค

สรรพนาม[แก้]

สรรพนามแทนบุรุษที่ 1 พหูพจน์ มีสองคำ คือ kami (ไม่รวมผู้ฟัง) และ Kita (รวมผู้ฟัง) สรรพนามบุรุษที่ 1 เอกพจน์ มีสองคำคือ saya และ aku มีความหมายเหมือนกันแต่ saya เป็นทางการมากกว่า aku ใช้กับคนสนิทในครอบครัว หรือกับเพื่อน สรรพนามบุรุษที่ 2 มีสามคำคือ kamu anda และ kalian anda เป็นคำที่สุภาพที่สุด kalian เป็นรูปพหูพจน์ และไม่เป็นทางการมากนัก นอกจากนี้ ภาษาอินโดนีเซียยังมีคำสรรพนามอื่นๆอีก ซึ่งขึ้นกับโครงสร้างทางสังคมและอิทธิพลของภาษาถิ่น คำบางคำถือว่าสุภาพมากและใช้ในบทกวีเท่านั้น เช่น saudara/sauderi

สรรพนามชี้เฉพาะ[แก้]

มีสองคำคือ ini (นี่) ใช้กับสิ่งที่อยู่ใกล้ผู้พูดกับ itu (โน่น) ใช้กับสิ่งที่อยู่ไกลผู้พูด ทั้งสองคำนี้ไม่มีรูปพหูพจน์

การเรียงลำดับคำ[แก้]

รูปแบบพื้นฐานของประโยคเป็น ประธาน-กริยา-กรรม แต่จะใช้ในรูปถูกกระทำ กรรม-กริยา- (ประธาน) ได้ ซึ่งถือเป็นประโยคแบบละประธาน คำขยายตามหลังคำที่ถูกขยาย

กริยา[แก้]

ไม่มีการผันตามจำนวนหรือบุคคล ไม่มีเครื่องหมายแสดงกาล แต่แสดงกาลด้วยการเติมคำในประโยค เช่น เมื่อวานนี้หรือคำบ่งกาลอื่นๆ เช่น sudah (พร้อมแล้ว) อย่างไรก็ตาม ภาษาอินโดนีเซียมีระบบปัจจัยของกริยาที่ซับซ้อน เพื่อแบ่งแยกรูปกระทำ-ถูกกระทำ การใช้ปัจจัยเหล่านี้อาจถูกละในการสนทนาอย่างไม่เป็นทางการ

การเน้น[แก้]

ในการพูด การเน้นที่ส่วนของประโยคต่างกันทำให้มีการเรียงลำดับคำต่างกันไปได้ รูปแบบเหล่านี้พบน้อยในการเขียน ตัวอย่าง เช่น

  • Saya pergi ke pasar kemarin = ฉันไปตลาดเมื่อวานนี้ (รูปปกติหรือเน้นประธาน)
  • Kemarin saya pergi ke pasar = เมื่อวานนี้ฉันไปตลาด (เน้นที่เมื่อวาน)
  • Ke pasar saya pergi, kemarin = ที่ตลาด, ฉันไปเมื่อวานนี้ (เน้นสถานที่ที่ไป)
  • Pergi ke pasar, saya, kemarin = ไปตลาด, ฉัน, เมื่อวานนี้ (เน้นที่การเดินทาง)

ระบบการเขียน[แก้]

ภาษาอินโดนีเซียเขียนด้วยอักษรละติน แต่เดิมมีพื้นฐานมาจากอักขรวิธีภาษาดัตช์และในปัจจุบันยังคงมีความคล้ายคลึงกันอยู่บ้าง การใช้อักษรแทนเสียงมีลักษณะคล้ายกับในภาษาอิตาลี แต่อักษร ⟨c⟩ ออกเสียงเป็น /t͡ʃ/ เสมอ, อักษร ⟨g⟩ ออกเสียงเป็น /ɡ/ เสมอ และอักษร ⟨j⟩ ออกเสียงเป็น /d͡ʒ/ เสมอ นอกจากนี้ ทวิอักษร ⟨ny⟩ แทนเสียงนาสิก เพดานแข็ง /ɲ/, ทวิอักษร ⟨ng⟩ แทนเสียงนาสิก เพดานอ่อน /ŋ/ (ปรากฏในตำแหน่งต้นคำด้วย), ทวิอักษร ⟨sy⟩ แทนเสียงเสียดแทรก หลังปุ่มเหงือก ไม่ก้อง /ʃ/ และทวิอักษร ⟨kh⟩ แทนเสียงเสียดแทรก เพดานอ่อน ไม่ก้อง /x/ ทั้งเสียง /e/ และเสียง /ə/ เขียนแทนด้วยอักษร ⟨e⟩

การเปลี่ยนแปลงรูปสะกดนับตั้งแต่อินโดนีเซียเป็นเอกราช ได้แก่

หน่วยเสียง รูปสะกด
ในอดีต
รูปสะกด
ในปัจจุบัน
/u/ oe u
/t͡ʃ/ tj c
/d͡ʒ/ dj j
/j/ j y
/ɲ/ nj ny
/ʃ/ sj sy
/x/ ch kh

ระบบตัวสะกดฟัน โอปเฮยเซิน (ตั้งชื่อตามชาร์เลอ อาดรียาน ฟัน โอปเฮยเซิน ที่ปรึกษาการจัดทำระบบตัวสะกด) ซึ่งเผยแพร่ใน พ.ศ. 2444 เป็นมาตรฐานการสะกดคำอินโดนีเซียด้วยอักษรโรมันมาตรฐานแรก โดยได้รับอิทธิพลจากระบบตัวสะกดภาษาดัตช์สมัยใหม่ จากนั้นใน พ.ศ. 2490 จึงเปลี่ยนไปใช้ระบบตัวสะกดสาธารณรัฐหรือระบบตัวสะกดซูวันดี (ตั้งชื่อตามซูวันดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในเวลานั้น) ระบบตัวสะกดนี้เปลี่ยนจาก oe ไปใช้ u ส่วนการเปลี่ยนแปลงที่เหลือทั้งหมดเป็นส่วนหนึ่งของระบบตัวสะกดภาษาอินโดนีเซียฉบับสมบูรณ์ ซึ่งเป็นการปฏิรูปตัวสะกดที่มีคำสั่งให้ใช้อย่างเป็นทางการใน พ.ศ. 2515 รูปสะกดแบบเก่า (ที่มาจากอักขรวิธีภาษาดัตช์) ยังคงปรากฏในวิสามานยนาม เช่น ซูฮาร์โต (ชื่ออดีตประธานาธิบดีอินโดนีเซีย) บางครั้งสะกดว่า Soeharto และ ยกยาการ์ตา (ชื่อนครในจังหวัดชวากลาง) บางครั้งสะกดว่า Jogjakarta เป็นต้น ระบบตัวสะกดภาษาอินโดนีเซียยังได้รับการปรับปรุงเพิ่มเติมเรื่อยมา โดยสำนักงานพัฒนาและส่งเสริมภาษาประกาศฉบับปรับปรุงครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2565[36]

อักษรและการออกเสียง[แก้]

ชุดตัวอักษรอินโดนีเซียตรงกับชุดตัวอักษรละตินพื้นฐานไอเอสโอทุกประการ ดังนี้

อักษรตัวใหญ่
A B C D E F G H I J K L M N O P Q R S T U V W X Y Z
อักษรตัวเล็ก
a b c d e f g h i j k l m n o p q r s t u v w x y z

ชุดตัวอักษรอินโดนีเซียเรียงลำดับอักษรตามชุดตัวอักษรดัตช์ และเป็นอักขรวิธีเชิงหน่วยเสียง กล่าวคือ ออกเสียงอย่างไรก็เขียนอย่างนั้น (โดยมีข้อยกเว้นบางประการ) อักษร Q, V และ X มีที่ใช้ค่อนข้างน้อย ส่วนใหญ่ใช้เขียนคำยืม

อักษร ชื่อ (ในสัทอักษรสากล) เสียง (ในสัทอักษรสากล)
Aa a (/a/) /a/
Bb be (/be/) /b/
Cc ce (/t͡ʃe/) /t͡ʃ/
Dd de (/de/) /d/
Ee e (/e/) /e/
Ff ef (/ef/) /f/
Gg ge (/ge/) /ɡ/
Hh ha (/ha/) /h/
Ii i (/i/) /i/
Jj je (/d͡ʒe/) /d͡ʒ/
Kk ka (/ka/) /k/
Ll el (/el/) /l/
Mm em (/em/) /m/
Nn en (/en/) /n/
Oo o (/o/) /o/
Pp pe (/pe/) /p/
Qq qi หรือ qiu (/ki/ หรือ /kiu̯/) /k/
Rr er (/er/) /r/
Ss es (/es/) /s/
Tt te (/te/) /t/
Uu u (/u/) /u/
Vv ve (/ve/ หรือ /fe/) /v/ หรือ f/
Ww we (/we/) /w/
Xx ex (/eks/) /ks/ หรือ /s/
Yy ye (/je/) /j/
Zz zet (/zet/) /z/

นอกจากนี้ ยังมีทวิอักษรที่ไม่ถือเป็นตัวอักษรต่างหากในภาษานี้ด้วย ได้แก่[39]

ทวิอักษร เสียง
ai /ai̯/
au /au̯/
oi /oi̯/
ei /ei̯/
gh /ɣ/ หรือ /x/
kh /x/
ng /ŋ/
ny /ɲ/
sy /ʃ/

คำศัพท์[แก้]

แผนภูมิรูปวงกลมแสดงสัดส่วนคำยืมในภาษาอินโดนีเซีย

  ดัตช์ (42.5%)
  อังกฤษ (20.9%)
  อาหรับ (19%)
  สันสกฤตและฮินดี (9%)
  จีน (3.6%)
  โปรตุเกส (2%)
  ทมิฬ (2%)
  เปอร์เซีย (1%)

ภาษาอินโดนีเซียเป็นภาษามลายูสมัยใหม่ มีคำยืมจากภาษาต่าง ๆ มากมาย เช่น ภาษาสันสกฤต ภาษาอาหรับ (รวมภาษาเปอร์เซียและภาษาฮีบรู) ภาษาดัตช์ ภาษาโปรตุเกส ภาษาจีน และภาษาตระกูลออสโตรนีเซียนอื่น ๆ อย่างไรก็ตาม คำส่วนใหญ่มาจากรากศัพท์ของภาษาตระกูลออสโตรนีเซียน

คำที่ยืมจากภาษาสันสกฤตได้รับอิทธิพลจากศาสนาพุทธและศาสนาฮินดู มีทั้งที่ยืมจากภาษาสันสกฤตโดยตรงและยืมผ่านภาษาชวา คำจากภาษาสันสกฤตส่วนใหญ่เข้ามาเป็นพื้นฐานของศัพท์ภาษาอินโดนีเซียจนไม่รู้สึกว่เป็นศัพท์ภาษาต่างประเทศ ส่วนคำยืมจากภาษาอาหรับนั้น ได้รับอิทธิพลจากศาสนาอิสลาม การแปลคัมภีร์ไบเบิลยุคแรก ๆ จะใช้คำจากภาษาอาหรับแทนที่คำเฉพาะที่เป็นภาษาฮีบรู แต่ปัจจุบันเริ่มหันไปใช้คำจากภาษากรีกหรือคำจากภาษาฮีบรูมากขึ้น ตัวอย่างเช่น คำว่าพระเยซู เดิมใช้ว่า Isa แบบอาหรับ ปัจจุบันใช้ว่า Yesus

คำยืมจากภาษาโปรตุเกสเป็นคำทั่วไป ซึ่งเกี่ยวข้องกับการที่ชาวโปรตุเกสเป็นชาวยุโรปกลุ่มแรกที่เข้ามาถึงหมู่เกาะเครื่องเทศ คำยืมจากภาษาจีน มักเป็นศัพท์เกี่ยวกับการค้าหรือสิ่งของที่มาจากจีน คำยืมจากภาษาดัตช์เป็นผลจากการที่เคยเป็นอาณานิคมของเนเธอร์แลนด์มาก่อน คำยืมกลุ่มนี้มักมีลำดับพยัญชนะที่ยากต่อการออกเสียง ซึ่งแก้ปัญหาโดยการแทรกเสียงสระเข้าไป เช่น schroef (สครุฟ) จากภาษาดัตช์ เป็น sekrup (เซอกรุป) ในภาษาอินโดนีเซีย

เนื่งจากมีคำยืมจากหลายภาษาจึงมีคำที่มีความหมายเหมือนกันมาก เช่นคำว่า "หนังสือ" มีถึง 3 คำ คือ pustaka จากภาษาสันสกฤต kitab จากภาษาอาหรับ และ buku จากภาษาดัตช์ ความหมายของทั้ง 3 คำนี้ต่างกันเล็กน้อย pustaka ใช้กับหนังสือเกี่ยวกับเรื่องราวโบราณ หรือความรู้ในวงจำกัด ถ้าอยู่ในรูป perpustakaan หมายถึงห้องสมุด kitab ใช้กับหนังสือทางศาสนา เช่น alkitab หมายถึงคัมภีร์ไบเบิล buku ใช้เรียกหนังสือทั่วไป

คำศัพท์[แก้]

ตัวอย่าง[แก้]

ข้อความข้างล่างนี้เป็นตัวอย่างจากปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนในภาษาอินโดนีเซียและมลายูมาเลเซีย คู่กับต้นฉบับภาษาอังกฤษ และแปลภาษาไทย

อังกฤษ[40] อินโดนีเซีย[41] มลายู[42] ไทย[43]
Universal Declaration of Human Rights Pernyataan Umum tentang Hak Asasi Manusia Perisytiharan Hak Asasi Manusia sejagat ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน
Article 1 Pasal 1 Perkara 1 ข้อ 1
All human beings are born free and equal in dignity and rights. They are endowed with reason and conscience and should act towards one another in a spirit of brotherhood. Semua orang dilahirkan merdeka dan mempunyai martabat dan hak-hak yang sama. Mereka dikaruniai akal dan hati nurani dan hendaknya bergaul satu sama lain dalam semangat persaudaraan. Semua manusia dilahirkan bebas dan sama rata dari segi maruah dan hak-hak. Mereka mempunyai pemikiran dan perasaan hati dan hendaklah bergaul dengan semangat persaudaraan. มนุษย์ทั้งปวงเกิดมามีอิสระและเสมอภาคกันในศักดิ์ศรี และสิทธิ ต่างในตนมีเหตุผลและมโนธรรม และควรปฏิบัติต่อกันด้วยจิตวิญญาณแห่งภราดรภาพ

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 "Penduduk Indonesia Hasil Sensus Penduduk 2010" [Result of Indonesia Population Census 2010)]. Penduduk Indonesia Hasil Sensus Penduduk ... [Population of Indonesia : Result of Indonesia Population Census]. Badan Pusat Statistik: 421, 427. 28 March 2013. ISSN 2302-8513. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2 April 2015. สืบค้นเมื่อ 12 April 2015.
  2. Penutur Bahasa Indonesia Capai 300 Juta Jiwa (ภาษาอินโดนีเซีย), Gusti, May 2022
  3. "East Timor Languages". www.easttimorgovernment.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 4 March 2016. สืบค้นเมื่อ 21 March 2016.
  4. 4.0 4.1 4.2 Article 36 of The 1945 Constitution of The Republic of Indonesia  – โดยทาง Wikisource.
  5. 5.0 5.1 Uri Tadmor (2008). "Grammatical borrowing in Indonesian". ใน Yaron Matras; Jeanette Sakel (บ.ก.). Grammatical Borrowing in Cross-Linguistic Perspective (ภาษาอังกฤษ). Walter de Gruyter. p. 301. ISBN 978-3-11-019919-2.
  6. "Badan Pusat Statistik". www.bps.go.id. สืบค้นเมื่อ 2022-10-19.
  7. 7.0 7.1 7.2 James Neil Sneddon. The Indonesian Language: Its History and Role in Modern Society. UNSW Press, 2004.
  8. 8.0 8.1 Setiono Sugiharto (28 October 2013). "Indigenous language policy as a national cultural strategy". The Jakarta Post. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 16 September 2018. สืบค้นเมื่อ 9 January 2014.
  9. Hammam Riza (2008). "Resources Report on Languages of Indonesia" (PDF). เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 9 January 2014. สืบค้นเมื่อ 9 January 2014.
  10. George Quinn. "The Indonesian Language". www.hawaii.edu. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 25 December 2010. สืบค้นเมื่อ 17 January 2022.
  11. "East Timor Languages" [Bahasa-bahasa Timor Leste]. www.easttimorgovernment.com (ภาษาอังกฤษ). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 4 March 2016. สืบค้นเมื่อ 21 March 2016.
  12. Berlie, Jean A. (1 October 2017). "A Socio-Historical Essay: Traditions, Indonesia, Independence, and Elections". East Timor's Independence, Indonesia and ASEAN. Springer. ISBN 9783319626307.
  13. Ramos-Horta, J. (20 April 2012). "Timor Leste, Tetum, Portuguese, Bahasa Indonesia or English?". The Jakarta Post (ภาษาอังกฤษ).
  14. 14.0 14.1 Sneddon, James (2003). "Diglossia in Indonesian". Bijdragen tot de Taal-, Land- en Volkenkunde. 159 (4): 519–549. doi:10.1163/22134379-90003741. ISSN 0006-2294. JSTOR 27868068.
  15. Uri Tadmor (2009). "Malay-Indonesian". ใน Bernard Comrie (บ.ก.). The World's Major Languages (ภาษาอังกฤษ). Routledge. p. 791. ISBN 9781134261567.
  16. Sneddon, James (2003). The Indonesian language: its history and role in modern society (ภาษาอังกฤษ). Sydney: University of New South Wales Press. ISBN 978-0868405988.
  17. "Bahasa dan dialek" (ภาษาอินโดนีเซีย). Republic of Indonesia Embassy in Astana. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-05-01. สืบค้นเมื่อ 2013-08-22.
  18. "Bahasa Melayu Riau dan Bahasa Nasional". Melayu Online. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-11-22. สืบค้นเมื่อ 29 March 2012.
  19. Sneddon 2003, The Indonesian Language: Its History and Role in Modern Society, p. 70
  20. Ethnologue – An encyclopedic reference work cataloging all of the world’s 6,909 known living languages.
  21. rmz (5 June 2007). "Sriwijaya dalam Tela'ah". Melayu Online. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-10-22. สืบค้นเมื่อ 1 April 2012.
  22. Bambang Budi Utomo (23 January 2008). "Risen Up Maritime Nation!". Melayu Online. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-10-22. สืบค้นเมื่อ 1 April 2012.
  23. ""Bahasa Indonesia: The Indonesian Language," George Quinn, Australian National University". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-08-24. สืบค้นเมื่อ 2013-08-22.
  24. "Bahasa Indonesia: Memasyarakatkan Kembali 'Bahasa Pasar'?". Melayu Online. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-06-30. สืบค้นเมื่อ 29 March 2012.
  25. "Voice of America Bahasa Indonesia". Voice of Indonesia. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 1 April 2012. สืบค้นเมื่อ 1 April 2012.
  26. "Languages: News and Analysis in your Language". BBC World Service. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 1 April 2012. สืบค้นเมื่อ 1 April 2012.
  27. Wesley, Michael (10 June 2009). Building an Asia-literate Australia: an Australian strategy for Asian language proficiency (Report). Australian Policy Online. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2 July 2012. สืบค้นเมื่อ 10 July 2012.
  28. "Indonesian". www.australiancurriculum.edu.au.
  29. 29.0 29.1 Undang-undang Republik Indonesia Nomor 24 Tahun 2009 2009 Tentang Bendera, Bahasa, dan Lambang Negara, serta Lagu Kebangsaan, 2009 (in Indonesian)
  30. "Bahasa Indonesia, The complex story of a simple language". Interesting Thing of the Day. 17 September 2004. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-05-22. สืบค้นเมื่อ 1 April 2012.
  31. "Who is Malay?". July 2005. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 4 March 2016.
  32. 32.0 32.1 Soderberg, C. D.; Olson, K. S. (2008). "Indonesian". Journal of the International Phonetic Association. 38 (2): 209–213. doi:10.1017/s0025100308003320.
  33. Yunus Maris, M. (1980). The Indonesian Sound System. Kuala Lumpur: Penerbit Fajar Bakti Sdn. Bhd, page 2.
  34. Karyati, Zetty (2016-12-05). "Antara EYD dan PUEBI: Suatu Analisis Komparatif". SAP (Susunan Artikel Pendidikan). 1 (2). doi:10.30998/sap.v1i2.1024. ISSN 2549-2845.
  35. Poedjosoedarmo, Soepomo (1982). "Javanese influence on Indonesian phonology". Javanese influence on Indonesian (PDF). D (ภาษาอังกฤษ). Vol. 38. Canberra: Pacific Linguistics. pp. 19–50. เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-10-09.
  36. 36.0 36.1 Keputusan Kepala Badan Pengembangan dan Pembinaan Bahasa Kementerian Pendidikan, Kebudayaan, Riset, dan Teknologi Republik Indonesia Nomor 0424/I/BS.00.01/2022 Tentang Ejaan Bahasa Indonesia Yang Disempurnakan, 2022 (in Indonesian)
  37. Clynes, A (1997). "On the Proto-Austronesian 'diphthongs'". Oceanic Linguistics. 36 (2): 347–362. doi:10.2307/3622989. JSTOR 3622989.
  38. Clynes, A.; Deterding, D. (2011). "Standard Malay (Brunei)". Journal of the International Phonetic Association. 41 (2): 259–268. doi:10.1017/S002510031100017X.
  39. "Malay language, alphabets and pronunciation". www.omniglot.com. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 26 June 2019. สืบค้นเมื่อ 13 October 2019.
  40. "OHCHR -". www.ohchr.org. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 30 August 2016. สืบค้นเมื่อ 16 August 2016.
  41. "OHCHR -". www.ohchr.org. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 21 September 2016. สืบค้นเมื่อ 16 August 2016.
  42. "OHCHR -". www.ohchr.org. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 21 September 2016. สืบค้นเมื่อ 16 August 2016.
  43. "UDHR - Thai". unicode.org. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-05-24. สืบค้นเมื่อ 2022-12-04.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]