ข้ามไปเนื้อหา

กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น
Department of Local Administration
เครื่องหมายราชการ
ภาพรวมกรม
ก่อตั้ง3 ตุลาคม พ.ศ. 2545; 22 ปีก่อน (2545-10-03)
กรมก่อนหน้า
  • สำนักบริหารการศึกษาท้องถิ่น
  • สำนักบริหารราชการส่วนท้องถิ่น
ประเภทส่วนราชการ
เขตอำนาจทั่วราชอาณาจักร
สำนักงานใหญ่ถนนนครราชสีมา แขวงดุสิต เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร 10300
บุคลากร3,417 คน (พ.ศ. 2566)[1]
งบประมาณต่อปี175,757,867,100 บาท
(พ.ศ. 2568)[2]
ฝ่ายบริหารกรม
  • นฤชา โฆษาศิวิไลซ์, อธิบดี
  • เอกวิทย์ มีเพียร, รองอธิบดี
  • ศิริพันธ์ ศรีกงพลี, รองอธิบดี
  • สุรพล เจริญภูมิ, รองอธิบดี
ต้นสังกัดกรมกระทรวงมหาดไทย
เว็บไซต์เว็บไซต์ของกรม

กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (อังกฤษ: Department of Local Administration) เป็นส่วนราชการในสังกัดกระทรวงมหาดไทย มีภารกิจในความรับผิดชอบ คือ การส่งเสริมและสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีความเข้มแข็ง มีศักยภาพในการให้บริการสาธารณะ โดยการพัฒนาและให้คำปรึกษาแนะนำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในด้านการบริหารงานบุคคล การจัดทำแผนพัฒนาท้องถิ่น การเงิน การคลัง และการบริหารจัดการ ให้เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง

ประวัติ

[แก้]

ภารกิจหน้าที่ด้านการปกครองส่วนท้องถิ่น แต่เดิมอยู่ในความรับผิดชอบของสำนักบริหารราชการส่วนท้องถิ่น (สน.บท.) สังกัดกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ต่อมาภารกิจในเรื่องดังกล่าวได้เพิ่มพูนมากขึ้นเป็นลำดับ สืบเนื่องมาจากการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้ท้องถิ่นมีความเป็นอิสระ สอดคล้องตามเจตนารมณ์และบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ดังนั้น เพื่อให้การส่งเสริมและสนับสนุนการทำงานของท้องถิ่นเป็นไปอย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ จึงจำเป็นที่จะต้องยกฐานะของสำนักให้เป็นส่วนราชการระดับกรม ซึ่งในปี พ.ศ. 2545 สำนักบริหารราชการส่วนท้องถิ่นจึงได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย[3]

อำนาจและหน้าที่

[แก้]

อำนาจและหน้าที่ของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เป็นไปตามกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย พ.ศ. 2551 และกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2559 ซึ่งกำหนดไว้ดังนี้

  1. ดำเนินการพัฒนาระบบ รูปแบบ และโครงสร้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
  2. ส่งเสริมและสนับสนุนในการจัดทำ ประสาน และบูรณาการแผนพัฒนาท้องถิ่นและวางระบบในการติดตามและประเมินผลการดำเนินงานตามแผนพัฒนาท้องถิ่น
  3. ดำเนินการจัดทำ แก้ไข ปรับปรุงกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมทั้งให้คำปรึกษา แนะนำ และกำกับดูแลการปฏิบัติงานตามอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
  4. กำหนดแนวทางและจัดทำมาตรฐานทั่วไปเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้งนี้ ตามกฎหมายว่าด้วยการบริการงานบุคคลส่วนท้องถิ่น
  5. ส่งเสริม สนับสนุน และประสานการดำเนินงานด้านการเงิน การคลัง การงบประมาณ การพัสดุ การจัดเก็บรายได้ และการประกอบกิจการพาณิชย์ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมทั้งวางระบบตรวจสอบระบบการเงิน การบัญชี และการพัสดุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
  6. ส่งเสริม สนับสนุน และประสานการจัดการบริการสาธารณะและการศึกษาในอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
  7. กำหนดแนวทาง วางระบบ และสร้างตัวชี้วัดเพื่อเป็นมาตรฐานการดำเนินงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตลอดจนกำกับดูแลให้เป็นไปตามมาตรฐาน
  8. ส่งเสริมภาคประชาชนให้มีส่วนร่วมในการบริหารงานและตรวจสอบการดำเนินงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
  9. พัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศเพื่อการบริหารขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
  10. พัฒนาบุคลากรขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและของกรม
  11. ปฏิบัติการอื่นใดตามที่กฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของกรมหรือตามที่กระทรวงหรือคณะรัฐมนตรีมอบหมาย

การแบ่งส่วนราชการ

[แก้]

กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น แบ่งส่วนราชการออกเป็น 2 ส่วน คือ ราชการบริหารส่วนกลาง และราชการบริหารส่วนภูมิภาค ดังต่อไปนี้ [4]

ก. ราชการบริหารส่วนกลาง

  1. สำนักงานเลขานุการกรม
  2. กองการเจ้าหน้าที่
  3. กองคลัง
  4. กองสาธารณสุข
  5. กองการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม
  6. กองกฎหมายและระเบียบท้องถิ่น
  7. กองตรวจสอบระบบการเงินบัญชีท้องถิ่น
  8. กองพัฒนาและส่งเสริมการบริหารงานท้องถิ่น
  9. กองยุทธศาสตร์และแผนงาน
  10. กองส่งเสริมและพัฒนาการจัดการศึกษาท้องถิ่น
  11. ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศท้องถิ่น
  12. สถาบันพัฒนาบุคลากรท้องถิ่น
  13. สำนักบริหารการคลังท้องถิ่น
  14. สำนักพัฒนาระบบบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น[5]


ข. ราชการบริหารส่วนภูมิภาค

  1. สำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัด (76 จังหวัด)

อำนาจหน้าที่ของสำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัด มีดังนี้

  1. ดำเนินการเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของกรมในเขตพื้นที่จังหวัด
  2. อำนวยการ ประสาน ปฏิบัติงาน และสนับสนุนงานอันเป็นอำนาจหน้าที่ของ ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอด้านการกำกับดูแลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
  3. ปฏิบัติงานร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง หรือที่ได้รับมอบหมาย

อ้างอิง

[แก้]
  1. กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น, รายงานประจำปี 2566 กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น, สืบค้นเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2567
  2. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๗, เล่ม ๑๔๑ ตอนที่ ๕๙ ก หน้า ๖๕, ๓๐ กันยายน ๒๕๖๗
  3. "พระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. ๒๕๔๕" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2011-11-12. สืบค้นเมื่อ 2010-09-03.
  4. กฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย พ.ศ. 2551
  5. http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2559/A/006/33.PDF

ดูเพิ่ม

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]