พระตำหนักในพระราชวังดุสิต
ภายในพระราชวังดุสิตมีการแบ่งเขตพระราชฐานออกเป็นฝ่ายหน้าและฝ่ายใน โดยเขตพระราชฐานฝ่ายในนั้นประกอบด้วย พระตำหนักและตำหนัก อันเป็นที่ประทับของเจ้านายฝ่ายในหลายพระองค์ ทั้งในพระราชวังส่วนหลัง ดังต่อไปนี้
พระตำหนัก
[แก้]พระตำหนักสวนสี่ฤดู
[แก้]พระตำหนักสวนสี่ฤดู เป็นตำหนักที่ประทับของสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง สมเด็จพระอัครมเหสีในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระราชปิตุจฉา เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ นรินทรเทพยกุมารี กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร เป็นพระตำหนักที่สร้างขึ้นในลักษณะผสมผสาน ระหว่างศิลปกรรมไทย และยุโรป ในอดีตใช้จัดแสดงสิ่งของและศิลปวัตถุที่มีผู้ทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในโอกาสฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี ในปี พ.ศ. 2539 ปัจจุบันได้รื้อลงแล้ว
พระตำหนักสวนหงส์
[แก้]พระตำหนักสวนหงส์ เป็นตำหนักที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สร้างพระราชทานสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ปัจจุบันใช้จัดแสดงภาพงานพระราชพิธีโบราณต่าง ๆ เช่น พระราชพิธีสมโภชเดือนขึ้นพระอู่ พระราชพิธีเสด็จสถลมารค และชลมารค พระราชพิธีตรียัมปวาย ปัจจุบันตั้งอยู่ในเขตพระที่นั่งอัมพรสถาน
พระตำหนักสวนนกไม้
[แก้]พระตำหนักสวนนกไม้ เป็นที่ประทับของสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี ปัจจุบันได้รื้อลงแล้ว
พระตำหนักสวนบัว
[แก้]พระตำหนักสวนบัว เป็นตำหนักที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชทานเป็นที่ประทับของพระวิมาดาเธอ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา ซึ่งทรงกำกับการดูแลพระเครื่องต้น ในอดีตใช้จัดแสดงศิลปวัตถุซึ่งมีผู้ทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 6 รอบ ในปี พ.ศ. 2542 ปัจจุบันได้รื้อลงแล้ว
พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน
[แก้]พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2456 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ บริเวณทุ่งส้มป่อย ซึ่งเป็นทุ่งนาระหว่างพระราชวังดุสิตกับพระราชวังพญาไท (ปัจจุบันคือโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า) เพื่อทรงใช้เป็นที่รโหฐานสำหรับทรงพระราชนิพนธ์หนังสือ รวมทั้งเพื่อให้ราชเสวกเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทเป็นการส่วนพระองค์ โปรดเกล้าฯ พระราชทานนามทุ่งส้มป่อยว่า สวนจิตรลดา พระราชทานนามพระตำหนักว่า "พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน" บริเวณรอบพระตำหนักมีการขุดคูและทำกำแพงรั้วเหล็กโดยรอบ มีประตู 4 ทิศ พระราชทานชื่อประตูตามสวนจิตรลดาของพระอินทร์และท้าวโลกบาล แต่ในปัจจุบันเป็นทางเข้าออกได้เพียง 3 ทิศ เว้นทิศตะวันออก โดยประตูพระวรุณอยู่เจนทางด้านตะวันออก เป็นประตูสำหรับเสด็จพระราชดำเนินของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง
พระตำหนักจิตรลดารโหฐานสร้างเป็นตึก 2 ชั้นลักษณะสถาปัตยกรรมแบบตะวันตก พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินมาประทับเป็นครั้งคราว เมื่อมีพระราชพิธีต่าง ๆ ก็ทรงกระทำการที่พระตำหนักจิตรลดารโหฐานเช่นเดียวกับพระราชวัง ต่อมาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชมณเฑียรสถานขึ้นใหม่เป็นที่ประทับที่วังพญาไท ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ประกาศยกสวนจิตรลดาเป็นเขตพระราชฐานในพระราชวังดุสิต
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้พระตำหนักจิตรลดารโหฐานเป็นที่ประทับถาวร โปรดเกล้าฯ ให้สร้างโรงเรียนจิตรลดา เมื่อ พ.ศ. 2501 เป็นสถานศึกษาชั้นต้นสำหรับพระโอรส พระธิดาและบุตรหลานข้าราชสำนัก โปรดเกล้าฯ ให้สร้างศาลาดุสิดาลัย เป็นศาลาอเนกประสงค์
ภายในพระตำหนัก พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นสถานที่ทดลองโครงการส่วนพระองค์เกี่ยวกับการเกษตร เพื่อนำผลการศึกษาพระราชทานแก่ประชาชน เช่น โครงการนาข้าวทดลอง โครงการค้นคว้าวิจัยเชื้อเพลิงเขียว โครงการปลูกข้าวไร่ โครงการเลี้ยงปลานิล และโครงการโคนม รวมทั้งยังมีโรงงานจากโครงการทดลองของพระองค์เกิดขึ้นหลายประเภท เช่น โรงโคนมสวนจิตรลดา โรงนมผงสวนดุสิต โรงนมเม็ดสวนดุสิต โรงสีข้าวตัวอย่าง โรงผลิตน้ำผลไม้ โรงบดและอัดแกลบ และโรงปุ๋ยอินทรีย์
ตำหนัก
[แก้]ตำหนักพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบุษบันบัวผัน
[แก้]ตำหนักพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบุษบันบัวผัน เป็นตำหนักที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชทานแก่พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบุษบันบัวผัน พระขนิษฐาในพระองค์ มีลักษณะเป็นอาคาร 2 ชั้น ขนาดเล็ก ในอดีตจัดเป็นสถานที่จัดแสดงภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร[1]ปัจจุบันได้รื้อลงแล้ว
ตำหนักพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอรุณวดี
[แก้]ตำหนักพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอรุณวดี เป็นตำหนักที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชทานเป็นที่ประทับของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอรุณวดี พระขนิษฐา ในอดีตใช้จัดแสดงภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ปัจจุบันได้รื้อลงแล้ว
ตำหนักพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพวงสร้อยสอางค์
[แก้]ตำหนักพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพวงสร้อยสอางค์ เป็นตำหนักที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชทานเป็นที่ประทับของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพวงสร้อยสอางค์ พระขนิษฐา ซึ่งเป็นพระราชธิดาพระองค์ที่ 77 ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และองค์ที่ 10 ในเจ้าจอมมารดาเที่ยง ในอดีตใช้เป็นสถานที่จัดแสดงนาฬิกาโบราณ และของที่ระลึกจากต่างประเทศ[2]ปัจจุบันได้รื้อลงแล้ว
ตำหนักพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอรไทยเทพกัญญา
[แก้]ตำหนักพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอรไทยเทพกัญญา เป็นตำหนักที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชทานเป็นที่ประทับของพระองค์เจ้าอรไทยเทพกัญญา พระขนิษฐา ในอดีตใช้จัดแสดงพระภูษา ผ้าโบราณ และผ้าไหมของมูลนิธิศิลปาชีพพิเศษ ปัจจุบันได้รื้อลงแล้ว
ตำหนักพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวรเสรฐสุดา
[แก้]ตำหนักพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบุตรี กรมหลวงวรเสรฐสุดา เป็นที่ประทับของกรมหลวงวรเสรฐสุดา พระราชธิดาในรัชกาลที่ 3 ซึ่งเป็นพระผู้อภิบาลสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี สมเด็จพระราชชนนีในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในอดีตใช้จัดแสดงศิลปวัตถุวัฒนธรรมบ้านเชียง ปัจจุบันได้รื้อลงแล้ว
ตำหนักสวนฝรั่งกังไส
[แก้]ตำหนักสวนฝรั่งกังไส เป็นที่ประทับของพระราชชายา เจ้าดารารัศมี ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2451 ตำหนักสร้างเป็นอาคารโบกอิฐถือปูน หลังคาทรงปั้นหยา มีการขึ้นตำหนักเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2452[3] ในอดีตใช้เป็นพิพิธภัณฑ์จัดแสดงเครื่องราชูปโภคและภาพสีน้ำมันที่รัชกาลที่ 5 ทรงสั่งซื้อมาจากยุโรป ภาพเหมือนพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสูง เรียกว่า "อาคารราชูปโภค 1"[4]ปัจจุบันได้รื้อลงแล้ว
ตำหนักสวนพุดตาน
[แก้]ตำหนักสวนพุดตาน เป็นตำหนักขนาดใหญ่ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นที่ประทับและที่อยู่ของพระเจ้าลูกเธอ เจ้าจอมมารดา และเจ้าจอมหลายท่าน ได้แก่ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอรประพันธ์รำไพ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอดิศัยสุริยาภา พร้อมด้วยเจ้าจอมมารดาอ่อน เจ้าจอมเอี่ยม เจ้าจอมเอิบ เจ้าจอมเอื้อน เจ้าจอมอาบ เจ้าจอมแก้ว และเจ้าจอมแส ปัจจุบันได้รื้อลงแล้ว
ตำหนักหอ
[แก้]ตำหนักหอ เป็นที่วังประทับของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต เดิมอยู่ในบริเวณวังศุโขทัย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริให้รื้อย้ายจากวังศุโขทัยมาปลูกใหม่ในพระราชวังดุสิต ในปี พ.ศ. 2541 ในอดีตใช้จัดแสดงของใช้ส่วนพระองค์ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ 7 และศิลปวัตถุเครื่องปั้นดินเผาสมัยสุโขทัยและอยุธยาที่จมอยู่ใต้ทะเลแถบตะวันออกและทางใต้ของประเทศไทย ปัจจุบันตั้งอยู่ที่วังสระปทุม
อ้างอิง
[แก้]- ↑ ตำหนักพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบุษบันบัวผัน จาก เว็บไซต์วิมานเมฆดอตคอม
- ↑ ตำหนักพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพวงสร้อยสอางค์ จาก เว็บไซต์ วิมานเมฆดอตคอม
- ↑ การขึ้นตำหนักเจ้าดารารัศมี พระราชชายาราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๒๖ ตอนที่ ๐ง วันที่ ๕ ธันวาคม ๒๔๕๒ หน้า ๑๙๒๑
- ↑ ตำหนักสวนฝรั่งกังไส จาก เว็บไซต์วิมานเมฆดอตคอม
- สูจิบัตรนำเที่ยว พระที่นั่งวิมานเมฆ