ข้ามไปเนื้อหา

โรงภาพยนตร์เครือเอเพ็กซ์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก โรงภาพยนตร์ลิโด)
โรงภาพยนตร์เครือเอเพ็กซ์
Apex Group
โรงภาพยนตร์สกาลาในปี พ.ศ. 2564 ก่อนที่จะรื้อถอน
ข้อมูลทั่วไป
สถานะถูกรื้อถอน
ประเภทโรงภาพยนตร์ประเภทสแตนอโลน
สถาปัตยกรรมอาร์ตเดโค
เมืองเขตปทุมวัน, กรุงเทพมหานคร
ประเทศไทย ประเทศไทย
เริ่มสร้างพ.ศ. 2508 โรงภาพยนตร์สยาม
พ.ศ. 2509 โรงภาพยนตร์ลิโด
พ.ศ. 2511 โรงภาพยนตร์สกาลา
รื้อถอน19 พฤษภาคม พ.ศ. 2553 (โรงภาพยนตร์สยามในฐานะโรงภาพยนตร์แห่งที่ 1 ที่เข้าสลายกับกลุ่มของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จแห่งชาติ (นปช.) เผาโรงภาพยนตร์สยามและรื้อถอนและปัจจุบันกลายเป็นสยามสแควร์วันเปิดเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2557)
31 พฤษภาคม พ.ศ. 2561 (โรงภาพยนตร์ลิโดในฐานะโรงภาพยนตร์แห่งที่ 2 ที่ไม่ได้รื้อถอนแต่รีโนเวทเป็นลีโด้ คอนเน็คท์ เปิดเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2562)
1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564 (โรงภาพยนตร์สกาลาในฐานะโรงภาพยนตร์แห่งสุดท้ายที่รื้อถอนและก่อสร้างศูนย์การค้าในปลายปี พ.ศ. 2566 และเปิดให้บริการในปี พ.ศ. 2569)
ข้อมูลทางเทคนิค
โครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก
การออกแบบและการก่อสร้าง
สถาปนิกกอบชัย ซอโสตถิกุล, พ.อ. จิระ ศิลป์กนก (สกาลา)[1]
รางวัลรางวัลอนุรักษ์สถาปัตยกรรมดีเด่น ประจำปี 2555 จากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ (สกาลา)
เป็นที่รู้จักจาก
  • เป็นโรงหนังเอกเทศที่เหลืออยู่ไม่กี่หลังในประเทศไทย
  • ฝ้าและโคมระย้าบริเวณโถงเข้าอาคารโรงภาพยนตร์สกาลา มีความสวยงามเป็นเอกลักษณ์
ข้อมูลอื่น
ความจุที่นั่งทั้งหมด 904 ที่
โรงหนังตั้งชื่อตามโรงอุปรากร ลาสกาลา (Teatro alla Scala) ในเมืองมิลาน ประเทศอิตาลี[2]
โรงภาพยนตร์ลิโดในปี พ.ศ. 2550

โรงภาพยนตร์เครือเอเพ็กซ์ (อังกฤษ: Apex Group) เป็นอดีตกลุ่มโรงภาพยนตร์ ซึ่งเกือบทั้งหมดมีที่ตั้งอยู่ในย่านสยามสแควร์ ประกอบด้วย โรงภาพยนตร์สยาม โรงภาพยนตร์ลิโด และ โรงภาพยนตร์สกาลา รวมทั้ง โรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมไทย บริเวณถนนราชดำเนินกลาง จดทะเบียนธุรกิจในนาม "สยามมหรสพ"[3] มีทุนจดทะเบียน 20 ล้านบาท จัดตั้งเมื่อ พ.ศ. 2511 ขณะที่ข้อมูลจากบางสำนักระบุว่าบริษัท เอเพ็กซ์ภาพยนตร์ จำกัด เป็นผู้ประกอบธุรกิจโรงภาพยนตร์ทั้งลิโดและสกาลา โดยบริษัทดังกล่าวจัดตั้งขึ้นเมื่อ 2523 มีทุนจดทะเบียน 140 ล้านบาท[4] จากจุดตั้งต้น 1 ล้านบาท มีเจ้าของประกอบไปด้วย กัมพล ตันสัจจา, นันทา ตันสัจจา และ วิวัฒน์ ตันสัจจา ที่บริหารสวนนงนุช[5]

ในปัจจุบัน โรงภาพยนตร์เครือเอเพ็กซ์ทั้ง 4 แห่งปิดตัวทั้งหมดแล้ว โดยโรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมไทย ถูกทุบทิ้งใน พ.ศ. 2532, โรงภาพยนตร์สยาม ถูกวางเพลิงจนเสียหายหมดทั้งอาคารจากการชุมนุมทางการเมืองครั้งใหญ่ปี พ.ศ. 2553 และแปลงสภาพเป็นสยามสแควร์วันในเวลาต่อมา[6], โรงภาพยนตร์ลิโด ที่ปิดตัวเพราะหมดสัญญาเช่ากับทางจุฬาฯ ในวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2561 และโรงภาพยนตร์สกาลาที่เป็นโรงภาพยนตร์แห่งสุดท้ายได้ปิดตัวลงในวันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2563 เนื่องจากการระบาดทั่วประเทศของโควิด-19 และต้นทุนที่สูงขึ้น แม้ว่าสัญญาเช่าพื้นที่จะสิ้นสุดใน พ.ศ. 2564 ก็ตาม[7] ก่อนที่จะถูกรื้อถอนเมื่อ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564 และปัจจุบันโรงภาพยนตร์เครือเอเพ็กซ์ปิดกิจการเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2563 เพราะล้มลายและเนื่องจากการระบาดทั่วของโควิด-19[8]

ประวัติ

[แก้]

เครือเอเพ็กซ์ (พีรามิด) ก่อตั้งโดย พิสิฐ ตันสัจจา นักธุรกิจเจ้าของกิจการโรงภาพยนตร์ ที่ประสบความสำเร็จ จากการริเริ่มเข้าปรับปรุง "ศาลาเฉลิมไทย" โรงละครที่ตั้งอยู่ริมถนนราชดำเนินกลาง ใกล้แยกป้อมมหากาฬ ให้กลายเป็นโรงภาพยนตร์ขนาดใหญ่ มีความจุประมาณ 1,500 ที่นั่ง รวมถึงการนำเข้าระบบต่าง ๆ สำหรับโรงภาพยนตร์ เช่น ระบบสามมิติ, ระบบซีเนมาสโคป, ระบบทอคค์-เอโอ, ระบบซีเนรามาเลนส์เดี่ยว, ระบบซีเนรามาสามเลนส์พร้อมกัน และ ระบบ 70 มิลลิเมตร เข้ามาติดตั้งในประเทศไทย

ขณะกำลังก่อสร้างศูนย์การค้าสยามสแควร์ กอบชัย ซอโสตถิกุล ผู้บริหารสูงสุดของบริษัท เซาท์อีสต์เอเชียก่อสร้าง จำกัด (ซีคอน) ที่รับเหมาออกแบบ และก่อสร้างอาคารต่าง ๆ ภายในสยามสแควร์ ติดต่อมายังนายพิสิฐ เพื่อเสนอให้ลงทุนเปิดกิจการโรงภาพยนตร์ภายในสยามสแควร์ บนพื้นที่ริมถนนพระรามที่ 1 ทั้งนี้ อาคารโรงภาพยนตร์ทั้งสามแห่ง มีนายพิสิฐ เป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย ส่วนนายกอบชัย เป็นผู้ออกแบบและก่อสร้าง

โรงภาพยนตร์สยามในปี พ.ศ. 2548
ซากที่เหลือจากการเผาทำลายของโรงภาพยนตร์สยามในปี พ.ศ. 2553

โรงภาพยนตร์สยาม ซึ่งเป็นโรงภาพยนตร์แห่งแรกในย่านนี้ ความจุ 800 ที่นั่ง เปิดฉายเป็นปฐมฤกษ์เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2509 โดยเสนอภาพยนตร์เรื่อง รถถังประจัญบาน (Battle of the Bulge)

ส่วนโรงภาพยนตร์ลิโด ความจุ 1,000 ที่นั่ง ก่อนเปิด ขึ้นป้ายชื่อว่า "จุฬา" เพื่อล้อไปกับโรงแรก ที่ชื่อ"สยาม" ชื่อ"จุฬา" ถูกต่อต้านอย่างหนัก เพราะเกี่ยวข้องกับพระนาม "จุฬาลงกรณ์" โดยเฉพาะ มรว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เขียนลงในคอลัมน์ของท่าน ใน นสพ.สยามรัฐ จึงเปลี่ยนชื่อเป็น "ลิโด" เปิดฉายเป็นปฐมฤกษ์ เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2511 โดยเสนอภาพยนตร์เรื่อง ศึกเซบาสเตียน (Guns For San Sebastian) และโรงภาพยนตร์สกาลา ซึ่งตั้งอยู่ภายในสยามสแควร์ แต่มีระยะห่างจากถนนพระรามที่ 1 เพียงไม่กี่เมตร และได้รับการกล่าวขวัญว่า มีสถาปัตยกรรมแบบคลาสสิกที่สวยงามโดดเด่น ผสมผสานระหว่างรูปแบบตะวันตกและตะวันออก ความจุ 1,000 ที่นั่ง เปิดฉายเป็นปฐมฤกษ์ เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2512 โดยเสนอภาพยนตร์เรื่อง สองสิงห์ตะลุยศึก (The Undefeated)

โรงภาพยนตร์ทั้งสามแห่ง เป็นผู้ริเริ่มจัดฉายภาพยนตร์ เพื่อสมทบทุนการกุศล โดยนำรายได้เต็มมูลค่า ขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ โดยกราบบังคมทูลเชิญทั้งสองพระองค์ เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตร ในรอบปฐมทัศน์ อาทิ ภาพยนตร์เรื่อง Oliver และ Hello Dolly ทั้งนี้ ในอีกวโรกาสหนึ่ง กราบทูลเชิญ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตร รอบปฐมทัศน์ของภาพยนตร์เรื่อง Lost Horizon เพื่อนำรายได้เข้าสมทบ "ทุนประชาธิปก"

ในช่วงเดือนตุลาคม พ.ศ. 2513 ผู้บริหารโรงภาพยนตร์เครือเอเพ็กซ์ มีนโยบายให้ผลิตและจัดพิมพ์หนังสือแจกฟรี เรียกว่า สูจิบัตรข่าวภาพยนตร์ เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์โรงภาพยนตร์ ตลอดจนภาพยนตร์ที่จัดฉาย ในเครือเอเพ็กซ์ โดยชื่อหนังสือจะเปลี่ยนไปทุกเดือน จากการนำชื่อเรียกย่อของเดือนมาตั้งต้น แล้วจึงตามด้วยคำสร้อยที่เปลี่ยนไป เช่น ฉบับปฐมฤกษ์ มีชื่อว่า "ตุลาบันเทิง" ฉบับอื่น ๆ เช่น มกราสกาลา หรือ ตุลาราตรี เป็นต้น

ภายในโถงทางเข้าโรงภาพยนตร์สกาลาในปี พ.ศ. 2561

หนังสือดังกล่าว มีขนาดแท็บลอยด์ ออกเป็นรายเดือน โดยชื่อของศูนย์การค้าย่านนี้ที่ว่า "สยามสแควร์" มีที่มาจาก คอลัมน์ซุบซิบเรื่องราวต่าง ๆ ของบุคคลในวงการบันเทิง และบุคคลที่มีชื่อเสียงในวงสังคม ในหนังสือเล่มนี้ ซึ่งเขียนโดยพอใจ ชัยเวฬุ ที่มีชื่อว่า สยามสแควร์ มาก่อนแล้วนั่นเอง นอกจากนี้ ยังมีนักเขียนรับเชิญที่มีชื่อเสียงอีกหลายท่าน อาทิ ประมูล อุณหธูป, วิลาศ มณีวัต, สุจิตต์ วงษ์เทศ, ขรรค์ชัย บุนปาน เป็นต้น

เมื่อวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2519 มีการขว้างระเบิดใส่ขบวนของนักศึกษาประชาชนที่เดินขบวนต่อต้านฐานทัพอเมริกาที่บริเวณหน้าโรงภาพยนตร์สยาม มีผู้เสียชีวิต 4 คน คือ นาย กมล แซ่นิ้ม นาย นิพนธ์ เชษฐากุล นาย แก้ว เหลืองอุดมเลิศ และ นาย ธเนศร์ เขมะอุดม

เมื่อวันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2536 โรงภาพยนตร์ลิโด เกิดเหตุเพลิงไหม้ จึงต้องก่อสร้างปรับปรุงใหม่ เป็นโรงภาพยนตร์ขนาดเล็ก (มัลติเพล็กซ์) จำนวนสามโรง และเปิดทำการอีกครั้ง ในช่วงปลายปี พ.ศ. 2537 ต่อมาราวปี พ.ศ. 2544 โรงภาพยนตร์ทั้งสามแห่งทยอยติดตั้ง ระบบเสียง เซอร์ราวด์ ดอลบี ดิจิตอล เอสอาร์ดี ดีทีเอส เอสดีดีเอส รวมทั้งทยอยติดตั้งระบบปรับอากาศโอโซน เพื่อฟอกอากาศให้บริสุทธิ์สดชื่น นอกจากนี้โรงภาพยนตร์ทั้งสามแห่งยังเปิดพื้นที่ใต้ถุนโรงภาพยนตร์ โดยแบ่งเป็นห้องเล็ก ๆ ให้ผู้ประกอบการรายย่อย เช่าเปิดเป็นร้านค้าต่าง ๆ โดยส่วนมากจะจำหน่ายเสื้อผ้า และเครื่องประดับตามแฟชั่น[9]

ปิดโรงภาพยนตร์สยามและรื้อถอนเป็นศูนย์การค้าสยามสแควร์วัน

[แก้]

อนึ่ง เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2553 เมื่อกำลังทหารพร้อมอาวุธสงครามและรถหุ้มเกราะ เข้าสลายการชุมนุมของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) บริเวณแยกราชประสงค์ จนกระทั่งแกนนำ นปช.ต้องประกาศยุติการชุมนุม และเข้ามอบตัวกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หลังจากนั้นเกิดการจลาจลขึ้นทั่วกรุงเทพมหานคร โดยในเวลาบ่าย มีกลุ่มบุคคลเข้าวางเพลิงอาคารโรงภาพยนตร์สยาม แต่เจ้าหน้าที่ไม่สามารถเข้าดับเพลิงได้ เนื่องจากมีการใช้อาวุธปืน ยิงผ่านไปมาบริเวณที่เกิดเหตุตลอดเวลา จึงเป็นภาวะที่มีความไม่ปลอดภัย จนกระทั่งอาคารเริ่มทรุดตัวและพังถล่มลงมา ในเวลา 15.45 น.[10] ทั้งนี้ ภาพยนตร์เรื่อง มหาประลัย คนเกราะเหล็ก 2 (Iron Man 2) เป็นเรื่องล่าสุดที่เข้าฉาย ก่อนโรงภาพยนตร์สยามจะเกิดเหตุเพลิงไหม้ในครั้งนี้ โดยปัจจุบันที่ดินอันเป็นที่ตั้งของโรงภาพยนตร์ได้ถูกสำนักงานทรัพย์สินจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนำไปก่อสร้างใหม่เป็น ศูนย์การค้าสยามสแควร์วัน เนื่องจากคาบเกี่ยวกับช่วงที่สัญญาเช่าที่ดินได้สิ้นสุดลงพอดี

ปิดโรงภาพยนตร์ลิโดและรีโนเวทเป็น ลิโด้ คอนเน็คท์

[แก้]

โรงภาพยนตร์ลิโด้ปิดตัวลงเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2561 เนื่องจากปี พ.ศ. 2559 โรงภาพยนตร์ลิโด้หมดสัญญาเช่าพื้นที่กับสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย[11] โดยฉายเรื่องสุดท้ายคือ Tonight, At Romance Theater หรือชื่อไทย รักเรา จะพบกัน รอบเวลา 18.45 น. และ Kids on the Slope ภาพยนตร์มังงะจากญี่ปุ่น ฉายรอบเวลา 20.45 น.[12] ซึ่งมีประชาชนมาร่วมอำลาลิโด้เป็นจำนวนมาก รวมไปถึงการถ่ายภาพร่วมกับ "คุณลุงสูทเหลือง" พนักงานฉีกตั๋วหน้าโรงภาพยนตร์ ซึ่งถือว่าเป็นบุคคลสำคัญเป็นเอกลักษณ์ของโรงภาพยนตร์แห่งนี้ พร้อมมอบของที่ระลึกให้แก่กันก่อนที่โรงภาพยนตร์จะปิดตัวลง ต่อมาโรงภาพยนตร์ลิโด้ เปลี่ยนชื่อเป็น ลิโด้ คอนเน็คท์ โดยเลิฟอีสมารับหน้าที่บริหารพื้นที่มีสัญญาเบื้องต้นราว 5 ปี นำพื้นที่แสดงศิลปะ มีการแสดงสดต่าง ๆ รวมถึงร้านค้าทั้งอาหารและเครื่องดื่ม โดยยังคงพื้นที่ของเก่า 70% เปิดทำการเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2562[13]

สกาลาในปี พ.ศ. 2564 สังเกตว่าได้รื้อถอนป้ายออกไปแล้วและรื้อถอนโรงหนัง

ปิดกิจการและรื้อถอนโรงภาพยนตร์สกาลา

[แก้]

โรงภาพยนตร์สกาลาได้ปิดตัวลงเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2563 เนื่องจากการระบาดทั่วประเทศของโควิด-19 และต้นทุนที่สูงขึ้น แม้ว่าสัญญาเช่าพื้นที่จะสิ้นสุดในปี พ.ศ. 2564 ก็ตาม[7] โดยฉายเรื่องสุดท้ายคือ Cinema Paradiso รอบเวลา 18.00 น. ซึ่งมีประชาชนมาร่วมอำลาเป็นจำนวนมาก พร้อมกับบันทึกภาพบรรยากาศโดยรอบของโรงภาพยนตร์สกาลาไว้ในความทรงจำ ปิดม่านการแสดงกว่า 50 ปี ผ่านแฮชแท็ก #scala #สกาลา และ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564 รื้อถอนบล็อก เอ สยามสแควร์ ถึงเดือน เมษายน พ.ศ. 2565 [14]

พัฒนาเป็นศูนย์การค้าเซ็นทรัล สยามสแควร์

[แก้]

ในปี พ.ศ. 2564 บมจ.เซ็นทรัลพัฒนา ได้รับสิทธิ์ในการพัฒนาพื้นที่สยามสแควร์ บล็อก เอ บริเวณหัวมุมแยกปทุมวัน ซึ่งรวมถึงพื้นที่โรงภาพยนตร์สกาลาเดิมด้วย โดยจะพัฒนาในรูปแบบศูนย์การค้าชุมชน หรือคอมมูนิตีมอลล์ กำหนดเปิดให้บริการในปี พ.ศ. 2569[15][16]

อ้างอิง

[แก้]
  1. ชนสรณ์ บุญจำนงค์ (8 กันยายน 2016). "โรงภาพยนตร์สกาล่า". asaconservationaward.com. สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์.
  2. "เปิดประวัติ โรงหนังสกาล่า ตำนานของชาวสยามสแควร์ที่ถูกทุบทิ้ง". Thaiger. 3 พฤศจิกายน 2021.
  3. "ทำไม ลิโด้ – สกาล่า ไม่ได้ไปต่อ". มาร์เก็ตเธียร์. 15 มกราคม 2018.
  4. ""สกาลา" น่าเป็นห่วง". sanook.com. 5 มกราคม 2018.
  5. "ไม่ไปต่อ ! ปิดฉาก "ลิโด้" 31 พ.ค. 50 ปีตำนานโรงหนังบนกรุสมบัติที่ดินทรัพย์สินจุฬาฯ". Positioningmag.com. 28 พฤษภาคม 2018.
  6. "โรงหนังสยามไฟไหม้ ความสูญเสียของคนดูหนังในเมืองไทย". เอ็มไทย. 19 พฤษภาคม 2010. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 5 มิถุนายน 2020.
  7. 7.0 7.1 ชัยยศ ยงค์เจริญชัย (3 กรกฎาคม 2020). "สกาลา: บันทึกความทรงจำถึง "ราชาโรงหนังแห่งสยาม" โรงภาพยนตร์สแตนด์อะโลนแห่งสุดท้ายในกรุงเทพฯ". บีบีซีไทย.
  8. "ชาวเน็ตแห่แชร์ คลิป "โรงหนังสกาลา" ถูกทุบทิ้ง ปิดตำนานความทรงจำคู่สยามสแควร์ ถามจุฬา! ไหนว่าจะอนุรักษ์ไว้ ? (มีคลิป)". ฐานเศรษฐกิจ. 1 พฤศจิกายน 2021.
  9. "ประวัติโรงภาพยนตร์เครือเอเพ็กซ์". APEX. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 9 พฤษภาคม 2008. สืบค้นเมื่อ 23 พฤษภาคม 2010.
  10. "โรงหนังสยาม เพลิงไหม้ อาคารถล่มแล้ว". ไทยรัฐ. 19 พฤษภาคม 2010.
  11. "เมื่อ 'ลิโด' กลายเป็นอดีต". เวิร์คพอยต์นิวส์. 1 มิถุนายน 2018.
  12. "เหลือไว้ในความทรงจำ! ปิดถาวร 'ลิโด้' แห่ดูหนังเรื่องสุดท้าย ให้กำลังใจชายชุดเหลือง". ไทยรัฐ. 29 พฤษภาคม 2018.
  13. ""ลิโด้ คอนเน็คท์" เผยโฉมเบาๆ เริ่มเห็น "LIDO DVD" ร้านในตำนาน – สตูดิโอคลื่น "Flex 102.5" กำหนดดีเดย์ 30 กรกฎาคมนี้". Positioningmag.com. 24 มิถุนายน 2019.
  14. "ปิดตำนาน 50 ปี โรงหนัง "สกาลา" ฉายรอบสุดท้าย เหลือทิ้งไว้แต่ความทรงจำ". ไทยรัฐ. 5 กรกฎาคม 2020. สืบค้นเมื่อ 18 ธันวาคม 2020.
  15. "'เซ็นทรัล' คว้าที่ดินจุฬา 'โรงหนังสกาลา' ผุดศูนย์การค้าใหม่ เผย รักษาโครงสร้างสถาปัตย์เดิม". มติชน. 5 กันยายน 2021.
  16. ""เซ็นทรัล" บุกสยามสแควร์! คว้าสิทธิ์ที่ดิน "สี่แยกปทุมวัน รวมโรงหนังสกาลา" จับตาเตรียมผุดโปรเจกต์ใหม่". Brand Buffet. 5 กันยายน 2021.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]