ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก มูลนิธิดำรงชัยธรรม)
ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม
เกิด27 พฤษภาคม พ.ศ. 2492 (74 ปี)
จังหวัดพระนคร ประเทศไทย
สัญชาติไทย ไทย
ชื่ออื่นอากู๋ แกรมมี่
การศึกษานิเทศศาสตรบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ปริญญาเอก Miami Christian College, United States (มหาวิทยาลัยคริสเตียนไมอามี) สหรัฐฯ
อาชีพ
  • นักธุรกิจ
  • นักโฆษณา
ปีปฏิบัติงานพ.ศ. 2526–ปัจจุบัน
นายจ้างฟาร์อีสต์แอดเวอร์ไทซิง (พ.ศ. 2515-2520)
พรีเมียร์มาร์เก็ตติง (พ.ศ. 2520-2526)
องค์การมูลนิธิดำรงชัยธรรม
มีชื่อเสียงจากประธานกรรมการ
บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน)
คู่สมรสเม ดำรงชัยธรรม
บุตร4 คน

ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม ชื่อเล่น บูลย์,อากู๋ (เกิด 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2492) เป็นผู้ร่วมก่อตั้ง (ร่วมกับเรวัต พุทธินันทน์) และประธานกรรมการของ บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) อีกทั้งยังเป็นประธานกรรมการ จีเอ็มเอ็ม มิวสิค, เดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพรส์ และมูลนิธิดำรงชัยธรรมด้วย

ประวัติ[แก้]

ไพบูลย์เกิดเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2492 ในครอบครัวชาวจีนโพ้นทะเล ซึ่งเปิดกิจการร้านขายของชำเล็ก ๆ ในย่านเยาวราช โดยศึกษาระดับมัธยมศึกษาที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย แล้วเรียนต่อระดับอุดมศึกษา ที่คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยเข้าศึกษาเป็นรุ่นที่ 4 ซึ่งแม้จะเป็นนักกิจกรรมคนหนึ่งของรุ่น แต่เขาก็จบการศึกษาด้วยคะแนนเกียรตินิยมอันดับ 1[1] ต่อมาจบการศึกษาบริหารธุรกิจดุษฎีบัณฑิต หรือปริญญาเอก จาก Miami Christian College มหาวิทยาลัยไมอามีคริสเตียน สหรัฐอเมริกา[ต้องการอ้างอิง]

จากนั้นเมื่อปี พ.ศ. 2515 ไพบูลย์เริ่มการทำงานที่ บริษัท ฟาร์อีสต์แอดเวอร์ไทซิง จำกัด ในเครือสหพัฒนพิบูล จึงมีโอกาสเรียนรู้งานกับเทียม โชควัฒนา อย่างใกล้ชิด จนกระทั่งปี พ.ศ. 2520 เขากับเพื่อนร่วมงานส่วนหนึ่งก็ลาออกมาทำงานที่ บริษัท พรีเมียร์มาร์เก็ตติ้ง จำกัด ในเครือโอสถสภา เป็นเวลา 7 ปี ซึ่งผลงานที่สำคัญคือ การประชาสัมพันธ์เชิงการตลาดแก่ผลิตภัณฑ์น้ำส้มสายชูกลั่น ขององค์การผลิตอาหารสำเร็จรูป (อสร.) และผลิตภัณฑ์ปลาสวรรค์ ตราทาโร่ ระหว่างช่วงเวลาดังกล่าว ไพบูลย์ก็ทำงานพิเศษหลายอย่างเช่น การผลิตหนังสือที่โรงพิมพ์พิฆเนศ ร่วมกับขรรค์ชัย บุนปาน และสุจิตต์ วงษ์เทศ เป็นบรรณาธิการหนังสือให้แก่บุรินทร์ วงศ์สงวน, ก่อตั้งบริษัท โฟร์เอจ จำกัด ร่วมกับเพื่อนฝูง เพื่อทำงานวิจัย สร้างสรรค์โฆษณา และสถาปัตยกรรม

ไพบูลย์สมรสกับ เม ดำรงชัยธรรม นักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ชาวไต้หวัน มีบุตร 2 คน คือ ฟ้าใหม่ (ปัจจุบันเป็นรองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บจก. จีเอ็มเอ็ม มิวสิค)[2] และระฟ้า (ปัจจุบันเป็นประธานเจ้าหน้าที่การตลาดกลุ่มของบริษัท เดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด (มหาชน))[3] และธิดา 2 คนคือ อิงฟ้า และฟ้าฉาย (ปัจจุบันทั้งสองกำลังศึกษาอยู่) อนึ่ง ไพบูลย์เป็นผู้ยื่นขอจดทะเบียนก่อตั้งมูลนิธิดำรงชัยธรรม ขึ้น เพื่อให้โอกาสทางการศึกษาแก่เด็กไทยที่ขาดโอกาส จนได้เป็นบัณฑิตและมหาบัณฑิต รวมทั้งส่งนักศึกษาซึ่งมีผลการเรียนดีมากส่วนหนึ่งไปศึกษาต่อยังต่างประเทศด้วย

ไพบูลย์มีชื่อเรียกซึ่งเป็นที่ทราบกันทั่วไปว่า อากู๋ ซึ่งมีที่มาจากเลขานุการส่วนตัว วิภาพร สมคิด ธิดาของศิวลี พี่สาวของไพบูลย์ เธอจึงเป็นหลานสาวของไพบูลย์ และเรียกไพบูลย์ว่าอากู๋ อันหมายถึงน้าชาย (น้องชายของแม่) ในภาษาจีนสำเนียงแต้จิ๋ว ต่อมา เบิร์ด - ธงไชย แมคอินไตย์ ศิลปินที่มีชื่อเสียงของแกรมมี่ ซึ่งยุคแรก ๆ ทำงานใกล้ชิดกับไพบูลย์ จึงได้ยินชื่อเรียกดังกล่าวอยู่เสมอ เมื่อเบิร์ดขึ้นแสดงคอนเสิร์ตแบบเบิร์ดเบิร์ดโชว์ครั้งหนึ่งแล้วพบว่าไพบูลย์มานั่งชมอยู่หน้าเวที เบิร์ดจึงกล่าวทักทายขึ้นว่า "สวัสดีพี่บูลย์ สวัสดีอากู๋" หลังจากนั้น เบิร์ดยังเอ่ยถึงชื่อเรียกนี้อีกสองสามครั้ง จึงกลายเป็นที่รู้จักโดยทั่วไปในที่สุด

จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่[แก้]

เมื่อปี พ.ศ. 2526 ไพบูลย์นำเงินที่สะสมไว้ราว 400,000-500,000 บาท มาเป็นทุนจดทะเบียนก่อตั้ง บริษัท แกรมมี่ เอ็นเตอร์เทนเมนต์ จำกัด เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน เพื่อผลิตงานดนตรีแล้วบันทึกเพื่อจำหน่าย (ค่ายเพลง) โดยร่วมกับเรวัต พุทธินันทน์ นักดนตรีซึ่งมีชื่อเสียงในยุคนั้น ซึ่งผลงานลิขสิทธิ์ชิ้นแรกของแกรมมี่ คือการผลิตเพลงชุดมหาดุริยางค์ไทย ที่ประพันธ์โดยหลวงประดิษฐ์ไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) จากนั้นในปี พ.ศ. 2538 แกรมมี่ได้ระดมทุนสาธารณะและจดทะเบียนซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และในปี พ.ศ. 2544 เปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน)

ไพบูลย์เป็นประธานกรรมการคนปัจจุบัน และเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ที่สุดของจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำนวนรวม 392,834,599 หุ้น คิดเป็นร้อยละ 47.91% แต่ปัจจุบันไพบูลย์และบุตร-ธิดาทั้ง 4 คน ได้ปรับโครงสร้าง โดยโอนหุ้นทั้งหมดที่ทั้ง 5 คนถืออยู่ในจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ รวม 50.25% ไปให้บริษัท ฟ้า ดำรงชัยธรรม จำกัด เป็นผู้ถือหุ้นแทน[2] โดยไพบูลย์ยังคงมีเสียงส่วนใหญ่ด้วยสัดส่วนการถือหุ้นใน บจ.ฟ้า ดำรงชัยธรรม จำนวน 99% ส่วนอีก 1% ไพบูลย์ให้บุตรธิดาทั้ง 4 คนถือเท่ากันที่คนละ 0.25% เนื่องจากไพบูลย์มีอายุมากขึ้นแล้ว และต้องการจัดสรรทรัพย์สินส่วนตนให้เป็นกองกลางของครอบครัว รวมถึงตั้งธรรมนูญครอบครัวเพื่อแบ่งหน้าที่การบริหารในจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ อย่างชัดเจน[4]

อ้างอิง[แก้]

  1. ประวัติการศึกษา
  2. 2.0 2.1 "การแต่งตั้งผู้บริหารระดับสูง" (PDF). จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่. 2019-05-15. สืบค้นเมื่อ 2022-07-20.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  3. "'ระฟ้า ดำรงชัยธรรม' หัวหอกปั้นแพลตฟอร์มออนไลน์ 'เดอะวัน เอ็นเตอร์ไพรส์' ส่งแอป oneD เจาะตลาด OTT". แบรนด์บุฟเฟต์. 2022-04-05. สืบค้นเมื่อ 2022-07-20.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  4. "'อากู๋ ไพบูลย์' แจงโยนบิ๊กล็อต 52% หวังปรับโครงสร้างถือหุ้นมอบเป็นมรดกให้ลูก พร้อมตั้งธรรมนูญครอบครัว แบ่งหน้าที่บริหารงานชัด". เดอะสแตนดาร์ด. 2021-10-18. สืบค้นเมื่อ 2022-08-14.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)