พระเจ้าสุริยวรมันที่ 1

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สูรยวรรมันที่ 1
พระมหากษัตริย์แห่งจักรวรรดิเขมร
ครองราชย์ค.ศ. 1006–1050
ราชาภิเษกค.ศ. 1010
ก่อนหน้าชยวีรวรรมัม
ถัดไปอุทัยทิตยวรรมันที่ 2
พระราชบุตร
พระนามเต็ม
สูรยวรรมัน
พระนามหลังสิ้น
นิพพานบท
ราชวงศ์ราชวงศ์ไศเลนทร์
สวรรคตค.ศ. 1050
ศาสนาพุทธศาสนานิกายมหายาน

สูรยวรรมันที่ 1 เอกสารไทยมักเรียก สุริยวรมันที่ 1 (เขมร: សូរ្យវរ្ម័នទី១ สูรฺยวรฺมันที ๑; อักษรโรมัน: Suryavarman I; ? – ค.ศ. 1050) สิ้นพระชนม์แล้วได้พระนามว่า นิพพานบท (និវ្វានបទ นิวฺวานบท) เป็นพระมหากษัตริย์แห่งจักรวรรดิเขมร เสวยราชย์ตั้งแต่ ค.ศ. 1006–1050[1]:134–135

พระนาม[แก้]

พระนาม "สูรยวรรมัน" แปลว่า ผู้มีพระอาทิตย์เป็นเกราะ หรือผู้มีสุริยเทพคุ้มครอง มาจากคำสันสกฤต สูรฺย แปลว่า พระอาทิตย์ + วรฺมัน แปลว่า ผู้มีเกราะ คำนี้เพี้ยนมาจาก สูรยวรรม และภายหลังเพี้ยนต่อเป็น สุริโยพรรณ เช่น ในพระนามของพระบรมราชาที่ 7 (พระศรีสุริโยพรรณ) และของนักองค์เอง (พระนารายณ์รามาธิบดีศรีสุริโยพรรณ)[2]

พระนามหลังสิ้นพระชนม์ คือ "พระบาทบรมนิพพานบท" (វ្រះបាទបរមនិវ្វានបទ วฺระบาทบรมนิวฺวานบท) พระนาม "นิพพานบท" นี้แปลว่า ผู้ไปถึงแล้วซึ่งนิพพาน แสดงถึงพุทธศรัทธาของพระองค์

พระราชกำเนิด[แก้]

สูรยวรรมันเป็นโอรสของพระมหากษัตริย์พระองค์หนึ่งแห่งตามพรลิงค์[3] ซึ่งเป็นเมืองขึ้นของศรีวิชัย ตั้งอยู่ในแหลมมลายู ปัจจุบันอยู่ในประเทศไทย ส่วนพระมารดาเป็นเชื้อพระวงศ์เขมร ทำให้ทรงอ้างสิทธิสืบราชบัลลังก์เขมร

ครองราชย์[แก้]

ราว ค.ศ. 1002 สูรยวรรมันมีชัยเหนือกองทัพของอุทัยทิตยวรรมันที่ 1 (ឧទ័យទិត្យវរ្ម័នទី១ อุทัยทิตฺยวรฺมันที ๑) พระมหากษัตริย์แห่งจักรวรรดิเขมร แล้วทำสงครามยึดเยื้อกับชยวีรวรรมัม (ជយវីរវម៌្ម ชยวีรวรฺมฺม) ผู้สืบบัลลังก์ต่อจากอุทัยทิตยวรรมัน[4] ใน ค.ศ. 1010 สูรยวรรมันจึงอ้างสิทธิในราชบัลลังก์เขมร

ขณะนั้น จักรวรรดิเขมรยึดถือลัทธิเทวราชาและศาสนาฮินดูนิกายไวษณพ (นับถือพระวิษณุเป็นใหญ่) แต่สูรยวรรมันนับถือศาสนาพุทธนิกายมหายาน พระองค์ยอมให้ศาสนาพุทธนิกายหีนยานเจริญงอกงามในเมืองเขมร และให้พลเมืองถือศาสนาฮินดูต่อไปได้[1]:134

สูรยวรรมันรวบอำนาจทางการเมืองโดยให้ข้าราชการเขมรราวสี่พันคนมากระทำสัตย์สาบานต่อพระองค์ในพระราชมนเทียรที่นครธม กำแพงนครธมยังเริ่มก่อในรัชกาลนี้ด้วย ครั้นประมาณ ค.ศ. 1012 สูรยวรรมันสถาปนาความสัมพันธ์ทางทูตกับราชวงศ์โจฬะแห่งอินเดียใต้[1]:136 พระองค์ยังส่งราชรถไปถวายราชราชโจฬะที่ 1 (Raja Raja Chola I) พระมหากษัตริย์แห่งโจฬะ[5] ซึ่งน่าจะเป็นไปเพื่อให้อำนวยความสะดวกทางการค้าระหว่างชนชาติทั้งสอง[6]

ดูเหมือนว่า สูรยวรรมันขอให้ราเชนทรโจฬะที่ 1 (Rajendra Chola I) พระมหากษัตริย์โจฬะ ช่วยเหลือการสงครามกับตามพรลิงค์[7][8] เมื่อทราบความร่วมมือของเขมรและโจฬะ ตามพรลิงก์ก็ขอความช่วยเหลือจากสงครามวิชัยตุงควรรมัน (Sangrama Vijayatungavarman) พระมหากษัตริย์แห่งศรีวิชัย บ้าง[7][9] เป็นเหตุให้โจฬะแตกหักกับศรีวิชัยและเปิดสงครามกัน สุดท้ายแล้ว โจฬะมีชัย ศรีวิชัยพ่ายแพ้ยับเยิน[7][10]

สูรยวรรมันน่าจะเป็นผู้ให้เริ่มก่อสร้างเทวสถานพระขรรค์แห่งกำพงสวาย (ព្រះខ័ននៅកំពង់ស្វាយ พฺระขันเนากํพง̍สฺวาย) และขยายเทวสถานอื่น ๆ เช่น ปราสาทบันทายศรี (ប្រាសាទបន្ទាយស្រី ‎บฺราสาทบนฺทายสฺรี), วัดเอกพนม (វត្តឯកភ្នំ วตฺตเอกภฺนํ), และปราสาทพนมชีสูร (ប្រាសាទភ្នំជីសូរ บฺราสาทภฺนํชีสูร)[11]:95–96

สิ่งก่อสร้างหลักในรัชกาลนี้ คือ ปราสาทพระวิหาร (ប្រាសាទព្រះវិហារ บฺราสาทพฺระวิหาร) บนเทือกเขาพนมดงรัก (ជួរភ្នំដងរែក ชัวรภฺนํฎงแรก) ตลอดจนปราสาทพิมานอากาศ (ប្រាសាទភិមានអាកាស บฺราสาทภิมานอากาส) และปราสาทตาแก้ว (ប្រាសាទតាកែវ บฺราสาทตาแกว)[1]:135–136

รัชกาลนี้ยังได้สร้างบารายตะวันตกเป็นแอ่งเก็บน้ำแห่งที่สองในนครธม ยาว 8 กิโลเมตร กว้าง 2.1 กิโลเมตร[12]:371 กักน้ำได้ถึง 123 ล้านลิตร[13] เป็นแอ่งเก็บน้ำเขมรโบราณที่ใหญ่ที่สุดแห่งเดียวที่ยังหลงเหลืออยู่ในปัจจุบันนี้

สูรยวรรมันได้รับสมญาว่า "ธรรมนีติราช" (King of the Just Laws) ครองราชย์อยู่ราว 40 ปี ระยะเวลาส่วนใหญ่ทรงใช้ไปในการป้องกันขอบขัณฑสีมาของพระองค์ พระองค์ยังได้แผ่พระอำนาจมาถึงละโว้ ตลอดจนลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา และลุ่มแม่น้ำโขง[1]:136–137

สวรรคต[แก้]

สูรยวรรมันวายพระชนม์ใน ค.ศ. 1050 และได้รับเฉลิมพระนามว่า "นิพพานบท"

เมื่อสิ้นพระองค์แล้ว พระโอรส คือ อุทัยทิตยวรรมันที่ 2 (ឧទ័យទិត្យវរ្ម័នទី២ อุทัยทิตฺยวรฺมันที ๒) สืบราชสมบัติต่อจนถึงประมาณ ค.ศ. 1066 พระโอรสอีกองค์ คือ หรรษวรรมันที่ 3 (ហស៌វរ្ម័នទី៣ หรฺสวรฺมันที๓) จึงเสวยราชย์ต่อจนถึง ค.ศ. 1080

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 Coedès, George (1968). Walter F. Vella (บ.ก.). The Indianized States of Southeast Asia. trans.Susan Brown Cowing. University of Hawaii Press. ISBN 978-0-8248-0368-1.
  2. ประชุมพงศาวดาร ฉบับกาญจนาภิเษก เล่ม 12. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร. 2549. p. 71. ISBN 9749528476. {{cite book}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |year= (help)
  3. Quaritch, H. G. (1965). Angkor and Rome: A Historical Comparison. Wales. London: Bernard Quaritch, Ltd.
  4. "Suryavarman I". Encyclopædia Britannica. 2014. สืบค้นเมื่อ February 24, 2014.
  5. Indian History by Reddy: p.64
  6. Economic Development, Integration, and Morality in Asia and the Americas by Donald C. Wood p.176
  7. 7.0 7.1 7.2 Kenneth R. Hall (October 1975), "Khmer Commercial Development and Foreign Contacts under Sūryavarman I", Journal of the Economic and Social History of the Orient 18 (3), pp. 318-336, Brill Publishers
  8. Society and culture: the Asian heritage : Juan R. Francisco, Ph.D. University of the Philippines Asian Center p.106
  9. R. C. Majumdar (1961), "The Overseas Expeditions of King Rājendra Cola", Artibus Asiae 24 (3/4), pp. 338-342, Artibus Asiae Publishers
  10. R. C. Majumdar (1961), "The Overseas Expeditions of King Rājendra Cola", Artibus Asiae 24 (3/4), pp. 338-342, Artibus Asiae Publishers
  11. Higham, C., 2001, The Civilization of Angkor, London: Weidenfeld & Nicolson, ISBN 9781842125847
  12. Higham, C., 2014, Early Mainland Southeast Asia, Bangkok: River Books Co., Ltd., ISBN 9786167339443
  13. Freeman, Michael; Jacques, Claude (2006). Ancient Angkor. River Books. p. 188. ISBN 974-8225-27-5.
ก่อนหน้า พระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 ถัดไป
ชยวีรวรรมัม 2leftarrow.png Royal arms of Cambodia.svg
พระมหากษัตริย์แห่งจักรวรรดิเขมร
(ค.ศ. 1006–1050)
2rightarrow.png อุทัยทิตยวรรมันที่ 2