ใบไม้ที่ปลิดปลิว

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ใบไม้ที่ปลิดปลิว
ประเภทเมโลดราม่า
แก้แค้น
สร้างโดย
เค้าโครงจากใบไม้ที่ปลิดปลิว
โดย ทมยันตี
เขียนโดยวรรธนา วีรยวรรธน
กำกับโดยเอกสิทธิ์ ตระกูลเกษมสุข
แสดงนำพิมพ์ชนก ลือวิเศษไพบูลย์
พุฒิชัย เกษตรสิน
ยุรนันท์ ภมรมนตรี
ภัทรธิดา พัชรวีระพงษ์
วิทยา วสุไกรไพศาล
คีรติ มหาพฤกษ์พงศ์
จักรกฤษณ์ อำมรัตน์
ดนตรีแก่นเรื่องเปิดรักที่อยากลืม - ปิยนุช เสือจงพรู
ดนตรีแก่นเรื่องปิดใบไม้ - วิชญาณี เปียกลิ่น
ประเทศแหล่งกำเนิดไทย
ภาษาต้นฉบับไทย
จำนวนตอน21 ตอน
การผลิต
ผู้อำนวยการสร้างถกลเกียรติ วีรวรรณ
นิพนธ์ ผิวเณร
สายทิพย์ มนตรีกุล ณ อยุธยา
วรฤทธิ์ ไวยเจียรนัย
ความยาวตอน75 นาที
ออกอากาศ
เครือข่ายช่องวัน, ไลน์ทีวี, เน็ตฟลิกซ์
ออกอากาศ11 มิถุนายน พ.ศ. 2562 –
20 สิงหาคม พ.ศ. 2562

ใบไม้ที่ปลิดปลิว เป็นละครโทรทัศน์ที่สร้างจากเค้าโครงบทประพันธ์แนวเมโลดราม่า (Melodrama) สะท้อนปัญหาของกลุ่มบุคคลข้ามเพศ[1] ของวิมล เจียมเจริญ (ทมยันตี) โดย เดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพรส์, เชนจ์ 2561 และเก้ง กวาง แก๊งค์ เขียนบทโทรทัศน์โดย วรรธนา วีรยวรรธน (เนปาลี) และกำกับการแสดงโดย เอกสิทธิ์ ตระกูลเกษมสุข

บทประพันธ์กล่าวถึงสภาพสังคมในปี พ.ศ. 2531[2] ที่สังคมที่ไม่ยอมรับการมีตัวตนของบุคคลข้ามเพศ ผู้ที่เป็นบุคคลข้ามเพศมักจะถูกมองว่าเป็นตัวประหลาด เป็นโรคจิต บ้างก็ฆ่าตัวตาย[3] แต่เมื่อนำมาสร้างเป็นละครโทรทัศน์ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2562 ได้มีการเพิ่มเติมมุมมองในเรื่องความต่างของชั่วรุ่นระหว่างตัวละครพ่อและลูกชายที่เป็นบุคคลข้ามเพศ สิทธิในการมีตัวตนในสังคมของบุคคลข้ามเพศ และการให้อภัย ปล่อยวางอดีต[4][5]

เรื่องย่อ[แก้]

ชนันธวัช (ศุภพงษ์ อุดมแก้วกาญจนา) เด็กที่ธรรมชาติเล่นตลกด้วยการสร้างให้กายเป็นชาย แต่ใจเป็นหญิง ใฝ่ฝันอยากเป็นหญิงสาวที่แสนสวยงามเหมือน นิรมล (อาภาศิริ นิติพน) ผู้เป็นแม่ที่เขาทั้งรักและบูชา ตลอดชีวิตทั้งคู่ต้องฝ่าฝันทั้งความเกลียดชัง การกีดกันที่รุนแรงและโหดร้ายจาก ชมธวัช (ยุรนันท์ ภมรมนตรี) ผู้เป็นพ่อ และ รังรอง (ภัทรธิดา พัชรวีระพงษ์) ผู้เป็นอา ท่ามกลางความเกลียดชังมีเพียงอาเขยอย่าง ชัชวีร์ (พุฒิชัย เกษตรสิน) ที่ให้ความรักและสงสาร คอยช่วยเหลือเท่าที่จะทำได้

เวลาผ่านไปนาน นิรมล ผู้เป็นแม่ วางแผนพา ชนันธวัช ไปผ่าตัดแปลงเพศที่ต่างประเทศ จนกลายเป็น นิรา คงสวัสดิ์ (พิมพ์ชนก ลือวิเศษไพบูลย์) สาวสวยในชีวิตใหม่กับเพศใหม่ แต่ยังไม่ทันที่เธอจะได้เริ่มชีวิตสุดสดใส นิรมล กลับมาประสบอุบัติเหตุเสียชีวิตเสียก่อน นิรา โกรธแค้นทุกคนมากที่ทำให้ นิรมล ต้องตาย และมีเพียง พล (จักรกฤษณ์ อำมรัตน์) ลูกน้องคนสนิทของนิรมล ที่เข้าใจทุกอย่าง และคอยเป็นห่วงเป็นใยนิราเสมือนเป็นลูกของตัวเอง

นิรา ตัดสินใจสร้างข่าวการตายของชนันธวัชแล้วกลับเมืองไทย เพื่อทำให้ทุกคนที่เคยทำเธอได้รับความเจ็บปวดและสูญเสีย พร้อมกับพิสูจน์ตัวเองว่า เธอไม่ใช่แค่อีเด็กกะเทยไร้ค่าอีกต่อไป นิรา เริ่มต้นเกมการแก้แค้นด้วยการย้ายไปอยู่กับ หมอเบญ (วิทยา วสุไกรไพศาล) หมอจิตเวชผู้เป็นน้องเขยของ นิรมล หมอเบญรู้สึกดีกับนิราตั้งแต่แรกพบ แม้เขาจะเป็นคนเดียวที่รู้ว่านิราไม่ใช่เพศหญิงตั้งแต่กำเนิด แต่ระหว่างเกมการแก้แค้น กลับมีอุปสรรคการแก้แค้นคอยขัดขวางเธออยู่ คือ ชัชวีร์ อาเขยที่เป็นรักแรกและรักแท้ของเธอ ทำให้หลาย ๆ ครั้งเธอต้องเลือกระหว่างความแค้นกับความรัก แต่เธอก็ต้องเลือกเพื่อชะตาชีวิตของเธอเอง

นิราเลือกวิธีการไต่เต้าขึ้นมามีชื่อเสียง จากการรับจ็อบเป็นช่างแต่งหน้า จนได้มีโอกาสมาเดินแบบ และก้าวเข้าสู่วงการมายาเต็มตัว แต่การมาของนิรา ทำให้ มะนาว (คีรติ มหาพฤกษ์พงศ์) และรังรองไม่ค่อยพอใจกับนิรามากนัก ทั้งสองคนพยายามหาวิธีการทำลายนิราทุกทาง แต่นิราก็เอาตัวรอดได้แทบทุกครั้ง และทุกครั้งที่นิราเอาตัวรอดได้ เกมการแก้แค้นของนิราก็ยิ่งเข้มข้นขึ้นเข้าไปทุกที จนในที่สุดนิราเกือบหลงกลชมธวัชและได้เสียกัน แต่นิรากลับไหวตัวทัน และให้ กาญจน์ (กาญจน์ กาญจนสุธา) กะเทยรุ่นน้องที่แอบปลื้มนิราตั้งแต่เข้าวงการ มาปลอมตัวเป็นเธอแล้วไปนอนกับชมธวัชแทน ชมธวัชโกรธแค้นนิรามากที่ถูกหักหลังให้ตัวเองมานอนกับกะเทย ชมธวัช จึงร่วมมือกับมะนาวและรังรองร่วมทำลายนิราอีกคน

ชมธวัช ให้นักสืบออกสืบเรื่องของนิราทุกเรื่อง ทั้งต้นกำเนิด ประวัติ ครอบครัว และภูมิลำเนา เพื่อที่จะได้เอาเรื่องราวฉาว ๆ ของนิราออกมาแฉ แต่ยิ่งตามสืบความลับของ "ชนันธวัช" กลับเริ่มแดงออกมาทีละน้อย จนในที่สุดชมธวัชก็ได้รู้ความจริงว่าตัวตนที่แท้จริงของนิรา คือ ชนันธวัช ลูกชายของตัวเอง ชมธวัชเสียใจมากที่ตนเป็นต้นเหตุของเรื่องร้าย ๆ ทั้งหมด และเป็นต้นเหตุที่จะทำให้เรื่องราวต่อจากนี้ของนิราพลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือ

ความลับเรื่องเพศกำเนิดของนิรา ถูกมะนาวซื้อไปแฉออกสื่อทั้งหมด นิราที่รู้เรื่องภายหลังเลยสติแตกกลายเป็นคนละคน ทุกคนพยายามเกลี้ยกล่อมให้นิรากลับมาใช้ชีวิตตามเดิม แต่ก็ไม่สำเร็จ นิรา ตัดสินใจจบชีวิตของเธอลงเพียงเพราะเธอไม่เหลือใครแล้ว แม้แต่คนที่เธอรักที่สุดอย่างชัชวีร์ แต่ทุกคนก็สามารถช่วยเหลือและยื้อชีวิตเธอเอาไว้ได้ นิรารักษาตัวจนหายเป็นปกติ ชมธวัช และทุกคนชวนนิรากลับไปอยู่ด้วยกัน แต่นิราขอกลับไปใช้ชีวิตตามลำพังกับบาปของตัวเองที่ลอนดอนตามเดิม จนกว่าเธอจะให้อภัยตัวเธอได้ เธอจึงจะกลับมาอยู่กับคนที่เธอรักต่อไป

รายชื่อนักแสดง[แก้]

บทบาท นักแสดงหลัก
นิรา คงสวัสดิ์ (นิ) พิมพ์ชนก ลือวิเศษไพบูลย์
ชัชวีร์ ธีระยศสกุล (ชัช) พุฒิชัย เกษตรสิน
ชมธวัช สิริวัฒน์ (ชม) ยุรนันท์ ภมรมนตรี
รังรอง สิริวัฒน์ (รอง) ภัทรธิดา พัชรวีระพงษ์
นพ.เบญจางค์ สินธุ (หมอเบญ) วิทยา วสุไกรไพศาล
มะนาว (นาว) คีรติ มหาพฤกษ์พงศ์
พล เพชรจินดา (ลุงพล) จักรกฤษณ์ อำมรัตน์
บทบาท นักแสดงสมทบ
อ่อนศรี (อ่อน) นัฏฐา ลอยด์
คุณหญิงอิงอร พรหมพร ยูวะเวส
อ๊อด พงษ์นิรันดร์ กันตจินดา
ป้าจิบ ชุติมา นัยนา
แป้น (ช่างแต่งหน้าของรังรอง) ศุกรินทร์ พวงเข็มขาว
ยอดดอย อ้วน รีเทิร์น
ใบตอง รัศมีแข ฟ้าเกื้อล้น
บทบาท นักแสดงรับเชิญ
นิรมล คงสวัสดิ์ อาภาศิริ นิติพน
ชนันธวัช สิริวัฒน์ (ก่อนศัลยกรรม) ศุภพงษ์ อุดมแก้วกาญจนา
ชนันธวัช สิริวัฒน์ (ตอนเด็ก) ด.ช.ธัณญ์กรณ์ กัลยาวุฒิพงศ์
พรชัย ศุภกรณ์ กิจสุวรรณ
พี่ปิ๊บ ซอย 2 (เพื่อนยอดดอย) อารยาอิสรีย์ เอกอุชุกร (เดย์ ฟรีแมน)
ลูกน้องรังรอง ธงชัย มาเม่น
แขกในงานวันเกิดชมธวัช สิริวัฒน์ พีระเดช เริงสำราญ
พิธีกรรายการ one บันเทิง
พิธีกรรายการ one บันเทิง ดารินา บุญชู
รุ่นน้องพรชัย ดรัณภพ สุริยาวงษ์
ตำรวจ จตุพร หนูเนียม
ตำรวจ เกรียงไกร อุ่นแก้ว
ป้าตือ
กาน กาญจน์ กาญจนสุธา

การตอบรับ[แก้]

ก่อนละครออกอากาศ ละครได้รับกระแสด้านลบอย่างมากใน pantip.com ถึงการรับบทนำของพิมพ์ชนก ลือวิเศษไพบูลย์ โดยมีการตั้งคำถามว่าเหตุใดจึงไม่เลือกบุคคลข้ามเพศมารับบทนำ ซึ่งในเรื่องนี้ผู้กำกับเอกสิทธิ์เผยว่าเป็นเรื่องที่ค่อนข้างละเอียดอ่อน และได้มีการปรึกษากับสายทิพย์ มนตรีกุล ณ อยุธยา, ถกลเกียรติ วีรวรรณ และนิพนธ์ ผิวเณร ทั้งสามคนให้ความเห็นว่าการใช้บุคคลข้ามเพศมารับบทนำจะทำให้ผู้ชมสามารถรู้ได้ทันทีว่าตัวเอกไม่ใช่ผู้หญิงอย่างในบทประพันธ์ สุดท้ายละครเรื่องนี้ก็จะกลายเป็นเพียงละครเฉพาะทางไปในที่สุด ฉะนั้นเพื่อสร้างความตื่นเต้นเหมือนตอนสร้างตัวละครไวน์ในซีรีส์ สงครามนางงาม จึงเห็นควรให้ผู้หญิงจริง ๆ มารับบทนำ[6]

เมื่อละครออกอากาศครั้งแรก ละครได้รับกระแสเสียงตอบรับที่ดีมาก โดยเฉพาะการถ่ายทอดความเป็นบุคคลข้ามเพศของพิมพ์ชนก ลือวิเศษไพบูลย์ ที่สามารถเข้าถึงตัวละครนี้ได้อย่างละเอียด มีมิติ และมีความซับซ้อนในตัวเอง รวมถึงการถ่ายทอดชีวิตและความเจ็บปวดของทรานส์เจนเดอร์ผ่านฉาก "แยงโม" ซึ่งเป็นอีกหนึ่งฉากที่ท้าทายฝีมือการแสดงของพิมพ์ชนก[7] ถึงแม้ว่าฉากนี้จะเป็นฉากที่คนทั่วไปไม่เข้าใจในรายละเอียดว่าตัวละครกำลังทำอะไร แต่วรรธนา วีรยวรรธน ผู้เขียนบทโทรทัศน์ออกมาเปิดเผยถึงรายละเอียดผ่านทวิตเตอร์ของตัวเองว่าเรื่องนี้มีความสำคัญมากขนาดไหน ถึงได้นำมาเขียนเป็นบทละครโทรทัศน์ออกมาให้พิมพ์ชนกได้ถ่ายทอด[8]

ในส่วนของเรตติ้งละครนั้น เมื่อออกอากาศครั้งแรกได้เรตติ้งเฉลี่ยทั่วประเทศไปเพียง 1.5 แต่หลังจากตอนที่ 2 เรตติ้งเพิ่มขึ้นมาอยู่เหนือระดับ 2.0 ขึ้นไปตั้งแต่ตอนที่ 3 และสูงสุดที่ 5.0 ในตอนที่ 21 (ตอนจบ)[9] โดยมียอดผู้ชมอยู่ที่ 17.7 ล้านคนทั่วประเทศ ส่วนกระแสในทวิตเตอร์สามารถขึ้นมาเป็นอันดับ 1 ของประเทศไทย[10] และอันดับ 2 ของโลก[11] นอกจากนั้นการรับชมย้อนหลังทางไลน์ทีวี ก็มียอดเข้าชมสะสมมากกว่า 300 ล้านครั้ง[9]

รางวัล สาขารางวัล ผู้ได้รับการเสนอชื่อ ผลการตัดสิน
มายามหาชน 2562 [12]
The Best Comeback Star ยุรนันท์ ภมรมนตรี ชนะ
พิฆเนศวร ครั้งที่ 7 ประจำปี 2562 [13]
นักแสดงผู้สร้างสีสันยอดเยี่ยม อนันต์ เสมาทอง (อ้วน รีเทิร์น) ชนะ
นักแสดงสมทบหญิงดีเด่น ภัทรธิดา พัชรวีระพงษ์ ชนะ
ไลน์ทีวีอวอร์ด 2020 [14]
Drama/Series of the Year ละคร/ซีรีส์แห่งปี ใบไม้ที่ปลิดปลิว ชนะ
Thai Crazy Awards 2020 [15]
Best Actress พิมพ์ชนก ลือวิเศษไพบูลย์ ชนะ
Best Series ใบไม้ที่ปลิดปลิว ชนะ
รางวัลนาฏราช ครั้งที่ 11
บทโทรทัศน์ยอดเยี่ยม วรรธนา วีรยวรรธน เสนอชื่อเข้าชิง
นักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม พิมพ์ชนก ลือวิเศษไพบูลย์ ชนะ
ผู้กำกับยอดเยี่ยม เอกสิทธิ์ ตระกูลเกษมสุข เสนอชื่อเข้าชิง
ละครโทรทัศน์ยอดเยี่ยม ใบไม้ที่ปลิดปลิว เสนอชื่อเข้าชิง

อ้างอิง[แก้]

  1. ใบที่ปลิดปลิว : โลกของคนที่แปลกแยก
  2. ช่องวัน 31 ส่ง ‘ใบไม้ที่ปลิดปลิว’ ละครดราม่าชำระบัญชีความขื่นขมของทรานส์เจนเดอร์
  3. เดือนแห่งไพรด์ : จากเพลงสุดท้ายสู่ใบไม้ที่ปลิดปลิว
  4. กู่’ทำละคร‘ใบไม้ที่ปลิดปลิว’ ชี้ให้อภัยสำคัญสุด–หวังคนดูได้คิด
  5. "รัศมีแข" อินตามบทละคร "ใบไม้ที่ปลิดปลิว" เหมือนชีวิตตนเอง
  6. ผกก."ใบไม้ที่ปลิดปลิว" เชื่อมือ "ใบเฟิร์น" ถ่ายทอดจริตกะเทย ตีแผ่หัวอก "สาวประเภทสอง"
  7. ไขข้อข้องใจ! “ใบเฟิร์น พิมพ์ชนก” ถ่ายทอดอารมณ์เจ็บปวดขั้นสุด เมื่อต้อง “แยงโม” ในละครใบไม้ที่ปลิดปลิว
  8. กระจ่างแล้ว “แยงโม” คืออะไร? ทำไมต้องใช้แท่งแก้วสอดใส่.. ใน “ใบไม้ที่ปลิดปลิว”
  9. 9.0 9.1 "บทสรุปสุดประทับใจ ใบไม้ที่ปลิดปลิว นิราฟาดเรียบเรตติ้ง-ออนไลน์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-08-22. สืบค้นเมื่อ 2019-08-22.
  10. ทวิตร้อนระอุ "ใบไม้ที่ปลิดปลิวตอนจบ" ขึ้นเทรนด์ทวิตอันดับ1 ชาวเน็ตบอก "ใบเฟิร์น - แซม" แสดงดีมาก
  11. "จบอย่างไร้ที่ติ 'ใบไม้ที่ปลิดปลิว' ติดเทรนด์ทวิตฯโลก". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-08-22. สืบค้นเมื่อ 2019-08-22.
  12. ผลประกาศรางวัล MAYA AWARDS 2019 เวทีแห่งเกียรติยศคนบันเทิง รวมดาราเดินพรมแดงสุดอลังการ
  13. คนบันเทิงเข้ารับรางวัล “พิฆเนศวร” ครั้งที่ 7 จัดโดย สมัชชานักจัดรายการข่าววิทยุโทรทัศน์หนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
  14. "เป็นต่อ-ใบไม้ที่ปลิดปลิว" คว้ารางวัลที่สุดแห่งปี จาก Line TV Awards 2020
  15. "ใบเฟิร์น-ใบไม้ที่ปลิดปลิว" คว้ารางวัลนำหญิง-ซีรีส์ยอดเยี่ยมที่ประเทศจีน

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]