ข้ามไปเนื้อหา

พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน

พิกัด: 13°46′14″N 100°31′18″E / 13.77056°N 100.52167°E / 13.77056; 100.52167
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก สวนจิตรลดา)
พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน
Chitralada Palace
แผนที่
ข้อมูลทั่วไป
ประเภทพระตำหนัก
สถาปัตยกรรมตะวันตก
ที่ตั้งภายในสวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต แขวงสวนจิตรลดา เขตดุสิต
เมือง กรุงเทพมหานคร
ประเทศ ไทย
เริ่มสร้างพ.ศ. 2456 (111 ปี)
ปรับปรุงพ.ศ. 2500 (67 ปี)
ผู้สร้างพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
ข้อมูลทางเทคนิค
โครงสร้างพระตำหนัก และพื้นที่ทำการเพาะปลูก

พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เป็นพระตำหนักในสวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต ตั้งอยู่ที่แขวงสวนจิตรลดา เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร ปัจจุบัน​เป็นที่ประทับของ​สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

ประวัติ

[แก้]

พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2456 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ บริเวณทุ่งส้มป่อย ซึ่งเป็นทุ่งนาระหว่างพระราชวังสวนดุสิตกับวังพญาไท (ปัจจุบันคือโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า) โดยโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) เสนาบดีกระทรวงนครบาลจัดสร้างพระตำหนักขึ้น โดยมีพระยาวิศุกรรมศิลปประสิทธิ์ (น้อย ศิลปี) เป็นผู้ควบคุมและดำเนินการก่อสร้าง เพื่อทรงใช้เป็นที่รโหฐานสำหรับทรงพระราชนิพนธ์หนังสือ รวมทั้งราชเสวกจะได้มีโอกาสเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทเป็นการส่วนพระองค์ โปรดเกล้าฯ พระราชทานนามทุ่งส้มป่อยว่า สวนจิตรลดา พระราชทานนามพระตำหนักว่า "พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน"[1] บริเวณรอบพระตำหนักมีการขุดคูและทำกำแพงรั้วเหล็กโดยรอบ มีประตู 4 ทิศ พระราชทานชื่อประตูตามสวนจิตรลดาของพระอินทร์และ

ท้าวโลกบาล คือ ด้านทิศตะวันออก ชื่อประตู “พระอินทร์อยู่ชม” ด้านทิศใต้ ชื่อประตู “พระยมอยู่คุ้น” ด้านทิศตะวันตก ชื่อประตู “พระวรุณอยู่เจน” และด้านทิศเหนือ ชื่อประตู “พระกุเวนอยู่เฝ้า” ในปัจจุบันเป็นทางเข้าออกได้เพียง 3 ทิศ เว้นทิศตะวันออก มีสะพาน 2 สะพาน มีประตูน้ำ 2 ประตู และมีซุ้มทหารยาม 30 ซุ้ม ความสำคัญของประตู “พระวรุณอยู่เจน” เป็นประตูสำหรับเสด็จพระราชดำเนิน ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ

พระตำหนักจิตรลดารโหฐานสร้างเป็นตึก 2 ชั้นลักษณะสถาปัตยกรรมแบบตะวันตก พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินมาประทับเป็นครั้งคราว เมื่อมีพระราชพิธีต่าง ๆ ก็ทรงกระทำการที่พระตำหนักจิตรลดารโหฐานเช่นเดียวกับพระราชวัง ต่อมาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชมนเทียรสถานขึ้นใหม่เป็นที่ประทับที่วังพญาไท ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ประกาศยกสวนจิตรลดาเป็นเขตพระราชฐานในพระราชวังดุสิต

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้พระตำหนักจิตรลดารโหฐานเป็นที่ประทับถาวร และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างอาคารต่าง ๆ เช่น โรงเรียนจิตรลดา เมื่อ พ.ศ. 2501 เป็นสถานศึกษาชั้นต้นสำหรับพระโอรส พระธิดาและบุตรหลานข้าราชสำนัก รวมถึงศาลาดุสิดาลัย เป็นศาลาอเนกประสงค์ ส่วนภายในพระตำหนัก ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นสถานที่ทดลองโครงการทดลองส่วนพระองค์เกี่ยวกับการเกษตร เพื่อนำผลการศึกษาพระราชทานแก่ประชาชน เช่น โครงการนาข้าวทดลอง โครงการค้นคว้าวิจัยเชื้อเพลิงเขียว โครงการปลูกข้าวไร่ โครงการเลี้ยงปลานิล และโครงการโคนม รวมทั้งยังมีโรงงานจากโครงการทดลองของพระองค์เกิดขึ้นหลายประเภท เช่น โรงโคนมสวนจิตรลดา โรงนมผงสวนดุสิต โรงนมเม็ดสวนดุสิต โรงสีข้าวตัวอย่าง โรงผลิตน้ำผลไม้ โรงบดและอัดแกลบ และโรงปุ๋ยอินทรีย์

อาคารอื่น ๆ ในสวนจิตรลดา

[แก้]

สถานที่สำคัญโดยรอบสวนจิตรลดา

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศ แก้นามพระโรง และพระราชทานนามพระตำหนัก,เล่ม 29, ตอน 0 ก, 30 มิถุนายน พ.ศ. 2455, หน้า 111

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]

13°46′14″N 100°31′18″E / 13.77056°N 100.52167°E / 13.77056; 100.52167